- การที่เด็กใจร้อน ไม่ได้แปลว่าผู้ใหญ่ต้องตอบสนองเขาทันทีทันใด ยิ่งเด็กใจร้อนเท่าไหร่ เรายิ่งต้องใจเย็นลงเท่านั้น ผู้ใหญ่ควรช้าลง เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งสำคัญเหล่านี้
- สำคัญที่สุดอย่าประเมินเด็กที่ ‘ผลลัพธ์’ ปลายทาง ให้ชื่นชมที่ ‘ความพยายาม’ และ ‘ความตั้งใจ’ ระหว่างทางด้วย ที่สำคัญชื่นชม ‘ความกล้าหาญ’ ที่เด็กๆ กล้าที่จะเริ่มทำด้วยตนเอง
- การเร่งรีบไม่ได้เป็นผลดีกับทั้งต่อตัวเด็กและผู้ใหญ่เอง เพราะนอกจากเราจะทำให้เด็กๆ พลาดโอกาสในการเรียนรู้แล้ว เราเองอาจจะพลาดโอกาสที่จะได้เห็นการเติบโตในตัวเด็กๆ ด้วย
ธรรมชาติของเด็กปฐมวัย 0-6 ปี มักจะเต็มไปด้วยพลังและการเคลื่อนไหวที่คาดเดาไม่ได้ เด็กวัยนี้มักจะคิดสิ่งใด จะลงมือทำทันที ไม่ทันได้ระแวดระวังหรือคิดวางแผนซับซ้อนแต่อย่างใด การกระทำและคำพูดของเด็กวัยนี้จึงตรงไปตรงมาและมักนำหน้าความคิดเสมอ เด็กวัยนี้มีแนวโน้มใช้อารมณ์นำเหตุผลและความชอบมาก่อนความสำคัญ เนื่องด้วยสมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการคิดและการกระทำโดยเฉพาะการยับยั้งชั่งใจยังเติบโตไม่เต็มที่ จึงทำให้ยังทำงานไม่สมบูรณ์เฉกเช่นผู้ใหญ่ (Tsujimoto, 2008)
ด้วยเหตุนี้ผู้ใหญ่จึงต้องให้การสอนเขาอย่างใจเย็นและอดทน เพราะเราอาจจะต้องสอนเขามากกว่าหนึ่งครั้ง เด็กแต่ละคนเรียนรู้ช้าเร็วแตกต่างกันไป ผู้ใหญ่จึงมีหน้าที่สอนเขาทุกครั้งที่มีโอกาสมั่นคงและสม่ำเสมอเช่นเดิมทุกครั้ง
‘การที่เด็กใจร้อน ไม่ได้แปลว่าผู้ใหญ่ต้องตอบสนองเขาทันทีทันใด ยิ่งเด็กใจร้อนเท่าไหร่ เรายิ่งต้องใจเย็นลงเท่านั้น
ผู้ใหญ่ควรช้าลง เพื่อให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งสำคัญเหล่านี้’
1) ‘การรอคอย’
ให้เด็กๆ ฝึกการรอบ้าง แต่ต้องไม่รอนานเกินความสามารถของวัยเขา เวลาที่เหมาะสม คือ 5-10 นาที ไม่ควรเกินจากนี้นัก หากต้องรอนานกว่านั้น ควรมีทางเลือกให้เด็กๆ ได้ทำรอ เช่น สมุดกับสีให้เด็กขีดเขียนระหว่างรออาหารมาเสิร์ฟ หนังสือนิทานให้เด็กเปิดอ่านระหว่างรอเราทำธุระในห้องน้ำ
2) ‘การพยายามด้วยตนเอง’
ให้เด็กๆ ได้ทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเองก่อนที่เราจะเข้าไปช่วยเหลือในระยะเวลาที่เหมาะสมคือ 3-5 นาทีที่เด็กๆ ได้ลองทำและแก้ปัญหาด้วยตัวเองก่อน เช่น พยายามใส่รองเท้าด้วยตัวเอง พยายามประนีประนอมกับเพื่อนเพื่อขอเล่นด้วย พยายามเปิดฝาแป้งโดว์ด้วยตนเอง
3) ‘การจัดการอารมณ์อย่างเหมาะสม’
ให้เด็กๆ ได้มีเวลาเรียนรู้อารมณ์ที่เกิดขึ้น ไม่เป็นไรที่บางวันเด็กๆ อาจจะหงุดหงิด โมโห อาละวาด และร้องไห้ออกมา การที่ผู้ใหญ่ไม่เร่งรีบและเร่งรัดให้พวกเขาต้องสงบเดี๋ยวนี้
ทำให้เด็กๆ รู้สึกปลอดภัย เพราะการที่ผู้ใหญ่รอเด็กๆ ทำให้พวกเขารู้สึกได้รับการ ยอมรับและอุ่นใจ เด็กๆ ที่ได้อยู่กับอารมณ์จะได้รู้จักอารมณ์ของตนและเรียนรู้ที่จะสงบลงด้วยตัวเอง โดยมีผู้ใหญ่ให้การเคียงข้างดูแลอย่างเหมาะสม เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก เด็กๆ จะเรียนรู้ว่า อารมณ์ทางลบที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา และตัวเขามีความสามารถที่จะสงบลงได้ด้วยตัวเอง เด็กๆ จะไม่เก็บกดอารมณ์ทางลบเอาไว้ แต่พวกเขาจะเลือกที่จะระบายออกอย่างเหมาะสม ซึ่งนำไปสู่การจัดการอารมณ์ที่ ดีต่อไป
ถ้าพ่อแม่ไม่ไหวแล้ว เรามีทางเลือกเสมอ
ทางเลือกที่ดีที่สุดคือ ‘ชะลอเวลาในการปะทะกับลูก’ ขอเวลานอกให้ตัวเอง
ไปไหนไม่ได้ ขอให้เรายืนขึ้น ทอดสายตาออกไปให้ไกลจากตรงนั้น รอให้เราสงบ ทดสอบตัวเองได้ด้วยการส่งเสียงเรียกชื่อลูก
ถ้าเราพูดด้วยระดับเสียงที่เบาลงได้แล้ว เมื่อนั้นค่อยๆ พูดค่อยๆ จากับลูก
แนวทางการรับมือกับความใจร้อนของเด็กๆ
1) ถ้าไม่พร้อม ให้พักก่อน
เวลาเด็กๆ ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ และพยายามดันทุรังทำต่อไป นอกจากจะทำไม่ได้แล้ว อาจจะแย่ไปกว่าเดิมอีก ดังนั้นการออกมาพัก สูดอากาศ ให้ใจเย็นลง แล้วค่อยกลับไปทำใหม่ เด็กๆ จะทำมันได้ ดีขึ้น
2) การออกกำลังกาย และเล่นอย่างเพียงพอ
ยิ่งใจร้อน ยิ่งควรเคลื่อนไหวร่างกายให้มาก เพราะจะช่วยระบายแรงออกไป ยิ่งเด็กๆ ได้เคลื่อนไหวร่างกาย พวกเขายิ่งมีสมาธิมากขึ้นกับสิ่งที่ทำ
โดยปกติแล้วเด็กปฐมวัยควรได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือวิ่งเล่นจนหัวเปียกชุ่มประมาณ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน (Baumgartner, Jackson, Mahar, & Rowe, 2015) ซึ่งสามารถแบ่งเวลาวิ่งเล่นออกเป็นช่วงๆ ได้ เช่น ช่วงระยะเวลา 1 ชั่วโมงเช้าเย็น และช่วงระยะเวลา 30 นาทีย่อยๆ ระหว่างวันเราไม่จำเป็นต้องทำต่อเนื่อง 2-3 ชั่วโมงต่อครั้ง
3) เล่นหรือสัมผัสกับธรรมชาติ
เล่นน้ำ
เล่นทราย
เล่นดิน
เล่นโคลน
ปีนต้นไม้
วิ่งเล่นในสนามหญ้า
ธรรมชาติช่วยรองรับพลังอันมหาศาลของเด็กๆ ได้เสมอ ยิ่งเด็กๆ เล่นกับธรรมชาติ พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะใจเย็นลงมากเท่านั้น
4) เพิ่มเวลากับหนังสือ ลดเวลาดูหน้าจอ
ตาดูภาพบนหน้ากระดาษ
หูฟังเสียงอ่านจากพ่อแม่
กายเอนพิงในท่าที่ผ่อนคลาย
ทำให้เด็กๆ ค่อยๆ ซึมซับเรื่องราวที่อยู่ตรงหน้าช้าๆ
เด็กๆ เรียนรู้ที่จะช้าลง
5) สภาพแวดล้อมที่ช้าลง
พ่อแม่คือสภาพแวดล้อมที่มีผลกับลูกโดยตรง
ยิ่งพ่อแม่เร็วเท่าไหร่ ลูกยิ่งเร็วเท่านั้น
ดังนั้นยิ่งพ่อแม่ใจเย็น ลูกจะเรียนรู้ที่จะใจเย็นลง
หากอยากจะทำอะไรให้ตรงเวลา
พ่อแม่ควรเผื่อเวลา และใช้การเตือนก่อนหมดเวลาเสมอ
หากอยากให้ลูกทำอะไรให้เร็วขึ้น
พ่อแม่ควรเปิดโอกาสให้ลูกได้ฝึกฝนให้เยอะที่สุด เพื่อให้เขาทำสิ่งนั้นได้เร็วขึ้น
เด็กๆ ทุกคนเกิดมาเพื่อเรียนรู้ ลองผิดลองถูก และเป็นผู้ช่วยเหลือที่ดี แต่ผู้ใหญ่ต้องไม่พรากโอกาสเหล่านั้นไปจากเขา
เด็กๆ อยากช่วยเหลือตัวเอง แต่เขาเพิ่งเริ่มหัดทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเอง เขาจึงทำได้ช้า และอาจจะทำไม่ได้สมบูรณ์แบบ ผู้ใหญ่มีหน้าที่เผื่อเวลาให้เขาสักประมาณ 3-5 นาที หากเด็กทำไม่ได้ หรือ ขอความช่วยเหลือ เราค่อยเข้าไปสอน
ทำให้ดู
พาเขาทำ (จับมือทำ)
ทำด้วยกัน
ฝึกฝนจนเขาสามารถทำได้เอง
เขาทำได้เอง แม้ไม่มีเราอยู่ตรงนั้น
สำคัญที่สุดอย่าประเมินเด็กที่ ‘ผลลัพธ์’ ปลายทาง ให้ชื่นชมที่ ‘ความพยายาม’ และ ‘ความตั้งใจ’ ระหว่างทางด้วย ที่สำคัญชื่นชม ‘ความกล้าหาญ’ ที่เด็กๆ กล้าที่จะเริ่มทำด้วยตนเอง
สุดท้าย การเรียนรู้ของเด็กๆ เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การจะเรียนรู้สิ่งใดอย่างยั่งยืน เด็กๆ ควรได้ใช้เวลากับสิ่งนั้นให้นานและมากที่สุด
ลูกใจร้อน พ่อแม่อย่าใจร้อนตามเขา ถ้าลูกจะวิ่งหนีเรา พ่อแม่ไม่ควรปล่อยเขาวิ่งและตามไปวิ่งไล่จับกับเขา สิ่งที่พ่อแม่ควรทำคือจูงมือเขาไว้ตั้งแต่แรก และเดินไปกับเขาอย่างช้าๆ และมั่นคง
การเร่งรีบไม่ได้เป็นผลดีกับทั้งต่อตัวเด็กและผู้ใหญ่เอง เพราะนอกจากเราจะทำให้เด็กๆ พลาดโอกาสในการเรียนรู้แล้ว เราเองอาจจะพลาดโอกาสที่จะได้เห็นการเติบโตในตัวเด็กๆ ด้วย
‘ยิ่งลูกใจร้อน
พ่อแม่ยิ่งต้องใจเย็น และช้าลง’
อ้างอิง
Baumgartner, T. A., Jackson, A. S., Mahar, M. T., & Rowe, D. A. (2015). Measurement for evaluation in kinesiology. Jones & Bartlett Publishers.
Tsujimoto, S. (2008). The prefrontal cortex: Functional neural development during early childhood. The Neuroscientist, 14(4), 345-358.