- ข่าวการเมืองร้อนแรงช่วงปีและโดยเฉพาะขวบเดือนที่ผ่านมา เราเห็นตรงกันว่าขยับ (ขยี้) ประเด็นจากชาวทวิตเตอร์(ในโลกทวิตภพ) ความน่าสนใจอย่างหนึ่งคือมันถูกขับเคลื่อนโดย ติ่งเกาหลี ที่ครั้งหนึ่งคำนี้เคยเป็นคำต่อว่าเชิงเดียดฉันท์
- บทความนี้ (และในฐานะติ่งเกาหลีคนหนึ่ง) ชวนตั้งคำถาม หาคำตอบ วิจารณ์ถกเถียงไปพร้อมกันว่า จริงๆ เเล้วติ่งเกาหลีในตอนนี้คือใคร การตามศิลปินส่งผลต่อความคิดของพวกเขาอย่างไรบ้าง จนกลายเป็นชุมชนที่เรียกได้ว่ามีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคม เป็นกำลังหลักช่วยผลักประเด็นทางสังคม (Social Movement) ไปในวงกว้างได้ในเวลาไม่กี่นาที
ท่ามกลางสถานการณ์ที่ประเทศไทยมีการพูดคุยเเละถกเถียงประเด็นทางการเมืองเเละสังคมที่หลากหลายโดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ผ่านมาบนโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มเยาวชนปลดเเอก และอีกหลายกลุ่มในประเด็นการเมือง, การออกมาเเสดงจุดยืนของเหล่าดารา, การคัดค้านการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP หรือเรื่อง Black live Matter การเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำและการเหยียดเชื้อชาติ
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนเเปลงของเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวดเร็วทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ภาพข่าว และความเห็นของผู้คนต่อกรณีดังกล่าวได้อย่างรอบด้านและง่ายดายเพียงปลายนิ้ว …ใช่ มันร้อนแรงจากปฏิบัติการของหนูนิ้วโป้ง (ขออ้างอิงคำเรียกของ มิแช็ล แซรส์ นักปรัชญาอายุกว่าแปดสิบ จากหนังสือ Petite Poucette: หนูนิ้วโป้ง วัฒนธรรมและเทคโนโลยีของมนุษย์มิลเลเนียล แซรส์เขียนหนังสือเพื่อชูธงสนับสนุนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ที่โตมาในโลกที่แตกต่างจากเขา เขาเรียกตัวเองว่า ‘คุณปู่’ ด้วย)
ข่าวสารหรือความคิดเห็นที่เกิดขึ้นบนสื่อออนไลน์ ‘ส่วนใหญ่’ จะมาจากคนรุ่นใหม่ (ในที่นี้หมายความว่าผลิตขึ้น ผลักให้โด่งดังขึ้น ถูก ‘ขุดให้ตามต่อ) ข้อมูลจากสื่อที่หลากหลายผ่านสื่อออนไลน์ ทั้งบทความ บทวิเคราะห์ ภาพ วิดิโอ เสียง และสื่อรูปแบบอื่นๆ ก่อให้เกิดความคิดและการตีความข้อมูล จนคนรุ่นใหม่พร้อมเปิดรับความคิดเห็นของคนอื่นในมุมมองที่เเตกต่าง และเป็นกระบอกเสียงในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม – โดยเฉพาะทวิตเตอร์ (โลกที่เราสามารถสร้างตัวเองขึ้นมาได้มากกว่าหนึ่งคนโดยที่ไม่มีใครรู้ เพราะหนึ่งคนมีหลายเเอคเคาท์เหลือเกิน เรื่องนี้โลกรู้ ทุกคนรู้ ชั้นจะไม่ยอมมีตัวตนเดียวหรอกค่ะ)
น่าสนใจว่าคนรุ่นใหม่ในตอนนี้ถือว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและกล้าที่จะแสดงจุดยืนของตนเองในเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านสื่อออนไลน์ โดยพวกเขาส่วนหนึ่ง (เเละอาจจะเป็นส่วนใหญ่) คือคนที่เรียกตัวเองว่า ติ่งเกาหลี หรือ กลุ่มเเฟนคลับศิลปินเกาหลี หากคุณสงสัยว่าเขาคือใคร ให้สังเกตชื่อเเละรูปโปรไฟล์ของเเอคเคาท์นั้นจะเป็นรูปที่เกี่ยวข้องกับศิลปินเกาหลี คนที่พร้อมจะเเท็กทีมในเเต่ละโอกาสเพื่อซัพพอร์ตศิลปินที่เขาชอบ เกิดเป็นชุมชนเเฟนคลับที่เริ่มขยายใหญ่ขึ้น มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม เเละภาษา เเม้ไม่เคยเจอกันมาก่อน เเต่คนในชุมชนนี้รู้สึกสนิทกัน (เข้าอกเข้าใจกันมาก) มานานหลายปี
บทความนี้ (และในฐานะติ่งเกาหลีคนหนึ่ง) จึงอยากชวนตั้งคำถาม หาคำตอบ และวิจารณ์ถกเถียงไปพร้อมกันว่า จริงๆ เเล้วติ่งเกาหลีในตอนนี้คือใคร การตามศิลปินส่งผลต่อความคิดของพวกเขาอย่างไรบ้าง จนกลายเป็นชุมชนที่เรียกได้ว่ามีอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคมเเละช่วยผลักประเด็นทางสังคมไปในวงกว้างได้ในเวลาไม่กี่นาที
การติดตามข่าวสารของศิลปิน นำไปสู่ความสนใจประเด็นสังคม
ถึงจะถูกเรียกว่าติ่ง เเต่พลังของพวกเขาไม่สั้นเท่าติ่งหูเเน่นอน เพราะความติ่งเกิดจากความชอบในตัวศิลปินเกาหลีที่ทำให้พวกเขารู้สึกใกล้ชิดเเละเกิดจินตนาการ เเต่ความจริงเเล้วนี่คือพลังของ ‘Soft Power’ ที่เรารู้จักกันในนามของ Korean Wave หรือคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี ซึ่งซ่อนอยู่ในสื่อ ทั้งละครโทรทัศน์ ภาพยนตร์ อาหาร รวมถึงเพลงเเละดนตรี (K-pop)
งานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกริก เล่าถึงสื่อบันเทิงเกาหลีไว้ว่า ค่านิยมเเละวัฒนธรรมเกาหลีมีการเเพร่กระจายมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการกระจายข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วในสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้คนรับสารเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ เเละมีประสบการณ์ผ่านสิ่งที่สื่อมวลชนนำเสนอ หรือ ประสบการณ์ผ่านสื่อ เมื่อสื่อนำเสนอวัฒนธรรมซ้ำเเล้วซ้ำเล่า จะทำให้คนดูเข้าใจ ยอมรับ เเละติดตามวัฒนธรรม นำไปสู่การเกิดประสบการณ์ร่วมเเละรับวัฒนธรรมนั้นมาเป็นเเนวทางในการดำเนินชีวิต
สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มเเฟนคลับเกาหลี หากพวกเขามีโอกาสชื่นชอบศิลปินเเล้ว สิ่งที่เขาต้องเจอ คือ การต่อสู้กับการตลาดของค่ายศิลปิน เพราะเเต่ละค่ายจะหยิบศิลปินมาเป็นเเรงจูงใจในการซื้อสินค้าต่างๆ พร้อมสิทธิพิเศษที่จะทำให้เหล่าเเฟนคลับมีโอกาสใกล้ชิดกับศิลปินที่ชื่นชอบ เช่น การกดบัตรคอนเสิร์ตที่ราคามากกว่าครึ่งหมื่นเเถมสิทธิพิเศษในการจับมือเเละพูดคุยกับศิลปิน (Hi-touch เเละงาน Sign) เเต่พวกเขาก็ยอมจ่ายเพราะมันคือ ความสุข เพราะขอเเค่มีโอกาสได้คุยหรือมองตาพวกเขาเเค่เสี้ยววินาที ก็ทำให้มีความสุข เก็บไปฝันรอวันที่ศิลปินมาไทยได้อีกรอบเลยทีเดียว ถึงโอกาสนั้นจะริบหรี่ก็ตาม (คอนเสิร์ตบางวง เช่น Exo, BTS เเละ GOT7 บัตรหมดโดยใช้เวลาไม่ถึง10 นาทีหลังจากที่มีการเปิดจอง)
ความชื่นชอบศิลปินเกาหลีที่หลายคนบอกว่า “เข้าวงการติ่งแล้วออกยาก” หรือทางจิตวิทยาเรียกความรู้สึกนี้ว่าเป็นความรักที่สมบูรณ์แบบ ถ้าอธิบายตามทฤษฎี Triangle of Love ของ ศ.ดร.Robert Sternberg แห่งภาคจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเยลล์ ที่พูดถึงองค์ประกอบความรักที่สมบูรณ์แบบว่า มีทั้งหมด 3 องค์ประกอบ ได้แก่
- ความหลงใหล (Passion) – ความหลงในรูปลักษณ์หน้าตาของศิลปินที่สวยหล่อ เพอร์เฟกต์ไปหมดทุกอย่างที่ชวนดึงดูดใจและทำให้เราคิดถึงเขาตลอดเวลา และทำให้เรามองเห็นชื่อเสียงและความสามารถของศิลปิน
- ความใกล้ชิด (Intimacy) – การติดตามความเคลื่อนไหวของศิลปินในแต่ละวันผ่านไลฟ์สดและรายการต่างๆ มีประสบการณ์ร่วมผ่านสื่อนั้นเหมือนเราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม
- การผูกมัด (Commitment) – ศิลปินและแฟนคลับมีเป้าหมายเดียวกัน เช่น เชียร์ศิลปินให้ได้รางวัลประจำปีผ่านการโหวตและติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์
ไม่รวมถึงการตลาดของไอดอลเกาหลีที่ขายไอดอลให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต คือ การที่แฟนคลับได้เห็นมุมมองการใช้ชีวิตของไอดอลที่เหมือนคนธรรมดาคนหนึ่งนอกจากการแสดงบนเวที เพื่อให้แฟนคลับเรียนรู้ ติดตาม สัมผัส และตีความในแบบพวกเขาเอง ตัวอย่างเช่น รายการเรียลลิตี้ Survival ตระกูล Produce ค้นหาบอยแบนด์ที่จะเติมเต็มวงการเพลงเกาหลีผ่านการโหวตของกลุ่มแฟนคลับ ที่ทำให้เห็นความยากลำบาก การฝึกฝน และการแข่งขันบนเส้นทางกว่าจะมาเป็นไอดอล แล้วยังนำเสนอชีวิตนอกเวทีของเด็กฝึกแต่ละคน เช่น ทัศนคติ มุมมอง และการพัฒนาตนเอง ให้ผู้ชมเรียนรู้นิสัยและธรรมชาติของแต่ละคนประกอบการตัดสินใจการโหวต
เพราะความชื่นชอบเเละติดตามผลงานของศิลปิน ทำให้เมื่อศิลปินที่เขาชื่นชอบมีโอกาสขึ้นไปเเสดงอยู่บนเวทีระดับโลก อย่างเวที Bill Board ของสหรัฐอเมริกา ชาวติ่งจะเตรียมตัวดูสตรีมมิ่งถึงเเม้ว่าจะต้องตื่นเเต่เช้ามาดู เขาก็ยอม ไม่ต่างจากเเฟนบอลที่ต้องรอเเมทช์ไฮไลท์ เเล้วก็คงจะไม่ใช่เรื่องใหม่ถ้าเขาจะพร้อมใจซัพพอร์ทกันอีกครั้งเมื่อศิลปินเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางสังคมเเละหลายเป็นเเรงหนึ่งในการขับเคลื่อนประเด็นที่ยังไม่ได้เป็นที่สนใจสังคมหรือถูกมองข้ามไป ผ่านสิ่งที่เขามี ก็คือสื่อโซเชียลมีเดีย
ยกตัวอย่างเช่น การกล่าวสุนทรพจน์ของคิม นัม จุน หัวหน้าวง BTS บอยเเบนด์สัญชาติเกาหลีใต้ที่โด่งดังระดับโลกบนเวที UN เมื่อ 2 ปีที่เเล้ว หลังจากที่พวกเขาได้ร่วมทำเเคมเปญ Love Myself ตามชื่ออัลบั้มของพวกเขากับ UNICEF เขาพูดว่า เราควรจะเรียนรู้ตัวเอง หาเสียงของตัวเองให้เจอเพื่อที่เราจะได้เข้าใจตนเอง เพราะไม่ว่าคุณจะเคยทำผิดพลาดในอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ตัวคุณก็คือตัวคุณอยู่ดี
สปีชนี้ทำให้เเฟนคลับต่างชื่นชมการกล่าวสุนทรพจน์ที่ทำให้พวกเขารู้สึกว่า การเป็นตัวเองคือสิ่งที่สำคัญ สิ่งที่คิม นัม จุน พูดเป็นเหมือนตัวเเทนเสียงของคนรุ่นใหม่เเละสร้างเเรงบันดาลใจให้พวกเขากล้าที่จะเป็นตัวเอง
สอดคล้องกับผลการศึกษาในงานวิจัยของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ สะท้อนให้เห็นว่า กลุ่มเเฟนคลับศิลปินเกาหลีจะเปิดรับข่าวสารเกี่ยวกับศิลปินทุกวันผ่านสื่อออนไลน์เนื่องจากมีความสะดวกเเละเข้าถึงง่าย โดยรับชมได้ผ่านรูปแบบภาพเเละเสียงพร้อมกับเเลกเปลี่ยนความเห็นกับผู้อื่น
นอกจากนี้ บทความจากสำนักข่าว Time ยังพูดถึงติ่งเกาหลีว่า กลุ่มเเฟนคลับเกาหลีรู้ว่าเขาจะนำอิทธิพลของเเฟนคลับที่มีมานานหลายปีมาปรับใช้กับเเคมเปญเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนไปจนถึงระบบการศึกษา โดยใช้ชื่อของศิลปินที่เขาชอบ
ยกตัวอย่างเช่น การระดมเงินทุนบริจาคเงินให้กับองค์กรการกุศล 26 แห่งทั่วโลกจาก 5 ทวีปในวันเกิดของ แจ็คสัน GOT7 โดยเป็นการระดมเงินผ่านออนไลน์ โดยกลุ่มแฟนคลับต้องการมอบให้กับแจ็คสันที่สร้างเรงบันดาลใจที่อยากให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้น
กิจกรรมและการบริจาคเงินที่เกิดขึ้นอาจมาจากความชื่นชอบในตัวศิลปินคนนั้นที่เขาเริ่มเป็นกระบอกเสียงและในบางครั้งก็มีการทำแคมเปญและบริจาคเงิน ทำให้สร้างแรงบันดาลใจและความสนใจเรื่องประเด็นทางสังคมมากขึ้นให้กับแฟนคลับ โดยใช้ทวิตเตอร์เป็นสื่อกลางในการพูดคุยเรื่องราวเหล่านี้และวางแผนกิจกรรมโดยไม่ต้องมองว่าแต่ละคนอยู่ประเทศอะไร เชื้อชาติไหน ใช้ภาษาอะไร แต่ร่วมทำกิจกรรมที่จะแสดงให้เห็นว่า ศิลปินสามารถจุดประกายความรู้สึกอยากสื่อสารเรื่องราวเหล่านี้ออกมา
การติดตามข่าวสารของศิลปิน นำไปสู่ความสนใจประเด็นสังคม2: การเรียนรู้เรื่องเพศ สัญญาทาส ซึมเศร้า การกลั่นแกล้งออนไลน์
อีกหนึ่งการเรียนรู้ประเด็นทางสังคม การใช้เครื่องมือเพื่อขับประเด็นทางสังคมที่น่าสนใจและเฉียบคมของชาวติ่ง คือ ประเด็นเรื่องเพศ การกลั่นแกล้งออนไลน์ มุมมองเรื่องชายเป็นใหญ่ ที่เกิดขึ้นกับศิลปินที่พวกเขารัก
ย้อนกลับไปในปี 2017 ข่าวที่สร้างความสะเทือนใจให้กับกลุ่มแฟนคลับเเละวงการเพลงของเกาหลี คือข่าวการเสียชีวิตของคิม จง ฮยอน วง Shinee จากค่าย S.M. Entertainment ซึ่งเสียชีวิตจากการรมควันฆ่าตัวตาย ทำให้เเฟนเพลงของคิม จง ฮยอน ร่วมกันติดเเฮชเเท็ก #RIPjonghyun ในทวิตเตอร์บอกเล่าเรื่องราวประทับใจเเละขอให้ศิลปินที่พวกเขารักไปสู่สุคติ
ภายหลังมีการจัดตั้งมูลนิธิ Shiny Foundation ที่ครอบครัวของจงฮยอนจัดตั้งขึ้นจากเงินค่าลิขสิทธิ์ผลงานของลูกชาย เพื่อส่งต่อความรักในงานดนตรีของเขาให้กับเด็กรุ่นใหม่ เเละในวันครบรอบ 1 ปีของการจากไปของนักร้องในดวงใจของเเฟนคลับ ทางมูลนิธิฯ ก็จัดกิจกรรมเทศกาลศิลปะ โดยมีกลุ่มเเฟนๆ เข้าร่วมด้วยการนำสิ่งของเครื่องใช้เเละผลงานของจงฮยอนมาจัดเเสดงเพื่อเป็นการรำลึกถึงเขา
อีกหนึ่งศิลปินที่จากไป เเต่ผลงานเเละความสามารถของเขายังคงอยู่ในใจของเเฟนคลับไม่ต่างจากการสูญเสียคิม จง ฮยอนไป คือ ซอลลี่ (Sulli) อดีตสมาชิกวง f(x) หนึ่งในศิลปินค่ายเดียวกับจงฮยอนเมื่อปีที่เเล้ว เเละยังเป็นนักเเสดงในภาพยนตร์เเละละครโทรทัศน์ เช่น ภาพยนตร์เรื่อง The Pirates, Fashion King, Real เเละละครเรื่อง To the Beautiful You เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างมีคำถามมากมายว่า อะไรที่ทำให้ศิลปินวัย 25 ปีคนนี้ตัดสินใจจากไป ทำให้เเฟนคลับช่วยกันติดเเฮชเเท็ก #Sulli และ #ซอลลี่ ในทวิตเตอร์ เพื่อไว้อาลัยให้กับซอลลี่ จนครองเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ของประเทศไทยในช่วงเวลานั้น
ความคิดเห็นที่กลุ่มแฟนคลับตั้งคำถามจากการจากไปของซอลลี่มากที่สุด คือ เธอมักจะถูกวิจารณ์เรื่องภาพลักษณ์ของเธอบนโลกออนไลน์ บทความจากนิตยสาร Vogue Thailand ระบุว่า เเม้ชีวิตการเดินบนเส้นทางบันเทิงของซอลลี่จะก้าวต่อไปเรื่อยๆ เเต่ชีวิตของเธอกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเธอคือเหยื่อของการไร้ความคิด จนทำให้ในปี 2014 เธอหยุดพักงานจากความเหนื่อยล้าทางจิตใจ เพราะชีวิตของซอลลี่เหมือนเป็นกระดานลูกดอกที่ไม่มีสิทธิ์ออกปากออกเสียง ผู้คนชมความสวยงาม ความสามารถและต้องการครอบครองกันทั้งนั้น แต่ทุกคนก็กลับปาลูกดอก (การบูลลี่) ใส่เธอแบบไม่ยั้งมือ ซึ่งเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเธออาจเป็นจุดเริ่มต้นของการตัดสินใจจากไป
ตัวอย่างเพียง 2 กรณีนี้อาจสะท้อนว่า ติ่งเกาหลีไม่ได้เคลื่อนไหวประเด็นผิวเผิน การแสดงความเห็นที่ค่อนข้างขุดลงไปยังโครงสร้างรอบตัว โดยเฉพาะเรื่องการเหยียดเพศ การกลั่นแกล้งออนไลน์ ประเด็นซึมเศร้า ประเด็นเหล่านี้กลายเป็นประเด็นที่ถูก educate กันเองในกลุ่มติ่งมากกว่าโลกในห้องเรียนเสียอีก
เสียงจากคอมมูนิตี้ติ่ง มีผลต่อความสนใจเรื่องสังคมของติ่งด้วยกันเอง
ทวิตเตอร์จึงไม่ใช่แค่เครื่องมือในการติดตามข่าวสารของศิลปินเท่านั้น แต่เป็นสื่อกลางในการพูดคุยประเด็นทางสังคมในความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ร่วมกันระดมเงินและกิจกรรมที่จะช่วยเหลือคนในสังคมของแต่ละประเทศได้
เหมือนกับเเพร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่พึ่งหันมาสนใจประเด็นทางสังคมมากขึ้นหลังจากการเป็นติ่งเกาหลีมานานกว่า 8 ปี การเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเเฟนคลับวง BTS ผ่านทวิตเตอร์ ทำให้เธอเห็นความหลากหลายทางภาษา วัฒนธรรม เเละความคิด บอกกับเราว่า
“เราคิดว่าการติ่งมีผลตรงที่ พอเราเห็นว่าศิลปินที่เราชอบให้ความสำคัญกับอะไรเราก็อยากทำได้บ้าง เรารู้สึกชื่นชม แต่สิ่งที่กระตุ้นเราในฐานะคนที่สนใจประเด็นทางสังคมจริงๆ คือตัวแฟนคลับกันเองมากกว่า การอยู่รวมกันด้วยคำว่า ‘แฟนคลับ’ มันทำให้เรารู้จักคนเยอะขึ้น ซึ่งมันพาเราไปเจอคนที่สนใจประเด็นการเมือง เศรษฐกิจเเละสังคม แล้วการกระทำของพวกเขาก็กลับมาส่งผลต่อความคิดของเราอีกทีหนึ่ง”
เเพรคือคนที่เคยมองว่าการเมือง เศรษฐกิจ เเละสังคมเป็นเรื่องเข้าใจยาก ไม่ว่าเธอจะพยายามเท่าไหร่ก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี เเต่กลุ่มเเฟนคลับคือคนที่จุดประกายความรู้สึกของเธอซึ่งอยากจะเป็นมากกว่าติ่งที่ชื่นชอบศิลปิน จากที่เคยคิดว่าการติดตามข่าวสารบ้านเมืองเป็นเรื่องยาก เเต่ในตอนนี้เธออยากเป็นเสียงหนึ่งในการบอกเล่าประเด็กทางสังคม แล้วหวังว่าเสียงนั้นจะสามารถช่วยคนได้อีกหลายคน เช่น เรื่องการเมือง การอุ้มหาย เเละเรื่องกฎหมาย
การรวมเป็นหนึ่งของกลุ่มแฟนคลับที่ชอบศิลปินเดียวกัน โดยมีเครื่องมือคู่ใจอย่างทวิตเตอร์ ที่จะทำให้พวกเขารับข้อมูลข่าวสารของศิลปินอย่างทันเหตุการณ์เเละยังมองเห็นความคิดรวมถึงความเเตกต่างของเเต่ละคนได้ แล้วยังพร้อมจะทำทุกอย่างเพื่อซัพพอร์ทศิลปินที่เขาชื่นชอบ ทั้งการอวยพรวันเกิด การปล่อยเอ็มวีใหม่ (คัมเเบค) การเป็นพรีเซนเตอร์เเบรนด์ต่างๆ หรือความต้องการที่อยากจะบอกว่าคิดถึงศิลปินของพวกเขา เเม้เเต่บอกปัญหาของศิลปินที่พวกเขาต้องเจอ ทั้งเรื่องความเครียด เเรงกดดัน การเเข่งขัน เเละการบูลลี่ที่อยู่เบื้องหลังความสวยงามของวงการ K-pop
กองทัพติ่งในทวิตเตอร์ ความเชี่ยวชาญการใช้แฮชแท็ก ในฐานะอาวุธเคลื่อนข่าวในสังคม
ติ่งเกาหลีคือคนที่ใช้โซเชียลมีเดียเก่งเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารของศิลปิน จากรางวัลของ Soompi ที่จะมีการโหวตผ่านแฮชแท็ก
ทวิตเตอร์ #TwitterBestFandom และ #Team ศิลปินที่เขาชอบ ที่มีการทวิตมากถึง 42 ล้านครั้งใน 24 ชั่วโมง ในปี 2018 และ #SoompiAwards แฮชแท็กของรางวัลอยู่บนการสนทนามากกว่า 14 ล้านบทสนทนาทั่วโลก
หากย้อนรอยดูประวัติศาสตร์ความนิยมการใช้ทวิตเตอร์ในประเทศไทย รายงานจากผู้ให้บริการวิเคราะห์โซเชียล Thoth Social ระบุว่า ทวิตเตอร์เป็นที่รู้จักในประเทศไทยมากขึ้นในคนยุคมิลเลเนียล (เกิดปี 1989-2000) หลังจากรายการเกาหลีถ่ายทอดสดรายการผ่านทวิตเตอร์ และเปิดให้แฟนคลับโหวตศิลปินที่ชื่นชอบผ่านการใส่ # ตามด้วยชื่อศิลปินเกาหลี
นอกจากนี้เหตุผลที่แฟนคลับหันมาเล่นทวิตเตอร์มากขึ้น เป็นเพราะศิลปินเกาหลีส่วนใหญ่ก็นิยมใช้ทวิตเตอร์เพื่อการสื่อสารกับแฟนคลับมากกว่าโซเชียลมีเดียอื่นๆ ทำให้แฟนคลับรู้สึกใกล้ชิดและเข้าถึงศิลปินได้มากขึ้น เหมือนแฟนคลับสามารถจับต้องหรือพูดคุยศิลปินที่ชื่นชอบได้โดยไม่ต้องบินไปไกลถึงเกาหลี
ข้อมูลนี้ไปในทิศทางเดียวกับข้อมูลจากทวิตเตอร์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เมื่อปี 2562 ที่พูดถึงการใช้งานทวิตเตอร์ของคนไทยที่มีจำนวนมากขึ้น 35% ในปี 2560 -2562 นอกจากนี้ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมว่า คนรุ่นใหม่ (อายุ 16 – 24 ปี) เลือกที่จะเปิดรับข้อมูลข่าวสารผ่านทวิตเตอร์เกือบครึ่ง สอดคล้องกับผลสำรวจการเป็นเเฟนคลับศิลปินเกาหลี เมื่อปี 2562 พบว่า ส่วนใหญ่เป็นคนที่มีอายุ 15 – 25 ปี สูงถึง 78.3% เเละเป็นกลุ่มนักเรียน-นักศึกษา 66.7%
ทวิตเตอร์ยังชี้ให้เห็นว่าพลังของเเฟน K-pop พูดถึงเรื่องราวของเหล่าศิลปินในทวิตเตอร์อย่างมากด้วยการติดแฮชแท็ก รวม 5,200 ล้านครั้ง โดยจำนวน 800 ล้านครั้ง มาจากผู้ใช้ในประเทศไทย ตอกย้ำภาพการกล้าแสดงออกของแฟนคลับ
ไม่ต่างจากมายด์ อายุ 21 ปี หนึ่งในแฟนเกาหลีที่ติดตามข่าวสารของศิลปินเเละข่าวอื่นๆ ในทวิตเตอร์ รวมถึงยังเป็นคนที่เข้าใจการทำงานของกลุ่มเเฟนคลับศิลปินเกาหลี ยอมรับว่าเข้าทวิตเตอร์มากกว่า 20 ครั้งต่อวัน
เธอบอกว่าติ่งเกาหลีใช้โซเชียลมีเดียเก่ง สามารถใช้โซเชียลมีเดียติดต่อหรือส่งข้อความข้ามโลกได้ การผลักดันประเด็นทางสังคมหรือข้อมูลของศิลปินเกาหลีเป็นเรื่องปกติของติ่ง เช่น การโหวตเเข่งกันเพื่อให้ศิลปินได้รางวัลด้วยการใช้เทรนด์ทวิตเตอร์เป็นเหมือนลำโพงขนาดใหญ่ มีการเเปลข้อมูลส่งกันหลายภาษา ดังนั้นเมื่อเป็นเรื่องสังคมในประเทศ ก็มีความรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ติ่งเกาหลีก็จะนำประโยชน์นี้มาใช้เเล้วเเสดงออกมา
“ติ่งเกาหลี คือ กระบอกเสียงหรือคลื่นลูกหนึ่งที่ช่วยกระจายเสียงเรื่องการเมืองในตอนนี้ออกไปเป็นวงกว้าง พวกเขาสามารถทำให้ติดเทรนด์ทวิตได้ภายในไม่ถึงชั่วโมง หรือเรียกว่ากองทัพโลกออนไลน์ เพราะไม่ได้กระจายแค่ในไทยนะ เเต่รวมถึงประเทศอื่นด้วย จากคอมมูนิตี้ติ่งเกาหลีด้วยกัน แปลภาษาข้อมูลส่งต่อๆกันเหมือนตอนส่งข้อมูลศิลปิน เป็นไมค์เป็นลำโพงขนาดใหญ่ในรูปแบบติ่งเกาหลี”
ส่วนหนึ่งที่ทำให้การดันเเฮชเเท็กของเรื่องราวต่างๆ ให้เป็นที่สนใจของสังคมเป็นเพราะในโลกของทวิตเตอร์ เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า คนที่ทวิตคือใคร หนึ่งคนอาจจะมี 10 เเอคเคาท์หรือที่เรียกว่า “เเอคหลุม” ก็ไม่มีใครรู้ เเล้วเมื่อ 1 คนรีทวิต follower ของเเอคเคาท์นั้นก็จะรับรู้ในเรื่องราวนั้นๆ ไปด้วย ก็ไม่ต่างจากการที่เราพูดบนเวทีสาธารณะที่มีคนดูเป็นร้อยเป็นพันหรือเป็นหมื่นคน เพียงเเต่ย้ายมาพูดในทวิตเตอร์เท่านั้นเอง
ภาพจำของติ่งเกาหลีของใครหลายคน คือ คนที่ตามศิลปินเกาหลีเเล้วไม่สนใจเรื่องอื่น เเต่วันนี้พวกเขาคือหนึ่งเสียงในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม เอาจุดเด่นเเละเครื่องมือที่เขาถนัดมาใช้ เพราะพวกเขามองเห็นเรื่องราวในประเทศอื่นๆ ทั้งเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม หรือประเด็นทางสังคม ทำให้กลุ่มเเฟนคลับกลุ่มนี้จะปรากฏตัวขึ้นในโซเชียลมีเดียที่กำลังเป็นที่สนใจของสังคม