- ครูไม่ใช่บทบาทที่แยกขาดจากสังคมการเมือง แต่คือคนที่กระโดดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการท้าทายใจกลางของความอยุติธรรม แปรเปลี่ยนห้องเรียนให้กลายเป็นพื้นที่ที่พานักเรียนมองเห็นการกดขี่ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ตั้งคำถามต่อความไม่เป็นธรรมในทุกรูปแบบ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อก่อร่างสร้างอนาคตของสังคมที่ดีขึ้นอย่างมีความหวัง ครูคือผู้ทำงานทางการเมือง
- นิยาม ‘ครู’ ในความหมายที่มากกว่า ครูคือเรือจ้าง ครูคือพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ ครูคือโค้ช ครูคือผู้อำนวยการเรียนรู้ นิยามความหมายเหล่านี้กำลังก่อร่างสร้างสังคมแบบไหน เป็นสังคมที่เป็นธรรมกว่าวันนี้หรือไม่? ถ้อยคำคุ้นหูเหล่านี้นำไปสู่คำถามสำคัญที่อยากชวนทบทวนและขบคิดว่านิยามความเป็นครูนั้น แท้จริงควรเป็นอย่างไร
- หากเราปรารถนาที่จะเห็นสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น ครูจึงไม่ใช่แค่แม่พิมพ์หรือโค้ช แต่คือคนที่กล้าลุกขึ้นมาท้าทายกับความไม่เป็นธรรม พร้อมๆ กับการสร้างนักเรียนให้เป็น ‘พลเมืองที่อันตราย’ (Dangerous citizenship) ต่อระบบที่กดขี่พวกเขาอยู่ มีความตระหนัก กล้าตั้งคำถาม และจินตนาการถึงการสร้างสังคมที่ดีขึ้นกว่าเดิม
“หากเราปรารถนาให้สังคมข้างหน้าเป็นสังคมที่ดีขึ้นกว่าวันวาน เราจำเป็นต้องกลับมาตั้งคำถามว่า
นิยามความเป็นครูแบบใด ที่จะเป็นเมล็ดพันธุ์ก่อร่างสร้างสังคมแบบนั้นขึ้นมา”
หากเราเห็นความเหลื่อมล้ำที่กำลังกัดกินเพื่อนร่วมสังคมและผลักใครหลายคนให้ดิ้นรนหาหนทางตะเกียกตะกายให้มีชีวิตรอดไปวันๆ ในขณะที่คนเพียงหยิบมือผูกขาดทรัพยากรและความมั่งคั่ง หากเราเห็นอำนาจถูกใช้เพื่อปราบปรามกดขี่ ปิดกั้นผู้คนให้ตกอยู่ในความเงียบงันและความกลัว เพียงเพราะพวกเขาลุกขึ้นทวงถามและต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า
การเปรียบเปรย นิยาม และให้ความหมายของ ‘ครู’ ที่หลายคนคุ้นเคย เช่น ครูคือคนสวน ครูคือโค้ช ครูคือผู้อำนวยการเรียนรู้ ครูคือเรือจ้าง ครูคือพ่อพิมพ์แม่พิมพ์ ครูคือข้าราชการ ครูคือผู้เสียสละ หรือครูคือพ่อแม่คนที่สอง ฯลฯ นิยามความหมายเหล่านี้กำลังก่อร่างสร้างสังคมแบบไหน เป็นสังคมที่เป็นธรรมกว่าวันนี้หรือไม่? ถ้อยคำคุ้นหูเหล่านี้นำไปสู่คำถามสำคัญที่อยากชวนทบทวนและขบคิดว่านิยามความเป็นครูนั้น แท้จริงควรเป็นอย่างไร
ทำไมครูจึงควรเป็นผู้ทำงานทางการเมือง
การนิยามความเป็นครูในแบบต่างๆ ล้วนสะท้อนถึงมุมมองเกี่ยวกับความรู้ การเรียนรู้ การสร้างหลักสูตร ไปจนถึงปฏิบัติการในห้องเรียน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อไหร่ก็ตามที่เราพยายามตอบคำถามว่า “ครูคืออะไร” หรือ “ครูที่ดีควรเป็นอย่างไร” อีกคำถามที่ซ้อนทับอยู่ในตัวมันเองก็คือ “สังคมที่เราอยากเห็นนั้นเป็นอย่างไร” “เรามองเห็นอะไรในพื้นที่โรงเรียนและสังคมการเมือง” คำถามเหล่านี้พาเราไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า “เรากำลังมองการศึกษาและสังคมด้วยมุมมองแบบใด”
ในทางหนึ่งการศึกษาได้กลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ควบคุม ถ่ายทอดความคิด ให้นักเรียนเป็นผู้ว่านอนสอนง่าย พร้อมที่จะเชื่อฟังและปฏิบัติตามสิ่งที่ชนชั้นผู้ปกครองต้องการ เพื่อที่พวกเขาจะได้รักษาไว้ซึ่งอำนาจ ความไม่เป็นธรรม และการกดขี่เชิงระบบให้ดำรงอยู่ต่อไปได้
“โรงเรียนในฐานะพื้นที่ควบคุม” คือสิ่งที่นักการศึกษาสายวิพากษ์ E Wayne Ross มองเห็น ดังนั้น หากเราปรารถนาที่จะเห็นสังคมที่เป็นธรรมมากขึ้น ครูจึงไม่ใช่แค่แม่พิมพ์หรือโค้ช แต่คือคนที่กล้าลุกขึ้นมาท้าทายกับความไม่เป็นธรรม พร้อมๆ กับการสร้างนักเรียนให้เป็น “พลเมืองที่อันตราย” (Dangerous citizenship) ผู้เป็นอันตรายต่อระบบที่กดขี่พวกเขาอยู่ มีความตระหนัก กล้าตั้งคำถาม และจินตนาการถึงการสร้างสังคมที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ในทำนองเดียวกัน Sonia Nieto นักการศึกษาพหุวัฒนธรรมศึกษาเชิงวิพากษ์ สะท้อนว่าโรงเรียนและสังคมการเมืองเป็นพื้นที่ของอำนาจ การกดขี่ การเลือกปฏิบัติ และความไม่ยุติธรรม ทั้งในด้านชนชั้นทางสังคม เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เพศ และความแตกต่างอื่นๆ อีกทั้งการศึกษายังเป็นพื้นที่ผลิตสร้างความรู้กระแสหลัก ที่ก่อให้เกิดมายาคติ และภาพจำแบบเหมารวมที่นำไปสู่ความไม่เท่าเทียมกันในการเลือกปฏิบัติต่อนักเรียนในระดับโครงสร้างอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เธอจึงเสนอว่าครูควรขยับไปสู่การเป็น “ครูในฐานะผู้ทำงานทางการเมือง” (Teacher as political work) ที่มองเห็น รู้สึก ตั้งคำถาม กล้าหาญ และผลักดันให้เกิดความเป็นธรรมตั้งแต่ระดับห้องเรียนจนถึงไประดับนโยบาย
ความหมายของการเป็นครูสำหรับ Ross และ Nieto เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับความเป็นครูแบบฝากธนาคาร (banking education) ที่บอกว่าครูมีหน้าที่ป้อนชุดความรู้กระแสหลักของชนชั้นผู้ปกครองและคอยตรวจสอบดูว่านักเรียนรับความรู้นั้นแล้วหรือยัง ครูที่เป็นเพียง “ช่างเทคนิค” ที่มุ่งเน้นหาเทคนิควิธีการหรือเครื่องมือไปใช้เพื่อส่งต่อความรู้ สร้างห้องเรียนที่ปราศจากคำถามต่อความรู้ที่ถูกป้อน และผลักให้นักเรียนอยู่ในสภาวะของความเงียบงัน (Moment of silence) ท้ายที่สุด นักเรียนจึงเป็นเพียงหุ่นยนต์ที่รอรับความรู้
การสอนคือการกระทำทางการเมือง
นิยามครูในความหมายของทั้งคู่ยังหมายถึง “ครูในฐานะปัญญาชน” (Teacher as Intellectuals) ครูที่มีความความสงสัยใคร่รู้ สังเกต และตั้งคำถามกับสำนึกและความเชื่อเดิมที่ถูกหล่อหลอมมา สำนึกที่ทำให้ความไม่เป็นธรรมและการกดขี่ดำรงอยู่ สามารถเชื่อมโยงทฤษฎีไปสู่การอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมผ่านชีวิตประจำวัน เพื่อเผยให้เห็นถึงการกดขี่ ความไม่เป็นธรรม การครอบงำ และไม่หวาดกลัวที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับสังคม ผ่านคำถามสำคัญ ได้แก่
- ความคิดที่กำลังครอบงำสังคมปัจจุบันเป็นความคิดแบบใด วิธีคิดเหล่านั้นเข้ามาสู่ระบบ โรงเรียนจนเกิดเป็นวัฒนธรรมหลักที่หล่อเลี้ยงการกดขี่ได้อย่างไร แล้วเราจะท้าทายสิ่งเหล่านี้อย่างไร?
- เรื่องราว/เรื่องเล่า/เนื้อหาความรู้ของใครที่ปรากฏในระบบการศึกษา และใครได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดสิ่งเหล่านี้?
- อะไรคือความไม่เท่าเทียม ความไม่ยุติธรรม การเลือกปฏิบัติ การกีดกัน มายาคติ ที่เกิดขึ้นทั้งในพื้นที่การศึกษา และสังคมของเรา มันเกิดขึ้นกับใครบ้าง แล้วเราจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร
- อะไรคือจุดยืนของเราในฐานะครู ที่มีต่อความไม่เป็นธรรมในสังคม การเมือง และการศึกษา?
- เราจะสร้างห้องเรียน โรงเรียน และการศึกษา เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างไร?
เช่นเดียวกับ Paulo Freire นักการศึกษาชาวบราซิลคนสำคัญของโลก ที่นิยามการเป็นครูในหนังสือที่มีอิทธิพลต่อการศึกษาทั่วโลกอย่าง การศึกษาของผู้กถูกดขี่ pedagogy of oppressed และ teacher as cultural work ไว้ว่า “การสอนคือการกระทำทางการเมือง” ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า การสอนคือ
- การทำงานเพื่อความยุติธรรม การมองเห็นสังคมและยืนอยู่ข้างผู้ที่ถูกกดขี่ ผู้ที่ถูกกีดกัน ผู้ที่ไม่ได้รับความยุติธรรมภายใต้โครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียม พร้อมๆ กับหาหนทางสร้างการเปลี่ยนแปลง
- มีจุดยืนเชิงวิพากษ์ การกล้าท้าทายอำนาจที่ครอบงำอยู่ ท้าทายการมองโลกในสำนึกเดิม ท้าทายวัฒนธรรมความคิด ความจริงที่เป็นอยู่อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะรื้อออกมาว่ามันทำงานและส่งผลกับตัวเราอย่างไร แล้วลงมือแสวงหาทางออกใหม่บนคุณค่าใหม่ที่มองเห็นความเป็นมนุษย์เท่าเทียม
- สร้างความหวัง การเชื่อมั่นในศักยภาพของตัวเราและผู้อื่นในการร่วมเปลี่ยนแปลง เพื่อยืนหยัด แตกหักกับสิ่งเดิม และเสนอจินตนาการถึงสังคมแบบใหม่ที่ดีกว่าเดิม
ครูไม่ใช่บทบาทที่แยกขาดจากสังคมการเมือง แต่คือคนที่กระโดดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการท้าทายใจกลางของความอยุติธรรม แปรเปลี่ยนห้องเรียนให้กลายเป็นฐานที่มั่นสำคัญที่เป็นมากกว่าสถานที่ถ่ายทอดความรู้แล้วจบไป แต่เป็นพื้นที่ที่พานักเรียนมองเห็นการกดขี่ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ตั้งคำถามต่อความไม่เป็นธรรมในทุกรูปแบบ และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อก่อร่างสร้างอนาคตของสังคมที่ดีขึ้นอย่างมีความหวัง ครูคือผู้ทำงานทางการเมือง
อ้างอิง
Critical pedagogy for Social justice โดย John Smyth
Humanizing critical pedagogy: What kind of teachers? What kind of citizenship? What kind of future? โดย E. Wayne Ross
Pedagogy of oppressed โดย Paulo Freire
As Cultural Workers: Letters to Those Who Dare Teach โดย Paulo Freire
Teaching as Political Work: Learning from Courageous and Caring Teachers โดย Sonia Nieto
ห้องเรียนล้ำเส้น โดย พล พลเรียน (อรรถพล ประภาสโนบล)