- เกรตา ธุนเบิร์ก คือ สาวน้อยวัย 15 ที่ใช้วิธีโดดเรียน เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้ต้นไม้ ใบหญ้า แสงแดด สายลมและโลก
- ตรงกันข้าม เกรตาชอบไปโรงเรียนและรักการเรียน แต่เธอเชื่อว่า ในฐานะนักเรียน การโดดเรียนเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
- เกรตาถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคออทิสติกและ A.D.H.D. ถึงอย่างนั้น เธอกลับบอกว่า โรคนี้ช่วยให้เธอมองเห็นโลกในมุมที่ต่างจากผู้อื่น
“กว่า 25 ปีแล้วที่ผู้คนจำนวนมากมาร่วมประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติเพื่อเรียกร้องให้ผู้นำแต่ละประเทศหยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แน่นอนว่าคำขอให้หยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ดูจะไม่ได้ผล ดังนั้นวันนี้ฉันจะไม่ขอให้ผู้นำแต่ละประเทศใส่ใจอนาคตของเรา แต่ฉันมาที่นี่เพื่อจะบอกพวกเขาว่าการเปลี่ยนแปลง (ผลกระทบที่เกิดจากสภาวะโลกร้อน) ได้ใกล้เข้ามาแล้ว ไม่ว่าพวกคุณจะชอบหรือไม่ก็ตาม”
คือส่วนหนึ่งจากสุนทรพจน์ของ เกรตา ธุนเบิร์ก (Greta Thunberg) จากงานประชุมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 24 (United Nations Climate Change Summit: COP 24) ประเทศโปแลนด์ เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
แน่นอนว่าสิ้นถ้อยคำของเกรตาในวันนั้น ทั่วโลกก็พากันหันสปอตไลท์มาจับจ้องที่เธอทันที เมื่อสิ่งที่เกรตาพูดทั้งถูกต้อง บาดลึก โดนใจและตอกผู้ใหญ่หลายคนให้ต้องหันหน้าหนี หลบสายตานิดๆ เมื่อเธอคือนักรณรงค์สิ่งแวดล้อมวัยเพียง 15 ปี
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกรตาเพิ่งสร้างความตระหนักเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นไม่ใช่การรณรงค์ครั้งแรกๆ ของเธอ เพราะแท้จริงแล้วเกรตาเริ่มโซโล่รณรงค์ เดินหน้าทวงคืนความยุติธรรมให้ต้นไม้ ใบหญ้า แสงแดด สายลมหรือโลกสีเขียวทั้งใบด้วยตัวเองตั้งแต่สิงหาคมที่ผ่านมา เหมือนกับประโยคที่ใครสักคนเคยพูดไว้ว่า โลกสวยด้วยได้ด้วยมือเรา
โลกสีขาวและสีดำที่ถูกย้อมเป็นสีเขียวของเกรตา
เกรตา ธุนเบิร์ก เด็กสาวชาวสวีเดน มีคุณพ่อเป็นนักแสดงชื่อ สวานเต ธุนเบิร์ก (Svante Thunberg) คุณแม่ เมเลนา เอิร์นแมน (Malena Ernman) เป็นนักร้องโอเปราที่มีชื่อเสียงและมีปู่เป็นนักวิทยาศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเคมีปี ค.ศ. 1903 อย่าง สวานเต อาร์เรเนียส (Svante Arrhenius)
จุดเริ่มต้นที่ส่งผลให้เธอทุ่มความสนใจทั้งหมดจนเกือบถึงขั้นคลั่งไคล้ในประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นเมื่อตอนเกรตาอายุ 9 ขวบ จากความสงสัย ใคร่รู้แปรเปลี่ยนเป็นเสาะหาคำตอบเพื่อไขข้อข้องใจว่าทำไม เพราะอะไรและอย่างไรอย่างต่อเนื่องกับหลายๆ ประเด็นอย่างไม่มีทีท่าเบื่อหน่ายตลอดระยะเวลาหกปีที่ผ่านมา
ส่วนหนึ่งเกรตาบอกเล่ากับสำนักข่าว The New Yorker ว่าเธอสามารถจดจ่อกับสิ่งเดิมๆ ได้เป็นชั่วโมง นั่นคือหนึ่งในเงื่อนไขพิเศษจากโรคออทิสติก เกรตาถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคออทิสติกและ A.D.H.D. ถึงอย่างนั้น เธอกลับกล่าวว่า โรคนี้ช่วยให้เธอมองเห็นโลกในมุมที่ต่างจากผู้อื่น
“ฉันมักมองทุกอย่างเป็นสีขาวและสีดำ เวลามองไปยังคนที่มีอำนาจ ฉันมักสงสัยว่าทำไมเขาถึงชอบทำให้เรื่องมันซับซ้อน อย่างถ้าผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสามารถหยุดยั้งได้เราก็ควรทำ มันคือสีขาวและสีดำ มันไม่มีสีเทาในการเอาชีวิตรอด”
นับจากวันนั้นที่เธอตระหนักและรับรู้ถึงผลกระทบที่ใหญ่หลวงจากสภาวะโลกร้อน เกรตาก็หยุดบริโภคเนื้อสัตว์ หยุดซื้อทุกอย่างที่ไม่จำเป็นตลอดทั้งปี 2015 เธอยังเลิกเดินทางด้วยเครื่องบิน และในปีถัดมาครอบครัวของเกรตาก็ติดตั้งแบตเตอรี่โซลาร์เซลล์ และปลูกผักรับประทานเอง
นักเรียนแต่ตัว หัวใจคือนักรณรงค์สิ่งแวดล้อม
สิงหาคมที่ผ่านมา ระดับการต่อสู้เพื่อประเด็นสิ่งแวดล้อมของเกรตาได้ทวีคูณขึ้น เมื่อเธอเริ่มการโซโล่รณรงค์เรียกร้องให้นักการเมืองในสวีเดนตระหนักถึงผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน เกรตาใช้วิธีประท้วงเงียบๆ ด้วยการโดดเรียนไปนั่งที่หน้าอาคารรัฐสภาสวีเดนเป็นเวลาสามสัปดาห์ หนึ่งเดือนก่อนการเลือกตั้ง สว. จะเริ่มขึ้นในวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งตอนแรกเกรตาเล่าว่า เธอไม่ได้ตั้งใจจะมาคนเดียวแต่เมื่อไม่มีเพื่อนมาด้วยจึงจำเป็นต้องฉายเดี่ยว
สิ่งที่เกรตาทำได้สร้างความสงสัยและความสนใจให้กับผู้ใหญ่ที่เดินผ่านไปผ่านมาซึ่งส่วนใหญ่คือผู้คนที่ทำงานอยู่ในอาคารรัฐสภา เธอได้แลกเปลี่ยนความคิดและมุมมองต่อประเด็นดังกล่าวกับพวกเขา แน่นอนว่าทุกคนต่างพยักหน้ารับฟังอย่างเข้าใจ ก่อนจะบอกให้เธอกลับไปทำหน้าที่ของเธอ เรียนหนังสือเสียจะดีกว่า ทั้งยังนำอาหารหรือขนมมาให้เธอรับประทาน
แน่นอนว่าคุณพ่อและคุณแม่เกรตา แม้จะมองว่าสิ่งที่ลูกตัวเองทำเป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ก็ไม่ได้เห็นชอบกับการโดดเรียน เกรตาจึงเปลี่ยนเป็นสี่วันต่อสัปดาห์และปัจจุบันคือทุกวันศุกร์แทน
ใช่ว่าเธอจะไม่ชอบเรียนหนังสือ ตรงกันข้าม เกรตากล่าวว่าเธอชอบโรงเรียนและการเรียนหนังสือ เพียงแต่ในฐานะที่เธอเป็นนักเรียน สิ่งเดียวที่สามารถกระตุ้นและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้คือ การโดดเรียน
“ในความคิดของฉัน การเลือกตั้งไม่ได้สำคัญขนาดนั้น มันไม่ได้หมายความว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะหายไปเมื่อพรรคใดพรรคหนึ่งถูกเลือกมากที่สุด แต่การเมืองจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงภัยพิบัติที่เกิดจากสาเหตุดังกล่าวต่อพวกเรา – แน่นอนว่ามันไม่สามารถเกิดขึ้นได้ภายในวันนี้แต่เราจำเป็นต้องเปลี่ยนระบบมันเพราะเรากำลังอยู่ในวิกฤติ”
โลกของเกรตา = โลกของคนรุ่นใหม่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกรตากล่าวคือความจริง เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้นไปแล้วใช่ว่าจะถูกแก้ไขได้เพียงวันเดียวหรือคนเพียงคนเดียว ถึงอย่างนั้น เธอก็ได้สร้างพลัง ส่งเสียงของตัวเองให้ดังขึ้นกว่าเดิม เมื่อนักเรียนกว่า 20,000 คน จาก 270 เมืองทั่วโลก เช่น ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร เบลเยียม และญี่ปุ่น ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับการรณรงค์ของเธอ ไม่ว่าจะด้วยวิธีโดดเรียนแบบเดียวกับเธอหรือออกมาเดินขบวนตามเมืองของพวกเขาเอง ส่งผลให้เกรตาได้รับความสนใจมากขึ้นและได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานประชุม COP 24 ประเทศโปแลนด์ ร่วมกับตัวแทนจาก 200 ประเทศทั่วโลก
เพียงไม่กี่นาทีที่คลิปวิดีโอสุนทรพจน์ของเกรตาถูกถ่ายทอดลงโซเชียลเน็ตเวิร์ค เธอกลายเป็นคนดังในชั่วพริบตา พร้อมกับสารที่เธอพยายามส่งออกไปเพื่อสร้างความตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสภาวะโลกร้อนได้ถูกขยายให้กว้างกว่าเดิม จะเรียกว่าประสบความสำเร็จคงยังไม่ถึงขั้นนั้น เพราะเกรตายังคงก้าวหน้ายืนหยัดสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมต่อไป โดยจะใช้เวลาทุกวันศุกร์นั่งประท้วงที่หน้ารัฐสภาสวีเดนจนกว่ารัฐบาลจะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี
“ถ้าฉันมีอายุ 100 ปี นั่นหมายความว่าฉันจะอยู่ถึงปี 2103 แน่นอนว่าผู้ใหญ่ส่วนมากคิดถึงแค่ปี 2050 เท่านั้น แต่ถ้าเป็นไปได้ฉันยังคงใช้ชีวิตอยู่และอาจครึ่งหนึ่งด้วย ดังนั้นสิ่งที่เราจะทำหรือไม่ทำในตอนนี้จะส่งผลต่อชีวิตของฉันต่อจากนี้ ชีวิตของเพื่อนฉัน ลูกฉันและหลานของฉัน
เวลาของเรา (มนุษยชาติ) กำลังหมดลง ความล้มเหลวเท่ากับภัยพิบัติ การเปลี่ยนแปลงกำลังขยายใหญ่ขึ้น เราจำเป็นต้องหาวิธีการแก้ไข โดยเฉพาะประเทศร่ำรวยอย่างสวีเดนหรือออสเตรเลีย เมื่อผู้ใหญ่ยังคงเพิกเฉยต่อสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นว่าเรา (คนรุ่นใหม่) จำเป็นต้องลงมือด้วยตัวเอง โดยเริ่มจากวันนี้”