- สังคมมักตีตราเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษา (Dropout) ว่าเป็นเด็กไม่ดี เด็กเกเร ไม่มีอนาคต ซึ่งในความเป็นจริงมีหลายเหตุผลที่ทำให้เด็กคนหนึ่งต้องออกจากโรงเรียน ส่วนเหตุผลสำคัญที่ทำให้เขาไม่สามารถกลับเข้าสู่ระบบได้ คือประตูแห่งโอกาสที่ปิดตายด้วยกฎระเบียบและอคติของผู้ใหญ่
- ‘กัน’ บัณฑิตา มากบำรุง เป็นตัวอย่างของเด็ก Dropout ที่เต็มไปด้วยศักยภาพและความฝัน วันนี้เขาพิสูจน์ให้เห็นว่าหากการศึกษามีความยืดหยุ่นพอ ทุกคนสามารถกลับสู่เส้นทางการเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้
- สิ่งที่กันฝากไปถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมือง คืออยากให้เปิดใจรับฟังเสียงจากเด็กรุ่นใหม่ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเปราะบาง “อยากให้ผู้ใหญ่ลองเป็นตะแกรง ไปช่วยโอบอุ้มเขาไว้ เพื่อไม่ให้เขาตกลงไปสู่ก้นเหว”
เด็กทุกคนล้วนฝันถึงอนาคตในแบบของตัวเอง แต่ถ้าถูกปิดกั้นหรือขาดโอกาสก็ยากที่จะนำพาชีวิตไปในเส้นทางที่เลือก เช่นเดียวกับ ‘กัน’ บัณฑิตา มากบำรุง วัยรุ่นที่มีทั้งศักยภาพและความฝัน แต่ชีวิตพลิกผันต้องหลุดออกจากระบบการศึกษาด้วยปัญหาที่ตนเองไม่ได้ก่อ ขณะกำลังศึกษาอยู่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ทว่าด้วยการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่นและหัวใจที่เปิดกว้างของผู้ใหญ่หลายคน ทำให้ได้รับโอกาสกลับเข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้อีกครั้ง
‘กัน’ ฉายแววด้านการแต่งเพลงและเริ่มผลิตผลงานออกมาตั้งแต่เด็ก กระทั่งมัธยมปีที่ 2 มีค่ายเพลงติดต่อเซ็นสัญญาทำงานร่วมกันประมาณ 5 ปี ทำให้ช่วงเวลานั้นต้องเรียนด้วยทำงานไปด้วย และยังพ่วงบทบาทนักดนตรีไทยของโรงเรียน นอกจากนี้ยังรับหน้าที่สารวัตรนักเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมปีที่ 3 และได้เป็นประธานสารวัตรนักเรียนตอนอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 5 แต่ด้วยเหตุการณ์ไม่คาดคิดบางอย่าง ทำให้กันตัดสินใจรับผิดชอบด้วยการลาออกจากโรงเรียน
“ตอนที่ออกมายังมีงานทำเลี้ยงชีวิตตัวเองและครอบครัวได้ เพราะยังอยู่ในสัญญากับค่ายเพลง ตอนนั้นคิดว่าถ้าหมดสัญญาจะทำงานเป็นฟรีแลนซ์ รับงานจากทุกค่ายเพลงและทุกคนที่มาจ้าง”
แม้จะพอมีหนทางหารายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องหล่อเลี้ยงครอบครัว แต่คำว่า ‘วุฒิการศึกษา’ ยังคงติดค้างในใจ และเริ่มเห็นว่าอาจสร้างปัญหาในอนาคต
“ผมนั่งตกตะกอนกับตัวเอง บางครั้งนั่งทำงานก็มีคิดแว๊บขึ้นมาในหัวถึงคำว่าวุฒิการศึกษา คนทั่วไปที่หาเช้ากินค่ำ เขาอาจจะเห็นว่าก็แค่กระดาษใบเดียว ไม่ได้สำคัญอะไร แต่สำหรับพวกผมที่ยังมีความฝันอยู่ ยังฝันได้อยู่ มันคือใบเบิกทางเลยนะ ยิ่งในประเทศเราที่ให้ความสำคัญกับงานด้านวิชาการ ไม่ได้เปิดกว้างสำหรับอาชีพสายศิลป์ หรือให้คุณค่ากับงานด้านศิลปะมากเทียบเท่ากับโซนยุโรป อเมริกา การมีวุฒิการศึกษาจึงเป็นความมั่นคงหรือความอุ่นใจ”
ด้วยค่านิยมและกระแสสังคมที่ยกย่องเฉพาะบางอาชีพที่สร้างรายได้หรือได้รับการนับหน้าถือตา กันเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า เด็กธรรมดาที่ไม่ได้เก่งวิชาการแบบเขายังจะมีพื้นที่เหลือให้มีฝันบ้างหรือไม่
“ผมเป็นเด็กธรรมดาที่ไม่ได้มีความฝันว่าต้องเป็นแพทย์ วิศวกร บางคนอาจจะยึดความฝันของพ่อแม่ ผมมองว่าเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้เด็กกดดันด้วย พ่อแม่เขาไม่มีโอกาสได้เรียน พ่อแม่เขาอาจจะยัดความคิดอะไรบางอย่างใส่ตัวเขาว่าเขาต้องเรียนทางนี้นะ ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น ซึ่งก็เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ทำให้เด็กไม่กล้าฝัน ไม่กล้ามีความคิด หรือว่าความฝันของตัวเองที่ชัดเจน แต่ผมเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความฝัน แค่เขาจะแสดงออกมาให้เราเห็นมากน้อยแค่ไหน”
สำหรับกัน-บัณฑิตาเอง แม้จะมีความสามารถด้านการแต่งเพลง แต่อีกด้านเขายังมีความสนใจเรื่อง ‘การเมืองการปกครอง’ อย่างมาก ถึงขนาดเปิดฟังพอดแคสต์ประชุมสภาได้ทั้งวัน
“ฟังแทนเพลงเลย เรียกว่าเป็นงานอดิเรกก็ได้ คนอื่นบอกว่าการเมืองเครียด แต่ผมกลับรู้สึกว่าสนุก บอกตัวเองว่าไม่เป็น ส.ส. แน่ๆ แต่ยังมีอีกหลายอาชีพที่เราสามารถเป็นรากฐานเพื่อให้ประเทศดีขึ้นไปอีก ยิ่งตอนนี้ผมได้เรียนสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ยิ่งทำให้สนใจการเมืองการปกครองของทุกประเทศเลย”
กลับสู่เส้นทางการเรียนรู้ ด้วยรูปแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่น
แม้จะค้นเจอความสนใจของตัวเอง แต่กับเส้นทางใหม่นี้ ‘วุฒิการศึกษา’ คือเงื่อนไขสำคัญที่จะเป็นตัวตัดสินว่าจะได้ไปต่อหรือไม่ ซึ่งกันบอกว่าตอนนั้นไม่คิดจะกลับเข้าสู่การศึกษาในระบบ โชคดีที่ได้เจอกับผู้ใหญ่ใจดีชี้เส้นทางแห่งโอกาสให้เขากล้าที่จะฝันอีกครั้ง
“ปู่แนะนำมาว่ามีโรงเรียน 4 ตารางวา หรือ ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม ในจังหวัดอุตรดิตถ์ เปิดรับเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา รูปแบบการเรียนก็ไม่ซ้ำจำเจ ไม่ต้องนั่งอยู่ในห้องเรียน นั่งอยู่หน้ากระดานดำ เป็นการเรียนที่เปิดกว้างมาก
และแม้พื้นที่ในการทำงานอาจไม่ได้กว้าง แต่พื้นที่การเรียนรู้กว้างมาก และเขาเปิดโอกาสให้กับเด็กทุกคน เขาไม่สนเรื่องวัย เรื่องเพศสภาพ เขาไม่ได้มาถามเราอะไรแบบนั้น เขาเห็นว่าเราเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง”
กันบอกว่าเขาโตมากับประโยคที่ผู้ใหญ่หลายๆ คนมักพูดว่า “เด็กคืออนาคตของชาติ” แต่ในความเป็นจริงเมื่อมองไปที่ระบบการศึกษาซึ่งเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ กลับไม่เห็นว่ามีโครงสร้างอะไรที่เด่นชัด
“ผมรู้สึกว่ามันอาจจะศักดิ์สิทธิ์ในคำพูด แต่ไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ในการกระทำ นโยบายอะไรต่างๆ ไม่ได้นำไปสู่สิ่งนั้นจริงๆ ท้ายที่สุดเป็นเพียงวาทกรรม”
หลังจากสมัครเข้าเรียนที่ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม (โรงเรียน 4 ตารางวา) และได้รู้จักกับ ‘ครูติ๊ก’ ชัชวาลย์ บุตรทอง กันพบว่าการเรียนรู้ที่นี่ไม่ได้มีแค่ ‘วิชาความรู้’ แต่ยังเติมเต็มด้วย ‘วิชาชีวิต’
“พอได้เรียนและนั่งคุยกับครูติ๊กในหลายๆ อย่าง เราไม่ได้แค่เรื่องเรียน แต่เป็นเรื่องของการใช้ชีวิตด้วย ผมว่าครูติ๊กมีวิสัยทัศน์ที่ทำให้เด็กอย่างพวกผมรู้สึกว่า เอ้ย! ผู้ใหญ่เขามีวิสัยทัศน์ที่รองรับเด็กรุ่นใหม่ขนาดนี้เลยหรอ”
แนวทางการจัดการเรียนรู้ของศูนย์การเรียนแห่งนี้เปิดกว้างและยืดหยุ่นตามโจทย์ชีวิตของเด็กแต่ละคน โดยออกแบบให้สามารถนำประสบการณ์จากการทำงานและการทำกิจกรรมมาเทียบโอนแลกหน่วยกิตได้
“ผมเอาวุฒิ ม.3 ไปสมัคร แล้วเรียนได้วุฒิ ม.6 ภายใน 8 เดือน จากนั้นก็เตรียมเข้าสู่มหาวิทยาลัย ตอนเรียนที่ศูนย์ฯ ครูติ๊กได้เชิญผู้ใหญ่หลายๆ ท่านมาพูดคุย ทำให้เราได้เห็นมุมมองต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งยังมีอาจารย์มหาลัยราชภัฏฯ ที่พานักศึกษามาดูงาน ซึ่งอาจารย์มาถามว่าสนใจเรียนต่อมหาวิทยาลัยไหม ถ้าอยากเรียน สามารถเรียนก่อนได้โดยให้เข้าระบบนักศึกษา LL เป็นการเรียนร่วมเพื่อเก็บหน่วยกิตไปก่อน พอได้วุฒิ ม. 6 มาแล้ว ก็จะใช้เทียบโอนได้ ทำให้เรียนต่อปี 2 กับเพื่อนได้ ซึ่งอาจารย์ถามว่าสนใจด้านไหน ผมก็บอกว่าสนใจด้านการเมืองการปกครอง ก็เลยมาถึงปัจจุบันนี้ที่ผมได้ศึกษาสาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์”
เด็กทุกคนมีศักยภาพและความฝัน ขอเพียงโอกาสไม่ถูกปิดกั้น
ณ วันที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา แสงสว่างแห่งชีวิตก็ดูเหมือนจะเริ่มริบหรี่ลง แต่ด้วยรูปแบบการศึกษาที่ยืดหยุ่นทำให้ กัน-บัณฑิตา กลับสู่เส้นทางแห่งโอกาสอีกครั้งและกล้าที่จะฝันได้อย่างไร้ข้อจำกัด
กันเล่าว่า การศึกษาที่ยืดหยุ่นเป็นการศึกษาที่ไม่มีพรมแดน เป็นการศึกษาที่ไม่ได้มานั่งถามว่าอายุเท่าไหร่ เพราะไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็เรียนได้ ไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการเรียน มีแต่คำว่าเราจะไปถึงไหน ใจเราไหวแค่ไหนมากกว่า
“อย่างตอนนี้ผมเรียนภาคพิเศษเสาร์-อาทิตย์ มีผู้ใหญ่หลากหลายวัยมาเรียน บางคนก็รุ่นพ่อแม่ผมเลย เวลาเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ เขาอาจจะตามไม่ทัน เรามีความรู้มากกว่าก็แบ่งปันกันได้ ผมรู้สึกว่ามันคือเสน่ห์ของการเรียนที่ยืดหยุ่น มันเกิดความผูกพันคนละรูปแบบกับในโรงเรียน เป็นการเรียนรู้ที่คนต่างรุ่นต่างวัยได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน”
“การศึกษาที่ยืดหยุ่นทำให้ผมมีโอกาสได้กลับเข้ามาเรียนอีกครั้ง ซึ่งทำให้เราต่อยอดความฝันเพิ่มเติมไปหลากหลายมาก อาจด้วยอายุ ทำให้เรายังมีเวลาได้คิดทบทวนตัวเอง และอนาคตหากเจอสิ่งที่สนใจ ก็เชื่อได้ว่ารอบตัวเรายังมีผู้ใหญ่ที่คอยสนับสนุน”
แม้ในชีวิตจะมีจุดพลิกผันที่ทำให้กันต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน แต่วันนี้เขาสามารถลุกขึ้นมาสานฝันตัวเองอีกครั้งและยังเป็นกระบอกเสียงให้กับเด็กคนอื่น รวมถึงสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนที่อาจกำลังไม่เห็นอนาคตของตนเอง
“การที่ผมมาอยู่ตรงนี้เหมือนเป็นกระบอกเสียงแทนเด็กๆ สิ่งที่อยากฝากไปถึงผู้ใหญ่ในบ้านเมือง คืออยากให้เปิดใจรับฟังเสียงจากเด็กรุ่นใหม่ที่เขามีความคิดใหม่ๆ
ประโยคบางประโยคหรือคำบางคำที่เด็กพูดออกมาด้วยความไร้เดียงสา อาจจะจุดประกายความคิดของเราบางอย่างได้ เพราะบางทีเราอาจลืมคิดในบางเรื่องหรือบางมุมไป แต่เด็กๆ เขาเป็นคนจุดไฟให้เรา”
“ที่สำคัญผมอยากให้ตามหาเด็กที่อยู่ในพื้นที่สีแดง เด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงทั้งเรื่องยาเสพติด หรือการใช้ความรุนแรง ผมเชื่อว่ายังมีเด็กขาดโอกาสอีกเยอะ อยากให้ขยายการตามหาและปูเส้นทางที่เหมาะให้กับเขา คำว่า ‘เหมาะ’ ในที่นี้คือ เหมาะด้วยสภาพสังคม เหมาะด้วยความรู้ที่เขาต้องการ หรือว่าเหมาะด้วยบริบทชีวิตเขา ผมไม่อยากให้พวกเขารู้สึกว่าเป็นเด็กที่ถูกลืม แค่อยากให้ผู้ใหญ่ลองเป็นตะแกรง ไปช่วยโอบอุ้มเขาไว้ เพื่อไม่ให้เขาตกลงไปสู่ก้นเหว”
นอกจากเด็กกลุ่มเสี่ยงที่รอคอยการหยิบยื่นโอกาสแล้ว ก็ยังมีเด็กอีกมากที่ไม่กล้าแม้จะมีฝัน กันฝากส่งกำลังใจถึงเด็กๆ ทุกคนว่า ให้กล้าลุกขึ้นมาสร้างฝันและเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ให้ได้
“เด็กบางคนไม่รู้ว่าความฝันคืออะไร เขาอาจจะไม่กล้าฝันเลย เพราะฐานะของครอบครัว หรืออะไรหลายๆ อย่าง แต่เชื่อว่าเมื่อถึงเวลาทุกคนจะมีความฝันของตัวเอง ชีวิตคนเราย่อมมีอุปสรรค ‘แพ้เป็นบันได ชนะเป็นสะพาน’ ถ้าพวกหนูแพ้ก็แค่ปีนบันได ถ้าพวกหนูชนะก็จะได้เดินสะพาน และคนรอบตัวเราคือคนที่สร้างสะพานกับบันไดให้ เขาคือคนที่จะสร้างปูนให้เดินต่อไปได้ หรือถ้าคนอื่นเขาสร้างให้เราไม่ได้ เชื่อเถอะว่าเราสร้างจากมือตัวเองได้
สุดท้ายอยากบอกว่า ถ้าวันไหนที่ทำสำเร็จแล้ว อย่าลืมที่จะส่งต่อโอกาส เพื่อร่วมกันสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่มากขึ้น”
แม้วันนี้เส้นทางที่กัน-บัณฑิตาเลือกเดินอาจยังไม่ถึงฝั่งฝัน หรือความสำเร็จที่วาดหวังไว้ แต่ทุก ‘โอกาส’ ที่ได้รับคือพลังที่ทำให้เขาก้าวไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็ง
“คำว่า โอกาส เด็กไทยอาจจะรู้สึกว่ามันน้อยเหลือเกิน สำหรับการแข่งขันที่สูงขึ้นทุกวัน แต่ถ้าเราจับต้องมันได้ก็เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก และความจริงแล้วเราเองสามารถสร้างโอกาสให้ตัวเองได้ ไม่จำเป็นต้องให้คนอื่นมาป้อนหรือต้องไปขอจากเขา เราสามารถวิ่งเข้าหาโอกาสด้วยตัวเอง ด้วยความคิดของเราเอง
ทั้งนี้อยากขอบคุณทุกคนที่จัดทำโครงการแบบนี้ขึ้นมาช่วยส่งเสริมโอกาส ไม่ใช่แค่ผม แต่สำหรับเด็กอีกหลายคน และท้ายที่สุดอยากขอบคุณตัวเองที่กล้าได้กล้าเสียอะไรหลายๆ อย่าง จนเติบโตมาถึงจุดนี้ได้ ถ้าเป็นไปได้ในอนาคตก็อยากสานฝันครูติ๊กในการขยายโรงเรียน 4 ตารางวา ให้กว้างขึ้น เพื่อส่งต่อโอกาสให้ไปได้ไกลกว่านี้”
เพราะ ‘โอกาส’ สำหรับบางคนอาจอยู่ใกล้แค่เอื้อม บางคนอยู่ไกลสุดปลายมือต้องขวนขวาย แต่ท้ายที่สุดแล้วการส่งต่อโอกาสดีๆ จะช่วยต่อบันไดสร้างสะพานให้เด็กๆ ได้ก้าวเดินไปในเส้นทางที่เขาสามารถเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพเพื่อเติบโตอย่างมีคุณภาพได้