- เคยสงสัยหรือไม่ทำไมภาพจำเมื่อพูดถึงครูในสังคมไทยต้องเป็นคนที่อดทน เสียสละทำงานหนัก อุทิศตนเพื่อนักเรียน? รายงานการวิจัย เรื่อง วาทกรรมความเป็นครูไทยในวัฒนธรรมป๊อปร่วมสมัย โดย ดร.ออมสิน จตุพร จะพาเราไปหาคำตอบดังกล่าว
- “การสร้างภาพจำแบบที่สังคมไทยทำ แง่หนึ่งทำให้ครูไม่กล้าที่จะออกจากกรอบความเป็นครูไปสู่ในมิติอื่นๆ บางทีอาจจะรู้สึกผิดด้วยซ้ำถ้าปฏิบัติตนไม่ตรงตามกรอบ หลายครั้งมีดราม่าครูใส่ชุดข้าราชการไปกินหมูกระทะ เดินห้างในเวลาราชการ ถูกมองว่าไม่เหมาะสม หรือครูเอาเสื้อออกนอกกางเกงไม่ได้ ความรู้สึกภายในของครูรู้สึกว่าต้องอยู่ในกรอบกฎระเบียบที่สังคมคาดหวัง“
- “เราต้องกลับมาที่วิธีคิดที่ว่าครูก็เป็นอาชีพหนึ่ง อาชีพครูไม่ใช่เรื่องการทำความดีหรือบุญคุณ ครูเป็นคนธรรมดาทั่วไป มีหน้าที่ให้ความรู้นักเรียนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ“
‘พระคุณที่สามงดงามแจ่มใส
แต่ว่าใครหนอใครเปรียบเปรยครูไว้ว่าเป็นเรือจ้าง
ถ้าหากจะคิดยิ่งคิดยิ่งเห็นว่าผิดทาง
มีใครไหนบ้างแนะนำแนวทางอย่างครู’
เพลงที่เราอาจเคยได้ยินในกิจกรรมวันครู ฟังเพลงแล้วภาพครูที่ปรากฏในหัวเราเป็นคนที่อุทิศตนทำทุกอย่างเพื่อศิษย์ ความใส่ใจของครูที่มีให้นักเรียนระดับรองจากพ่อแม่ ถือเป็นพระคุณที่สามเลยก็ว่าได้
แต่ข่าว ‘คาว’ ที่เราเห็นประจำ ไม่ว่าจะครูทำโทษเด็กอนุบาลตีจนไม้หัก ครูข่มขืนเด็ก ครูทำร้ายร่างกายนักเรียนเพราะทัศนคติที่แตกต่าง คงทำให้เรารู้สึกสับสนกับภาพลักษณ์ครูไทย
การมีภาพจำถือเป็นเรื่องธรรมดา ช่วยให้เราสามารถประมวลข้อมูลรับเข้าง่ายขึ้น เช่น ภาพจำดาราไทย คือ ต้องสวยหล่อดูดี หรือภาพจำตำรวจที่เข้มแข็งดูแลประชาชน (ส่วนความจริงเป็นอย่างไรก็อีกเรื่องหนึ่ง) ภาพจำครูไทยก็เหมือนกัน เป็นพระคุณที่สาม เป็นแสงส่องทางให้กับนักเรียน ในแง่หนึ่งถือเป็นกุศโลบายให้ครูปฏิบัติตามเพราะภาพดังกล่าวก็ส่งผลดีกับทุกคน แต่การสร้างภาพที่เกินจริงจนทำให้ครูไม่ใช่ปุถุชนทั่วไป ก็อาจทำให้ครูบางคนรู้สึกวางตัวลำบาก หรือทำให้นักเรียนไม่กล้าตั้งคำถามกับการกระทำของครู
ในวาระวันครู เราขอหยิบรายงานการวิจัย เรื่อง วาทกรรมความเป็นครูไทยในวัฒนธรรมป๊อปร่วมสมัย โดย ดร.ออมสิน จตุพร อาจารย์ประจำสาขาวิชาสังคมศาสตร์การศึกษา ภาควิชาพื้นฐานและการพัฒนาการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะพาเราไปมองเบื้องหลังการสร้างภาพจำครูในสังคมไทย และถอดรื้อวิธีคิดมองครูมุมใหม่ ให้ครูเป็น ‘คนดี’ ด้วยนิยามตัวเอง
เหตุผลที่อาจารย์ออมสินสนใจหัวข้องานวิจัยประเด็นนี้
ผมได้รับมอบหมายให้สอนวิชาพื้นฐานวิชาชีพครู เป็นรายวิชาในหมวดจรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพที่กำหนดโดยคุรุสภา นักศึกษาครุศาสตร์ / ศึกษาศาสตร์ต้องเรียน สาระสำคัญของวิชานี้ คือ สภาพงานครู คุณลักษณะและมาตรฐานวิชาชีพครู การปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับครูและวิชาชีพครู การจัดการความรู้เกี่ยวกับวิชาชีพครู และการสร้างความก้าวหน้าและพัฒนาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น ในระดับหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน อาจารย์ผู้สอนสามารถเพิ่มเติมมุมมองเชิงปรัชญา ประวัติศาสตร์ และอุดมการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นครูในสังคมไทยได้
ช่วงที่สอนเทอมแรกผมยังจับทางไม่ค่อยถูก จะสอนอย่างไรให้นักศึกษาไม่รู้สึกเบื่อ ไม่ใช่การมานั่งจดตามคำบอก ส่วนตัวเราชอบเสพสื่อสมัยใหม่ เคยฟังเพลง ดูหนังที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับครู เลยมีแนวคิดว่าทำไมเราไม่หยิบสื่อพวกนี้มาสอนนักศึกษาครูล่ะ ภาพยนตร์หรือบทเพลงเขาพูดถึงความเป็นครูไว้อย่างไร ผมได้จัดกิจกรรม Movie Club ให้นักศึกษาดูหนัง ฟังเพลงที่พูดถึงครู เช่น ครูบ้านนอก คิดถึงวิทยา เพลงครูบนดอย ดูเสร็จมาคุยกันว่าเพลง/หนังแต่ละเรื่องนำเสนอธีมความเป็นครูอย่างไร ตั้งคำถามภาพจำต่างๆ ที่ถูกนำเสนอ
ภาคเรียนถัดมาผมปรับมาใช้หนัง เพลงเป็นส่วนหนึ่งในการสอนบางประเด็น เน้นเรื่องวิชาชีพครู การนิยามความหมายของครูโดยรัฐหรือคุรุสภา ผมพยายามใช้คำถามให้นักศึกษาลองระดมความคิด เช่น ภาพจำความเป็นครูที่นำเสนอผ่านบทเพลงหรือหนังแสดงถึงอะไร ตีความได้อย่างไรบ้าง สิ่งที่น่าสนใจคือ คำศัพท์ หรือภาษาที่นักศึกษาใช้แสดงความคิดเห็น เช่น ความเสียสละ อุทิศตน ภาพจำ ภาพตัวแทน อัตลักษณ์ การรับรู้ การพูดคุยอภิปรายได้ชี้ชวนให้นักศึกษารู้สึก ‘เอ๊ะ’ มากขึ้น กลายเป็นจุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจของงานวิจัยชิ้นนี้ เป็นจุดที่ทำให้เราเห็นว่าความเป็นครูในสังคมไทยถูกประกอบสร้างขึ้นมาได้อย่างไร
ความเป็นครูที่เขียนโดยคุรุสภาว่าไว้อย่างไร
กำหนดว่าความเป็นครูประกอบด้วยสาระอะไรบ้าง เช่น สภาพงานครู คุณลักษณะและมาตรฐานวิชาชีพครู ความรู้เกี่ยวกับการปลูกฝังจิตวิญญาณความเป็นครู กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับครูและวิชาชีพครู ความรู้เกี่ยวกับการจัดการวิชาชีพครูว่าด้วยการสร้างพัฒนาวิชาชีพครูอย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่ามีส่วนที่เป็นเรื่องจิตวิญญาณที่รัฐพยายามกำหนดกรอบไว้ เป็นเรื่อง subjectivity หรืออัตวิสัย ไม่สามารถวัดและประเมินได้ว่าอะไรคือความเป็นครู ขณะเดียวกันก็มีกรอบคิดเชิงเทคนิคในการเป็นข้าราชการครูที่ดี เช่น ต้องรู้เรื่องกฎหมาย จรรยาบรรณและมาตรฐานวิชาชีพ การพัฒนาวิชาชีพครู หรือความก้าวหน้าในวิชาชีพ
ข้อกำหนดโดยคุรุสภาจะเป็นคุณลักษณะกว้างๆ ที่เปิดโอกาสให้เราสามารถตีความเพิ่มเติมได้ รัฐไม่ได้ปิดกั้นว่าความเป็นครูต้องเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เช่น มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม วางตนอยู่ในกฏระเบียบ ต้องใส่ผ้าไทย ตีกระบังผมสูง และถ้าเรามองว่าครู อาจารย์ หรือตัวผมเองเป็นผู้กระทำการสอนที่มีอำนาจอันชอบธรรมในการตีความหลักสูตรมาสู่ระดับปฏิบัติการในชั้นเรียน ผมคิดว่าความเป็นครูมันตีความได้หลากหลายไม่จำเป็นต้องยัดเยียดความเป็นครูในมิติใดมิติหนึ่งให้แก่นักศึกษา โดยเฉพาะคุณลักษณะของครูที่ต้องเสียสละ อุทิศตนตลอดเวลา เราสามารถตีความว่าความเป็นครู คือ การทำงานเชิงวัฒนธรรม เป็นผู้มีจิตสำนึกประชาธิปไตย และตระหนักถึงความเสมอภาค ความเท่าเทียม และความเป็นธรรมในการจัดการศึกษา ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับจุดยืนและอุดมการณ์เบื้องหลังของอาจารย์ผู้สอนด้วย
ประเด็นสำคัญที่ทำให้ผมทำงานวิจัยเรื่องนี้ เพื่อให้เกิดการถอดรื้อมายาคติความเป็นครู เพราะวาทกรรมความเป็นครูที่มีอำนาจแบบกระแสหลักยังเป็นไปในแนวอนุรักษ์นิยมอยู่ตลอดเวลา
ทำไมภาพตัวแทนความเป็นครูต้องถูกนำเสนอว่าเป็นคนดี มีเมตตา เรามักไม่พูดถึงครูในเชิงคุณภาพการจัดการเรียนการสอน แต่มักพูดถึงครูที่ดีก่อน ครูที่เสียสละ มีน้ำใจ อดทนทำงานหนักต่างๆ ภาพพวกนี้มักถูกสร้างและฉายซ้ำๆ ผ่านภาพยนตร์ บทเพลง
ผมขอยกตัวอย่างเพลงครูในดวงใจ ของไมค์ ภิรมย์พร มีท่อนหนึ่งบอกว่า ‘ครูทำงานหนัก แต่ก็รักศักดิ์ศรี พอใจสิ่งที่ตนมี เป็นพิมพ์ดีให้ลูกศิษย์จำ’ ผมว่าตรรกะไม่ค่อยไปด้วยกัน ครูทำงานหนักแล้วอย่างไรต่อ ทำไมต้องรักศักดิ์ศรี? เนื้อเพลงเหมือนจะเรียกร้องว่าครูทำงานหนักนะ แต่ไม่กล่าวต่อว่ารัฐต้องสร้างระบบสวัสดิการแก่ครูให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี? ยังไม่ถึงจุดนั้น “พอใจสิ่งที่ตนมี” แปลว่า ครูต้องพอใจในสภาพที่เป็นอยู่ ห้ามปริปากบ่น ใครสั่งอะไรมาก็ต้องทำหรือเปล่า? เมื่อพิจารณาจากบทเพลงสะท้อนกลับไปในชีวิตครูจริงๆ ก็ต้องถามว่าตั้งคำถามหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ไหม ก็สามารถทำได้ แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องก้มหน้าทำต่อไป เพราะมองว่าทำสิ่งพวกนี้เพื่อเป็นแม่พิมพ์ต้นแบบให้แก่ลูกศิษย์ เป็นภาพจำที่พึงปรารถนาของสังคม
เมื่อมองจากมุมมองการศึกษาเชิงวิพากษ์ สิ่งที่รัฐทำอาจจะไม่ได้เป็นไปในแนวทางเดียวกับมุมมอง หรือปฏิบัติการทางสังคมที่ครูรุ่นใหม่หลากหลายกลุ่มกำลังพยายามขับเคลื่อนอยู่ แต่รัฐก็ไม่ได้ปิดกั้นจนเกินไป ประเด็นสำคัญที่เป็นความท้าทาย คือ อาจารย์คณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ซึ่งเป็นต้นทางในการผลิตครู รับเอาภาพจำจากสื่อกระแสหลักมาผลิตซ้ำวาทกรรมความเป็นครูและอุดมการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความเป็นครูไทยในอุดมคติ วนเป็นวงจรไม่จบสิ้น ทำให้เราเห็นว่า ภาพจำและอัตลักษณ์ความเป็นครูที่ปรากฏในสื่อและร่องรอยความคิด ความทรงจำเกี่ยวกับครูที่ดีในสังคมไทยนั้นยังคงทรงพลังและมีอิทธิพลจวบจนถึงปัจจุบัน
อาจารย์ว่าปัจจัยหรือเหตุผลอะไรที่ทำให้สื่อนิยมสร้างภาพจำครูเช่นนี้
ผมคิดว่านิยามความเป็นครูที่เรากำลังพูดถึงนี้ เป็นนิยามตามแนวอนุรักษ์นิยมที่นำเสนอแล้วไม่ไปท้าทายอำนาจเดิม สื่อร่วมสมัยเองก็พยายามนำเสนอภาพความเป็นครูที่ต้องพอเพียง หยิ่งทะนงในศักดิ์ศรี พอใจในสิ่งที่ตัวเองมี ไม่เรียกร้องใดๆ โดยเฉพาะเรื่องสวัสดิการและคุณภาพชีวิตซึ่งเป็นเรื่องเฉพาะของกลุ่มครู แต่ถ้าพูดให้ถึงที่สุด คือ ภาพยนตร์และบทเพลงไม่เคยนำเสนอว่าครูมีบทบาทหน้าที่ในการสร้างสังคมให้มีความเท่าเทียม ความเป็นธรรม และความเสมอภาคผ่านการทำงานในโรงเรียนและสังคม สื่อเองก็อาจรู้สึกว่าปลอดภัยที่จะนำเสนอแบบนี้ ภาพยนตร์ บทเพลงตั้งแต่ช่วงปลายปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบัน อาจจะเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการนำเสนอที่ทันสมัยตามกาลเวลา แต่สาระสำคัญเกี่ยวกับครูยังคงเป็นแนวทางเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก
เช่น คิดถึงวิทยา เข้าฉายในปี พ.ศ. 2557 ทำให้เราเห็นภาพตัวแทนครูในตัวละคร ครูสอง ที่เสียสละ อุทิศตน ไปเป็นครูอยู่บนเรือนแพ ทั้งที่ความเป็นจริง ในปี พ.ศ. 2557 รัฐต้องการพัฒนาการศึกษาไทยในแบบ 4.0 อย่างน้อยโรงเรียนเรือนแพควรจะมีสภาพทั่วไปทั้งห้องเรียน พื้นที่การจัดกิจกรรมให้แก่นักเรียนที่ดีขึ้น มีการจัดสรรครูไปประจำการ และระบบสาธารณูปโภคในโรงเรียนควรจะมีความพร้อมในระดับหนึ่ง
แต่กลับกลายเป็นว่าหนังเรื่องนี้ได้รับความนิยมจากสังคมไทยเพราะเราพูดถึงภาพจำครูที่ถูกโรแมนติไซส์ (romanticize) ผ่านการอุทิศตน ทำงานหนัก ใช้ชีวิตในพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลความเจริญ และต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ แถมพ่วงความรักโรแมนติกระหว่างครูหนุ่มสาว (ครูสอง – ครูแอน) ที่ผิดหวังจากรักเก่าและทั้งสองกลับค่อยๆ รักกันผ่านการเรียนรู้เรื่องราวสุดประทับใจที่เขียนไว้ในสมุดบันทึก คนดูเลยไม่รู้สึกว่า ชีวิตความเป็นครูช่างลำบาก หรือถูกขูดรีดให้ต้องเสียสละอดทน
สุดท้ายก็จบลงด้วยความทรงจำที่ดีในการเป็นครูและความรักอันสวยงาม ธีมที่เกี่ยวข้องกับครู ความเป็นครู ความรักโรแมนติค และพื้นที่ชนบทที่มีความสวยงาม เรียบง่าย และเป็นธรรมชาติ ถูกนำมาใช้ในละครโทรทัศน์ช่อง PPTV HD 36 ในซีรีย์มิติรักผ่านเลนส์ ตอนหมอกสีจางกับน้ำค้างสีชมพู เช่นกัน
นอกจากนั้น สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ภาพยนตร์พยายามนำเสนอว่า ครูที่ดีไม่ได้มีแบบเดียว ภาพยนตร์ได้นำเสนอภาพตัวแทนครูในตัวละคร ครูแอน เธอพยายามตั้งคำถามกับระบบการศึกษา โดยเฉพาะความแตกต่างในเชิงคุณภาพระหว่างโรงเรียนในเมืองกับโรงเรียนในชนบท (โรงเรียนเรือนแพ คือ ภาพตัวแทนของโรงเรียนชนบท) ครูแอนยังเป็นภาพตัวแทนของครูที่พยายามต่อต้านขัดขืนวิธีการสอนแบบเดิมๆ และวัฒนธรรมแนวอนุรักษ์นิยมในโรงเรียน เช่น กรณีที่ครูแอนปฏิเสธที่จะลบรอยสักที่แขนของตนเอง ทำให้เธอต้องถูกย้ายมาสอนที่โรงเรียนเรือนแพ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการขัดขืนไม่ยอมปฏิบัติตามกฎระเบียบของโรงเรียนที่ห้ามไม่ให้ครูมีรอยสักติดตัว
หรือกรณีที่โรงเรียนในเมือง ครูแอนสอนหลักการวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนโดยการฝึกทักษะการลอยตัวในน้ำ แต่กลับถูกครูท่านอื่นต่อว่าจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ให้กับครูแอน กล่าวได้ว่า ครูแอนเป็นภาพตัวแทนของครูรุ่นใหม่ รักอิสระ ไม่ค่อยอยู่ในกฎระเบียบของโรงเรียน ชอบแต่งกายเรียบง่ายสบายๆ มาสอน ไม่ชอบใส่เครื่องแบบหรือแต่งกายตามระเบียบ และเน้นวิธีการสอนให้นักเรียนเข้าใจและนำไปใช้ได้จริง โดยมิได้เคร่งครัดในเนื้อหาสาระสำหรับการสอบเท่านั้น
แต่สุดท้ายภาพยนตร์ก็ยังให้คุณค่ากับนิยามความเป็นครูที่ดีว่าต้องเป็นแบบครูแอน หรือครูสองที่เสียสละความสุขส่วนตัวและทำทุกอย่างได้เพื่อให้นักเรียนมีชีวิตที่ดี ส่วนตัวละคร ครูหนุ่ย ถูกนำเสนอว่า เป็นครูที่ไม่ใช่ครูในอุดมคติแบบครูสอง และครูแอน เพราะเน้นการสอนแบบติวเตอร์ มุ่งสอนนักเรียนให้มีความรู้ความสามารถเพื่อที่จะสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัย ครูหนุ่ยจึงไม่ใช่ครูผู้เสียสละ ไม่อุทิศตน และไม่ยอมละทิ้งความสะดวกสบายในเมืองไปทำงานในพื้นที่ชนบทห่างไกล
คำถามที่ตามมาคือ ครูหนุ่ยเป็นครูที่ไม่ดีใช่หรือไม่? และทำไมครูที่ดี เสียสละ และอุทิศตนจึงมักเป็นครูในชนบทหรือพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลความเจริญ ครูในเมืองสอนในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ยุพราชวิทยาลัย หรือ โรงเรียนรัฐ/เอกชนขนาดใหญ่ที่มีความพร้อมในทุกด้านไม่เสียสละ อุทิศตน ทำงานหนักเลยหรือ?
อย่างไรก็ตามพูดง่ายๆ ก็คือ ภาพยนตร์มีนัยของการตั้งคำถามเชิงโครงสร้างในระบบการศึกษาไทย แต่อาจจะยังไม่เข้มข้นมากพอที่จะก้าวข้ามเพดานของอำนาจทางวัฒนธรรมที่แฝงฝังอยู่ในวิธีคิดและมุมมองต่อความเป็นครูไทย
ภาพยนตร์ บทเพลงยังเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างภาพจำครูแบบกระแสหลักของสังคมไทย เป็นอำนาจที่อยู่เหนือกว่าและรายล้อมพวกเรา ไม่ต้องแปลกใจที่ปัจจุบันเรายังคงเห็นคอนเทนต์ในสื่อที่นำเสนอภาพศิษย์เก่าที่อาจเป็นเด็กเกเรดื้อรั้นมาก่อน แต่เปลี่ยนได้เพราะครู มาไหว้ครูเนื่องในวันครู
ถ้าคนที่มีอำนาจในการผลิตสื่อมีวิธีคิดมองครูอีกแบบที่ไม่ใช่สายโรแมนติไซส์หรือแนวอนุรักษ์นิยม ตั้งคำถามกับภาพจำครูมากขึ้น เราก็อาจเห็นภาพครูยืนชูสามนิ้วก็เป็นได้ ผมว่าตอนนี้ในวงการครูและวิชาชีพครูก็กำลังเป็นพื้นที่ต่อสู้ หรือสนามประลองความเป็นไปได้ใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ทั้งยังเห็นสื่อใหม่ๆ พยายามพูดถึงความเป็นครูที่ไปไกลกว่ามิติที่ผมกำลังพูดถึงด้วยซ้ำ
‘ครูบนดอย’ เป็นคอนเทนต์ที่เราเห็นบ่อยมาก
ครู หรือกล่าวให้ชัดว่า ข้าราชการครูในโรงเรียนสังกัด สพฐ. (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ) จะเป็นภาพจำครูกระแสหลัก แต่เรายังมีครูกลุ่มอื่นๆ อาทิ ครูช่างและอาชีวศึกษา สังกัด สอศ. (สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา) ครูการศึกษานอกระบบ หรือ กศน. (สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย) ครูส่วนท้องถิ่นและเทศบาล สังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ครูที่สอนนอกระบบ ครูติวเตอร์ ครูอาสา และครูอัตราจ้าง ซึ่งครูเหล่านี้เขาเป็นครูก็จริง แต่ไม่ได้เป็นข้าราชการครู จึงไม่ได้รับสวัสดิการต่างๆ เช่นเดียวกับข้าราชการครู แต่เวลาสื่อภาพยนตร์ หรือบทเพลงกล่าวถึงกลับรวมเขาเป็นก้อนเดียวกัน อาจนำเสนอทั้งสิ่งที่เป็นจริงหรือไม่มีอยู่จริงเลยก็ได้ แต่ภาพรวมคือ นำเสนอภาพตัวแทนความเป็นครูโดยการโรแมนติไซส์ให้เป็นแบบเดียวกัน
ทุกยุคทุกสมัยในสังคมของเรามีครูหัวก้าวหน้า ต่อสู้กับระบบที่เป็นอยู่ และพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่แค่ครูรุ่นใหม่หรอก หรือต้องเรียกว่าครูที่อายุยังน้อยถึงจะถูก อย่างในยุคก่อน คำหมาน คนไค ที่ได้ชื่อว่าเป็นครูประชาบาลบ้านนอกก็ได้สร้างผลงานเรื่องสั้น นวนิยาย และสารคดีที่รู้จักกันดีคือเรื่อง ครูบ้านนอก จดหมายจากครูบ้านนอก – บันทึกของครูประชาบาล และครูประชาบาลปฏิวัติ ซึ่งครูบ้านนอกได้ถูกนำสร้างเป็นภาพยนตร์ งานเขียนทั้งหมดมีสาระสำคัญที่พยายามวิพากษ์และตั้งคำถามกับระบบการศึกษาไทยในยุคสมัยนั้นผ่านมุมมองของครูบ้านนอกคนหนึ่งที่มีความคิดความอ่าน อยากจะเห็นการศึกษาและสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ประเด็นสำคัญคือ ถ้าใช้ภาพตัวแทนความเป็นครูแบบครูบ้านนอกที่ถูกนำเสนอผ่านภาพยนตร์และสื่อต่างๆ ในช่วง ปี พ.ศ. 2525 เป็นต้นมา เวลาผ่านมาแล้วเกือบ 4 ทศวรรษ
แต่เพราะเหตุใดในปี พ.ศ. 2564 สื่อกระแสหลักทั้งภาพยนตร์ บทเพลงหรือแม้แต่สื่อโซเชียลอย่างเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เวลานำเสนอภาพครูถึงยังเป็นมุมโรแมนติไซส์อยู่ รวมถึงภาพยนตร์โฆษณาและสปอตโทรทัศน์ที่ผลิตโดยเครือข่ายธุรกิจและคุรุสภา ในช่วงเทศกาลวันครู 16 มกราคม ของทุกปี เรายังเห็นคลิปครูบนดอย ครูชนบทห่างไกล หรือเพจคำคมให้กำลังใจครู ชื่นชมครูหรือสนับสนุนให้ครูต้องอุทิศตน เสียสละ ทำงานหนักในสภาพที่ขาดแคลนทรัพยากร และขาดความพร้อมในการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่เด็กและเยาวชนไทย
สังคมไทยจำเป็นต้องตั้งคำถามหนักๆ กับเนื้อหาสาระ และประเด็นคัดสรรที่สื่อนำเสนอ เพราะขณะนี้การเคลื่อนไหวในภาคปฏิบัติการ ไม่ว่าจะเป็นระบบการผลิตครูในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ที่พยายามขยับปรับเปลี่ยนให้ทันกับนักศึกษาครูรุ่นใหม่ ที่มีแนวคิดเสรีนิยมและมีจุดยืนทางการเมืองแบบประชาธิปไตย รวมถึงกลุ่มครูอาจารย์ นักการศึกษา และภาคประชาสังคมที่พยายามรื้อสร้าง และปลดแอกอำนาจทางวัฒนธรรมในเรื่องเหล่านี้ อย่างไรก็ตามสื่อสมัยใหม่ยังคงมีพลังที่จะทำให้ผู้คนซึมซับภาพจำเหล่านั้นไปโดยไม่รู้ตัวและไม่คิดที่จะตั้งคำถาม และยอมรับเข้าเป็นส่วนหนึ่งในวิธีคิด มุมมอง และจุดยืนไปโดยปริยาย
ภาพจำที่เรามีต่อครูไทยอีกอย่าง คือ พิธีไหว้ครู ซึ่งให้ความรู้สึกเป็นพิธีทางศาสนา ทำให้ตั้งข้อสังเกตว่าศาสนาก็มีผลต่อการสร้างภาพจำครูในสังคมไทยด้วยไหม?
เพราะส่วนหนึ่งระบบการศึกษาไทยเกิดขึ้นจากพระพุทธศาสนา ผู้ชายเรียนจากวัด ซึ่งศาสนาอื่น เช่น ศาสนาคริสต์ คนก็เรียนจากโบสถ์ ผมคิดว่ามิติศาสนาอาจเป็นหนึ่งตัวแปรสำคัญในการตีกรอบนิยามความเป็นครู
ศาสนาพุทธในสังคมไทยดำเนินตามแนวจารีตแบบอนุรักษ์นิยม และแฝงฝังด้วยระบบอำนาจนิยม ศักดินา และความเหลื่อมล้ำต่ำสูงที่มองคนไม่เท่ากัน ครูเปรียบเสมือนพระผู้ให้ ผู้ชี้ทางสว่าง ทำให้เวลาพูดถึงครูเรารู้สึกว่าเขาไม่ใช่ปุถุชนทั่วไป ต้องให้ความเคารพหรือต้องเป็นต้นแบบที่ดี อุดมคติของความเป็นครูมีความเกี่ยวข้องกับการเป็นพระสงฆ์ที่ดี มีการใช้หลักธรรมเป็นแนวทางในการดำรงตนในการประกอบอาชีพ เช่น หลักพรหมวิหาร 4 มีเมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา
อาจารย์ออมสินเคยบอกว่าระบบฝึกหัดครูในไทยเราได้รับอิทธิพลจากโลกตะวันตก สิ่งที่เราได้รับมีอะไรบ้าง
รูปแบบการผลิตครูที่เป็นทางการ คือ ครูจำเป็นต้องเรียนจากคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ เรียน 4 ปี หรือ จบจากสาขาวิชาอื่นๆ และได้รับการอบรมวิชาชีพครูจากคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ ครูจะต้องเรียนวิชาว่าด้วยการสอน วิชาชีพครู เนื้อหาสาระวิชาเอก และการฝึกปฏิบัติการสอน แต่พอถึงระดับปฏิบัติการโดยเฉพาะในคณะครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์จะเริ่มมีการสอดแทรกอุดมการณ์ การส่งผ่านทางวัฒนธรรม และการผลิตซ้ำความเป็นครูไทยในอุดมคติ เช่น บุคลิกภาพ มารยาท และการดำรงตนของครู คนเป็นครูต้องเป็นแบบอย่างที่ดี ต้องไว้ทรงผม แต่งตัวสุภาพ ห้ามทำสีผมร้อนแรง ห้ามแต่งตัวเซ็กซี่ ครูที่จบจากคณะนี้ต้องเป็นต้นแบบความเป็นครูที่ดี รักเด็ก เสียสละ อดทน สู้งานหนัก ผมคิดว่าถ้าไม่มีการระบาดของโรคโควิดที่ทำให้ต้องสอนออนไลน์ เรื่องพวกนี้ก็ยังคงมีต่อไปแต่อาจจะเบาบางลง หรือปรับรูปเปลี่ยนร่างไปปรากฏในรูปแบบทางวัฒนธรรมที่เป็น soft power เช่น ระบบโซตัสที่เป็นแบบอำนาจนิยมค่อยๆ หายไป แต่การปลูกฝังวัฒนธรรมความเป็นครูในแนวอนุรักษ์นิยมที่ปรับตัวได้เข้ากับระบบราชการสมัยใหม่ในสังคมไทยยังคงอยู่ สิ่งเหล่านี้รวมกันทำให้การผลิตครู หรือการสร้างภาพตัวแทนครูยังคงอยู่ในกรอบอนุรักษ์นิยม
ในการสำรวจภาพยนตร์ บทเพลงที่พูดถึงครู มีชิ้นไหนที่อาจารย์รู้สึกสนใจเป็นพิเศษ
ผมประทับใจหนังเรื่องครูบ้านนอกกับเพลงครูบนดอย สาระสำคัญของสองเรื่องนี้เหมือนกัน คือ พูดถึงชีวิตครูที่ลำบากยากแค้น ต้องเสียสละ อดทน และอุทิศชีวิตตนเองเพื่อทำให้สังคมดีขึ้น กลายเป็นภาพจำของสังคมไทยว่าครูไม่ใช่แค่เรือจ้างทำหน้าที่สอนอย่างเดียว แต่ยังเป็นแสงที่ส่องสว่างให้นักเรียน เป็นพ่อพระแม่พระ และสร้างเด็กธรรมดาคนหนึ่งให้กลายเป็นคนที่มีคุณค่าและมีชีวิตที่ดีในสังคมต่อไป
ซึ่งวิธีคิดแบบนี้แตกต่างจากโลกตะวันตกอยู่แล้ว ในภาพยนตร์ต่างประเทศ โดยเฉพาะจากฝั่งยุโรปและอเมริกาเราจะเห็นว่าความสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนเป็นเหมือนเพื่อนร่วมเรียนรู้และร่วมทางในการสร้างประสบการณ์ชีวิตมากกว่าคนที่เป็นต้นแบบให้เด็กปฏิบัติตาม นักเรียนถกเถียงกับครูได้ ครูมีความเป็นมิตร มีความใกล้ชิดคุ้นเคยกับนักเรียน ครูสามารถแสดงตัวตนหรือมีคุณลักษณะที่ไม่จำเป็นต้องเป็นไปตามกรอบของสังคมกระแสหลัก
การสร้างภาพจำแบบที่สังคมไทยทำ แง่หนึ่งทำให้ครูไม่กล้าที่จะออกจากกรอบความเป็นครูไปสู่ในมิติอื่นๆ บางทีอาจจะรู้สึกผิดด้วยซ้ำถ้าปฏิบัติตนไม่ตรงตามกรอบ หลายครั้งมีดราม่าครูใส่ชุดข้าราชการไปกินหมูกระทะ เดินห้างในเวลาราชการ ถูกมองว่าไม่เหมาะสม หรือครูเอาเสื้อออกนอกกางเกงไม่ได้ ความรู้สึกภายในของครูรู้สึกว่าต้องอยู่ในกรอบกฎระเบียบที่สังคมคาดหวัง
ถ้าให้อาจารย์ออมสินสร้างหนังเรื่องหนึ่งพูดถึงครู อาจารย์ว่าหนังเรื่องนั้นจะพูดถึงครูด้วยภาพแบบไหน
หนังที่ผมคิดว่านำเสนอภาพครูได้ดี ชื่อ The Class (Entre les Murs) เป็นหนังฝรั่งเศสพูดถึงครูคนหนึ่งที่มีจุดยืนทางสังคม และเพศสภาพที่แตกต่างจากกรอบกระแสหลัก มีความเป็นปุถุชนคนหนึ่งที่ผิดหวัง ล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็พยายามเรียนรู้เพื่อก้าวข้ามปัญหาต่างๆ การนำเสนอแบบนี้เราไม่ค่อยเห็นในสื่อไทย เด็กในชั้นเรียนมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรม การนำเสนอมิติความเป็นครูและวิธีการสอนค่อนข้างแตกต่างจากสังคมไทย อย่างเรื่องครูบ้านนอกจะให้ภาพครูแบบข้าราชการในชนบท ขยัน อดทน ซื่อสัตย์ มีความตั้งใจ อุทิศตน และทำงานหนัก แต่การเรียนการสอนนั้นให้ภาพเด็กนั่งเรียงแถวหน้ากระดาน ครูจดเนื้อหาบนกระดานดำ นักเรียนก็จดตามอย่างตั้งใจ ส่วนใครทำผิดก็โดนเรียกมาทำโทษหน้าชั้น ในภาพยนตร์ หรือบทเพลงที่ศึกษาหลายชิ้น จะนำเสนอภาพนักเรียนที่เป็นเด็กเกเรดื้อรั้น หรือไม่เชื่อฟังครู แต่สุดท้ายตอนจบนักเรียนเกิดความเข้าใจและสำนึกว่าที่ครูลงโทษเพราะอยากให้นักเรียนได้ดี และมักจะลงเอยที่การกราบเท้าครูหรือสำนึกในคุณงามความดีของครูที่มีต่อศิษย์
อีกเรื่องหนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจ ชื่อ Mona Lisa Smile ไม่ได้พูดถึงความเป็นครูโดยตรง แต่มีนัยที่เกี่ยวข้องกับความหมายของชีวิต การศึกษา และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ผมดูแล้วประทับใจตัวละครครูผู้หญิงที่แสดงโดย Julia Roberts เป็นครูที่มีแนวคิดแบบเสรีนิยมก้าวหน้าในยุคสมัยนั้น พยายามเข้าไปเปลี่ยนแปลงค่านิยมและอุดมการณ์แบบอนุรักษ์นิยมในวิทยาลัยหญิงล้วนชั้นนำแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาที่เน้นให้ผู้หญิงเรียนจบไปเพื่อเป็นเมีย แม่บ้าน และแม่ที่ดีของลูก
ถามว่าผมอยากเห็นครูแบบไหนในสื่อ ผมคิดว่าเราเริ่มจากหนัง The Class หรือ Mona Lisa Smile ก่อนก็ได้ คงยังไม่ต้องไปถึงขั้นครูที่เป็นนักปฏิวัติ จริงๆ ก็อยากเห็นภาพตัวแทนครูฝ่ายซ้ายใหม่ สายวิพากษ์ ครูที่ออกไปประท้วงบนถนนเหมือนกันนะ แต่ในความเป็นจริง ในยุคความขัดแย้งทางการเมืองเสื้อเหลือง-แดง เราก็เห็นครูใส่เสื้อสีต่างๆ รวมตัวกันประท้วงมากมาย แต่ในเชิงอุดมการณ์ไม่ใช่แบบฝ่ายซ้ายใหม่ หรือสายวิพากษ์ จนถึงสังคมนิยมประชาธิปไตยอย่างแน่นอนในยุคสมัยนั้น อย่างน้อย การนำเสนอภาพครูในสื่อควรเริ่มต้นจากครูที่พยายามเปลี่ยนแปลงชั้นเรียนบนฐานแนวคิดประชาธิปไตย หรือความเท่าเทียมกันก็น่าจะเป็นไปได้
อาจมีคนอ่านที่รู้สึกว่างั้นการเป็นครูที่เสียสละอุทิศตนไม่ใช่เรื่องดีไหม?
การเป็นครูที่เสียสละหรืออุทิศตนไม่ใช่เรื่องผิด ผมว่าสิ่งที่เป็นปัญหาในการนำเสนอนิยามความเป็นครูแบบนี้ คือ เราต้องกลับมาที่วิธีคิดที่ว่าครูก็เป็นอาชีพหนึ่ง อาชีพครูไม่ใช่เรื่องการทำความดีหรือบุญคุณ ครูเป็นคนธรรมดาทั่วไป มีหน้าที่ให้ความรู้นักเรียนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ
อาจยังไม่ต้องพูดถึงครูในมุมจิตวิญญาณหรือศาสนา แต่พูดถึงในเชิงคุณภาพ วิธีจัดการเรียนการสอน สวัสดิการที่ครูควรได้รับหากต้องทำงานหนักก็ควรได้ผลตอบแทนที่เป็นธรรม
ถ้ามีครูมาอ่านงานชิ้นนี้ อาจารย์คิดว่าเขาจะได้อะไรกลับไป และสิ่งที่อาจารย์อยากส่งให้เขา
เขาจะเห็นเลยว่ามิติความเป็นครูมันลื่นไหลแปรเปลี่ยนตลอดเวลา ถึงจะมีนิยามความเป็นครูแบบกระแสหลักที่อิงแอบกับแนวอนุรักษ์นิยมก็ตาม อย่างน้อยครูเมื่อได้อ่านก็น่าจะเกิดแรงบันดาลใจหรือเห็นว่าอาชีพครูมันสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคมได้
สิ่งที่ผมอยากบอกเขา คือ อยากให้เป็นครูที่ดีต่อไป ดีในที่นี้คือ การนิยามความเป็นครูที่ดีด้วยการสร้างความหมายของตนเอง ด้วยการไตร่ตรองเชิงวิพากษ์ ฟังเสียงเรียกจากภายใน พิจารณาว่าตนเองจะจัดวางความเชื่อ แนวคิด และแนวปฏิบัติในการเป็นครูแบบใด เพื่อใคร ทำไม และทำอย่างไร และไม่จำเป็นต้องอิงกับวาทกรรมทางสังคมที่ผลิตซ้ำภาพจำความเป็นครูอยู่ตลอดเวลา ถ้าครูคนนั้นมองว่าการเป็นครูที่ดีคือการอุทิศตนทำงานหนักเพื่อสอนนักเรียนให้ประสบความสำเร็จ ก็ไม่ใช่เรื่องผิด ความเป็นครูที่ดีไม่มีตายตัว ขอให้ครูอย่าปิดกั้นโอกาสตัวเองที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ครูคนใหม่ ด้วยการตื่นรู้เป็นครั้งที่สองสามสี่ และตลอดชีวิต
ในมุมผมคิดว่าครูสามารถเรียนรู้การเป็นครูที่ดีได้จากนักเรียน เสียงสะท้อนจากพวกเขาจะบอกเราเองว่าเราเป็นครูที่ดีหรือไม่
นอกจากการรื้อสร้างและทบทวนนิยามความเป็นครู ผมอยากให้ครูศึกษาเรื่องประเด็นทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ การเมือง และประวัติศาสตร์ ที่รายล้อมพวกเราอยู่ อ่านหนังสือ อ่านโลก เข้าใจชีวิต และรู้จักใช้ชีวิตเพื่อให้เป็นประสบการณ์และบทเรียนที่จะทำให้ครูมีวิสัยทัศน์ ก้าวหน้า และทันโลก มีมุมมองได้กว้างและไกลกว่าห้องเรียน โอบรับสิ่งเหล่านี้เข้ามาในห้องเรียน ถ้าครูเข้าใจเรื่องพวกนี้ก็จะส่งผลดีกับนักเรียน เพราะนักเรียนคือกระจกที่สะท้อนตัวตนของครูได้ชัดเจนที่สุด