- จากสถานการณ์ที่คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาพูดปัญหาในระบบการศึกษา จัดตั้งกลุ่มขึ้นมาอย่างกลุ่มนักเรียนเลวเพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าว ใช้ศักยภาพในฐานะ Digital Native ใช้โซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์เป็นพื้นที่สื่อสาร
- หากระบบการศึกษาต้องการสร้างคนให้มีทักษะศตวรรษที่ 21 มีสมรรถนะที่อยู่รอดในโลกที่เปลี่ยนรวดเร็ว เราสามารถเห็นทักษะเหล่านี้ในม็อบนักเรียนกันมิใช่หรือ?
- เพื่อทำความเข้าใจ เราชวนดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ และในฐานะคนทำงานด้านการปฏิรูปการศึกษา มาคุยกันว่าคิดเห็นอย่างไรกับม็อบนักเรียน มองเห็นโอกาสอะไร และอยากสื่อสารอะไรกับคนในวงการการศึกษา
ถ้าไม่ใช่กลุ่มนักเรียนเลว ถอยหลังกลับไปในประวัติศาสตร์รอบรั้วโรงเรียนไทย เรียกว่าไม่มีเคยใคร (กล้า) หยิบความจริงขึ้นมาพูดถึง จัดกระบวนการสื่อสารจนเป็นที่พูดถึงกันในวงกว้าง ใช้เทคโนโลยีที่คนรุ่นใหม่คุ้นเคยอย่างทวิตเตอร์และทุกกระบวนท่าโซเชียลมีเดีย เดินขบวนทั้งออนไลน์และออฟไลน์ – หลักฐานคือการทำให้มีการดีเบทครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างกลุ่มนักเรียนกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ – จัดทัพสื่อสารและดึงให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย… ทั้งร้อนใจ ถูกจดจี้ให้ต้องรับเรื่อง และพูดให้ถึงที่สุด กลุ่มนักเรียนเลวไม่ถดถอยที่จะทำให้ประเด็นนี้ไม่ลอยหายไปกับกาลเวลา ทำให้นักการศึกษาและนักกำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องต้องรับเรื่องเข้าไปพูดคุยกัน
ด้านหนึ่ง มีผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย อึดอัดกับวิธีคิด ทำ พูด ของกลุ่มนักเรียนเลว และม็อบนักเรียนที่ลุกฮือขึ้นตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
อีกด้าน หลายคนมองว่านี่คือการจัดกระบวนทัพการสื่อสารที่ทรงพลัง สื่อสารประเด็นสังคมที่ตนรู้สึกร่วม เป็น pain point ร่วม อย่างการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน และมองเห็นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ในฐานะ Digital Native และเฝ้ามองว่าคนรุ่นใหม่จะเดินกระบวนไปถึงจุดไหน
มีหลายประเด็นสื่อสารที่ต้องทำงานในเวลานี้ แต่เฉพาะชิ้นนี้ เราตั้งต้นที่ว่า หากคนทำงานด้านการศึกษาพูดคุยกันตลอดว่าระบบการศึกษาต้องสร้างคนให้มีทักษะศตวรรษที่ 21 เช่น ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) เห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) ยืดหยุ่นทั้งการใช้ชีวิตและการทำงาน ทักษะสื่อสารเป็นเลิศ และอื่นๆ มีสมรรถนะหรือความสามารถในโลกที่เคลื่อนเปลี่ยนรวดเร็ว ทั้งหมดนี้ เราตั้งสมมติฐานกันว่า เราเห็นทักษะเหล่านี้ในม็อบนักเรียนกันมิใช่หรือ?
The Potential ชวนดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) และในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ คุยกันว่าเขาคิดอย่างไรกับม็อบนักเรียน มองเห็นโอกาสอะไรในม็อบนักเรียน และในฐานะหนึ่งในคนทำงานด้านการปฏิรูปการศึกษา โครงการพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา อยากสื่อสารอะไรกับคนในวงการบ้าง?
ส่วนตัวคุณสมเกียรติได้ติดตามการเคลื่อนไหวของนักเรียนมากน้อยเท่าไร เห็นอะไรบ้าง
รู้สึกว่าเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่มองด้วยความสนใจและตื่นเต้นนะครับ แต่ยังไม่ได้มีเวลาไปศึกษาวิจัยเยอะ ด้วยข้อจำกัดทางเวลา แต่คิดว่าว่ามีนักวิชาการกลุ่มหนึ่งได้เข้าไปศึกษาแล้ว แต่โดยรวมผมมองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจ พยายามศึกษาเพื่อเข้าใจข้อห่วงใยของกลุ่มน้องๆ เห็นความคิดสร้างสรรค์ที่ออกมาจากม็อบนักเรียนเยอะแยะ เห็นลักษณะการชุมนุมที่ไม่เหมือนกับรุ่นของพวกผมที่เคยทำกันมาเลย เรียกว่าเป็นเจเนอเรชันใหม่ ถ้าจะพูดไปแล้วมันก็คือโลกของ digital native แล้วแหละ เพราะคนที่มาชุมนุมครั้งนี้เขาใช้สื่อได้ดิจิทัลเป็นหลัก
ความเห็นในฐานะคนทำงานการศึกษา มองการเคลื่อนไหวม็อบนักเรียนครั้งนี้อย่างไร
ผมเคยพูดเรื่องหนึ่งเมื่อสองสามปีก่อนเรื่อง AI เรื่องเทคโนโลยีที่มันจะเข้ามา disrupt และพลิกโลก ซึ่งตอนนั้นผมก็พูดไปอย่างไม่ได้คิดอะไรมาก พูดว่าตอนนี้โลกเปลี่ยนไปเยอะมากแต่ระบบการศึกษาไทยยังไม่รองรับกับการเปลี่ยนแบบนี้ วิธีการสอนของเราแทบจะตรงข้ามกับการที่จะให้เด็กอยู่รอดบนโลกได้เลย เด็กกลุ่มนี้เค้าก็อายุยืนขึ้น เขาโตขึ้นมาแบบหนึ่ง เขาเห็นโลกอีกแบบหนึ่ง และน่าจะเซนส์ (sense รับรู้ รู้สึก) ว่าโลกยุคต่อไปจะอยู่ยากมาก และเซนส์ว่าการศึกษาไทยไม่ได้เตรียมให้เขาอยู่รอดในโลกที่มันปั่นป่วนได้ และตอนจบผมบอกว่า “ก็ขอให้โชคดี”
คลิปนี้ถูกแชร์เยอะมากจนผมตกใจ เพราะพูดไปด้วยความคิดและข้อเท็จจริงธรรมดา ผมเลยคิดว่ามันคือเซนส์ของความรู้สึกไม่มั่นใจในอนาคต ว่าระบบการศึกษาไทยจะช่วยให้อยู่รอดในโลกอนาคตได้ยังไง ซึ่งมันไม่ใช่บรรยากาศที่นักเรียนรู้สึกเท่านั้น แต่คนรุ่นผู้ใหญ่ที่คนอายุสามสิบกว่าที่ผมรู้จักเขาคิดเยอะมากว่าจะมีลูกหรือไม่มี เพราะเห็นแล้วว่าต่อไปเขาต้องเจอกับสภาพอากาศผันผวนจากภาวะโลกร้อน เจอการ disruption โดยเทคโนโลยี ซึ่งมันอยู่ยากขึ้นทุกวันๆ นะ ฉะนั้น มันต้องเป็นโลกที่ถ้าจะอยู่รอดได้ การศึกษาต้องถูกเตรียมพร้อมอย่างดี ซึ่งอันนี้คือประเด็นแรกเนอะ โลกเปลี่ยน
ประเด็นที่สอง – ไม่นานมานี้ผมเสนอข้อมูลเรื่องพ่อแม่ไทยเปลี่ยนแปลงวิธีการเลี้ยงลูก ภายใน 7 ปีที่ผ่านมาว่าเปลี่ยนจากการสอนลูกแบบเผด็จการ ไปสู่การเลี้ยงดูแบบไม่ชี้นำ และปล่อยเสรีหรือให้อิสระเยอะขึ้น เปลี่ยนเยอะมาก เห็นตัวเลขแล้วก็ตกใจเลยว่าเซอร์เวย์มีอะไรผิดพลาดรึเปล่า เพราะหากเราดูการสำรวจทางสังคมทั่วไปมันจะไม่เปลี่ยนเร็วขนาดนี้ ซึ่งถ้าข้อมูลมันถูกนะ แปลว่าพ่อแม่ก็เซนส์ว่าโลกเปลี่ยนเยอะ ทำแบบเดิมไม่ได้ นี่คือสิ่งที่ผมคิดว่าเข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของนักเรียนที่ออกมาเรียกร้อง ผู้ใหญ่อาจมองว่าเรื่องเสื้อผ้าทรงผมเป็นเรื่องเล็ก แต่สำหรับเขามันเป็นสัญลักษณ์ของระบบที่ปิดกั้น กดทับ จำกัดสิทธิเสรีภาพของเขา
จะเรียกว่า ผมเข้าใจน้องๆ นักเรียนทั้งหมดก็ไม่ได้เนอะเพราะไม่เคยไปคุยกับเขาแบบลึกจริงๆ แต่มีข้อสันนิษฐานที่คิดว่าทำไมเค้าไม่ยอมอยู่กับระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน จากข้อมูลมันเห็นว่าโลกเปลี่ยน พ่อแม่เปลี่ยน เด็กก็รู้ว่าเขาอยู่ยาก แต่โรงเรียนปรับตัวช้ามากหรือเผลอๆ ก็ถอยหลัง ซึ่งสองส่วนนี้มันไปด้วยกันไม่ได้ เด็กเกิดมาและเดินไปอีกโลกหนึ่งแล้วแต่โรงเรียนยังอยู่ในโลกเก่า และมันเก่าขนาดที่ว่า ตอนผมทำกฎหมายพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา ซึ่งกฎหมายนี้บอกว่าอยากขอเปลี่ยนอะไรบางอย่างเพื่อทำให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทางการศึกษา สร้างของใหม่ได้ ทีนี้มีผู้ใหญ่คนนึงพูดว่า “การศึกษาไทยดีอยู่แล้ว ถ้าไม่ดี จะมีคนอย่างอาจารย์หมอจรัสได้ยังไง?” (ศาสตราจารย์กิตติคุณจรัส สุวรรณเวลา อดีตประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา)
ผมฟังแล้วตกใจมากเลย คือผมไม่ได้มีเครื่องหมายคำถามอะไรกับอาจารย์หมอจรัส เพราะท่านเป็นคนเก่งมาก แต่ท่านเรียนหนังสือมากี่ปีแล้วอะ? ตอนนี้ท่านอายุ 88 ปีแล้ว หมายความว่าถ้าเราใช้อาจารย์หมอจรัสเป็นต้นแบบ เท่ากับว่าเรากลับไปดูการศึกษาไทยเมื่อกี่ปีที่แล้ว? การที่เขาพูดอย่างนี้แปลว่าเขาไม่ได้ตระหนักเลยว่ายุคสมัยมันเปลี่ยนไปเยอะมากแล้ว
ปัจจุบันคุณเข้าไปเป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน นักศึกษา กระทรวงศึกษาธิการด้วย บรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง
ดีเลยฮะ ประชุมไปแล้ว 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 63 เป็นครั้งที่สอง จากที่กลุ่มนักเรียนเลวไปร้องเรียนที่กระทรวงศึกษาธิการและหลังจากนั้นก็มีดีเบท ผมก็ไม่รู้ที่มาที่ไปยังไง จู่ๆ ผมถูกตั้งขึ้นมาให้เป็นประธาน แล้วกรรมการก็มีครบหมด ที่ปรึกษาคือคุณหมอวิจารณ์ (ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช) และอาจารย์วรากรณ์ (รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ) และมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนหนึ่ง เช่น คุณหมอเดว (รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี) อ.อรรถพล (ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล) เป็นต้น มีกลุ่มนักเรียน มีผู้อำนวยการ มีคุณครู
ข้อเรียกร้องของม็อบนักเรียนคือ หนึ่ง-เรียกร้องทางการเมืองเหมือนม็อบนักศึกษา สอง-เรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรงในโรงเรียน และแก้ปัญหาเรื่องเสื้อผ้า และทรงผม สาม-ปฏิรูปการศึกษา แล้วน้องๆ ที่อยู่ในชุดคณะกรรมการ เขาก็จะพูดเรื่องหลักสูตรการศึกษาไทยที่มันโบราณ ทำให้การศึกษาไทยเดินหน้าต่อไปไม่ได้
ในฐานะคนทำงานการศึกษา ฟังข้อเสนอแบบนี้แล้วรู้สึกถูกตำหนิมั้ย ที่ถามแบบนี้เพราะว่าเข้าใจว่าหลายคนที่ทำงานเรื่องนี้ ฟังแล้วรู้สึกว่าถูกตำหนิ รู้สึกเหมือนถูกต่อว่า
ผมไม่ใช่วงในจริงๆ นะ ผมจะถัดออกมาอีกชั้น แต่ถามว่ารู้สึกถูกตำหนิมั้ย? ไม่เลยฮะ ผมกลับรู้สึกด้วยซ้ำว่าคนรุ่นเราเนี่ย ยังไม่ได้สร้างความพร้อมให้รุ่นของเขา เขาจึงส่งเสียงออกมาว่าเขาเดือดร้อน
ผมเคยมีประสบการณ์ที่เจอกับตัวเองหลายที เช่น ครั้งหนึ่งผมไปพูดให้นักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ของไทยที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งฟัง
ตอนนั้นไปพูดเรื่อง AI กับการ disruption ว่าการเรียนรู้ต่อไปต้องเป็นยังไง ปรากฎว่าเด็กฟังอย่างสนใจแต่เงียบและช็อกไปพักใหญ่ แต่พอไปพูดเรื่องกับคนที่อายุเยอะหน่อย คนที่สอนหลักสูตรต่างๆ อย่างพวกผู้บริหาร เขาฟังไปหัวเราะไป ผมก็แซวเขาว่า “ที่หัวเราะ เพราะเห็นว่าเดี๋ยวตัวเองก็ตายแล้วใช่มั้ย ถึงไม่ต้องรู้สึกว่าโลกอยู่ยาก”
แต่เด็กๆ ที่ต่อให้เป็นเด็กที่เก่งที่สุดในประเทศไทย เขารู้สึกถึงภัยคุกคามที่มันมาข้างหน้า ทั้งหมดนี้และที่ผมตีความจากที่ผมเจอมาสามสี่เรื่องที่เล่าไปข้างต้น ผมคิดว่าเด็กเขาน่าจะได้สัญญาณจากโลกที่เปลี่ยนแปลงและบางเรื่องเขาก็ทำความเข้าใจไม่ได้ว่าอะไรมันจะเกิดขึ้นกับเขา แต่เขาน่าจะเซนส์ได้ว่าตัวเองไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมอย่างเพียงพอจากระบบการศึกษาไทย
คิดว่าเรื่องนี้เป็นทั่วโลกแต่ไทยน่าจะหนักเป็นพิเศษ ก่อนจะพูดเรื่อง disruption นะ คุณภาพการศึกษาไทยก็มีปัญหาที่แสดงออกมานานพอสมควรแล้ว ที่เป็นรูปธรรมที่สุดคือคะแนน PISA ที่คะแนนเด็กไทยต่ำลงๆ ฉะนั้น อย่าว่าแต่ disruption เลย เอาแค่อ่านออกเขียนได้เด็กไทย อายุ 15 ปีไม่มีทักษะที่ใช้การได้พอ
ฉะนั้นถามว่า ผมรู้สึกว่าถูกเด็กมาตำหนิมั้ย? ผมรู้สึกว่ารุ่นของเรายังไม่ได้สร้างระบบการศึกษาที่ดีพอให้เด็กรุ่นนี้ การที่ผมเข้าไปร่วมออกแบบพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก็ดี อย่างอื่นก็ดี ก็มาจากการความพยายามทำในส่วนที่จะทำได้ และเราก็อยากชวนคนในสังคมมาช่วยกันทำ
มองว่าปัจจัยทางวัฒนธรรม เช่น การใช้อำนาจ มีผลมากน้อยในปรากฎการณ์แค่ไหน คือ… ระบบก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่ระบบก็เกิดมาได้เพราะวัฒนธรรม ที่สร้างระบบแบบนี้ขึ้นมา
(พยักหน้า) คือในช่วงหลายปีที่ผ่านมา วัฒนธรรมการใช้อำนาจมันแรงขึ้น ตัวนี้มันน่าจะตกทอดไปถึงโรงเรียนด้วย แล้วมันแสดงออกมาอย่างชัดเจน เช่น เรื่องทรงผม เครื่องแบบ การใช้ความรุนแรงในโรงเรียน
เอาจริงๆ ตัวระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยระเบียบการไว้ทรงผม มีปัญหาอยู่บ้างแต่ไม่ถึงกับมีปัญหามากมายนะฮะ คือมีอยู่ข้อเดียวคือข้อที่ 7 ที่ให้โรงเรียนออกระเบียบเฉพาะของโรงเรียนได้ ซึ่งทำให้เป็นปัญหา นั่นคือการตีความระเบียบ และพอครูเชื่อว่าเด็กไม่ได้ทำถูกระเบียบ วิธีที่ครูทำโทษนั้นครูไปใช้ความรุนแง ซึ่งถ้าทำโทษตามระเบียบกระทรวงศึกษาจริงๆ มันคือตักเตือน หักคะแนน หรือให้ไปทำกิจกรรมที่ปรับพฤติกรรม ไม่มีตรงไหนบอกว่าครูสามารถกล้อนผมเด็ก หรือไปทำอะไรที่รุนแรงคุกคามได้ นี่มันตัวสะท้อนการใช้วัฒนธรรมอำนาจเข้ามาเยอะ
ม็อบนักเรียนและนักศึกษาที่เกิดขึ้น มีข้อสังเกตว่าผู้หญิงออกมามากกว่าผู้ชาย มีการตีความกันว่าเด็กผู้หญิงถูกใช้ความรุนแรงในโรงเรียนมากกว่า
โดยเฉพาะเรื่องเสื้อผ้าทรงผมนี่แหละ และโดยวัฒนธรรมไทยผู้หญิงถูกคุมเยอะกว่าอยู่แล้ว สารพัดเรื่องเลย เช่น ไว้ผมต้องแบบนั้นแบบนี้ หน้าม้าหรือถักเปียได้ไม่ได้ และน่าจะเจอกับการคุกคาม harassment (การล่วงละเมิด) มีทั้งการการคุกคามด้วยวาจา ถูกต่อว่าแบบแสบๆ ถูกบูลลี่เยอะ อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้ยินว่า ถูกบูลลี่เยอะก็คือกลุ่ม LGBTQ+
เรียกว่าเป็นทั้งระบบการศึกษาและบรรยากาศ
และบรรยากาศในโรงเรียนก็ชวนให้คิดถึงบรรยากาศในประเทศด้วยว่ามันไปทางเดียวกัน เด็กที่เขาอึดอัดในโรงเรียนแล้วออกมาเรียกร้องชูสามนิ้ว ผู้ใหญ่อาจจะแบ่งเป็นสามเรื่องก็ได้แต่สำหรับเด็กมันอาจเป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องสิทธิเสรีภาพของเขา
อย่างข้อเรียกร้องของนักเรียนเรื่องระเบียบทรงผมการทำโทษ ผมคิดว่าเด็กเดือดร้อนกับเรื่องการทำโทษมากกว่าการบอกว่าเขาผิดกฎระเบียบ เท่าที่ผมฟังเขามา เขายอมรับได้นะถ้าบอกว่าเขาทำผิดกฎระเบียบ แต่เอาให้ชัดสิว่า ตกลงที่ผิดระเบียบมันคือยังไงกันแน่ ผมผู้ชายมันกี่เซ็น 5 หรือ 10 เซ็น? ผู้หญิงที่บอกว่าไว้ผมยาวได้แต่ต้องรวบผม แปลว่าถักเปียได้มั้ย ไว้ผมหน้าม้าได้มั้ย?
อีกเรื่องคือ เรื่องมันจะไม่แรงขนาดนี้ถ้าวิธีการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมันดี ครูอธิบายด้วยเหตุผล ไม่ใช่การลงโทษในระดับ harassment หรือทำโทษทางร่างกาย ซึ่งการทำโทษทางร่างกายนี่ พ่อแม่ของพวกเขาก็เลิกทำไปแล้วนะ
ส่วนหนึ่งอยู่ที่คณะครุศาสตร์หรือคณะที่ผลิตครูด้วยนะ ต้องเปลี่ยนต้นน้ำ อีกส่วนคือการสอบที่ต้องรู้เรื่องกฎระเบียบ ซึ่งที่ควรรู้เลยคือ ทรงผมเป็นยังไง เครื่องแบบเป็นยังไง การทำโทษยังไงได้ไม่ได้ จำนวนมากจะพบว่าครูทำโทษเด็กนอกกฎระเบียบ กฎไม่ได้บอกให้ทำร้ายเด็กได้ หรือให้ด่าเด็กด้วยคำพูดรุนแรงด้วยการดูถูกเหยียดหยาม เราจึงต้องทำงานทุกส่วนเลย
เด็กบอกว่าเขากำลังพูดเรื่องสิทธิ แต่ครูบอกว่าเด็กพูดการเมือง เป็นเด็กอย่าสนใจการเมือง เรียนหนังสือก่อน
เด็กเขากำลังเชื่อมเรื่องการเมืองบนตัวของเขาแล้วขยายต่อไปถึงการเมืองในระดับประเทศได้ เพราะร่างกายมันคือสิทธิที่เขาจะมีสิทธิบนร่างกายตัวเอง อย่างที่ผมคุยกับเด็กเมื่อวานนี้ เขาถามว่า ในรัฐธรรมนูญมันมีเรื่องสิทธิมนุษยชนใช่มั้ย มีกฎหมายเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เป็นพระราชบัญญัติ เขาพูดถึงความตกลงระหว่างประเทศที่มันเกี่ยวข้องคุ้มครองสิทธิเด็กด้วย แล้วตั้งคำถามต่อว่า …แล้วทำไมตัวระเบียบของกระทรวงถึงไปใหญ่ทับตัวอื่นได้? ก็จะมีเครื่องหมายคำถามอะไรแบบนี้
แล้วคณะกรรมการว่ายังไงคะ
ก็ไดอาล็อกกันฮะ ฟังเยอะๆ ถ้าพูดถึงครู ครูจะเข้าใจเด็กได้นะ ครูต้องฟังเด็กเยอะๆ ไม่ต้องเห็นด้วยกับเด็ก แต่ควรฟังแบบใจเย็นๆ อย่าไปโกรธเด็ก
พูดไปแล้วเหมือนต่อว่าครู เอาเป็นว่าครูที่เราเจอมาจำนวนหนึ่ง ไม่ค่อยคุ้นเคยกับวิธีการแบบนี้
อันนี้จะเกี่ยวกับระบบการศึกษาละ คือระบบการศึกษายังยึดแบบเดิมคือ ครูรู้ดีกว่า ครูพูด นักเรียนฟัง และต้องเงียบเพราะครูกำลังจะถ่ายทอดความรู้ที่เป็นประโยชน์กับเด็ก เด็กทุกคนจึงต้องตั้งใจฟังและควรจะต้องจดตามครู นี่คือโหมดการเรียน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับพ่อแม่ก็คือการเลี้ยงลูกแบบเผด็จการอะ พ่อแม่รู้ดีกว่า จึงทำมีสิทธิ์บอกลูกว่าควรทำหรือไม่ควรทำอะไร
วิธีการสอนแบบนี้เคยเวิร์ก สมัยที่อาจารย์จรัสโตมาก็คงเรียนมาแบบนี้แหละ แต่วันนี้มันผ่านมา 70 ปีแล้ว แล้วโลกที่เด็กเห็นข้างหน้าเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนตลอด ใครจะเป็นคนรู้ดีแล้วมาบอกให้ใครอีกคนเชื่อ มันเป็นไปไม่ได้แล้ว พอระบบการศึกษาเป็นแบบนี้ มันเลยไม่ได้เข้าโหมดที่ว่า ‘ครูกับนักเรียนมาเรียนรู้ร่วมกัน’
มีคำพูดหนึ่งของอาจารย์เดชรัตน์ สุขกำเนิดที่ผมชอบยกขึ้นมาคุยหลายที ท่านบอกว่า ‘ตอนเป็นเด็กก็เรียนรู้จากพ่อแม่ พอมาเป็นพ่อแม่แล้วก็เรียนรู้จากลูก ตอนที่เป็นนักเรียนก็เรียนรู้จากครู ตอนเป็นครูก็เรียนรู้จากนักเรียนนักศึกษา’ คือมันเป็นโหมดการเรียนรู้แบบเสมอกันกับเด็กนะ เรียนรู้ไปด้วยกัน คนที่มีประสบการณ์มากกว่าก็อาจช่วยทำหน้าที่เป็น facilitator คอยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ของเด็ก แต่ไม่ได้ผูกขาดความรู้อีกต่อไป ฉะนั้นในโหมดนี้ ถ้าครูไม่คุ้นเคยกับโหมดที่มาเรียนรู้ร่วมกันกับเด็กก็ยาก
อีกอย่างที่อาจารย์เดชรัตน์พูดไว้ชัดคือ ‘ต้องอย่าเอาความเป็นพ่อไปข่ม’ หมายถึงถ้าเห็นไม่ตรงกัน พ่อบอกอย่างนึง ลูกบอกอย่างนึง แล้วจังหวะที่กำลังคิดว่าอะไรถูก ถ้าพ่อใช้วิธีว่า ‘ฉันเป็นพ่อเธอนะ ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน ฉันต้องรู้ดีกว่าเธอ’ แล้วปิดการสนทนา แบบนี้การเรียนรู้ระหว่างกันมันไม่เกิด
กรณีโรงเรียนก็เหมือนกัน เพราะครูไม่คุ้นเคยกับการเรียนรู้แบบ active learning ซึ่งความรู้มาจากการสร้างชิ้นงาน สร้างการเรียนรู้ด้วยเอง หรือกระบวนการ constructivism แล้วครูก็คอยแนะนำ คอยเป็นไกด์ให้ แต่ไม่ใช่คนที่รู้ดีกว่าแล้วไปบอกว่าความรู้คืออะไร โหมดอย่างนี้มันไม่คุ้นเคยในห้องเรียนไทย พอเจอแบบนี้ ครูจะไปใจเย็นๆ คอยฟังเด็กมั้ย? ซึ่งพวกนี้มันคือทักษะเหมือนกันนะ
เห็นใจครู พูดแบบเต็มที่เลยว่าเห็นใจครู เพราะว่าครูไม่ได้ถูกเตรียมให้มารับมือกับแบบนี้ ไม่ได้ถูกเตรียมให้มารับมือกับโลกที่เปลี่ยนไปแบบนี้เหมือนกัน เตรียมให้มารับมือกับเด็กที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เพราะคนที่ดูแลระบบการศึกษายังทำเสมือนโลกมันหยุดนิ่งอยู่ จะให้ครูไปสอน active learning ครูก็สอนไม่ได้เพราะครูก็ไม่เคยเรียนมาแบบนี้ ภาระงานก็มากมาย ในวงคณะกรรมการพิจารณาข้อร้องเรียนของนักเรียน ก็มีคนบอกว่า ในมุมหนึ่ง ครูเองก็ถูกบูลลีเหมือนกัน
ครูไม่ได้ถูกเตรียมพร้อมเหมือนกัน ถูกแรงกดดันสารพัด ครูไม่มีเวลามาเอาใจใส่นักเรียนได้ดีพอ ถ้าใครเคยอ่านหนังสือเล่ม Poor Students, Rich Teaching สอนเปลี่ยนชีวิต – สู้ความเหลื่อมล้ำด้วยพลังแห่งการสอน ว่าด้วยทักษะของครูที่ต้องทำงานกับเด็กที่เปราะบางมีปัญหา อ่านแล้วจะตกใจว่าเล่มนี้เรียกร้องครูสูงมากเลยนะ แล้วตอนนี้เด็กต้องเปลี่ยนผ่านในสถานการณ์บ้านเมืองที่มันยากกับตัวเขา ครูยิ่งต้องมีทักษะที่สูงไปอีก จะเห็นเลยว่าถ้าครูไม่ได้ถูกเตรียมให้มีทักษะพร้อม ถ้าจะเรียกร้องให้ครูไปรับมือกับเด็กอย่างเดียว มันก็ใจร้ายกับครูไปนิดนึงนะ
อีกประเด็นคือ คนทำงานการศึกษาพูดกันเรื่องเราจะพัฒนาเด็กให้มีทักษะศตวรรษที่21 อยากทำสมรรถนะ ซึ่งทั้งหมดนี้เราเห็นในม็อบหมดเลย
ใช่ๆ ปรัชญาการเรียนรู้มันเกิดได้ทุกที่แหละ การเรียนรู้ไม่ได้จำกัดในห้องเรียน แล้วเราอยากให้เด็กมีความคิดเชิงวิพากษ์ มี critical thinking ซึ่งมันจำกัดไม่ได้ว่าให้คุณมี critical thinking เฉพาะตอนมาเรียนกับฉันและต้องเฉพาะเรื่องนี้เท่านั้นนะ แต่พอออกห้องเรียนไปอยู่ในปริมณฑลทางการเมือง คุณห้ามมี critical thinking นะ …มันห้ามไม่ได้ ของอย่างนี้มันมาเป็นแพคเกจเดียวกัน
เราต้องคิดว่าถ้าเราสอนเขาดีพอ เขามี critical thinking เขาจะเลือกสิ่งที่ดีสำหรับเขาเอง และถ้าเราคิดว่าเขากำลังไม่ได้เลือกในสิ่งที่ดีที่สุด สิ่งที่เราต้องทำคือการเสนอเหตุผลให้เขาไปชั่งดูว่ามันใช่หรือไม่ใช่ และถ้าเราคิดว่าเราสอน critical thinking ให้เขาดีพอ เราจะไม่ควรตั้งคำถามกับเรื่องพวกนี้
อาจเป็นเพราะว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นทางการเมืองที่ธงของเด็กๆ คล้ายอาจทำให้ครูอึดอัด ในวงเว็บว่า ครูก็มีอำนาจเหนือที่จะบังคับจัดการนักเรียนได้
เพราะว่าผู้ใหญ่หรือครูไปมี position ว่าเด็กต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ จริงๆ แล้ว มีการคิดเรื่องนี้มานาน อย่างน้อยตั้งแต่บทกวีของคาริล ยิบราน ที่ว่า
“บุตรของเธอ…ไม่ใช่บุตรของเธอ เขาเหล่านั้นเป็นบุตรและธิดาแห่งชีวิต เขามาทางเธอ แต่ไม่ได้มาจากเธอ และแม้ว่าเขาอยู่กับเธอ แต่ก็ไม่ใช่สมบัติของเธอ เธออาจจะให้ความรักแก่เขา แต่ไม่อาจให้ความนึกคิดได้เพราะว่าเขาก็มีความนึกคิดของตนเอง” พูดมานานมาก แต่เอามาทำให้มันโรแมนติกอย่างเดียวไม่ได้
คนเรานะ ถ้าอยู่ในโหมดใช้อำนาจ มีอำนาจมากกว่าจะใจร้อนกว่าเสมอ อันนี้เป็นปกติเลย ฉะนั้นจึงต้องฝึกให้อยู่ในอีกโหมดที่ว่ามาเรียนรู้ด้วยกัน
เราเห็นโอกาสอะไรจากม็อบนักเรียน ครูจะมองเรื่องนี้เป็นโอกาสยังไง
ครูน่าจะลองไปสังเกตการณ์ม็อบนักเรียนนะ ไปลองดู จะได้รู้จักเค้า และสนทนากับเขาอย่างใจเย็นๆ แล้วถ้าไม่มั่นใจว่าจะใจเย็นได้ ให้หาคนกลางมาคนหนึ่ง คนกลางทำหน้าที่ facilitate เวลาเด็กสนทนากับครู ครูอย่าขัดเด็ก ให้โอกาสเด็กพูดให้จบก่อน ถ้าครูไม่เห็นด้วยอยากแย้งอยากอะไรก็ค่อยแย้ง แต่ต้องฟังกันเยอะๆ
ทักษะที่ต้องเทรนด์ครู คือทักษะของการมี empathy ต่อเด็ก สกิลนี้เป็นทักษะศตวรรษที่ 21 นะ คือการ empathy ความพยายามเข้าใจว่าเขาอยู่ในสถานการณ์แบบไหน ทำไมเขาคิดแบบนั้น พยายามเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก่อนไปถึง sympathy หรือเห็นอกเห็นใจคนอื่น
ทำยังไง
ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ แต่คิดว่าทำได้หลายทาง เช่น เล่นบทบาทสมมติ (role play) ผมเคยไปเข้าเวิร์กชอปหนึ่งที่อเมริกา เค้าพยายามอธิบายว่าถ้าเป็นผู้หญิงและเป็นคนกลุ่มน้อย (minority) ในสังคม เช่น เป็นผู้หญิงผิวสี คนที่เป็นผู้ชายที่อยู่ในกระแสหลัก เช่น ผิวขาว จะฟังคนกลุ่มนี้ไม่เข้าใจเพราะตัวเองอยู่ในสเตตัสที่ได้หลายเรื่องมาโดยไม่ต้องออกแรง เขามีสเตตัสที่เป็นที่ยอมรับอยู่แล้ว คนที่มีปากมีเสียงก็อาจไม่เข้าใจหรอกว่าคนที่ไม่มีปากมีเสียงคิดยังไง แต่ถ้าเล่น role play ก็จะได้จำลองว่าถ้าคุณเป็นบทบาทนู้นนี้ ก็จะเข้าใจเค้าได้ดีขึ้น นี่ก็เป็นกระบวนการง่ายๆ ที่อาจจะทำให้ครูมี empathy กระบวนการแบบนี้อาจช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนที่ถูกกั้นไว้จากโครงสร้างแบบเดิมถูกสลายสู่ความสัมพันธ์โหมดใหม่
อีกวิธีหนึ่ง คือต้องพาให้ครูไปเห็นว่าโลกเปลี่ยน และครูจะค่อยๆ เข้าใจว่าถ้าสอนแบบเดิมจะไม่มีทางทำให้นักเรียนอยู่รอดได้ในโลก คือในโครงสร้างแบบนี้ ครูต้องสามารถตั้งคำถามที่กระทรวงสั่งได้ด้วย ที่ยากคือตรงนี้ ที่จะให้ครูมี critical thinking ซึ่งแปลว่าครูต้องสามารถตั้งคำถามได้ ที่คุณบอกมายังงี้ มันมีเหตุผลมั้ย คุณต้องอธิบาย