- อาซีซี ยีเจะแว เจ้าของร้าน In_t_af café & gallery หนึ่งในสมาชิกกลุ่มมลายู ลิฟวิ่ง และนักออกแบบสกายวอล์ค ทางเดินลอยฟ้าสาธารณะเหนือป่าชายเลนและอ่าวปัตตานี
- สิ่งที่ตั้งใจแต่แรกใน In_t_af café & gallery คือความพยายามให้ศิลปะจับต้องได้ เข้าถึงได้ กลุ่มเป้าหมายคือคนพื้นที่ในย่านเก่าบนถนนอาเนาะรู ติดแม่น้ำปัตตานี สิ่งที่ไม่ได้ตั้งใจแต่เกิดจริง คือการขยายเมืองและปลุกชีวิตเมืองเก่าในปัตตานีให้หวนคืน
- “สิ่งที่เราอยากทำก็เพื่อเมืองปัตตานีนั่นแหละ อยากใช้วิชาชีพของเราทำให้เมืองสวยงาม”
ภาพ: ปุณิกา พุณพาณิชย์
“In_t_af (อ่านว่า อิน-ตอ-อาฟ) มาจากการเรียงตัวอักษรถอยกลับของคำว่า ‘ฟาตอนี’ (อาณาจักรปัตตานี กินพื้นที่จังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลาบางส่วน) เพราะช่วงที่ผมกับเพื่อนจะก่อตั้งกลุ่มทำงานด้านสถาปัตย์ เหตุการณ์ในพื้นที่รุนแรงมาก เวลาพูดถึงคำว่าปัตตานี ทุกคนจะคิดถึงพื้นที่สีแดง ความหมายเป็นไปในทางลบ
“แต่ ‘ฟาตอนี’ แปลว่า ‘เมืองแห่งปราชญ์’ ซึ่งผมชอบมากเลยนะ มันใช่เลยล่ะ เพราะในพื้นที่นี้มีความรู้อยู่ทั้ง 3 ศาสนาคือ อิสลาม พุทธจีน และไทยพุทธ สำหรับผมมันคือดินแดนที่สุกงอมทางความคิด พอต้องตั้งชื่อกลุ่มทำงาน เลยมีไอเดียว่าลองถอยหลังดูไหม? ลองมองเมืองจากข้างหลังดู ลองดูว่าจะเห็นเมืองชัดขึ้นรึเปล่า
“ซึ่งสิ่งที่เราอยากทำก็เพื่อเมืองปัตตานีนั่นแหละ อยากใช้วิชาชีพของเราทำให้เมืองสวยงาม”
ผู้ชายที่อยู่ตรงหน้าเราคือ ซี-อาซีซี ยีเจะแว สถาปนิกวัย 38 ปี – ซึ่งเขาออกตัวว่า ในวงการสถาปัตย์ อายุเท่านี้นับเป็น ‘คนรุ่นใหม่’ ในวงการอยู่เลย!
เจ้าของร้าน In_t_af café & gallery และ สมาชิกกลุ่มมลายู ลิฟวิ่ง (Melayu Living) กลุ่มครีเอทีฟรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันทำงานสร้างสรรค์ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะงานสถาปัตย์ แต่ทำงานหลากรูปแบบบนฐานความร่วมมือของคนในพื้นที่ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง
อธิบายให้ใกล้ชิดขึ้นอีกนิด ซี หรือ เรียกด้วยคำนำหน้าในภาษามลายูว่า แบซี (ได้ทั้ง บัง และ แบ แต่คนในพื้นที่มักใช้คำว่า แบ เพื่อเรียกผู้ชายอย่างให้เกียรติ) คือผู้ออกแบบ สกายวอล์ค (Skywalk) หรือ ปัตตานี แอนเวนเจอร์ พาร์ค (Pattani Adventure Park) จุดชมวิวป่าชายเลนและอ่าวปัตตานี บริเวณสวนสมเด็จเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนากรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
และนี่คืออีกหนึ่งบุคคล อีกหนึ่งกลุ่มทำงานที่ The Potential ภูมิใจนำเสนอในฐานะ Voice of New Gen กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ลุกขึ้นทำงานตามกำลังและศรัทธาของตัวเอง ทีละเล็กละน้อยแต่รวมกันเป็นพลังของเมืองได้มหาศาล
อย่างที่เขาบอกชัด “สิ่งที่อยากทำก็เพื่อเมืองปัตตานี อยากใช้วิชาชีพของเราทำให้เมืองสวยงาม”
ไม่ว่าจะในสเกลเล็กอย่าง café & gallery หรือ มลายู ลิฟวิ่ง ก็ตาม
Pre-In_t_af café & gallery: จุดเริ่มต้น ที่มา และความสำคัญ
หลังเรียนจบมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย แบซีเลือกเรียนเพราะได้แรงบันดาลใจจาก อาจารย์อุสมาน เจะซู อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรม วิทยาลัยเทคนิคยะลา อาจารย์ผู้มีอิทธิพลต่อกรอบคิดด้านการศึกษาของเขาในวัยเด็กถึงปัจจุบัน
แบซีใช้เวลา 1 ปีทำงานในบริษัทด้านสถาปัตยกรรมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ก่อนจะตัดสินใจกลับปัตตานีด้วยความตั้งใจอยากกลับมาใช้เวลากับแม่ให้มากขึ้น กระนั้น เขาก็ไม่ได้ทิ้งวิชาชีพที่บากบั่นเล่าเรียน สมัครเข้าร่วมงานกับเทศบาลเมือง และกลับไปร่วมงานกับอาจารย์อุสมาน อาจารย์ที่มอบวิธีคิดด้านศิลปะและวิชาชีพสถาปัตยกรรมให้กับเขาอีกราว 2 ปี
“ตอนแรกตั้งใจอยู่บ้านแค่ 2 เดือน แต่ไปๆ มาๆ อยู่ยาว 2 ปี (หัวเราะ) ที่ตั้งใจอยากทำงานกับเทศบาล เราคิดแค่ว่าเราอยากทำงานกับเทศบาลเพื่อจะได้ออกแบบเมืองให้พื้นที่สวยขึ้น อยากเอาความรู้ที่เรียนมาใช้ และมันไม่ใช่ความอยากเพราะคิดว่าของเดิมไม่สวยหรือมีปัญหา แค่อยากทำงานและใช้ความสามารถของตัวเองให้ดีที่สุดแค่นั้น” แบซีอธิบาย
หลังอยู่บ้านได้ 2 ปี บริษัทเดิมที่เคยทำงานในกรุงเทพฯ โทรศัพท์ชวนกลับไปทำงานอีกครั้ง แต่ทำได้เพียง 1 ปีโปรเจ็คท์ที่ว่าก็ล้มเลิก และนั่นคือจุดเปลี่ยนที่ทำให้เขากลับบ้านถาวร และ In_t_af studio จึงเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้
“ตอนนั้นมันมีกลุ่มเพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้องกลับบ้านพร้อมกัน 4-5 คน พูดกันเล่นๆ ว่า ‘นี่เราจะมาแย่งงานกันเหรอ จะเป็นศัตรูกันเหรอ? ไม่น่าใช่นะ เรามาเป็นพันธมิตรกัน เปิดสตูดิโอร่วมกันดีกว่าไหม?’ ซึ่ง base หรือจุดศูนย์กลางของมันก็คือเรื่องสถาปัตยกรรมนี่แหละ
“ทำอยู่สัก 4-5 ปี ก็มาเจอบ้านหลังนี้ (ร้าน In_t_af café & gallery ปัจจุบัน) ผมมีไอเดียอยากทำออฟฟิศ ตามสไตล์แบบ… นัดลูกค้ามาคุยกันหลังร้าน หรือ ก่อนทำแบบก็มานั่งชิลด์ เอื้อยอ่อยจนไม่ได้งาน (หัวเราะ) คือมันดูชิคๆ เนอะ แต่พอไปคุยกับหุ้นส่วน ก็มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย สุดท้ายเลยตกลงกันว่าจะแบ่งเงินกองกลางแล้วแยกกันทำตามฝัน ซึ่งเป็นการตกลงกันด้วยดีนะครับ จากนั้นผมกับเพื่อนที่เห็นด้วย เลยพัฒนาไอเดียมาเป็น In_t_af café & gallery”
ร้านที่ว่าตั้งอยู่ในย่านเมืองเก่า บนถนนพูนสวัสดิ์ หรือ ถนนอาเนาะรู หลังร้านติดแม่น้ำปัตตานี บรรยากาศในร้านจึงไม่ต้องอธิบายว่าจะงามและชวนเข้าไปนั่ง ‘เอื้อยอ่อย’ จิบชาและกาแฟแค่ไหน
สารัตถะของ In_t_af café & gallery: ศิลปะที่เข้าถึงง่าย และ การชุบชีวิตเมืองเก่า
“ตอนรื้อบ้าน ผมคุยกับเพื่อนว่าจะทำอะไรดี จะเป็นร้านน้ำชาดีมั้ย? เพราะคนที่นี่ชอบกินชาอยู่แล้ว แต่ร้านน้ำชาจะให้สาระอะไรได้บ้าง หรือจริงๆ ก็ถามตัวเองว่า ‘เราควรให้สาระอะไรกับมันไหม?’ ตอนที่คิดคอนเซ็ปต์ร้าน เราย้อนไปคิดถึงไอเดียแกลเลอรีเล็กๆ ในร้านน้ำชาที่ปีนัง และมะละกา ประเทศมาเลเซี เราอยากทำแบบนั้น”
ถึงตรงนี้แบซีเล่าว่า เขาเคยเป็นคนหนึ่งที่คิดว่าความเจริญต้องกระจุกตัวในเมืองใหญ่หรือเมืองหลวง จนกระทั่งได้ออกเดินทาง ทริปที่เปลี่ยนความคิดของเขาเรื่องเมืองมากที่สุดคือการไปเที่ยวที่ปีนังและมะละกา ประเทศมาเลเซีย ทั้งที่ไม่ได้เป็นเมืองหลวงเช่นกรุงเทพฯ แต่ความเจริญของเมืองโดยเฉพาะวัฒนธรรมก้าวหน้ามาก
“เราเคยคิดว่าเมืองที่เจริญต้องเป็นเมืองใหญ่ เป็นเมืองหลวง แต่ภาพบ้านเมืองของเขามันตั้งคำถามกับเราเลยนะว่า ‘เฮ้ย มันทำได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเมืองใหญ่ แล้วเทศบาลของเราทำอะไรอยู่?’ เมืองแต่ละแห่งมันมีศักยภาพของตัวเอง อย่างปัตตานีเราก็เป็นเมืองท่า เปรียบเทียบก็เหมือนกับภูเก็ตหรือสงขลา ซึ่งเราก็น่าจะทำแบบนั้นได้บ้าง”
ปีนัง และ มะลากา อาจไม่ใช่เหตุผลทั้งหมดที่ทำให้ In_t_af café & gallery เป็นดังเช่นทุกวันนี้ แต่แน่นอนว่ามันส่งอิทธิพลบางอย่างต่อความคิดเขา โดยเฉพาะ ‘สาระ’ ของร้านกาแฟ
“ก่อนทำร้าน เราก็ไปดูวัตถุดิบของที่นี่ว่ามีอะไรบ้าง เช่น มีคณะศิลปะ มีคณะวิทยาการสื่อสาร มีระบบการศึกษาในเชิงครีเอทีฟแบบนี้อยู่ ถ้าเปิดแกลเลอรีจริงๆ เราให้น้องๆ มาแสดงงานที่นี่ก็ได้ มากกว่านั้น มันอาจทำให้คนที่มาดูงานนักศึกษาเห็นความหลากหลาย ‘เฮ้ย เด็กปัตตานีมันคิดแบบนี้เหรอ?’ มันอาจมีพลวัตบางอย่างเกิดขึ้นในร้านกาแฟก็ได้นะ
“ส่วนเพื่อนผมเห็นว่า ที่นี่จะต้องเหมือนสวนสนุก เหมือนสนามเด็กเล่นให้ใครก็ได้มาโชว์ผลงาน การโชว์ผลงานก็คือการเล่นกับคน คนที่มากินชา มาดูรูป รูปนั้นอาจยังไม่ทำงานกับเขา ณ ตอนนี้ แต่วันหนึ่งสารในรูปภาพนั้นอาจไปคลิกความคิดเขาก็ได้
“เปรียบเทียบง่ายๆ คนปิ้งลูกชิ้นจะเข้าไปดูแกลเลอรีในมหาวิทยาลัยไหม? แทบเป็นไปไม่ได้ แต่วันหนึ่งเขามากินชาที่ร้านนี้ ขอดูหน่อยเถอะว่ารูปนี้มันเป็นยังไง สาระของมันก็คือการทำให้ศิลปะเข้าถึงง่ายขึ้น”
‘ทำให้ศิลปะเข้าถึงง่าย’ คือสิ่งที่ตั้งใจแต่แรก หากสิ่งที่ไม่ตั้งใจแต่มาวิเคราะห์ว่าเกิดจริงในภายหลัง คือการชุบชีวิตเมืองเก่า
“ผมถูกสอนว่า ถ้าจะสร้างเมือง ให้คุณปักหมุดอนุสาวรีย์แล้วตีเส้นแบ่งเป็นบล็อกๆ ไปเลย แต่สำหรับเมืองเก่าล่ะ จะทำยังไง? ตอนที่เลือกบ้านนี้ ผมสนใจเพราะเป็นย่านเก่า ไม่มีคนสนใจเลย เราเลือกเปิดร้านที่นี่ก็เพื่อให้คนรู้จักย่านนี้ ถ้ามีคนมาร้านมันก็คงเริ่มมีชีวิต มีคนเปิดร้านนั้นร้านนี้ใกล้ๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟหรือร้านอาหาร เปิดในอาคารเดิมแต่เปลี่ยนฟังก์ชั่น ซึ่งมันกระจายเมืองได้
“จากแต่ก่อนที่คนจะไปตั้งต้นทำร้านแต่ที่ มอ. (มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์) อย่างเดียว ตอนนี้อาจไม่มากมายแต่มันก็เกิดการกระจายเมืองแล้วแหละ การมีมลายู ลิฟวิ่ง ก็ยิ่งทำให้คนกลับมาสนใจสถาปัตยกรรมที่นี่ สนใจว่ามันควรจะอนุรักษ์ไหม? ชัดเจนคือบ้านขุนพิทักษ์รายา ก็มีคนมารีโนเวทเพื่ออนุรักษ์แล้ว”
In_t_af อาจไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้ปัตตานีในวันนี้กลายเป็นอีกหนึ่งเมืองที่รวมความ ‘ฮิป’ มีร้านกาแฟและแกลเลอรีหลากหลาย แต่แบซีพูดอย่างภูมิใจว่า ณ วันที่ In_t_af เกิดขึ้น มันเป็นคาเฟ่และแกลเลอรีแห่งแรกๆ ในย่านนี้เลยทีเดียว
มลายู ลิฟวิ่ง
In_t_af café & gallery คือความตั้งใจส่วนตัวของแบซีและเพื่อนหุ้นส่วนที่อยากสร้างพื้นที่ให้ศิลปะจับต้องและเข้าถึงง่าย แต่แน่นอนว่าตัวตนของเขาจริงๆ ก็คือคนรุ่นใหม่ในวงการสถาปัตย์ การทำงานจึงไม่ได้หยุดแค่ร้านกาแฟแล้วจบไป แต่เขาคือหนึ่งในสมาชิก มลายู ลิฟวิ่ง กลุ่มครีเอทีฟรุ่นใหม่ที่รวมตัวกันทำงานสร้างสรรค์ บนฐานความร่วมมือคนในพื้นที่ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้ตอนล่าง
แบซีเล่าจุดเริ่มต้นว่า เป็นแนวคิดของ ราชิต ระเด่นอาหมัด หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม ที่มีความคิดอยากสร้างเครือข่ายกับคนรุ่นใหม่ ทำงานสร้างสรรค์ร่วมกับสาขาอื่นๆ จะต่างคนต่างทำไม่ได้อีกต่อไป แต่ต้องรวมกันเป็นภูมิภาคเพื่อสร้างงานสร้างสรรค์ในพื้นที่ กลุ่มจึงเกิดขึ้นในนามสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ภายใต้ชื่อกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณฯ โดยมี วิวัฒน์ จิตนวล ประธานกรรมาธิการสถาปนิกทักษิณฯ เป็นที่ปรึกษา
“เรารวมตัวกันเพื่อเชิดชูวิชาชีพและให้ความรู้ทางวิชาชีพแก่สมาชิก แต่ ‘วิชาชีพ’ ในที่นี้ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นแค่สถาปนิก หรือแนวคิดทางวิชาการ แต่เชิดชูความรู้ของชาวบ้าน เช่น คนที่ทำว่าว ซึ่งเขาเก่งมากในวิชาชีพนี้ จะทำยังไงให้เห็นว่าเค้าเป็นครู เป็นปราชญ์คนหนึ่งของที่นี่”
“ถ้า In_t_af studio ยืนบนฐานงานสถาปัตยกรรม มลายู ลิฟวิ่ง จะรวมคนทำงานสร้างสรรค์ไว้หลายอย่าง เช่น ช่างภาพ กราฟิกดีไซเนอร์ หรือนักสร้างเนื้อหา ร่วมกันสร้างกิจกรรมให้พื้นที่เกิดความเคลื่อนไหวใหม่ๆ เช่น โปรเจ็คท์ ‘อารมย์ดี’ กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงชุมชน หรือ local tour เราจัดกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวเดินเท้ารอบเมืองปัตตานี เคาะประตูบ้านคนในพื้นที่เข้าไปพูดคุยกัน
“ชื่อ ‘อารมย์ดี’ ก็มาจากชื่อถนน 3 สายที่เราจะพานักท่องเที่ยวเดิน คือ ‘อา’ จากถนน อาเนาะรู, ‘รมย์’ จากถนน ปัตตานีภิรมย์ และ ‘ดี’ จากถนน ฤาดี” แบซีอธิบาย
แบซีเล่าถึงกิจกรรมนี้เพราะอยากอธิบายว่า มลายู ลิฟวิ่ง แม้จะอิงกับงานเมืองหรือสถาปัตย์ แต่ก็ทำงานตามโจทย์และสร้างสรรค์กิจกรรมบนฐานคนในพื้นที่และวัฒนธรรม โปรเจ็คท์นี้ยังเป็นการร่วมมือระหว่างคนทำงานในพื้นที่กับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะผู้ร่วมประชาสัมพันธ์ด้วย
“ในโปรเจ็คท์อารมย์ดี ที่ต้องไปเคาะประตูตามบ้าน เชื่อไหมว่าเราเคยได้ยินว่ามีบ้านหลังหนึ่งเขาดุมาก ชาวบ้านไปถามนู่นถามนี่มากไม่ได้ แต่เชื่อไหมว่าวันที่เราทำทัวร์ เราได้รับการตอบรับจากเขาดีมาก เราจะไม่ทำโปรเจ็คท์นี้บ่อยๆ เพราะไม่อยากรบกวนการเป็นอยู่จริงๆ ของเขา แต่แค่หนึ่งวันที่เขาได้มีส่วนร่วม หายเหงา มันโอเคแล้ว” แบซีเล่ายิ้มๆ
ศิลปะเพื่อเยียวยาและเดินหน้า
ระหว่างบทสนทนา ครั้งหนึ่งเราถามเขาว่า ที่แบซีทำงานด้านศิลปะทั้งหมดนี้ เพื่ออยากแก้ไขปัญหาอะไร อยากเปลี่ยนแปลงอะไรหรือเปล่า? เขาตอบกลับอย่างตรงไปตรงมาว่า เขาไม่อยากให้งานของ In_t_af หรือ มลายู ลิฟวิ่ง สะท้อนแต่แง่มุมความเจ็บปวด แต่อยากสร้างพื้นที่สร้างสรรค์ที่มองไปข้างหน้า
“ไม่ใช่ว่าเราลืมประวัติศาสตร์ มันเป็นวัตถุดิบของเราด้วยซ้ำ แต่ไม่อยากทำศิลปะที่ชวนให้คนมาสงสาร ให้คนมาเห็นใจ ผมคิดเอาเองนะว่า งานสื่อสารแบบนั้นมันมีแต่ยิ่งตอกย้ำและทำให้จมกับความรู้สึกเช่นเดิม แต่อยากทำงานสร้างสรรค์ให้ทุกคนมีความสุขขึ้น อยากทำให้เห็นความศิวิไลซ์ในฟาตอนี อย่างที่คุณราชิตเคยบอกว่า วัฒนธรรมในท้องที่มันอบอุ่น มีความงามอีกมากที่ยังไม่ถูกนำมาทำงาน เราอยากแสดงความงามด้านนั้น”
จาก In_t_af ถึง มลายู ลิฟวิ่ง สิ่งที่ต้องการไม่ใช่การเปลี่ยนเมืองในเวลาข้ามวัน เขายืนยันในจุดประสงค์ขององค์กรว่าเป็นเพียงคนทำงานที่พยายามหาสาระและใช้ความสามารถของตัวเองทำงานเพื่อสร้าง ‘เมืองที่สวย’ ทำให้ศิลปะเข้าถึงได้ และทำกิจกรรมสร้างสรรค์บนฐานวัฒนธรรมชุมชน
ก่อนจากกัน เขาทิ้งท้ายว่า
“สถาปนิกมักถูกสอนให้มองผัง มองอะไรใหญ่ๆ หรืออลังการไว้ก่อน แต่พอเรามาเจอกับชีวิตจริง มันอาจเริ่มจากจุดเล็กๆ เช่น ร้านนี้เกิดขึ้นมาได้ยังไง ก็จากการวิเคราะห์กันว่าเราชอบกินน้ำชา แล้วร้านน้ำชามันให้อะไรได้บ้าง มันก็คือศิลปะนั่นแหละ บางทีคิดใหญ่เราก็เครียดนะ ตอนนี้ก็ยังมีความคิดแบบนั้นอยู่นะ แต่พยายามซอยให้เล็กลงจนถึงสเกลงานที่เราทำได้”
เริ่มต้นจากจุดเล็กๆ จุดที่ทำได้ แล้วค่อยขยายออกไปสู่การเปลี่ยนในภาพใหญ่ เหมือนที่ In_t_af ขยายไปสู่กลุ่มคนทำงานสร้างสรรค์ มลายู ลิฟวิ่ง มาแล้ว