- แตง-อาบอำไพ รัตนภาณุ อดีตครีเอทีฟบริษัทเอกชน ผันตัวเป็นนักเรียนวิชาธรรมชาติและศาสตร์พระราชา ศึกษาและอาสาทำงานเพื่อให้พื้นป่ากลับมา ตั้งแต่วันแรกที่เห็นภาพภูเขาหัวโล้น
- เมื่อออกเดินทางไปเรียนรู้ในวิชาธรรมชาติ โดยการลงพื้นที่ ฟังและพูดคุยกับชาวบ้าน ไปเห็นปัญหาจริงด้วยตาตัวเอง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้แตงลุกขึ้นจัดสรรพื้นที่ข้างบ้านด้วยวิธี ‘โคกหนองนา’
- จากเดิมเมื่อแตงเรียนจบไปมีชีวิตของตัวเอง ไม่มีอะไรจะคุยกับครอบครัวมากนัก นอกจากการถามไถ่ทั่วไป ‘กินข้าวนะ’ ‘กลับบ้านนะ’ แต่เมื่อเปลี่ยนชีวิตมาทำงานตรงนี้ ทำให้แตงมีเรื่องคุยกับพ่อแม่มากขึ้น คุยกันเรื่องสวน มันเป็นพื้นที่ฟื้นความสัมพันธ์ในครอบครัว
จากนิสิตศิลปะการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีตครีเอทีฟบริษัทเอกชน ผันตัวเป็นนักเรียนวิชาธรรมชาติและศาสตร์พระราชา ความพิเศษของห้องเรียนนี้คือมันเคลื่อนที่ได้ เธอนิยามว่าคือ ‘มหา’ลัยสี่ล้อ’ เคลื่อนที่พาเธอและทีมงานศึกษาทั้งพื้นที่เขียวชอุ่มและแห้งแตกเป็นดินดานเกือบทั่วประเทศ
ประสบการณ์การเดินทางและเรียนรู้ใน ‘มหา’ลัยสี่ล้อ’ ไม่เคยทำให้อดีตครีเอทีฟเข็ดขยาด แต่ยิ่งอยากส่งต่อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
แตง-อาบอำไพ รัตนภาณุ นอกจากจะเป็นลูกศิษย์และเลขาฯ อาจารย์ยักษ์-วิวัฒน์ ศัลยกำธร, รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อดีตประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และอดีตประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ บุคคลสำคัญที่มีบทบาทสำคัญขับเคลื่อนปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร สู่ภาคปฏิบัติโดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนามนุษย์, ปัจจุบันแตงเป็นอาจารย์พิเศษหลักสูตรผู้ประกอบการสังคม สถาบันอาศรมศิลป์ เป็นครูโรงเรียนประถมและมัธยมที่โรงเรียนปูทะเลย์มหาวิชชาลัย (ชื่ออย่างเป็นทางการ ศูนย์การเรียนกสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง) เป็นนักออกแบบกระบวนการ และสำคัญที่สุด เธอคือนักทดลอง
The Potential เคาะประตู (บุก) บ้านชวนแตงคุย เหตุใดคนหนุ่มสาว อดีตครีเอทีฟไฟแรงจึงเลือกเส้นทางใหม่ศึกษาศาสตร์พระราชา และแอบรู้มาว่าเธอจัดสรรพื้นที่รกร้างข้างบ้านขนาด 80 ตารางวา ทำเป็น ‘โคก หนอง นา’* ขนาดย่อม แตงตั้งใจไม่ล้อมรั้วเพื่ออยากให้เป็น ‘สวน’ สาธารณะในชุมชน ไม่ว่าใครก็เข้าไปใช้ประโยชน์ได้
ก่อนจะมาทำงานด้านเกษตรยั่งยืนและทำงานกับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ คุณทำอะไรมาก่อน
เราจบศิลปะการละคร เอกกำกับการแสดง คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ประมาณปี 55 ทำงานเป็นครีเอทีฟ บริษัทอีเวนต์แห่งหนึ่ง ขณะนั้นทำงานโปรเจ็คต์พิเศษด้าน CSR (Corporate Social Responsibility ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ขององค์กร) ร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ เลยได้มีโอกาสรู้จักกับอาจารย์ยักษ์ ทำสกู๊ปทีวี เราจึงต้องสัมภาษณ์อาจารย์ยักษ์และตามไปลงพื้นที่ด้วย ซึ่งครั้งนั้น อาจารย์บอกให้ไปดูพื้นที่ป่าต้นน้ำ ที่ลุ่มน้ำป่าสักว่ามันเป็นยังไง ได้เดินทางไปอำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์ กับทีมสถาบันฯ และมูลนิธิฯ ซึ่งทีมงานก็จะนำเราไปในพื้นที่และไปสัมภาษณ์คนโน้นคนนี้
เฉพาะตอนที่ยังเป็นครีเอทีฟ คนจบใหม่คนนั้นมีมุมมองต่อเรื่องพวกนี้อย่างไร
เราอินเรื่องธรรมชาติสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว เราเคยดูคลิปฉลามโดนตัดครีบ หมีโดนตัดอุ้งตีน แล้วรู้สึกสะเทือน เศรษฐกิจพอเพียงเป็นคำที่ได้ยินมานาน แต่ไม่ได้สนใจ พอได้ฟังอาจารย์พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงตอนสัมภาษณ์ รู้สึกว่าอาจารย์เป็นคนที่อธิบายเรื่องนี้ไม่เหมือนใคร เข้าใจง่าย ไม่ได้อธิบายแต่ทฤษฎี แต่ทำให้เห็นว่ามันเชื่อมโยงกับเรายังไง เอาไปใช้ยังไง พอฟังอาจารย์พูดถึงเศรษฐกิจพอเพียง มันเลยเกิดความรู้สึก ‘เข้าใจได้’ ขึ้นมาว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเอามาใช้พัฒนาประเทศทุกๆ ด้าน ไม่ใช่แค่การพัฒนาทางเกษตรอย่างเดียว นั่นก็โดนเราอีก ยังไงดี…คือเราสนใจเรื่องการทำให้ประเทศมันดีขึ้น
แต่ไม่ได้ปฏิเสธทุนนิยม?
ไม่ได้ปฏิเสธทุนนิยม ด้วยหลักการของเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ปฏิเสธทุนนิยม แต่ไม่ได้เอาทุนนิยมนำ
หลังจากพูดคุยกับอาจารย์ แล้วยังไงต่อ?
หลังจากสัมภาษณ์อาจารย์ ก็สนใจจะฟังอาจารย์อีก สนใจจะศึกษาเรื่องนี้ ด้วยความเนิร์ดส่วนตัวของเรา พอลงพื้นที่ไปดูป่าต้นน้ำ สิ่งที่เห็นคือภาพภูเขาหัวโล้น ซึ่งตอนนั้นเป็นปี 2557 นะ ยังไม่มีใครพูดเรื่องภูเขาหัวโล้นเลย อาจจะเป็นที่รู้กันในหมู่นักสิ่งแวดล้อมแต่สังคมยังไม่รับรู้นัก
พอเราไปถึงแล้วเห็นว่ามันเป็นภูเขาหัวโล้น ทีมพื้นที่ที่ดูแลให้ข้อมูลว่า มันเคยเป็นป่ามาก่อนนะ ซึ่งเราก็จินตนาการไม่ออกว่าป่าเขียวๆ มันกลายเป็นพื้นที่สีน้ำตาลทั้งหมดนี้ได้ยังไง และมันไม่ใช่แค่ลูกเดียว แต่มันคือ 360 องศา หมุนรอบตัวเรา มองไปไกลแค่ไหนก็ยังเป็นสีน้ำตาลทั้งหมด เชื่อไหมว่าตลอด 2 ชั่วโมงในการนั่งรถไถของชาวบ้านขึ้นไปเพื่อดูพื้นที่หาโลเคชั่นถ่ายทำ มันเป็นวิวแบบนี้ทั้งหมดแค่พื้นที่สูงขึ้นไป เราไม่เคยรู้ ไม่เคยเห็นเรื่องนี้มาก่อน เราไม่รู้จริงๆ ว่ามันเป็นเพราะอะไร
ภาพเหล่านั้นเชื่อมโยงกลับมาที่ตัวเองยังไง
เราถามพี่ๆ ในทีมว่าเขาปลูกอะไรกัน เขาตอบ ‘ข้าวโพด’ ตอนนั้นเป็นฤดูเผาพอดี เราเห็นซากไหม้ๆ ที่ถูกเผา มันเป็นภาพที่โคตรเศร้า เราถามเขาอีกว่า เขาปลูกข้าวโพดไปทำอะไร คำตอบคือ ‘เอาไปทำอาหารสัตว์ ให้ไก่กิน’ เราจำได้เลยว่า วันนั้นเราลงรูปในอินสตาแกรม แคปชั่นว่า “ตัดป่า ปลูกข้าวโพด ข้าวโพดไปเลี้ยงไก่ เรากินไก่ ใครทำลายป่า?” คำตอบคือ ‘เรานี่หว่า’ มันสะท้อนกลับมาที่ตัวเอง เฮ้ย เรานี่หว่าที่เป็นส่วนหนึ่งในการทำลายป่า รู้สึกยอมไม่ได้ที่เป็นคนหนึ่งในการทำลายป่าทางอ้อม
จากนั้นไปคุยกับชาวบ้าน ลงไปถึงทางแยกของแม่น้ำป่าสัก เขามีป้ายเขียนว่าต้นน้ำป่าสัก แต่มันไม่ใช่ต้นน้ำแบบ original ตาน้ำนะ แต่เป็นทางที่แม่น้ำมาบรรจบกันซึ่งเรียกว่า แม่น้ำสองสี ที่เป็นแม่น้ำสองสีเพราะฝั่งหนึ่งน้ำใส อีกฝั่งน้ำขุ่น เราก็ถามเขาว่า ทำไมด้านหนึ่งใส ด้านหนึ่งขุ่น เขาบอกว่า มองเลยไป ตรงนั้นเป็นภูเขาหัวโล้น ส่วนฝั่งที่ใสยังเป็นป่าอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอตัดป่าและปลูกข้าวโพด น้ำฝนมันตกมา พาเอาดินตะกอนและสารเคมีไหลมากับน้ำด้วย พอแม่น้ำสองสายมาบรรจบกัน ปรากฏว่าน้ำขุ่น น้ำใสสู้น้ำขุ่นไม่ได้ ยิ่งฝนตกแรง ก็จะเกิดดินโคลนถล่มทับหมู่บ้านข้างล่างอีก
เสร็จแล้วเราสัมภาษณ์ชาวบ้านต่อ คือวันนั้นพยายามหาคำตอบว่า คุณได้รับผลกระทบโดยตรงจากการตัดป่าที่อยู่เหนือบ้านตัวเอง แต่ก็ยังทำ เป็นเพราะอะไร เขาถามเรากลับว่า ‘แล้วจะให้ปลูกอะไร?’ มันเป็นคำตอบที่ง่ายและสั้นมาก แต่จังหวะนั้นมันสะเทือนเรามากเลย ทำให้เราปิ๊งขึ้นมาทันทีเลยว่า ‘เออนี่ไง เขาไม่รู้’
ทริปนั้นเราไปหลายอำเภอมาก ไปเขาค้อด้วย ซึ่งพอไปเขาค้อก็ยังเห็นภาพแบบเดิมอีก เราโวยวายแล้วอะ “เฮ้ย มันจะเยอะแยะอะไรขนาดนี้” มันไม่ใช่แค่ที่เดียวนี่หว่า แสดงว่าเรื่องนี้มันใหญ่มาก
คำถามมากมายที่เกิดระหว่างลงพื้นที่ ภาพภูเขาหัวโล้นที่อยู่ตรงหน้า การสืบค้นความจริง ทำให้เห็นอะไรบ้าง
พบว่าเกษตรกรเลือกปลูกข้าวโพดเพราะมันง่าย มันเหมือนแพ็คเกจมือถือ แค่สมัคร ที่เหลือได้ทุกอย่าง เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา มีคนเอามาให้ถึงบ้าน เสร็จแล้วไม่ต้องไปขายที่ไหน มารับซื้อถึงบ้าน
จังหวะที่เห็นภาพความเชื่อมโยงทั้งหมด มันสะท้อนใจ รู้สึกว่า เราเองก็ไม่ได้ทำอะไร ทั้งๆ ที่เราเองมีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น วันนั้นพอกลับมาถึงบ้าน เปิดก๊อกน้ำที่บ้านอาบ น้ำไหลโคตรง่าย แต่ก๊อกน้ำที่หมู่บ้านนั้น เปิดเท่าไหร่ น้ำก็ไม่ไหล ทั้งๆ ที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำ
จำได้เลยว่า วันนั้นเราร้องไห้ในห้องน้ำ เรารู้สึกว่าชีวิตเราแม่งโคตรง่าย แล้วเราทำอะไรอยู่ (น้ำตาคลอ) เราต้องทำอะไรสักอย่าง เราคือคนที่ประเทศนี้ให้ไปเรียนหนังสือนะ เรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ อ่านหนังสือตั้งมากมายเพื่อเข้ามหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เรียนจนจบปริญญา ได้เกียรตินิยม แล้วเราทำอะไรอยู่?
ตอนนั้นเราทำงานมาได้สองปี แต่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ทำงานแปดชั่วโมงต่อวัน สิ้นเดือนได้เงิน ครบเดือนก็ใช้เงินหมด วนอยู่อย่างนี้ 2 ปี ถามตัวเองว่า ‘เรียนมาทำไมวะตั้ง 20 กว่าปี’ มันเป็นความคิดแบบนั้น เลยรู้สึกว่าอยากทำตัวเองให้เป็นประโยชน์มากกว่านี้ แล้วก็คุยกับทีมสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง สุดท้ายก็เลยลาออกมา
ขณะนั้นคุณอยู่ในฐานะกึ่งๆ สื่อมวลชน บทบาทหน้าที่อย่างหนึ่งก็ได้ทำเพื่อสังคมอยู่แล้ว?
ใช่ ตอนนั้นเราก็ได้ทำได้พูดผ่านสื่ออยู่แล้ว ถ่ายทำเสร็จกลับมาตัดต่อก็คิดนะ ทำยังไงให้สื่อออกไปแล้วเป็นประโยชน์มากที่สุด ไม่อยาก aggressive ไม่อยากทำออกมาแค่สื่อว่า แย่แล้ว มีภูเขาหัวโล้นเยอะมากจ้า แต่ว่า (นิ่งคิด) เราอยากใช้ความสามารถของเรามากกว่านี้ มากกว่าแค่ได้พูดมันออกไป เราอยากทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่อยากแค่พูดในฐานะสื่อ แล้วรอให้คนอื่นไปทำ
ที่ว่า ‘อยากใช้ความสามารถของตัวเองมากกว่า’ คุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร
ป่าหายต้องปลูกป่าคืนมา ตอนนั้นคิดแค่นั้นเลย อยากรู้ว่าเรื่องนี้ต้องแก้ยังไง ใครต้องทำอะไรบ้าง อยากลงมือทำด้วยตัวเอง
หลังออกจากงาน ทำอะไรต่อ
ทำโปรเจ็คต์แรกในนามสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง ชื่อ ‘กล้า ท้า เปลี่ยน’ เป็นโครงการหนึ่งใน active citizen ของ สสส. เสนอว่าเราอยากทำค่ายที่มีคีย์เวิร์ดมาจากคำว่า ‘เราไม่อยากเห็นภาพนี้คนเดียว’ รับสมัครคนจากในเฟซบุ๊คและออกบูธประมาณ 2 ที่เท่านั้น มีคนสมัครเข้ามาประมาณ 150 คน
จัดที่เพชรบูรณ์ พาไปดูเขาหัวโล้น พาไปนอนดูดาว พาไปคุยกับอาจารย์ยักษ์ พี่โจน จันได และอีกหลายๆ คน ให้รู้ความเชื่อมโยง ให้ได้เจอ ให้ได้คุยกับชาวบ้าน ให้ได้อยู่ในสภาพนี้ และให้ช่วยกันเสนอทางแก้ไข สุดท้ายให้จับจอบ ลงมือทำตามแนวทางศาสตร์พระราชา
การพาคนไปเห็น จะเกิดอะไร
หนึ่ง-เปิดตา เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็น และถ้าเขาได้รับเนื้อหา เขาได้จะ สอง-เปิดโลก เปิดโลกเปิดสมอง รู้ในสิ่งที่ไม่เคยรู้ เห็นความเชื่อมโยง เห็นวัฏฏะของมัน เขาจะรู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของระบบ สาม-เปิดผัสสะ คือได้ทำได้สิ่งที่ไม่เคยทำ
เราคิดและสังเกตว่า วิถีชีวิตคนรุ่นเราถูกตัดออกจากธรรมชาติ เพราะเราแค่ไม่รู้จักและไม่เคยอยู่ ปกติเราเองสมัยเรียนใช้ชีวิตวนอยู่ 3 ที่ คือ บ้าน โรงเรียน ที่เรียนพิเศษอยู่ในกรุงเทพฯ เวลาออกไปเที่ยวก็ได้เห็นแต่ภาพดีๆ แต่เราไม่เคยเห็นภาพของประเทศมุมนี้ที่ถูกซ่อนไว้ เราคิดว่ามันเป็นภาพที่ซ่อนไว้นะ เพราะมันไม่ได้ถูกโปรโมท ไม่ถูกยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่ต้องเร่งแก้ แต่พอปี 59 เรื่องนี้ก็ดังขึ้นมา คนก็เริ่มรับรู้มากขึ้น
ในฐานะคนหนุ่มสาวซึ่งมีอาชีพมั่นคง ไม่จำเป็นต้องลุกขึ้นมาทำก็ได้ มีหน่วยงานที่ทำงานเรื่องนี้โดยตรงทำงานอยู่แล้ว
ตอนที่เห็นภูเขาหัวโล้น เราตั้งคำถามขึ้นในใจ ใครต้องเป็นคนแก้ปัญหานี้ ชาวบ้านคนที่ตัดป่าเหรอ กรมที่ต้องดูแลป่าไม้เหรอ รัฐบาลเหรอ หน้าที่ใคร ทำไมไม่ทำ? สุดท้ายมันกลับมาที่ ‘ใครแก้ไม่รู้ รู้แต่กูซวย’
คือถ้าเราไม่ลุกขึ้นมาแก้เองในวันนี้ ปัญหาจะวิกฤติไปเรื่อยๆ และอีกสิบหรือยี่สิบปีข้างหน้า ในวันที่เราต้องโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ต้องดูแลประเทศต่อ ปัญหาคงยิ่งแย่มากกว่านี้ ในวันนั้นถ้าเราไม่มีความรู้ว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไง เราก็ตายแน่ ไม่มีทางอื่น
พอศึกษาเรื่องพวกนี้ ต้องเจอกับปัญหาโครงสร้าง การชนกับนายทุนผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ และความซับซ้อนอื่นๆ คำถามคือ ‘แก้ที่เราก่อน’ ก็จริงอยู่ แต่ถ้าโครงสร้างหรือหน่วยงานข้างบนไม่แก้ การเปลี่ยนแปลงจะเกิดได้จริงแค่ไหน
อืม… (คิด) เรายังเชื่อในพลังคนเล็กคนน้อยนะ บวกกับประสบการณ์ทำงานประมาณ 4 ปีของเราหลังจากมีโอกาสไปช่วยงานปฏิรูปประเทศ ซึ่งอาจารย์ยักษ์เข้าไปนั่งในสภาปฏิรูปฯ ด้านสิ่งแวดล้อมและด้านการศึกษา ตอนแรกก็คิดว่า โห… นี่แหละคือไม้กายสิทธิ์ แต่สิ่งที่เราได้เรียนรู้คือ มันไม่มีจริง ไม่มีคำสั่งจาก ‘ฟ้า’ ผ่าลงมาแล้วทุกอย่างจะดี ปัญหาจะได้รับการแก้ไข ไม่จริง ไม่มีสิ่งนั้น
หรืออย่างตอนนี้ทำงานกับกระทรวงฯ ก็ยิ่งได้เรียนรู้ว่า ระบบราชการมีความซับซ้อนสูงมาก สิ่งที่ทำได้ก็กลับมาที่ตัวเรา ‘อีกแล้ว’ (เน้นเสียง) กลับมาที่มือเรา ที่เครือข่ายนี่แหละ เพื่อนเรานี่แหละ เวลาพูดคำว่าเครือข่าย มันเหมือนแบบ… ม็อบรึเปล่านะ? หรือขายตรง? เราเลยชอบใช้คำนี้มากกว่า ‘เพื่อนเรา’ เพื่อนเราซึ่งอายุมากกว่า น้อยกว่า อะไรก็ตาม แต่นี่คือเพื่อนที่มีความคิดเดียวกัน ความฝันเดียวกัน และไม่ใช่แค่ฝัน แต่เราลงมือทำด้วย
จากนิสิตการละครมาเป็นนิสิตศาสตร์พระราชา เข้าใจว่ามีความรู้ที่ต้องศึกษาใหม่เยอะมาก เริ่มอย่างไร
ช่วงแรกๆ ที่ลาออกแล้วมาช่วยงานอาจารย์ยักษ์ เราใช้วิธี ‘ขอตามไปทุกที่’ เพราะฉะนั้นมันเลยเป็นการเรียนแบบ ‘มหา’ลัยสี่ล้อ’ คือรถตู้ของอาจารย์ยักษ์นั่นแหละ หลับไม่ได้ด้วยนะ ระหว่างเดินทาง-เราถาม พอลงพื้นที่-เราเห็นแล้วก็ฟัง จดแล้วก็ถาม มีแค่นี้จริงๆ
ซึ่งการติดตามอาจารย์ เราไม่ได้ลงพื้นที่ภาคสนามอย่างเดียว แต่ได้ไปตั้งแต่งานเสวนาวิชาการ งานบรรยาย งานอบรมเกษตรกร อบรมคนเมือง อบรมข้าราชการ งานประชุมระดับนโยบาย คือต้องมีเสื้อผ้าหลายสไตล์เลย
เพราะฟัง ลงพื้นที่ และเห็นกับตา จึงเป็นเหตุผลที่ลุกขึ้นจัดสรรพื้นที่ข้างบ้านด้วย ‘โคก หนอง นา โมเดล’?
ใช่ๆ (ยิ้ม) ด้วยความที่ลูกศิษย์ของอาจารย์ยักษ์กลุ่มแรกๆ คือเกษตรกร กลุ่มหลังๆ มานี้คือคนเมือง คนเมืองอย่างเราจะถูกตราหน้าว่า ‘มึงทำไม่เป็นหรอก’ แม้เราเป็นคนที่ฟังอาจารย์เยอะ แต่พูดไป เขาก็ไม่เชื่อ เพราะเราไม่ใช่เกษตรกร เราก็รู้สึกว่า ถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีวิธีอื่นนอกจากการพิสูจน์ตัวเอง ไม่ได้แค่ฟัง จำ แล้วไปพูดต่อ แต่เราทำมันกับมือ เห็นมันโต มันเป็นการเรียนรู้ที่ลึกกว่า
อย่างตอนแรกที่ปลูกมะนาว ทำยังไงมันก็ไม่ออกดอก เราก็เลย ‘ขุดคลองไส้ไก่’ เลียนแบบที่เคยไปขุดดินบ้านคนอื่นเขา แต่แปลงแรกที่บ้านเราแค่กว้าง 2 เมตร ยาวไม่ถึง 4 เมตร ใช้แวก หรือจอบไซส์เล็กขุดทางน้ำแปลงเล็กๆ จากจุดที่พ่อใช้ล้างรถซึ่งสังเกตว่าจะมีน้ำหยดติ๋งๆ ตลอด ทำทางน้ำผ่านตะไคร้ ข่า เพื่อมาหามะนาว ปรากฏว่ามันดีขึ้น ครั้งแรกที่เริ่มทำเลยแบบ จริงว่ะ… ต้องบำรุงดินด้วยน้ำหมักจุลินทรีย์ ต้องกระจายความชุ่มชื้น
ความหมายและปรัชญาของ ‘โคก หนอง นา โมเดล’ เพื่อการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน โดย What2Grow NECTEC
อันนี้เป็นแค่แปลงเล็กๆ แต่โคกหนองนาข้างบ้าน เข้าใจว่าต้องใช้แรงงานจัดสรรพื้นที่พอสมควร
มันอาศัยแรงงาน แต่นานๆ ที หรือแค่ช่วงบำรุงดินในช่วงแรกเท่านั้น แต่หลังจากนั้นเราเลือกพันธุ์ไม้ที่เขาดูแลตัวเองได้ พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องประคบประหงม ก็ไม่ต้องใช้แรงมาก แต่ถ้าคุณจะปลูกผักสลัดหรืออะไรที่ต้องรดน้ำทุกวันก็จะอีกแบบหนึ่ง อยู่ที่ว่าคุณเลือกใช้ชีวิตแบบไหน ถ้าคุณมีเวลาอยู่ดูแลก็โอเค แต่ถ้าไม่มีเวลาแบบเรา ต้องทำงานต่างจังหวัดตลอด ก็ต้องเลือกอะไรที่ ‘ปล่อยแม่งเลย’ อย่างกล้วยนี่ก็ไม่เคยปลูกอีกเลยเพราะมันขึ้นมาเอง
วันแรกที่บอกพ่อแม่ว่าจะทำโคกหนองนา มีฟีดแบคยังไง
เขาก็รอดูว่าจะเลิกเมื่อไร (หัวเราะ) เป็นอารมณ์แบบ มันจะไปได้สักกี่น้ำ เดี๋ยวมันก็เลิก ไม่ได้ค้าน แต่ไม่ได้สนับสนุนตั้งแต่แรก เช่น พ่อไม่ให้ทำน้ำหมักเพราะกลัวสกปรก แต่พอทำแล้วเขาได้กินกล้วย มะละกอ มะนาว เยอะแยะ อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากเลยนะ การได้กินเนี่ย คือคำว่า ‘เห็นผล’ ต้องได้ผลอะ
หรืออย่างเช่น เขาเป็นคนที่หวงหญ้ามาก ชอบหญ้านวลน้อย ไม่ชอบหญ้าแห้วหมู พ่อเคยเอายาฆ่าหญ้ามาฉีดฆ่าแห้วหมู ซึ่งเราโกรธมาก เราทำงานต่อต้านเรื่องพวกนี้อยู่อะ เราก็แบบ “ไม่ได้ เอาออกไปจากบ้าน” เขาก็ไม่ยอม เสร็จแล้วหญ้าทั้งสองชนิดก็เริ่มตายเป็นวงเหมือนสนามเป็นกากเกลื้อน เราก็เลยไปหาความรู้ พบว่ามันเกิดจากดินปิด น้ำหมักนี่แหละช่วยได้ เราก็ อะ… เข้าทาง ก็เอาน้ำหมักที่หมักไว้นี่แหละฉีด มันก็คือการเอาจุลินทรีย์มาลงดินแล้วให้เขาทำงานเอง พอมันทำงาน หญ้านวลน้อยก็กลับมา พ่อตกใจ “เฮ้ย น้ำหมักอะไร”
น้ำหมักเปลี่ยนชีวิต!
ประมาณนั้น…
พอเราเปลี่ยนชีวิตมาทำงานตรงนี้ ก็มีเรื่องคุยกับพ่อแม่มากขึ้น เราก็เป็นเด็กปกติที่พอเรียนจบแล้วก็มีชีวิตของเรา ช่วงทำงานก็คุยกับเขาน้อยลง ไม่มีอะไรจะคุยนอกจากแบบ ‘กินข้าวนะ’ ‘กลับบ้านนะ’ แต่พอมีเรื่องนี้ เรามีอะไรคุยกัน มันเลยเป็นสวน เป็นพื้นที่ฟื้นความสัมพันธ์ในครอบครัว
เป็นพื้นที่ที่เพื่อนก็มากินข้าวแม่ มาลงแขกแลกแรงกัน เลยเรียกว่าสวนของเพื่อน เพราะว่าเพื่อนทำ เราทำน้อยมากเลย (หัวเราะ)
อยากทำพื้นที่แบบนี้เพื่อพิสูจน์อะไรรึเปล่า?
คิดว่าในกรุงเทพฯ ต้องมีสักที่ที่พิสูจน์สิว่า โคกหนองนาทำได้ทุกที่ และการปลูกอะไรแบบนี้มันง่ายนะ ใครก็ทำได้
ทำไมต้องมีพื้นที่แบบนี้ในเมือง
มีคนเมืองเยอะที่สนใจและไปสัมภาษณ์ ไปเรียนกับอาจารย์ยักษ์ คนมักถามว่าทำยังไง มีตัวอย่างให้ดูมั้ย? จะไปดูที่มาบเอื้องอยู่ชลบุรีก็ไกล เลยอยากเห็นพื้นที่แบบนี้ในกรุงเทพฯ อยากให้เห็นว่ามันย่อขนาดได้ สนุกได้ ไม่ได้ใช้ตังค์เยอะ เพราะไม่มีตังค์ แต่โชคดีที่มีที่ของเรา ก็ใช้พื้นที่ที่เรามี พึ่งตัวเอง
มีครั้งนึงไปร้านกาแฟ เห็นเด็กต้องมาเล่นในร้านกาแฟ เศร้านะ คือที่วิ่งเล่นกับธรรมชาติในเมืองมันน้อยลง ก็ชวนคิดกับพี่ๆ เล่นๆ ว่าน่าทำ play ground ที่เป็นดิน น้ำ ทราย ต้นไม้ เนอะ และมีโซนเย็นๆ ให้พ่อแม่นั่ง ก็เป็นความคิดแต่ยังไม่ได้ทำ แต่เฉพาะแปลงข้างบ้านของเรานี้ เราตั้งใจไม่ทำรั้วเพราะอยากให้เป็นที่ๆ ใครมาปลูกและเก็บผลผลิตก็ได้ ตอนนี้เป็น play ground ของนก กระรอกอยู่
4 ปีของการเดินทางในสายนี้ เป็นอย่างไรบ้าง
ถ้าเทียบ learning curve ของสี่ปีในช่วงมหาวิทยาลัยกับสี่ปีที่ผ่านมา คนละเรื่องกันเลย เรารู้สึกว่ามันเป็นสี่ปีที่ก้าวกระโดดมากสำหรับชีวิตคนคนหนึ่ง เปลี่ยนจากเด็กที่ไม่รู้ว่าจะเดินไปไหน ไม่รู้ว่าอยู่ไปทำไม หาเงินไปวันๆ เป็นคนที่ตั้งเป้าหมายกับชีวิตว่าจะทำเรื่องนี้ ชีวิตนี้คุ้มแล้ว
มีคนถามเราว่าจะทำงานให้อาจารย์ยักษ์ไปนานมั้ย? เราไม่รู้ แต่รู้อย่างหนึ่งว่า
สิ่งที่เรารู้วันนี้ รู้แล้วทำเป็นไม่รู้ไม่ได้ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรากฏในหนังสือ ในคลิปวิดีโอต่างๆ แล้ว แต่สำคัญกว่าคือมันต้องเข้าไปอยู่ในคน
เรารู้แล้วว่าทางรอดของคน ของธรรมชาติ ของเศรษฐกิจ ของประเทศ แก้ได้ด้วยวิธีง่ายๆ ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทำไว้ให้ดูแล้ว แม้วันหนึ่งเราอาจไม่ได้ทำงานกับอาจารย์ยักษ์แล้ว แต่ก็คงเดินบนเส้นทางนี้ต่อ
Fun Fact โคกหนองนา หรือแปลงเกษตรของแตงเป็นพื้นที่ข้างบ้านกินพื้นที่เล็กๆ ราว 80 ตารางวา เดิมเป็นพื้นที่รกร้าง ดินปะปนไปด้วยเศษขยะ ช่วงแรกของการเปลี่ยนที่ดินเธอตั้งใจแค่ขุดหลุมฝังขยะเศษอาหารเท่านั้น ต่อมามีไฟไหม้จากการเผาขยะลามมาถึงในบริเวณนี้ จึงคิดทำแนวกันไฟด้วยการปลูกกล้วยเป็นกอติดรั้วบ้าน แต่เมื่อตั้งใจอยากทดลองทำโคกหนองนาด้วยตัวเอง เธอเริ่มจากปรับพื้นดินด้วยมือตัวเอง (และมือเพื่อน) ก่อนจะพบว่า ยิ่งขุดลงไป ก็พบแต่ขยะปนกับดินจำนวนมาก จึงตัดสินใจถมที่ดิน จากนั้นใช้รถขุดขนาดเล็กขุดหนองน้ำ 2 หนอง ไล่ระดับเป็นชั้นๆ คล้ายขั้นบันไดด้วยเห็นว่า หากมีน้ำเต็ม พื้นที่ขั้นบันไดจะเป็นที่วางไข่ของปลา แต่หากน้ำแล้ง ขั้นบันไดดังกล่าวใช้ปลูกพืชได้ ปัจจุบันภารกิจของเธอยังไม่เสร็จสิ้น แต่ด้วยความที่เธอเลือกใช้พันธุ์ไม้ที่อยู่ได้ด้วยตัวเอง สวนดังกล่าวจึงทำงานขยายพันธุ์ด้วยตัวเอง โดยมีเธอ ครอบครัว และเพื่อนๆ ช่วยกันเล็มใบกล้วยและนำพันธุ์ไม้ใหม่ๆ ลงมาปลูกตามสมควร |