- เมื่อผู้ใหญ่เห็นว่าปืนไม่ใช่เรื่องสำคัญ วัยรุ่นราว 850,000 คนจึงออกมาเดินขบวนเรียกร้องให้ปรับปรุงกฎหมายควบคุมปืน หลังจากโรงเรียนในสหรัฐถูกกราดยิงไปแล้ว 18 ครั้ง
- วัยรุ่นให้เหตุผลว่า ผู้ใหญ่หลายคนดูถูกว่าเรายังไม่โตพอ… อยากถามว่าเราต้องได้รับอนุญาตก่อนใช่ไหม ถ้าจะขอร้องไม่ให้เพื่อนเราตาย
- นี่คือหน้าสำคัญของพลังวัยรุ่น พวกเขาไม่ได้มีแค่คำว่าหัวร้อน หุนหัน เห็นใครไม่สำคัญเท่าตัวเอง แต่ยังมีคำว่า เพื่อน เดินหน้า เพื่อชีวิตที่ปลอดภัยและปลอดปืน
ภาพ: March for Our Lives
ทำไมต้อง March for Our Lives
จนถึงตอนนี้ โรงเรียนในสหรัฐอเมริกาถูกกราดยิงไปแล้ว 18 ครั้ง จากการเก็บข้อมูลขององค์กร Everytown for Gun Safety
ล่าสุด 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา คนร้ายกราดยิงในโรงเรียนมัธยมสโตนแมนดักลาส (Stoneman Douglas) เมืองพาร์คแลนด์ (Parkland) รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 17 คนและคนร้ายคืออดีตนักเรียนวัย 19 ปีที่เพิ่งถูกไล่ออก
ครบ 1 เดือนของเหตุการณ์ (14 มีนาคม) เด็กมัธยมและประถมในรัฐฟลอริดาจึงชักชวนกันออกมาเดินขบวน กลายเป็นกระแสให้นักเรียนเมืองอื่นๆ ร่วม walkout ออกจากโรงเรียน 17 นาที จนวันที่ 24 มีนาคมที่ผ่านมามีการเดินขบวนใหญ่ ภายใต้แคมเปญ March for Our Lives เพื่อเรียกร้องการปรับปรุงกฎหมายควบคุมอาวุธปืน
มีเด็ก เยาวชน และคนสนใจ ออกมาร่วมกว่า 850,000 คน และมี Speaker ขึ้นพูดหลายคน ทุกคนคือเด็กและเยาวชน
และนี่คือคำพูดและความคิดของเด็กๆ ที่ผู้ใหญ่มักบอกว่าไม่เคยอาบน้ำร้อนมาก่อน
เอมมา กอนซาเลซ “แค่ 6 นาที 20 วินาทีเท่านั้น เพื่อน17 คนก็จากพวกเราไป”
“เวลาแค่ 6 นาที 20 วินาทีเท่านั้น เพื่อน 17 คนก็ถูกพรากจากพวกเราไป” ประโยคแรกของเอมมา กอนซาเลซ (Emma Gonzalez) นักเรียนชั้นมัธยมปลาย Marjory Stoneman Douglas ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมจัดงาน March for Our Lives ในวอชิงตันดีซี สหรัฐอเมริกา
“เรารวมถึงเพื่อนๆ อีก 15 คนที่บาดเจ็บ และทุกคนในเหตุการณ์ ย้ำว่าทุกคนจริงๆ ไม่มีใครเหมือนเดิมอีกต่อไป ซึ่งทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์นั้นเข้าใจ ทุกคนที่ได้ยินเสียงปืนจะเข้าใจ”
หลังจากอ่านรายชื่อเพื่อนร่วมห้องที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์กราดยิงในโรงเรียนเสร็จ กอนซาเลซยืนอยู่บนโพเดียมและอยู่ในความเงียบเป็นเวลา 6 นาที พยายามกลั้นน้ำตาไม่ให้ไหลออกมาแต่ก็แพ้ 6 นาทีนั้นเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนนิ่งงันไปชั่วขณะ แต่ทุกสื่อ ทุกสถานี ยังเดินหน้าถ่ายทอดสดและ Live ต่อไปในความเงียบอย่างนั้น
“นี่คือความเงียบที่ดังที่สุดในประวัติศาตร์การประท้วงทางสังคมสหรัฐ” เดวิด คอร์น (David Corn) นักข่าวสายการเมือง คอลัมนิสต์ และ หัวหน้าสำนักข่าว Mother Jones ประจำวอชิงตัน ทวีตเช่นนั้น
เมื่อเวลา 6 นาทีผ่านพ้นไป กอนซาเลซก็เอ่ยว่า “เวลาที่ผ่านไปเมื่อสักครู่นี้ กินเวลาราว 6 นาที 20 วินาที เป็นเวลาที่คนร้ายกราดยิงและทิ้งปืนไรเฟิลเอาไว้กับพวกเรา แล้วตัวเองก็หนีไป เดินอย่างสบายใจอยู่ 1 ชั่วโมงก่อนจะถูกจับกุม”
“สู้เพื่อชีวิตของพวกคุณ ก่อนมันจะกลายเป็นหน้าที่ของคนอื่น”
พูดแค่นี้กอนซาเลซก็ลงจากโพเดียมไป
ซาแมนธา ฟูเอนเตส “ถ้าจะขอร้องไม่ให้เพื่อนเราตาย เราต้องขออนุญาตก่อนใช่ไหม”
14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซาแมนธา ฟูเอนเตส (Samantha Fuentes) นักเรียนชั้นมัธยมปลาย ถูกยิงที่ขาทั้งสองข้าง และยังมีเศษกระสุนอยู่ในดวงตา
“วันแล้ว วันเล่า เราถูกยิง” เธอบอก
“และเวลานี้ที่เราลุกขึ้นพูด เราโดนดูแคลนว่าเรายังไม่โตพอ ราวกับว่า เราต้องได้รับอนุญาตก่อนถ้าจะขอร้องไม่ให้เพื่อนเราตาย บรรดานักกฎหมายและนักการเมืองบอกว่า ปืนไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ก็ไม่สามารถสบตาพวกเราตรงๆ”
จากนั้นจู่ๆ ซาแมนธาก็รีบเอามือปิดปากและอาเจียนออกมาบนเวที
แต่เธอก็รีบจัดการตัวเองให้กลับมาเป็นปกติและพูดต่อจนจบ
ซาแมนธาจบสปีชของเธอด้วยการร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ดเดย์ให้กับ นิโคลัส ดโวเร็ท เพื่อนคนหนึ่งซึ่งเสียชีวิตในเหตุการณ์กราดยิง ถ้ายังมีชีวิตอยู่เขาจะอายุครบ 18 ปีเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
นาโอมิ วาดเลอร์ “เราอายุแค่ 11 ปี แต่เรารู้ว่าชีวิตไม่ได้เท่ากันสำหรับทุกคน”
นาโอมิ วาดเลอร์ (Naomi Wadler) เด็กหญิงวัย 11 ปีจากเมืองอเล็กซานเดรีย รัฐเวอร์จิเนีย ที่ออกมาพูดในฐานะ “เด็กสาวแอฟริกัน-อเมริกัน ที่ไม่เคยได้ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์แม้สักฉบับ”
“ฉันมาวันนี้ในฐานะตัวแทนของ คอร์ทลิน อาร์ริงตัน (Courtlin Arrington) ตัวแทนของฮาดิยา แพดเดิลตัน (Hadiya Pendleton) และในฐานะตัวแทนของไทยาเนีย ทอมป์สัน (Taiyania Thompson) ซึ่งถูกยิงบ้านของเธอในวอชิงตันดีซี เธออายุแค่ 16 ปีเท่านั้น
“ฉันมาที่นี่วันนี้ในฐานะด็กสาวแอฟริกัน-อเมริกันที่ไม่เคยได้ขึ้นหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ เรื่องราวของพวกเธอไม่ได้เป็นแม้กระทั่งข่าวเด่นในข่าวช่วงเย็นด้วยซ้ำ
“ฉันมาในฐานะตัวแทนของผู้หญิงแอฟริกัน-อเมริกันที่ตกเป็นเหยื่อในเหตุการณ์กราดยิง ซึ่งถูกนับและนำเสนอในรูปแบบตัวเลขหรือสถิติ แทนที่จะเป็นภาพของเด็กสาวสดใส มีชีวิตชีวา และมีศักยภาพ”
วันที่ 14 มีนาคม ที่ผ่านมา วาดเลอร์เป็นผู้นำเดินขบวนของโรงเรียนประถม George Mason เพื่อไว้อาลัยให้เหยื่อจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่ใช้ปืนกราดยิง ซึ่งใช้เวลาเดิน 18 นาที ตัวเลข 18 นาทีนี้ แสดงความระลึกถึงเหยื่อที่เสียชีวิต 17 คนในโรงเรียนมัธยม Marjory Stoneman Douglas รัฐฟลอริดา และอีก 1 นาทีอุทิศเพื่อคอร์ทลิน อาร์ริงตัน รุ่นพี่วัย 17 ปีที่ถูกยิงจนเสียชีวิตเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ที่โรงเรียนในเมืองเบอร์มิงแฮม อลาบามา
“มันมากเกินพอแล้วสำหรับรายชื่อคนเหล่านี้ ทั้งเด็กสาวและผู้หญิงแอฟริกัน-อเมริกัน ที่สุดท้ายถูกจดจำไว้ในรูปของจำนวน ไม่ใช่บุคคล ฉันมาที่นี่เพื่อจะบอกเด็กผู้หญิงเหล่านั้นว่า เหตุการณ์เหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นแล้ว”
ขอย้ำอีกครั้งว่า นาโอมิ วาดเลอร์ คือเด็กหญิงวัยเพียง 11 ปี ช่วงเริ่มต้นของวัยรุ่น (Adolescent 11-19 ปี) เท่านั้น
สมองวัยรุ่นที่ผู้ใหญ่ชอบเข้าใจผิด
โรนัลด์ ดาห์ล (Ronald Dahl) ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการมนุษย์ (Institute of Human Development) มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California, Berkeley) ใช้เวลาศึกษาเรื่องสมองวัยรุ่น (Adolescent Brain) กว่า 10 ปี ก่อนจะพบว่า พวกผู้ใหญ่คาดการณ์สมองวัยรุ่นไว้ต่ำเตี้ยเกินไป
ยิ่งศึกษาก็ยิ่งเห็นความผสมผสาน ความเข้าใจทางจิตวิทยา สังคม และ การพัฒนาทางอารมณ์ ถึงเวลาล้มล้างความคิดเหมารวมว่าวัยรุ่นเจ้าปัญหา แท้จริงแล้วสมองวัยรุ่นมีการเติบโต เรียนรู้และเปลี่ยนแปลง เร็วและโตอย่างน่าพอใจ
“การศึกษาเรื่องสมองวัยรุ่นกว่า 10 ปี สร้างความกระจ่าง และมอบความจริงแห่งวัยหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ให้กับผม”
โรนัลด์ให้ข้อมูลว่า อาจจะเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียวว่า ช่วงเริ่มหรือก้าวแรกของการเป็นผู้ใหญ่มันทั้งอันตราย หัวร้อนง่าย และสับสนในชีวิตบ่อยๆ พร้อมๆ กันกับความเสี่ยงและความอ่อนไหวที่พุ่งสูงปรี๊ด
“แต่ในทางกลับกัน วัยรุ่นแสนจะวุ่นนี้คือช่วงวัยของโอกาสสำคัญ ช่วงแห่งการปรับและก่อพื้นฐานสำคัญแห่งการพัฒนาสมอง”
ที่สำคัญแพชชั่นอันล้นเหลือของวัยรุ่น ทำอะไรได้มากมาย เช่น
- เติมพลังให้ความรู้สึกที่แย่ๆ และพฤติกรรมที่ประมาทขาดความยั้งคิด
- สร้างแรงบันดาลใจให้พุ่งไปสู่เป้าหมาย
- สร้างสรรค์บทกลอน บทกวีที่ไม่มีวันตาย
- ตกหลุมรักให้หัวปักหัวปำ
- สร้างอะไรใหม่ๆ ให้วงการดนตรี ศิลปะ แฟชั่น และเทคโนโลยี
“ในมุมของวิทยาศาสตร์ วัยแห่งดาบสองคมที่แท้เช่นนี้ ไม่ไปทางแย่ก็ดีไปเลย ดังนั้น นี่คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญสำหรับการปลูกฝังและการมองโลก หน้าต่างแห่งโอกาสต่างๆ ที่จะหนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดี ซึ่งนำไปสู่การเรียนรู้ทางอารมณ์และสังคมที่ดี ต้องทำในวัยนี้”
ความจริงชุดที่ว่า สมองส่วนหน้า (คิด วิเคราะห์ แยกแยะ และใช้เหตุผล) ยังไม่ทำงานเต็มที่ในสมองวัยรุ่น นั้นอาจจะไปบดบังข้อเท็จจริงอีกข้อที่ว่า สมองวัยรุ่นจะปรับได้ดีกับบททดสอบต่างๆ ทั้งการเรียนรู้ สำรวจ ทดลองสิ่งใหม่ๆ และเรียนรู้ที่จะก้าวไปสู่สังคมที่กว้างขึ้นแล้วเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน นำไปสู่ทักษะต่างๆ และความสามารถด้านวัฒนธรรม สังคม นำไปสู่บทบาทการเป็นผู้ใหญ่ การสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคง และอิสระ
“กุญแจสำคัญ สำหรับการสร้างศักยภาพ คือการให้พวกเขาได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำและความผิดพลาด” โรนัลด์เผย
วัยรุ่นคือสัญลักษณ์ของ การเติบโตอย่างเต็มที่และแตกต่าง ผ่านการเรียนรู้อย่างรวดเร็วและการพัฒนาของสมอง ซึ่งเป็นการเรียนรู้ทางสังคมและการพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง หรือปัจเจก
ความเป็นปัจเจกนี้เอง จะพัฒนากลายเป็นความรู้สึกว่าตัวเองได้รับการยอมรับหรือถูกปฏิเสธจากสังคม ได้รับความเคารพหรือเปล่า และต้องการพื้นที่ทางสังคมแค่ไหน
ถ้าได้รับการยอมรับ ปลายทางคือ ความ “รู้จักตัวเอง” แบบนี้จะช่วยขับพลังด้านบวก เช่น หาคุณค่าหรือข้อดีจากการทำงานหนักและการทำงานให้สำเร็จ
หากถูกปฏิเสธ จะก่อกลายเป็นความรู้สึกอ่อนไหวอาจก่อให้เกิดปัญหาและความท้อแท้ เช่น ความวิตกกังวลที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและความก้าวร้าวผิดปกติ
“มันคือเวลาแห่งการค้นหาความหมายและเป้าหมายในชีวิตของเขา ซึ่งไม่ได้มาในรูปแบบความคิดที่จับต้องไม่ได้ หากแต่คือวิธีที่จะเชื่อมแพชชั่นที่เร่าร้อน ให้นำไปสู่เป้าหมายและแรงบันดาลใจที่จะมีอิทธิพลต่อชีวิตไปตลอดช่วงอายุขัย” โรนัลด์สรุป
เช่นเดียวกับแพชชั่นที่เร่าร้อนของนาโอมิ วาดเลอร์ ที่แสดงออกมาผ่านทุกประโยคและทุกคำพูด
“ผู้ใหญ่บอกว่าฉันเด็กเกินกว่าจะมีความเป็นตัวของตัวเอง ผู้ใหญ่บอกว่าฉันเป็นเครื่องมือของผู้ใหญ่บางคนที่ไม่อยากเปิดเผยชื่อ ซึ่งมันไม่จริง ฉันเละเพื่อนๆ อาจจะอายุแค่ 11 ปีและอาจอยู่แค่ชั้นประถม แต่เรารู้ว่าชีวิตไม่ได้เท่ากันสำหรับทุกคนและเรารู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด เรายังรู้ด้วยว่าเรายืนอยู่ในเงามืดๆ ของจุดศูนย์กลาง และพวกเรารู้ว่าอีก 7 ปีต่อจากนี้ เราก็จะมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งด้วยเช่นกัน”
ตอนท้าย วาดเลอร์เลือกปิดเวทีด้วยคำของ โทนี มอร์ริสัน (Toni Morrison) นักเขียนหญิงแอฟริกัน-อเมริกัน ผู้ล่วงลับ
“ถ้าคุณต้องการอ่านหนังสือสักเล่มแต่ยังไม่มีใครเคยเขียน ก็จงลงมือเขียนมันเสียเอง”