- “ถ้ามันจะหายไปเฉยๆ ก็มีโอกาสที่เรื่องแบบนี้จะกลับมาเกิดขึ้นใหม่อีก ที่เราทำแบบนี้ก็เพื่อทบทวน พยายามที่จะไม่ให้บาดแผลเกิดขึ้นอีก” แฟรงค์ – ธนวัฒน์ นุ่มเจริญ
- ‘SOTUS Object มีวันนี้เพราะพี่ให้…’ จัดโดย whistleblower นิทรรศการที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในการจัดรับน้องของคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
- “เรามีสิทธิเหนือร่างกายของเรา แต่ทำไมเราถึงยอมทำแบบนี้? ก็เพราะการรับน้องมันทำให้คนที่ทำหรือคนที่โดนไม่คิดว่า ‘นี่ฉันกำลังโดนล่วงละเมิดสิทธิ์นะ’ เราคิดกับมันว่าเป็นแค่กิจกรรมหนึ่ง เราไม่ได้คิดถึงว่ามันริดรอนสิทธิ์ในตัวคุณเอง มันลดคุณค่าในตัวของเรา ทั้งที่จริงๆ มันเป็นเรื่องของสิทธิล้วนๆ แถมเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะคือการสร้างความเป็นกลุ่มก้อน เชิดชูสถาบันนิยมที่คนอื่นไม่สามารถตั้งคำถามกับสิ่งนี้ได้”
‘อึดอัด’
ความรู้สึกแรกที่เราได้รับหลังจากก้าวเท้าเข้ามาในห้องสี่เหลี่ยมอันเป็นสถานที่จัดนิทรรศการ ‘SOTUS Object มีวันนี้เพราะพี่ให้…’ โดย whistleblower นิทรรศการที่รวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในการจัดรับน้องของคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร
whistleblower การรวมตัวของกลุ่มศิลปินที่มีจุดร่วมเดียวกัน คือ ไม่เห็นด้วยกับการรับน้อง พวกเขาสร้างบุคคลสมมติขึ้นมาแทนตัวศิลปินนามว่า whistleblower
ก่อนจะถึงเวลาที่เรานัดคุยกับหนึ่งในผู้จัดงาน เราใช้เวลาไปกับการเดินดูงานนิทรรศการ ถึงแม้จะเป็นพื้นที่เล็กๆ มีของไม่กี่ชิ้น แต่ใช้เวลาในการดูงานแต่ละชิ้นเยอะอยู่ เพราะต้องตีความว่าสิ่งๆ นี้สื่อสารถึงอะไร
สาเหตุของความอึดอัด ไม่ใช่เพราะขนาดห้องจัดแสดง แต่มาจากภาพถ่ายขนาดใหญ่แขวนบนกำแพง เป็นภาพชายคนหนึ่ง ร่างกายเปลือยเปล่าปราศจากเครื่องนุ่มห่ม มันทำให้เรารู้สึกอึดอัดที่จะมอง ไม่กล้ามองร่างเปลือยก็เหตุผลหนึ่ง แต่เหตุผลสำคัญคืออารมณ์ของภาพที่สื่อสารออกมาเหมือนกับว่าชายคนนี้ถูกบังคับให้แก้ผ้า ส่วนของชิ้นอื่นๆ มีกองสีดำขนาดใหญ่อยู่มุมห้อง พอเดินไปดูใกล้ๆ ก็พบว่าเป็นเสื้อสีดำหลายสิบตัวกองรวมกัน เหรียญสีทองขนาดเล็กห้อยอยู่กลางงาน เสื้อนักศึกษาที่ปักคำว่า ‘ต่อไปนี้คุณชื่อ…’ สมุดสีขาวเล่มที่หน้าปกเป็นรูปอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ มีข้อความกำกับไว้ว่า ‘8 วิธีหนีรับน้อง’
หน้าจอมือถือโชว์เลข 13.30 น. ได้เวลาที่เราต้องเดินทางไปคุยกับแฟรงค์ – ธนวัฒน์ นุ่มเจริญ ตัวแทนกลุ่มที่จัดงานครั้งนี้ เพื่อให้เข้าใจข้อความที่คนส่งงานต้องการสื่อสารมากขึ้น
ชายที่อยู่ตรงหน้าเรา เป็นบัณฑิตใหม่วัย 24 ปี ที่เพิ่งจบจากคณะจิตรกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ภาพลักษณ์เขาเป็นอย่างที่เราคาดไว้ ชายหนุ่มไว้ผมยาว ใบหน้ามีหนวดเครา สวมเสื้อยืดสีดำ ให้ลุคหนุ่มติสท์
ที่มาของนิทรรศการครั้งนี้ ‘เราไม่มีวันลืม เก็บไว้เป็นบทเรียน’
หลังจากพูดคุยตามประสารุ่นพี่รุ่นน้องร่วมมหาวิทยาลัยแต่ไม่ร่วมวิทยาเขต แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ ‘ฉันเจอ เธอเจอ’ เราก็ชวนแฟงค์เข้าสู่บทสนทนาที่เตรียมไว้ เริ่มจาก ‘ที่มาของนิทรรศการนี้คืออะไร?’ แฟรงค์ตอบว่า จุดเริ่มต้นมาจากทางมหาวิทยาลัยประกาศให้ปีนี้งดกิจกรรมรับน้อง เพราะป้องกันโควิด-19 แต่สำหรับแฟรงค์และเพื่อนคนอื่นๆ ที่เคยอยู่คณะจิตรกรรม เขารู้สึกตกใจมากที่คณะจะยกเลิกกิจกรรม เพราะสำหรับคณะที่การรับน้องคือประเพณีที่ทุกคนต้องผ่านให้ได้นั้น ไม่มีทางยกเลิกแน่ๆ หรือถ้ายกเลิกจริง มันก็ไม่ควรที่ ‘อยู่ๆ ก็ยกเลิกไป’ แต่ต้องมีการทำบทเรียนเอาไว้
“ถ้ามันจะหายไปเฉยๆ ก็มีโอกาสที่เรื่องแบบนี้จะกลับมาเกิดขึ้นใหม่อีก การที่เราทำแบบนี้ก็เพื่อทบทวน พยายามที่จะไม่ให้บาดแผลเกิดขึ้นอีก”
ส่วนกลุ่ม whistleblower พวกเขาคือกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรับน้อง และพยายามรวมกลุ่มกัน เพื่อไม่ให้ใครรู้สึกว่าถูกทอดทิ้ง หรือแปลกแยกจากสังคม แฟรงค์บอกว่า การรับน้องถูกทำให้เป็นพิธีกรรมรวมหมู่บางอย่าง ซึ่งคนที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่อินจะถูกผลักไสออกไป พวกเขาจะรู้สึกเคว้งเพราะไม่มีพวก ฉะนั้น การสร้างกลุ่มหรือการส่งเสียงบางอย่างมันจึงสำคัญ สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้บ้าง
รวบรวมหลักฐาน
การจัดแสดงโชว์ได้มาจากการผสมผสานระหว่างพิพิธภัณฑ์และนิทรรศการ พิมพ์เขียวจากพิพิธภัณฑ์สามัญชน เก็บรวบรวมสิ่งของที่ประชาชนใช้ในการชุมนุมทางการเมือง
“ไม่ใช่เเค่การ collect วัตถุ แต่เราพยายามจะ collect ไอเดียบางอย่างด้วย อยากทำให้เป็นพิพิธภัณฑ์มากกว่างานศิลปะ เพราะ หนึ่ง – เราอยากทำให้เป็นงานที่พูดเรื่องเดียวโดยที่ไม่ต้องไปประกาศว่าใครเป็นคนสร้าง ไม่ต้องค้นว่าชิ้นนี้ใครเป็นคนทำ เพราะผมคิดว่ามันจะกลับไปสู่การเชิดชูคุณค่าในความเป็นศิลปิน
“สอง – เราอยากรวบรวมสิ่งของที่มีอยู่จริงๆ ถูกใช้ในการรับน้องจริง คล้ายๆ การเก็บหลักฐานที่ยังเหลือไว้ ซึ่งมันก็อาจทำให้งานเราเฉพาะกลุ่มมากๆ เพราะแต่ละที่เขามีวิธีการรับน้องไม่เหมือนกัน งานนี้ก็พูดใน feel ของเรา แต่ผมคิดว่ามันยังลิงก์กับคนทั่วไปได้อยู่”
จริงอย่างที่แฟรงค์บอกว่างานมีความเฉพาะ ถ้าไม่ได้รับน้องที่คณะนี้เราคงไม่รู้ที่มาของของแต่ละชิ้น แต่เรายังคงได้รับพลังการถูกบังคับ ความกดดันออกมาจากของพวกนี้ เราขอให้แฟรงค์ช่วยอธิบายชิ้นงานแต่ละชิ้น เขาเริ่มจากเหรียญทองที่แขวนอยู่กลางห้อง เป็นเหรียญที่สลักคำว่า silpakornism (ศิลปากรนิยม) แฟรงค์บอกว่า เขาได้เหรียญนี้ตอนเข้าร่วมกิจกรรมรับน้องที่มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ ตอนปี 2015 เป็นเวลา 3 วัน เป็นกิจกรรมที่เด็กปี 1 เกือบทุกคณะต้องเข้าร่วม “ผมชอบชื่อเหรียญนะ มันให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังเข้าลัทธิบางอย่างที่รวมคนเป็นกลุ่ม”
สิ่งต่อมาคือ กองเสื้อผ้าสีดำขนาดย่อม แฟรงค์เล่าว่า มีช่วงหนึ่งของการทำกิจกรรมรับน้อง รุ่นพี่จะให้นักศึกษาชายรวมตัวกันแล้วถอดเสื้อดำทิ้ง จากนั้นก็นำมากองรวมกัน แล้วให้นักศึกษาหยิบไปใส่ใหม่ โดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองจะใส่เสื้อของใคร “น้องปีหนึ่งทุกคนจะต้องใส่เสื้อสีดำเวลาลงรับน้อง และต้องตัดผมด้วย ไอ้กองเสื้อผ้านี้มาจากเหตุการณ์ตอนอาบน้ำรวม ช่วงที่ต้องรับน้อง 3 วันที่นครปฐม รุ่นพี่เขาบอกว่าให้ถอดเสื้อผ้าออก โยนมากองรวมกัน จากนั้นก็ให้หยิบเสื้อมาใส่ ทุกคนจะไม่รู้ว่าเสื้อผ้าตัวเองอยู่ไหน เเล้วตอนใส่เราก็อาจจะได้ใส่กางเกงในของคนอื่น”
เสื้อนักศึกษาที่ปักคำว่า ‘ต่อไปนี้คุณชื่อ…’ แฟรงค์เล่าว่า เมื่อเข้าคณะนี้ทุกคนจะต้องลบชื่อเดิมทิ้ง แล้วใช้ชื่อที่รุ่นพี่ตั้งให้แทน ส่วนหนังสือ 8 วิธีหนีรับน้อง เมื่อหลายสิบปีก่อนมีรุ่นพี่เคยทำสมุดเล่มนี้เอาไว้ แจกจ่ายให้กับรุ่นน้องที่เข้ามาใหม่ เขาเดาว่ารุ่นพี่คนนั้นต้องการให้น้องรู้ว่าพวกเขามีทางเลือก ถ้าไม่อยากเข้ารับน้อง ก็ไม่ต้องทำ และเพื่อรวมกลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรับน้อง อย่างที่บอกว่าสมัยก่อนเรื่องการต่อต้านรับน้องมันเป็นเรื่องที่พูดกันในวงเล็กๆ จับกลุ่มกันคุย สมุดนี่ก็เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่ามีการต่อต้านเรื่องนี้มานาน เพียงแต่เขาอาจจะแสดงตัวไม่ได้มาก
“รูปผู้ชายเปลือย เราอยากสื่อสารว่า การเข้ารับน้อง เราถูกทำให้ไม่มีอำนาจในร่างกายเราเอง ถูกสั่งให้ทำอะไรก็ได้ ก้มหน้าหลับตา ยืนนิ่งๆ หรือแม้แต่การเปลือย”
ประเพณีการรับน้อง: สร้างกลุ่มให้เชิดชูกับบางสิ่งที่เราไม่สามารถตั้งคำถามได้
“ศิลปะมันเป็นเรื่องพื้นฐานของคน เป็นเรื่องอิสระในการแสดงออก ไม่ควรถูกบังคับหรือกีดกัน แต่การรับน้องที่นี่มันคล้ายกับพิธีกรรมที่เปลี่ยนคุณให้เข้ากับความเป็นที่นี่ ตอนที่ทุกคนจะเข้ามหาวิทยาลัยศิลปากร เราเข้าใจว่าศิลปากรคือสถาบันศิลปะอันดับหนึ่ง ซึ่งทุกคนยอมเปลี่ยนตัวเองเพื่อที่จะเข้ามาเป็นลูกอาจารย์ศิลป์ ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เขายอมทำอะไรก็ได้ เพื่อได้เป็นส่วนหนึ่ง”
ด้วยความที่คณะจิตรกรรม คือ คณะศิลปะ ซึ่งสำหรับเราพอนึกถึงคำว่าศิลปะ คำที่มักมาคู่กัน คือ อิสระแต่ทำไมคนที่ทำงานศิลปะกลับใช้วิธีการบังคับคนอื่นแบบนี้? แฟรงค์ตอบว่า
“ในสายตาของคนทั่วไปคิดว่าศิลปะมีเสรีภาพ นั่นทำให้เราไม่เข้าใจเลย ช่วงที่เข้ามาแรกๆ ผมรู้สึกว่าที่นี่มีความสถาบันนิยมสูงมาก เต็มไปด้วยประเพณีที่ปฏิบัติต่อกันมา แล้วถูกสร้างความชอบธรรมผ่านการรับรองว่า การทำกิจกรรมพวกนี้จะทำให้คุณกล้าแสดงออก การทำให้คุณรักเพื่อนๆ แล้วเกี่ยวข้องกับความเป็นสถาบันนิยมแบบอิงตัวบุคคลด้วย
“ที่คณะจิตรกรรม เขาจะยกอาจารย์ศิลป์ พีระศรีมาใช้ในการรับน้องด้วย คล้ายๆ กับเป็นพ่อ แล้วคุณต้องแสดงความรักให้กับพ่อ ก็คือการอิงตัวบุคคลมันก็เป็นส่วนสำคัญที่ส่งเสริมเรื่องการรับน้องด้วย
“การอ้างเรื่องว่าคุณรักสถาบันหรือรักอาจารย์ศิลป์ไหม เพื่อใช้บังคับให้รุ่นนั้นๆ ต้องอยู่ให้ครบเพื่อแสดงความรักบางอย่าง”
เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น แฟรงค์เล่าว่า แต่ละมหาวิทยาลัยจะรับน้องไม่เหมือนกัน ที่คณะจิตรกรรมรุ่นพี่ใช้ระบบโซตัส* ในการรับน้อง เป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนตัวตนใหม่ของเรา เหมือนกับเราย้ายไปอยู่ที่ที่เขามีประเพณีปฏิบัติกันมาก่อนหน้านั้นอยู่แล้ว เราในฐานะเด็กใหม่ที่เข้าไปก็ต้องถูกเปลี่ยนตัวเองให้ยอมรับประเพณี กฎบางอย่างที่มีอยู่ ที่คณะแฟรงค์เริ่มตั้งแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ เป็นชื่อที่ใช้ในคณะ เป็นการเกิดใหม่
“เราคิดว่าการเรียนมหาวิทยาลัยคือการทำให้เรายกระดับทางชนชั้นขึ้น ฉะนั้น เราเลยต้องปรับตัวเองเพื่อให้เราเข้ากับสังคมนี้ได้ เเล้ววงการศิลปะบ้านเรามันเล็กๆ ภาพความสำเร็จถูกผูกติดไว้ที่ตัวบุคคล ศิลปินไทยที่มีชื่อเสียงไม่กี่คน เช่น อ.เฉลิมชัย อ.ถวัลย์ การเข้ามาในมหาวิทยาลัยที่อาจารย์ศิลปะเหล่านั้นเคยเรียนอยู่ ถูกรุ่นพี่บอกว่าพวกเขาต่างก็เคยผ่านประเพณีพวกนี้ ทำไมเราจะผ่านไม่ได้? ถ้าอยากประสบความสำเร็จเเบบเขา
“เรื่องที่ครอบครัวคิดด้วยว่า ถ้าลูกเรียนศิลปะก็เติบโตยาก อาจทำให้โครงสร้างของโซตัสแข็งแรงขึ้นด้วย หมายถึง คนที่เรียนพยายามพิสูจน์ตัวเองว่า เราต้องอยู่กับสิ่งที่เราเลือกให้ได้ เราก็เลยยอมรับพิธีกรรมโซตัส เพราะถ้ามีปัญหา เราก็จะแพ้เหมือนที่พ่อแม่บอก”
ทำไมถึงไม่ขัดขืนละ หรือต่อต้าน? เราคิดว่านี้อาจเป็นคำถามที่ผู้อ่านบางคนคิดคล้ายกัน การที่เราถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ไม่ต้องการ ทำไมเราไม่ปฎิเสธ นั่นเป็นสิทธิของเรานะ แฟรงค์บอกว่า เขาเองก็รู้สึกว่าสิ่งๆ นี้ มันลิดรอนเสรีภาพและการกระทำต่อร่างกายเรา
“แต่คำว่า ‘ปฎิเสธได้นะ’ มันขึ้นอยู่กับความสมัครใจ เขาจะบอกว่าไม่ได้บังคับ ใครอยากเข้าก็เข้า แต่มันมีเรื่องการกดดันทางสังคม ‘ถ้าคุณไม่เข้าเพื่อนคุณเหนื่อยนะ โดนทำโทษแทนคุณ’ ตัวเราก็จะถูกเพื่อนเกลียดเพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้เพื่อนโดนทำโทษ หรืออ้างเรื่องความรักในตัวของสถาบัน”
“เรื่องโซตัสมันไม่ใช่แค่การรับน้อง แต่มันเป็นเรื่องของอำนาจนิยม คือการสร้างความเป็นหมู่คณะคล้ายๆ กับการรักอุดมการณ์ชาตินิยม รักสถาบันบางอย่างที่ทำให้ทุกคนไม่ตั้งคำถามกับตัวสถาบันนั้น แล้วก็พร้อมที่จะทำลายคนที่เห็นต่าง หรือตั้งคำถาม หรือทำในสิ่งที่เขาคิดว่าทำให้สถาบันเสื่อมเสีย”
ถามว่ารู้สึกว่ามันผิดปกติไหม? แฟรงค์บอกเขารู้สึกไม่โอเคตั้งแต่รับน้องแรกๆ และพยายามมองหาคนที่พอจะคุยเรื่องนี้ได้ มองหาเพื่อน มองหารุ่นพี่พยายามบอกว่าตัวเองไม่โอเค แต่ก็กัดฟันลองทนทำดูเพราะอยากรู้ว่ามันจะไปถึงแค่ไหน สุดท้ายอยู่ไปได้ครึ่งทางตัวเขาก็รับไม่ไหวแล้ว “วันนั้นเขาให้เรากระโดดกบขึ้นบันได 5 ชั้น จากชั้นบน ทุกคนปวดขาหมด ทำให้เรารู้สึกว่าจะอยู่ไปทำไม อยู่ไปมันก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น มันแย่อยู่แล้ว ก็ไม่ควรที่จะต้องเอาตัวเองมาทำอะไรเเบบนี้”
เเต่โชคดีที่แฟรงค์พอมีรุ่นพี่บางคนที่พอคุยได้ แต่ว่า ณ ตอนนั้นมันก็แค่เราอาจจะแค่ปรับปรุง แต่ไม่ได้ถึงกับสามารถแสดงออกชัดเจนได้ มันก็ต้องอาศัยเวลา พอรุ่นต่อๆ มา คนกล้าแสดงออกมากขึ้น คนกล้าอาจจะด้วยสังคมที่มีประเด็นทางโซเชียลเกิดขึ้น เเล้วคนสามารถแสดงออกเพิ่มมากขึ้นและมีเรื่องที่โดนแฉออกไป
“ผมอยากกลับไปที่พูดเรื่องที่เราต่างก็รู้กันอยู่ว่า เรามีสิทธิเหนือร่างกายของเรา แต่ทำไมเราถึงยอมทำแบบนี้? ก็เพราะการรับน้องมันทำให้คนที่ทำหรือคนที่โดนไม่คิดว่า ‘นี่ฉันกำลังโดนล่วงละเมิดสิทธิ์นะ’ เราคิดกับมันว่าเป็นแค่กิจกรรมหนึ่ง เราไม่ได้คิดถึงว่ามันริดรอนสิทธิ์ในตัวคุณเอง มันลดคุณค่าในตัวของเรา ทั้งที่จริงๆ มันเป็นเรื่องของสิทธิล้วนๆ แถมเกี่ยวข้องกับการเมือง เพราะคือการสร้างความเป็นกลุ่มก้อน เชิดชูสถาบันนิยมที่คนอื่นไม่สามารถตั้งคำถามกับสิ่งนี้ได้ ผมคิดว่ามันเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นชาตินิยมด้วย
“สุดท้ายมันไปอยู่มันไปยึดโยงอยู่กับศูนย์กลางบางอย่างก็คือการมีรับน้องรวม ตราบใดที่ยังมีรับน้องรวมอยู่ในแต่ละคณะ เหมือนจะต้องบังคับหรือว่าทำอะไรก็ตามที่จะทำให้ทุกคนไปรวมกันไปทำอะไรแบบเดียวกันอยู่ ซึ่งเหมือนการแสดงอำนาจบางอย่าง อาจจะด้วยความเป็นสถาบันนิยมซึ่งผมคิดว่ามันเป็นส่วนเดียวกันกับประเด็นเรื่อง sotus คือการชูเรื่องสถาบันความเป็นหมู่คณะ”
หลายคนอาจรู้สึกว่า ‘เพราะเธอแอนตี้รับน้องหรือเปล่า? พูดแต่ข้อเสียของมัน’ สำหรับแฟรงค์เขาไม่ได้แอนตี้การรับน้อง เพียงแต่ไม่ชอบวิธีการที่รุ่นพี่ใช้ สำหรับเขาถ้าจุดประสงค์ของการรับน้อง เพื่อทำความรู้จักสร้างมิตรภาพ มันมีอีกเป็นร้อยวิธีให้เลือก แต่ทำไมเราถูกบังคับว่ามีแค่ทางนี้ทางเดียว
“ปัญหาของมันผมว่าอยู่ที่วิธีการ พี่เอาโซตัสมาใช้ในการรับน้อง ที่อื่นเขายกเลิกกันไปแล้ว แม้แต่ที่อังกฤษที่เป็นต้นกำเนิด เพราะมันเป็นวิธีการสร้างความสัมพันธ์กับคนให้ไม่เท่ากัน พอยิ่งมาใช้ในประเทศไทยที่สังคมเรามีเรื่องแบบนี้อยู่แล้ว มันก็ยิ่งส่งเสริม ความสัมพันธ์คนต่ำ-สูง ความคลั่งสถาบัน”
เปลี่ยนบาดแผลให้เป็นบทเรียน
ศิษย์เก่าศิลปากรที่เรารู้จักบางคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘งานนี้มันจัดได้เหรอ?’ แฟรงค์บอกสิ่งที่ทำให้งานครั้งนี้สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ตื่นตัวกับประเด็นทางสังคม หรือการเมืองมากขึ้น แฟรงค์เน้นว่า ถ้าเป็นสมัยก่อนคงไม่มีใครกล้าออกมาแสดงจุดยืนแบบนี้ เพราะคนที่ต่อต้านยังเป็นเเค่คนกลุ่มเล็กๆ ทำได้เพียงแค่หลบหนี มันก็เป็นบทเรียนให้รู้ว่า ถ้าเรารวมกลุ่มกันให้มากพอ เเล้วเราก็จะสามารถโต้ตอบกับบางสิ่งบางอย่างได้
“ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าสถานการณ์เหมือนเดิม แต่ในเเง่การเมืองความคิดพวกนี้รุ่นเเรงขึ้นก็มาจากความคิดฝ่ายขวาด้วย มันเลยสัมพันธ์กับความเป็นไปในสังคมด้วย ทุกวันนี้น่าสนใจว่าทำไมคนตั้งคำถามมากขึ้น อาจเป็นเพราะคนรุ่นใหม่เขาเริ่มไม่โอเคกับไอเดียแบบเก่าที่เป็นอนุรักษ์นิยม
“เรื่องรับน้องมันเลยไม่ fit in กับคนรุ่นนี้ ทำให้เขาตั้งคำถาม”
คนส่วนใหญ่จะคิดว่ารับน้อง หรือการเมืองมันไม่เกี่ยวข้องกับศิลปะ แต่ในมุมของแฟรงค์เขาคิดว่ามันเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ได้ เขาอธิบายว่า คนทำงานศิลปะจะถูกสอนว่าศิลปะมีความบริสุทธิ์ คุณไม่ต้องไปคิดถึงเรื่องอะไร แค่ทำงานศิลปะไปก็พอ ซึ่งวิธีคิดแบบนี้มันก็อาจจะทำให้คิดแค่ทำงานตัวเอง ไม่สนใจอย่างอื่น เช่น คุณทำงานศิลปะที่พูดถึงคุณค่าของมนุษย์ แต่ในขณะเดียวกันศิลปินคนนั้นกลับเห็นด้วยกับการรับน้องที่ละเมิดความเป็นมนุษย์ คือสองสิ่งนี้ (ผลงานและเจ้าของ) มันมักจะถูกมองแยกขาด
“ผมคิดว่ามันคือการทำในสิ่งที่คุณเชื่อ คือถ้าคุณทำสิ่งๆ หนึ่งที่มันพูดเรื่องหนึ่ง แต่ว่าจริงๆ แล้วคุณเชื่ออีกเเบบหนึ่ง สรุปคุณไม่เชื่อสิ่งที่คุณทำออกมางั้นเหรอ? สมมติคุณทำงานศิลปะให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ แต่คุณกลับยอมรับการรับน้องที่ละเมิดสิทธิคนอื่น? ก็แล้วแต่คนนะบางคนอาจจะคิดว่ามันก็ได้ เเต่สำหรับผม ผมรู้สึกว่าเราควรทำในสิ่งที่เราเชื่อ ไม่งั้นจะให้ใครมาเชื่องานเรา”
แล้วในแง่ความเป็นรูปธรรม ศิลปะกับการเมืองมันเกี่ยวข้องอย่างไร? แฟรงค์ตอบว่า แล้วแต่มุมมองคน บางคนมองว่าศิลปะควรเป็นเครื่องมือสำหรับฝ่ายประชาธิปไตย แต่ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 นาซีเยอรมันก็มีการใช้ศิลปะเป็นตัวสื่อสาร ฉะนั้น สำหรับแฟรงค์ ศิลปะมันก็คือเครื่องมือสื่อสารอย่างหนึ่ง ศิลปะเป็นตัวกลางมากกว่า เป็นแค่เครื่องมือบางอย่างที่สุดที่เราจะนำเสนอเรื่องบางอย่าง
“ศิลปะสามารถสื่อสารเรื่องประชาธิปไตยและในขณะเดียวกันมันก็ถูกฝ่ายที่เป็นเผด็จการใช้ได้เหมือนกัน สำหรับนิทรรศการนี้มันก็คือการพยายามสื่อสารและเราสื่อสารกันผ่านนิทรรศการที่มันดูเป็นศิลปะ เพราะด้วยเราต้องการจะสื่อสารกับคนคนในคณะนี้ด้วยมั้ง แล้วก็ด้วยความเป็นตัววัตถุของมันด้วย แสดงที่ดูเป็นศิลปะเลยเหมาะสม”
ตลอดเวลาที่คุยกันเราเห็นสิ่งหนึ่งที่แฟรงค์มี คือ ความ suffer ที่ได้จากการรับน้องมันยังคงหลงเหลืออยู่ในตัวแฟรงค์ เขาตอบรับว่า ใช่ เขายังคงรู้สึกแบบนั้น ทำให้แม้จะเรียนจบมาแล้วแต่เขายังอยากทำงานขับเคลื่อนประเด็นนี้อยู่
“ผมคิดว่าเรื่องนี้มันคล้ายเรื่อง 6 ตุลาฯ เลย ถึงจะผ่านมาแล้ว และเราก็ไม่ได้อยู่ตรงนั้นด้วยซ้ำ แต่ผมรู้สึกว่ามันไม่ควรมีใครต้องโดนแบบนี้ และคงเป็นเพราะมันยังเป็นเรื่องที่เรารู้สึกตลอดเวลา ความรู้สึกนี้คงจะไม่หายไปถ้าไม่มีใครทำอะไรสักอย่าง การละเมิดสิทธิในสถานศึกษามันก็จะไม่หายไป”
ระบบโซตัส (Sotus) ระบบการรับน้องที่มีต้นกำเนิดมาจากระบบอาวุโสในโรงเรียนกินนอนของประเทศอังกฤษ ต่อมาขยายไปยังสถาบันศึกษาในอเมริกา นิยมในสายสังคม สายทหาร และสายเกษตรศาสตร์ โดยแต่ละตัวอักษรคือคุณสมบัติที่คนเข้าร่วมโซตัสต้องมี คือ Seniority การเคารพผู้อาวุโส, Order การปฎิบัติตามระเบียบวินัย, Tradition การปฎิบัติตามธรรมเนียมประเพณี, Unity การมีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว และ Spirit การมีน้ำใจ นิทรรศการ SOTUS Object มีวันนี้เพราะพี่ให้… เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม – 31 ตุลาคม เวลา 09.00 – 16.00 น. ที่ EX SPACE หอศิลป์สนามจันทร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.art-centre.su.ac.th/ex-space.html |