- Sunset Gelato คือร้านไอศกรีมโฮมเมดตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น นอกจากผลิตขายรายย่อยแล้ว ตอนนี้ประสบความสำเร็จกลายเป็นผู้ผลิตส่งออกและสร้างแบรนด์ไอศกรีมเจลาโต้
- จุดที่ทำให้ Sunset Gelato โดดเด่นและน่าสนใจขึ้นมา คือการนำวัตถุดิบ ผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากชุมชนในจังหวัดขอนแก่นมาสร้างสรรค์ให้เกิดใหม่เป็นไอศกรีมรสชาติต่างๆ เช่น รสขนมเปี๊ยะ ของดีขึ้นชื่อเมืองขอนแก่น รสเสาวรส ที่ใช้เสาวรสที่ขึ้นชื่อที่สุดในอำเภอซำสูงมาเป็นนางเอก
- อ๊อฟ-จักรกฤษ ศิริวรประสาท หนึ่งในหุ้นส่วนเจ้าของ Sunset Gelato บอกว่า เบื้องหลังความสำเร็จไม่ได้ปูด้วยกลีบกุหลาบ จากเด็กหนุ่มวิศวะ ผันตัวมาจับธุรกิจของหวาน ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเผชิญกับภาวะเครียดและปัญหาหนี้สิน
ส่งวันนี้ถึงพรุ่งนี้
ไม่ว่าลูกค้าจะอยู่หมู่บ้านอะไร อำเภอไหน ในภาคอีสาน เราส่งตรงถึงหน้าบ้านลูกค้าได้เลยครับ
นี่คือคำเคลมที่เขียนไว้บนหน้าเพจเฟซบุ๊คของร้านไอศกรีมที่คนขอนแก่นรู้จักเป็นอย่างดี Sunset Gelato
จุดเด่นของร้านไอศกรีมแห่งนี้คือ การนำวัตถุดิบผลิตผลและผลิตภัณฑ์จากชุมชนในจังหวัดขอนแก่นมาสร้างสรรค์ให้เกิดใหม่เป็นไอศกรีมรสชาติต่างๆ เช่น เจลาโต้รสขนมเปี๊ยะ ของดีขึ้นชื่อเมืองขอนแก่น ไอศกรีมเจลาโต้รสเสาวรส ที่ใช้เสาวรสขึ้นชื่อที่สุดในอำเภอซำสูงมาเป็นนางเอก
นอกจากทำให้ไอศกรีมทุกคำสดชื่นแล้ว สิ่งที่ Sunset Gelato ทำคือการช่วยบอกเล่าเสน่ห์ชุมชน เป็นแนวคิดของ ‘อ๊อฟ’ จักรกฤษ ศิริวรประสาท วัย 34 อดีตนักเรียนวิศวะที่ผันตัวมาเป็นเจ้าของธุรกิจของหวานร่วมกับเพื่อนร่วมคณะ
แต่กว่าจะสำเร็จมันไม่ง่าย…
จากวันที่ทดลองทำ แม้จะต้องล้มจนแผลถลอกเลือดออก เจอปัญหาอุปสรรคเรื่องหนี้สิน แต่ไม่มีวันไหนที่อ๊อฟคิดถอยหลัง ใจยังคุกรุ่นไปด้วยความกล้าเสี่ยงและไม่ยอมแพ้ต่อโอกาส ทำให้ทุกวันนี้ Sunset Gelato กลายเป็นผู้ผลิตส่งออกและสร้างแบรนด์ไอศกรีม รวมถึงมีบริการส่งฟรีถึงหน้าบ้าน (door to door delivery) ด้วย
ก่อนมาทำไอศกรีมเคยทำอะไรมาก่อน
จุดเริ่มต้นที่ทำให้มาสนใจเรื่องนี้เพราะเห็นรุ่นพี่ที่จบจากวิศวะ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งตอนนี้ก็มาเป็นหุ้นส่วนร่วมกับเราทั้งหมด 3 คน ทุกคนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่มี 2 คนเป็นคนขอนแก่นโดยกำเนิด
ผมจบ IE หรือ วิศวอุตสาหกรรม จากนั้นก็ไปทำงานโรงงานที่อยู่ที่จังหวัดระยอง เกี่ยวกับปิโตรเลียมเคมี ด้านการวางแผนงาน ทำงานไปประมาณ 2 ปี ก็ตัดสินใจไปเรียนต่อ ปริญญาโท ด้านขนส่ง (global logistic) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา เรียนอยู่ 5 ปี และกลับมาประเทศไทย
ส่วนหุ้นส่วนอีกคนหนึ่งเขาก็เรียนวิศวอุตสาหกรรมด้านเดียวกับเรา เราไปเจอกันที่ทำงานในจังหวัดระยอง
อีกคนที่เรียนด้านวิศวเคมี แต่เขาสายอาร์ตหน่อยๆ งานอดิเรกคือทำงานดีเจอะไรของเขาไป
หลังจากกลับจากประเทศสหรัฐอเมริกา เราสามคนตัดสินใจมาเปิดร้านน้ำแข็งใสก่อน ตอนแรกเราก็ทำขำๆ ทำสนุก เหมือนกลุ่มเพื่อนที่เอาเงินมาลงทุนกัน แต่ทำไปทำมา รู้สึกมันไม่ค่อยโอเค เราเลยวิเคราะห์กันว่าน่าจะเป็นเพราะโลเคชั่นของร้าน เพราะร้านตั้งอยู่ในซอยตัน ระหว่างนั้นเราก็ลงทุนอีกธุรกิจด้วยกันอีก คือ ร่วมกันเปิดบริษัทนำเข้า-ส่งออกพลาสติกที่เขมร แต่ทำแล้วก็… (ส่ายหน้า) มันเหมือนเด็กที่มีไฟแรงๆ แล้วอยากทำธุรกิจมากๆ น่ะ คือ มองทุกอย่างเป็นโอกาสไปหมด แต่คำว่าโอกาสก็มีทั้งดีและไม่ดี จนสุดท้ายก็ต้องแบกรับหนี้สินกันไป เพราะเราคิดง่ายเกิน ไม่ได้วางแผนการบริหารให้รัดกุมด้วย
เลยตัดสินใจพักตรงนั้น มาลุยทำร้านน้ำแข็งไสอย่างเอาจริงเอาจัง เรามั่นใจว่าวัตถุดิบที่เรามีมันดี แต่โลเคชั่นไม่ดี อยู่ในหลืบในซอยตัน ทำให้ขายไม่ได้เท่าที่คิด ก็เลยมองหาทำเลที่ขายใหม่
และไปเจอโลเคชั่นที่ตลาดแห่งหนึ่ง ใกล้มหาวิทยาลัยขอนแก่น เราคุยกับเพื่อนว่า ‘ครั้งนี้จะเป็นการตัดสินใจทำธุรกิจด้วยกันเป็นโปรเจ็คท์สุดท้าย’ ถ้าพังอีกก็จะแยกย้าย แต่ปรากฏว่าขายดีมาก เพราะเราวางแผนการบริหารใหม่ วางระบบคอมพิวเตอร์ให้คีย์ข้อมูล ปรับขนาดของสินค้าใหม่ โดยอาศัยประสบการณ์ที่ผ่านมา จากเดิมที่เคยขายได้ในร้านทั้งวัน วันละ 3,000 บาท แต่พอย้ายมาทำเลใหม่กลับขายได้วันละ 20,000 บาท โดยขายแค่เฉพาะตอนเย็นเท่านั้นด้วยนะ
ย้อนกลับไปตอนที่แบกหนี้สิน เครียดไหม แล้วมาเปิดร้านไอศกรีมได้อย่างไร
เราไม่รู้ตัวว่าเราเครียดไหม แต่มันสะสมมากกว่า กินข้าวก็ไม่ค่อยย่อย นอนไม่หลับ มีเรื่องเงิน เรื่องหนี้สิ้นอีก ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกันกับร้านไอศกรีมโฮมเมดข้างๆ ที่ติดกับร้านน้ำแข็งไสของเรา เขาจะเซ้ง เขาให้เราหาคนมารับช่วงต่อให้ แต่หาไปหามา เราก็ตัดสินใจรับทำต่อ เพราะมองเห็นโอกาส (อีกแล้ว) มองว่าไอศกรีมน่าจะเก็บได้นาน สามารถส่งไปไกลได้มากกว่าน้ำแข็งไส เราคิดแค่นี้จริงๆ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำไอศกรีมของเรา
เปลี่ยนมือมาทำไอศกรีมแล้วเป็นอย่างไร
แรกๆ ใช้วิธีผสมผสานระหว่างการทำเมนูน้ำแข็งไสกับไอศกรีมก่อน ก็จะเป็นเมนูน้ำแข็งไสที่มีไอศกรีมโปะลงไป และเราก็พยายามชูไอศกรีมขึ้นมาโฆษณาและทำการตลาดมากขึ้น ผลตอบรับก็ดี จึงตัดสินใจนำมาขายอย่างจริงจัง พอเริ่มทำไอศกรีมจากขายปลีก (ขายเป็นถ้วยๆ) ก็เริ่มบุกตลาดมาขายส่ง เริ่มมาผลิตไอศกรีมส่งขายเอง ใช้เวลาหลายเดือนเหมือนกันกว่าที่จะมีลูกค้ามาซื้อไอศกรีมเจลาโต้ที่เราผลิต
แต่การบ้านที่เราต้องทำต่อมันมีเยอะมาก เช่น ต้องดูตลาดไอศกรีมโฮมเมด ดูว่าเมื่อเราไปสู้กับแบรนด์แมสๆ ไม่ได้ เราจะทำอย่างไร รวมถึงเดินสายออกบูธในที่ต่างๆ เพื่อเก็บฟีดแบ็คจาก user แล้วก็นำมาปรับปรุง
แล้วเจออุปสรรคอะไรบ้าง
ถ้าพูดเรื่องการขาดทุน มันก็มีบ้างอยู่แล้ว แต่อุปสรรคที่สำคัญมากที่สุดคือการเปลี่ยนผ่านของแบรนด์ เพราะลูกค้าส่วนใหญ่รับรู้แล้วว่า Sunset Gelato ขายน้ำแข็งไส เราจะทำอย่างไรที่จะไปเปลี่ยนการรับรู้ หรือ perception ของฐานลูกค้าเดิม
เมื่อเราเปลี่ยนมาทำไอศกรีมแล้ว ถ้าเขาอยากกินน้ำแข็งไสขึ้นมา เราจะทำอย่างไร ไม่ให้เสียลูกค้า เหมือนกับการที่เราเป็นแฟนคลับใครสักคนแล้วเขาเปลี่ยนไปอะ (หัวเราะ) แต่มันก็ไม่ใช่ข้อเสียไปทั้งหมดนะ เพราะการเปลี่ยนมาเป็นไอศกรีมก็ได้กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ เหมือนกัน
เมนูไอศกรีมของที่ร้านมีอะไรบ้าง
แน่นอน ตามชื่อ Sunset Gelato เจลาโต้ต้นตำรับมาจากคำอิตาลี ที่โน่นเขาไปไกลกว่าเรามาก ถึงกับมีมหาวิทยาลัยสอนทำเจลาโต้ จุดเด่นของเจลาโต้ คือ จะมีความ low fat เพราะวัตถุดิบที่ใช้ล้วนเป็นวัตถุดิบที่ไขมันต่ำทั้งหมด และจุดเด่นอีกอย่างคือจะมีความหนึบ เนื้อไอศกรีมแน่น เพราะเจลาโต้เป็นไอศกรีม less air เมื่อกินเข้าไปแล้วจะได้สัมผัสเนื้อโดยตรงแบบเต็มๆ ได้ความเข้มข้นของรสชาติ
อีกอย่างหนึ่งที่เรามีคือไอศกรีมที่มีส่วนผสมของผลไม้ โดยที่ไม่ผสมนม หรือเรียกว่า ซอร์เบท์ (sorbet) ถึงแม้เนื้อจะไม่ได้เนียนเหมือนเจลาโต้ แต่จะได้รับความรู้สึกถึงผลไม้เต็มๆ ไม่มีการแต่งสี ปรุงกลิ่น
ธุรกิจไอศกรีมโฮมเมด ใครๆ ก็ทำได้ แต่จะทำอย่างไรให้คนรู้จักเรา
เวลาเราทำไอศกรีมแต่ละรสชาติขึ้นมา เราต้องมีซิกเนเจอร์ มีความโดดเด่น ซิกเนเจอร์ในความหมายของเรา ไม่ได้แปลว่าจะต้องขายดีที่สุด แต่มันทำให้คนรู้จักเรามากที่สุด เราเลยลองทำ ‘ไอศกรีมขนมเปี๊ยะ’ ขึ้นมา
เรามีโอกาสรู้จักรุ่นพี่คนหนึ่งขายขนมเปี๊ยะเจ้าดังในขอนแก่น เราก็เลยเอาสินค้าเขามาปรับทำเป็นไอศกรีมภายใต้สูตรของเรา ปรับไปปรับมา “เฮ้ย มันอร่อย!” โดยเฉพาะขนมเปี๊ยะไส้เผือก พอทำออกมาปุ๊บ กลายเป็นว่าคนรู้จักเรามากขึ้น
นอกจากรสขนมเปี๊ยะมีอะไรอีกไหม
มีไอศกรีมที่เป็นรสชาติผัก จริงๆ ต้นกำเนิดไอเดียมาจากขนมเปี๊ยะนี่แหละ พอเริ่มทำก็ส่งผลให้รู้จักกับพี่น้องท้องถิ่นมากขึ้น เราจึงเอาของที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ชาวบ้านมาทำเป็นไอศกรีม เช่น เสาวรส อำเภอซำสูง รวมถึงเครือข่ายต่างๆ เราก็เข้าไปเอาผลิตภัณฑ์มาแปรรูป เช่น ในสวนเกษตร MEKIN (มีกิน) เขาทำนาข้าว ทำเชิงท่องเที่ยววิถีชีวิต เราก็ร่วมมือกัน นำข้าวทับทิมชุมแพของเขามาแปรรูปเป็นไอศกรีม รวมถึงอื่นๆ ด้วย เช่น รสชาติอัญชันมะนาว เราก็ใช้อัญชันจากสวนเกษตรจริงๆ แม้ชาวบ้านต่างๆ ที่เราเข้าไปรับซื้อ เขาไม่ได้ปลูกพืชผักแบบจริงจัง ส่วนใหญ่จะเน้นปลูกในระดับครัวเรือน พอเราเข้าไปรับซื้อเขาก็ดีใจ เพราะขายได้ในราคาที่ดีกว่า
ตอนนี้เริ่มเข้าที่เข้าทางแล้ว มองธุรกิจตัวเองต่ออย่างไรบ้าง
ตอนนี้กำลังจะขยายไปเปิดที่ตลาดต้นตาล ในขอนแก่น แต่เราไม่อยากขายแค่ไอศกรีมอีกแล้ว อยากขายอื่นๆ ไปด้วย เช่น เมนูมิลค์เชค จากการที่เราลองไปเปิดตัวมิลค์เชคที่เซ็นทรัลมาแล้วหนึ่งรอบก็ได้รับกระแสที่ดี เราก็ยิ่งมั่นใจ ร้านเราจะมีน้ำแข็งไส มีไอศกรีม มีมิลค์เชค โดยคอนเซ็ปต์คือมันต้องมีพื้นฐานมาจากวัตถุดิบที่ดีเหมือนกัน และที่สำคัญร้านจะต้องจัดการง่าย จะต้องมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เน้นใช้กำลังคนให้น้อยที่สุด
อีกอย่างตอนนี้เริ่มดูโลเคชั่นใหม่ๆ ในขอนแก่น จะไม่เลือกสุ่มสี่สุ่มห้าอีกแล้ว จะใช้เวลาเลือกดูโลเคชั่นทั้งวันทั้งคืน เสาร์อาทิตย์ วันธรรมดา กลางวัน-กลางคืน เปิดเทอม-ปิดเทอม ดูว่ามันเป็นอย่างไร เพราะหัวใจของการทำร้านคือโลเคชั่น มันมีความสำคัญมากกับยอดขายสินค้า เรื่องแบบนี้ต้องตั้งใจดูด้วยตัวเอง เพราะข้อมูลเหล่านี้เป็นอะไรที่ซื้อขายกันไม่ได้
อีกอย่างเราวางแพลนว่าจะทำเป็น Sunset House ขึ้นมา ซึ่งจะไม่ได้ขายแค่เมนูไอศกรีมอีกต่อไป จะมีโทสต์ มีน้ำปั่น มีน้ำแข็งไส มีขนมต่างๆ ที่เราเคยทำแล้วเฟล
เฟลอย่างไร?
เคยเฟล แต่ก่อนเราทำน้ำแข็งไสมากถึง 12 รสชาติ เพราะคิดว่าจะได้เป็นตัวเลือกให้ลูกค้าได้ แต่เราคิดผิด โลเคชั่นต่างหากที่สำคัญกว่า เพราะพอเปลี่ยนโลเคชั่นเหลือขายแค่ 4 รสชาติ ปรากฏขายได้มากกว่า ยอดขายได้เยอะกว่าอีก
โลเคชั่นที่ดีคืออะไร
ก็นอกจากมีร้านแล้ว ก็มีที่จอดรถ สังเกตง่าย
เคยคิดไหมว่าตัวเองจะมาขายไอศกรีม ความฝันวัยเด็กอยากทำอะไรบ้าง
แต่ละช่วงวัย เรามีความฝันไม่เหมือนกัน ถ้าช่วงเด็กมากๆ ยังเคยอยากเป็นนายกฯ เลย (หัวเราะ) พอโตความฝันก็เปลี่ยนไป เราพบว่าเราไม่อยากทำงานราชการ เราเห็นพ่อแม่ที่เป็นครูและอาจารย์ ซึ่งต่างจากนิสัยส่วนตัวของเรา เราอยากทำอะไรนอกกรอบ ไม่ได้อยากอยู่ในกฎระเบียบ เราชอบคิดต่าง ก็เลยคิดว่าอาชีพอะไรที่เหมาะกับเรา เลยคิดอยากทำธุรกิจ
ความคิดช่วงนี้มาพร้อมกับตอนที่เราไปเรียนต่างประเทศ ก่อนหน้านั้นเราเคยทำงานประจำมาก่อน แต่เราเป็นคนที่ ถ้าสั่งมา 200 เราทำ 250 สั่ง 300 เราทำ 400 ซึ่งมันเยอะจากที่เขาสั่ง เราไม่ได้ทำตามกับสิ่งที่เขาบอก แต่ไม่ได้หมายความว่าเราทำตามใจนะ เราเลือกเดินไปเองมากกว่า เราวิเคราะห์ตัวเองก่อนว่าเราเป็นคนประเภทไหน
พ่อมักจะบอกว่า ให้เชื่อผู้ใหญ่เถอะ เพราะเขาอาบน้ำร้อนมาก่อน แต่เราคิดว่าน้ำร้อนมันก็ควรจะแบ่งคนอื่นอาบบ้างหรือเปล่า
เราชอบแบบนี้ เราชอบเดินในทางที่มันแตกต่าง พอได้มาทำธุรกิจ เราชอบการจัดการชีวิตตัวเองตั้งแต่อยู่เมืองนอก ตั้งแต่งานทำความสะอาด ลองขายของออนไลน์ ทำงานร้านอาหารไทย พนักงานเสิร์ฟ ขับรถส่งอาหาร เป็นสิ่งที่เราอยากทำหมดเลย เพราะมันกำหนดชีวิตตัวเองได้
แล้วทำไมต้องขายไอศกรีม
ใครๆ ก็มักจะบอกว่าประเทศเมืองร้อนอย่างเรา อย่างไรก็ขายไอศกรีมได้อยู่แล้ว ไม่ใช่เลยครับ มันอยู่ที่วัฒนธรรมการกิน ไอศกรีมมันเป็นของหวานที่อยู่ในวัฒธรรมการกินของชาวต่างชาติ เหมือนที่บ้านเรากินบัวลอย แม้บัวลอยมันร้อน แต่เราก็กิน อากาศก็ส่วนหนึ่งแต่วัฒนธรรมก็สำคัญ
คนจะกินไอศกรีมต่อเมื่อมีความสุข ไม่ได้โลกสวยอะไรนะ แต่คนจะเลือกกินไอศกรีมต่อเมื่ออากาศดีและรู้สึกมีความสุข ในหน้าหนาวไอศกรีมกลับขายดี หน้าร้อนก็ดีเพราะอากาศ แต่หน้าฝนอาจจะเป็นช่วง low season
ไอศกรีมไม่ใช่ปัยจัยสี่ คนกินข้าวเสร็จ เขาก็กินน้ำ จบ ยิ่งอยู่ในยุคเศรษฐกิจแบบนี้มันท้าทายเรามาก เราจะทำอย่างไรให้ไอศกรีมมันมีคุณค่าและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนให้ได้
ยิ่งเดี๋ยวนี้คนเลือกกินมากขึ้น ผู้บริโภคฉลาดขึ้น ตอนที่เราขายในตลาด มีคนบ่นให้ได้ยินว่าแพง 39 บาท แพงมาก แต่บางคนที่เขาเห็นค่า เขาก็จะไม่รู้สึกแบบนั้น ยิ่งคนต่างชาติเขาจะถามเลยว่าเราขายได้อย่างไรในราคานี้
หุ้นส่วน 3 คน ผิดใจกันบ้างไหม แก้ไขอย่างไร
เป็นเรื่องธรรมดามาก สำหรับการทำงานที่มันมองกันไปคนละทิศละทาง แต่ด้วยความที่เราทำงานกลุ่มเดียวกันมาก่อนตั้งแต่มหาวิทยาลัย 15 ปีมาแล้วมั้ง เราอยู่กลุ่มเดียวกันมาก่อน แต่เมื่อมาทำธุรกิจ มันต้องพูดคุยกันเมื่อเจอปัญหาอะไร ตอนแรกเราก็ทำกันแบบขำๆ จนตอนนี้เริ่มจริงจัง เราเริ่มปรับรูปแบบการบริหารธุรกิจด้วยกัน เราจะเซ็ตคุณภาพของเราให้เทียบเท่าและมีมาตรฐานตาม อย. เราตั้งค่าบริหารกันใหม่
เช่น ถ้าเราจะขยายสาขา ก็ต้องคุยว่าใครจะดูแลหรือบริหารหน้าที่ตรงไหน แบ่งงานกันไป ทุกคนต้องตั้งค่าการบริหารให้ตัวเอง เพื่อจะทำให้แต่ละคนมีทางเดินที่ชัดเจน
คนมาถามเยอะนะว่าทำธุรกิจกับเพื่อนมีปัญหาไหม มันก็ต้องมีบ้าง แต่มันก็มีธุรกิจหลายอย่างที่เกิดจากหลายคนทำร่วมกันแต่ก็ประสบความสำเร็จ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ล่ะ?
เวลาจะทำอะไรบางอย่าง ถึงต้องมีเงื่อนไขของเรา แต่อย่าลดความเป็นตัวของตัวเองลง เพียงแต่เราต้อง compromise มันให้ได้
ฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่อยากจะโตเร็ว อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง
การที่เด็กๆ อยากจะสร้างธุรกิจไม่ผิด ยิ่งยุคสมัยนี้มันมี tools หรือเครื่องมืออะไรใหม่ๆ มากขึ้น รวมถึงมันมีข้อมูลหรือการศึกษา มีคอร์สเรียนใหม่ๆ มันยิ่งทำให้ง่ายขึ้นอีก แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมาแค่อยากจะบอกว่า
เวลาเราจะทำอะไรสักอย่าง อยากให้เราจริงใจกับมัน ตั้งใจ ไม่หยิบโหย่ง เรียนรู้ให้มันถึงราก ไม่ต้องรีบ เราไม่เห็นด้วยกับพวกหนังสือ How To 10 ขั้นตอนทำให้รวย ทางลัดมันมีแหละ แต่มันไม่ยั่งยืน เพราะเราเคยผ่านมาแล้ว
ที่สำคัญระหว่างเดินไปหาความฝัน อย่าไปเครียดมาก เราควรมีความสุขระหว่างทางด้วย
แล้ววันนี้คุณมีความสุขแล้วหรือยัง
เราจัดการความเครียดของตัวเองได้ เราเลยมีความสุข ถามว่าเงินมันอาจจะยังไม่เห็นชัดเจนตอนนี้ แต่ในอนาคต ทางเดินมันชัดขึ้นมากกว่าเมื่อก่อนมาก สิ่งที่สำคัญคือการวางรากฐาน คนเรามักชอบมองที่ยอดพีระมิด อยากไปคว้ามัน แต่ไม่มองและไม่ยอมสร้างรากฐานให้แข็งแรง