- ครูมื่อ – ประทิม สายชลคีรี ครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.บ้านแม่ต้าน ทุ่มเททำงานในพื้นที่ชายขอบ โดยใช้การเรียนรู้แบบบูรณาการ ICAP เพื่อพัฒนาเด็กปฐมวัยในพื้นที่ชายแดนให้มีพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย
- ครูพยายามเชื่อมโยงผู้ปกครอง ครู และชุมชนเข้าด้วยกัน เพื่อส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ทั้งทางภาษา ร่างกาย จิตใจ และสังคม ผ่านกิจกรรมที่เข้ากับบริบทท้องถิ่น
- ความฝันของครูมื่อ คือการที่เด็กทุกคนต้องเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม มีพัฒนาการสมวัย และเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ แม้จะอยู่ชายขอบของโอกาสก็ตาม
พัฒนาการในช่วงปฐมวัยถือเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม เพราะเป็นช่วงที่เด็กเริ่มสร้างพื้นฐานการเรียนรู้และทักษะต่างๆ ที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต แต่สำหรับเด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกล พวกเขามักเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษา ส่งผลต่อพัฒนาการที่ล่าช้าหรือไม่สมวัย
ครูมื่อ – ประทิม สายชลคีรี แห่งศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อบต.บ้านแม่ต้าน อำเภอท่าสองยาง จังหวัดตาก เห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงมุ่งมั่นพัฒนาเด็กๆ ที่อยู่ในความดูแลซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีพัฒนาการตามวัย สามารถ พูด อ่าน และเขียนภาษาไทยได้ โดยใช้การเรียนรู้แบบบูรณาการที่ยึดเด็กเป็นศูนย์กลาง ด้วยเครื่องมือ ICAP (Integrated Child and Adolescent Development Program) ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะเด็กในทุกด้าน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม

“ถ้าเราสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้ดีขึ้น ก็จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการของเด็ก แต่ปัญหาหลักอยู่ที่ งบประมาณและบุคลากรซึ่งยังไม่เพียงพอ ทำให้ทุกวันนี้การเรียนของเด็กส่วนใหญ่ขึ้นอยู่กับความสนใจของเด็กเอง ครูจึงต้องเป็นสื่อกลาง คอยกระตุ้นและส่งเสริม เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น”
ครูมื่อ กล่าวด้วยความเชื่อมั่นว่า การส่งเสริมพัฒนาการในช่วงวัยนี้จะช่วยให้เด็กมีศักยภาพในระยะยาวและลดปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ในอำเภอท่าสองยาง มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทั้งหมด 36 ศูนย์ โดยศูนย์พัฒนาเด็กเล็กที่ครูมื่อทำงานตั้งอยู่ที่ตำบลแม่ต้าน เป็นศูนย์ใหญ่เพียงแห่งเดียวในตำบลนี้ ทั้งศูนย์มีเด็กจำนวน 100 คน แบ่งเป็น 2 ห้อง คือ ห้องสำหรับเด็กอายุ 3 ขวบ และห้องสำหรับเด็กอายุ 4 ขวบ โดยในแต่ละห้องจะมีเด็กจำนวน 50 คน
เด็กๆ ที่เรียนที่นี่ส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) ซึ่งใช้ภาษาปกาเกอะญอเป็นหลัก พ่อแม่ของเด็กๆ หลายคนไม่สามารถพูด อ่าน หรือเขียนภาษาไทยได้ ทำให้การเรียนรู้ของเด็กๆ มีความท้าทายมากยิ่งขึ้น
กิจกรรมบูรณาการ สานพลังครูและครอบครัว
เนื่องจากครูมื่อทำงานบริเวณชายแดนและได้คลุกคลีและทำงานร่วมกับเด็กกลุ่มชาติพันธุ์และครูในพื้นที่อย่างใกล้ชิดมาตลอด 25 ปี ทำให้ครูเริ่มพูดภาษาปกาเกอะญอได้จากการฟังเด็กพูด ครูจึงเชื่อว่าหากฝึกฝนทุกวัน เด็กก็จะสามารถพูดได้เช่นเดียวกัน
“ตอนแรกๆ ที่อยู่กับเด็ก เขาพูดภาษาถิ่นกันทุกวัน ตอนแรกครูก็ไม่เข้าใจหรอกค่ะ แต่ฟังไปเรื่อยๆ อยู่กับเด็กทุกวัน ครูก็พูดได้เอง สิ่งนี้ทำให้ครูเชื่อว่า ถ้าเราได้ยินและพูดอะไรทุกวัน เราก็จะซึมซับและพูดได้ เช่นเดียวกับเด็กๆ ถ้าเขาได้พูดภาษาไทยทุกวัน วันหนึ่งเขาก็จะพูดได้เอง
ครูเลยกำชับคุณครูที่อยู่ในพื้นที่ว่า ‘ห้ามพูดภาษาถิ่นกับเด็ก’ ให้ใช้แต่ภาษาไทย เวลาประชุมผู้ปกครองก็บอกพ่อแม่เหมือนกัน เพราะส่วนใหญ่พวกเขาทำอาชีพค้าขายหรือเกษตรกรรม พูดภาษาไทยได้บ้างแต่ไม่ชัด อาจจะเป็นสำเนียงเหนือผสมภาษากลาง บางทีเขาก็ไม่กล้าพูดกับลูก”

โดยครูมื่อแนะนำผู้ปกครองว่า ให้เริ่มจากสิ่งง่ายๆ ใกล้ตัว เช่น บอกลูกว่า ‘ไปเอาช้อนให้หน่อย’ ‘ไปหยิบไม้กวาดให้หน่อย’ เน้นให้พูดบ่อยๆ เหมือนที่ครูทำในโรงเรียน เด็กจะได้คุ้นเคยกับภาษาไทย แล้วเวลากลับไปบ้าน ก็ให้พ่อแม่ช่วยคุยกับลูกต่อ
นอกเหนือจากการประสานกับผู้ปกครองแล้ว การปรับเรียนการสอนให้เหมาะสมกับบริบทของชุมชนก็เป็นเรื่องสำคัญ ครูมื่อจึงนำเครื่องมือการเรียนรู้ที่เป็นการบูรณาการจาก ICAP มาใช้ในการพัฒนาเด็ก
“การเรียนการสอนที่ศูนย์ฯ เน้นให้เด็กเรียนรู้จากการเล่น ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับเด็กในช่วงวัยนี้ นอกจากนี้ ครูยังพยายามนำกิจกรรมที่เหมาะสมกับความสนใจของเด็กๆ เข้ามาให้พวกเขาได้เรียนรู้”
กิจกรรมที่ครูมื่อจัดทำจะเน้นไปที่การส่งเสริมพัฒนาการของเด็กในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นทางร่างกาย จิตใจ และสังคม ซึ่งการเรียนรู้ผ่านการเล่นจะช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะต่างๆ ได้อย่างเป็นธรรมชาติและเหมาะสมกับวัย โดยก่อนที่ ICAP จะเข้ามา กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นมีหลักสูตรและแผนการจัดประสบการณ์ให้เด็กซึ่งกำหนดให้ต้องจัด 6 กิจกรรม และต้องบูรณาการให้ครบในแต่ละวัน
“เราพยายามจัดกิจกรรมให้ครบถ้วนที่สุด แต่ว่าในตอนนั้นยังไม่มีการจัดมุมของเล่นโดยเฉพาะ พอ ICAP เข้ามา รูปแบบการจัดการเรียนการสอนก็เริ่มเปลี่ยนไปเลยค่ะ ICAP จะจัดให้มีกิจกรรมทั้งหมด 5 มุม โดยจะไม่มีมุมดนตรี แต่จะให้เด็กๆ เลือกเครื่องดนตรีมาใช้ในการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ ซึ่งสามารถนำมาบูรณาการเข้าด้วยกันได้ เด็กๆ ก็ยังคงสนุกกับกิจกรรมเหล่านี้อยู่นะคะ หลังจากนั้นเมื่อเสร็จแล้ว เด็กๆ จะต้องเก็บเครื่องดนตรีและไปทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น กิจกรรมเสริมประสบการณ์ หรือมุมเสรี
สำหรับมุมเสรี เด็กๆ สามารถเลือกอยู่ในมุมที่ตัวเองสนใจได้ แต่จะจำกัดแค่ 5 คนต่อมุม ถ้ามีเด็กคนที่ 6 อยากเข้ามาก็จะไม่ได้เล่นในมุมนี้ และต้องเลือกมุมอื่นไป หรือถ้าอยากเล่นจริงๆ ก็ต้องรอวันพรุ่งนี้ ซึ่งในกระบวนการนี้ เด็กๆ จะเริ่มเรียนรู้ที่จะอดทนรอคอยและฝึกการเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกันค่ะ”
ในเรื่องของการพัฒนาภาษาการพูดสำหรับเด็กที่ไม่สามารถพูดภาษาไทยได้ ICAP ได้เข้ามาช่วยในการจัดการเรียนการสอนและจัดห้องเรียน รวมถึงกระบวนการต่างๆ ที่ใช้เพลง, คำคล้องจอง และหนังสือนิทานในการช่วยเสริมทักษะทางภาษา โดยเด็กๆ จะได้เล่าเรื่องจากภาพที่เห็น ซึ่งช่วยให้มีการปฏิสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ทำให้ผู้ปกครองมีเวลาอยู่กับลูก แม้จะเป็นเวลาเพียงแค่ 10-15 นาที ก็ส่งผลให้พัฒนาการของเด็กดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

ผลลัพธ์จากความร่วมมือ คือการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
ครูมื่อเล่าว่า เมื่อมีการจัดกิจกรรมดังกล่าว เด็กมีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระเบียบวินัย การอดทนรอคอย หรือทักษะด้านภาษา เด็กๆ เริ่มกล้าพูดและช่างถามมากขึ้น จากที่ในอดีตไม่กล้าพูดเพราะกลัวว่าจะพูดผิด เนื่องจากภาษาไทยเป็นภาษาที่ถ้าพูดผิด ความหมายอาจเปลี่ยนไปเลย ทำให้เด็กๆ ขาดความมั่นใจ ดังนั้นจึงต้องกระตุ้นให้เด็กถามซ้ำๆ เพื่อช่วยให้เด็กจำได้ และในปัจจุบันเด็กๆ ก็เริ่มกล้าพูดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“เราใช้เวลาแค่ 15 วัน ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงแล้วค่ะ เพราะเด็กได้ฝึกทุกวัน หลังจากเรียนจบในแต่ละวัน เด็กจะได้รับหนังสือนิทานกลับไปที่บ้าน พอวันรุ่งขึ้น ครูก็จะถามว่า “เมื่อวานแม่เล่าเรื่องอะไรให้ฟัง” ให้เด็กได้มีโอกาสเล่าเรื่องหน้าชั้นเรียน ว่าเขาได้หนังสือนิทานอะไรไป และแม่เล่าให้ฟังว่ายังไง แรกๆ เด็กๆ ก็ไม่กล้าถามกันค่ะ เราก็ต้องกระตุ้นว่า ‘ต้องถามนะ หนูถามอะไรก็ได้’ เช่น ‘หนูเห็นอะไรในนิทานบ้าง’ เด็กก็จะเริ่มตอบว่า ‘เห็นหมีค่ะ หมีสีนี้นะ’ หรือ ‘เห็นไก่ค่ะ ไก่ออกไข่’
แต่สิ่งที่ประทับใจที่สุดก็คือความร่วมมือของผู้ปกครองในหมู่บ้านค่ะ ถึงแม้พวกเขาจะอยู่กันคนละที่ คนละทาง แต่พอเราขอความร่วมมือเกี่ยวกับเรื่องของลูกๆ ก็ไม่เคยมีใครปฏิเสธเลย ไม่มีใครบอกว่า ‘ไม่ไป’ หรือ ‘ไม่ทำ’ ทุกคนพร้อมช่วยเหลือเต็มที่ ซึ่งเป็นเสียงตอบรับที่ดีมากเลยค่ะ
และอย่างหนึ่งที่เห็นชัดเลยก็คือ เดี๋ยวนี้เด็กๆ พูดภาษาไทยได้แล้ว เวลาเราถามว่า ‘คุณครูคนนี้ชื่ออะไร’ หรือถามชื่ออะไรต่าง ๆ เด็กก็ตอบได้หมดเลย แล้วเวลาประชุมผู้ปกครอง เราก็แนะนำว่า พอกลับถึงบ้านให้เปิดกระเป๋าลูกดู แล้วถามลูกเป็นภาษาไทยว่า ‘วันนี้คุณครูให้ทำอะไรบ้าง’ หรือ ‘วันนี้กินข้าวกับอะไร’ ซึ่งผู้ปกครองก็ทำตามนะคะ ผลที่ออกมาคือ ภาษาไทยของเด็กดีขึ้นมาก
ที่สำคัญกว่านั้นคือ เด็กกล้าพูดมากขึ้น เวลาโรงเรียนมีบุคคลภายนอกมา เขาก็กล้าสื่อสาร ไม่กลัวเหมือนเมื่อก่อน พอเห็นแบบนี้แล้ว มันทำให้เราที่เป็นครูมีความสุขมากเลยค่ะ คือเราได้เห็นแววตาของเด็กๆ และผู้ปกครอง มันเป็นอะไรที่ดีงามมากเลยจริงๆ” ครูมื่อ เล่า
ขยายผลด้วยความทุ่มเท เพื่อพัฒนาเด็กชายขอบอย่างทั่วถึง
นอกจากการพัฒนาในศูนย์ฯ ของตนเองแล้ว ครูมื่อยังพยายามเผยแพร่ความรู้ รวมทั้งขยายผลไปให้กว้างที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยได้รับโอกาสสำคัญในการเป็นอาจารย์สอนพิเศษที่วิทยาลัยชุมชนตาก ที่มุ่งให้ความรู้แก่ครูที่ต้องการเรียนเสริมอาชีพ เพื่อพัฒนาและยกระดับทักษะของตนเอง ซึ่งเมื่อครูเหล่านี้มาเรียนและอบรมก็จะได้รับวุฒิการศึกษา สามารถนำความรู้ไปจัดการเรียนรู้ที่ศูนย์เด็กเล็กของตนเองได้
“กิจกรรมที่อบรมส่วนมากก็จะเป็นเรื่องของสื่อและของเล่นสำหรับเด็กปฐมวัยค่ะ เราจะเน้นใช้วัสดุในท้องถิ่นที่หาได้ง่าย อยู่ใกล้ตัวเด็ก ให้เขาได้รู้จักและคุ้นเคย อย่าแถวบนดอยมีกอไผ่เยอะ เราก็ใช้ต้นไผ่มาทำของเล่น เช่น ทำเป็นล้อ ทำเป็นรถลากให้เด็ก หรือทำที่ยืนสองขาให้เด็กได้เล่น เพื่อฝึกพัฒนากล้ามเนื้อขา
นอกจากนี้ วัสดุรีไซเคิลที่หาได้ง่ายๆ ก็สามารถนำมาใช้ได้หมดเลยค่ะ ไม่ว่าจะเป็นฝาขวดน้ำ หลอดกาแฟ เด็กๆ ก็จะชอบ โดยเฉพาะเด็กอายุ 3-4 ขวบ เพราะพัฒนากล้ามเนื้อมือเขายังไม่ค่อยแข็งแรง การให้เด็กได้ฉีกกระดาษ ตัดกระดาษ หรือแม้แต่ขยำกระดาษรีไซเคิลให้เป็นลูกบอลไว้โยนเล่น ก็เป็นกิจกรรมที่ดีมาก เด็กๆ สนุก แล้วก็ช่วยเสริมพัฒนาการไปด้วย
โดยสิ่งที่เราทำตรงนี้ มันเกิดจากความมุ่งมั่นและตั้งใจของเราค่ะ อีกอย่างคือ เรามีความพร้อม เพราะไม่ได้มีภาระอะไร ครูก็เลยอุทิศเวลาที่มีให้กับการศึกษาปฐมวัยอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความรู้กับนักศึกษา เด็กๆ หรือแม้แต่ผู้ปกครอง
ครูเองก็เข้าร่วมการอบรม ประชุม สัมมนาต่างๆ อย่างเต็มที่ แล้วก็นำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดห้องเรียน หรือการส่งเสริมพัฒนาการเด็กว่าควรทำอย่างไร ซึ่งตรงนี้ไม่ได้ทำแค่คนเดียวค่ะ แต่ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านที่ช่วยผลักดัน หรือหมอพัฒนาการเด็ก และหมอปฐมภูมิที่ดูแลชุมชนและพัฒนาการเด็กในระดับอำเภอ รวมไปถึง ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วย และสมาชิกในชุมชน

ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันนะคะ ไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พอเราทำงานร่วมกันได้อย่างเป็นระบบ ก็จะช่วยให้เด็ก มีพัฒนาการที่ดีขึ้น ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เรามุ่งหวังและตั้งใจทำค่ะ” ครูมื่อกล่าว
ความฝันของครูมื่อ คือเด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียม
เป้าหมายสูงสุดของครูมื่อ นอกจากการพัฒนาเด็กให้เติบโตเป็นคนที่มีศักยภาพในทุกด้าน โดยเฉพาะในเรื่องของการมีความรู้และทักษะที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ครูมื่อยังต้องการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่ถูกจำกัดด้วยสถานะทางทะเบียนหรืออุปสรรคทางภาษา
“ครูมื่อมีความฝันที่จะเห็นเด็กๆ กลุ่มนี้ได้มีพัฒนาการสมวัย ไม่แพ้ใคร รวมถึงอยากให้ศูนย์เด็กเล็กที่ติดชายแดนทุกๆ ที่เป็นเหมือนของเรา ซึ่งตอนนี้ก็สำเร็จไปเกินครึ่งแล้วค่ะ หากบางที่ติดขัดปัญหาอะไร ครูมื่อก็จะเป็นคนไปประสานกับทางผู้ใหญ่ให้เพื่อทำให้การทำงานราบรื่นขึ้น โดยชี้ให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมค่ะ”

สุดท้ายนี้ ครูมื่อฝากถึงผู้ที่เกี่ยวข้องว่าการพัฒนาเด็กในพื้นที่ชายแดนไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีทั้งข้อจำกัดด้านทรัพยากรและปัญหาต่างๆ ที่เกิดจากสภาพแวดล้อม แต่เราทุกคนต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้รับโอกาสในการพัฒนาศักยภาพตามวัย และสามารถเติบโตไปเป็นคนที่มีคุณภาพในสังคม
“อยากฝากถึงคุณครูของเราทุกคน ทุกวันนี้เรามีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ครูเชื่อว่าครูชายขอบทุกคนที่เข้ามาอยู่ตรงนี้ ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือการพัฒนาเด็กให้พวกเขามีพัฒนาการที่สมวัย มีความฝัน มีจินตนาการ และได้รับแรงบันดาลใจ
เพื่อที่พวกเขาจะจดจำได้ว่า ตอนเด็กๆ พวกเขาเคยได้เรียนรู้ ได้เก็บเกี่ยวความสุข สิ่งเหล่านี้จะเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพ และเมื่อเด็กเติบโตขึ้น สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วยค่ะ” ครูมื่อกล่าวส่งท้าย