- ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนรุ่นใหม่ คือ พลเมืองสำคัญที่กำลังจะเปลี่ยนโลก การขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมที่มีหลากหลายทุกวันนี้โดยคนรุ่นใหม่ ชวนให้สนใจว่า พวกเขากำลังขีดเส้นทางสังคมไทยไปทิศทางใด
- ทำไมถนนหน้าบ้านถึงไม่เคยเรียบ? ทำไมรถสาธารณะและรถไฟฟ้าถึงกระจุกอยู่เพียงบริเวณเมืองหลวง? ทำไมการจะได้มาซึ่งรัฐสวัสดิการจะต้องเข้ารับราชการ? ทำไมคนจนที่ขยันทำงานอย่างหนักจนป่วยถึงไม่สามารถมี Work life balance ได้?
- คำถามง่ายๆ ถูกตั้งขึ้นอย่างมากมายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นไปได้ว่าคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจประเด็นความเท่าเทียมและตระหนักในสิทธิมนุษยชน เพราะพวกเขาเติบโตและได้เห็นความเหลื่อมล้ำอันไม่เป็นธรรม
จะเห็นได้ว่าทุกวันนี้กลุ่มขบวนการเคลื่อนไหว เกิดขึ้นมาหลากหลายคล้ายกับการแตกหน่อของเมล็ดพันธุ์ยามถึงฤดู ฤดูที่รอวันสุกงอมและเจริญงอกงามออกมา อาจเป็นฤดูที่เมล็ดพันธุ์ก่อนๆ รอคอยซึ่งการมาถึงของเมล็ดพันธุ์เหล่านี้ หรือบ้างก็อาจไม่คาดคิดว่าจะเกิด แต่ทั้งหมดก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าช่วงเวลาเหล่านี้คือ ฤดูกาลของคนรุ่นใหม่
เราจะเห็นได้ว่าการเคลื่อนไหวเรียกร้องต่อประเด็นต่างๆ ในสังคมนั้นบ้างก็ช่างขัดต่อขนบธรรมเนียม ค่านิยม หรือศีลธรรม ‘อันดีงาม’ ต่างๆ ที่คนรุ่นก่อนๆ ดำเนินตามกัน บ้างก็ช่างดูก้าวร้าว จนขอเรียกว่าเป็นพวกหัวรุนแรง แต่ครั้นจะให้ไม่สนใจคนรุ่นใหม่เลยก็คงไม่ได้ เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าคนรุ่นใหม่นี่แหละคือพลเมืองสำคัญที่กำลังจะเปลี่ยนโลก
ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาเป็นอวัยวะที่ 33 ข้อมูลข่าวสารต่างๆ สามารถค้นหาได้เพียงปลายนิ้วคลิก เราจะพบได้ว่าในช่วงสองสามปีให้หลังมานี้คนรุ่นใหม่เริ่มเข้ามามีบทบาทในประเด็นสังคมต่างๆ อย่างโดดเด่น เริ่มต้นจากแพลตฟอร์มออนไลน์อย่างทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก ที่เปิดพื้นที่ให้คนออกมาพูดคุยและถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็นจนไปถึงโลกออฟไลน์อย่างการลงถนนประท้วงและเดินหน้าเข้าสู่สภา
โดยประเด็นต่างๆ ที่คนรุ่นใหม่นำเสนอนั้นหากพิจารณาดูอย่างถี่ถ้วนแล้วจะเห็นได้ว่าทุกสารของการขับเคลื่อนมักแฝงไปด้วยจุดประสงค์เดียวกัน นั่นคือ ‘การมีชีวิตและอนาคตที่ดีขึ้น’
การมีชีวิตและอนาคตที่ดีขึ้น หมายถึง การมีสภาพแวดล้อมที่ดี ที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตในทุกด้านและทุกชนชั้นทางสังคม เป็นสภาพแวดล้อมที่สามารถเปิดโอกาสให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรและเครื่องมือได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมจนทำให้สามารถสร้างอนาคตที่ดีได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ามันไม่ใช่เพียงการเริ่มต้นที่ตัวเราอย่างที่คนรุ่นก่อนๆ มักถูกปลูกฝังมา ‘ความสำเร็จเริ่มต้นได้ที่ตัวเรา’ คำพูดนี้หากจะให้มานึกคิดพิจารณากันมีเพียงคนชนชั้นกลางขึ้นไปที่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้เท่านั้นจึงจะสามารถใช้วาทกรรมนี้ได้
เพราะถ้าเรามองลึกลงไปแล้ว คนชนชั้นแรงงาน กลุ่มชาติพันธุ์ หรือกลุ่มคนชายขอบที่พยายามอย่างยิ่งยวดในการใช้ทั้งกำลังกายและกำลังสมอง รวมทั้งทำงานหนักอย่างต่อเนื่องและใช้เวลา 24 ชั่วโมงได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด เหตุใดเล่า พวกเขายังไม่สามารถหลุดพ้นจากสถานะที่เรียกว่าฐานพีระมิดได้ ถ้าจะกล่าวว่า ‘ทุกอย่างเริ่มต้นที่ตัวเรา’ จริงๆ แล้วล่ะก็ การที่คนชนชั้นแรงงานพยายามอย่างยิ่งที่จะผลักตนเองให้หลุดออกจากสถานะต่ำสุดในพีระมิดแต่ไม่ว่ายิ่งผลักไปมากเท่าไหร่ก็มักจะโดนผลักกลับมาที่เดิมมากเท่านั้น
การวนลูปเหล่านี้คงเป็นการยืนยันว่าวาทกรรม ‘ความสำเร็จเริ่มต้นที่ตัวเรา’ คงจะมีเพียงคนที่เข้าถึงทรัพยากรเท่านั้นที่จะสามารถพูดได้ ซึ่งนี่แหละคือประเด็นความเหลื่อมล้ำอันไม่เป็นธรรมที่คนรุ่นใหม่มองเห็น
การมองเห็นเหล่านี้เกิดจากการตั้งคำถามง่ายๆ ในเรื่องพื้นฐาน อย่างเช่น ทำไมถนนหน้าบ้านถึงไม่เคยเรียบ? ทำไมรถสาธารณะและรถไฟฟ้าถึงกระจุกอยู่เพียงบริเวณเมืองหลวง? ทำไมเสาไฟตามทางถนนในเมืองหลวงถึงสว่างไม่เท่ากันในทุกที่? ทำไมฝนตกหนักเมื่อไหร่กรุงเทพถึงเกิดน้ำท่วมขังง่าย? ทำไมการศึกษาไทยจึงเป็นเรื่องที่คนทุกคนไม่สามารถเข้าถึงได้? ทำไมในทุก ๆ ปีถึงมีเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม? ทำไมเด็กนักเรียนถึงจะต้องใส่เครื่องแบบนักเรียนและตัดผมทั้งๆ ที่มันคือสิทธิในร่างกายของเรา? ทำไมการจะได้มาซึ่งรัฐสวัสดิการจะต้องเข้ารับราชการ? ทำไมคนจนที่ขยันทำงานอย่างหนักจนป่วยถึงไม่สามารถมี Work life balance ได้? ทำไมค่าจ้างขั้นต่ำถึงไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ? ทำไมคนจนทำงานหนักทั้ง 24 ชั่วโมงแต่ไม่สามารถมีเงินได้เก็บสักที? และทำไมการออกมาพูดเรื่องราวถึงความเหลื่อมล้ำพวกนี้จึงมักจะถูกคุกคามหรือตั้งข้อหาทั้งๆ ที่มันคือสิทธิในการพูดของเรา?
คำถามง่ายๆ พวกนี้ถูกตั้งขึ้นอย่างมากมายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นไปได้ว่าคนรุ่นใหม่เริ่มหันมาสนใจประเด็นความเท่าเทียมและตระหนักในสิทธิมนุษยชนเพราะพวกเขาเติบโตและได้เห็นความเหลื่อมล้ำอันไม่เป็นธรรมผ่านทางข่าวสารและแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ประโยคที่มักถูกนำมาพูดถึงอย่างมากบนโลกออนไลน์จนถึงโลกออฟไลน์อย่าง “การเมืองคือเรื่องของทุกคน” มักเป็นประโยคที่คนรุ่นใหม่มักนำมาใช้ในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมต่างๆ นั้น จริงแท้มากน้อยแค่ไหน วันนี้เราจะไปเปิดมุมมองหลากประเด็นที่คนรุ่นใหม่กำลังขับเคลื่อนกัน
ถ้าการเมืองดี สภาพแวดล้อมของเมืองก็จะดีตาม
คุณเคยเดินริมถนนแล้วรู้สึกว่าทำไมทางเท้าถึงเป็นหลุมเป็นบ่อ หรือแคบเล็กนิดเดียวจนแทบไม่มีที่เดิน หรือการเดินทางไปข้างนอกช่างใช้เวลาเนิ่นนานเพราะรถติด การนั่งรถสาธารณะก็ไม่สามารถคาดเดาเวลาได้เพราะรถมาไม่ตรงเวลา แถมจอดบ้างไม่จอดบ้าง ยิ่งอย่าพูดถึงรถขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัดที่แทบไม่มีหรือบางที่ก็ไม่มีเลย ในส่วนสภาพรถที่กี่ปีผ่านไปก็ยังคงเหมือนเดิมเพราะได้นั่งเมื่อไรราวกลับว่าได้ย้อนเวลาไปสมัยก่อนอย่างไรอย่างนั้น ทางเท้าสำหรับคนพิการที่แทบจะใช้งานจริงไม่ได้ การที่คนพิการหรือคนสูงวัยที่จะต้องเดินขึ้นสะพานลอยเพราะว่าบนถนนไม่มีทางม้าลายให้ข้าม หรือแม้กระทั่งการกลับบ้านตอนกลางคืนแล้วบนถนนสองข้างทางช่างมืดมิดเสียจนกลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุ และในฤดูฝนที่ฝนตกแทบทุกวัน ปัญหาน้ำท่วมขังก็เกิดขึ้นจนแทบจะกลายเป็นเรื่องปกติ
ตัวอย่างปัญหาที่กล่าวมาเหล่านี้ คือ เรื่องพื้นฐานที่เราพบเจอกันในทุกวันตั้งแต่ลืมตาเกิด สาเหตุนั้นส่วนนึงเป็นเพราะการวางผังเมืองที่ไม่ได้สร้างขึ้นมาจากผลประโยชน์ของประชาชนตั้งแต่แรก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยกล่าวถึงปัญหาข้อนี้ไว้ว่า
“การดำเนินการด้านการผังเมืองในประเทศไทยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นการดำเนินการด้านการผังเมืองโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองที่มุ่งเน้นเฉพาะการวางและจัดทำผังเมืองรวม (Comprehensive Plan) ตามแบบอย่างผังนครหลวง 2533 เท่านั้น อีกทั้งผังเมืองรวมที่ได้วางและจัดทำขึ้นนั้นได้มุ่งเน้นเฉพาะการวางแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อผลต่อการควบคุมการพัฒนาของภาคเอกชน ประกอบกับการวางแผนผังโครงการคมนาคมและขนส่งที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาการจราจรของเมือง ผังเมืองรวมที่ได้วางและจัดทำขึ้นนั้นจึงไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการประสานการดำเนินงานด้านสาธารณูปโภคและสาธารณูปการซึ่งเป็นบทบาทหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ
“นอกจากนี้ด้วยความไม่สมบูรณ์ครบถ้วนของต้นแบบซึ่งได้แก่ผังนครหลวง 2533 ที่แสดงเฉพาะการวางและจัดทำผังเมืองรวมซึ่งประกอบด้วยแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน แผนผังแสดงโครงการคมนาคมและขนส่ง และแผนผังแสดงโครงการกิจการสาธารณูปโภค ประกอบกับการอธิบายถึงแนวทางการใช้บังคับโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย ซึ่งในขณะนั้นได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติการผังเมืองจนกระทั่งได้มีการตราขึ้นต่อมาในปีพ.ศ.2518 ด้วยสาเหตุดังกล่าวเป็นผลให้การบังคับใช้ผังเมืองรวมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา มีความคลาดเคลื่อนจากหลักการการบังคับใช้ตามกฎหมายอย่างถูกต้องและครบถ้วน เช่น การขาดการควบคุมลำดับการพัฒนาของเมือง การขาดการควบคุมความหนาแน่นของประชากร การขาดการเชื่อมโยงกับการควบคุมการจัดสรรที่ดิน และการขาดการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินในแนวถนนโครงการ เป็นต้น”
จะเห็นได้ว่าสิ่งที่ผังเมืองมุ่งเน้นนั้นแทบจะไม่ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนในระยะยาว นอกจากนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพนันท์ ตาปนานนท์ ยังเน้นย้ำถึงปัญหาการเพิกเฉยต่อเสียงของประชาชนไว้ว่า
“พระราชบัญญัติการผังเมือง พ.ศ.2518 ได้กำหนดขั้นตอนในการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการวางและจัดทำผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะ แต่ในการดำเนินการโดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางและจัดทำผังเมืองรวมตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เป็นการดำเนินการที่ได้ละเลยการให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังจะเห็นได้จากพระราชบัญญัติการผังเมือง (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2535 ได้แก้ไขให้การประชุมเพื่อรับฟังข้อความคิดเห็นของประชาชนในการวางและจัดทำผังเมืองรวมซึ่งแต่เดิมกำหนดไว้ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง เป็นไม่น้อยกว่า 1 ครั้ง
การละเลยการให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนนอกจากจะส่งผลให้การวางและจัดทำผังเมืองรวมไม่สามารถสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนในท้องที่นั้นๆ แล้ว ยังเปิดโอกาสให้มีการแทรกแซงเพื่อแสวงประโยชน์ส่วนบุคคล และในหลายๆ กรณีได้นำมาสู่ความขัดแย้งทางสังคมที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางอีกด้วย”
การมีผังเมืองที่ไม่ได้รับฟังจากเสียงผู้ใช้งาน แน่นอนว่าผลลัพธ์ของมันนอกจากจะไม่ตอบสนองผู้ใช้งานแล้ว ยังคงเป็นการเอื้อผลประโยชน์ในคนกลุ่มหนึ่งที่มีอำนาจแสวงหาผลประโยชน์จากตรงนั้นจนกลายเป็นคำตอบการผุดขึ้นมาของถนนและสะพานหลากหลายเส้นจนแทบมึนงงราวกับเป็นการแก้ไขปัญหาทีหลัง การเจริญเติบโตของบ้านเมืองโดยที่พื้นที่บริเวณรอบไม่เอื้ออำนวยรวมทั้งสลับปนเปกันจนไม่อาจแยกออกจากกันได้ ส่งผลไปถึงการเกิดการจราจรที่ติดขัดเพราะถนนหนทางที่ไม่ได้ถูกวางแบบมาอย่างพิถีพิถัน และน้ำท่วมขังที่เกิดบ่อยครั้งเพราะการสร้างคมนาคมภายหลังโดยไม่ได้คำนึงถึงทางเดินน้ำ รวมทั้งการวางระบบระบายน้ำที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพมากพอ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องรูปแบบเมืองที่ไม่ได้เอื้อต่อคนทุกกลุ่ม อย่างเสียงของผู้พิการที่มักจะถูกกลบลงไป ทั้งๆ ที่ผู้พิการมีศักยภาพและสามารถดำรงชีพได้ด้วยตนเองเหมือนกับคนที่มีอวัยวะ 32 ประการหากผู้มีอำนาจช่วยเหลือจัดสรรเครื่องมือและทรัพยากรให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงได้ แต่ผู้มีอำนาจกลับไม่ได้มองเห็นตรงนี้ ในขณะที่คนปกติใช้ชีวิตในเมืองยากแล้วนั้น คนพิการกลับยากยิ่งกว่า ยกตัวอย่างเช่น ทางเท้าที่ไม่ได้มีโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เอื้อต่อผู้พิการในทุกรูปแบบ ทั้งไม่ได้ออกแบบมาให้ผู้พิการสามารถใช้ได้จริง หนำซ้ำยังทำให้เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งเพราะคุณภาพของทางเท้าที่ไม่ได้มาตรฐาน อย่างการปูพื้นที่มีระดับแตกต่างกัน และคุณภาพก็เปราะบางชำรุดง่ายจนมักเกิดหลุมบนทางเท้าบ่อย ๆ (ยังไม่นับรวมไฟบนทางเท้าที่แทบจะไม่มี) ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นมาหลายยุคหลายสมัยและยังคงอยู่จนกระทั่งวินาทีนี้
จากที่กล่าวไปข้างต้นจะเห็นได้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ประชาชนคนทั่วไปไม่อาจเริ่มต้นที่ตนเองได้เลย นั่นเพราะเรื่องราวเหล่านี้คือปัญหาเชิงโครงสร้างที่รัฐบาลจะต้องเป็นผู้ดำเนินการแก้ไขให้ประชาชน รัฐบาลจะต้องรับฟังเสียงของประชาชนอย่างจริงใจโดยไม่ปิดกั้น ดังนั้นวาทกรรมที่บอกว่า ‘เริ่มต้นที่ตัวเรา’ คงจะต้องปัดตกลงไป เพราะปัญหาเหล่านี้คือเครื่องยืนยันว่าถ้าการเมืองดี สภาพแวดล้อมของเมืองก็จะดีตามคือเรื่องจริง
ค่านิยมที่ควรรื้อถอน สำคัญแค่ไหน?
อีกหนึ่งประเด็นที่เรามักเห็นบ่อยครั้ง คือ เรื่องค่านิยมต่างๆ ที่คนรุ่นใหม่ออกมาเขย่าโครงสร้างของค่านิยมเหล่านี้ ยกตัวอย่างจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน เรื่องอำนาจนิยมในโรงเรียนที่ควรรื้อถอน
ในยุคที่คนรุ่นใหม่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี การเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลายก็เพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับการตระหนักรู้ในสิทธิมนุษยชน สิทธิของตนเองด้วยเช่นกัน การที่เด็กออกมาเรียกร้องในสิทธิของตนเองซึ่งบ่อยครั้งมักจะถูกมองว่าเป็นเด็กก้าวร้าวหรือเด็กที่หัวรุนแรง แต่หากเราลองคิดพิจารณาอย่างรอบคอบจะเห็นได้ว่าเนื้อหาในการเรียกร้องนั้น คือ เรื่องราวที่คนทุกคนสามารถพบเจอ หรือบางรุ่นอาจผ่านมาก่อนเสียด้วยซ้ำ อย่างระบบอำนาจนิยมในห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้คุณครูมีสิทธิที่จะใช้อำนาจของตนลงโทษเด็กนักเรียนด้วยความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ได้
“ที่ครูต้องทำแบบนี้ (ตีพวกเธอ) รู้ไหมว่าครูเองก็เจ็บเหมือนกัน แต่ครูก็ต้องทำเพราะอยากให้พวกเธอได้ดี” – หนึ่งในฉากของหนังสือเรื่อง ‘การศึกษาของกระป๋องมีฝัน โดย สะอาด’
ประสบการณ์ร่วมที่ใครหลายๆ คนมักพบเจอไม่ว่าจะกี่ยุคกี่สมัยคือการลงโทษด้วยความรุนแรง จุดประสงค์คือ เพื่อให้เด็ก ‘หลาบจำและหวาดกลัว’ เด็กจะได้ไม่กระทำสิ่งนั้นอีก ฉากข้างต้นมาจากหนังสือเรื่องการศึกษาของกระป๋องมีฝัน แม้เหตุการณ์ที่ผู้เขียน (สะอาด) นำเอามาเล่าจะผ่านไปเป็นสิบปีแล้ว แต่สิ่งเหล่านี้ยังคงดำรงอยู่และสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าในปัจจุบันกระทรวงศึกษาได้มีการออกระเบียบห้ามลงโทษเด็กนักเรียนด้วยการตี แต่การลงโทษด้วยความรุนแรงก็ยังคงพบเห็นได้บ่อยครั้ง และเมื่อนักเรียนออกมาเรียกร้องและตั้งคำถามกับการใช้ความรุนแรงรูปแบบนี้ ก็มักจะมีเสียงตอบกลับมาในทำนองที่ว่า ‘เราก็ผ่านมาก่อน คุณครูทำเพราะรักจริงๆ’ หรือ ‘ครูอยากทำให้เราหลาบจำจะได้ไม่ทำซ้ำอีก’
ถ้อยคำเหล่านี้ ฟังดูเผินๆ อาจจะรู้สึกถึงความรักความห่วงใยที่ครูมีต่อเด็กจึงอยากสอนสั่ง แต่หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้น เราจะพบได้ว่าการกระทำนี้ คือ ความรุนแรงรูปแบบหนึ่ง และหากเราเลือกที่จะสนับสนุนความรุนแรงและพยายามผลิตซ้ำโดยการทำให้มันเป็นเรื่องที่สวยงาม (Romanticize) ทั้งที่ความจริงแล้วมีคนที่กำลังเจ็บปวดกับการกระทำเหล่านั้นอยู่ เราอาจจะต้องมาลองทบทวนกันว่า เราอยากให้ลูกหลานของเราอยู่ในสังคมแบบไหน สังคมที่ทำให้การใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องปกติหรือสังคมที่ปราศจากความรุนแรง
จริงๆ ในกรณีของการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรง American Academy of Pediatrics สมาคมวิชาชีพกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกาเคยให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ใน NBC News ว่าการลงโทษด้วยความรุนแรงไม่ได้สร้างความตระหนักรู้ให้เด็กนอกจากความหวาดกลัวและเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต
“พ่อแม่ ผู้ดูแล และผู้ใหญ่ที่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กและวัยรุ่นไม่ควรใช้การลงโทษทางร่างกาย ไม่ว่าจะด้วยความโกรธหรือเป็นการลงโทษในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม และรวมถึงการลงโทษอย่างการละเมิดทางวาจา ที่ทำให้เด็กเกิดความอับอายหรือเกิดความเสื่อมเสียต่อตนเอง”
นอกจากนี้ Verywell Family เว็บไซต์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพต่างๆ ซึ่งผ่านการตรวจสอบจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังเน้นย้ำถึงปัญหานี้ว่า “การลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงอาจทำให้เด็กสับสนในพฤติกรรมของตนเอง ทำให้เด็กเข้าใจว่าการกระทำรูปแบบนี้คือวิธีการที่ถูกต้อง และส่งผลถึงสภาพจิตใจไปตลอดชีวิต รวมถึงทำให้เด็กรู้สึกขาดความมั่นใจในตนเอง ขาดความนับถือตนเอง ขาดความไว้วางใจ และทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต เด็กจะไม่ได้รับแรงจูงใจให้ปรับปรุงพฤติกรรมและเริ่มรู้สึกว่าตนเองไม่สามารถทำได้ดีกว่านี้
“การตีเด็กเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการบอกพวกเขาว่าพวกเขาไม่สามารถเรียนรู้ในทางที่ดีขึ้นได้ และไม่สมควรได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพ การใช้วิธีการลงโทษให้เด็กเข้าใจในการกระทำของตนเองแบบอ่อนโยนจะได้ผลมากกว่าในขณะเดียวกันก็สร้างความมั่นใจในตนเองให้เด็กด้วย”
จากการรับรองทางการแพทย์ในหลายๆ ที่จะเห็นได้ว่าการใช้ ‘ความรุนแรงในการลงโทษ’ ไม่ได้ส่งผลดีต่อตัวเด็กในแง่ของการสร้างความเข้าใจในการกระทำของตนเอง หรือสร้างการเรียนรู้ที่แท้จริงเลย ในทางกลับกัน มันกลับส่งผลเสียต่อทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเด็กอีกด้วย
ค่านิยมการลงโทษรูปแบบนี้เป็นเรื่องที่เด็กทุกคนในระบบการศึกษาพบเจอในทุกยุคทุกสมัย เราไม่สามารถบอกได้ว่าเพียงเพราะเราอดทนมาก่อน คนรุ่นหลังจึงต้องอดทนตาม เพราะหากสิ่งเหล่านี้ได้นำมาวิเคราะห์และพิจารณาอย่างถี่ถ้วนแล้วว่าเป็นสิ่งที่ไม่ส่งผลให้เกิดประโยชน์ใดๆ จะดีกว่าไหมถ้าค่านิยมเหล่านี้ได้รับการปรับเปลี่ยนและไม่ส่งต่อ
นอกจากการลงโทษด้วยความรุนแรงแล้ว ประเด็นสิทธิในร่างกายที่กลุ่มเด็กนักเรียนกำลังออกมาเรียกร้องก็เช่นกัน ทั้งเรื่องทรงผม, การแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนที่ไม่ได้เสริมสร้างทักษะการเรียนรู้หรือความปลอดภัยให้แก่ผู้ใช้, หรือแม้แต่การแสดงออกของเด็กที่จะต้องอยู่ในมาตราฐานเด็กดีที่ระบบการศึกษาตั้งไว้ การตั้งคำถามของเด็กนักเรียนได้สะท้อนภาพการท้าทายอำนาจนิยมอย่างเห็นได้ชัด เพราะยิ่งเด็กตั้งคำถามมากขึ้นเท่าไร การแปะป้ายว่าเด็กก้าวร้าวและหัวรุนแรงก็เกิดขึ้นตามมามากเท่านั้น
ค่านิยมการเป็นเด็กดีที่คอยกดทับให้เด็กจะต้องอยู่ใน ‘มาตรฐานเด็กดี’ ตามที่ระบบการศึกษาคอยพร่ำบอก จริงๆ แล้วได้ระบุคำว่าเด็กดีไว้อย่างไร
หากคำว่า ‘เด็กดี’ คือ ‘เด็กที่เชื่อฟังโดยที่ไม่ตั้งคำถาม’ คงไม่แปลกนักที่เหล่าเด็กรุ่นใหม่ที่กำลังออกมาเรียกร้องในสิทธิและอนาคตของเขาจะโดนปิดป้ายกลายเป็น ‘เด็กไม่ดีในระบบการศึกษา’
ประเด็นเรื่องเพศที่ฝังรากลึกในทุกอณูของสังคม
ประเด็นเรื่องความไม่เท่าเทียมทางเพศ คือ อีกหนึ่งประเด็นที่คนรุ่นใหม่ตื่นตัวและพยายามตระหนักรู้กันอย่างมากในทุกๆ แพลตฟอร์ม ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ระบบเพศทวิลักษณ์ (ระบบที่เชื่อว่าเพศแท้จริงมีเพียง 2 เพศ ได้แก่ เพศชายและเพศหญิง) ได้ฝังรากลึกไปทุกอณูตั้งแต่เราลืมตาเกิด ประเด็นเรื่องเพศจึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่คนรุ่นใหม่เล็งเห็นถึงความสำคัญและพยายามที่จะทลายระบบปิตาธิปไตย (Patriarchy) หรือระบบสังคมที่เอื้อหนุนเพศชายให้มีสิทธิและมีอํานาจเหนือกว่าเพศอื่นๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง วัฒนธรรม ศาสนา เป็นระบบที่แฝงและสอดแทรกค่านิยมความเป็นชายและความเป็นหญิงที่ถูกต้องเอาไว้เสมือนว่าคุณค่าเหล่านั้นคือเรื่องจริง (Fact) การดำรงอยู่ของสังคมปิตาธิปไตยได้กดขี่คนทุกเพศ ไม่เว้นแม้กระทั่งเพศชายเอง
การค่อยๆ ทำความเข้าใจในมิติการกดทับอันซับซ้อนในสังคมปิตาธิปไตยนั้นได้เผยให้เห็นถึงโครงสร้างอันบิดเบี้ยวของสังคม ยกตัวอย่างประเด็น ‘ผ้าอนามัยควรเป็นรัฐสวัสดิการ’ หนึ่งในประเด็นร้อนแรงที่ชวนให้ตั้งคำถามว่า ทำไมผ้าอนามัยที่เป็นของใช้จำเป็นที่ ‘ไม่อาจเลือกได้’ ของผู้มีมดลูกหรือผู้มีประจำเดือนจึงไม่สามารถเป็นรัฐสวัสดิการในขณะที่ถุงยางอนามัย ‘ตัวเลือก’ ในการคุมกำเนิดถึงสามารถแจกฟรีได้ หรือประเด็น ‘การทำแท้งปลอดภัย’ ที่ต่อสู้กันมาอย่างยาวนาน แต่เพราะจารีตประเพณีอันปิดกั้นได้สร้างมายาคติในด้านลบให้แก่การทำแท้งในสังคมจนทำให้ผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมไม่มีทางเลือก จำเป็นต้องเข้ารับการทำแท้งที่ไม่ปลอดภัย หรือบ้างก็ไม่กล้าที่จะทำแท้งเพราะอคติที่ระบบสังคมสร้าง ในขณะที่การทำแท้งอย่างปลอดภัยฉบับที่ผู้มีอำนาจให้ผ่านกลับไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อผู้ตั้งครรภ์ไม่พร้อมจริงๆ
นอกจากนั้นยังมีประเด็นอื่น ๆ อย่างประเด็น ความรุนแรงทางเพศ (Sexual Harassment), ความยินยอม (Consent), My Body My Choice, วัฒนธรรมการข่มขืน (Rape Culture), ค่าจ้างที่ไม่เท่าเทียมอันเนื่องจากเพศ (Gender Pay Gap), สมรสเท่าเทียม, Sex Worker is Work, และอีกหลายประเด็นที่เกี่ยวข้องกันในหลากมิติที่เราไม่ควรมองข้าม เพราะเรื่องราวเหล่านี้คือชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนจริงๆ
การมีบ้านเมืองที่มองเห็นอนาคต คือ ปลายทางที่คนรุ่นใหม่ฝันถึง
จะเห็นได้ว่าทุกประเด็นที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ต้นสายปลายเหตุของปัญหามักจะมาจากโครงสร้างในสังคมที่เอื้อให้คนไม่กี่กลุ่มคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ในขณะที่คนผู้เป็นฐานกลับโดนกดลงจนมิดในทุกๆ วินาที กระแสการเรียกร้องถึงระบบการเมืองที่ดีจึงเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญมาก เพราะหลายคนมองว่าหากเราอยากจะสร้างอนาคตที่ดีในประเทศนี้จริงๆ สิ่งสำคัญคือต้องลงไปแก้ไขที่ระบบโครงสร้าง
ลองนึกภาพว่าหากเรามีผู้นำที่รับฟังถึงปัญหาของประชาชน เข้าใจและมองเห็นถึงความทุกข์ยากของแต่ละชนชั้น ทุกเพศ ทุกวัย ให้ความสำคัญกับชนชั้นแรงงานและคนชายขอบพอๆ กับการโอบอุ้มนายทุน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น และพยายามจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้ทั่วถึงและคุ้มค่ามากที่สุด เราคงไม่จำเป็นต้องออกมาเรียกร้องเพราะเราคงสามารถมองเห็นภาพตนเองมีอนาคตที่ดีอยู่ในประเทศนี้ได้
มนุษย์ไม่ได้เกิดมาแล้วอยากขับเคลื่อนสังคม แต่สังคมอันไม่เป็นธรรมต่างหากที่ผลักดันให้พวกเขาต้องออกมาขับเคลื่อน
สุดท้ายแล้ว การตัดสินว่า ‘คนรุ่นใหม่ คือ พวกหัวรุนแรง’ จริงหรือไม่นั้น ก่อนอื่นเราคงต้องมานิยมคำว่าหัวรุนแรงกันก่อน หากแต่คำว่าหัวรุนแรงคือการที่มีใครสักคนลุกขึ้นออกมาเรียกร้องโดยไม่ได้ยินยอมตามขนบธรรมเนียมที่ชำแหละออกมาว่าเป็นการสานต่อระบบอำนาจความไม่เท่าเทียมที่เอื้อและผลักให้คนกลุ่มนึงอยู่สูงจนสามารถกอบโกยผลประโยชน์ในขณะที่เท้าของพวกเขาเองกำลังเหยียบย่ำคนที่คอยเป็นฐานมั่นอยู่นั่น การลุกออกมาเรียกร้องคงไม่ได้แปลว่าพวกคนรุ่นใหม่ก้าวร้าวหรือหัวรุนแรง แต่เป็นเพราะพวกเขายึดมั่นในสิทธิของตนเอง เคารพในเสรีภาพในการแสดงออกและมองว่าเรื่องราวนั้นสามารถตั้งคำถามได้ต่างหาก
การหันมาตระหนักและทำความเข้าใจในประเด็นทางสังคม รวมทั้งสร้างความเห็นอกเห็นใจต่อกันคงไม่ยากเกินไปนัก เพราะอย่าลืมว่าในขณะที่เรากำลังนั่งอ่านบทความนี้ ยังมีคนอีกจำนวนมากที่กำลังโดนเหยียบย่ำและไม่แม้กระทั่งสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้จริงๆ ประเด็นทางสังคมที่คนรุ่นใหม่หยิบยกมาขับเคลื่อนถ้ามองในภาพรวมแล้วคงจะกล่าวได้ว่า…
สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการไม่ได้มากไปกว่าการมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีโลกที่สามารถโอบอุ้มคนทุกคนไปพร้อมๆ กันได้ โลกที่ให้สิทธิคนทุกคนอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม โลกที่เปิดกว้างและรองรับความหลากหลายได้อย่างไม่มีใครตกขบวน โลกที่คนกล้าพูดว่านี่แหละคืออนาคตของพวกเรา
อ้างอิง
การผังเมืองของประเทศไทย : ปัญหาและการแก้ไข
Is Spanking Children an Effective Consequence?
Here’s what spanking does to kids. None of it is good, doctors say.