- “โรงพยาบาลในฝันไม่ได้สร้างได้ด้วยการสร้างอาคาร ออกแบบพื้นที่ หรือเปลี่ยนหินเปลี่ยนปูน แต่จะทำยังไงให้แม่บ้านที่มีความฝันว่าอยากปลูกกล้วยไม้ เห็นความฝันและรู้ว่าเขาตกแต่งโรงพยาบาลได้มากมาย ให้เขาคุยกันได้ว่า ‘ฉันอยากให้โรงพยาบาลเป็นยังไง’ การทำแบบนี้ หมายความว่า ‘เรา’ ไม่ใช่เจ้าของความฝัน แต่มันคือความฝันของทุกคน”
- CROSSs สถาปนิกชุมชนที่ไม่ได้ทำแค่งานออกแบบเชิงสถาปัตย์ แต่ทำงานออกแบบที่มากไปกว่าสถาปัตย์เชิงกายภาพ เป็นทั้งกระบวนกร ทำสื่อสร้างสรรค์ และยังทำโปรเจ็คท์ ‘ต่างๆ’ ร่วมกับองค์กรทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ผ่านเครื่องมือที่หลากหลายอันทำให้พวกเขามั่นใจว่า ทุกเสียง จะถูกรับฟังจริงๆ
- ออกแบบโรงพยาบาลชุมชน, ปรับปรุงชุมชนริมคลองลาดพร้าว เพื่อต่อรองสิทธิอยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย ทำงานสร้างสรรค์กับชุมชนในชื่อ Co-Creation คือตัวอย่างที่นักออกแบบกลุ่มนี้เข้าไปทำงาน
ตอนโทรศัพท์ขอข้อมูลกับทีม CROSSs ครั้งแรก ปลายสายให้ข้อมูลว่า จริงๆ CROSSs ไม่ได้ทำงานในนามสถาปนิกชุมชนอย่างเดียว แต่ทำงานออกแบบที่มากไปกว่าสถาปัตย์เชิงกายภาพ เป็นทั้งกระบวนกร ทำสื่อสร้างสรรค์ และยังทำโปรเจ็คท์ ‘ต่างๆ’ ร่วมกับองค์กรทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม
โอเค – บางครั้งเราอาจต้องลบภาพจำต่ออาชีพ ‘เดิม’ ไปก่อน ในโลกใหม่ ใครเขาทำงานแค่แขนงเดียว!
สรุปรวบตึงในช่วงเกริ่นนำ CROSSs คือสถาปนิกชุมชนที่ยึดการทำงานแบบมีส่วนร่วม หรือที่คนในแวดวงสร้างสรรค์รู้จักกันในนาม ‘Co-Creation’ หรือ ‘การร่วมสร้าง’ ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าภาพหลัก แต่ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน รูปร่างหน้าตารูปแบบของงานจะเป็นอย่างไรนั้นแล้วแต่จุดประสงค์ แต่ทุกคนที่เข้ามาร่วมโปรเจ็คท์ ต่างทำงานในภาคส่วนของตัวเอง
บางงาน-CROSSs เข้าไปเป็นกระบวนกร สร้างพื้นที่ให้ทุกคนมานั่งล้อมวงแล้วชวนถกเถียง เพื่อนำความเห็นทั้งหมดมาออกแบบสถาปัตย์เชิงกายภาพ อันเป็นความถนัดในฐานะที่คนส่วนใหญ่ในกลุ่มร่ำเรียนมาโดยตรง บางงาน-CROSSs ทำสื่อสร้างสรรค์ เช่น วิดีทัศน์ นิทรรศการ อีเวนท์ เป็นตัวกลางดึงกลุ่มคนที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันออกไอเดียก่อนลุยทำงานจริง – ว่ากันง่ายๆ พวกเขาชอบที่จะ ‘ครอส’ คนทำงานคนอื่นที่คิดว่าน่าจะเกี่ยวข้อง มาจับมือร่วมกันทำงาน
เพื่อให้เห็นภาพวิธีทำงานแบบมีส่วนร่วม สมาชิก CROSSs (ซึ่งจริงๆ แล้วมีอยู่ 8 ชีวิต) ร่วมพูดคุยกับ The Potential 3 คนคือ เมฆ สายะเสวี, ชาติ-สิรภพ ขำอาจ และ เมืองไทย-วิธี วิสุทธิ์อัมพร ท่ามกลางงานหลายแขนง พวกเขาขอยกตัวอย่างงานที่ทำบ่อย-โครงการออกแบบโรงพยาบาล, โครงการสุดท้าทาย-ออกแบบปรับปรุงชุมชนริมคลองลาดพร้าว เพื่อต่อรองสิทธิอยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย และ โครงการที่เป็นจุดเริ่มต้นของ CROSSs ปัจจุบัน- โปรเจ็คท์ Co-Creation ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์
เพื่อให้เห็นภาพว่า แค่สถาปนิกชุมชนอย่างเดียว ไม่พอ
โรงพยาบาลที่เกาะยาวใหญ่: จุดเริ่มต้น ‘การ’ CROSSs ก่อนจะพัฒนาเป็น ‘ทีม’ CROSSs ในปัจจุบัน
เมฆอธิบายว่า โครงการออกแบบโรงพยาบาลที่เกาะยาวใหญ่ ในช่วงปี 2008 (ยัง) ไม่ใช่งานของทีม CROSSs ในปัจจุบัน แต่เป็นจุดเริ่มต้นของไอเดียการทำงานแบบมีส่วนร่วมของเขาในฐานะนักศึกษาสถาปัตย์ เป็นไอเดียการทำงานแบบ ‘ครอส’ กันของทีมงานที่ไม่รู้จักกันมาก่อน ทั้งไม่ใช่คนในสายงานเดียวกันด้วยซ้ำ
“ความตั้งใจตั้งต้นของ คุณหมอนิล-มารุต เหล็กเพชร เจ้าของโปรเจ็คท์ที่อยากให้ทุกคนบนเกาะช่วยกันออกแบบโรงพยาบาล ซึ่งคนที่อยู่ร่วมในโปรเจ็คท์นั้น อย่างน้อยคือคุณหมอ พี่ชวณัฏฐ์ ล้วนเส้ง สถาปนิกชุมชน ซึ่งพี่คนนี้เป็นเหมือนคนต้นแบบในการทำงานออกแบบอย่างมีส่วนร่วมกับชาวบ้าน แล้วก็มีเรา ซึ่งตอนนั้นยังเรียนมหา’ลัยอยู่ กับเพื่อนๆ อีก 6-7 คนจากต่างมหา’ลัย มาร่วมด้วย
“CROSSs อีกความหมายหนึ่งคือการเปลี่ยนสัญลักษณ์โรงพยาบาลที่นั่น จากสัญลักษณ์กาชาดเครื่องหมายบวกสีแดง กลายเป็นเครื่องหมายบวกสีฟ้า ความหมายคือ ทุกคนมาบวกกัน มาเพิ่มพลังกัน เราเลยมาเล่นคำต่อ สแลงคำใหม่ ใช้ความหมายของคำกริยาซึ่งก็คือการตัดกัน ข้ามกัน จะเป็นใครจะมาจากที่ไหนก็ได้ แต่ทุกคนมีความสนใจร่วมกันและมาเจอกันในจุดๆ หนึ่ง มันเลยเป็นไอเดียแบบ… งั้นเรามาครอสกันไหม?
แต่การมีส่วนร่วมที่ว่าไม่ใช่แค่การจับคนหลายๆ คนมานั่งในที่ประชุมแล้วเริ่มพูดโดยผู้อาวุโสเป็นหลัก หัวใจของการทำงานคือ การรับฟัง ‘ความฝัน’ ของผู้ที่จะใช้งานจริงในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น พี่ยาม พยาบาล คุณป้าห้องครัว คุณหมอ และอื่นๆ
“ทำยังไงก็ได้ให้พี่พยาบาล พี่หมอ คนไข้ ญาติ หรือคนในเกาะยาวใหญ่ รับรู้ทั่วถึงและเท่ากัน รู้สึกให้ได้ว่าถ้าจะออกแบบ ก็ต้องมาออกแบบด้วยกัน มันเหมือนเป็นการออกแบบโรงพยาบาลนะ แต่สุดท้ายนำไปสู่คำถามใหญ่ที่ว่า ‘อะไรคือการเยียวยาคนทั้งเกาะ?’ คุณหมอ คุณพยาบาลที่ทำงานรักษาคนอื่น หัวใจของเขาเคยถูกรักษาหรือเปล่า?
“ตอนนี้โรงพยาบาลสร้างสำเร็จแล้ว มีสปาสมุนไพรซึ่งชาวบ้านเป็นคนคิดและกลายเป็นแหล่งรายได้สำคัญของโรงพยาบาลถึงทุกวันนี้ มีการจัดตั้งกองทุนน้ำมัน มีครัวใหญ่ที่คุณป้าคนหนึ่งบอกว่าอยากได้เพราะอยากทำกับข้าวให้ผู้ป่วยกิน เกิดการออกแบบชานไม้หน้าห้องพักผู้ป่วยที่เหมือนชานทำครัวในบริเวณมัสยิด แสดงว่างานออกแบบไม่ได้มาจากการวิเคราะห์ของนักออกแบบอย่างเดียว แต่มาจากการใช้งานจริงของคนในพื้นที่ เป็นมากกว่าการออกแบบอาคาร แต่ไปถึงเรื่องสวัสดิการ การจัดการภายใน ซึ่งการครอสกันตรงจุดเล็กๆ นี้เหมือนเป็นการเปิดให้เราเห็นว่าการทำงานแบบมีส่วนร่วมมันน่าสนใจ เราชอบคำๆ นี้ และคิดว่านี่คือความต่าง ไม่ใช่ความต่างสิ… เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้เพิ่มนอกจากห้องเรียน”
เข้าใจว่านักออกแบบต้องสร้างสรรค์งานตามผู้อยู่อาศัย ผู้ว่าจ้าง หรือเรียกอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘ลูกค้า’ แล้วปรัชญาการออกแบบอย่างมีส่วนร่วม ต่างจากวิธีคิดของนักออกแบบตรงไหน ทำไมคนหนุ่มนักศึกษาสถาปัตย์ในวันนั้น ถึงรู้สึกถูกใจกับไอเดียการทำงานแบบมีส่วนร่วมแบบนี้? – เราถาม
“สอนนะ แต่มันสอนแค่ขั้นก่อนดีไซน์ว่าเราต้องมีคอนเซ็ปต์ ก่อนจะเข้าใจคอนเซ็ปต์ก็ต้องเข้าใจบริบท สิ่งแวดล้อมรอบข้างก่อน ซึ่งคำว่าชุมชน สังคม วัฒนธรรมเป็นหนึ่งในองค์ประกอบเล็กๆ นั้นอยู่แล้ว แต่ในวิชาเรียนไม่เคยโฟกัสไปที่คน จะคิดในเชิงนักออกแบบว่าต้องมีความรู้เรื่องนี้ให้เยอะที่สุด ไปวิเคราะห์ ไป analyze ไปทำไดอะแกรมสักอย่างแล้วค่อยเอาไอเดียนั้นมาเป็นแบบ จากนั้นก็พุ่งไปตัวดีไซน์เลย แต่งานที่โรงพยาบาลมันเป็นความรู้ใหม่ งานออกแบบมันมาจากคนเลย” เมฆตอบ
อย่างไรก็ตาม แม้โปรเจ็คท์ที่เกาะยาวใหญ่จะจบลงที่การสร้างโรงพยาบาลได้สำเร็จ เก็บเกี่ยวความฝันของผู้ที่ใช้งานจริงอยู่ในนั้นได้ครบ แต่การดำรงอยู่ของ CROSSs ในเวลานั้นไม่ได้ถูกสานต่อ คนหนุ่มนักเรียนออกแบบหลายคนที่คลุกงานในโปรเจ็คท์ต่างแยกย้ายไปทดลองทำงานในเส้นทางที่ตัวเองฝัน หากต้องนิยามปรัชญาของ CROSSs ในวันนั้น อาจคือการทำงานแบบ project based
อย่างไรก็ตาม แนวคิดแบบ CROSSs หรือปรัชญาแบบ Co-Creation ได้เกิดขึ้นแล้ว
ออกแบบปรับปรุงชุมชนริมคลองลาดพร้าว เพื่อต่อรองสิทธิการอยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย: ออกแบบพื้นที่ถกเถียง ทำแปลนอาคาร คิดงานสื่อสร้างสรรค์
หากยังจำเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 กันได้ หนึ่งในข้อถกเถียงถึงเหตุแห่งอุทกภัยครั้งใหญ่ เพราะเส้นทางน้ำในคูคลองกรุงเทพฯ นั้นแคบ ส่วนหนึ่งถูกรุกด้วยที่อยู่อาศัย ข้ามพ้นจากปัญหาเชิงโครงสร้างความเป็นเมือง (ซึ่งต้องพูดกันอีกวิธี) เฉพาะการแก้ปัญหาระยะยาวคือการยกคนขึ้นบก จัดเส้นทางน้ำใหม่ ขยายขอบคลองให้กว้างขึ้น สร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็กและประตูระบายน้ำ ซึ่งผู้รับหน้าที่หลักร่วมกันหลายหน่วยงาน โดยเฉพาะ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และกลุ่มสถาปนิกชุมชน ซึ่งเมฆและชาติ (ขณะนั้น CROSSs ยังไม่ฟอร์มทีม) อยู่ในทีมสถาปนิกชุมชนเฉพาะกิจในชื่อมกลุ่ม CROSSs รับหน้าที่เป็นกระบวนกร สร้างพื้นที่ชวนกลุ่มชาวบ้านมาร่วมออกแบบพัฒนาแผน ผังอาคาร ส่วนเมืองไทยทำงานร่วมกับทีม พอช.
8 เดือน 8 ชุมชน* คือโจทย์ที่พวกเขาต้องจัดการ
“เวลาเราทำงานเพื่อออกแบบผังกับชาวบ้าน ต้องชวนคนมานั่งคุย ชวนคนมาทะเลาะกัน เถียงกันให้ได้ว่าบ้านพี่จะอยู่กันขนาดเท่าไร อยู่กันยังไง บ้านพี่ใกล้กับบ้านพี่คนไหน พื้นที่สาธารณะอยู่ตรงไหน เอากระดาษลังมาตัดทำเป็นผังบ้าน ทำแผนที่ใหญ่ๆ ให้ทุกคนมานั่งรุมกัน ตั้งคำถามกัน แต่จะทำแบบนั้นได้ก็ต้องรอให้เขาเริ่มว่างประมาณ 6 โมงเย็น นั่งคุยกันจนเลิกประมาณ 4-5 ทุ่ม บางวันเราต้องเลือกวันที่พี่คนที่เราจะคุยด้วยต้องไปซื้อพวงมาลัยที่ปากคลองตลาดพอดีเพื่อจะได้ติดรถเขากลับมาแถวบ้านได้
“หากทำงานกับโรงพยาบาลคือการทำด้วยบรรยากาศเชิงบวกเพราะเป็นการคุยเรื่องพื้นที่ความฝันที่จะทำงานด้วย service mind การทำงานออกแบบปรับปรุงชุมชนเพื่อต่อรองสิทธิการอยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อย คือขั้วตรงข้าม แต่เราก็ใช้บรรยากาศลบๆ นี่แหละทำงาน ‘อีกสองเดือนพี่ต้องย้ายแล้วนะครับ เราจะเอายังไงกันดี’ ซึ่ง พอถึงจุดนี้เราเริ่มเห็นแล้วว่า แค่ทำงานออกแบบอย่างเดียวไม่พอ เราต้องการคนทำงานสื่อสารด้วย แล้วชาติก็ติดต่อเข้ามาพอดี จึงเป็นจุดที่ทำให้การทำงานเริ่มขยายบทบาท”
ในฐานะนักศึกษานิเทศศิลป์ ชาติเป็นนักออกแบบในสายเลือด เพียงแต่ช่วงเริ่มต้นเค้าไม่มั่นใจว่าความสวยงามบนสื่อสิ่งพิมพ์หรือเครื่องมือของสื่ออื่นๆ จะขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมได้
“เราไม่แน่ใจว่าสกิลที่มีจะทำอะไรกับงานตรงนี้ได้บ้าง การชวนคนมาคุยกันมันเป็นสิ่งใหม่สำหรับเรา แต่พอลงมือ มันก็ทำได้นิหว่า สื่อหรือองค์ประกอบหลายอย่างมันมีบทบาทต่องานพัฒนาชุมชนไม่ใช่แค่การอกแบบเชิงกายภาพ พ้นไปจากตรงนี้เราก็พยายามจะเติมงานของทีมในเรื่องสื่อ เช่น ทำแผ่นพับเพื่อสื่อสารกับคนในชุมชนและชุมชนอื่น ชวนเพื่อนๆ มาทำงานทดลองเกี่ยวกับคลองเพราะต้องการสื่อสารกับคนนอก ให้เข้าใจว่าคลองคืออะไร คนที่อยู่กับคลองเป็นยังไง คนกับคลองมีความสัมพันธ์กับเมืองยังไง เหมือนอยากขยายผลของงานให้มากขึ้น ก็ชวนน้องที่แต่งเพลงได้ น้องที่ลงภาพตัดฟิล์มได้ ตัดต่อหนังได้ เราเสนอว่าอยากทำงานที่เกี่ยวกับคลอง เขาก็ให้ทำ มันก็เกิดงานทดลอง คนคลองเมือง เผยแพร่ผ่านไทยพีบีเอส” ชาติอธิบาย
โจทย์ 8 เดือน 8 ชุมชน เพื่อสรุปงานออกแบบอาคารและทางน้ำสำเร็จลง แม้ว่าความโหดหินของวิธีการและประเด็นจะทำให้มีคนออกไปพักเหนื่อยและทดลองทำสิ่งใหม่บ้าง แต่การ ‘ครอส’ กันของหลายๆ ทีมก็ทำให้สมาชิกหลักของ CROSSs เริ่มฟอร์มทีม
“คือเราไม่อยากรวมกันแล้วหาย แต่อยากหาความ sustain ให้ตัวเองแล้ว” ชาติกล่าว
และจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ CROSSs รวมกันเป็นทีมถึงวันนี้ คือโปรเจ็คท์ Co-Creation ชวนคนมาออกแบบเมืองที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์
Co-Creation ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์
“มันจะมีเครือข่ายสถาปนิกชุมชนในชื่อ CAN คือ Community Architect Network มีทั้ง CAN ที่เป็นของภูมิภาคเอเชีย และ CAN Thailand, CAN ในระดับภูมิภาคทำอะไร? เช่น ในบริบทของเอเชียจะมีสถานการณ์คล้ายกันที่ต้องการนักออกแบบเข้าไปมีส่วมร่วม เช่น แทบทุกประเทศมีชุมชนแออัด แต่ละประเทศก็จะมีองค์ความรู้ต่อการทำงานในบริบทเหล่านี้แตกต่างกัน การแชร์ความรู้จึงสำคัญให้แต่ละประเทศ unlock โจทย์ประเทศตัวเองได้ง่ายขึ้น
“ที่นี้ทุกๆ สองปี CAN จะจัดเวิร์คช็อปขนาด 7-8 ประเทศ หรือขนาด 16 ประเทศ มารวมตัวกันแล้วทำโปรเจ็คท์ร่วมกันสักโปรเจ็คส์หนึ่ง คล้ายเป็นการสังคายนาครั้งใหญ่ของ CAN เลย งานที่ชุมแสงในชื่อโปรเจ็คท์ Co-Creation จึงเป็นการเอา CAN Thailand มาเจอกับ CAN Asia” เมืองไทยกล่าวถึงที่มาและว่า นี่เป็นงานนี้ที่ทำให้สมาชิก CROSSs จับกลุ่ม ‘ครอส’ กัน
“ทีนี้ที่มาของโปรเจ็คท์คืออะไร? อธิบายก่อนว่า ก่อนหน้านั้นเราพูดถึงงานที่เราทำกับชุมชน… ชุมชนๆๆ มันถึงจุดที่งานชุมชนเริ่มอิ่มตัว เราเริ่มเห็น pattern ของมัน ตั้งคำถามกันว่างานชุมชนที่เราทำเป็นจุดๆ และนอกเหนือจากกรอบผู้มีรายได้น้อยในชุมชนแออัด จะอัพสเกลขึ้นมาทำในระดับเมืองได้ไหม? โปรเจ็คท์ Co-Creation จะไปสัมผัสกับมิติสุขภาพ มิติสังคม คนชรา วัฒนธรรม ทางสัญจร พื้นที่ใช้สอยกายภาพของเมืองอย่างไร พอรวบมิติเหล่านี้เข้าด้วยกัน มันเลยเรียกว่า Co-Creation”
ชาติอธิบายถึงรูปร่างหน้าตาการออกแบบเมืองในโปรเจคท์ Co-Creation ว่า “เราไม่ได้มีโจทย์ชัดว่าเราจะออกแบบอะไร แต่ไปชวนเขาาคุยว่า โอเค ถ้ามีผู้สูงอายุเยอะ เขาอยากมีอะไร? ลานออกกำลังกายเหรอ? ก็ค่อยๆ หา ไปตั้งคำถาม และแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามประเด็นที่สนใจ เช่น คุณลุงสนใจจักรยานก็ไปอยู่กลุ่มจักรยาน คนนี้สนใจเรื่องปลูกผัก ก็ชวนกันไปไปขยายเรื่องผักสุขภาพดีกับความสวยงามของเมือง พื้นที่ริมน้ำที่เมื่อก่อนอยู่ติดน้ำเลยแต่เดี๋ยวนี้มีเขื่อนกั้น เราจะทำเรื่องพวกนี้ยังไง”
บรรยากาศ วิธีทำงาน และวิธีคิดของโปรเจ็คท์ Co-Creation โดย Community Act Network
เมฆเสริมว่า “มันคือการทำงานกับชุมชนเก่าแต่เปลี่ยนหัวใจใหม่ หัวใจเขาดีอยู่แล้วแหละ แต่ที่เราทำคือให้หัวใจมาเชื่อมกัน ให้คนที่อยู่เมืองเดียวกัน ที่ไม่เคยเจอกันมาเจอกัน ซึ่งถ้าเขาเจอกันมันทำให้เมืองปะทุเลยนะ เช่น ซอยโรงเรียนสอนภาษาจีน ตอนกลางคืนร้างมาก แต่ถ้าช่วงงานประจำปีเราเปิดฟลอร์ให้ชมรมลีลาศมาสอนคนเต้นมันจะเป็นยังไงนะ คือจับคนเหล่านี้มาแชร์ไอเดียกัน
“พอเรากลับไปชุมแสงอีกครั้ง เมืองมันมีชีวิตขึ้นมา พื้นที่ริมน้ำถูกแปลงร่าง ทุกคนรู้ว่าจะเข้าไปใช้พื้นที่สาธารณะได้ยังไง นายกเทศบาลไม่ทำงานลำพัง ห้าวันที่เราเข้าไปทำงาน นายกเทศมนตรีก็งงเหมือนกันนะว่าเรามาทำอะไร แต่ทำงานจนจบ คนที่อยู่ในพื้นที่เสนอนโยบายเลยว่าชุมแสงควรต้องปรับปรุงอะไร”
CROSSs สถาปนิกชุมชนต้องไม่ทำงานบนกระดาษ
“ยกตัวอย่างโปรเจ็คท์หนึ่งที่เราทำงานกับโรงพยาบาล ตอนแรกโจทย์ไม่ได้ยากอะไร คือออกแบบโรงพยาบาลในฝัน ซึ่งสำหรับสถาปนิก การออกแบบอาคารไม่ใช่เรื่องยากเนอะ แต่เพราะความเป็นเรา ความเป็นครอส เราจะตั้งคำถามแต่แรกว่า ‘เสียงที่เราได้ยิน กับโจทย์ที่เรากำลังจะทำ เราได้ยินทุกคนจริงๆ รึเปล่า?’
“โรงพยาบาลในฝันไม่ได้สร้างได้ด้วยการสร้างอาคาร ออกแบบพื้นที่ หรือเปลี่ยนหินเปลี่ยนปูน แต่จะทำยังไงให้แม่บ้านที่มีความฝันว่าอยากปลูกกล้วยไม้ เห็นความฝันและรู้ว่าเขตากแต่งโรงพยาบาลได้มากมาย ให้เขาคุยกันได้ว่า ‘ฉันอยากให้โรงพยาบาลเป็นยังไง’ การทำแบบนี้ หมายความว่า ‘เรา’ ไม่ใช่เจ้าของความฝัน แต่มันคือความฝันของทุกคน” เมืองไทยเล่า
เมฆเสริมว่า “ซึ่งตอนคุยเราก็จะมีความขบถเล็กๆ นะว่า ‘เอ๊ะ ที่ต้องการนั้นจริงรึเปล่า’ (หัวเราะ) เราก็ขอให้พี่หมอลองร่างโรงพยาบาลในอีกยี่สิบปีข้างหน้าให้ดูหน่อย ซึ่งแกก็จะมีความฝันที่กั๊กไว้ไม่เคยบอกใครนะ แกเอาผังโรง’บาล ที่เขียนด้วยโปรแกรม Word ให้ดู แล้วก็แบบ ‘นี่นะ นี่จะเป็นตำแหน่งโรงสีข้าว’ เราก็… เฮ้ยมีโรงสีด้วยเหรอ? อีกเรื่องในโปรเจ็คท์นี้ก็คือ มันจะมีตึกๆ หนึ่งที่ยังสร้างไม่เสร็จ ในความเห็นเราก็คิดว่า มันพังรึเปล่าวะ? เราก็เลยฉายสไลด์ผังของพี่หมอไปที่ห้องประชุมแล้วขอให้ทุกคนช่วยกันแปะโพสต์อิทว่า รู้สึกยังไงกับตรงนี้ อยากเปลี่ยนอะไรมั้ย?
“มันน่าสนใจตรงที่ คุณหมอบอกว่านี่เป็นครั้งแรกที่เขาเล่าความฝันให้คนอื่นฟัง รู้สึกไม่ต้องแบกทิศทางโรงพยาบาลไว้คนเดียว เขารู้ว่าเขาสื่อสารออกมาได้”
คุยมาจนถึงตอนนี้ เราจับได้ว่า CROSSs ไม่ใช่แค่เป็นสถาปนิกชุมชนที่มี ‘ทักษะ’ การสื่อสารแค่ ‘นิดๆ’ แต่พวกเขาคือ ‘กระบวนกร’ เต็มความหมายในแง่การสร้างจังหวะ ดีไซน์ประสบการณ์ เป็นผู้นำบทสนทนา และต้องมีทักษะในการคลี่คลายความไม่ลงรอยระหว่างผู้ที่อยากแชร์ความคิดฝันร่วมกัน
“เราต้องวางแผนทั้งระยะยาวและสั้นเลย เช่น เราจะลงพื้นที่ 5 ครั้ง ครั้งแรกแนะนำตัวก่อน แค่ไปหา ไปทำความรู้จักเท่านั้น ครั้งที่สองคือการทำให้เขาส่วนร่วมกับเรา อาจจะปั้นดินน้ำมันเล็กน้อย ทำกิจกรรมนิดหน่อย แต่ครั้งที่สามต้องจริงจังละ โมเดลอาคารที่เขาปั้น ต้องเอามาเข้าสเกลได้
“วิธีคิดเรื่องเครื่องมือสื่อสารก็สำคัญมาก เช่นเวลาที่ทำกับคนต่างจังหวัด บางคนอาจพูดไม่เก่ง ไม่พูด เขิน ก็ให้เขียนไหม บางคนถนัดพูด ถนัดบ่น ต้องเลือกเครื่องมือให้เข้ากับแต่ละคน” ชาติอธิบาย
เมืองไทยเสริมว่า “ที่เราต้องจริงจัง ต้องมีเส้นสายการคุยที่ยาวขนาดนี้ เพราะเราไม่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงแค่ผลลัพธ์กายภาพในตอนจบ นั่นเป็นแค่ผลลัพธ์ปลายทางเฉยๆ แต่กระบวนการที่จะเปลี่ยนคนเพื่อให้เขาเห็นศักยภาพในตัวเอง ให้เขาเข้าใจบทบาทตัวเอง unlock เขาได้ ส่วนใหญ่อยู่ที่กระบวนการนี่แหละ แล้วตัวงานที่ออกมามันจะแสดงตัวโดยประจักษ์เอง ‘เห็นไหมว่ามันไม่ใช่ความฝันของ ผอ. คนเดียว จำได้ไหมที่พี่พูดมันออกมาเป็นแบบนี้ ระเบียงที่พี่พูดมันหันหน้าไปสู่ป่าแบบนี้’ ทั้งหมดนี้มันจะแสดงตัวตนของมันออกมา
“เราจะโคด (เน้นเสียง) แฮปปี้เลยถ้าทุกคนรู้สึกว่านี่คืองานของเขา รักสิ่งนี้เพราะเห็นตัวเองอยู่ในนั้น แม้ว่าเราจะมีส่วนน้อยมากในงานนั้นเลย แต่เราได้ออกแบบให้ทุกคนมาแชร์ไอเดียร่วมกัน เราจะโคดแฮปปี้เลย”
“หัวใจของมัน ไม่ใช่การทำงานบนกระดาษ” เมฆช่วยยืนยัน
ทั้งหมดที่เล่ามานี้ นิยามว่า CROSSs คือใคร ทำงานแบบไหน เรียกว่าทำงานเพื่อสังคม หรือเพื่อชุมชนได้มั้ย? – เราถาม
“สำหรับเรานะ เราไม่ได้มองว่า CROSSs จับงานเพื่อสังคมหรือเพื่อชุมชนอะไรแบบนั้น แต่แน่นอนว่าหัวใจของมันคือการมีส่วนร่วม” ชาติอธิบายก่อน
“อยากทำงานสร้างสรรค์ที่เป็นมืออาชีพ อยากทำอะไรที่อิมแพค ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กหรือใหญ่”
“แต่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สัมผัสได้”
“และส่งต่อได้”
เมฆ และ เมืองไทย ช่วยกันต่อประโยคตามลำดับ ราวกับคนพูดมาจากคนๆ เดียวกัน
ไม่ใช่คำถามสุดท้ายของบทสนทนาจริง แต่อยากหยิบมาไว้ในตอนท้ายของบทความ ครั้งหนึ่งของบทสนทนาเมฆยกตัวอย่างกลับไปยังโปรเจ็คท์แรกที่โรงพยาบาลบนเกาะยาวใหญ่ เขาเล่าให้ฟังว่าครั้งหนึ่งระหว่างทำโปรเจ็คท์ เมฆกับคุณหมอนั่งใต้ต้นไม้ใหญ่ แสงแดดทะลุลอดใบไม้ลงมาอาบแขนเป็นริ้วๆ
“ตอนนั้นคุณหมอบอกเราว่า คงดีมากเลยถ้าคนไข้ได้มานั่งใต้ต้นไม้ใหญ่แบบนี้ แค่นั้น ภาพผังก็ออกมาเลย ต้องมีชานตรงนี้ เจาะรูล้อมต้นไม้เอาไว้ แต่พอสร้างจริง… กลับมาอีกทีมันมีชาน มีรู แต่ต้นไม้หายไปแล้ว เดาว่าเป็นเหตุผลเรื่องการก่อสร้าง แต่ก็คิดว่าถ้ามีคนอยู่หน้างาน มันจัดการได้
“คุณหมอเศร้ามาก เราก็เฟล คุยกันแบบไม่กล้าสบตากัน ผิดใจกับต้นไม้ต้นนั้นมาก แต่ผ่านมาอีกสามปี ชาวบ้านเอามะขามเทศมาปลูก แล้วมันโต สวย แต่ตายไปแล้วนะ (หัวเราะ) ไม่ๆ แต่เค้าก็มีแผนปลูกใหม่ (ขัดจังหวะเสียงแซว) ประเด็นคือ เรารู้สึกว่า เชี่ย… เราคือคนนอกอะ เรายึดติดกับแบบ ติดกับอดีตที่เคยมีต้นไม้ใหญ่ แต่คนที่อยู่ตรงนั้นเขาก็ปลูกต่อ
“เมืองเคยบอกเราว่า งานชุมชนหรืองานมีส่วนร่วมมันไม่มีบวกหรือลบ มันอาจลบตอนนี้ แต่ถ้ายังมีคนโฮลพลังตรงนี้อยู่ พลังตรงนี้มันก็จะเพิ่มขึ้นมา นี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้จากโปรเจ็คท์นี้” เมฆกล่าว
รายชื่อชุมชนที่กลุ่มสถาปนิกชุมชนเฉพาะกิจ CROSSs ทำงานด้วย 8 ชุมชนคือ
ชุมชนบางบัวร่วมใจพัฒนาเชิงสะพานไม้สอง, ชุมชนเปรมประชาสมบูรณ์, ชุมชนประชากร 4, ชุมชนปู่เจ้าสมิงพราย, ชุมชนพรหมสัมฤทธิ์, ชุมชนร่วมพัฒนา, ชุมชนท่าอากาศยานด้านใต้, ชุมชนตาลคู่