- Algolaxy แอพพลิเคชั่นสื่อการเรียนการสอนเรื่องอัลกอริธึม (Algorithm) เพื่อเป็นสื่อการสอนในวิชาใหม่ ‘วิทยาการคำนวณ’ โดยสามนวัตกรหน้าใสจากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์
- Algolaxy พัฒนาไปถึงจุดที่ใช้งานได้จริงพร้อมให้ดาวน์โหลดทั้งใน Google Play และ App Store, ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากเวที TICTA (Thailand ICT Awards)
- “เนื้อหาอัลกอริธึมมีเยอะมาก ต้องพยายามเลือกเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันมาสอนเด็ก นำมาประยุกต์ว่าจะทำยังไงให้เขาเข้าใจได้ง่ายๆ เห็นภาพ และไม่ไกลเกินตัวเขาเพื่อจะได้รู้ว่าอัลกอริธึมมันอยู่ในชีวิตเรา”
เรื่อง: กิติคุณ คัมภิรานนท์, มณฑลี เนื้อทอง
ภาพ: โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 คงไม่มีนักเรียนชั้นไหนเครียดไปกว่าน้อง ป.1 ป.4 และพี่ ม.1 ม.4 อีกแล้ว เพราะนั่นคือปีแรกที่พวกเขาต้องเผชิญกับวิชาบังคับใหม่จากกระทรวงศึกษาธิการที่ชื่อ ‘วิชาวิทยาการคำนวณ’ และไม่ใช่เพียงนักเรียนหรอกที่มึนตึ้บกับวิชานี้ คุณครูที่จับพลัดจับผลูต้องมาสอนวิชานี้ก็มึนไม่ต่างกัน หนึ่งในนั้นคือ ‘ครูฝ้าย’ ศรา หรูจิตตวิวัฒน์ แห่ง โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์
เพราะนี่คือวิชาใหม่แกะกล่องสำหรับระดับประถมและมัธยม ครูเองก็ไม่เคยสอน ตำราที่ได้มาก็ยากแสนยาก สอนไปสอนมาก็งงกันไปทั้งคาบ ทั้งครูทั้งนักเรียน
แต่แทนที่จะนั่งงง ครูฝ้ายจึงเปลี่ยนวิกฤตินี้เป็นโอกาส…
เมื่อนวัตกรหน้าใสอย่าง หญิง-สุภาวดี ภูสนาม (ม.6), ปังจัง-ณาฌา หิรัญญาการ (ม.6) และ เหม่เหม้-จีรนันท์ อนันต์ประภากรณ์ (ม.4) กำลังหาหัวข้อทำโครงงานอยู่ ครูฝ้ายจึงไม่รอช้า เสนอให้ทีมทำสื่อการเรียนการสอนวิชานี้ขึ้นมาใหม่ นำความยากมายีใหม่ให้ง่ายขึ้นสำหรับครู และสนุกขึ้นสำหรับนักเรียน
ฟังดูแล้วน่าสนุก แต่เมื่อได้ลงมือทำจริง 3 นวัตกรหน้าใสของเราก็พบว่า การทำเรื่องยากให้ง่ายนั้น…ไม่ง่ายเลย
ภารกิจทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
คนเราเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสิ่งใด ย่อมมีพื้นฐานความเข้าใจในสิ่งนั้นเป็นอย่างดี นักพัฒนาที่สามารถพัฒนานวัตกรรมและตอบโจทย์ผู้ใช้ ส่วนใหญ่จึงมักเริ่มจากสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวหรือเป็นสิ่งที่เขาสนใจ ต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์อยู่ในชีวิตประจำวัน
3 สาวแห่งโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ หญิง-ปังจัง-เหม่เหม้ ก็เป็นเช่นนั้น ในฐานะนวัตกรที่ยังเป็นนักเรียน การหาหัวข้อผลงานที่ผ่านๆ มาของพวกเธอจึงเน้นไปที่เรื่องการศึกษา โดยเฉพาะการสร้างโปรแกรมสื่อการเรียนรู้วิชาต่างๆ เพื่อตอบสนองผู้ใช้ที่ส่วนใหญ่ก็เป็นเพื่อนนักเรียนเหมือนๆ กับเธอ หากแต่สำหรับผลงาน Algolaxy แอพพลิเคชั่นสื่อการเรียนการสอนเรื่องอัลกอริธึม (Algorithm) ในครั้งนี้ เป็นความต้องการจากผู้ใช้ที่ไม่ใช่นักเรียน หนำซ้ำยังอยู่ใกล้ตัวพวกเธอมาก จนคาดไม่ถึง
“เราจะทำผลงานส่งประกวด NSC ตั้งใจว่าอยากทำโปรแกรมที่เป็นสื่อการเรียนรู้ แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำเกี่ยวกับวิชาอะไรดี ลองถามครูฝ้ายซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงงานว่ามีวิชาอะไรที่น่าสนใจ ครูฝ้ายบอกว่ามีวิชาใหม่คือวิชาวิทยาการคำนวณ ยังไม่มีใครทำสื่อการเรียนรู้วิชานี้ เลยหาเนื้อหามาลองทำ” หญิงเล่าถึงที่มาของหัวข้อผลงาน ซึ่งเกิดมาจากครูฝ้ายที่อยู่ในฐานะผู้ใช้โดยตรง
“อัลกอริธึมมันเกี่ยวกับเรื่องลำดับความคิด ขั้นตอนการทำงาน ที่ผ่านมาถ้าอ่านแต่ตัวอักษรจะเข้าใจยาก เลยมองว่าถ้าทำเป็นสื่อการเรียนการสอนน่าจะเป็นประโยชน์มาก เพราะครูหลายคนก็เพิ่งเริ่มต้นสอนวิชานี้เหมือนกัน” ครูฝ้ายสำทับ
Algolaxy จึงตั้งต้นขึ้นมาเพื่อตอบสนองกลุ่มเป้าหมาย 2 กลุ่ม หนึ่งคืออาจารย์ที่สอนวิชาอัลกอริธึม และอีกหนึ่งคือนักเรียนที่เรียนวิชานี้
โจทย์ของทีมในการพัฒนาผลงานเพื่อตอบสนองผู้ใช้กลุ่มอาจารย์ คือการพัฒนาโปรแกรมที่มีเนื้อหาวิชาอัลกอริธึมที่ถูกต้อง ซึ่งถือเป็นงานหนักสำหรับ 3 สาวและครูฝ้ายเอง ที่ต้องไปศึกษาเก็บข้อมูลความรู้เกี่ยวกับอัลกอริธึมทั้งเชิงกว้างและเชิงลึก เพื่อออกแบบเนื้อหาโปรแกรม พร้อมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหานั้นๆ ด้วยการขอความช่วยเหลือจากผู้รู้
“ด้วยความที่เป็นวิชาใหม่ เราจึงต้องเริ่มศึกษาตั้งแต่พื้นฐาน แต่เราก็อยากให้แอพพลิเคชั่นนี้ครอบคลุมเนื้อหาเชิงลึกมากกว่าแค่ระดับพื้นฐาน เราจึงไปขอความรู้จากอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และรุ่นพี่ศิษย์เก่าเซนต์ฟรังฯ ที่ไปเรียนมหาวิทยาลัยในสาขาที่เกี่ยวข้อง ให้ช่วยมาเทสต์เนื้อหา ทั้งลำดับความรู้และความถูกต้อง” ปังจังอธิบายกระบวนการค้นคว้าและตรวจสอบข้อมูลของทีม
โจทย์อีกข้อของทีมในการพัฒนาผลงานเพื่อตอบสนองผู้ใช้กลุ่มนักเรียน ก็คือการทำเนื้อหาที่ยากให้ง่ายขึ้น ซึ่งนอกจากการนำเสนอด้วยรูปแบบแอนิเมชั่น 2 มิติแล้ว การเลือกสรรและแปรรูปเนื้อหาวิชาให้เชื่อมโยงถึงชีวิตประจำวันของเด็กนักเรียน ก็เป็นสิ่งที่ทีมเลือกทำ แม้จะเป็นงานที่หนักเอาเรื่องไม่น้อย
“เนื้อหาอัลกอริธึมมันมีเยอะมาก พวกหนูต้องพยายามเลือกเรื่องที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันมาสอนเด็ก นำมาประยุกต์ว่าจะทำยังไงให้เขาเข้าใจได้ง่ายๆ เห็นภาพ และไม่ไกลเกินตัวเขา เขาจะได้รู้ว่าอัลกอริธึมมันอยู่ในชีวิตเรา แต่เราไม่รู้ว่าถ้าใช้มันแล้วจะทำให้ชีวิตดีขึ้น เช่น การคิดเป็นลำดับ ถ้าเราจะทำอะไรสักอย่างเราต้องคิดเป็นสเต็ปในหัว 1 2 3 4 แล้วเราจะรู้ว่าในลำดับเดียวกันอันไหนควรทำก่อนหรือหลัง” หญิงยกตัวอย่าง
“มันยากตรงการคิดแบบฝึกหัด เพราะพอเราเข้าใจแล้ว เราต้องปรับให้คนอื่นเข้าใจตามเราให้ได้ด้วย พยายามที่จะทำให้เข้าใจง่ายที่สุด เช่น เรื่องการจัดเรียงตัวเลขจากน้อยไปหามาก มันมีหลายวิธีมากเลย จะทำให้เขารู้ได้ยังไงว่าการจัดเรียงแบบนี้มันชื่อว่าอะไร กระบวนการไหนดีกว่าหรือเร็วกว่า จากเนื้อหาในหนังสือเราก็แปลงเป็นรูปภาพ ทำเป็นแบบฝึกหัดให้เขาได้ทำ” ปังจังเสริมถึงความยากที่ทีมต้องฟันฝ่ามาด้วยกัน
ลงลึกกับผู้ใช้ แก้ใหม่วันต่อวัน!
Algolaxy ถูกพัฒนาส่งเข้าประกวด NSC ตามที่หญิงและปังจังตั้งใจ โดยแรกทีเดียวนั้นหญิงรับหน้าที่เขียนโค้ด รุ่นพี่อีกคนหนึ่งรับหน้าที่ทำกราฟิก ส่วนปังจังช่วยงานทั้ง 2 ส่วน กระทั่งผลงานต่อยอดมาสู่โครงการต่อกล้าให้เติบใหญ่ ปีที่ 6 ปังจังก็หันมารับงานกราฟิกเต็มตัว ส่วนเหม่เหม้เข้ามาช่วยหญิงเขียนโค้ด
“ที่เรามาทำต่อกล้าฯ เพราะอยากได้คำแนะนำเพิ่มเติม และอยากให้ผลงานเอาไปใช้ได้จริงๆ ตอน NSC ยังไม่ได้เอาไปใช้จริง ก็ต้องปรับเยอะมาก เหมือนเป็นเวอร์ชั่นใหม่เลย (หัวเราะ) หลักๆ ก็คือปรับเนื้อหาให้เข้าใจง่ายขึ้น เพิ่มแบบฝึกหัด และแก้ UI UX” หญิงเล่าพลางอมยิ้ม
เหตุแห่งการปรับแก้งาน แน่นอนว่าด้านหนึ่งมาจากกรรมการและทีมโค้ช ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่อง UI UX
“มีแก้งานจากที่พี่เขาคอมเมนต์มา ทั้งเรื่องการปรับโลโก้ไอคอนของแอพฯ ที่ไม่สื่อว่าเป็นแอพฯ อะไร ปรับแก้ปุ่ม Tutorial ให้มีความชัดเจนมากขึ้น หลักๆ มันคือ UI UX ที่พี่เขาบอกว่าเราใช้ปุ่มหลากหลายเกินไป อย่างปุ่ม Next ก็จะมีทั้งแบบเป็นวงกลมและลูกศร เขาก็ให้เราทำให้เป็นรูปแบบเดียวกัน” ปังจังอธิบาย
กับอีกด้านหนึ่งนั้นมาจากกลุ่มผู้ใช้ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของทีมนี้ที่ทำงานร่วมกับผู้ใช้อย่างเหนียวแน่น ทั้งในระดับเชิงกว้างและเชิงลึก
“เรามีกระบวนการทำงานร่วมกับผู้ใช้ตลอด หลังจากไปรีเสิร์ชกับพี่ๆ ศิษย์เก่าจนได้เนื้อหามาออกแบบแอพฯ เราก็เอาแอพฯ กลับไปให้พี่ๆ กลุ่มเดิมเทสต์อีก รวมถึงกลุ่มผู้ใช้อื่นๆ ด้วย เช่น คุณครูในเครือเซนต์ปอลฯ (คณะภคินีเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร แขวงประเทศไทย ปัจจุบันมีโรงเรียนในสังกัด 22 แห่ง) และที่สำคัญคือกลุ่มนักเรียนชั้น ม.4 ซึ่งต้องเรียนวิชาอัลกอริธึมนี้โดยตรง” ครูฝ้ายเล่าพลางหันมองเหม่เหม้ ในฐานะที่เป็นกลุ่มผู้ใช้โดยตรง
“หนูใช้โปรแกรมนี้ในการเรียนการสอนจริง ซึ่งมันเข้าใจง่ายขึ้นเยอะมากๆ แล้วหนูยังลองเอาไปให้เพื่อนที่โรงเรียนเก่าลองใช้ด้วย เป็นการขายของนิดนึง (หัวเราะ) เพื่อนก็บอกว่าดี เพราะแต่เดิมเรียนยากมาก ครูให้อ่านหนังสือแล้วสอนแต่เนื้อหาเพียวๆ ไม่มีภาพไม่มีเหตุการณ์ประกอบ เพื่อนเขาก็ไม่เข้าใจ ไม่เข้าใจว่าเรียนไปทำไม และไม่เข้าใจว่าเอาไปใช้อะไรได้บ้าง” เหม่เหม้เล่าด้วยรอยยิ้ม
ไม่เพียงแค่ทดลองใช้เฉยๆ เท่านั้น แต่ทีมยังยกระดับกระบวนการทดลองใช้ไปถึงขั้นใช้เป็นเครื่องมือในการสอบเก็บคะแนนจริง ในวิชาวิทยาการคำนวณเลยทีเดียว
“เราจะคิดโจทย์ขึ้นใหม่เพื่อการสอบโดยเฉพาะ เพราะเราใช้แอพฯ นี้ในการเรียนและการสอบวัดผลเก็บคะแนนจริงๆ ซึ่งเหมือนเราได้รีเช็คแอพฯ ไปในตัว เช่น ถ้ามีบั๊กข้อหนึ่งก็ต้องรื้อกันใหม่” ครูฝ้ายเล่า
ด้วยความที่ใช้ในการสอนและการสอบจริงกับนักเรียน ม.4 ทั้งโรงเรียน ก็ทำให้ทีมจำเป็นต้องกระตือรือร้นในการรับฟังข้อผิดพลาดและเร่งแก้ไขแอพฯ แบบวันต่อวัน เพราะว่า…
“ทันทีที่เจอบั๊กเราต้องแจ้งหญิงให้แก้เลย เพราะวันรุ่งขึ้นมีสอนอีกห้องหนึ่ง เราไม่อยากให้ห้องต่อๆ ไปเฟลถ้าต้องมาเจออีก ดังนั้นเราจะแก้เป็นสัปดาห์ๆ ไปเลย เนื้อหามี 8 บท ก็เทสต์ 8 สัปดาห์ และแก้ตลอด 8 สัปดาห์ ต้องทำอย่างนี้เพราะเจตนาของเราคือต้องการให้มันใช้ได้จริงๆ ทำให้เด็กเข้าใจเนื้อหา ไม่อยากให้เด็กรู้สึกว่าเรียนเรื่องนี้แล้วยาก เรียนเรื่องนี้แล้วไม่ได้ใช้ พอแอพฯ มันใช้ได้จริงเราก็ภูมิใจ” ครูฝ้ายยิ้มท้ายประโยค
ด้วยกระบวนการตามติดผลจากผู้ใช้จริงนี่เอง ที่ทำให้ทีมสามารถพัฒนาแอพฯ ได้สมบูรณ์อย่างรวดเร็ว
“วิธีนี้ทำให้การทำงานเร็วขึ้นมาก เพราะต้องแก้แบบวันต่อวัน อย่างสอนวันพฤหัสบดีเสร็จปุ๊บต้องแก้ให้เสร็จทันเช้าวันศุกร์เพราะมีเรียนอีกห้อง ช่วงแรกๆ จะเหนื่อยหน่อยเพราะเจอบั๊กเยอะมาก ก็แก้มาจนห้องหลังๆ จะไม่ค่อยเจอบั๊กแล้ว” หญิงเล่าอย่างร่าเริง
ด้วยความทุ่มเทและตั้งใจจริง ผลประโยชน์ก็ตกแก่ผู้ใช้กลุ่มนักเรียน ซึ่งส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า แอพฯ นี้ช่วยให้เรียนรู้อย่างสนุกและเข้าใจวิชาวิทยาการคำนวณมากขึ้น
“ด้วยรูปแบบของเกม ทำให้สนุกเพลิดเพลิน ทำให้เราตั้งใจทำมันมากขึ้นและจดจำได้มากขึ้น ถือเป็นการเรียนรู้ไปด้วยระหว่างที่เล่นเกม ช่วยให้เราคิดอย่างมีขั้นตอน รู้จักวางแผน รอบคอบในการลงมือทำอะไร” คือหนึ่งเสียงจากนักเรียน ม.4 โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ ที่ได้ทดลองใช้แอพฯ นี้
และนอกจากกลุ่มนักเรียนแล้ว ยังรวมไปถึงกลุ่มอาจารย์ในเครือเซนต์ปอลฯ ที่ได้นำไปทดลองใช้แล้วให้ฟีดแบ็คกลับมาในทางที่ดีไม่ต่างกัน
“ในการประชุมครูในเครือเซนต์ปอลฯ มีการอบรมเรื่องวิทยาการคำนวณพอดี เราจึงคิดว่าเป็นโอกาสที่ดี จึงนำแอพฯ ไปแนะนำให้คุณครูจาก 22 โรงเรียนได้ลองใช้ พร้อมทั้งแจกซีดีให้คุณครูนำไปลองใช้กับนักเรียนที่โรงเรียนต่อ และขอให้ครูส่งฟีดแบ็ค เช่น อัดคลิปวิดีโอส่งกลับมา ซึ่งฟีดแบ็คส่วนใหญ่ก็บอกว่าดี และให้กำลังใจกันเยอะ” ปังจังเล่าอย่างมีความสุข
“เป็นสื่อการเรียนการสอนที่เหมาะกับคุณครูที่อยากให้นักเรียนไปศึกษาเองก่อนเบื้องต้นแล้วค่อยกลับมาเรียนในห้องเรียน หรือใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนในห้องเรียนโดยใส่ลงไปในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่อง ให้นักเรียนหาความรู้ในห้องเรียน จดใส่สมุด มาทำโปรแกรมเองได้ หรือสมมุติผู้เรียนเรียนในห้องแล้วเขาไม่เข้าใจตัวเนื้อหา บางคนอาจจะไม่ชอบ เด็กบางคนสมาธิสั้น ไม่ถนัดเรื่องการอ่านเนื้อหาที่เป็นหนังสือมากๆ ถ้าได้โปรแกรมนี้เข้ามาช่วยจะทำให้เขามีสมาธิอยู่กับตรงนี้มากขึ้น” คือหนึ่งในความเห็นจากคุณครูโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ที่ได้ทดลองใช้
ขณะที่คุณครูจากโรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ ก็ให้คำชื่นชมไม่ต่างกันว่า “ประโยชน์ของแอพพลิเคชั่นนี้ ดูจากวัตถุประสงค์ของผู้จัดทำ เนื้อหาเป็นการเสนอเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการเทคโนโลยี การฝึกให้รู้จักลำดับขั้นตอนการคิด หรือที่เราเรียกว่าอัลกอริธึม สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานของการนำไปพัฒนาโปรแกรมได้ในอนาคต ครูคิดว่าเป็นเรื่องที่ดีเลยทีเดียวในการจัดทำบทเรียนนี้ขึ้นมา”
เมื่อความสำเร็จสะท้อนกลับเข้าตัว
การทำงานร่วมกับผู้ใช้ โดยเฉพาะในมิติของการเก็บข้อมูลจากผู้ใช้จริงและเร่งปรับแก้ผลงานให้ดีที่สุดเพื่อผู้ใช้กลุ่มต่อๆ ไป ไม่อาจปฏิเสธเลยว่านี่คือกระบวนการทำงานที่หนักหนาสาหัสไม่น้อยสำหรับนวัตกรหน้าใสวัยเรียนเช่น 3 สาว
อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธว่าความทุ่มเทที่ทั้งสามทุ่มลงไปในการพัฒนาผลงาน นอกจากจะทำให้ Algolaxy พัฒนาไปถึงจุดที่ใช้งานได้จริง รอการขยายผลไปสู่ผู้ใช้ในวงกว้าง รวมไปถึงได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากประกวด TICTA (Thailand ICT Awards) และได้สิทธิไปแข่ง APICTA (Asia Pacific ICT Alliance) ต่อที่ประเทศจีนแล้ว ความสำเร็จของผลงานก็หมุนทวนย้อนกลับมาสู่ตัวพวกเธอเอง ในแง่ของพัฒนาการรายบุคคลที่เกิดจากกระบวนการทำงานหนัก
“สำหรับหนูไม่คิดว่าเราต้องมาแก้งานสัปดาห์ต่อสัปดาห์ (หัวเราะ) อย่างที่เข้าต่อกล้าฯ ปีก่อนๆ จะทำอาทิตย์ละครั้งช่วงเสาร์อาทิตย์ ทำเรื่อยๆ ไม่ได้กำหนดเป้าหมาย แต่งานนี้ครูฝ้ายสอนเสร็จปุ๊บหนูต้องมาแก้ให้ทันวันถัดไป มันก็ค่อนข้างตื่นเต้น ต้องทำให้ทัน เพราะมันคือการนำไปใช้งานจริงกับผู้ใช้ ได้ฝึกความรับผิดชอบอย่างเข้มข้นมาก (หัวเราะ) และได้เห็นฟีดแบ็คจริงๆ เวลาที่ครูนำแอพฯ ไปสอนน้องๆ มันมีคำชมกลับมาที่เราโดยตรง ก็รู้สึกภูมิใจ” หญิงเล่าอย่างอารมณ์ดี
ก่อนที่ปังจังจะเล่าในส่วนของตัวเองว่า
“การทำแอพฯ นี้สอนหนูหลายอย่าง ที่เด่นที่สุดน่าจะเป็นเรื่องกระบวนการทำงาน แอพฯ อื่นๆ หนูจะเร่งทำรวดเดียวตอนใกล้ส่ง (ยิ้ม) เวลาเกิดปัญหาก็จะแก้ไม่ทัน เหมือนเรือแล่นเร็วๆ แล้วเจอพายุก็ล่มง่าย แต่งานนี้เหมือนเรือที่แล่นสม่ำเสมอ ปลอดภัยกว่า”
และแน่นอนว่าเหนืออื่นใด ก็คือ ทั้งสามได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกับผู้ใช้อย่างแท้จริง
“ก่อนเข้าค่ายหนึ่งหนูยังไม่รู้เลยว่า UI UX คืออะไร (หัวเราะ) ตอนทำโปรแกรมครั้งแรกคิดว่าก็แค่ออกแบบแล้วทำออกมาเลย แต่จริงๆ มันต้องถามความเข้าใจของผู้ใช้ ถามเนื้อหาจริงๆ ว่าสามารถใช้ได้จริงหรือเปล่า ไม่ใช่เข้าใจเองคนเดียว” เหม่เหม้เล่าถึงการเรียนรู้ที่เกิดขึ้น
“ต้องใส่ใจให้กับผู้ใช้ด้วย ให้เขามีความสุข นำงานที่เราทำมาไปใช้อย่างมีความสุข” ปังจังสรุปความด้วยรอยยิ้มสดใส
จากวิกฤติสู่โอกาส จากความยากสู่ความง่าย ถึงวันนี้ 1 ปีผ่านมา ‘วิชาวิทยาการคำนวณ’ ก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปทั้งสำหรับคุณครูและนักเรียนในเครือเซนต์ปอลฯ เมื่อมีตัวช่วยชั้นดีอย่าง Algolaxy
เช่นเดียวกับตัวนวัตกรหน้าใสทั้งสามของเรา ที่เติบโตขึ้นมากจากกระบวนการพัฒนาผลงานอย่างหนักหน่วงเกินวัยตลอดปีที่ผ่านไป สะท้อนให้เห็นว่าความสำเร็จของผลงานไม่เทียบเท่าความสำเร็จของคนทำงาน
และมากกว่าความจริงที่ว่า การทำเรื่องยากให้ง่ายนั้น…ไม่ง่าย ก็คือแรงบันดาลใจที่ว่า ไม่มีอะไรยากเกินไป…ถ้าเราตั้งใจจะทำ!
‘Algolaxy’ แอพพลิเคชั่นสื่อการเรียนการสอนเรื่องอัลกอริธึม (Algorithm) สำหรับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย นำเสนอในรูปแบบแอนิเมชั่น 2 มิติ ประกอบด้วยเนื้อหา 3 บทเรียน ได้แก่ Solving, Structure และ Algorithm พร้อมแบบทดสอบก่อนและหลังเรียนเพื่อวัดพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน สามารถดาวน์โหลดได้ที่: Google Play: https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sf.Algolaxy&hl=th App Store: https://itunes.apple.com/th/app/algolaxy/id1342678531#?platform=ipad สมาชิกทีม: นางสาวสุภาวดี ภูสนาม (หญิง) ม.6, นางสาวณาฌา หิรัญญาการ (ปังจัง) ม.6, นางสาวจีรนันท์ อนันต์ประภากรณ์ (เหม่เหม้) ม.4 โรงเรียนเซนต์ฟรังซีสซาเวียร์คอนแวนต์ กรุงเทพฯ ที่ปรึกษาโครงการ: อาจารย์ศรา หรูจิตตวิวัฒน์ (ครูฝ้าย) |