- ในความทรงจำทั้งหมดของเด็กคนหนึ่งตั้งแต่เล็กจนโตคือเห็นการใช้ความรุนแรงและการทำร้ายกันเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นในวันที่เขาอยู่ในหมู่เพื่อน การใช้ความรุนแรงก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะได้รับการยอมรับ หรือเด็กบางคนที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่เขาอาจจะรู้สึกหวาดกลัวทุกครั้งเมื่อเห็นคนออกท่าออกทาง กลายเป็นเด็กที่หวาดหวั่นและเก็บกด รู้สึกไม่ปลอดภัยตลอดเวลา
- ฟังเสียงของเด็กบ้าง การฟังเสียงของเด็กๆ นี้ ไม่ใช่การตามใจเด็ก แต่มันจะพาไปสู่การเข้าใจในความคิดของเขา และอาจจะทำให้ปัญหาบางอย่างถูกแก้ ที่สำคัญการแก้ปัญหาเด็กๆ ไม่มีสูตรสำเร็จ มันเกิดขึ้นจากการฟังให้มาก รู้จักตัว และใจด้วย มันก็จะประคับประคองกันไปได้
- ชวนคุยกับ ‘ป้ามล’ ทิชา ณ นคร ผู้อํานวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ถึงมุมมองที่ได้จากประสบการณ์ในการสร้างกระบวนการเพื่อเยียวยาเด็กกลุ่มที่ถูกนิยามเป็น ‘ผู้กระทำ’ ความรุนแรง หรือเป็น ‘ผู้ก่อคดี’
“แม้ว่าเขาจะเป็นแค่ผู้รู้เห็นในฐานะสักขีพยานของการใช้ความรุนแรงของพ่อแม่ แต่พอเขาเจอสถานการณ์อะไรบางอย่างที่ต้องรับมือ ความรุนแรงที่คุ้นเคยจะถูกหยิบมาใช้โดยที่เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ”
‘ป้ามล’ ทิชา ณ นคร ผู้อํานวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก ถ่ายทอดมุมมองที่ได้จากประสบการณ์ในการสร้างกระบวนการเพื่อเยียวยาเด็กกลุ่มที่ถูกนิยามเป็น ‘ผู้กระทำ’ ความรุนแรง หรือเป็น ‘ผู้ก่อคดี’ และกระทำในสิ่งที่กฎหมายไม่สามารถอนุโลมได้ว่ามีปัจจัยทั้งบาดแผลภายในใจที่เกิดจากครอบครัว สภาพแวดล้อมทางสังคม และอีกหลายปัจจัยที่แตกต่างกันออกไป จนทำให้เด็กหลายคนต้องเข้ามาอยู่ในบ้านกาญจนาฯ ซึ่งเป็น 1 ใน 20 ‘คุกเด็ก’ ของประเทศ
“สำหรับป้าและทีมที่บ้านกาญจนาฯ นั้นเราไม่เชื่อว่าเขาเกิดมาแล้วเป็นคนเลวโดยกำเนิด หรือเขาตั้งใจเพื่อเติบโตมาติดคุก มาอยู่กับเราที่นี่ เราคิดว่ามันไม่จริง แต่ด้วยความอ่อนแอของครอบครัวเขา ด้วยระบบนิเวศทางสังคมที่มันไม่เอื้อต่อการเติบโต ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาก้าวพลาดจนต้องถูกตำรวจจับมาอยู่กับเรา”
ป้ามลชวนให้เรามองเห็นประเด็นสำคัญว่า การโทษตัวเด็กแบบปัจเจกฯนั้นไม่ใช่การสร้างความเข้าใจที่ดี เราควรมองลึกลงไปถึงภูมิหลัง สภาพครอบครัว การใช้ชีวิตที่เขาเติบโตขึ้นมา และมองให้เห็นถึงปัญหาเชิงนโยบายที่ไม่เอื้อต่อการสนับสนุนให้เขาและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากพอ
ถ้าต้องคลี่ออกมาให้เห็นชัดๆ ป้ามลคิดว่าอะไรคือปัจจัยที่ทำให้เด็กกระทำความรุนแรง?
“เมื่อเราเห็นเด็กที่กระทำความผิด เราก็เห็นสภาพแวดล้อมรอบตัวของเด็ก ซึ่งก็คือ ‘ครอบครัว’ อยู่แล้ว เช่น เห็นพ่อแม่ที่อาจจะดูอ่อนแอ มีจุดอ่อน ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กและพ่อแม่ที่ดูห่างมาก บางครอบครัวไม่เคยเลี้ยงดูกันมาก่อนเลย พอมีลูกก็พาไปฝากปู่ย่าตายายที่อยู่ต่างจังหวัดเลี้ยง แล้วส่งเงินให้ จนกว่าลูกจะโตและดูแลตัวเองได้ เด็กที่ก่อคดีที่เราพบบ่อยที่สุดคือ เด็กๆ ที่กลับมาอยู่กับพ่อแม่หลังจบ ป.6 ดังนั้นตั้งแต่เกิดจนถึง ป.6 เด็กก็จะโตอยู่ในชนบทกับปู่ย่าตายาย ทำให้พ่อแม่แทบจะไม่รู้เลยว่า เด็กที่อยู่ข้างหน้าเรานี้มีนิสัยใจคอ มีวิธีจัดการปัญหาหรือโต้ตอบสิ่งที่เข้ามากระทบอย่างไร เขารู้แค่หน้า ชื่อ รู้ว่านี่คือลูกของเรา แต่ไม่รู้ใจ ไม่รู้ความคิด ”
“แต่พอพูดถึงประเด็นนี้ขึ้นมา ป้าก็มีข้อห่วงใยนะโดยเฉพาะการเน้นความเป็น ‘จำเลย’ ของพ่อแม่ เพราะหลายคนอาจจะเกิดความคิดตามมาว่า พ่อแม่เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ผลักไสไล่ส่งให้เด็กต้องไปก่ออาชญากรรมใช่ไหม แต่จริงๆ ป้าก็อยากให้เรามองไกลไปจากพ่อแม่ออกไปอีกสักก้าวหนึ่ง
ในประเทศไทยเรามีประชากรโดยเฉลี่ย 67 ล้าน คน ถ้ายุบเป็นครอบครัวก็ประมาณ 22.8 ล้าน ครอบครัว และเราก็พบว่าในจำนวนครอบครัวทั้งหมดนี้ มีครอบครัวจำนวนมหาศาลที่เขาไม่สามารถแบกภาระความเป็นพ่อแม่เอาไว้ได้ด้วยตัวเองตามลำพัง เขาต้องมีตัวช่วย ต้องมีกลไกในสังคมมาสนับสนุนเขา”
นอกจากความห่างเหินของครอบครัว การเลี้ยงดูก็น่าจะเป็นปัจจัยหนึ่ง คิดอย่างไรที่ทุกวันนี้ยังมีคนเชื่อว่า ‘รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี’ ?
“เราต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าโลกไม่ได้หยุดนิ่ง โลกเป็นพลวัต หมุนอยู่ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นรูปแบบการเลี้ยงลูกในยุคสมัยหนึ่งมันอาจจะได้ผล แต่ว่ามันก็ไม่ได้ผลตลอดกาลและตลอดไป เหมือน ‘รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี’ ในสมัยก่อนเมื่อ 50 ปี 100 ปีที่แล้ว คำนี้อาจจะใช้ได้จริงๆ ก็ได้ เพราะว่าทุกครั้งที่เราตีลูก หรือทุกครั้งที่คุณครูที่โรงเรียนตีลูก คนในชุมชนทั้งหมดอาจจะมาเจอกันที่วัดสักแห่งหนึ่งในวันบุญ หรือวันสำคัญของชุมชน ซึ่งทุกคนก็จะได้คุยกัน เขาก็อาจจะบอกเล่ากันว่าตีสั่งสอนไปนะ คือทุกคนมีการพบปะกัน มีการพูดคุย มีการเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์ และตัวเด็กก็ไม่ได้ไปไกลจากตรงนั้นเลย ก็เห็นผู้ใหญ่สนทนากัน บรรยากาศแบบนี้อาจจะมีทั้ง ‘การบาดเจ็บและเยียวยา’ ไปพร้อมๆ กันตลอดเวลา
แต่สังคมปัจจุบันมันไม่เหมือนสมัยก่อน เราเหลือเป็นครอบครัวเดี่ยวเล็กๆ ทุกครั้งที่เราสร้างบาดแผลในใจให้กับเด็กๆ ก็ไม่ได้มีใครเยียวยาเด็กๆ ต่อ เมื่อก่อนพ่อแม่อาจจะดุเขา แต่เขาก็ยังมียายให้หนุนตัก มีเพื่อนที่ไปวิ่งเล่นกันในชุมชน สุดท้ายบาดแผลเล็กๆ นั้นก็ถูกเยียวยา มีตัวกลไกที่ช่วยสนับสนุน เด็กๆ มากกว่า ถึงแม้ว่าพ่อแม่จะใช้ความรุนแรงกับเด็กๆ บ้างในสมัยก่อน
แต่พอยุคนี้ที่ครอบครัวกลายเป็นครอบครัวเดี่ยวกันไปหมดแล้ว การใช้ความรุนแรงหรือแม้แต่การไม่มีเวลาพูดคุยกับลูก มันก็คือการสร้างบาดแผลที่ทำให้เด็กๆ รู้สึกโดดเดี่ยว ซึ่งพอเอามาใช้ในตอนนี้มันก็แทบจะไม่ได้ผลเลย อีกอย่างคือสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเด็กหรือที่เราเรียกว่า ‘ปัจจัยดึงดูดภายนอก’ ก็เร้ามากกว่าเดิมด้วย ไม่ว่าจะเป็นสื่อหรือที่ชัดเจนที่สุดคือโทรศัพท์มือถือ ฉะนั้นป้าคิดว่าไม่มีทางอื่นนอกจากการปรับตัวของพ่อแม่ให้สอดคล้องกับบริบทชีวิตของลูกที่เปลี่ยนไป
ถ้าเรายังยึดถือแนวคิดที่ติดตัวมา 50 ปี 100 ปี ที่แล้วแล้วมาใช้ในปี พ.ศ. นี้ เรานั่นแหละที่กำลังทำสิ่งที่ผิดพลาดที่ยิ่งใหญ่ต่อเด็กๆ”
ป้ามลมีความเห็นอย่างไรกับเด็กที่ถูกเลี้ยงดูจากพ่อแม่ที่มีการใช้ความรุนแรง?
“ปัจจุบันนี้สังคมไทยเปลี่ยนจากครอบครัวขยายมาเป็นครอบครัวเดี่ยว ถ้าหากเด็กได้เห็นได้สัมผัสหรือเจอความรุนแรงในครอบครัว เช่น ระหว่างพ่อกับแม่ หรือบางบ้านก็ไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับเด็กโดยตรง แต่ว่าใช้ความรุนแรงให้เด็กเห็น เด็กกลุ่มนี้ก็อยู่ในสถานะที่เป็นพยานรับรู้ความรุนแรง แม้ว่าเขาจะไม่ได้ถูกกระทำโดยตรง แต่เขาก็เป็นสักขีพยานในความรุนแรงนั้น ซึ่งมันก็ไม่มีสูตรตายตัวว่าเป็นอะไรบ้าง
แม้ว่าเขาจะเป็นแค่ผู้รู้เห็นในฐานะสักขีพยานของการใช้ความรุนแรงของพ่อแม่ แต่พอเขาเจอสถานการณ์บางอย่างที่ต้องรับมือ ความรุนแรงที่คุ้นเคยจะถูกหยิบมาใช้โดยที่เขาไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
บ้านกาญจนาก็มีเด็กอยู่คนนึง เขาเล่าให้ฟังว่าเห็นพ่อแม่ทุบตีกันตลอดเลย บ้านของเขาก็เล็กนิดเดียว แม้นอนในห้องก็ได้เห็นได้รับรู้ เขาบอกป้าว่า “ผมอยากหายตัวได้ครับ” แต่เมื่อหายตัวไม่ได้เขาก็ออกจากบ้านไป เพราะต้องการให้เสียงทะเลาะนี้เงียบลงนิดหนึ่งแล้วก็จะกลับมา ซึ่งทุกครั้งที่ทำแบบนี้ตอนแรกก็ได้ผล แต่พอหลังๆ ข้างนอกก็มีสิ่งเร้าที่ดึงดูดเขาเหมือนกัน จาก 5 นาที ก็เป็น 10 นาที เป็นวันเป็นคืนและสุดท้ายก็ไม่ได้กลับมาอีกเลย
พอเขาได้เจอกลุ่มเพื่อน ความรุนแรงที่เขาเห็นอยู่หลายๆ ปี มันก็ถูกดึงมาใช้ ซึ่งทุกครั้งที่ดึงขึ้นมาใช้ก็ได้รับการยอมรับจากหมู่เพื่อนมากขึ้นไปอีก สุดท้ายเคสนี้ก็จบลงด้วยคดีฆ่าคู่อริ เขารู้สึกผิดกับการกระทำของเขาครั้งนั้น แต่ความทรงจำทั้งหมดของเขาตั้งแต่เล็กจนโตคือเห็นการใช้ความรุนแรงและการทำร้ายกันเป็นเรื่องปกติ ดังนั้นในวันที่เขาอยู่ในหมู่เพื่อน การใช้ความรุนแรงก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะได้รับการยอมรับ แล้วเขาไม่ได้รู้สึกมีปัญหากับการใช้ความรุนแรงด้วย เพราะเขาเห็นมันเป็นประจำในทุกๆ วัน
หรือเด็กบางคนที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรง แต่เขาอาจจะรู้สึกหวาดกลัวทุกครั้งเมื่อเห็นคนออกท่าออกทาง กลายเป็นเด็กที่หวาดหวั่นและเก็บกด รู้สึกไม่ปลอดภัยตลอดเวลา สรุปว่าเด็กแต่ละคนไม่ได้แสดงออกต่อสิ่งที่เข้ามากระทบเหมือนกันทั้งหมด”
“ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่บอกกับเราอย่างชัดเจนว่า อย่าทำให้เด็กๆ มีแผลในใจ ไม่ว่าจะเป็นแผลกายที่มองเห็นชัดจากการตบตีทำร้าย หรือแผลใจที่เกิดจากความรู้สึกหวาดกลัว รู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งแผลทั้งสองแบบนี้เป็นสิ่งที่เด็กไม่ควรมีประสบการณ์ร่วมกับมัน
แต่ก็เข้าใจว่าพ่อแม่แต่ละคนไม่ได้เกิดมาแล้วได้เป็นพ่อแม่เลย เขาก็ผ่านวันคืนที่เคยเป็นเด็กที่เคยมีบาดแผลเหมือนกัน ซึ่งบาดแผลของเขาก็อาจจะซ่อนอยู่ที่ไหนสักแห่ง เมื่อวันหนึ่งเมื่อเขาต้องมาทำหน้าที่พ่อแม่ บาดแผลเหล่านี้ก็ออกมาด้วย ทั้งความคาดหวัง ความรู้สึกที่ตัวเองไม่ประสบความสำเร็จ แล้วส่งต่อสิ่งเหล่านี้ให้กับลูก มันก็ลามออกมาเรื่อยๆ อีก ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องมีคนช่วยจัดระบบใหม่อีกทีหนึ่ง
แต่ว่าในสังคมไทยสิ่งเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเจอ โดยเฉพาะจากรัฐบาลที่มีวิสัยทัศน์เรื่องครอบครัว ทำให้เรื่องครอบครัวกลายเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น ผัวเมียตีกัน ตำรวจยังไม่รับแจ้งความเลยเพราะเขาคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว จริงๆ มันไม่ใช่ มันยังเป็นเรื่องที่นโยบาย และระบบการจัดการของรัฐสามารถช่วยสนับสนุนให้เกิดครอบครัวเข้มแข็งก็ได้ ถ้าเรานั่งคิดกันดีๆ อย่างเป็นระบบและมีวิสัยทัศน์”
ที่ผ่านมามีวิธีการรับมือกับเด็กที่เข้ามาในบ้านกาญจนาฯ เป็นครั้งแรกอย่างไร?
“เมื่อเรารับเด็กมาหลังจากที่ศาลพิพากษาเขาแล้วว่าจะต้องถูกควบคุมตัว สิ่งที่เราต้องทำคือ เราต้องเริ่มที่ความเชื่อที่แข็งแรงมากๆ ว่าเด็กที่ยืนอยู่ตรงหน้าเราว่าเขาเป็นอาชญากรจริงหรือเปล่า ทั้งประวัติ รูปคดี ซึ่งสำหรับป้าและทีมบ้านกาญจนานั้นเราไม่เชื่อว่าเขาเกิดมาแล้วเป็นคนเลวโดยกำเนิด ไม่เชื่อว่าเขาตั้งใจเพื่อเติบโตมาติดคุก และต้องมาอยู่กับเราที่นี่ แต่ด้วยความอ่อนแอของครอบครัวเขา ด้วยระบบนิเวศทางสังคมที่ไม่เอื้อต่อการเติบโต ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เขาก้าวพลาดจนต้องถูกตำรวจจับมาอยู่กับเรา พอเราเชื่อแบบนี้ปุ๊บ กิจกรรมต่างๆ ที่เราออกแบบจึงไม่ซ้ำเติมเขา แต่จะค้นหาสิ่งดีๆ ในตัวเขา
หลังจากเด็กๆ มาถึงที่นี่ พอเขาปลดกุญแจมือ ป้าจะผูกข้อมือรับขวัญและกอดเขา คำพูดแรกคือ ป้าเชื่อว่าในตัวของหนูยังมีอีกคนหนึ่ง คนคนนั้นเป็นคนดี เป็นคนสว่างที่แสนจะอ่อนแอ แต่คนที่นำทางหนู ทำให้หนูมาถึงจุดนี้ คือ คนมืด คนเทา คนดำและแข็งแรง
ในตัวหนูมีคนอยู่สองคน เรามาช่วยกันไหมลูก เดี๋ยวป้าจะชวนพ่อแม่ คนในครอบครัวหนูด้วย และเจ้าหน้าที่ที่นี่จะช่วยให้คนสว่าง คนที่อยากดีคนนั้นให้ออกมา ซึ่งเราจะไม่ตอกย้ำการกระทำผิดของเขาแม้หลายคนจะเป็นเด็กในข่าว ในจอทีวี เราไม่เคยพูดด้านมืดกับเด็กๆ แต่เราจะพูดความทุกข์ ความสูญเสียของเหยื่อที่ต้องการความเป็นธรรม
พอเขารู้ว่ามันมีที่ที่ทำให้เขาลงจากหลังเสือได้ มีที่ที่ทำให้เขาเกิดใหม่และมีจุดเปลี่ยนได้ มันก็ทำให้เขาเกิดการตอบสนอง อาจจะไม่ได้ดีที่สุดในช่วงแรกๆ แต่มันจะค่อยๆ ดีขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันที่อุ่นใจว่าคนสีเทาในตัวเขานั้นอ่อนแอและทำอะไรเขาไม่ได้แล้ว”
บ้านกาญจนาฯ มีกระบวนการเยียวยาและ Empower พ่อแม่เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวอย่างไร?
“ความที่เราได้ออกแบบตั้งแต่ปี 2546 ให้เด็กๆ ทำกิจกรรมเพื่อเปลี่ยนวิธีคิดหรือ Mindset และหนึ่งในกิจกรรมที่ทำให้เราตาสว่างและมองเห็นฉากหลังของเด็กๆ ทุกคนได้ชัดมาก คือให้เด็กๆ ทุกคน เขียนสมุดบันทึกก่อนนอนทุกคืนตลอดระยะเวลาที่อยู่ที่นี่ รวมถึงการเรียน ‘วิชาชีวิต’ การคิด วิเคราะห์ ผ่านกรณีศึกษาทั้งบวก ทั้งลบ และการดูหนังที่จบลงด้วยการร่วมคิด ร่วมคุย ร่วมเขียน
บางคนอาจจะตั้งคำถามว่า ‘เด็กๆ จะกล้าเขียนเหรอ’ เขาก็ต้องกล้าเขียนสิ เพราะตลอดเวลาที่อยู่ที่นี่เราการันตีความปลอดภัย แล้วทุกอย่างที่เด็กเขียนก็เป็นสิ่งที่เราเคารพ และเราก็จะตอบไดอารี่ของทุกๆ คน ดังนั้นสมุดบันทึกของเด็กๆ จึงเป็นเหมือนขุมทรัพย์ที่ทำให้เราทำงานได้ลึกขึ้น”
“บางครั้งเราก็เห็นเด็กเขียนว่า “ก่อนที่ผมจะไปก่อคดีจนตำรวจจับ ผมแทบจะไม่ได้อยู่ที่บ้านเลยครับ และพ่อของผมเขาก็พูดแต่ความสำเร็จของตัวเองซ้ำๆ ซากๆ ตอนแรกก็ฟังได้อยู่นะครับ แต่พอโตขึ้น ผมก็รู้สึกว่าพ่อไม่เข้าใจโลกของผม และหลังจากนั้นผมและพ่อก็คุยกันน้อยลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นเหมือนคนแปลกหน้า” พอเราอ่านบันทึกแบบนี้ปุ๊บ เราพบว่าคีย์เวิร์ดคือ ‘พ่อของผมพูดแต่ความสำเร็จของตัวเองซ้ำๆ ซากๆ’
ซึ่งเราก็จะเห็นอะไรแบบนี้จากสมุดบันทึกของเด็ก และคีย์เวิร์ดเหล่านี้ที่ค่อยๆ ถูกเก็บมาเกือบปี เมื่อนำออกมากางดูอีกที เราก็เห็นภาพชัดว่าทั้งหมดนี้มันคือ ‘ปัจจัยผลักไสไล่ส่ง’ เด็กออกจากบ้าน แต่แค่รู้แค่เห็นมันยังไม่พอ ต้องทำอะไรบางอย่างด้วย สุดท้ายเราเอาคีย์เวิร์ดเหล่านี้มาออกแบบเป็นกระบวนการเวิร์กช็อป ที่เรียกกว่า ‘Empower พ่อแม่’ โดยที่พ่อแม่ของเด็กในบ้านกาญจนาทุกคน ทุกครอบครัวต้องเข้าสู่กระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือที่เรียกว่า เวิร์กช็อป Empower”
‘ปัจจัยผลักไสไล่ส่ง’ ที่เราพบจากบันทึกของเด็กๆ มีทั้งหมด 22 รูปแบบ ซึ่งเมื่อเด็กแต่ละคนต้องเลือกว่าเขามาจากครอบครัวแบบไหน เราพบว่าเด็กแต่ละคนเลือกได้แม่นมาก เขาเลือกจากประสบการณ์ จากบาดแผลของเขา ซึ่งพ่อแม่ก็ไม่เคยรู้มาก่อนว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของการผลักลูกออกไปและเจอกับปัจจัยดึงดูดนอกบ้าน จนกระทั่งเกิดคดี สุดท้ายต้องเข้ามาในสถานพินิจ”
“การ์ดที่ขายดีที่สุดก็คือ ‘การ์ดเปรียบเทียบ’ ป้าก็จะให้เขาอธิบายว่าทำไมมันถึงมีอิทธิพลต่อเขาและสามารถผลักเขาออกจากบ้าน เด็กก็จะตอบว่า “ทุกครั้งที่พ่อแม่เปรียบเทียบผมกับคนอื่น หรือกับพี่กับน้อง มันทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่า ไม่มีแรงที่จะปีนขึ้นที่สูงเลย แต่มันจะไหลลงสู่ที่ต่ำเสมอ แล้วพ่อแม่ก็เปรียบเทียบบ่อยๆ ซ้ำๆ” ซึ่งระหว่างที่เขาพูด เขากล้าที่จะสบตาพ่อแม่เต็มตา และพ่อแม่บางคนก็ตกใจ เพราะความคิดของพ่อแม่เวลาเปรียบเทียบลูกกับคนอื่นนั้นตรงกันข้าม
พ่อแม่ก็จะบอกว่า “คนละเรื่องเลย แม่เปรียบเทียบเขาเพราะอยากให้เขาเห็นตัวอย่างที่ดีๆ อยากให้มีแรงบันดาลใจ ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่าเวลาเราเปรียบเทียบแล้วลูกจะรู้สึกด้อยค่าตัวเอง” พ่อแม่ของเด็กเขาไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่ามีมุมแบบนี้อยู่ และนี่คือครั้งแรกที่เขาได้ยินเสียงหัวใจของลูก”
“กระบวนการ Empower คือการค้นพบ ‘ระเบิดเวลา’ ด้วยตัวเอง แต่ถึงจะค้นพบก็ไม่ได้แปลว่าระเบิดเวลานั้นจะหมดสภาพไป มันต้องมีการถอดชนวนต่ออีก แต่กระบวนการนี้ทำให้ทุกครอบครัวมองเห็นว่า เวลาที่คนพูดว่าครอบครัวของเขานั้นมีปัญหา หรือมีคนถามว่าครอบครัวของเขามีปัญหาตรงไหน คำตอบของเขามันจะไม่ฟุ้ง เพราะทุกครอบครัวจะมีโฟกัสของตัวเอง ว่าครอบครัวของเขามีปัญหาอยู่ตรงไหน ทำให้เกิดกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ตรงประเด็นขึ้น”
ป้ามลคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับบทลงโทษสำหรับเด็กและเยาวชนที่มีอยู่ในตอนนี้?
“สำหรับป้าแล้ว เด็กที่กระทำความผิด เขาต้องไม่ลอยนวล ไม่ว่าใครก็ตามที่กระทำความผิด ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน เสียหาย เสียใจ เขาต้องรับผลจากการกระทำความผิดของเขาอยู่แล้ว แต่การลงโทษแบบไหนก็เป็นข้อท้าทาย เราต้องค้นหาให้เจอว่าการลงโทษแบบไหนที่สร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างจุดเปลี่ยน Turning Point ของมนุษย์ เพราะไม่อย่างนั้นการลงโทษทั้งหมดก็สูญเปล่า
ถ้าเราลงโทษไปแล้ว แต่ความเป็นอาชญากรของเขากลับแข็งแกร่งขึ้นมา ไม่เคยหายไปเลย แสดงว่าระบบของเรามันล้มเหลวจริงๆ และป้าก็ไม่เชื่อว่าการลงโทษที่รุนแรงแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน จะช่วยให้เกิดสิ่งที่ดีงามขึ้นมา เพราะถ้าช่วยได้มันคงเกิดขึ้นไปนานแล้ว”
“หลังจากกระทำความผิดและถูกตัดสินให้ควบคุมในสถานควบคุม สุดท้ายเขาก็ต้องกลับไปอยู่ในสังคมอยู่ดี แต่เขาจะอยู่อย่างไรไม่ให้สร้างปัญหาในสังคมมากขึ้น และเกิดเป็นพลังเมื่ออยู่ร่วมกับคนอื่น ซึ่งทั้งหมดนั้น ช่วงเวลาแห่งนาทีทองก็อยู่ที่เรา และการทำงานของเราแล้ว
บางครั้งป้าก็โดนกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานแบบที่ทำอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการไม่ใช้วิธีตาต่อตา ฟันต่อฟัน กับผู้กระทำ ทุกครั้งที่ป้าโอบกอด ผูกข้อมือรับขวัญเด็กที่เพิ่งเข้ามา ป้าจะบอกว่า ป้าไม่ซ้ำเติมหนูนะ เพราะป้าเชื่อว่าหนูรับมือเรื่องยากๆ ยังไม่ได้ และป้าก็คิดถึงเหยื่อของหนู คิดถึงผู้เสียหายจากการกระทำของหนู ป้าห่วงใยเหยื่อและไม่ต้องการให้เกิดเหยื่อคนใหม่อีก ไม่มีใครย้อนกลับไปแก้ไขอดีตได้แต่เราจะแก้ไขวันนี้เพื่ออนาคตได้แน่นอน”
ป้ามลมีวิธีการสร้างความเข้มแข็งให้กับเด็ก เพื่อรับมือกับการถูกซ้ำเติมจากสังคมหลังออกจากบ้านกาญจนาฯ อย่างไร?
“เราไม่สามารถไปบอกให้คนในสังคมยอมรับเขาได้ แต่โชคดีที่เราได้ทำงานกับเขาทุกๆ วัน ในระยะเวลาที่ยาวนาน รวมถึงคนในครอบครัวเขาด้วย ซึ่งกระบวนการที่เริ่มด้วยความเชื่อในด้านดี ความเชื่อไม่มีใคร Born to be นำไปสู่การใช้ Soft power การ Empower และการเปลี่ยน Mindset ทำให้พวกเขารวมถึงครอบครัวเห็นตัวเอง เห็นความเสียหายและยอมรับข้อผิดพลาดเพื่อไปต่ออย่างมีเป้าหมาย ที่สำคัญเรามีพิธีกรรมขอขมาเหยื่อซึ่งเป็นงานประจำปีของบ้านกาญจนาฯ เริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2548 หลังจากมีเด็กคู่ขัดแย้งถูกพิพากษาเข้ามา โดยคนที่มาก่อนคือคนที่ฆ่าพ่อของคนที่มาทีหลังแต่เราได้ทำงานกับเด็กสองคน ผู้ปกครองสองฝ่าย และเด็กทั้งบ้านเกือบ 200 คน เพื่อนำทุกคนเข้าสู่พิธีกรรมการขอโทษ-การให้อภัย หรือพิธีกรรมสันติภาพ ปัจจุบันพัฒนาเป็นพิธีกรรมขอขมาเหยื่อ เมื่อหลอมรวมทุกกระบวนการภายใต้ระยะเวลา 1.6 ปี ขึ้นไป ก็น่าจะเป็นก้าวใหม่ที่เข้มแข็งนะ”
ในมุมของป้ามลแล้ว คิดว่ารัฐควรต้องทำอย่างไรเพื่อลดปัญหาการก่ออาชญากรรมและความรุนแรงในเด็กและเยาวชน?
“เอาแค่มิติเดียวก่อนเลย เช่น ใน 1 ปี มี 365 วัน และใน 365 วันนี้ก็มีประมาณ 120-130 วัน ที่เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ไม่ได้ไปโรงเรียนซึ่งก็เป็นช่วงปิดเทอม ปิดเสาร์อาทิตย์ ปิดเทอมใหญ่ ปิดเทอมเล็กบ้าง เราพบว่าในจำนวนวันที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนนั้นจาก 22.8 ล้าน ครอบครัวในประเทศไทย มีจำนวนครอบครัวแค่เพียงนิดเดียวบนยอดภูเขาน้ำแข็ง ที่มีกำลังมากพอที่จะสามารถพาเด็กๆ ไปพบกิจกรรม พบโลกทัศน์ที่น่าสนใจ เช่น การไปต่างประเทศ เมื่อเขากลับมาสิ่งที่เขาไปพบเจอมาก็จะมีพลังให้เขาได้หมุนตัวเอง และกระตือรือร้นที่จะทำอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
อีกจำนวนหนึ่งอาจจะไม่ได้มีกำลังเท่าเด็กกลุ่มแรก แต่พ่อแม่ก็สามารถลงทุนสรรหาสิ่งต่างๆ ให้ลูกได้ เช่น ค่ายกีตาร์ ค่ายจักรยานภูเขา ค่ายสเก็ตบอร์ด แต่นั่นหมายความว่าต้องมีเงินมาสนับสนุน หรือมีกำลังมากพอที่จะจ่ายเพื่อเป็นค่ากิจกรรมที่เหมาะสมนั้น และในช่วงเวลาที่เด็กได้อยู่ในมีกิจกรรมที่เขาชอบ เด็กก็จะได้ Empower ได้เปิดโลกเพื่อรอการต่อยอดต่อไป
แต่อีกจำนวนมหาศาล ที่เขาไม่ได้ทั้งในแบบที่เด็กกลุ่มแรกและกลุ่มที่สองได้ ถามว่าพ่อแม่ต้องทำยังไงกับเด็กกลุ่มนี้ บ้านกาญจนาฯ ของเราก็เคยเจอ แม่คนหนึ่งลุกขึ้นมาเลยตอนที่ป้าเล่าเรื่องนี้ว่า “หนูนึกออกเลย หนูทำงานแบบเอาเสื้อผ้าจากโรงงานมาเย็บที่บ้าน ถึงเวลาก็เอาไปส่งให้เถ้าแก่ ช่วงปิดเทอมของลูกเราก็นึกอะไรไม่ออกเลยว่าจะทำยังไงดี สิ่งที่นึกออกอย่างเดียวคือสะสมเงินส่วนหนึ่งเอาไว้ ช่วงปิดเทอมก็ให้ลูกเอาไปอยู่ร้านเกม เราก็อยากให้ลูกอยู่ที่นั่นทั้งวัน ค่อยกลับมาตอนกินข้าวเย็นแล้วเข้านอนเลย พอตอนเช้าก็ให้ไปอีกเรื่อยๆ เราคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้แล้ว สุดท้ายลูกติดเกม ติดความรุนแรง บังคับเราซื้อมอเตอร์ไซค์ และปล้น” นี่ก็เป็นทางเลือกของแม่กลุ่มหนึ่ง แต่ก็มีอีกจำนวนมหาศาลเลยที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเลือกไปที่ไหน”
“ทั้งหมดทั้งมวลที่ป้าพูด มันเป็นชะตากรรมส่วนตัวที่ใครมีศักยภาพอะไรก็เลือกไปตามศักยภาพที่มีของตัวเอง คำถามก็คือ ‘แล้วรัฐบาลทำอะไรได้บ้าง’ ที่จะมาช่วยสนับสนุนครอบครัวและ Empower เด็กๆ
ถ้ารัฐบาลมีวิสัยทัศน์และหากขอรัฐบาลได้ เราอยากให้ทุกปิดเทอมรัฐบาลมีการแจกคูปองให้เด็กๆ และ มีพื้นที่กิจกรรมให้เขาได้เลือกทำ เช่น จักรยานภูเขา สเก็ตบอร์ด กีตาร์ ภาษาอังกฤษ ฯลฯ โดยไม่เสียเงิน ซึ่งมันจะทำให้เด็กๆ ได้ใช้เวลาช่วงปิดเทอมอย่างสร้างสรรค์และค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบ
แต่รัฐบาลก็อธิบายข้อเสนอนั้นว่ามันเป็นการลงทุนที่มหาศาล รัฐบาลจะเอาเงินและพื้นที่ที่ไหนมาจัดให้กับเด็กๆ เฮ้ย! รัฐบาลตอบแบบนั้นไม่ได้นะ เพราะนั่นคือการเฝ้าระวังให้เด็กๆ ทุกคนได้เติบโตภายใต้ระบบนิเวศที่เหมาะสม เพราะถ้าไม่ทำแบบนั้น สุดท้ายเราก็ต้องมาลงทุนกับสถานบำบัดยาเสพติด สร้างสถานพินิจ สร้างเรือนจำ ซึ่งมันเป็นการลงทุนกับพื้นที่ปลายน้ำแทนที่จะลงทุนกับพื้นที่ต้นน้ำ
หากรัฐบาลมีวิสัยทัศน์ และคิดในเชิงระวังป้องกันอย่างจริงจัง เราต้องทำได้อยู่แล้ว ประเทศเรามีต้นทุนมากพอที่จะทำสิ่งเหล่านี้เพื่อให้เด็กๆ ไปสู่ความฝันของตัวเอง และเมื่อถึงขั้นนั้น จำนวนเรือนจำในประเทศไทยก็จะน้อยกว่าเดิม สถานบำบัดยาเสพติดก็อาจจะหายไปอีกเยอะเลย หรือเหลือที่จำเป็นเท่านั้น นี่ก็แค่มิติเดียวที่รัฐบาลต้องทำ เพื่อให้ครอบครัวทุกครอบครัวมีพื้นที่ทำกิจกรรมที่เหมาะสม หรือมีระบบนิเวศทางสังคมที่เหมาะสมเพื่อการเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็กทุกคน ไม่ใช่เพียงกลุ่มคนที่มีกำลังมากพอเท่านั้น”
สุดท้ายป้ามลมีอะไรอยากฝากเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงในครอบครัวบ้าง?
“สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครองป้าก็เข้าใจว่าการเลี้ยงดูลูกในยุคใหม่ซึ่งเต็มไปด้วยพื้นที่ที่กระตุ้นเร้าด้านมืดมากมายนั้นไม่ใช่งานที่ง่ายเลย แต่อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ก็ต้องปรับตัว เพราะหลายเรื่องที่เป็นความสำเร็จของคนรุ่นโบราณอาจจะไม่ใช่ความสำเร็จของคนยุคปัจจุบันก็ได้ หัดฟังเสียงของเด็กๆ ให้มาก เพราะบางทีคำตอบก็อยู่ที่เด็กๆ
การฟังเสียงของเด็กๆ นี้ ไม่ใช่การตามใจเด็ก แต่มันจะพาไปสู่การเข้าใจในความคิดของเขา และอาจจะทำให้ปัญหาบางอย่างถูกแก้ ที่สำคัญการแก้ปัญหาเด็กๆ ไม่มีสูตรสำเร็จ มันเกิดขึ้นจากการฟังให้มาก รู้จักตัว และใจด้วย มันก็จะประคับประคองกันไปได้
แต่จริงๆแล้วคนที่ตอบโจทย์นี้ได้ดีคือรัฐบาล อยากให้รัฐบาลมีวิสัยทัศน์กว่านี้ และควรสร้างระบบนิเวศที่เหมาะสมให้กับเด็กและครอบครัว ประคับคองให้พวกเขาได้เติบโตในพื้นที่ที่เหมาะสม ให้เขาไปสู่ฝั่งฝันของเขา ไม่ว่าเขาจะเรียนเก่งหรือไม่ มีกำลังสนับสนุนหรือเปล่า เพราะทุกคนคือประชาชนที่จะเป็นพลเมืองในอนาคต
สำหรับคนในสังคมก็อยากให้เบรกตัวเองบ้างเวลาที่มีเด็กก่ออาชญากรรมแต่ละครั้ง อย่าเพิ่งเกรี้ยวกราด อย่าเพิ่งใช้ด้านมืดมาตัดสิน เพราะการเอาแต่เกรี้ยวกราดและโฟกัสไปที่ปัจเจกบุคคลหรือเด็กที่กระทำความผิด คือการทำให้คนที่คิดนโยบายหรือรัฐบาลลอยนวล เพราะคนไม่ได้โฟกัส ว่าสุดท้ายคนคิดนโยบายคือเบื้องหลังของความผิดพลาดทั้งหมด”