- ทั้งที่ประจำเดือนอยู่คู่กับมนุษยชาติมาตั้งแต่ต้น แต่ยังไม่เคยมีสื่อการสอนที่รวบรวมข้อมูลและสิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับเมนส์ไว้ในที่เดียวกัน เนื้อหาในโปรแกรม Girl’s Secrets ทำให้ผู้ใช้ทราบถึงลักษณะการเป็นประจำเดือน การดูแลตัวเอง วิธีบรรเทาอาการปวดท้องโดยไม่ใช้ยา ไปจนถึงวิธีการปฏิบัติตัวก่อนประจำเดือนหมด
- ด้วยความแปลกใหม่ ทำให้ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลพิเศษ Smart Education ของยูนิเซฟ พัฒนาโปรแกรมโดยน้องๆ โรงเรียนระยองวิทยาคม จังหวัดระยอง
เรื่อง: กิติคุณ คัมภิรานนท์, มณฑลี เนื้อทอง
ภาพ: โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
เมื่อมนุษย์เมนส์ปรากฏกาย โลกของคุณผู้ชายก็ถูกปกคลุมไปด้วยความลับ เพราะอารมณ์เหวี่ยงวีนจากฮอร์โมนของคุณผู้หญิงจะดึงเอาเรื่องราวสารพันมาโถมใส่อย่างไม่มีเหตุผล และทิ้งคุณไว้กับความงุนงงว่าเธอหงุดหงิดจากเรื่องอะไร…
ประจำเดือนกับคุณผู้หญิงคือธรรมชาติทางเพศที่แสนสามัญธรรมดา แต่ความที่จารีตบ้านเราบัญญัติว่า นี่คือเรื่องลับ! ทำให้การศึกษาเพื่อทำความเข้าใจไม่เปิดกว้างนัก คุณผู้หญิงจำนวนไม่น้อยจึงรับมือกับเรื่องลับๆ นี้ไม่อยู่มือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงในช่วงเปลี่ยนผ่านของวัย จากวัยรุ่นสู่วัยสาว และจากวัยสาวสู่วัยทอง
ถ้าความลับของเรื่องลับมันทำให้เกิดปัญหา ถ้าอย่างนั้นก็เปิดความลับให้เป็นความรู้เลยไม่ดีหรือ?
Girl’s Secrets โปรแกรมสื่อการเรียนรู้เรื่องประจำเดือน จึงเกิดขึ้นจากความคิดและฝีมือของน้องๆ โรงเรียนระยองวิทยาคม จังหวัดระยอง เพื่อความรู้เท่าทันตัวเองของคุณผู้หญิง และเพื่อโลกอันสงบสุขของคุณผู้ชาย
จับปัญหามาทำโปรเจ็คต์
นวัตกรหลายทีมมักเลือกหัวข้อทำโปรเจ็คต์จากปัญหาที่อยู่ใกล้ตัว ซึ่ง นุ่น-วจิรัชญา เบญญากุล, ไอซ์-ฉัตราพร หัสคุณไพศาล, และ ปอ-สุทธิพงษ์ ศิริรักษ์ ก็เป็นเช่นนั้น ต่างเพียงหัวข้อโปรเจ็คต์ของทั้งสามได้แรงบันดาลใจมาจากปัญหาที่อยู่ใกล้ตัวพวกเขาชนิดถ้าเป็นงูก็โดนฉกตายไปแล้ว
“ตอนนั้นหนู ปอ นุ่น กำลังคิดหัวข้อโปรเจ็คต์ แต่คิดไม่ออก พอดีหนูกับนุ่นปวดท้องประจำเดือน หงุดหงิดก็โวยวายเหวี่ยงใส่ปอ” ไอซ์เปิดบทสนทนาอย่างร่าเริง
ถ้าเป็นคนอื่น เหวี่ยงใส่เพื่อนเสร็จแล้วก็คงตั้งหน้าตั้งตาหาหัวข้อต่อไป แต่เผอิญว่าไอซ์กับนุ่นเกิดแรงบันดาลใจฉับพลันเรื่องประจำเดือน จึงลองไปค้นข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ก่อนจะพบว่า…
“ข้อมูลมีเยอะมาก แต่บางอย่างเราไม่เคยรู้ เลยมาถามเพื่อนว่าสนใจทำแอพฯ สื่อการเรียนรู้เรื่องนี้ไหม ยังไม่มีใครเคยทำ น่าจะเป็นประโยชน์” ไอซ์เล่าต่อ
สองสาวจึงใช้อภิสิทธิ์ของผู้มีประจำเดือน ชวนแกมบังคับให้หนุ่มปอทำโปรเจ็คต์นี้ด้วยกัน
“ตอนแรกก็ช็อกๆ เอาจริงเหรอ? (หัวเราะ) ผมไม่เคยรู้เรื่องพวกนี้มาก่อน และเอาจริงๆ มันก็เป็นเรื่องที่ยาก แต่พอถามครู ครูบอกน่าสนใจดี เพื่อนก็สนใจด้วย หนึ่งเสียงสู้สองเสียงไม่ได้อยู่แล้ว” ปอเล่าไปหัวเราะไป
เมื่อหัวข้อมา หน้าที่ก็เกิด โดยไอซ์กับนุ่นเป็นคนหาข้อมูลจากหนังสือ อินเทอร์เน็ต และตรวจสอบความถูกต้องจากคุณแม่ของไอซ์ที่เป็นพยาบาล หลังจากนั้นส่งให้ปอเขียนโค้ด ส่วนไอซ์กับนุ่นทำกราฟิก จน Girl’s Secrets เวอร์ชั่นแรกสำเร็จ ได้รางวัลชมเชยในหมวดสื่อการเรียนรู้จากเวที การแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย (National Software Contest) หรือเวที NSC
“พอได้ข้อมูลเราก็คิดว่าแต่ละหน้าของแอพฯ ควรเป็นแบบไหน แล้วทำเป็นแอนิเมชั่นเพราะพวกหนูไม่ชอบอ่านตัวหนังสือเยอะๆ (ยิ้ม) หนูกับไอซ์ชอบเล่นเกมแต่งตัวอยู่แล้ว ก็สรรหามาประยุกต์ บางอย่างก็ได้มาจากเกมแต่งตัว” นุ่นอธิบายแนวคิดของทีม
ผลงานชิ้นเอก ของต้องแปลก! คนต้องอึด!
Girl’s Secrets เวอร์ชั่นแรกแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ช่วงวัย คือ วัยรุ่น (ก่อน/เริ่มมีประจำเดือน) วัยปกติ (มีประจำเดือนแล้ว) และวัยสูงอายุ (หมดประจำเดือน) โดยทีมได้ออกแบบเนื้อหาให้ผู้ใช้ได้ทราบถึงลักษณะการเป็นประจำเดือน การดูแลตัวเอง วิธีบรรเทาอาการปวดท้องโดยไม่ใช้ยา ไปจนถึงวิธีการปฏิบัติตัวก่อนประจำเดือนหมด ซึ่งเนื้อหาเหล่านี้เองที่ทำให้ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลพิเศษ Smart Education ของยูนิเซฟ
“หนูว่าเราได้รางวัลเพราะมันแปลก (ยิ้ม) ยังไม่เคยมีใครทำ และพอทำออกมาแล้วมันเป็นประโยชน์ต่อคนส่วนมาก ยูนิเซฟก็ติดต่อมาให้เราไปนำเสนอผลงานให้คนทำงานยูนิเซฟที่เป็นต่างชาติฟัง ตอนนั้นตื่นเต้นมาก ฝรั่งนั่งเต็มห้อง เขาสนใจกันมาก ถามว่าทำกันได้ยังไง มีกี่คน ใช้เวลาไม่กี่เดือนทำได้ขนาดนี้” ไอซ์เล่าอย่างภาคภูมิใจ
ก่อนที่ปอจะเชื่อมโยงไปถึงเรื่องคุณสมบัติของนวัตกรว่า “เราต้องมีความคิดต่างจากคนอื่น มีความคิดแปลกใหม่ มีความคิดสร้างสรรค์”
ขณะที่ไอซ์สำทับด้วยรอยยิ้ม “แต่จะแปลกอย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีประโยชน์ต่อสังคมด้วย อย่างแอพฯ เราคือแปลกในเรื่องที่ยังไม่มีใครทำ และมีประโยชน์ต่อผู้หญิงที่มีประจำเดือน”
และหลังจากจบ NSC ทีมก็ถูกทาบทามเข้าโครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปี 6 ด้วยความอยากลองพา Girl’s Secrets ไปให้สุดทาง ทีมจึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเปรียบเหมือนการพาตัวเองเข้าสู่ลู่วิ่ง และเริ่มต้นใหม่ในจุดสตาร์ท เพราะ Girl’s Secrets ถูกคอมเมนต์จากทีมโค้ชให้ปรับแก้ โดยเฉพาะการเฟ้นหากลุ่มเป้าหมายใหม่ให้ชัดเจน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการออกแบบเนื้อหาใหม่ให้เหมาะสมขึ้น
“ตอนแรกเราแบ่งกลุ่มเป้าหมายเป็น 3 กลุ่ม แต่โค้ชบอกว่าควรเน้นไปที่เด็กกลุ่มเพิ่งเริ่มมีประจำเดือนกับกำลังจะมี จึงต้องปรับใหม่ ไล่เนื้อหาไปทีละบท เปลี่ยนเมนูใหม่ รวมๆ แล้วก็คือปรับใหม่หมดเลยยกเว้นหน้าเข้าเริ่มแรก” นุ่นหัวเราะร่าท้ายประโยค
ภาระงานที่เกิดขึ้น ทำให้ทั้งสามต้องชวน บอม-ณัฎฐ์ ภิญโญ เข้ามาช่วยเขียนโค้ด เพื่อผ่านพ้นมันไปด้วยกัน
“งานมันไม่ได้ยาก แต่มันเยอะ ต้องทำตลอด ข้อดีคือได้ฝึกทำงานเราก็มีทักษะมากขึ้นที่จะเอาไปใช้ในอนาคต ข้อเสียคือมันเอาเวลาช่วงวัยรุ่นของเราไปหมด” บอมหัวเราะขื่นๆ ก่อนเล่าต่อในมิติของการเป็นนักพัฒนา ว่างานหนักคือด่านที่ทุกคนต้องฝ่าฟันเพื่อผ่านพ้น
“สำคัญคือต้องอดทน และทำต่อไปเรื่อยๆ พอถึงจุดหนึ่งเราอาจคิดว่าเสร็จแล้วพอ แต่มันมีอะไรให้ทำต่อได้อีก เพราะการพัฒนาแอพฯ ไม่ได้ทำวันสองวันเสร็จ ต้องทำเป็นเดือนๆ สำหรับผม งานโค้ดก็ต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเรื่อยๆ จะรอความรู้จากคนอื่นไม่ได้ ต้องศึกษาด้วยตัวเองให้เข้าใจและไปทำได้ แก้ปัญหาได้” บอมกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้งานจะมากมายก่ายกองแค่ไหน แต่ทั้งสี่ก็ไม่มีใครทิ้งงานหนีไป เพราะคำว่าทีมเวิร์ค
“มันช่วยฝึกเราไปในตัว เหนื่อยมาก อดหลับอดนอน ทำมากๆ แล้วปวดหัว แก้ตรงนี้ไม่ได้ซะที นานๆ ไปก็เริ่มท้อ แต่รับงานมาแล้วก็ต้องทำ มันเป็นงานกลุ่ม ไม่ได้มีแค่เรา ไม่ใช่ว่าจะเลิกก็เลิกได้ ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ” ปอเผยความรู้สึก
ทีมเวิร์คที่ดี ต้องอย่ามีความลับ…
แม้จะทำเรื่องความลับของคุณผู้หญิง แต่น่าสนใจว่าการทำงานของทีมนั้นแทบไม่มีความลับต่อกัน เพราะมีอะไรก็ใช้วิธีพูดกันตรงๆ และยึดเอาประโยชน์ของผลงานเป็นที่ตั้ง ทำให้การทำงานเดินหน้าได้เร็ว
“มีเถียงกัน ทะเลาะกันตลอด แต่ส่วนใหญ่มันไม่ได้หนัก หลักๆ คือคุยกันไม่รู้เรื่อง เสนอไปคนละความคิด เราอยากได้อันนี้ อีกคนอยากได้อันนี้ ไม่ค่อยลงตัว” ไอซ์เล่าถึงบรรยากาศการทำงาน
ก่อนที่ปอจะเสริมว่า “แต่ดีที่ทีมเราพูดอะไรกันตรงๆ ไม่มีอะไรปิดบังกัน อะไรไม่ดีก็พูด เราไม่พอใจอะไรก็พูด เราโอเคกับอะไรก็บอก ทำให้ไว้ใจกันมากขึ้น”
“หัวใจคือทีมเวิร์คต้องมี” บอมเสริมต่อ
“เวลาเราคุยกันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเห็นด้วยทุกอย่าง ต้องยอมบ้าง การยอมไม่ได้แปลว่าเราแพ้ แต่ยอมเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่ทุกคนโอเคและทำด้วยกันต่อไปได้”
ซึ่งทีมก็ยอมรับว่า ความสนิทเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีมสามารถเปิดความลับคุยกันได้ทุกอย่าง เพื่อให้งานไหลลื่นไปข้างหน้า
“ถ้าไม่สนิทกับเพื่อนในกลุ่ม เวลาทำงานมันลำบาก คุยกันได้ไม่เต็มที่ งานก็ไปได้ไม่ไกล” นุ่นสรุปประเด็น
ด้วยหัวข้อโปรเจ็คต์ที่เกิดจากปัญหาใกล้ตัว ทว่ามีความแตกต่าง (เพราะคนอื่นไม่ทำกัน) เป็นจุดขาย บวกกับความอดทน ความรับผิดชอบ ทีมเวิร์คที่เปิดเผยและยึดผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นที่ตั้ง ทำให้ Girl’s Secrets พัฒนาออกจากกรอบของความลับ มาสู่การเป็นแอพพลิเคชั่นความรู้เรื่องประจำเดือน ที่สาววัยแรกแย้มสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมได้ในที่สุด
“ได้ไปทดลองกับรุ่นน้องในโรงเรียนทั้ง ม.ต้น และ ม.ปลาย รวมถึงคุณครู เสียงตอบรับจากเด็ก ม.ต้น ก็จะดี๊ด๊า เขินๆ หน่อยเวลาเห็นภาพ (หัวเราะ) ม.ปลาย ก็มีเขินบ้าง แต่น้อย เพราะมันเป็นสิ่งที่ควรรู้ และมีบางเรื่องในแอพฯ ที่เขาสนใจ ส่วนอาจารย์ก็ชมว่าไม่คิดว่าจะทำได้ขนาดนี้” ไอซ์เล่าพลางยิ้มแก้มปริ
“เป็นประสบการณ์ที่ดีที่เด็กทั่วไปไม่มีโอกาสทำ เราได้ฟันฝ่าอุปสรรคนานัปการกับเพื่อน พอมาถึงเส้นชัยแล้วมองกลับไป เราผ่านอะไรมาเยอะมาก พวกเราทุกคนอยากให้มันไปให้สุด อยากให้มันดีที่สุด ฝ่ายกราฟิกก็วาดออกมาดี ผมก็มาทำต่อให้ดีที่สุด แล้วมันก็ออกมาตามที่คาดหวัง ก็แฮปปี้และภูมิใจกับงานชิ้นนี้มาก” บอมกล่าวอย่างมีความสุข
“ภูมิใจที่เราได้มีแอพฯ ของตัวเอง เด็กอายุ 18 มีแอพฯ ของตัวเอง แค่นี้หนูก็ภูมิใจแล้ว มันมาไกลมาก” นุ่นยิ้มกว้างด้วยความภาคภูมิใจ
Girl’s Secrets พร้อมเผยความลับเป็นความรู้สำหรับคุณผู้หญิงแล้ววันนี้ที่ Google Play แต่แม้ไม่ใช่ผู้หญิง ก็โหลดมาศึกษาได้ เพื่อพร้อมรับมือกับภัยพิบัติจากมนุษย์เมนส์
“ตอนแรกก็รู้สึกแปลกๆ ว่าทำไมเราต้องมารู้เรื่องนี้ด้วย เราเป็นผู้ชาย แต่พอทำไปก็ได้ความรู้เยอะมาก ตอนนี้ผมอาจจะรู้เรื่องประจำเดือนมากกว่าผู้หญิงซะอีก” ปอจบบทสนทนาอย่างร่าเริง