- ปัจจุบัน ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น เพราะได้มีการนำความรู้และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ และพัฒนานวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ
- ภารกิจหลักของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(สทอภ.) คือ การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ให้เป็น ‘ความรู้ไร้พรมแดน’ สร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม โดยมี Space Inspirium เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งแรกของประเทศไทย
- Space Inspirium เน้นการเรียนรู้แบบ Life Long Learning สำหรับคนทุกวัย และการเรียนรู้แบบ Learn and Play ผ่านการสัมผัสกับอุปกรณ์เครื่องเล่นที่สร้างแรงบันดาลใจ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยเตรียมคนสู่อนาคต และพัฒนาศักยภาพให้ไปสู่สิ่งที่ใฝ่ฝันได้
เมื่อพูดถึง ‘อวกาศ’ สิ่งที่หลายๆ คนอาจนึกถึงคือพื้นที่อันกว้างใหญ่อย่างไม่มีที่สิ้นสุดและเป็นสิ่งไกลตัวจนดูเหมือนแทบจะจับต้องไม่ได้ แต่หากเราขยับมุมมองอีกสักนิดจะพบว่า อวกาศนั้นอยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด เพราะเทคโนโลยีต่างๆ ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวันก็ล้วนเป็น ‘เทคโนโลยีอวกาศ’ เกือบทั้งสิ้น
“ทุกอย่างเป็นเรื่องอวกาศ แต่เราแค่ไม่รู้ว่าสิ่งที่เราทำในชีวิตประจำวันนั้นคืออวกาศ เพราะอวกาศคือสิ่งที่พัฒนาประเทศชาติ พัฒนาชีวิตของมวลมนุษยชาติให้ดีขึ้น”
The Potential ชวนคุยกับ ปราณปริยา วงค์ษา ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(สทอภ.) หรือที่รู้จักกันดีในนามของ ‘GISTDA’ ผู้อำนวยการ ‘Space Inspirium’ แหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งแรกและแห่งเดียวของประเทศไทย ที่จะมาเปิดมุมมองใหม่ๆ ในการสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับอวกาศให้กับคนทุกเพศทุกวัย และบอกกับเราว่า ‘อวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป’
ในปัจจุบันเทคโนโลยีอวกาศเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น มีการนำความรู้ วิธีการ และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ เพื่อการเรียนรู้และการทำความเข้าใจต่อปรากฏการณ์ต่างๆ และพัฒนานวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ
“การที่เราจะพัฒนาประเทศนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศก็จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะอวกาศคือ ‘ดวงตาของโลก’ อย่างเช่น ภาพดาวเทียม ภาพถ่ายทางอากาศ ถ้าเป็นแต่ก่อนก็จะมีข้อจำกัดเยอะ แต่เดี๋ยวนี้พอเป็นภาพดาวเทียมที่สามารถถ่ายได้ทุกมุมโลกมันก็ทำให้เราสามารถวางแผนและนำไปประยุกต์ใช้ได้ง่ายขึ้น”
ผอ. Space Inspirium กล่าวเพิ่มเติมว่า ความจริงแล้วในประเทศไทยมีองค์กรและเครือข่ายเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศอยู่ทั่วประเทศ ทำหน้าที่ส่งเสริมศักยภาพของบุคลากรในประเทศ และเปิดโอกาสทุกคนสามารถเข้าถึงทรัพยากรความรู้ ซึ่ง GISTDA เอง ก็เป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ในการพัฒนากำลังคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน และเป็นแกนหลักที่สำคัญที่ผลักดันเยาวชนไทยให้ไปสู่สากลในด้านอวกาศ
Space Inspirium แหล่งเรียนรู้ที่ไม่จำกัดวัยและไม่ปิดกั้นความฝัน
Space Inspirium ตั้งอยู่ ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นแหล่งเรียนรู้และสร้างแรงบันดาลใจในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรทางด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศไทย โดยมุ่งสร้างนิสัยใฝ่รู้ตั้งแต่วัยเด็กและการเรียนรู้ร่วมกันของคนต่างวัย ควบคู่กับการส่งเสริมให้องค์กร กลุ่มบุคคล ชุมชน ประชาชน และสื่อทุกประเภทเป็นแหล่งเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์
“ภารกิจหลักของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ(สทอภ.) คือ การพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ให้เป็น ‘ความรู้ไร้พรมแดน’ สร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม ซึ่งเราก็มีแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศแห่งแรกของประเทศไทย ในนามว่า Space Inspirium ที่ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนซึ่งผู้มาเยือนจะได้รับรู้ตัวตนบนจักรวาลอันจะเกิดแรงบันดาลใจในการดำรงชีวิต” ผอ. ปราณปริยา กล่าวถึงภารกิจสำคัญของ Space Inspirium
“ในส่วนของ GISTDA มองว่า ‘การพัฒนากำลังคน’ ซึ่ง หมายถึงการพัฒนาทุกช่วงวัยตั้งแต่เยาวชนไปจนถึงผู้ใหญ่นั้นเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะต้องเริ่มจากการบ่มเพาะบุคลากรให้พร้อมใช้ ไปสู่การสร้างกำลังคนทุกภาคส่วน ซึ่งสิ่งนี้ก็เป็นการเรียนรู้แบบ Life Long Learning”
Learn & Play สัมผัสประสบการณ์จริงบนอวกาศจากพื้นโลก
“คอนเซ็ปต์ของเราคือ ‘อวกาศไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกแล้ว’ เพราะมันอยู่รอบตัวเราเลย มันคือเทคโนโลยีที่เราไม่เคยรู้ว่ามันอยู่รอบตัวและเราก็ใช้มันมาโดยตลอด
พอทุกคนเข้ามาก็จะได้เรียนรู้เรื่องของ ‘เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ’ เป็นการเรียนรู้ประสบการณ์นอกห้องเรียนที่สร้างความรู้ความเข้าใจ ซึ่งโอกาสในการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศสำหรับเยาวชนไทยนั้น ยังคงเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยาก และน้อยคนนักที่จะมีโอกาส
เราจึงขยายผลและกระจายโอกาสให้ทั่วถึง ด้วยการให้ทุกคนมาสัมผัสและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งเราจะเน้นการ Learn and Play ไม่เน้นการท่องจำ เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยเตรียมตัวคนสู่อนาคต สร้างอาชีพใหม่ในประเทศไทย
การได้สัมผัสกับอุปกรณ์เครื่องเล่นที่เป็นของจริงไม่ใช่ในตำรา จะทำให้เราสามารถเกิดจินตนาการที่จะมีแรงบันดาลใจ เกิดการค้นพบตนเอง ทำในสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ และพัฒนาศักยภาพให้ไปสู่ในสิ่งที่ใฝ่ฝันไว้ ซึ่งไม่แน่ว่าในอนาคต เราอาจจะมีนักบินอวกาศที่ติดธงชาติไทยขึ้นไปบนอวกาศคนแรกก็เป็นได้นะคะ” ผอ.ปราณปริยา กล่าว
ออกแบบจักรวาลแห่งความฝัน สู่การสร้างแรงบันดาลใจในความจริง
“เราทำให้ที่นี่เป็นสถานที่จุดประกายและสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องของ ‘อวกาศ’ ให้เป็นเรื่องที่ใครก็เข้าถึง ให้ได้สัมผัสกับสิ่งที่เขาคิดว่าไกลตัว และเปิดประสบการณ์ใหม่ๆ ให้กับคนไทย ซึ่งที่แห่งนี้ก็เรียกได้ว่าเป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยเลยก็ว่าได้
ในส่วนของคอนเทนต์ต่างๆ ก็จะมีนักวิชาการเฉพาะทางที่มีความรู้หลากหลายจากเครือข่ายต่างๆ มาช่วยดีไซน์เพื่อสร้างคอนเทนต์ขึ้นมา จากนั้นจึงนำศาสตร์ต่างๆ มารวมกันในลักษณะ STEM (Science Technology Engineering and Mathematics Education:STEMEducation) นับว่าเป็นโจทย์ที่ท้าทายในการสร้างแหล่งเรียนรู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับทุกคน
เพราะเราต้องตีโจทย์ให้แตกว่าเป้าประสงค์ของเราคืออะไร จึงต้องให้ผู้ที่มีความรู้เฉพาะทาง มาแปลงวิชาการให้เป็นการเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ทุกช่วงวัยที่เข้ามา ดังนั้นตรงนี้ก็จะเป็นการหลอมรวมนักวิชาการต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาช่วยกันระดมสมองและดีไซน์ออกมาและร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวเดียวกัน”
สำหรับการนำเสนอเนื้อหาที่ Space Inspirium จะแบ่งเป็น 2 ส่วนด้วยกัน ชั้นบนเป็นนิทรรศการเกี่ยวกับอวกาศ ร้อยเรียงไทม์ไลน์ช่วงต่างๆ เริ่มจากการกำเนิดของเอกภพของกาแล็กซี่ต่างๆ สู่วิวัฒนาการคิดค้นการส่งกระสวยไปนอกอวกาศ จนได้เทคโนโลยีอวกาศมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติ
ส่วนชั้นล่าง เป็นเรื่องของการนำเทคโนโลยีอวกาศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เน้นภารกิจของสำนักงานฯ ในด้านภูมิสารสนเทศ การจัดทำภาพถ่ายแผนที่ดาวเทียมจากดาวเทียมไทยโชตเพื่อใช้ในการแก้ไข พัฒนา ส่งเสริม และเป็นเครื่องมือการวิเคราะห์ในการตัดสินใจของผู้บริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การแก้ไขน้ำท่วม น้ำมันรั่วไหลในท้องทะเล วิเคราะห์พื้นที่เพาะปลูก การบริหารจัดการผังเมือง การบุกรุกป่าไม้ เป็นต้น
โดยจุดที่เป็นไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้เลยคือเครื่องเล่นจำลองการอยู่บนอวกาศ ที่จะทำให้ทุกคนได้สัมผัสประสบการณ์ผ่านการเล่นจริง
“จุดไฮไลท์ของที่นี่ที่ทุกคนชื่นชอบเลย ก็จะเป็นเครื่องเล่นที่ส่งเสริมทักษะองค์ความรู้ซึ่งใครมาแล้วต้องห้ามพลาดเลยจะมีอยู่ 3 เครื่องด้วยกันค่ะ” เครื่องเล่น ‘Gyroscope’ เป็นการจำลองการฝึกของนักบินอวกาศให้มีความเคยชินกับสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง หรือแรง G เพราะเมื่อนักบินไปปฏิบัติภารกิจนอกกระสวยต้องพบกับสภาวะที่ไม่คาดคิด จึงจำเป็นที่จะต้องฝึกฝนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ให้ได้ ซึ่งเครื่องนี้ขอบอกเลยว่ามีที่ Space inspirium ที่เดียวในประเทศเลยก็ว่าได้ค่ะ
ส่วนเครื่องที่ 2 คือเครื่องเล่น ‘Mars Walk’ เป็นการจำลองการเดินบนดาวอังคารในสภาวะไร้น้ำหนัก โดยเราจะเดินแบบลอยตัวเหมือนอยู่บนอวกาศ ซึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เด็กๆ ได้รับรู้และสัมผัสกับประสบการณ์จริงๆ ด้านอวกาศนอกห้องเรียน
และเครื่องเล่นที่พลาดไม่ได้อีก 1 เครื่อง คือ VR Sphere เป็นการจำลองพัฒนาพื้นที่ EEC เหมือนเป็นการนั่งอุโมงค์ไปสู่โลกแห่งอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า โดยมุ่งเน้นทางด้านการคมนาคมและการขนส่งทั้ง ทางเรือ ทางอากาศ ทางบก ซึ่งจะสามารถเป็นระบบการตัดสินใจและเพื่อตอบโจทย์ให้แก่ผู้บริหารประเทศได้นำไปเป็นเครื่องมือพัฒนาในอนาคตต่อไป”
ผอ.ปราณปริยา เสริมว่า นอกจาก Space Inspiruim ซึ่งเป็นแหล่งการเรียนรู้ด้านอวกาศแล้ว GISTDA ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ และมีการส่งสื่อการเรียนรู้ บทเรียนออนไลน์ให้แก่เครือข่ายต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียนทั่วประเทศเพื่อพัฒนาการเรียนรู้แก่นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป
และมีการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีอวกาศผ่านกิจกรรม ONE DAY KIDS โดยจัดให้เยาวชนจากสถานศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศได้รับความรู้ ความเข้าใจในเรื่องเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมถึงบทบาทของ ‘ดาวเทียมไทยโชต’ ที่มีต่อการสำรวจและปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทยใน 1 วัน
พร้อมส่งเสริมทักษะผ่านเกมส์ โดยการกำกับดูแลของวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งจะทำให้เยาวชนได้เกิดกระบวนการคิดอย่างมีเหตุผลในการสร้างสรรค์ผลงานด้านเทคโนโลยีอวกาศ สามารถนำไปต่อยอดในการศึกษาและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเองได้
“อย่างที่บอกว่าที่นี่เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ เรามีมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นลูกข่าย 7 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ นอกจากนี้ก็มีศูนย์เรียนรู้เครือข่ายอยู่ 19 ศูนย์ ทั่วประเทศ ดังนั้นเวลาที่มีกิจกรรมอะไร เราก็สามารถเชื่อมต่อไปยังศูนย์ต่างๆ ได้เลยโดยตรง เพื่อส่งเสริมการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเรียนรู้ ซึ่งตอนนี้มีโรงเรียนกว่าแสนโรงเรียนที่เป็นสมาชิกเครือข่าย”
“เร็วๆ นี้ก็มีการส่งน้องๆ นักเรียนทุนไปฝึกอบรมที่ศูนย์อวกาศ NASA ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนใฝ่ฝันมาก
เรามองว่าเด็กไทยไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่นเลย แต่เขาขาดโอกาส เราเลยพยายามใช้แหล่งเรียนรู้นี้เป็นเซ็นเตอร์ โดยโจทย์ของเราก็คือ ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ”
การไป ‘อวกาศ’ ไม่ใช่แค่จินตนาการ หากพ่อแม่สานฝันและสนับสนุน
“ฝากถึงพ่อแม่ผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้องนะคะ ถ้าเรามีโอกาสผลักดัน เราก็ควรต้องสานฝันและสร้างบันดาลใจ เหมือนกับที่ Space Inspirium แห่งนี้ ที่ให้มาลองเจอประสบการณ์จริงก่อนไปอวกาศ
เมื่อก่อนตอนที่เราทำงานใหม่ๆ เราเห็นว่าเด็กๆ เกือบทุกคนล้วนฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ แต่ถามว่าในประเทศไทยมีนักบินอวกาศแล้วหรือยัง คำตอบก็คือยังไม่มี ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเด็กทุกคนมีความใฝ่ฝันที่อยากจะเป็นนักบินอวกาศ เขาก็สามารถทำได้เหมือนเด็กประเทศอื่นๆ แต่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องเปลี่ยน Mindset ว่าการไปอวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวขนาดนั้น
เราสามารถสนับสนุนเด็กเหล่านั้นได้ด้วยการเตรียมพร้อมให้เขา และระหว่างการเรียนรู้เด็กเขาจะรู้เองว่าการจะเป็นนักบินอวกาศต้องเตรียมตัวเตรียมใจยังไงบ้าง แต่เราก็ต้องให้ข้อมูลและสนับสนุนอย่างถูกต้อง”
สุดท้าย ผอ.ปราณปริยา เชื่อว่าการไปอวกาศจะกลายเป็นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่สำคัญในอนาคต รวมถึงมองว่าทิศทางของเทคโนโลยีอวกาศในประเทศไทยจะพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น และเธอก็เชื่อว่า Space Inspirium จะเป็นแหล่งบ่มเพาะที่ดีที่จะสร้างคนสู่อนาคต
“เราเชื่อว่าทุกภาคส่วนตระหนัก คอยร่วมแรงร่วมใจกันผลักดันในระดับประเทศ และมีกลุ่มที่ขับเคลื่อนไปสู่ระดับนโยบาย ถ้าเป็นแบบนี้อนาคตก็คงสดใส ประชาชนก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีอวกาศ เพราะอวกาศมีคุณค่า”