- ปรากฏการณ์การเข้ามาแสดงออกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ ทำให้เกิดการปะทะกันทั้งความคิดและความเห็นกัน คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ The Potential สื่อสารผ่าน The Potential จากประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องบทบาทหน้าที่ของโรงเรียนและครอบครัว ต่อการเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยของนักเรียน และนิสิตนักศึกษา
- “เยาวชนจะเรียนรู้จากไหนว่าการคิดต่างไม่ใช่ศัตรูกัน? ก็ต้องเรียนรู้ในโรงเรียน แต่หากบทบาทของโค้ช หรือ ผู้อำนวยการเรียนรู้ (facilitator) อยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องกำหนดบทบาทตัวเองให้ชัดเพื่อไม่ให้อยู่ในสถานการณ์ที่ครูหรือผู้ปกครองยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับนักเรียน แต่ให้เขารู้ว่าเราทำหน้าที่สนับสนุนให้กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อการเรียนรู้ของเขา”
จากปรากฏการณ์การเข้ามาแสดงออกทางการเมืองของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะการทำกิจกรรมในพื้นที่โรงเรียน มหาวิทยาลัย และพื้นที่สาธารณะต่างๆ หลายจังหวัดทั่วประเทศไทย ก่อให้เกิดความไม่สบายใจของผู้ใหญ่หลายท่าน ไม่ว่าจะเป็นครูในโรงเรียน ผู้ปกครอง ตามที่ได้เห็นข่าวการปะทะกันทั้งความคิดและความเห็นกันในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา
คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล และผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ The Potential ในฐานะผู้ขับเคลื่อนงานเยาวชนมานานเกินสิบปี สื่อสารผ่าน The Potential จากประเด็นดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องบทบาทหน้าที่ของโรงเรียนและครอบครัว ต่อการเคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยของนักเรียน และนิสิตนักศึกษา
ด้วยถ้อยความต่อไปนี้…
กิจกรรม เนื้อหา และ ท่าที: 3 ปัจจัยที่ชวนครูและพ่อแม่แบบโค้ชรู้ให้ชัด ก่อนช่วยลูกและศิษย์พัฒนาทักษะพลเมือง
การที่เยาวชนโดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ทำให้สังคมดูตกใจมาก คำถามคือ “ทำไมเราตกใจ?” เราอาจจะตกใจเพราะในสมัยที่พวกเรา (ผู้ใหญ่) อยู่ในยุคกระโปรงบานขาสั้นหรืออยู่ในอายุเท่าเขา เรายังไม่ได้สนใจการเมืองหรือยังไม่เข้าใจการเมืองมากเท่าไร เราจึงแปลกใจว่าทำไมเด็กๆ ในช่วงวัยเท่ากับเราสมัยนั้นกลับสนใจการเมืองและดูมีความคิดเห็นที่แตกต่างจากเรา ถึงขั้นที่ผู้ใหญ่บางคนบอกว่า “มันไปไกล”
ดิฉันคิดว่าตรงนี้เองที่ทำให้คนรู้สึกตกใจ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ “ตกใจแล้วเราทำยังไง?” เราจะมีท่าทีอย่างไร วันนี้ดิฉันอยากจะสื่อสารกับครอบครัว กับพ่อแม่ผู้ปกครอง กับครูอาจารย์ ซึ่งเกี่ยวพันกับเยาวชนโดยตรง เพราะคิดว่าโรงเรียนและครอบครัวจะเข้ามามีบทบาทค่อนข้างสูง
คำถามคือ ตอนนี้สิ่งที่ครูและผู้ปกครองต้องเข้าใจ หรือต้องมองสถานการณ์แบบนี้อย่างไร ถ้ามองในมุมของนักการศึกษาหรือนักการเรียนรู้ ก็ต้องบอกว่า มันถูกต้องแล้วที่นักศึกษา เยาวชน นักเรียน สนใจลุกขึ้นมาทำกิจกรรมการเมือง เพราะถ้าเราเข้าใจหลักการการเรียนรู้ว่าการเรียนรู้ไม่ได้อยู่ที่การท่องจำ ไม่ได้อยู่ที่การอ่านหนังสือแต่อยู่ที่การลงมือปฏิบัติ หรือ practice
มองว่าสถานการณ์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้เรื่องหน้าที่พลเมือง ตอนนี้เยาวชนก็กำลังทดลองปฏิบัติทำหน้าที่พลเมืองอยู่ เพื่อให้ได้ประสบการณ์และความรู้จากการลงมือทำ ซึ่งการเรียนรู้ในแนวทางนี้เป็นแนวทางที่เรากำลังจะปฏิรูปการศึกษาไทย เพื่อให้การเรียนการสอนในห้องเรียนพลิกโฉมจากเรียนโดยครูบอกสอนมาเป็นฝึกปฏิบัติ ขอย้ำว่าทิศทางการปฏิรูปการศึกษาจะไปในทิศทางนี้ทั่วโลก เพื่อให้เยาวชนที่จบการศึกษา ในการทำงาน ในการอยู่ร่วมกับคนในสังคมที่แตกต่างหลากหลาย เป็นสมรรถะของคนในสมรรถนะที่ 21
ถ้ามีมุมมองแบบนี้ เราก็จะไม่ได้มองเหตุการณ์หรือสถานการณ์แบบนี้ว่าเป็นเรื่องที่น่าหวาดกลัว แต่จะเห็นว่าสถานการณ์แบบนี้เป็นขั้นตอนการเรียนรู้ของเยาวชน ของนักศึกษา ของนักเรียน เช่นนี้แล้ว บทบาทของผู้ใหญ่ทั้งครูและพ่อแม่ จะเปลี่ยนจากการเผชิญหน้าเป็นการโอบอุ้ม แนะนำ พูดคุย ทำความเข้าใจ และให้โอกาส
กับเรื่องนี้ อยากให้มองแยกกัน 3 เรื่อง คือ หนึ่ง-กิจกรรมเหล่านี้ว่าดีหรือไม่ดี น่าสนับสนุนหรือแบน กับสอง-คอนเทนต์หรือเนื้อหาที่เขากำลังสื่อสารมันใช่หรือไม่ใช่ เราเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และ สาม-ท่าทีในการแสดงออก
เรื่องแรก กิจกรรม ถ้าเรามองว่าเรื่องนี้เป็นขั้นตอนการเรียนรู้ เป็นกระบวนการเรียนรู้หน้าที่พลเมืองและประชาธิปไตย แปลว่าเราต้องส่งเสริม โรงเรียนต้องเปิดพื้นที่ให้เขาแสดงกิจกรรม ซึ่งต้องขอบคุณสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่เข้าใจ ที่ออกมาบอกแล้วว่าเปิดโอกาสให้นักเรียนทำกิจกรรมการเมืองในพื้นที่โรงเรียนได้ (อ่านข่าวได้ที่นี่) ซึ่งนี่เป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนมาก
แต่การเรียนรู้ในโรงเรียนและในบ้าน ต้องมีโค้ช มีคนคอยแนะนำ ก็ต้องถามกลับไปที่คุณครูและพ่อแม่ว่าเราทำหน้าที่ชี้แนะประคับประคองให้กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นและเกิดการเรียนรู้ของนักศึกษาและนักเรียนหรือไม่ แทนที่เราจะหวาดกลัว วิตก แต่เราเข้าไปช่วยประคับประคองได้เลย เช่น โรงเรียนจัดพื้นที่ จัดเวลา ให้น้องๆ ได้แสดงความคิดเห็น มีครูบาอาจารย์ที่เป็นที่ปรึกษา ที่มีความเข้าใจและมีท่าทีที่เป็นมิตร
ซึ่งการเป็นคุณครูที่จะเข้าไปโค้ช หรือ facilitate กิจกรรมเหล่านี้ต้องกำหนดเป้าหมายให้ดีว่า น้องๆ จะได้เรียนรู้ประชาธิปไตย เรียนรู้ว่าการแสดงออกทางการเมืองนั้นควรเป็นอย่างไร ซึ่งในส่วนเนื้อหา (Content) ที่เขาจะสื่อสารนั้น ดิฉันจะขอพูดในส่วนถัดไป แต่เฉพาะเรื่องการทำกิจกรรม แทนที่ครูจะห้ามปราม ก็น่าจะสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมเหล่านี้ภายใต้การไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น นี่จะเป็นโจทย์แรกที่เขาจะได้เรียนรู้ว่าประชาธิปไตยแบบไหนที่จะรักษาสิทธิตัวเองได้และไม่ไปละเมิดสิทธิคนอื่น ได้รู้จักกับประชาธิปไตยแห่งการพูด และได้เรียนรู้ว่าสถานศึกษาเปิดโอกาสให้เขาได้พูดและเรียนรู้
ประการต่อมา ท่าที ตอนนี้ท่าทีที่สังคมกังวล ต้องกลับไปดูว่าขณะนี้ก็ ‘แรง’ ทั้งสองฝ่าย เมื่อผู้ใหญ่ คุณครู หรือ ผอ. มองบทบาทตัวเองเรื่องการเป็นโค้ชหรือ facilitator ตรงนี้ไม่ออกจึงเข้าไปขัดขวาง กลายเป็นการเผชิญหน้า ยืนอยู่กันคนละฝั่ง แต่ถ้าเรากำหนดบทบาทของเราให้ชัดว่าเราเป็นคนสนับสนุน เตือนให้เขารู้ว่า เขามีสิทธิแสดงออกแต่ก็ละเมิดคนอื่นไม่ได้ หรือเตือนให้รู้ว่าท่าทีที่เขาแสดงออกและอยากให้ผู้ใหญ่ฟังเป็นแบบไหน ท่าทีที่ไม่เป็นมิตรและคนจะไม่ฟังเป็นแบบไหน นี่คือสิ่งที่น้องๆ จะได้เรียนรู้
เยาวชนจะเรียนรู้จากไหนว่าการคิดต่างไม่ใช่ศัตรูกัน? ก็ต้องเรียนรู้ในโรงเรียน แต่หากบทบาทของโค้ช หรือ ผู้อำนวยการเรียนรู้ (facilitator) อยู่ตรงข้ามกับสิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ต้องกำหนดบทบาทตัวเองให้ชัดเพื่อไม่ให้อยู่ในสถานการณ์ที่ครูหรือผู้ปกครองยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับนักเรียน แต่ให้เขารู้ว่าเราทำหน้าที่สนับสนุนให้กิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นเพื่อการเรียนรู้ของเขา
สุดท้าย เนื้อหาสาระ หรือ คอนเทนต์ นี่ก็ต้องถูกนับอยู่ในกระบวนการเรียนรู้เหมือนกัน ถ้าครูเห็นว่ามันไม่เหมาะสม ครูเห็นว่าข้อมูลที่นักเรียนนักศึกษานำเสนอมีไม่ครบด้าน ด้วยบทบาทของโค้ช ครูก็มีหน้าที่กระตุ้นให้เขาเห็นว่าข้อมูลที่หามามีอยู่ข้างเดียวหรือเปล่า จุดนี้ครูสามารถชวนให้ทำกระบวนการวิเคราะห์แล้วค่อยสังเคราะห์เป็นข้อเสนอได้ ฉะนั้น ดิฉันมองเรื่องการเรียนรู้เรื่องการเมืองเป็นกระบวนการเรียนรู้ เหมือน Project Based Learning (หรือการเรียนรู้ผ่านโครงงานหรือโปรเจกต์) ฉะนั้น ผู้ใหญ่ คุณครู ต้องกำหนดบทบาทให้ชัด กระบวนการที่ให้คนฟังกัน หรือท่าทีทำให้น้องๆ แสดงออกหรือพูดออกมา ภายใต้บรรยากาศขัดแย้ง ทั้งหมดต้องใช้กระบวนการ
ทั้งหมดนี้ คุณครูจะใช้อำนาจไม่ได้แต่ต้องเปลี่ยนเป็นครูโค้ช เครื่องมือของครูโค้ชคือกระบวนการ ครูต้องเปลี่ยนเป็นกระบวนกร ถ้าคุณครูกำหนดบทบาทแบบนี้ ท่าทีครูจะเปลี่ยน ความสัมพันธ์ของครูจะเปลี่ยน บทบาทของโรงเรียนก็จะเปลี่ยน จากที่บอกว่ากิจกรรมทางการเมืองแสดงออกในโรงเรียนไม่ได้ เข้าสถานศึกษาไม่ได้ ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ว่า กิจกรรมทางการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ประชาธิปไตย ซึ่งสถานศึกษามีหน้าที่ปลูกฝังด้วย
ในปี 2565 กระทรวงศึกษาธิการจะผลักหลักสูตรสมรรถนะ หนึ่งในสมรรถนะหลักคือ ผู้เรียนมีสำนึกความเป็นพลเมือง และแสดงออกในการเป็นพลเมืองที่ดี รับผิดชอบต่อสังคม คำถามคือว่า สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นอย่างไรถ้าไม่เกิดจากการเรียนรู้ด้วยการปฏิบัติ
ธรรมชาติของวัยนี้ เขามีความคิดในเชิงอุดมคติ แต่หน้าที่ของเราคือการพาให้เขาให้เห็นความจริงว่าในสีขาวมีสีดำ ในสีดำมีสีขาว ไม่มีขวา-ซ้าย แต่มีตรงกลางที่อาจจะขยับไปอิงซ้ายหรืออิงขวา แล้วครูจะทำยังไง? ครูจะต้องละทิ้งความเชื่อทางการเมืองของตัวเอง ครูต้องมีความเป็นกลาง สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้เขาได้เรียนรู้ ทั้งทักษะคิดวิเคราะห์ (critical thinking) ทักษะการรู้เท่าทันสื่อ (media literacy) เชื่อหรือไม่เชื่อในข้อมูลที่รับมาและจะตรวจสอบข้อมูลนั้นได้อย่างไร นี่คือเรื่องที่เขาจะได้เรียนรู้อีกเยอะ กระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลจะทำให้เขามีมุมมองทางการเมือง เขาก็จะเติบโตในเรื่องความเข้าใจทางการเมืองมากขึ้น ไม่นับรวมว่าเขาได้ ฝึกทักษะการปราศัย ฝึกเรื่องการแสดงออก ซึ่งเป็นบันไดแรกๆ ของการแสดงออกทางความคิด และถ้าได้เห็นว่าโรงเรียนเปิดโอกาสให้อย่างไร เขาก็ได้เรียนรู้ว่าถ้าออกไปนอกโรงเรียน เขาจะสร้างโอกาสในการแสดงออกอย่างไร
ประเด็นเนื้อหา คนจะเป็นห่วงว่ามันสุดโต่ง (extreme) ไปนะ แต่ถ้าเราค่อยๆ ให้เขาเรียนรู้ มีการค้นหาข้อมูลหลายๆ ส่วน กลับเข้ามาวิเคราะห์สังเคราะห์ร่วมกัน สุดท้ายมันก็จะเป็นตัวเขาเองที่จะตัดสินใจ ซึ่งในสังคมประชาธิปไตย เราก็ต้องเคารพความหลากหลาย
พูดถึงโรงเรียน ก็ต้องพูดถึงที่บ้าน ที่บ้านก็ต้องเปิดโอกาสแบบที่โรงเรียนเปิด คือ เปิดโอกาสให้น้องแสดงความคิดเห็น พ่อแม่ก็เป็นครูโค้ชเหมือนที่โรงเรียน ถ้าเขาเอาข้อมูลมาไม่ถูกต้องหรือไม่ครบ พ่อแม่จะมีบทบาทอย่างไรที่จะกระตุ้นให้ลูกหาข้อมูลเพิ่มเติม จะมีบทบาทอย่างไรในการเปิดโอกาสหรือช่องทางให้เขาได้เสนอควมคิดเขาให้เราฟัง
พ่อแม่ต้องฝึกฟังให้มาก ต้องใจกว้างพอ เมื่อไรที่เราใจกว้างและนิ่งพอ ท่าทีการพูดคุยหรือการเติมช่องว่างของลูกก็ต้องเป็นมิตร พ่อแม่ก็คงต้องใช้กระบวนการให้เป็น ปรับท่าทีไม่ใช้การสั่งการ แต่สร้างพื้นที่ๆ สงบ ปลอดภัย คุยกันได้ ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ง่าย
แต่ในสถานการณ์แบบนี้เราต้องคิดว่าพ่อแม่ต้องมีบทบาททำให้ลูกเข้าใจประชาธิปไตยดีขึ้น เข้าใจเรื่องการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างแบบไม่แบ่งแยกเราไม่อยากเห็นข่าวอย่างในตอนนี้ที่ว่ามีการตัดพ่อตัดลูกกัน เราอยากเห็นท่าทีของพ่อแม่ที่ facilitate ลูกๆ ในการเติบโตเรื่องของประชาธิปไตย
เราผ่านโลกมา 40 50 ปี หรือบางคนเป็นคุณปู่คุณย่า แล้วลูกหลานเราผ่านโลกมากี่ปี? เราจะอายุเท่ากันเหรอเราจะทะเลาะกันใช่ไหมคะ? เข้าใจว่าด้วยอายุเราคงเห็นประเทศไทยมายาวนานกว่า แต่ให้คิดว่าเรากำลังแลกเปลี่ยนข้อมูลกับเขา ถามเขา… ข้อมูลลูกมาจากไหน น่าเชื่อถือแค่ไหน แล้วมันมีข้อมูลอื่นตรงไหนมาขัดแย้งกันไหม?
ผู้ใหญ่ต้องใจกว้าง กำหนดบทบาท ทำงานกับลูกหรือหลานด้วยวิธีที่สันติ ขณะเดียวกันต้องกำหนดบทบาทให้ชัดว่าเราเป็นครูโค้ชเหมือนกัน แต่เป็นโค้ชที่บ้าน ฉะนั้นโค้ชไม่ทะเลาะกับนักกีฬานะคะ โค้ชก็ต้องมองจุดอ่อนและจุดแข็ง เผื่อหาจุดพัฒนาเขาต่อ มองสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ของลูกเรา ถ้าโรงเรียน ครอบครัว มองสิ่งนี้เป็นกระบวนการเรียนรู้ แล้วบทบาทของครู พ่อแม่ คือ โค้ช ประคับประคองให้เขาเรียนรู้ในทางที่ถูกต้อง ตรงนี้กระแสจะลดลงเยอะ ความขัดแย้งก็จะลดลงเยอะ