- ‘Simulation experience pedagogy’ บอกเราว่า การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องทำผ่านการมองเห็นเสมอไป และบางครั้งการมองเห็นและถูกมองเห็นกลับกลายเป็นม่านขนาดใหญ่ที่ทำให้เราหลงลืมที่จะ ‘มองเห็น’ จากความรู้สึก
- เป็นกระบวนการที่ไม่ใช่แค่โลกจำลองประสบการณ์ แต่ท้ายสุดแล้วมันนำเรามาสู่คำถามว่าเราจะทำอย่างไรต่อไปในอนาคต
- ประสบการณ์นี้จะพาเราไปอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ของความรู้สึกที่เราอาจไม่คุ้นเคย และได้สัมผัสถึงโลกที่เราและคนอื่นๆ ต่างมีประสบการณ์ แม้มองไม่เห็นได้ด้วยตาปรากฏชัดขึ้น
“Feel the world without seeing.”
“รู้สึกถึงโลกใบนี้โดยไม่ต้องมองให้เห็น”
นี่เป็นคำจัดความสั้นๆ ของ ‘Simulation experience pedagogy’ ที่บอกเราว่า การเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องทำผ่านการมองเห็นเสมอไป แนวคิดนี้อยู่ตรงข้ามกับแนวคิดที่ว่าการเรียนรู้จะต้องเริ่มต้นจากการดูหรือมองเห็นด้วยตา ด้วยการสังเกต จดจ่อ เก็บรายละเอียด เพื่อจดจำหรือครุ่นคิดกับมัน ราวกับว่าการเรียนรู้จะเริ่มขึ้นไม่ได้เลยหากเรา ‘ไม่เห็น’
รู้สึกถึงโลกใบนี้โดยไม่ต้องมองเห็น?
สิ่งนี้เป็นความคิดแวบแรกๆ ที่เกิดขึ้นในระหว่างเวิร์คชอร์ป Simulation experience pedagogy x Narrative pedagogy ที่ผมมีโอกาสได้เรียนรู้ในช่วงเดือนที่ผ่านมา โดยมี ‘คุณหลิว’ ที่ทำงานด้านนี้มาเป็นวิทยากรหลัก หลังจากที่คุณหลิวบอกเล่าความหมายของ Simulation experience pedagogy ให้เราเข้าใจคร่าวๆ เขาก็เริ่มเล่าถึงโลกที่เขาได้สัมผัสมากกว่าการมองเห็น ซึ่งเป็นประสบการณ์ช่วงสั้นๆ ที่เขาอาสาทำงานเพื่อผู้ลี้ภัย หากใครติดตามข่าวต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง อาจคุ้นเคยกับข่าวที่บอกเล่าชีวิตผู้อพยพจากตะวันออกกลางไปยังยุโรป โดยเฉพาะกรีกซึ่งเป็นจุดหมายแรกที่ผู้ลี้ภัยหวังพึ่ง แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะไปถึงที่หมาย ในหลายครั้งความตายกลับเป็นสิ่งที่มาถึงก่อน
คุณหลิวเริ่มต้นทำงานในค่ายผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่ง เขาเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญ การอาศัยอยู่ในเต้นเล็กๆ กฎระเบียบที่ห้ามไม่ให้ออกไปนอกค่าย ในช่วงค่ำอากาศก็จะเย็นลงกว่าปกติ นั่นทำให้เขาจินตนาการถึงความรู้สึกและความทรมานของผู้ลี้ภัยหลายชีวิตที่คล้ายกับกำลังลอยอยู่ในท้องทะเลไร้จุดหมายสักแห่ง
เรื่องหนึ่งที่ชัดอยู่ในความทรงจำของคุณหลิว คือน้ำตาและเสียงร้องไห้ของแม่คนหนึ่งเมื่อได้รู้ว่าเธออาจไม่มีวันได้เจอลูกของเธออีก หลังจากที่ลูกของเธอขาดการติดต่อไปเมื่อหลายชั่วโมง เธอเคยมีความหวังว่าลูกของเธอจะตามเธอมาที่ค่ายแห่งนี้ได้สำเร็จ แต่สุดท้ายมันก็ไม่เกิดขึ้น คุณหลิวยังเล่าต่ออีกว่าชีวิตในระยะทางระหว่างต้นทางและปลายทาง มีเรื่องราวของการดิ้นรนมากมาย ใครหลายคนต้องแอบทำงานผิดกฎหมายเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าขึ้นเรือไปยังค่ายผู้ลี้ภัย ใครบางคนในครอบครัวต้องยอมเสียสละให้สมาชิกคนใดคนหนึ่งได้ออกเดินทางไปก่อน การลี้ภัยจึงไม่ใช่แค่เรื่องราวของการอยู่รอด แต่เป็นเรื่องราวของการผลัดพราก
วันหนึ่งในระหว่างนั่งรถไปส่งผู้ลี้ภัยคนหนึ่งเพื่อยังไปจุดหมาย คนขับรถแท็กซี่ในท้องถิ่นถามคุณหลิวว่า “คุณทั้งคู่เป็นผู้ลี้ภัยใช่ไหม?” คุณหลิวตอบกลับไปทันทีว่า “ไม่ใช่” เขาไม่ใช่ผู้ลี้ภัย เขาเป็นเพียงเจ้าหน้าที่เท่านั้น เหตุการณ์ในวันนั้นทำให้คุณหลิวได้ค้นพบร่องรอยของอคติต่อการเป็นผู้ลี้ภัยที่มีอยู่ในตัวเขา ถึงแม้เขาจะทำงานด้านมนุษยธรรม แต่ในเสี้ยววินาทีนั้น เขากลับมองผู้ลี้ภัยด้วยสายตาของความเป็นอื่น
เรื่องเล่าของคุณหลิวในค่ายผู้ลี้ภัยทำให้ผม ‘รู้สึก’ อะไรมากมาย แม้ผมจะไม่ได้ไปยืนอยู่ตรงนั้นกับคุณหลิว แต่ผมกลับรู้สึกถึงความเจ็บปวดและความโศกเศร้าของผู้คนที่อยู่ตรงนั้น ผมสัมผัสได้ถึงการเฝ้ารอคอยด้วยความหวัง ในคลาสนั้น นัยยะของความรู้สึกจึงเป็นสิ่งที่มีความหมาย เป็นกระบวนการหนึ่งของการเรียนรู้ที่ตัวเราค่อยๆ เดินออกจากโลกที่เราคุ้นเคยไปสู่โลกที่เราไม่คุ้นเคย ‘โลกที่เราไม่เคยรู้สึก’ ความรู้สึกของการเฝ้ารอคอยในโลกของเราอาจเป็นเพียงการได้กลับบ้านหลังเลิกงาน การรอคอยวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่ในโลกของผู้ลี้ภัย มันอาจหมายถึงความหวังที่จะได้มีชีวิตที่อยู่ร่วมกันอีกครั้ง ความรู้สึกของแต่ละคนจึงเป็นสิ่งซับซ้อนที่มนุษย์อย่างเราๆ ได้สัมผัสเมื่อเผชิญหน้ากับเงื่อนไขที่แตกต่างในโลกใบเดียวกันนี้ เป็นผลลัพธ์ที่สะท้อนให้เห็นว่าลึกๆ แล้วโลกใบนี้กำลังทำงานกับเราและคนอื่นอย่างไร และนี่อาจเป็นข้อจัดจำกัดของการเรียนรู้ที่ดวงตา การมองเห็น หรือแม้กระทั่งภาพถ่ายไม่สามารถให้เราได้ ผมนึกถึงการที่คุณหลิวเล่าถึงการรีบปฏิเสธอย่างทันควันว่าตัวเขาเองไม่ใช่ผู้ลี้ภัย บทเรียนนั้นทำให้ผมเห็นว่า บางครั้งการมองเห็นและถูกมองเห็นกลับกลายเป็นม่านขนาดใหญ่ที่ทำให้เราหลงลืมที่จะ ‘มองเห็น’ จากความรู้สึก
เรียนรู้จากโลกจำลองประสบการณ์
ความรู้สึกของความกลัว การรอคอย ความหวัง ความเสียใจ ความอึดอัด ความแปลกแยก ไม่ใช่สิ่งบังเอิญที่เกิดขึ้นอย่างลอยๆ และก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ แต่เพราะเราต่างอยู่ในโลกที่สังคม เศรษฐกิจ การเมืองมีผลกับเราเสมอ นั่นทำให้ผมนึกถึงช่วงท้ายๆ ของเวิร์คชอร์ปที่เราแต่ละคนในกลุ่มจะได้บอกเล่าถึงความรู้สึกถึงบางอย่างในโลกที่เราเติบโตมา เช่น เพื่อคนหนึ่งเล่าถึกความรู้สึกอึดอัดที่ต้องถูกบังคับจากพ่อแม่ในเรื่องการเรียน หรือตัวผมเองที่เล่าถึงความกลัวที่มีต่อครู จนทำให้ไม่กล้าขออนุญาตและฉี่แตกในห้องเรียน การบอกเล่าเรื่องราวความรู้สึกร่วมกันทำให้ผมเห็นร่องรอยของอำนาจนิยมและการแข่งขันที่กระทำต่อพวกเรา
เมื่อเราบอกเล่าเสร็จคุณหลิวก็ให้เราทดลองสร้างประสบการณ์จำลองขึ้นมา ประมาณ 5 นาที หลักๆ คือ การพาให้ผู้เรียน (เพื่อนกลุ่มอื่น) เรียนรู้ผ่านการปิดตา โดยที่คนหนึ่งจะเป็นคนค่อยๆ เล่าเรื่องราวไปตามฉาก ขณะเดียวกันผู้เรียนที่ถูกปิดตาอยู่บนเก้าอี้ ก็จะได้ลองเปิดสัมผัสความรู้ ผ่านการได้ยิน หยิบจับ ถูกปรับเปลี่ยนท่าทาง หรือการเคลื่อนย้ายไป (ซึ่งกลุ่มของคนออกแบบจะเป็นผู้ดำเนินการ)
คุณหลิวได้ยกตัวอย่างกระบวนการนี้จากโปรเจคเกี่ยวกับผู้ลี้ภัยที่เคยทำร่วมกับนักเรียนของเขา โดยการดัดแปลงโกดังแห่งหนึ่งให้เป็นฉากต่างๆ และพาผู้เข้าร่วมออกเดินทางในสถานะผู้ลี้ภัยเพื่อผ่านเหตุการ์ณต่างๆ เช่น การจำลองการล่องเรือในทะเล การถูกตรวจตรา เป็นต้น (ดูวีดีโอได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=I2M1c7Fv4jQ )
ในตอนนั้นกลุ่มของเราเลือกจำลองประสบการณ์ซึ่งมาจากเรื่องเล่าที่เราได้แลกเปลี่ยนไป โดยเล่าถึงเด็กคนหนึ่งที่เติบโตมาจากความรู้สึกอึดอัดที่ถูกบังคับบนความหวังดีของครอบครัว (ใช้การเข้าไปกอดให้รู้สึกอึดอัด) เมื่อเขาเข้าสู่โรงเรียนเข้าก็เผชิญกับความกลัวที่โรงเรียนนั้นเต็มไปอำนาจนิยม (ใช้การตีโต๊ะด้วยเสียงที่ดัง และการตะโกนด้วยเสียงที่ดุ) อีกทั้งเขาต้องหลบซ่อนจากการถูกกลั่นแกล้งเพียงเพราะเขาแตกต่าง (ใช้ผ้าคุ้มเพื่อปกปิด) หลังกิจกรรมเสร็จสิ้น เพื่อนคนหนึ่งร้องไห้ออกมา และสะท้อนว่าเมื่อเธออยู่ในโลกประสบการณ์ที่พวกเราออกแบบ มันทำให้เธอนึกถึงความกลัวที่อยู่ในโรงเรียนในตอนนั้น ที่ซึ่งเธอได้เผชิญหน้า แต่ทำอะไรกับมันไม่ได้
Simulation experience pedagogy ไม่ใช่แค่โลกจำลองประสบการณ์ที่เราได้เอาความรู้สึกที่เคยมีมาปะทะกับโลกของความรู้สึกอีกแบบในโลกที่มีเสียงและสัมผัสต่างไปจากที่เราคุ้นเคย ท้ายสุดแล้วมันนำเรามาสู่คำถามว่าเราจะทำอย่างไรต่อไปในอนาคต แต่ประสบการณ์จากกิจกรรมนี้ยังเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวผู้ร่วมออกแบบด้วยเช่นกัน เมื่อเสร็จกิจกรรม ผมได้กลับมาสังเกตความรู้สึกของตัวเองระหว่างการตระเตรียมก่อนเริ่ม ในตอนหนึ่งเราคุยกันว่าในฉากกลัวครู จะจำลองประสบการณ์อย่างไรได้บ้าง ผมทดลองเป็นผู้เรียนให้เพื่อนๆ ในช่วงที่เพื่อนๆ ลองประสบการณ์หลายๆ รูปแบบ คำถามที่เกิดขึ้นข้างในของผมก็คือความรู้สึกกลัวของผมมันมีหน้าตาอย่างไร เมื่อเพื่อนตบโต๊ะเสียงดังและตะโกน ความรู้สึกผมบอกว่าใช่ ผมรู้สึกได้ถึงความกลัวเหล่านั้นจริงๆ ความกลัวจากประสบการณ์ที่ผมเคยผ่านมา เมื่อมองย้อนกลับไปจึงเห็นว่าความรู้สึกนั้นเป็นเรื่องซับซ้อนและเฉพาะตัวที่คนอื่นยากที่จะเข้าใจ แต่ในขณะเดียวระหว่างการซักซ้อม ความรู้สึกก็กลายเป็นบทสนทนาที่ทำให้เราได้เรียนรู้ ได้พากันค่อยๆ เข้าไปอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ของความรู้สึกที่เราอาจไม่คุ้นเคย จุดนี้เองที่การเรียนรู้และสัมผัสถึงโลกที่เราและคนอื่นๆ ต่างมีประสบการณ์หรือกำลังเผชิญอยู่ แม้มองไม่เห็นได้ด้วยตาปรากฏชัดขึ้น