- ‘Tambon Zero Dropout’ หรือตำบลที่เด็กหลุดจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ คือความฝันของ ‘หมอตุ้ย’ สันติพงษ์ ศิลปสมบูรณ์ ที่มีหน่วยงานต่างๆ ในเทศบาลลำปางหลวงและทีมงานจิตอาสาเป็นกำลังหลัก
- เป้าหมายคือการพาเด็ก Dropout ในพื้นที่กลับสู่ระบบการศึกษา หรืออย่างน้อยก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง
- “เรากำลังสร้างตำบลลำปางหลวงเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาเด็ก Dropout ถ้าเราทำได้ ตำบลอื่นก็น่าจะขยับเขยื้อน แล้วก็น่าจะขยายเครือข่ายได้ในอนาคต”
“สิ่งที่เราพบคือสังคมโดยเฉพาะผู้ใหญ่มักตราหน้าว่าเด็กนอกระบบ มีสถานะเหมือนกับนักโทษสมัยโบราณที่ถูกตีตัวแดงติดหน้าผาก”
‘หมอตุ้ย’ สันติพงษ์ ศิลปสมบูรณ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลตำบลลำปางหลวง ชวนสังคมให้หันกลับมาทบทวนวิธีคิดที่มีต่อเด็ก Dropout หรือเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เพื่อทำความเข้าใจก่อนที่จะลงมือช่วยเหลือพวกเขาให้กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาและสร้างโอกาสในการพัฒนาศักยภาพของตนเอง

จากข้อมูลการสำรวจและติดตามสถานการณ์เด็กและเยาวชนช่วงอายุ 3 – 18 ปี โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. พบว่าในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2567 ประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนที่ไม่มีรายชื่อในระบบการศึกษาจำนวนกว่า 1 ล้านคน โดยกลุ่มนี้มักถูกเรียกว่าเด็ก Dropout ซึ่งทางโครงการ Thailand Zero Dropout ได้ตั้งเป้าหมายที่จะปัญหาดังกล่าวให้กลายเป็นศูนย์ เพราะยิ่งปล่อยให้ปัญหานี้เรื้อรังเท่าไหร่ ประเทศไทยก็จะสูญเสียบุคลากรที่มีศักยภาพมากขึ้นในอนาคต
หมอตุ้ยเป็นอีกคนหนึ่งที่ตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ปัญหานี้และตั้งใจว่าจะใช้พื้นที่ตำบลลำปางหลวงสร้างโมเดลในการพาเด็ก Dropout สู่เส้นทางการเรียนรู้ ผ่านบทบาทในการเป็นผู้รับผิดชอบโครงการร่วมสร้างชุมชนแห่งโอกาสและการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนนอกระบบการศึกษาบนฐานทุนของชุมชนและความร่วมมือระดับท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
“ผมอยากจะช่วยให้เด็ก Dropout ในพื้นที่กลับสู่ระบบการศึกษา หรืออย่างน้อยก็สามารถเข้าร่วมกิจกรรมที่พัฒนาศักยภาพของตนเองได้ เชื่อว่าหากทุกคนในตำบลลำปางหลวงร่วมมือกันจะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างยั่งยืน”
ทราบมาว่าคุณหมอกำลังจะปักหมุดตำบล Zero Dropout ที่ลำปางหลวง?
ย้อนกลับไปประมาณ 4 ปีที่แล้ว ทางเทศบาลได้รับทุนพัฒนาอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน จากกสศ. โดยปีแรกๆ เราทำในผู้สูงอายุกับคนพิการเป็นส่วนใหญ่ จนเมื่อปีที่แล้วเราคิดว่าจะลองทำกับกลุ่มเยาวชนนอกระบบการศึกษา โดยให้ทางเทศบาลเราเป็น 1 ใน 5 เทศบาลต้นแบบ ตอนนั้นเราตั้งเป้าไว้ที่ 100 คน เราจึงลงพื้นที่เซอร์เวย์และนำข้อมูลจากโครงการ Zero Dropout มาดู พบว่าเรามีเด็กถูกแขวนลอยเยอะมากเลยนะครับ หมายถึงเด็กที่เรียนถึง ม. 3, ปวช. หรือ ม. 6 แต่ไม่ได้วุฒิเพราะติด 0 ติด ร. หลายคน
เด็กกลุ่มนี้เยอะครับ มีเป็นร้อยๆ คน เราจึงมองปัญหานี้อย่างจริงจัง ประกอบกับเราพบว่ามีปัญหาจากเด็กแว้น กับเด็กที่อยากหาพื้นที่ในการแสดงออก เราจึงเริ่มมองหากิจกรรมที่น่าจะช่วยพวกเขาได้ แล้วก็ได้มาพบกับกลุ่มจิตอาสาที่เคยเป็นเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้อายุ 30 กว่าปีแล้ว มาร่วมกันเป็นแกนหลักในการทำงานกับเยาวชน

ในพื้นที่ตำบลลำปางหลวงของเราประกอบไปด้วย 13 หมู่บ้าน มีเยาวชนประมาณ 700 กว่าคน อายุ 15 – 25 ปี แต่ว่าปีที่ผ่านมา เราเลือกเยาวชนมาก่อน 100 คน ที่หลุดจากโครงสร้างของระบบการศึกษา โดยแยกออกเป็น 3 กลุ่มครับ 1.กลุ่มที่ยังเรียนอยู่ อันนี้เราไม่ได้ทำอะไรกับเขามากนัก 2. กลุ่มเสี่ยง คือเด็กที่มีแนวโน้มจะหลุดออกจากระบบการศึกษา ไม่ว่าเขาจะมีความเสี่ยงมากเสี่ยงน้อยก็ตาม หรือติด 0 กี่ตัวก็ตาม 3.กลุ่มที่หลุดออกแล้ว ตรงนี้ก็จะแบ่งออกย่อยเป็นอีกสองกลุ่ม คือเด็กที่เพิ่งหลุดออกมา 1 ปี กับเด็กที่หลุดมานานกว่านั้น ซึ่งในกลุ่มหลังมักจะปฏิเสธการเรียน ไม่อยากกลับไปเรียนกับน้องๆ แล้ว และมักรวมกลุ่มกันไปทำเรื่องอื่นๆ
ตอนที่คุณหมอเข้ามาทำโครงการในช่วงแรกมีความยากลำบากหรืออุปสรรคอะไรบ้าง
อุปสรรคเยอะมากเลยครับ เพราะเด็กกลุ่มนี้ถ้าเขาไม่ไว้ใจใครแล้วเขาจะปฏิเสธหมดเลย เราจึงต้องสร้างพื้นที่ปลอดภัยในกองสาธารณสุขของเรา เราจะไม่มีการตรวจฉี่ ไม่มีการตั้งกฎเกณฑ์ แล้วน้องเยาวชนทุกคนจะมีเสียงหนึ่งสิทธิเท่ากันในการแสดงความเห็น พวกเขาสามารถคิดหรือทำอะไรก็ได้ เช่น โหวตกันว่าอยากเรียนช่างยนต์ผมก็จัดให้เลย โดยได้รับความร่วมมือจาก BOI และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงานที่ยกเอากองของผมเป็นศูนย์ช่างประจำชุมชนเทิดไท้องค์ราชัน แล้วส่งอาจารย์มาสอน เด็กๆ ก็เข้ามาเรียนที่นี่พร้อมกับชาวบ้านที่สนใจ แต่ที่สำคัญคือที่นี่ไม่เคยว่า ไม่เคยตำหนิ เด็กทุกคนอยากทำอะไรก็ทำ แล้วก็เรารับฟังเด็ก
ผมมี อพม. คืออาสาพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อยู่ในพื้นที่ประมาณ 40 กว่าคน มานั่งคุยกันว่า คุณจะทำยังไงต่อกับลูกหลานของคุณ สิ่งที่เราพบอันแรกคือสังคม พวกผู้ใหญ่ตราหน้าเขา ตีตัวแดงติดหน้าผากเหมือนนักโทษสมัยโบราณ ตีตราเลยตรงนั้น แล้วอีกอันนึงก็คือ ครอบครัวอุปถัมภ์ ก็คือเวลาเด็กตื่นสายอะไรพวกนี้ครับ ก็ไม่ต้องไปโรงเรียน เด็กติด 0 ติด ร. ก็ไม่สนใจ เด็กไม่เรียนก็ไม่ต้องเรียน เพราะยังไงฉันมีเงินส่งให้ใช้อยู่แล้ว
นอกจากนี้สังคมก็ไม่มีพื้นที่ให้เขาแสดงออก เด็กบางคนก็เลยหันไปทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม เช่น ซิ่งรถเป็นเด็กแว้น แต่ทีมพี่ๆ จิตอาสาของเราก็จะเป็นคนคอยไปดู และนำงบที่ได้สนับสนุนมาทำกิจกรรมอื่นๆ ให้น้องๆ ได้มีพื้นที่ เช่น การทำอคาเดมีฟุตบอลเพื่อฝึกวินัยเด็กๆ ผ่านฟุตบอล กับอีกอันคือการเต้นบาสโลบ ซึ่งตอนนี้เด็กๆ ในทีมฟุตบอลและบาสโลบของเราเริ่มเก่งขึ้นและมีการพัฒนาที่ดีขึ้น อย่างทีมบาสโลบของเราก็ได้กลายเป็นทีมชนะเลิศในจังหวัด ไม่มีใครกล้าจะแข่งกับพวกเขา ส่วนทีมฟุตบอลก็เริ่มมีความแข็งแกร่งสามารถแข่งขันกับทีมใหญ่ๆ ได้ เด็กมีวินัยมากขึ้น พวกเขาจะตื่นเช้าและมาเข้าร่วมกิจกรรมอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในวันเสาร์อาทิตย์ที่พวกเขามาซ้อม เราก็เริ่มมีทีมฟุตบอลที่ดี มีโค้ชจากมหาวิทยาลัยกีฬาเข้ามาสอนอย่างมืออาชีพ และให้เกรดกับเด็กๆ ทุกคน ทำให้เด็กได้พัฒนาทักษะและได้รับใบประกาศ
การทำกิจกรรม เช่น ฟุตบอล การเต้นบาสโลบ นอกจากเพื่อฝึกฝนความมีวินัย ยังเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กๆ ด้วย?
ใช่ครับ ตอนแรกเราต้องการให้เด็กๆ เข้ามาร่วมกิจกรรมเพื่อเปิดใจและดูว่าเด็กจะสามารถไว้ใจพวกเราและเข้ามาคุยกับเราได้ไหม พี่ๆ ทีมงานก็พยายามทำกิจกรรมต่างๆ และได้มีชมรมต่างๆ เข้ามาช่วยสนับสนุน ทำให้เด็กๆ เริ่มกล้าที่จะเปิดใจและพูดคุยกับพวกเรา หลายคนที่เข้ามาร่วมกิจกรรมเริ่มมีโอกาสไปเรียนต่อ เช่น ตอนนี้มีเด็ก 11 คนที่เข้ามาสมัครกับศูนย์การเรียน CYF (มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน) ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนตามมาตรา 12 ของ พรบ.การศึกษา หรือเรามีเด็ก 6 คนที่ส่งเอกสารเพื่อจะขอวุฒิ ม.3 หรือ ม.6 เพื่อไปเรียนต่อ ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มหลักที่เราหวังว่าจะจบการศึกษาในเดือนเมษายนนี้และสามารถเรียนต่อได้
ในปีที่ 2 นี้ เราก็ได้รับงบประมาณเพิ่มเติมจากกสศ. ทำบ้านพักเด็กอีก 100,000 บาท ตอนนี้เรามีโครงการที่หลากหลาย เช่น ค่ายเยาวชน การแข่งขันฟุตบอลซีซั่น 2, กิจกรรมดนตรี, ศิลปะ, ฟ้อนรำ รวมถึงตลาดเด็ก ซึ่งจะให้เด็กๆ มาช่วยกันบริหารจัดการตลาดเอง โดยเด็กจะสามารถแสดงความสามารถที่ตัวเองชอบ ไม่ว่าจะเป็นการเต้น เล่นดนตรี หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ในพื้นที่ที่ปลอดภัย

ดูเหมือนว่าจังหวัดลำปางจะทำงานเรื่องเด็กและเยาวชนในหลายมิติ?
ใช่ครับ เรามีเกาะคาโมเดล ทำกับ ABE (การจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ) ส่วนลำปางหลวงเรากำลังสร้างตำบลของเราขึ้นเป็นต้นแบบในการแก้ปัญหาเด็ก Dropout ถ้าเราทำได้ ตำบลอื่นก็น่าจะขยับเขยื้อน แล้วเราก็น่าจะขยายเครือข่ายได้ในอนาคต เราโชคดีที่ท่านนายกเทศมนตรี (อรรณพ ตื้อคำ) เองก็เป็นคนของตำบลนี้ ท่านมองเด็กๆ เหมือนลูกหลานของตนเอง เรามีผู้นำที่ดีและทีมที่ดีในการทำงานร่วมกัน ผมได้น้องๆ จิตอาสาที่ทำงานบนพื้นฐานของพี่น้อง ช่วยดูแลเยาวชนว่ามีใครมีปัญหาด้านการเรียนรู้ตรงไหนก็จะช่วยกันจนสำเร็จ ถือว่าผมโชคดีมากที่ได้ร่วมงานกับคนที่ดีแบบนี้ มันเป็นความโชคดีซ้อนความโชคดีจริงๆ ครับ
ในฐานะคนทำงานแก้ปัญหาเด็ก Dropout อยากให้หมอตุ้ยพูดถึงความสำคัญของการที่สังคมจะต้องช่วยกันซัพพอร์ตเด็กๆ กลุ่มนี้
มีคนบอกว่า ถ้าเราจุดควันขึ้นมา ควันมันจะเหม็นไปหมด ไม่ใช่แค่บ้านเรา บ้านอื่นก็จะเหม็นด้วยเหมือนกัน สโลแกนที่เราคิดตั้งแต่แรกคือ ‘เด็กดี ครอบครัวดี ชุมชนก็จะดี’ เพราะเรามองว่าเด็กในอนาคตจะเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพได้ เราต้องเริ่มวางพื้นฐานตั้งแต่เด็กๆ และหาพี่ๆ มาช่วยกัน เราพยายามขยับทุกอย่างให้ดีขึ้น และท่านนายกฯก็สนับสนุนงบประมาณให้กับโรงเรียน เช่น ปีที่แล้วที่ทำโครงการเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า พบว่า นักเรียนกว่า 80 คนทดลองบุหรี่ไฟฟ้าหมดแล้ว และครึ่งหนึ่งมีบุหรี่ไฟฟ้าเป็นของตัวเอง อีก 30% ถึงแม้ไม่ได้ซื้อแต่ในบ้านมีอยู่แล้ว ส่วนที่เหลือประมาณ 20% คือยังไม่มีกำลังซื้อ เรามองเห็นปัญหานี้ชัดเจน
ปีนี้ท่านนายกฯสนับสนุนงบประมาณให้โรงเรียนทำโครงการสต็อปบูลลี่ ซึ่งตอนนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะถ้าเราไม่แก้ไข มันจะกลายเป็นเรื่องปกติไป เรากำลังพยายามเปลี่ยนมายด์เซ็ตของเด็กๆ ให้คิดเป็น เป็นพลเมืองที่มีความคิดดี และให้เด็กคิดโครงการที่สามารถทำได้จริง พร้อมกับบ้านพักเด็ก เราจะทำตลาดเด็กและสร้างกลไกต่างๆ เข้ามาช่วย ทุกอย่างต้องทำร่วมกันทั้งในระดับเด็ก ครอบครัว และองค์กรต่างๆ รวมถึงพี่ๆ ที่เป็นเครือข่าย ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหานี้
ตอนนี้ผมมองว่าภาพรวมของโครงการที่เราเสนอไปยัง กสศ. เป็นจิ๊กซอว์ที่เชื่อมต่อกัน และไม่ใช่แค่เราเท่านั้นที่ทำ เรามี 23 หน่วยงานที่ร่วมมือกัน เช่น โรงพยาบาล สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน โรงพยาบาลเวชชารักษ์ และหน่วยงานต่างๆ ของจังหวัดและพม. ที่เข้ามาช่วย เราทำมากกว่าแค่ช่วยเด็ก เรายังช่วยซ่อมแซมเตียงและวีลแชร์ รวมถึงดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ เป้าหมายของเราคือตำบลแห่งการเรียนรู้ที่มีชุมชนเป็นฐาน การเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีชุมชนเป็นหลัก นี่คือแนวทางที่เราต้องขับเคลื่อนตั้งแต่ท่านนายกเข้ามา และตลอด 4 ปีที่ท่านทำงาน ท่านพยายามให้ตำบลของเรากลายเป็นตำบลที่ทุกคนมีโอกาสเท่ากันครับ
ในส่วนของการสร้างโมเดลตำบล Zero Dropout คำว่า Zero Dropout ไม่ได้หมายถึงการพาเด็กทุกคนกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาใช่ไหม
อย่างที่คุยกันก็คือ คำว่า Zero To Hero มันแค่เอา Z ออก เอาตัว H มาใส่ มันก็ Hero เราแค่เปลี่ยนมายด์เซ็ตของเขา อย่างเด็กแว้นก็กลายเป็นหมอศัลยกรรมรถ เปลี่ยนมายเซ็ตความคิดของเขาก่อน อันดับที่สอง คนไหนที่อยากยังอยู่ในระบบ ซึ่งบางคนไม่เหมาะสมกับระบบจริงๆ นะครับ เขาถูกระบบผลักออกมาด้วยกลไกอะไรต่างๆ ด้วยตัวเขาเองนะครับ เราก็พยายามเซ็ตให้เขาไปอยู่ในที่ของเขา จะผ่านเรียนจากศูนย์การเรียน จะผ่านทางโรงเรียน หรือจะผ่านทักษะชีวิต อันนั้นอยู่ที่เขาอีกทีว่าเขาอยู่ตรงไหน ซึ่งตัวเราเองเมื่อรู้ว่าเด็กไปอยู่ไหน เราจะต้องทำตัวเทศบาลเราให้พร้อม
ในส่วนของเราที่ทำเป็นศูนย์ช่างประจำชุมชน เราก็เปิดโอกาสให้เด็กๆ เข้ามาเรียนรู้และฝึกทักษะต่างๆ หรือแม้กระทั่งถ้ามีกลไกอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมด้วยก็จะยิ่งดีนะครับ แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่แค่ของผมเท่านั้น ในโครงการนี้มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองการศึกษา สำนักปลัด และหน่วยงานอื่นๆ ที่มีส่วนร่วม แต่เมื่อโครงการออกมามันจะเป็นภาพรวมของเทศบาล ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของท่านนายกและพี่ๆ จิตอาสา ที่เป็นคนเบื้องหลังทั้งหมดที่ทำให้โครงการนี้สำเร็จจนถึงวันนี้ครับ

สุดท้ายคุณหมออยากสื่อสารอะไรถึงผู้ใหญ่หรือคนในสังคมที่ยังมีอคติกับเด็กนอกระบบ?
จากมุมมองของผม ผู้ใหญ่บางครั้งมักจะมองเด็กแค่ในมุมเดียว ทั้งที่เด็กมีหลายแง่มุมและมุมของตัวเองด้วย แต่เมื่อสังคมทำให้เด็กรู้สึกว่าไม่มีตัวตน พวกเขาก็จะพยายามหาตัวตนในแบบของตัวเอง เหมือนกับที่วันนั้นผมไปอบรมแล้วเห็นว่าเด็กๆ ใช้สมองส่วนกลางในการซึมซับสิ่งต่างๆ รอบตัว แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้เด็กได้ใช้สมองส่วนหน้าในการคิดและไตร่ตรอง ก็จะเป็นวิธีที่ช่วยพัฒนาเขาได้ ซึ่งต้องมีระบบหรือกลไกที่รองรับการพัฒนาเหล่านี้
ผมว่าผู้ใหญ่ต้องเริ่มคิดก่อนว่าเราไม่มีสิทธิตัดสินใคร เราต้องให้โอกาสเด็กได้ลองทำสิ่งต่างๆ และสิ่งสำคัญคือเด็กๆ กำลังเรียนรู้จากเรา ถ้าเราด่าเด็กว่าไม่ดี เด็กก็จะมองเรา และตัวเราเองก็เป็นต้นแบบที่เขากำลังเรียนรู้จากตรงนี้
หากเราพยายามแก้ไขก็จะต้องมีการวางระบบและสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้และเป็นแหล่งพลังบวกสำหรับเด็กๆ ครับ