- เด็กมัธยมฯ ร้อยละ 80 ค้นไม่พบว่าตัวเองชอบอะไร แต่กลับค้นพบว่าตัวเองไม่ชอบอะไรในหลักสูตร เช่น รู้ว่าตัวเองไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์ หากทำให้เด็กค้นพบความชอบ ความถนัดของตัวเองได้เร็ว เขาจะไม่เสียโอกาสในการพัฒนาตัวเองหรือโอกาสค้นหาวิธีไปให้ถึงปลายทางที่ตั้งไว้
- ไอเดียจัดแผนการเรียน ‘1 ห้องเรียน 4 สายการเรียน’ ของครูกุ๊กกั๊ก – ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม โปรเจกต์ที่จะช่วยให้เด็กได้ค้นพบความชอบ ความถนัดของตัวเอง สนันสนุนความหลายหลายของผู้เรียน เพราะเราเชื่อว่า “ทุกคนเก่งไม่เหมือนกัน”
- “ข้อดีของมันก็คือว่า เราจะมีเพื่อนที่เก่งหลายแบบ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราทำรายงานหรือว่างานกลุ่มเราจะเห็นมิติมุมมองทางสังคมที่มันมากกว่าเดิม พอเราออกไปทำงานเราจะเข้าใจว่ามันมีคนที่มีวิธีคิดแบบนี้นะ เด็กเองก็ควรจะได้เรียนรู้สังคมแบบนี้เหมือนกัน ถ้าเราอยากให้เด็กมาสร้างสังคมที่ดียังไง เราก็ต้องทำสังคมในโรงเรียนในห้องเรียนให้เป็นแบบนั้น”
โตขึ้นอยากเป็นอะไรเอ่ย…?
ประโยคคำถามที่เด็กๆ มักเจอมาตลอดช่วงชีวิตของการเรียนรู้ในรั้วโรงเรียน ไม่ว่าถูกตั้งให้เป็นหัวข้อในการเขียนเรียงความ หรือชั่วโมงวิชาแนะแนว ซึ่งมองผิวเผินนี่ก็เป็นคำถามที่ไม่ได้ซับซ้อนซ่อนเงื่อน ไม่ต้องใช้สูตรในการแก้สมการ ทว่าสำหรับเด็กบางคนกลับเป็นคำถามที่ตอบยากกว่าที่คิด ยิ่งสิ่งที่เขาอยากเป็นนั้นแปลกแตกต่างออกไป บ้างก็ถูกมองว่าเพ้อฝัน หรือไม่ก็หัวเราะขบขันซะอย่างนั้น
หากเราลองถามย้อนกลับไปว่า แล้วโรงเรียนซึ่งถือเป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นสถานที่ที่จะสามารถจุดประกายเด็กๆ ได้ ส่งเสริมให้เขาตอบคำถามดังกล่าวได้มากน้อยแค่ไหนกัน?
ครูกุ๊กกั๊ก – ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม หยิบประเด็นที่ว่า…เมื่อเด็กๆ อยู่ที่โรงเรียน มักเจอคำถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร?” แล้วโรงเรียนมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เด็กตอบคำถามนี้ได้จริงหรือมาพูดใน เวทีระดมสมองเพื่อการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ครั้งที่ 2 ‘หลักสูตรการศึกษาแบบไหน ช่วยเด็กไทยค้นพบเป้าหมายและศักยภาพของตนเอง?’ โดยสำนักนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ร่วมกับคณะอนุกรรมการสื่อสารและการมีส่วนร่วม ในคณะอนุกรรมการจัดทำและพัฒนา (ร่าง) หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน (หลักสูตรฐานสมรรถนะ)
(ร่าง) แผนการเรียนที่คิดถึงใจผู้เรียน
ในฐานะตัวแทนของครู ซึ่งมีโปรเจกต์มากมายไม่ว่าจะเป็นการลดภาระของครูให้น้อยลง การสอนข้ามสายวิทย์-ศิลป์ และตอนนี้ครูกุ๊กกั๊กยังมีอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่กำลังรอคิวลงสนาม นั่นคือ แผนการเรียนที่มีชื่อว่า ‘1 ห้องเรียน 4 สายการเรียน’ เพื่อให้ตอบโจทย์ความหลากหลายของผู้เรียน แต่ต้องบอกก่อนว่านี่เป็นเพียงไอเดียที่ผ่านการค้นคว้า สำรวจความเห็น และความต้องการของเด็ก ซึ่งเป็นผู้เรียนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ยังไม่ได้ทดลองใช้จริง เนื่องจากด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่นับว่าเป็นไอเดียดีๆ ที่น่าสนใจไอเดียหนึ่ง
โดยแรงจูงใจที่ทำให้ครูกุ๊กกั๊กลุกขึ้นมาเขียนแผนการเรียนนี้ เนื่องจากเห็นว่าเด็กมัธยมฯ ร้อยละ 80 ค้นไม่พบว่าตัวเองชอบอะไร แต่กลับค้นพบว่าตัวเองไม่ชอบอะไรในหลักสูตร เช่น รู้ว่าตัวเองไม่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์
“เราเห็นแล้วว่าเด็กเขาเจอวิชาที่เขาไม่ชอบเยอะ แล้วเราก็ไม่รู้จะช่วยเด็กยังไง เพราะว่าเราเองก็เป็นคนนึงที่ตอนที่เรียนเรายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราอยากเป็นครูหรือว่าอยากทำหน้าที่ในการสอนหนังสือ ก็เลยคิดว่างั้นเดี๋ยวเรามาทำหนึ่งห้องเรียนสี่สายการเรียนดีกว่า ต้องย้อนนิดนึงว่าตอนผมไปฝึกสอนได้ฝึกที่โรงเรียนสาธิตแห่งหนึ่งซึ่งในสายศิลป์ของเขาวิชาพื้นฐานเรียนด้วยกัน แต่ว่าพอเป็นวิชาพวกภาษาต่างๆ เขาจะเดินแยกห้องกันไปเรียน แล้วผมก็เห็นว่าโรงเรียนสาธิตทำได้ทำไมโรงเรียนรัฐทำไม่ได้ ก็เลยอยากจะทดลองในการทำดู”
ใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking เริ่มจากความคิดที่ว่า ถ้าเราต้องย้อนวัยกลับไปเป็นเด็กเราจะต้องคิดเรื่องอะไรบ้างในการที่จะไปเรียนต่อในมหาวิทยาลัย หนึ่งวิชาพื้นฐานที่เด็กทุกคนต้องเรียน เช่น คณิตฯ วิทย์ ไทย อังกฤษ สังคม พลศึกษา ศิลปะ การงานฯอาชีพ GAT และวิชาเพิ่มเติมที่เด็กจะต้องเรียนตามสายการเรียน เช่น คณิตฯ เพิ่มเติม ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา พื้นฐานวิศวะ พื้นฐานสถาปัตย์ ความถนัดครู วิชาเฉพาะ และภาษาต่างๆ
“ถ้าเราเป็นเด็กคนหนึ่ง เราจะเป็นเด็กที่ยืนอยู่ในวิชาพื้นฐาน แล้วก็ไม่รู้ว่าต่อไปจะทำอะไรดี เพราะว่าเส้นทางที่จะวิ่งออกไปหาอาชีพมันไปได้หลายแบบมากๆ นี่คือระบบการสอบเข้าเมื่อสักปีสองปีที่แล้วจากที่ผมหาข้อมูลมา แล้วก็ทำออกมาเป็นแผนภาพ เด็กก็โอ้โห…เครียดเลยเมื่อเห็นแผนภาพอันนี้ แต่ถ้าเกิดเขาค้นพบตัวเองก่อนจะง่ายกว่านั้น”
ยกตัวอย่าง ถ้าเด็กคนหนึ่งรู้ว่าตัวเองอยากเข้าคณะบัญชีฯ เขาจะมีเส้นทางวิ่งกลับไปแค่สองทาง เช่น ต้องเรียนวิชาพื้นฐานและเรียนวิชาคณิตฯ เพิ่มเติม เหมือนเป็นการรู้ว่าปลายทางของเราคืออะไร แล้วจะทำอย่างไรให้ไปถึงปลายทางนั้น หากทำให้เด็กค้นพบความชอบ ความถนัดของตัวเองได้เร็ว เขาจะไม่เสียโอกาสในการพัฒนาตัวเองหรือโอกาสค้นหาวิธีไปให้ถึงปลายทางที่ตั้งไว้
“ลองนึกภาพถ้าเด็กคนหนึ่งนึกไม่ออกว่าตัวเองอยากเรียนอะไรก็เรียนสายวิทย์ไปก่อน เรียนกว้างๆ ไว้ก่อน พอเข้ามหาลัยไปปุ๊บเรียนไปสี่ปีก็ไม่ใช่ ทำงานไปอีกสามปีก็ไม่ใช่
สุดท้ายเขาก็ค้นไม่พบว่าตัวเองอยากทำอะไร กลายเป็นปัญหาในระดับชาติเลยว่าเรามีแรงงานที่ไม่มีศักยภาพในการทำงานบางอย่าง เพราะฉะนั้นถ้าเกิดเราทำย้อนกลับมาที่หลักสูตรว่าถ้าเราแก้ปัญหาตรงนี้ได้ตั้งแต่แรกมันอาจจะจบก็ได้”
1 ห้องเรียน 4 สายการเรียน ช่วยเด็กค้นพบศักยภาพ
สำหรับแผนการเรียนที่พูดถึงนั้น เริ่มจากการที่ไปคุยกับเด็กตลอดหนึ่งปีว่าจริงๆ แล้วนักเรียนอยากเรียนแบบไหน ซึ่งแน่นอนว่าความคิดของเด็กๆ หลากหลายมาก จึงเกิดเป็นประโยคนี้… สนับสนุนความหลากหลาย เพราะเราเชื่อว่า “ทุกคนเก่งไม่เหมือนกัน”
“ผมจะบอกว่าจริงๆ แล้วเด็กมีความหลากหลายมาก รวมถึงคุณครูด้วย จะเห็นว่าเรามีคุณครูตัวอย่างดีๆ หลายแบบ เด็กเองก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ถ้าเราสนับสนุนความหลากหลายให้เขา มันก็จะทำให้ครูได้สอนเด็กที่อยากเรียนแล้วเด็กก็ได้เรียนในสิ่งที่อยากรู้ ลองนึกภาพว่าถ้าคนสองคนนี้มาเจอกัน ห้องเรียนมันก็ต้องมีความสุข แต่ว่าตอนนี้เราให้เด็กไปเรียนในสิ่งที่เด็กเขาก็ยังไม่รู้เลยว่าจริงๆ เขาต้องการมันหรือเปล่า ก็ไม่แปลกที่เขาจะไม่อยากเรียนรู้”
โดยในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หากยึดตามพ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2551 ก็คือ เน้นสำรวจความถนัด วิชาการและความชอบของผู้เรียน ซึ่งขณะนี้อาจไม่ได้สำรวจลึกขนาดนั้น แต่การปรับหลักสูตรให้เป็นหลักสูตรฐานสมรรถนะน่าจะมีส่วนในการส่งเสริมให้เด็กได้สำรวจความถนัดของตัวเองได้มากขึ้น
ส่วนมัธยมศึกษาตอนปลาย เข้าสู่ 1 ห้องเรียน 4 สายการเรียน คือ วิชาพื้นฐานเรียนด้วยกัน แต่พอถึงวิชาเพิ่มเติม อย่างเช่นสายวิทย์ก็เดินไปเรียนฟิสิกส์ เป็นต้น จากนั้นแยกเรียนตามความชอบ หรือตามสายการเรียนที่เลือก เช่น วิทย์ คณิตฯ จีน ญี่ปุ่น เพื่อให้ในหนึ่งห้องเรียนมีบรรยากาศและความหลากหลายทางสังคมในการเรียนรู้ เด็กจะได้เห็นบริบทการเรียนของแต่ละสาย แต่เมื่อค้นพบว่าไม่ใช่ก็สามารถเปลี่ยนสายการเรียนได้ แต่ไม่ควรเกินม.5 เพราะจะทำให้จบไม่ทันเพื่อน
“ข้อดีของมันก็คือว่า เราจะมีเพื่อนที่เก่งหลายแบบ เพราะฉะนั้นเวลาที่เราทำรายงานหรือว่างานกลุ่มเราจะเห็นมิติมุมมองทางสังคมที่มันมากกว่าเดิม พอเราออกไปทำงานเราจะเข้าใจว่ามันมีคนที่มีวิธีคิดแบบนี้นะ เด็กเองก็ควรจะได้เรียนรู้สังคมแบบนี้เหมือนกัน
ถ้าเราอยากให้เด็กมาสร้างสังคมที่ดียังไง เราก็ต้องทำสังคมในโรงเรียนในห้องเรียนให้เป็นแบบนั้น”
“แล้วสายศิลป์-คำนวณ ซึ่งเป็นสายที่เรียนน้อยที่สุดเขาสามารถที่จะชอปปิงได้ เช่น อยากจะเรียนรู้ฟิสิกส์ แต่ไม่ได้อยากเรียนสายวิทย์เขาก็สามารถไปลงฟิสิกส์เป็นวิชาเลือกได้ เพราะว่ามันเป็นคาบว่างของเขา อาจทำให้เด็กค้นพบความถนัดความชอบของตัวเองมากขึ้นก็ได้ แล้วถ้าเกิดว่าอยู่ดีๆ เขาไปค้นพบว่าตัวเองชอบเรียนสายวิทย์ในเทอมที่สอง เขาก็แค่ไปตามเก็บหน่วยกิตคล้ายกับการเรียนในมหาวิทยาลัย อันนี้ก็คิดว่าน่าจะเป็นตัวช่วยได้มากขึ้น”
นอกจากนี้เมื่อเลือกสายการเรียนในช่วงมัธยมศึกษาตอนปลายไปแล้ว ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องอยู่ในสายนั้นตลอด เป็นห้องเรียนที่นักเรียนสามารถกำหนดเส้นทางของตัวเองได้ว่า ฉันจะไปทางไหน
“และถ้าเราไม่มองความเป็นช่วงชั้น แต่มองที่ความสามารถในการเรียน ผมคิดว่าเขาจะเปลี่ยนสายเปลี่ยนวิชาเมื่อไรก็ได้ และสุดท้ายที่เราพยายามจะเน้น จริงๆ เราอยากจะเน้น 4 อัน ซึ่งมี Head Heart Hand และ Health”
โดย Head เน้นความรู้ โดยให้เด็กได้สำรวจความชอบ ความถนัดของตัวเองเท่าที่จะมากได้ เช่น สำรวจภาษา ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา และถ้าเป็นการติวก่อนสอบของม.ปลาย ก็ต้องเกิดจากความต้องการของเด็กจะไม่ใช่ครูยัดเยียด
Hand เน้นลงมือฝึกทักษะ หรือ Soft Skill ต่างๆ ซึ่งจะเป็นวิชาที่เด็กเลือกเข้ามาเอง ส่วนใหญ่วิชาเหล่านี้จะจัดอยู่ในกิจกรรมชุมนุมหรือการเรียนเสริม เช่น วิชาละคร ภาวะผู้นำ เรียนรู้อาชีพ/ความสนใจ ค่ายวิชาการ/เปิดประตูสู่การเรียนรู้
“นักเรียนม.6 รุ่นนี้เขานำเสนอมาเหมือนกันว่า จริงๆ ค่าเทอมถ้าเกิดหักคนละ 94 บาท ทั้งม.ปลาย เราสามารถเปิดวิชาเฉพาะบางอย่างที่คุณครูสอนไม่ได้ อย่างเช่น สมมติที่โรงเรียนไม่มีครูสอนทำอาหาร เราก็ไปจ้างครูสอนทำอาหารมาสอนในคาบชุมนุม ซึ่งผมคิดว่าการบริหารจัดการ จริงๆ หลักสูตรเดิมบางอย่างถ้าเรามาพัฒนา แล้วยังเก็บมันไว้อยู่ทำให้มันมีคุณค่ามากขึ้นมันก็ไปตอบโจทย์เรื่องความหลากหลายของผู้เรียนได้แล้ว”
และอีกส่วนที่หลายโรงเรียนหลงลืม ก็คือ Heart เน้นความสุข ผ่อนคลายกายใจ ถ้าเป็นที่ทำงานก็จะเป็น Co-working space แต่ถ้าเป็นโรงเรียนจะเป็นห้อง Co-Learning space เป็นพื้นที่ที่เด็กสามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย และสุดท้าย Health เน้นสุขภาพและการดูแลสุขภาพของตัวเอง
“จัดเป็นพื้นที่โล่งๆ เพื่อให้เด็กเขาหยิบจับหรือจัดสถานที่ทำอะไรได้ ทั้งการเสิร์ชข้อมูล การซ้อมพรีเซนต์ มีที่เล่นบอร์ดเกม หรือแม้แต่นั่งพัก แล้วก็อยากจะให้มีนักจิตวิทยาเข้ามาทำงานด้วย เพราะว่าการให้คนนอกเข้ามาให้คำปรึกษาบ้างมันทำให้ผู้เรียนหรือว่าคนที่จะให้ข้อมูลกลับไปกล้าในบางประเด็นโดยที่จะไม่รู้สึกว่าเขาจะเข้าข้างหรือไม่เข้าข้าง”
“ถ้าเราสามารถจัดนิเวศอย่างนี้ได้ในโรงเรียน ตอบสนองทั้ง Head Heart Hand และ Health มันน่าจะทำให้ผู้เรียนค้นพบอะไรหลายๆ อย่าง จากสิ่งที่ตัวเองอาจจะไม่ได้เลือก แต่ว่าบรรยากาศมันพาไปแล้วมันได้ค้นพบ” ครูกุ๊กกั๊ก ร่มเกล้า ช้างน้อย ครูโรงเรียนมัธยมวัดดุสิตาราม