- Sisu คือคำที่ made in ฟินแลนด์ เป็นคำเฉพาะที่ยังไม่มีคำแปลไทยใดๆ ที่ตรงและลงตัว
- ประเทศที่ฤดูร้อนมีแสงแดดรำไรเพียงวันละ 4-5 ชั่วโมง ความหนาวส่วนใหญ่เข้าขั้นติดลบ แต่ทุกคนก็ยังปั่นจักรยาน นั่นก็คือ Sisu
- ในวันที่ทุกอย่างสำเร็จรูปยกเว้นใจเราเอง การผ่านความลำบากต่างๆ ไม่ต่างอะไรกับการค่อยๆ สร้างกล้ามเนื้อเพื่อรอวันสู้วิกฤติที่ชีวิตหยิบยื่นมาให้
Sisu เป็นคำภาษาฟิน เป็นคำเฉพาะที่ยังไม่มีคำแปลไทยใดๆ ที่ตรงและลงตัว
แต่ ก้อย-กัญญ์ชลา นาวานุเคราะห์ ผู้แปลหนังสือ Finding Sisu ใช้คำไทยบนปกหนังสือสีฟ้าใสว่า เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว
จริงๆ อดีตนักศึกษาปริญญาโทจากฟินแลนด์อย่างก้อย ได้ยินคำว่า Sisu มานานแล้ว แต่ค่อยๆ ซึมซับแบบซึมลึกก็เมื่อตอนใช้ชีวิตอยู่คนเดียวในประเทศที่ฤดูร้อนมีแสงแดดรำไรเพียงวันละ 4-5 ชั่วโมง ความหนาวส่วนใหญ่เข้าขั้นติดลบ – แต่ทุกคนก็ยังปั่นจักรยาน
ทำไมถึงไปเรียนที่ฟินแลนด์? คนที่จบปริญญาตรีด้านอักษรศาสตร์อย่างก้อย สนใจวัฒนธรรมเป็นทุนเดิม ทำงานได้สักพักก็อยากเรียนต่อด้านนี้ พอดีกับที่เพื่อนคือ ‘ครูจุ๊ย’ กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ แนะนำว่ามีทุนเรียนฟรีที่ฟินแลนด์ (ปี 2550-2553 – ปัจจุบันประชากรสหภาพยุโรปเท่านั้นที่เรียนฟรี)
“เสียแค่ค่ากินอยู่ เดินทาง นอกนั้นฟรีหมด เราก็เสิร์ชเจอวิชา Digital Culture (วัฒนธรรมดิจิตอล) เราอยากเรียนเรื่องการสร้างสรรค์ของคน การส่งต่อความหมาย ประเพณีต่างๆ”
ชีวิตนักศึกษาไทยในฟินแลนด์ ทำให้แว่นการมองบ้านเมืองเป็นไปอย่างช่างสงสัยและตั้งข้อสังเกต วิธีการหาคำตอบของก้อยคือใช้ชีวิต เก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เจอในแต่ละวันมาต่อจิ๊กซอว์ให้ค่อยๆ เต็ม จนเข้าใจความหมายของ Sisu
Sisu บทที่1
เปรียบเทียบกับเมืองไทย สำหรับก้อย ฟินแลนด์ถือว่าเรียนน้อยมากแต่ได้เรียนในสิ่งที่อยากรู้อย่างลงลึกจริงๆ ภายใต้แนวคิด “อาจารย์และนักศึกษาก็คือมนุษย์คนหนึ่ง”
“ถ้ามีการสอบ จะจัดสอบประมาณ 3 ครั้ง ถ้าเราติดธุระหรือไม่สบายไม่สามารถมาสอบครั้งแรกได้ ก็ให้ไปครั้งถัดไป เหตุผลคือมนุษย์ถึงมนุษย์มาก เขาถือว่ามนุษย์ทุกคนไม่ได้พร้อมในวันเดียวกัน ธุระอย่างอื่นสามารถสำคัญกว่าการเรียนได้ การเรียนไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต”
หรือครั้งแรกสอบตก ก็มาสอบใหม่ครั้งที่ 2 ได้ เพื่อที่จะได้รู้ว่าคุณขาดอะไร ไม่เข้าใจตรงไหน ไปอ่านเพิ่ม”
ก้อยบอกว่า เป็นการศึกษาที่ทำให้คนคนหนึ่งได้เรียนรู้และได้ก้าวผ่านสิ่งที่ยังไม่รู้จริงๆ
นอกจากวิชาที่ลงเรียน อาจารย์เองก็สอนการใช้ชีวิตให้นักศึกษาไทยโดยไม่รู้ตัว และนี่คือ Sisu บทแรกๆ ที่ก้อยได้สัมผัส
“อาจารย์ที่ปรึกษาจะขี่จักรยานมาสอนทุกวัน มีรถนะคะแต่ไม่ได้ใช้ ไม่ว่าฤดูอะไร ไม่ว่าจะหนาวแค่ไหนแกจะมาด้วยจักรยาน ก่อนมาถึงมหา’ลัย แกจะขี่จักรยานไปส่งลูกก่อนด้วย นี่คือ Sisu ในชีวิตประจำวัน เขาอาจจะไม่ได้เลือกทางที่ง่ายแต่เขาจะเลือกทางที่ยากกว่านิดหนึ่ง แต่มันเสริมสร้างอะไรบางอย่าง เป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตที่ฝึกให้เราแข็งแกร่งขึ้นทีละนิดๆ สุขภาพดี ได้ใกล้ชิดธรรมชาติด้วย”
ก้อยเองใช้ชีวิตนักศึกษาด้วยการเดินไปเรียนที่มหาวิทยาลัยทุกวัน ยิ่งหนาวยิ่งต้องเดิน โดยเฉพาะหน้าหนาวจะปั่นจักรยานไม่ได้เพราะโอกาสลื่นล้มสูง
“ก่อนออกจากบ้าน อาบน้ำก็ต้อง Sisu (หัวเราะ) เป็นสภาพแวดล้อมที่เราต้องมุมานะ ทะเลสาบในเมืองที่ก้อยอยู่ จะมีคนวิ่งและเดินตลอด คนแก่อายุ 80-90 ก็มา อุณหภูมิติดลบพ่อแม่ก็เข็นลูกออกมาเดิน เหมือนเขาฝึกกายฝึกใจของตัวเองอยู่ตลอดเวลาจนอยู่ในวิถีชีวิตของเขา”
Sisu ยังกินความหมายถึง ความประหยัด ใช้ของที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และทำทุกอย่างด้วยตัวเอง
“ที่นี่จะมีร้านขายอะไหล่มือสองเยอะ คนฟินจะชอบซ่อม ปรับเปลี่ยน ไม่ซื้อใหม่ ทำของที่มีให้ดีกว่าเดิม ทำงานบ้านเอง จะจ้างก็จ้างได้แต่ส่วนใหญ่ทำเองมากกว่า”
Sisu บทที่ 2
หลังจากกลับมาเมืองไทย ความเปลี่ยนไปเกิดขึ้นกับก้อย จากที่ไม่เคยทุกข์ร้อนกับสิ่งใด ทำงานหรือทำอะไรใช้ความสุขของตัวเองเป็นที่ตั้ง ก็กลายเป็นก้อยอีกคน
“การไปอยู่ในที่ที่เราควบคุมอะไรไม่ได้ ทำให้รู้ว่าถ้าเราต้องการไปถึงอะไรสักอย่างหรือทำงานอย่างตั้งใจและมีคุณภาพ เราต้องเจออุปสรรคแน่นอน”
เพื่อจะผ่านอุปสรรคหรือที่ก้อยเรียกว่าความท้าทายนั้นมาได้ นอกจากหัวใจ ยังต้องมีร่างกายที่แข็งแรงด้วย
“แต่ก่อนยังคิดว่า Sisu คือเรื่องของจิตใจ คือ ฮึบ แต่อยู่ไปๆ จึงได้รู้ว่า ฮึบอย่างเดียวมันไม่พอ คลื่นใหญ่มาอยู่ตรงหน้าแล้วแต่เรือยังไม่ได้อัพเกรด ยังเป็นแพไม้ไผ่อยู่เลย ใจสู้แค่ไหนก็คงแพ้ ฉะนั้นมันจะมีความสัมพันธ์ระหว่างความคิด กายและใจ ลึกกว่านั้นคือสัญชาตญาณ เราต้องฝึกทุกอย่างให้สัมพันธ์กัน”
จนเมื่อได้มีโอกาสทำงานเป็นนักแปลกับสำนักพิมพ์ openbooks ของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา และเป็นบรรณาธิการให้สำนักพิมพ์ในเครืออย่าง Open Meri เล่มที่ก้อยเลือกมาคือ Finding Sisu ของ กัตเทีย พันต์ซาร์ (Katja Pantza) โดยให้เหตุผลว่า ‘อยากทำ’ ในฐานะคนที่ฝึก Sisu อยู่
ไม่ใช่แค่การอ่านอย่างทะลุปรุโปร่งจนแปลออกมาได้สละสลวยหมดจด หากประเด็นสำคัญอยู่ที่ความเข้าใจ ทำให้ก้อยต้องหันกลับมา ‘ว่ายน้ำ’
“แรกๆ ยอมรับว่าฉันแปล Sisu ฉันต้อง Sisu ก็ตะบี้ตะบันทำงานตื่นตีห้าลากยาวไปถึงสองทุ่ม กินข้าวไม่เป็นเวลาแต่เล่มนี้ทำให้ก้อยกลับไปว่ายน้ำประจำ อาทิตย์ละสองถึงสามครั้ง ครั้งละหนึ่งกิโลหรือมากกว่านั้น”
การกลับมาว่ายน้ำทำให้ตารางชีวิตก้อยเข้ารูปเข้ารอยมากขึ้น เช่น ว่ายน้ำ 6 โมงเย็น ก็ต้องกินมื้อเย็นบ่ายสามถึงบ่ายสี่ มื้อเที่ยงขยับไป 11.30 น. กระทบไปเป็นทอดๆ ถึงมื้อเช้าและเวลาตื่น
ผลลัพธ์คือสุขภาพที่ดีขึ้น เวลาการทำงานน้อยลงแต่ปริมาณงานต่อวันเท่าเดิม เพิ่มเติมคือมีคุณภาพมากขึ้น
“ชั่วโมงนึงอาจพัก 10 นาที ระหว่างนั้นอาจจะมี YouTube บ้างนิดหน่อย (ยิ้ม) แต่จะรู้ตัวเร็วขึ้น” ก้อยเลียนแบบชั่วโมงเรียนชั้นประถมของฟินแลนด์ที่จะมีการพัก 15 นาทีทุกๆ การเรียนคาบละ 45 นาที
ที่สำคัญ การว่ายน้ำทุกเย็นคือการเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น ซึ่งก้อยมารู้ทีหลังว่ามันคือการคลายเครียด ช่วยให้หลุดออกจากการทำงาน
“เรานั่งแปลงาน edit งานมาทั้งวันพอตอนเย็นได้กระโดดลงน้ำ เหมือนมันตื่น ในทางวิทยาศาสตร์เราไม่สามารถอธิบายได้ แต่มันมีพลัง”
Sisu บทที่ 3
“ทุกวันนี้พยายามทำสิ่งที่มีประโยชน์กับผู้คน ทำเล่มนี้ก็เพราะอยากอ่านเองด้วย แต่มีการพิจารณามากขึ้นว่าสิ่งที่เราทำมีประโยชน์กับคนอื่นไหม คนอื่นจะเอาไปใช้ได้ยังไง” ก้อยพูดถึงเป้าหมายของการแปลเล่ม Finding Sisu
อย่างน้อยๆ ‘กำลังใจและความเข้มแข็ง’ น่าจะเกิดขึ้นหลังจากอ่านเล่มนี้จบ
“ยุคนี้มีความสะดวกทุกอย่าง มีของสำเร็จรูป แต่สิ่งที่เราไม่มีหรือสิ่งที่ไม่สำเร็จรูปก็คือความคิดกับใจเราเอง” ก้อย อธิบายต่อ
ก้อยคิดว่ามันเป็นยุคที่ต้องเข้มแข็งยิ่งกว่ายุคไหนทั้งหมด ที่ทำหนังสือเล่มนี้เพราะเราก็ยังเป็นคนหนึ่งที่ยังฝึกอยู่ กัตเทีย พันต์ซาร์ คนเขียน พูดว่าเขาก็ฝึกอยู่ เขาไม่ได้เป็นอาจารย์แต่เป็นเหมือนเพื่อนร่วมห้องที่ตั้งใจเรียน เอาไปทดลองแล้วค่อยเอากลับมาบอกเราว่าอ๋อ มันเป็นแบบนี้ อันนี้ฉันได้ผล อันนี้ฉันยังฝึกอยู่”
หลังจากแปลเล่มนี้จบลงแต่การฝึก Sisu ยังเดินหน้าต่อ เพราะก้อยคิดว่า ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีมาอำนวยความสะดวกแค่ไหนก็ตาม แต่แก่นของความเป็นมนุษย์ไม่เคยง่าย มนุษย์ทุกคนต้องเผชิญความลำบากเพื่อก้าวผ่าน
“โลกทุกวันนี้มันซับซ้อน เราจะใช้ชีวิตอย่างสบายก็ได้ อยู่บ้านเปิดแอร์เล่นไอแพด งานนี้ไม่อยากทำ ก็ไปเที่ยวเล่นก็ได้ เดี๋ยวนี้มีทางหนีหรือเทคโนโลยีช่วยเราเยอะแยะ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องเจอสิ่งที่ซัดเข้ามาหาเราอยู่แล้ว ถ้าเราไม่เตรียมพร้อม ไม่ฝึกความมุมานะ ไม่ฝึกความอดทนเสมอ วันหนึ่งที่ชีวิตหยิบยื่นสิ่งนี้มาให้เรา เราจะจัดการมันไม่ได้
ที่คนฟินออกไปวิ่งออกไปขี่จักรยานทุกวัน เค้าฝึกตัวเองให้พร้อมกับความท้าทายทุกอย่าง เมื่อชีวิตหยิบยื่นความลำบากมาให้ เค้าจะมีวิธีคิด มีใจ มีสมองที่จะต่อสู้กับอุปสรรคนั้น โดยส่วนตัวก้อยไม่คิดว่าเราจะหลีกเลี่ยงอุปสรรคได้ตลอดไป การไม่เจอปัญหาเลยก็เป็นปัญหาในตัวมันเองอยู่แล้ว”
sisu แบบไทยๆ
บางคนอาจบอกว่า Sisu ใช้ได้แค่ฟินแลนด์หรือเปล่า ก้อยนิ่งคิดพักใหญ่ก่อนตอบว่า
“ถ้าอ่านไปจนจบหรือลองเองก็จะรู้ว่ามันเป็นคอนเซ็ปต์ธรรมชาติของมนุษย์ทั่วไป มันก็คือความพยายาม มันทำได้แน่นอนแต่ใช้เวลา เหมือนเรามุ่งมั่นแต่มันใช้ความมุ่งมั่นที่จะมุ่งมั่น”
ในฐานะคนที่กำลังฝึกอยู่ ก้อยบอกว่าไม่ต้องมุ่งมั่นแบบยิ่งใหญ่ แค่เริ่มจากจุดเล็กๆ เช่น ฉุดตัวเองขึ้นมาให้ได้จากเตียงเสียก่อน
“ลองไปว่ายน้ำดูซัก 5 นาทีรอบเล็กๆ เดี๋ยวพรุ่งนี้ไปอีกครั้งหนึ่ง ไม่ต้องคิดว่าจะได้อะไรอย่างอื่นนอกจากนี้ หรือวันนี้คิดแค่ว่าฉันจะแปลย่อหน้านี้ให้ดีที่สุด เสร็จแล้วจะกลับมาทวนอีกรอบอย่างตั้งใจ นี่คือความมุ่งมั่นเล็กๆ”
เพราะ Sisu คือการสะสมความมุ่งมั่นเล็กๆ เพื่อนำไปใช้ในความมุ่งมั่นใหญ่ๆ ที่รอเราอยู่
“Sisu เหมือนกล้ามเนื้อที่เราต้องฝึกทุกวันเมื่อเราเจออุปสรรคหรือปัญหาใดๆ ถ้าเรามีกล้ามเนื้อที่แข็งแรงพอ เราจะสู้ได้”
Sisu สำหรับเด็กและห้องเรียนประโยคหนึ่งในเล่มบอกเราว่า “ไม่มีวันที่อากาศไม่ดีหรอก มีแต่วันที่เราแต่งตัวไม่เหมาะสมเท่านั้น” ก้อยอธิบายความหมายว่า ไม่ว่าข้างนอกจะเป็นยังไงถ้าคุณแต่งตัวให้พร้อมคุณก็ไปทำกิจกรรมข้างนอกได้เหมือนเดิม “ถ้าคนที่อยู่รอบตัวเด็กๆ มีทัศนคติอย่างนี้ ถึงจะมีอุปสรรคข้างหน้ามากมายเยอะแยะ แต่สิ่งที่เรากำหนดได้คือตัวเราเอง และถ่ายทอดไปสู่ลูกของเรา” สำหรับห้องเรียน Sisu คือการทำทุกอย่างให้เป็นปลายเปิด เพราะปลายเปิดจะไม่มีคำตอบสำเร็จรูป “ต้องค้นหา การค้นหาคือการออกเดินทางหาวิธี เด็กต้องหาวิธีเอง ผ่านอุปสรรคและแก้ปัญหาเอง ครูอาจโยนคำถาม โยนโปรเจ็คท์ไปเลยว่าจะเอาอย่างนี้ ให้เด็กๆ ไปหาทางเอาเอง ความรู้ทุกอย่างอยู่ใกล้มืออยู่แล้วเพียงแต่ว่าเราจะจัดความรู้เหล่านั้นมาแก้ปัญหาเพื่อไปถึงจุดที่ต้องการได้อย่างไร นอกจากเราจะมีลอจิค มีตรรกะแล้วเราต้องมีทัศนคติแห่งการแก้ปัญหาด้วย” |