- ภูมิ คือเด็กหนุ่มที่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรตั้งแต่มัธยมต้น และเลือกที่จะลาออกตั้งแต่ชั้น ม.4 เพื่อเดินต่อในฐานะโปรแกรมเมอร์
- กองหลังสำคัญคือพ่อแม่ ที่สร้างพื้นที่ปลอดภัย เมื่อเดินไปสู่พื้นที่ใหม่ๆ ภูมิจะรู้เสมอว่า ‘จะไม่เกิดอะไรขึ้น’ เพราะพ่อแม่พร้อมรองรับ
- สำหรับภูมิ การไม่ได้เกรด 4 ไม่ได้หมายความว่าไม่เก่ง คุณอาจจะเป็นนกที่โบยบินได้เก่ง แต่ใครก็ไม่รู้มาบอกว่าให้คุณว่ายน้ำ…แค่นั้นเอง
เรียน ม.4 ไปได้เพียงเทอมเดียว ภูมิ-ภูมิปรินทร์ มะโน เด็กหนุ่มวัย 15 ปีก็ตัดสินใจลาออกจากโรงรียน เพราะรู้สึกว่าอยู่กับสิ่งที่ไม่ชอบมานานพอแล้ว
ย้อนไปไกลกว่านั้น ราวๆ ม.ต้น ด.ช.ภูมิปรินท์ ปฏิบัติการ ‘แฮคระบบโรงเรียน’ เพราะสนใจเรื่อง software security จู่ๆ อาจารย์เดินมาเห็นเข้า (เพราะดันทำในห้องคอมโรงเรียน) แทนที่อาจารย์จะว่ากล่าวหรือลงโทษ กลับเห็นแวว ชวนไปแข่งในสนามต่างๆ จนคว้ามาหลายรางวัล
ปัจจุบันภูมิเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ หรือ software developer ที่อายุน้อยที่สุดของบริษัท OmniVirt สตาร์ทอัพสัญชาติไทยในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
ด้วยวัยเพียง 17 ปี
เริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่เราเรียนอยู่ไม่ตอบโจทย์ตั้งแต่ตอนไหน
ตอน ม.1-ม.2 รู้สึกว่าตอนเรียนเราไม่สามารถเลือกได้ว่าสิ่งไหนบ้างที่เราอยากจะเรียนรู้เพิ่มเติม ต่างจากในมหาวิทยาลัย ถ้าผมสนใจเรียนความปลอดภัยของซอฟต์แวร์หรือสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ก็สามารถลงเรียนหนักๆ ได้ แต่มัธยมเราต้องเป็นทุกอย่าง ไม่ได้เจาะลึกกับอะไรสักอย่าง 12 ปีสำหรับการศึกษาผมคิดว่ามันเป็นเวลาที่เยอะมาก เวลานี้สามารถเอาไปใช้ทำอย่างอื่นอย่างจริงจังได้ดีกว่า
ย้อนกลับไปไกลกว่านั้น ภูมิเริ่มพบว่าตัวเองชอบอะไรและตั้งแต่เมื่อไหร่
น่าจะเป็นช่วง ป.5 ตอนนั้นติดเกมหนักมาก หนักขนาดทำคอมพังไป 2 ตัว (ยิ้ม) เพราะพัดลมระบายความร้อนทำงานไม่ไหว ผมติดหนักขนาดเอาเงินไปเติมเกมเพราะอยากได้ของในเกม แต่พ่อแม่ไม่เข้าใจ ผมเลยคิดขึ้นมาได้ว่า ถ้าเราสามารถสร้างของในเกมขึ้นมาได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องเสียเงินเลยก็น่าจะดี จากนั้นก็เลยสนใจการสร้างของเสริมในเกม แต่การจะสร้างอะไรสักอย่างในคอม เราจำเป็นต้องเขียนโปรแกรมเป็น
ซึ่งผมเป็นคนชอบจับคีย์เวิร์ดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอ่านบทความ หรือทำอะไร ฉะนั้นเวลาผมเล่นเกม ก็จะเจอคีย์เวิร์ด เช่น คำว่า JAVA PHP javascript ผมเลยจำคำพวกนี้เอาไปค้นหาใน Google ต่อว่าถ้าจะเขียนจะต้องทำอย่างไร บวกกับตอนเด็กๆ แม่จับผมเรียนภาษาอังกฤษ เลยทำให้เราค้นข้อมูลและฝึกเขียนโปรแกรมมาได้
อะไรทำให้ตัดสินใจว่าต้องลาออกแล้ว
ช่วงนั้น (ม.4) ผมลงแข่งขันเยอะมาก ม้นเริ่มจาก ม.2 ผมเข้าชมรมคอมพิวเตอร์ ไปเล่นอะไรแปลกๆ ในห้องคอม จนอาจารย์มาเห็นเข้า เลยชวนไปแข่ง
อะไรแปลกๆ ที่ว่า คือ?
แฮคระบบโรงเรียน (หัวเราะ) พูดกันตรงๆ ตอนนั้นเราสนใจเรื่อง software security จนทำอะไรแปลกๆ พออาจารย์เข้ามาเห็น อาจารย์ไม่ว่าอะไรแต่กลับชวนไปแข่ง ‘ภาษาซี’ (เขียนโปรแกรมเพื่อแก้ปัญหา โดยมีโจทย์มาให้) ได้รางวัลที่หนึ่งระดับประเทศ จากนั้นก็มีอีกหลายสนามและได้หลายรางวัล หนึ่งในนั้นคือการเข้าร่วมโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ของมูลนิธิสยามกัมมาจล ทำให้ผมได้ลองทำโปรดักท์ขึ้นมา ชื่อ FlipED
ตอนนั้นเราไม่ได้สนุกที่เราได้รางวัล แต่เราสนุกที่เราได้สร้างของขึ้นมาที่มาแก้ปัญหาของตัวเอง และยังช่วยคนอื่นแก้ปัญหาได้
ยกตัวอย่างการแก้ปัญหาให้ฟังหน่อย
ผมรู้สึกว่าการทวนบทเรียนในห้อง มันเป็นเรื่องน่าปวดหัว ไปนั่งดูที่ไฮไลท์เอาไว้ หรือดูชีทสรุป มันก็ช่วยนะ แต่ถ้ามีอะไรที่เราได้เล่นกับมันก็น่าจะสนุกขึ้นนะ เลยสร้างโปรแกรมขึ้นมาชื่อว่า FlipED ขึ้นมาตอนนั้นเราก็เป็นมือใหม่ เขียนโปรแกรมแบบ beginner ใช้เทคโนโลยีที่เราไม่เคยเล่นมาก่อน ท้าทายตัวเองว่าจะทำได้ไหม
FlipED คือห้องเรียนกลับหาง แทนที่เราจะสอนปากเปล่า เราก็ทำโปรแกรมให้โต้ตอบได้ ผมลองทำเป็นตัวเลือก 4 ข้อให้เลือกตอบแล้วเฉลยคะแนน หรือเป็นแชทบอทที่พูดโต้ตอบเล่นกันได้ ก็ทดลองทำดู ถึงแม้ตัวนี้จะพัฒนาไปไม่สำเร็จ แต่ทำให้เรามีความรู้เรื่องการเขียนโปรแกรมขึ้นมาเยอะมาก
ตอนติดเกม พ่อแม่ว่าอย่างไรบ้าง
พ่อแม่ไม่ค่อยว่าอะไรมาก (พ่อแม่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย สอนด้านวิศวะไฟฟ้า) เพราะเราได้เจอสิ่งที่เราชอบ เราสนใจ พ่อแม่สบายใจ ไม่ได้มาควบคุม แต่คนที่เป็นห่วงจริงๆ คือย่า ย่ากลัวเสียคน ที่ผมรู้ว่าตัวเองอยากเขียนโปรแกรม ส่วนหนึ่งคืออยากพิสูจน์ให้ย่าเห็นว่า คอมพิวเตอร์มันไม่ได้ทำให้เสียคน ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้อย่างไร
แสดงว่ามีการแบ่งเวลาที่ดี?
ผมไม่ได้แบ่งเวลาเลยครับ (ตอบทันที) แต่เราต้องตั้ง goal (เป้าหมาย) กับมันมากกว่า สมมุติแต่ก่อนเราอยากแค่เล่นเกม แต่เราเปลี่ยนเป้าหมายเป็นว่าเราอยากจะเขียนโปรแกรม เราก็ยังได้เล่นเกมเหมือนเดิม แต่มีเป้าหมายเพิ่มขึ้นมา ผมว่ามันก็เหมือนกฎ 70:30
70 คือสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วคือการเล่นเกม อีก 30 คือที่เราไม่รู้ คือการเขียนโปรแกรม ผมว่ามันจะทำให้เราเล่นเกมได้สนุกมากขึ้น
กังวลไหมที่เราไม่ได้เรียนเหมือนเพื่อน
ถ้าช่วง ม.1-ม.2 ผมมีปัญหากับเพื่อนอยู่แล้ว หมายถึงนิสัยผมนี่แหละครับ นิสัยค่อนข้างแย่มาก ช่วงนั้นเหมือนเราไม่รู้ว่าเขียนโปรแกรมได้จริงไหม เลยทำตัวมีปัญหามาก ทำให้เพื่อนปวดหัว ทำตัวให้เด่นกว่าเพื่อน แต่มันก็อาจจะเรื่องของวัยด้วย
พอเรารู้ตัวว่าการเขียนโปรแกรม คือสิ่งที่ทำให้เราสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้ ทำให้เรามีเป้าหมายในชีวิตขึ้นมา ฉะนั้นก็ไม่มีความจำเป็นที่เราจะต้องทำตัวแย่ๆ หรือทำตัวไม่มีประโยชน์แล้ว ไปแข่งชนะได้รางวัล เราไปช่วยอาจารย์ เราเขียนโปรแกรมได้ แค่นี้มันก็มีความหมายแล้ว ซึ่งเราก็ได้ใช้การเขียนโปรแกรมแก้ปัญหาเรื่องนิสัยตัวเองด้วย ปัญหากับเพื่อนก็ค่อยๆ หายไป
จริงๆ ตอนแรกไม่ได้คิดจะลาออกเลย อยากจะเรียนอยู่ในระบบต่อไปด้วยซ้ำ แต่ช่วงนั้นผมได้เข้ากลุ่มนักโปรแกรมเมอร์ที่สนใจเรื่องเทคโนโลยี มีโอกาสคุยกับพี่ๆ หลายคนก็แนะนำให้เราออก จะได้เอาเวลาไปทำอย่างอื่น
ตอนนั้นพ่อแม่ว่าอย่างไร
พอตัดสินใจบอกท่านไป ก็ freak out (ชะงัก) พอสมควร แบบเฮ้ย เราจะเอาจริงเหรอ?
ก็เล่าให้เขาฟังว่าเราไปงาน เจออะไรบ้าง เขาก็เป็นห่วง ถกเถียงกันอยู่หลายเดือนว่าจะเอาอย่างไร ผลที่เกิดขึ้นคือเราพิสูจน์ตัวเองได้ ผมไปลงแข่งเอารางวัลมาได้ เราอยู่รอด พ่อแม่เขาก็โอเค วันรุ่งขึ้นพ่อแม่ก็พาไปหาอาจารย์ ตอนแรกไม่ได้จะลาออก จะไปแค่เปลี่ยนสายการเรียน เพราะรู้สึกว่าสายวิทย์-คณิตที่เป็น EP เราต้องใช้เวลาไปกับมันเยอะ เลยจะย้ายเป็นศิลป์-คำนวณ แต่เงื่อนไข เวลาเรียนกับการสอบไม่ตรงกัน เลยตัดสินใจลาออก
พ่อแม่ดูแลเราอย่างไรบ้าง
จริงๆ พ่อแม่พูดมาตลอดว่า ชีวิตเป็นของภูมิ เราสามารถวาดทางเดินของเราได้ แล้วพ่อแม่จะสนับสนุน ผมว่าแค่นี้มันก็พอแล้ว พอแล้วจริงๆ
ถ้าเด็กที่รู้ goal มีเป้าหมายแล้ว สิ่งต่อมาที่เขาต้องการคือพ่อแม่ที่พร้อมจะอยู่กับการตัดสินใจของเขา ซึ่งผมโชคดีมากที่พ่อแม่เป็นแบบนั้น ตอนผมตัดสินใจลาออก พ่อแม่ก็ไม่ต้องบอกว่าเราจะต้องทำอะไรต่อ ผมก็ใช้ชีวิตเหมือนเดิม
ลาออกแล้วทำอะไรต่อ
ผมพยายามเข้าร่วมกับกลุ่ม meet-up ให้มากขึ้น ทำความรู้จักกับคนอื่น ขณะเดียวกันก็พยายามสร้าง portfolio ด้วย ตอนนั้นผมขึ้นบีทีเอสได้ยินพี่ๆ นักศึกษาพูดเรื่อง theinternship.io ผมก็ไปเสิร์ชหาข้อมูลต่อว่ามันเป็นโครงการฝึกงานของนักศึกษามหาวิทยาลัย ผมเลยถามไปว่า อยู่มัธยมสามารถส่งไปได้ไหม เขาตอบว่าถ้าแน่จริงก็ส่งมา ผมเลย เอาดิวะ รีบทำ รีบส่ง ปรากฏเข้ารอบสุดท้าย และได้ฝึกงานด้านนี้เต็มๆ
ไปฝึกงานกับบริษัท itax เป็นแอพพลิเคชั่นเกี่ยวกับการจัดการเรื่องภาษี เข้าไปเจอพี่ๆ มหาวิทยาลัยดังๆ ทั้งนั้น ผมจำคำพูดของแม่ได้ว่า ‘ชอบช่วยจะโชติช่วง’ ถ้าเราให้ความช่วยเหลือกับคนที่อาจจะยังทำไม่ได้ มันจะดีกว่าการไปเยาะเย้ย หรือถากถางเขา
ตอนนั้นผมฟัดกับเทคโนโลยี react มานานมาก มันเป็นระบบที่ใช้สร้างเว็บที่มีความซับซ้อนในระดับหนึ่ง พี่ๆ หลายคนที่เป็นพนักงานในบริษัทอาจยังไม่คุ้นชินกับตัวนี้ แต่ผมที่ฟัดกับมันมานานเป็นปี ช่วงนั้นถ้าผมเห็นว่าพี่ๆ คนไหนติดขัดอะไร ผมจะเข้าไปช่วยเหลือ
อายุเป็นอุปสรรคไหม
ถ้าถามความคิดผมในตอนนั้นมันจะมีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ เวลาที่เราไม่รู้อะไร เราจะคิดว่าเรารู้เยอะ แต่ถ้าเรารู้เยอะในสิ่งใด เราจะคิดว่าเรารู้น้อย ลองคิดภาพเด็ก อายุ 15 ที่มีงานทำแล้ว มีความหยิ่ง เราจะรู้สึกว่าเราเก่งแล้ว ซึ่งความคิดนี้มันอยู่กับผมมาหลายเดือน เราต้องรู้เยอะกว่านี้ แต่เรากลับไม่ได้ฝึกตัวเองเรื่องการเข้าหาคน ไม่ได้สนใจ เรื่อง soft skill เรื่องการทำงานเป็นทีม ผมคิดว่ามันเป็นทั้งคำสาปและการอวยพร เพราะอายุแค่ 15 ปี ทุกคนเลยไม่ค่อยถือสามาก ทั้งเรื่องคำพูดคำจา เรื่องการวางตัว ผมไม่ได้ใช้คำหยาบอยู่แล้ว แต่บางคำพูดมันก็อาจจะเกินเลยไป
แล้วมาปรับได้ตอนไหน
ช่วงหลังฝึกงานเสร็จ ผมก็ยังไม่รู้จะเข้าทำงานที่นี่ดีไหม ได้เจอพี่คนหนึ่งเขาจะรับผมไปทำงานต่อ แต่ตอนนั้นคำพูดคำจาของเราค่อนข้างแรง พี่เขาคิดว่าเราอาจจะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี เขาบอกว่าจะสนับสนุนเมื่อเราทำงานผลิต product แต่ถ้าให้ไปทำงานเป็นทีม อาจจะทำให้สภาพแวดล้อมหรือบรรยากาศในทีมเสีย ตอนนั้นผมก็เจ็บมาก แต่ก็ต้องขอบคุณพี่คนนั้นที่ทำให้ผมรู้ตัวเอง ไม่งั้นกว่าจะรู้ตัวก็อีกนานเลย
จุดไหนที่ทำให้เริ่มคิดว่าต้องปรับ soft skill
ผมว่าแค่คำพูดของพี่คนนั้น เราก็เจ็บมากแล้ว แต่เราแค่ไม่รู้ว่าจะต้องปรับมันแค่ไหน จนได้เจอกับพี่อีกคนหนึ่งที่เป็นมือหนึ่งในวงการโปรแกรมมิ่ง
แต่สิ่งที่ผมเห็นคือพี่เขาอ่อนโยนมาก mindset เดิมเราจะรู้สึกว่าคนเก่งๆ ต้องห้าวหรือเปล่า กระด้างหรือเปล่า แต่ไม่ใช่ฮะ คนที่เก่งจริงๆ ค่อนข้างอ่อนน้อม เพราะ 1.เขารู้ว่าทำตัวแย่ๆ ไปไม่ได้ทำให้เราเก่งขึ้น 2.การที่เรารู้สึกว่าเก่งขึ้น หลายๆ ครั้งเราอาจเสียความมั่นใจหรือเสียความหยิ่งผยองเหมือนที่เราทำงานแรกๆ
เราเลยรู้สึกว่าต้องปรับนิสัยตัวเองแล้วแหละ ผมคิดว่า soft skill มันไม่ได้เปลี่ยนแบบกดสวิตช์ปุ๊บ กลายเป็นคนดีเลย แต่เราต้องทำงานไปเรื่อยๆ แล้วจะเห็นผลตอนเราโต้ตอบ
อาจจะไม่ใช่ภูมิคนเดียวที่รู้สึกว่า soft skill ยังน้อยหรือยังต้องฝึก เป็นเพราะอะไรที่คนที่เก่งด้านไอที กลับรู้สึกว่า soft skill คือจุดอ่อนของตัวเอง
soft skill ไม่ได้เป็นสูตรสำเร็จว่า กดปุ่มปุ๊บหรือเข้าไปนั่งเรียนอ่านหนังสือแล้วเราได้สิ่งนั้นมาเลย ผมว่าจริงๆ soft skill มันคือการทำความเข้าใจกับตัวเราเองมากกว่าว่าการที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับคน สื่อสารหรือการพยายามอธิบายเรื่องให้คนคนหนึ่งเข้าใจ
ผมว่าเหมือนเป็นบับเบิลหรือฟองสบู่อันหนึ่ง ที่มันครอบตัวเองไว้ว่าเฮ้ย เราเก่งนะ เพราะฉะนั้น ไม่มีใครทำอะไรเราได้ เราก็จะใช้เรื่องนี้เป็นข้ออ้างหรือเป็นฟองสบู่กันเราไว้ว่าเราจะทำตัวแย่ๆ ยังไงก็ได้
พอช่วงหลังเรารู้ว่าเราไม่ได้เก่งอะไรขนาดนั้น ยิ่งช่วงที่ไปต่างประเทศมันก็ชัดมากว่าเราอ่อนจริงๆ ยังมีอะไรให้เราพัฒนาตัวเองได้เมื่อเทียบกับคนทีทำงานในบริษัทดังๆ อย่างกูเกิล หรือไมโครซอฟท์
อยากให้เล่าให้ฟังเรื่องไปทำงานต่างประเทศ
ที่ได้ทำ itax จะได้จัดกิจกรรมเยอะ อันหนึ่งที่ได้รับฟีดแบ็คค่อนข้างเยอะคือ Stupid Hackaton เราเอาคอนเซ็ปท์ Stupid Hackaton ของต่างประเทศมาจัดที่เมืองไทย เป็น Hackaton ที่เราทำอะไรโง่ๆ มากที่สุด
เช่น ทำแอพเดินยังไงให้หลงทาง หรือบางคนทำแอพ กินอะไรดีวะ กดไปก็จะสุ่มอาหารมาให้ถึงจะไม่อยากกินจานนั้นก็ตามก็ต้องกิน ตอนนั้นผมรู้จักพี่ๆ ที่ทำงานต่างประเทศ เขาก็ refer ให้ผมว่าลองไปทำงานต่างประเทศดูมั้ย จะได้พัฒนาตัวเอง จนได้ไปทำบริษัทสตาร์ทอัพชื่อ Omnivert เจ้าของเป็นคนไทย แต่ทีมธุรกิจหรือ COO เป็นต่างชาติหมดเลย ถือเป็นทีมลูกผสม อยูที่ซานฟรานซิสโก
หลักๆ บริษัทนี้ทำ immersive advertising การโฆษณาที่เข้าถึงผู้คน แบบ 3D 360 องศา ผมไปทำเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เข้าไปอยู่ในส่วนการจัดการ แสดงผล ให้คนที่เข้ามาดูโฆษณาในเว็บได้ดู เป็นส่วนที่ให้ publisher หรือผู้ผลิตคอนเทนต์ ได้ใช้ เรียกง่ายๆ ว่าได้ทำทั้งหน้าบ้าน หลังบ้าน
ผมรู้สึกว่าเป็นโปรแกรมเมอร์ทั้งที ก็ควรสร้างได้ทุกอย่าง ตอนนั้นอายุเพิ่งครบ 16 ปี ถือว่าเด็กที่สุดในบริษัท
ความเป็นเด็กมีผลไหม
พอไปอยู่ที่โน่นเราพอรู้แล้วว่าอะไร do อะไร don’t พี่ๆ ไม่ได้ทรีตเราแบบเด็กอายุ 16 ฉะนั้นทุกอย่างค่อยข้างราบรื่นดี ทุกคนเป็นคนเก่งอยู่แล้ว ที่นี่เลยไม่จำเป็นต้อง hand holding มาก เราได้เจอปัญหาจริงๆ ต้องแก้ปัญหาจริงๆ
แต่ปัญหาจริงๆ คือการจัดการอารมณ์ ซึ่งก็มาจากความเป็นเด็ก
ผมอ่านหนังสือ ‘The Art of not giving a fuck’ ศิลปะของการช่างแม่ง คือ เวลาเราพยายามคิด ก็ชอบบอกตัวเองว่าอย่าไปคิดๆ มันก็จะเกิดเป็นลูปๆ หนึ่งที่เราพยายามคิดวนอยู่ในหัว สิ่งนี้มันก็จะอยู่ในหัวเรื่อยๆ ทำให้การจัดการอารมณ์ของเราแย่มาก ฉะนั้นเวลาเราเขียนโปรแกรมไป มันเริ่มมี pressure เข้ามาจากคนอื่น เช่น ทำไมไม่ทำตรงนั้นก่อน เฮ้ย ตรงนี้ไม่ต้องทำให้มัน perfect แค่ทำให้เสร็จไปก่อน เราก็เริ่มขุ่นๆ นิดนึง หรือบางทีก็โพล่งไปเลย ซึ่งเราก็รู้แก่ใจแหละว่ามันเฮิร์ท แต่มันคุมตัวเองไม่ได้
การอยู่แต่กับคนเก่งๆ ทำให้รู้ว่าตัวเองก็ไม่ได้เก่งมาก เราพัฒนาตัวเองจากอะไร
ช่วงที่อเมริกา ผมมีเป้าหมายหนึ่ง คืออยากไปดูว่า นักพัฒนาซอฟต์แวร์ในต่างประเทศเค้าทำยังไง ถึงได้เก่งขนาดนั้น พอเราไปเจอ meet up ต่างประเทศเราก็ได้คำตอบว่า คนที่เก่งเจอกับคนที่เก่งมันเหมือนการเกื้อกูลกัน พอคนที่ยังไม่เก่ง ก็มีคนเก่งๆ พร้อมช่วยเหลือ ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่ผมได้คือ เรารู้ว่าตรงนี้เราทำได้ดีแล้วแต่ตรงนี้เรายังไม่เก่ง แล้วมีอะไรบ้างที่เรายังไม่รู้ สิ่งสำคัญคือ know what you don’t know yet ฮะ
แต่สิ่งที่ตามมาคือการเรียนรู้ ถ้าเราเรียนรู้คนเดียวและการเรียนรู้เพื่อตัวเองมันทำให้การเรียนรู้ไม่สนุก เพราะเราจะรู้สึกเห็นแก่ตัว รู้อยู่แค่ตัวเอง จะได้ใช้หรือทำให้เป็นประโยชน์หรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ถ้าเอาความรู้ไปถ่ายทอดให้คนอื่น คนที่เขาได้ฟังก็จะรู้ว่าเราพูดผิดตรงไหนบ้าง เขาจะได้เสริมให้เรารู้ได้ เพราะว่าการสอนคนอื่นมันทำให้เราได้ความรู้มากขึ้น
point 2 คือการจัดงาน สร้างกิจกรรม สร้างซอฟต์แวร์ เพื่อทำให้เรารู้อะไรมากขึ้น หลังจากนั้นผมมีไอเดียอยากจัดงานมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในงานที่เราต้องสอนคนอื่น
การจะไปสอนใครได้ ผมต้องทำความเข้าใจ ต้องเปิดตำรา หาว่าอะไรที่จะเอาไปทำทอล์คหรือเวิร์คช็อปให้น้องๆ ได้ ผมก็จะตั้ง challenge กับตัวเองว่าเฮ้ย ยังไม่รู้เรื่องนี้ใช่มั้ย เดี๋ยวเอาเรื่องนี้ไปพูดเดือนหน้าเลย ทั้งๆ ที่เราก็ไม่รู้ว่าเรื่องนี้คือเรื่องอะไร แล้วเดือนนี้อ่านให้เต็มที่ เดือนหน้าจะได้พูดให้ได้ ท้าตัวเอง
เป้าหมายหลังจากนี้ของภูมิคืออะไร
ผมแบ่งเป้าหมายตัวเองเหมือนพีระมิดอันหนึ่งที่มี 3 ช่วง
ช่วงแรก ฐานพีระมิด ผมเรียกว่าซอฟต์แวร์ การสร้างซอฟต์แวร์ทำให้เราแก้ปัญหาของตัวเองได้ การเขียนโปรแกรมมันเหมือนกับการเสกเวทมนตร์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่เราเจอ เช่น สมุมติว่าเดือนนี้เราไม่รู้ว่าตัวเองใช้เงินไปเท่าไหร่ เราก็เขียนโปรแกรมมาดักเอสเอ็มเอสของธนาคารแล้วขึ้นว่าเดือนนี้เราใช้ไปกับบัตรเดบิตไปเท่าไหร่
ฐานที่ 2 ผมเรียกว่าโปรดักท์ พอเราสร้างวิธีแก้ปัญหาของตัวเอง แต่อะไรก็ตามที่เราแก้ปัญหา คนอื่นก็อาจจะมีปัญหาเหมือนเรา ปัญหาของคุณไม่ได้วิเศษ เพราะหลายๆ คนก็เจอปัญหาเหมือนกัน ฉะนั้น ถ้ามีคนที่มีปัญหาเหมือนเรา เราก็เอาซอฟต์แวร์ที่เราสร้าง ใส่ความเป็นมนุษย์ ใส่ความเข้าใจผู้ใช้เข้าไปนิดนึง ใส่เพื่อให้คนอื่นใช้ได้มากขึ้น ง่ายขึ้น มันก็จะกลายมาเป็นโปรดักท์ที่ทำให้ชีวิตคนอื่นดีขึ้นได้ นี่คือการสร้างซอฟต์แวร์โปรดักท์ หรือโปรดักท์ที่อยู่บนซอฟต์แวร์ เพื่อแก้ปัญหาคนในชุมชน
ฐานที่ 3 คือคอมมูนิตี้ ชุมชน ถ้าใช้หลักการเรื่องการจับปลา การที่เราเอาเบ็ดไปให้คนมันดีกว่าการให้ปลาเพราะการให้ปลา เขาก็อิ่มได้แค่มื้อนั้น แต่ถ้าเรามีเบ็ด เราก็สามารถหาปลาเลี้ยงชีพได้เรื่อยๆ
แต่ผมคิดล้ำไปกว่านั้นอีก ถ้าเรามีซอฟต์แวร์ เราสามารถเขียนโปรแกรมมาจับปลาตั้งแต่ทำเซ็นเซอร์ไว้ ลอง detect ว่าปลาอยู่ตรงไหน ใช้เซนเซอร์ keep เอา แล้วพอเราจับปลาได้ด้วยตัวเอง เราก็ทำเป็นโปรดักท์ซึ่งโปรดักท์นี้จะทำให้คนอื่นหัดจับปลาได้เหมือนเรา
แต่ task community ของผมมันยิ่งใหญ่กว่านั้นมาก วันหนึ่งเราก็ต้องตาย ลูกหลานของเราก็จะเป็นคนทำโปรดักท์นี้ต่อ ซึ่งถ้ามีความรู้เรื่องนี้อยู่คนเดียว เมื่อผมไปอยู่อเมริกาหรือผมแต่งงานมีลูกแล้วตาย มันก็จบไปแค่นั้น ทุกอย่างจบแค่เรา แต่ถ้าเราให้ความรู้กับนักพัฒนา ถ้าเราให้ความรู้กับเด็กๆ ที่จะโตมาเป็นโปรแกรมเมอร์ในไทย ให้เขาได้เจออะไรไม่เหมือนกับที่ผมอยู่ในโรงเรียน คือผมเป็นเด็กคนเดียวหรือเป็นเด็กไม่กี่คนในโรงเรียนที่เขียนโปรแกรมได้ ผมไม่อยากให้เป็นอย่างนั้น
ผมอยากให้เด็กๆ ได้มากับพี่ๆ เป็นนักพัฒนา น้องจะได้รู้ว่าตัวเองต้องก้าวไปทางไหนต่อ ไม่ได้โดดเดี่ยว เรามีทุกคนคอยรองรับคอยสนับสนุนคุณอยู่ เราอยากให้คุณดึงความเป็นตัวเองดึงความพิเศษของตัวเองออกมา ดึงสิ่งที่คุณรักเช่น คุณชอบดนตรีหรือเปล่า ลองมาทำเกี่ยวกับดนตรีมั้ย หรือชอบทำอาหารหรือเปล่า ลองมาทำสิ่งที่คุณชอบดูมั้ย
เราอยากให้เขาดึงความพิเศษของเขามา แล้วมาสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม เพราะการทำคอมมูนิตี้มันคือการเอ็มพาวเวอร์ คือการให้พลังกับคนอื่นๆ ไปสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น
เรารู้สึกว่าการทำคอมมิวนิตี้คือการให้ความรู้เขา พยายาม inspire เขาว่าการเขียนโปรแกรมไม่ใช่กรรมกรห้องแอร์นะเว้ย เราไม่ได้นั่งหน้าคอม 24 ชั่วโมงเพื่อทำงานให้คนอื่น แต่มันคือการที่เราเป็นนักเวทมนตร์เสกอะไรขึ้นมาก็ได้ แล้วเราสามารถแก้ปัญหาให้ทุกคนได้ นี่จึงเป็นที่มาของพีระมิดยอดสูงสุดของผม ผมอยากเป็นคนทำ developer community หรือชุมชนนักพัฒนาในไทย ที่ทำให้ประเทศนี้ดีขึ้นด้วยซอฟต์แวร์
โดยไม่ต้องพึ่งโครงสร้างใหญ่หรือนโยบายต่างๆ? ทุกอย่างสามารถทำด้วยตัวเอง?
ใช่ครับ เมื่อไม่กี่วันก่อนผมเพิ่งชวนพี่ๆ ที่เป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์มาคุยกันเรื่อง TCAS ยาว 4 ชม. คุยว่ามันเกิดอะไรขึ้น ชวนเพื่อนคนหนึ่งที่ประสบปัญหา TCAS มานั่งหัวโต๊ะ แล้วพวกเราก็นั่งล้อม
ผมว่าต้องใช้เรื่องโครงสร้างช่วย ผมว่าโลกนี้เรามีเทคโนโลยีก็จริง แต่เทคโนโลยีจะไปไม่ได้เลยถ้าไม่มีความเป็นมนุษย์ เพราะฉะนั้นการทำ policy หรือ policy maker ผมมองว่าความรู้เรื่องซอฟต์แวร์ของนักกฎหมายมีผลมาก เพราะมันจะเป็นตัวชี้เป็นชี้ตายว่าสิ่งที่ออกมามีอะไรบ้าง
คนพัฒนาซอฟต์แวร์เหมือนเป็นนักเวทมนตร์ แต่เรายังใช้ไม่ได้ถ้ารัฐบาลบอกว่าคุณห้ามใช้เวทมนตร์ในโลกนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำงานด้วยกัน คนที่เป็น policy maker เป็นรัฐบาล เป็นนักกฎหมายก็ต้องมาคุยกันว่า ถ้าจะใช้เวทมนตร์ต้องไม่เอาเวทมนตร์ไปทำร้ายใครหรือทำให้ใครตายนะ
หน้าที่ของ policy maker คือเอื้อให้คนใช้เวทมนตร์ หรือการเขียนโปรแกรมในทางที่ถูก
ถ้าประเทศไทยเป็นเหมือนดินแดนเวทมนตร์ โปรแกรมเมอร์ก็เป็นเหมือนนักเวทมนตร์ แล้วนักร่างกฎหมายก็เป็น regulator ที่จะบอกว่าเอาแรงของแต่ละคนไปใช้ทำอะไรบ้าง ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดไม่ได้เลยถ้าเราไม่มานั่งสนทนากัน
ทุกวันนี้ยังได้คุยกับเพื่อนเพื่อนที่โรงเรียนอยู่หรือเปล่า
คุยครับ ตอนนี้เพื่อนๆ กำลังปวดหัวกับ TCAS (หัวเราะ) ปวดหัวหนักมาก วันก่อนคุยกับเพื่อนสนิทว่าตอนเรียนเป็นยังไงบ้าง ผมก็ไม่รู้ว่าผมทำตัวเป็นคนแก่หรือเปล่าแต่ชอบถามเพื่อนว่า โตไป รู้หรือเปล่าว่าเรียนจบ ม.6 อยากจะทำอะไร
เพื่อนก็จะบอกว่าหลังจบ ม.6 ก็เรียนปริญญาตรี จบปริญญาตรีก็เรียนปริญญาโท จบปริญญาโทก็เรียนปริญญาเอก แต่จบปริญญาเอกแล้วไม่รู้
การได้มาคุยกับเด็กรุ่นเดียวกันมันเป็นเรื่องดีมาก เพราะเราจะรู้ว่าเราขาดอะไรไป เวลาเราทำซอฟต์แวร์ เราใช้ design thinking เพื่อช่วยดูว่าเราจะออกแบบซอฟต์แวร์ยังไง ซึ่งกฎข้อแรกคือ emphathy หรือการเห็นอกเห็นใจการเข้าใจผู้อื่น ในมุมมองของเขาเขาต้องเจออะไรบ้างในแต่ละวัน แล้วเราจะทำความเข้าใจเขาได้ยังไง
ภูมิพูดดูเหมือนง่าย แต่สิ่งที่ภูมิผ่านมา ทั้งแข่งขัน ทำนั่นโน่นนี่ มันยาก?
เพราะผมมีความชอบของตัวเอง
ผมว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับหลายคน เพราะเขาไม่ได้มี sand box หรือบ่อทรายให้ไปเล่นหรือไปดูว่ามีอะไรบ้างที่เป็นทางเลือกสำหรับเขา หรือมีอะไรบ้างที่เขาอาจจะชอบ
พ่อแม่หลายหลายคนปิดกั้น ซึ่งตอนนี้ผมทำอีกหน้าที่หนึ่งนอกเหนือจากโปรแกรมเมอร์คือ รับคุยกับพ่อแม่ชาวบ้านฮะ (หัวเราะ) ว่าอันนี้ไม่ใช่ทางเลือกเดียวที่ลูกคุณจะไปได้ เราต้องเข้าใจว่าในโลกนี้หน้าที่การงานมั่นคงไม่มีอยู่จริง ไม่มีอะไรต้องกลัว การเป็นเป็ดไม่ใช่เรื่องที่แย่
เพื่อนหลายคนชอบมาบ่นกับผมว่าไม่รู้เลยว่าตัวเอง specialized เรื่องอะไร ผมก็บอกเฮ้ยไม่ต้องรู้ มันไม่จำเป็นขนาดนั้น แต่เราต้องรู้ว่าสิ่งไหนที่เราทำแล้วสนุก มันตอบสนองตัวเรา ซึ่งมันอาจจะไม่ใช่แค่อย่างเดียวก็ได้ เพราะหลายๆ ศาสตร์ในโลกนี้มันเกิดขึ้นจากสองศาสตร์รวมกัน
แม้แต่การเขียนโปรแกรม มันคือการผสมผสานกันระหว่างวิทยาศาสตร์กับศิลปะ หรือการทำเสียงเพลงด้วยซอฟต์แวร์ คุณต้องรู้เรื่องศิลปะ ต้องรู้ว่าเล่นดนตรีอย่างไร ต้องเข้าใจทฤษฎีดนตรี และยังต้องเข้าใจเรื่องซอฟต์แวร์ด้วย ซึ่งผู้ใหญ่บ้านเมืองเราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับสิ่งที่ผมเรียกว่า cross disciplinary หรือการบวกกันระหว่างศาสตร์สองสาย
เราจะคิดว่าสายวิทย์ก็เป็นหมอสิ สายศิลป์ก็ไปวาดรูปสิ แต่เรายังไม่รู้ว่า พวกนี้ไม่ได้ขาวหรือดำ แต่คือสีหลายๆ สีมาผสมกัน นี่คือสิ่งที่เป็นในตอนนี้ แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะมากกว่านี้อีก เพราะจะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้นเยอะมาก
แล้วตอนนี้ ‘งาน’ ของภูมิคืออะไร
ตอนนี้มีสองอัน ถ้าใช้ตอนทำงานเรียก full stack developer แต่ส่วนตัวผมชอบเรียกตัวเองว่าเป็น Dreamer Ideaer and Thinkerer
Dreamer คือเราหลับตาฝันก่อน Ideaer คือออกแบบไอเดีย และ Thinkerer คือเราทำ
ในฐานะตอนนี้ที่เป็นเด็กไทยอายุ 17 เป็นวัยรุ่น คิดว่าปัญหาของเพื่อนเราและเด็กวัยรุ่นคืออะไร
ปัญหาที่ใกล้ตัวมากที่สุดอย่างแรกคือ เด็กไม่รู้ว่าชอบอะไร จะทำอะไรต่อ ทำให้เด็กต้อง force ตัวเองให้หาเจอซึ่งมันจะจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ ในระบบ TCAS รอบหนึ่งเป็นรอบ portfolio เป็นรอบที่ติดได้ง่ายที่สุด ถ้าคุณมีผลงานมากพอ เด็กก็พยายาม force ตัวเอง ซึ่งหลายคนยังไม่รู้เลยว่าตัวเองชอบอย่างนั้นจริงหรือเปล่า
ปัญหาที่สองคือ การออกนอกลู่นอกทางแบบ extreme เรารู้จักปัญหาแบบนี้จากเด็กห้องท้าย ซึ่งเป็น stereotype อย่างหนึ่งที่เราบอกว่า เด็กห้องท้ายเป็นเด็กไม่ดี ซึ่งผมเคยไปอ่านงานวิจัยมา พบว่าเด็กไทยมีเด็กเก่ง แม้จะไม่เยอะแต่เป็นเด็กที่เก่งมากๆ แต่เด็กที่ไม่เก่งก็จะถูกทิ้งไปเลย
ผมรู้สึกว่ามนุษย์ทุกคนมี purpose ของตัวเอง ไม่มีเด็กคนไหนที่เกิดมาแล้วเหยียดผิว หรือไม่มีเด็กคนไหนที่เกิดมาแล้วเหยียดชาติกำเนิด ไม่มีเด็กคนไหนที่เกิดมาก้าวร้าว เด็กทุกคนได้รับอิทธิพลมาจากสื่อ พ่อแม่ ครอบครัว และสภาพแวดล้อมที่ไม่ยอมรับเขา
ผมว่าปัญหานี้มันแก้ได้ด้วยการสร้างคุณค่าให้กับตัวเด็กเอง โรงเรียนไม่ใช่โรงงานพิมพ์เด็กให้ทุกคนเหมือนกัน เด็กทุกคน special ตามแบบของเขาที่ได้มาจากสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ แล้ววัยรุ่นเป็นช่วงที่อารมณ์แปรปรวนมาก ผมผ่านช่วงนั้นมาแล้ว ช่วงนั้นผมแย่จริงๆ ทำอะไรที่ unspeakable เยอะมาก
จากการเป็นเด็กเลว เป็นเด็กเหี้ยมาก่อน ทำให้เรารู้ว่าที่เขาทำตัวแบบนั้นไม่ใช่เพราะว่าเขาแย่ แต่เป็นเพราะสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อให้เขาเห็นว่าอะไรคือคุณค่าของเขา
ทั้งสองปัญหานี้เกิดขึ้นจากต้นตอเดียวกันคือเราไม่เปิดโอกาสให้เด็กออกไปหาว่าอะไรคือสิ่งที่ใช่สำหรับเขา เราบอกว่าเราไม่ตีกรอบนะ เราบอกว่าเราเอื้อให้เด็กพัฒนา บอกว่ามี participate discussion แต่เวลาตอบคำถามในห้อง เด็กยกมือตอบในสิ่งที่ครูสอนไม่ได้สอนก็โดนด่า เด็กมหาวิทยาลัยก็เป็น เขียนโปรแกรมในสิ่งที่อาจารย์ไม่สอน ให้ F คือผมว่ามันแก้ได้ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมให้เด็กๆ มีคุณค่า นี่คือสิ่งที่ผมจะทำในปี 2019
ทำอะไร
ปี 2019 ที่ผมจะทำคือ Empowering Young Developer เราจะมอบพลังให้กับเด็กที่จะโตมาเป็นนักพัฒนาในรุ่นต่อไป ถ้าเป็นไปได้ผมอยากไปเจอเด็กที่ไม่มีโอกาสขนาดนั้น แต่มีความสนใจ อยากให้มาสัมผัสกับโปรแกรมมิ่ง เพราะไทยเรา left behind (ทิ้งไว้ข้างหลัง) เด็กๆ เยอะมาก
ตอนผมไปอยู่อเมริกา ผมแทบจะได้ยินเรื่องแบบนี้ทุกวัน เขาเอา women of color ผู้หญิงผิวสี เด็กที่โดน child abuse หรือคนที่เป็น minority ที่โดนกระทำรุนแรงมา เขาพาคนเหล่านั้นมาเขียนโปรแกรมแล้วชีวิตเขาดีขึ้นเยอะเลย เขาได้มอบพลังของการเขียนโปรแกรมให้กับคนอื่นๆ ซึ่งเป้าหมายของผมในปีหน้าคือผมจะมอบพลังเหล่านั้นให้กับเด็กไทย แล้วผมจะไปให้ไกลว่าอเมริกาอีก อเมริกาเอาแค่เรื่องการเขียนโค้ด แต่ของผมจะเอาเรื่องการสร้างโปรดักท์เพื่อแก้ปัญหาของผู้อื่นไปด้วย
ถ้าผมทำได้สำเร็จจะสามารถดึงเด็กๆ ที่ออกนอกลู่นอกทางให้กลับเข้ามาได้ กับสองคือดึงเด็กๆ ที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร มาสัมผัสดูว่าอันนี้ใช่สำหรับเขาหรือเปล่า
ถ้าสามารถออกแบบระบบการศึกษา ภูมิจะออกแบบอย่างไร
ชอบคำถามนี้มากฮะ ส่วนตัวผม ผมสนับสนุนเรื่อง home school ผมรู้สึกว่ายิ่งในประเทศไทย home school เป็นเรื่องที่ค่อนข้างดีมาก แต่ปัญหาคือไม่ใช่พ่อแม่ทุกคนที่ทำ home school ได้
ผมรู้สึกว่าหลายๆ อย่างต้องทำเป็นระบบ ต่างประเทศเขาจะมีระบบเครดิต หมายความว่าเด็กๆ มีเครดิตที่สามารถไปลงเรียนได้จำนวนหนึ่ง เขาจะเอาตรงนี้ไปลงเรียนอะไรก็ได้ที่เขาสนใจ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่แค่เด็กๆ ในสิงคโปร์มีระบบที่เรียกว่า SkillsFuture เป็นระบบที่รัฐบาลสิงคโปร์ให้คนสิงคโปร์เรียนรู้อะไรก็ได้โดยใช้เครดิตของรัฐบาล ไม่ต้องเสียเงิน จะเรียนบาร์เทนเดอร์หรือเต้นบัลเลต์ก็ได้ แบบนี้มันทำให้ครอบครัวฐานะไม่ได้รวยมากสามารถเข้าถึงการศึกษาได้
ถ้าเอามาประยุกต์กับประเทศไทย อันนี้ต้องระวังหน่อยคือไม่ให้พ่อแม่ influence คือให้เด็กได้ลอง ให้เขาเลือกเครดิตได้ตามใจชอบ
อย่างที่สองคือ การสอบไม่ใช่คำตอบ ถ้าให้ผมไปสอบ TCAS GAT PAT ผมเชื่อว่าผมตกแน่นอน ผมว่าการทำ standardized testing หรือการทดสอบอย่างมาตรฐาน เป็นเหมือนการ boundary ว่านี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องรู้นะ ถ้าคุณไม่รู้ you are failure
มีบางประเทศที่เขาเริ่มเอาระบบเกรดออกไป ผมรู้สึกว่าระบบเกรดควรให้เด็กดูเองมากกว่า เพื่อให้รู้ว่าตัวเองมีอะไรที่พัฒนาอีกได้ แต่ตอนนี้มันถูกใช้ในทางที่ผิด พ่อแม่ใช้เป็นเครื่องมือลดคุณค่าลูกตัวเอง ทำให้ลูกรู้สึกว่าตัวเองเรียนวิชาการไม่ได้ ไม่ได้ 4 ทุกวิชา ฉันไม่เก่งพอ ผมว่าไม่ใช่
การไม่ได้เกรด 4 ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่เก่ง คุณอาจจะเป็นนกที่โบยบินได้เก่ง แต่ใครก็ไม่รู้เสือกมาบอกว่าให้คุณว่ายน้ำ แค่นั้นเอง
อย่างที่สามคืออยากให้เด็กๆ ได้ลองไปสัมผัสอาชีพตั้งแต่วัยเรียน เพราะผมเรียนแนะแนวในห้อง หลายอย่างถูกเบนไปด้วยอคติของอาจารย์ เช่น แบบฟอร์ม แบบสอบถาม ถามว่าคุณถนัดเป็นอะไร ผมว่าพวกนั้นวัดไม่ได้ อย่างติ๊กไป เป็นหมอ ตัวเด็กเองอยากเป็นหมอจริงหรือเปล่าก็ไม่รู้ ผมว่าจะดีกว่าไหมถ้าให้เด็กออกไปลองทำอาชีพนั้นจริงๆ
ภูมิรู้สึกกลัวบ้างไหมอย่างตอนตัดสินใจที่จะลาออก ตอนแฮคระบบโรงเรียน รู้สึกกลัวไหมเวลาที่เราจะทำอะไรที่ท้าทายตัวเอง
ส่วนตัวผมไม่กลัวนะ ผมคิดว่าเราอยู่ในบ่อทราย การสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กๆ เรียนรู้ได้ดีคือการอยู่บ่อทราย สมมุติผมทำโปรดักท์ผมจะไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะพ่อแม่แบคเราอยู่ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าผมแฮคระบบโรงเรียน ไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะเรารู้ว่าอะไรคือขอบเขตที่เราเข้าถึงได้ จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราลาออกจากโรงเรียน ไม่เกิดอะไรขึ้น เพราะเรารู้ว่าพ่อแม่แบคเราอยู่ แล้วเรารู้ว่าเราจะทำอะไรต่อ
คำว่า “ไม่เกิดอะไรขึ้น” คือ key สำคัญของการทำ ซอฟต์แวร์ หรือการใช้ชีวิตในสังคม
เด็กๆ จะเรียนรู้ได้เต็มที่ก็ต่อเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อม (จำลอง) ที่ไม่มีโอกาส fail เหมือนเราเล่นเกมโดยมีชีวิตไม่จำกัด เราจะกล้าเล่น ไม่กลัวตาย เล่นไปเรื่อยๆ ฝึกตัวเองไปเรื่อยๆ แม้ว่าเกมมันจะโคตรยากแค่ไหน เราก็จะสู้มันไปได้เรื่อยๆ เพราะยังไงเราก็ไม่ Fail
สภาพแวดล้อมที่โอกาส fail เท่ากับศูนย์ นี่คือ point ของการเรียนรู้ สภาพแวดล้อมควรปลอดภัยต่อการลองอะไรใหม่ สภาพแวดล้อมควรปลอดภัยต่อการล้มเหลว ต่อการเจ็บปวด เหมือนตอนเราขี่จักรยาน เราล้ม พ่อแม่ก็มาดูบอกว่า ไม่ต้องร้อง ลุกขึ้นมา ปั่นต่อ ถึงอันตรายแต่พ่อแม่เขาดูเราอยู่ตลอด คงไม่มีใครเอาปืนมาจี้ตรงนั้น เพราะพ่อแม่อยู่กับเรา
ถ้าเทียบกับการเรียนรู้ทุกวันนี้ ตอบผิด หักคะแนน อาจารย์ด่าว่า เฮ้ย ทำไมมึงตอบผิด แค่นี้ก็ไม่ safe แล้ว ทำให้เด็กเราไม่กล้าลอง ในฝั่งซอฟต์แวร์ เรามีศัพท์ทางซอฟต์แวร์ที่เรียกว่า make illegal state impossible คำนี้แปลภาษามนุษย์ว่า ทำให้สภาวะที่ผิดพลาดไม่มีอยู่จริงในซอฟต์แวร์ แปลว่าเราเขียนโปรแกรม เราเขียนตัวมาทดสอบโปรแกรมมาครอบคุม ไม่ว่าคุณจะเขียนมั่วแค่ไหน ระบบคุณไม่พังแน่นอน เพราะมีชุดทดสอบที่ดีพอ
การเรียนรู้จริงๆ ในชีวิตก็ต้องมีชุดแบบนี้เหมือนกัน ต้องมีอาจารย์ที่มีความรู้ว่าเราจะคอยช่วยเหลือเด็กๆ ได้มากน้อยแค่ไหน เราจะคอยดูอยู่ห่างๆ อย่างห่วงๆ ได้อย่างไร อาจารย์ควรเป็น facilitator ผู้ที่คอยให้คำแนะนำ คอยพาไปให้ถึงฝั่ง ไม่ใช่ชี้นำ ชี้นิ้ว ว่าคุณต้องทำอย่างโน้น อย่างนี้