- หัวใจการ Communicate แบบ Bearhug คือการแคร์ “คนดู”
- สื่อสารให้ “คนดูสนุก และเราสนุก” คือเคล็ดลับความสำเร็จของ Bearhug
- ในยุคที่ทุกคนเป็น Youtuber ได้ “ถ้าเราอยากอยู่รอด เราควรทำคลิปให้แตกต่างและมีเอกลักษณ์”
ภาพ : Bearhug
เมื่ออาชีพที่ตรงสายไม่ใช่คำตอบของความสุข ‘ซารต์’ ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช ตัดสินใจลาออกมาตามหาความฝันของตัวเอง กระทั่งได้มีโอกาสได้ช่วยเพื่อนซี้อย่าง กานต์-อรรถกร รัตนารมย์ ที่เปิดช่องยูทูบ KNN อยู่ก่อนหน้า และรู้สึกหลงรักการทำคลิปอย่างรุนแรง จึงเปิดช่องยูทูบเป็นของตัวเองขึ้นมาชื่อว่า Sunbeary Channel
ทั้งคู่ทำงานด้วยกันมาตลอด ต่างคนต่างเป็นเบื้องหลังให้กันและกันอยู่เสมอ จนต้นปี 2018 ซารต์และกานต์ ตัดสินใจรวมตัวกันสร้างช่อง Bearhug ขึ้นมา ด้วยสาเหตุว่า ความสุขจากการทำงานด้วยกันหายไป เพราะต่างคนต่างทำงานโดยโฟกัสเรื่องการตลาดของแต่ละคนมากเกิน ถึงจะอยู่กันเป็นทีม แต่ไม่ได้ทำงานเป็นทีม
เมื่อเกิดการรวมตัว เนื้อหาหลักของ Bearhug จึงมีความหลากหลาย ทั้งการพาไปท่องเที่ยว พาไปกินของอร่อยๆ หรือพาไปเปิดเรื่อง Unseen ต่างๆ ทุกคลิปวิดีโอเต็มไปด้วยความสนุกสนานผสานการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์ของทีมงาน จนมียอดผู้ติดตามพุ่งทะลุกว่า 2 ล้าน และคงพูดได้อย่างเต็มปากแล้วว่า Bearhug กลายเป็นช่องยูทูบที่ทุกคนนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ
สื่อสารแบบ Bearhug
Bearhug เปรียบเทียบตัวเองเป็น ‘ทีมนักสำรวจ’ ที่เดินทางออกไปเรียนรู้เรื่องราวหรือสถานที่ต่างๆ เพื่อถ่ายทอดสิ่งที่มีอยู่แล้วในโลก แต่อาจจะถูกซ่อนอยู่ในที่ที่แสงส่องไปไม่ถึง พวกเขาจะช่วยเข้าไปค้นหามุมมองต่างๆ เกี่ยวกับมัน แล้วฉายออกมาเป็นวิดีโอให้ผู้ชมผ่านหน้าจอสี่เหลี่ยมได้รู้จักกับโลกใบนี้มากขึ้น โดยพวกเขาเองก็ใช้โอกาสนี้เรียนรู้ไปพร้อมกับคนดูด้วยเช่นกัน
จุดเริ่มต้นของการทำคลิปวิดีโอแต่ละชิ้น ไม่ได้ซับซ้อน ซารต์และกานต์เริ่มมาจากความรู้สึก ‘อยากทำ’ เมื่อรู้สึกอยากไปรู้ อยากไปเห็น อยากไปสัมผัส และพอจะมองเห็นเหลี่ยมมุมที่น่าสนใจของเรื่องนั้น จนอยากนำมาเล่าต่อ ก็ไม่ลังเลที่จะลงมือทำทันที
“เราจะมาดูกันก่อนว่าสถานที่ที่เราอยากไป มันน่าเล่ามั้ย ส่วนเรื่องสคริปต์ กับเรื่องความรู้ของแต่ละสถานที่ที่ไป ส่วนมากไม่มีการ research เลย” ซาร์สารภาพ
ทีมสำรวจ Bearhug อาจมีวิธีออกเดินทางที่ไม่เหมือนกับทีมสำรวจอื่น ซารต์บอกว่า “ถึงข้อมูลในคลิปวิดีโอจะผิดพลาดบ้าง แต่เราอยากไปด้วยความใสซื่อจริงๆ ไม่รู้ก็คือไม่รู้ อยากแทนตัวเองให้เหมือนคนดู มันรู้สึกเรียลดี”
ถึงจะถ่อมตัวว่าไม่ได้เตรียมข้อมูลก่อน แต่ผลงานของพวกเขาเต็มไปด้วยความสนุกและเสียงหัวเราะที่แอบแฝงสาระสำคัญให้คนดูขบคิดหรือตกตะกอนอยู่บ้าง
ยกตัวอย่างเช่น คลิปที่พาไปรู้จักกับอาชีพ Calligrapher หรือคนเขียน/ออกแบบฟอนต์ด้วยมือ ที่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก แต่เป็นอาชีพที่มีคุณค่าอย่างมหัศจรรย์
หรือคลิปที่พาไปดูสถานที่ขึ้นชื่อว่ามีมลภาวะเยอะในกรุงเทพมพหานคร เพื่อสร้างความตื่นตัว ให้กับคนรุ่นใหม่คิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคม ให้ดูแลสิ่งแวดล้อมในเมืองหลวงให้ดีขึ้น
แต่กว่าจะเป็นหนึ่งวิดีโอให้เรารับชม ไม่ใช่เรื่องง่าย ยังมีกระบวนการทำงานหลังกล้องอีกมากที่ผู้ชมไม่เคยรู้ ซารต์บอกว่า ในการทำงานทีมจะถูกแบ่งตำแหน่งหน้าที่ต่างกันไป
ซารต์จะเป็นคนอยู่หน้ากล้องซะส่วนใหญ่ ส่วนกานต์จะอยู่หน้ากล้องบ้าง แถมยังลุยงานหลังกล้องอีก โดยแต่ละคลิปวิดีโอจะถูกเล่าเรื่องผ่านมุมมองของกานต์ที่มักจะผ่านการคิดมาแล้วว่าจะสื่อสารอย่างไรให้เข้าไปถึงคนดู แต่ซารต์จะเป็นตัวหลักในการดำเนินเรื่อง เพราะด้วยความถนัดที่แตกต่างกันในการแสดงอารมณ์ ทำให้ซารต์สามารถถ่ายทอดและเข้าหาผู้คนได้ดีกว่า
ยังไงก็ตามแต่ เมื่อแบ่งหน้าที่ให้ตรงตามความชอบและความถนัดของแต่ละคนในทีมแล้ว สิ่งสำคัญที่นักสำรวจทีมนี้ให้ความใส่ใจมากที่สุดคือ “ความบันเทิงของคนดูเป็นหลัก”
แล้วคนดู Bearhug ส่วนใหญ่มีแค่เด็กจริงหรือ ?
Demographic หรือยอดผู้เข้าชมบอกว่า คนที่เข้ามาดูคลิปไม่ใช่เด็กมัธยมอย่างเดียว แต่เป็นกลุ่มคนอายุ 18-24 ปี เพียงแต่คอมเมนต์ที่มักจะแสดงตัวตนส่วนมากจะเป็น เด็กมัธยม ดังนั้น Bearhug ต้องคำนึงถึงการออกแบบเนื้อหาหรือคอนเทนท์ให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายคนดู จึงเน้นเนื้อหาไปทางผู้ใหญ่มากกว่า ซึ่งสอดคล้องความชอบของทีมด้วย
แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ติดตามช่อง Bearhug อยู่ สิ่งที่ต้องกลั่นกรองเพิ่มเติมคือเรื่องของความรับผิดชอบ
“การที่เด็กเข้ามาดูเราเยอะ ยิ่งต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า การแกล้งกันหรือบางคำพูดก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น เพราะเด็กบางคนยังแยกไม่ออก โลกของเขาไม่มีสีเทา มีแต่ขาวกับดำ” ซารต์บอก
นอกจากการคิดวิธีการสื่อสารให้เหมาะกับกลุ่มผู้ชมแล้ว โลกที่เปลี่ยนไปทำให้ใครก็ผันตัวมาเป็น Youtuber ได้ นับเป็นอีกหนึ่งความท้าทายของทีม เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ทุกคนเข้าถึงอุปกรณ์ได้หมด มีแค่มือถือเครื่องเดียว ทุกคนก็สามารถเป็น Youtuber ไม่ต้องมีขั้นตอนยุ่งยาก ไม่ต้องผ่านกระบวนการตัดต่อเหมือนสื่อโทรทัศน์
แต่คำถามคือ จะอยู่รอดในระยะยาวหรือไม่ ?
ในยุคทำให้ทุกคนทำคลิปได้เหมือนกันหมด ซารต์บอกว่า “ถ้าเราอยากอยู่รอด เราก็ควรจะแตกต่างและมีเอกลักษณ์”
สิ่งที่ Bearhug กำลังทำ คือการปั้นคลิปออกมาให้ Unique หลุดออกจากกรอบเดิมๆ และอย่าลืมคิดวิธีสื่อสารและคอนเทนต์ที่มีคุณภาพควบคู่ไปด้วย
ส่วนยอดคนดูที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อาจเป็นข้อดีที่เป็นช่องทางเปิดโอกาสให้มีลูกค้าเข้ามาจ้างหรือสนับสนุนทีม แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะตัวเลขยอดยิ่งเยอะ มันยิ่งเพิ่มแรงกดดันในการทำงานจน บางครั้งถึงขั้นสูญเสียตัวตนไปเลย
“ทำให้เราสนุก และคนดูสนุกค่ะ” คือเคล็ดลับที่ Bearhug ใช้รักษาสมดุลของตัวเองให้พอดี เมื่อต้องทำคลิป tie-in รีวิวสินค้าอย่างหนักๆ โดยไม่ให้คนดูรู้สึกว่าถูกยัดเยียดจนเกินไป
เมื่อย้อนกลับไปเริ่มแรกที่เปิดชาแนล ซารต์ยอมรับว่า พยายามผลิตวิดีโอคอนเทนต์ตื้นๆ ง่ายๆ เพื่อให้คนมากดติดตาม แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนตกตะกอนได้ว่า
“ถ้าเราเป็นนักสำรวจที่ทำคอนเทนต์ดี คนดูได้รับประโยชน์ เดี๋ยวก็มีคนมาติดตามเอง”
ซึ่งวิธีคิดแบบนี้ช่วยการลดแรงกดดันให้ทีม ลดความคาดหวัง และยังคงความเป็นธรรมชาติได้พอสมควร
ภายใต้น้ำเสียงสนุกสนาน ท่าทีที่เป็นกันเอง สิ่งที่จะทำให้ดูเชื่อถือ นั่นคือการพูดความจริง ฉะนั้นหัวใจการ Communicate แบบ Bearhug คือการแคร์ ‘คนดู’
และในอนาคตสิ่งที่นักสำรวจทีมนี้คาดหวังอยากจะทำ คือการผลิตคอนเทนต์ที่มีความเฉพาะทางมากขึ้น ไม่ว่าจะเรื่องท่องเที่ยว ของกิน หรือการรีวิว
Bearhug จะต้องกลายเป็นนักสำรวจที่รู้ลึก รู้จริง และเป็นตัวจริงในเรื่องนั้นให้ได้ – ธงต่อไปของซารต์และทีม