- ไม่มีเจตนาจะลดทอนปัญหาที่ความไม่พร้อมทางเทคโนโลยีกำลังถีบให้าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากว้างขึ้น และไม่ได้จะบอกว่าครูต้องเปลี่ยนมาฝึกสอนออนไลน์ทั้งหมด เพราะนั่นแปลว่าเรากำลังผลักให้ความรู้ไปรวมศูนย์ที่โรงเรียนและครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ เราไม่เชื่อเช่นนั้น
- แต่ในระดับปฏิบัติการที่ครูจำนวนหนึ่งต้องเปลี่ยนไปจับกับเทคโนโลยีและมีผลทันทีในวันนี้ เราอยากผลิตเนื้อหาที่ให้กำลังใจและช่วยถามทวนกับครูที่สอนออนไลน์อยู่ก่อนว่า หากต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบออนไลน์ (ซึ่งเราหวังว่ามันจะเป็นแค่วิธีการแก้ปัญหาระยะสั้น) ต้องทำอย่างไร มีเทคนิคอะไรให้ครูปรับใช้ง่ายๆ ในการเปลี่ยนผ่านที่ครูหลายท่านอาจกำลังทดท้อนี้
#การเรียนออนไลน์ และ จัดการเรียนการสอนทางไกลในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ผ่านฟรีทีวี โดย กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ร่วมกับมูลนิธิการศึกษาทางไกลฯ (DLTV) และ กสทช. ครอบคลุมทุกระดับชั้นการศึกษาขั้นพื้นฐาน-อาชีวศึกษา-กศน. โดยเริ่มออกอากาศวันที่ 18 พฤษภาคม นั้น ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์คุณภาพการศึกษา รูปแบบการสอน และ ความไม่พร้อมทางเทคโนโลยีที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งถ่างกว้าง
ข้ามพ้นจากประเด็นดราม่า มองไปที่คุณครูในระดับปฏิบัติการ จะเห็นว่าตลอด 4 เดือนเต็มที่ครูจำนวนหนึ่งทำงานหนักแม้อยู่ในช่วงปิดเทอม ต้องประเมินสถานการณ์ทั้งดีและแย่ที่สุด ทั้งมีการเตรียมสื่อการสอนออนไลน์ในกรณีที่การเปิดเรียนวันที่ 1 กรกฎาคมเปิดไม่ได้จริง
ครูจำนวนหนึ่งที่เคยมีขนบการสอน ฝึกปรือให้ทำงานกับนักเรียนแบบเห็นหน้า วันนี้คุณครูหลายท่านต้องเรียนรู้ทักษะใหม่ อัปเดตเทคโนโลยีใหม่ รับมือกับข้อจำกัดผ่านการเรียนออนไลน์ — เด็กนั่งหลับหน้าจอ บ้านหนึ่งหลังมีคนหลายอายุ ทำยังไงให้ไม่ว่าใครก็เรียนรู้ ‘ความรู้’ พร้อมกันได้ ทำยังไงให้เด็กมีเอเนอจี้ ยังสนุกกับการเรียนที่ไม่เห็นคนจริงๆ อยู่ และอื่นๆ
ประเด็นตั้งต้นคือ — หากโควิด-19 บังคับให้ครูในห้องเรียนต้องปรับตัวเปลี่ยนการสอน จะสอนออนไลน์ยังไงให้ป็อปและยังมีปฏิสัมพันธ์กับศิษย์อยู่?
ประเด็นนี้ทำให้เรานึกถึงคุณครูกลุ่มหนึ่งที่จัดการเรียนรู้นอกห้องเรียน ลงทุนเครื่องมือของตัวเอง ทำอย่างสนุกสนาน มีผู้ติดตามแบบเรียลไทม์ engagement สูง และมีวิธีกระตุ้นให้อยากเรียนรู้ผ่านหน้าจอและติดตัวไปด้วยตลอดเวลา สำคัญที่สุด ครูกลุ่มนี้จัดการเรียนรู้แบบ ‘ไม่เห็นหน้านักเรียน’ เป็นส่วนใหญ่ The Potential ชวนครูพิเศษนอกห้องเรียน ที่สอนทั้งต่อหน้า ตัวต่อตัว แต่เน้นเผยแพร่ความรู้สาธารณะในโลกออนไลน์ผ่านโซเชียลมีเดีย ที่คนส่วนใหญ่อาจไม่คุ้นหน้าคุ้นตาแต่หากถามเด็กๆ ที่อยู่ในช่วงแอดมิชชัน หลายคนพยักหน้าบอกว่าเคยเรียนผ่าน live ทั้งไอจีและเฟซบุ๊กสั้นๆ ด้วย ได้แก่
ครูหวาน-สุรีพร อินทร์เมือง เจ้าของเพจ Kru Whan: English On Air ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 700,000 คน และประสบการณ์สอนมากกว่า 8 ปี โดยมีเนื้อหาตั้งแต่ช่วงม.ต้น ม.ปลาย และ คนทั่วไปที่อยากใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน
ครูพี่แอน-วรินธร เอื้อวศินธร เจ้าของเพจ Perfect English กับครูพี่แอน และสถาบันสอนภาษา Learnovate
และ ครูฝ้าย-ชนิตร์นันทน์ พรมมา เจ้าของเพจ ชีววิทยาง่ายๆ By ครูฝ้าย และเปิดคอร์สสอนวิชาชีววิทยาทางออนไลน์ให้กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
เนื้อหาทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเจตนาจะลดทอนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่กำลังจะถูกปัญหาความไม่พร้อมทางเทคโนโลยีถีบให้กว้างขึ้น และไม่ได้จะบอกว่าให้ทุกแห่งเปลี่ยนมาใช้การเรียนออนไลน์ทั้งหมด เพราะนั่นแปลว่าเรากำลังผลักให้ความรู้ไปรวมศูนย์ที่โรงเรียนและครูเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ เราไม่เชื่อเช่นนั้น เพียงแต่ในระดับปฏิบัติการที่ครูจำนวนหนึ่งต้องเปลี่ยนไปจับกับเทคโนโลยีและมีผลทันทีในวันนี้ เราอยากผลิตเนื้อหาที่ให้กำลังใจและช่วยถามทวนว่า หากต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบออนไลน์ (ซึ่งเราหวังว่ามันจะเป็นแค่วิธีการแก้ปัญหาระยะสั้น) ต้องทำอย่างไร
Kru Whan: English On Air
หนึ่งในครูสอนภาษาอังกฤษที่เรามักเห็นคลิปวิดีโอสั้นๆ ตัดมาให้เห็นในสตอรีผ่านอินสตาแกรม และ คลิปวิดีโอยาวแบบ live ในเฟซบุ๊ก คนหนึ่งคือ ครูหวาน จากเพจและช่องยูทูปชื่อ Kru Whan: English On Air หรือ english_kruwhan ในอินสตาแกรม ด้วยการจัดรายการที่สนุก มีเทคนิคการจำศัพท์ผ่านบทสนทนาจริง และการพูดคุยด้วยความเป็นกันเองแบบ ‘พี่สาว’ ไม่ใช่ครู และส่วนใหญ่เป็นคลิปวิดีโอที่ใครๆ ก็เข้าถึงได้ ที่แปลว่า ‘ดูฟรี’
จุดนี้ครูหวานบอกว่า “ต้องเล่าก่อนว่าพื้นเพของครูหวานเป็นครอบครัวที่ยากจนนะ เติบโตในครอบครัวชาวนา จึงเชื่อว่าการศึกษาจะเป็นตัวยกระดับชีวิตคนเราให้ดีขึ้น และเชื่อว่าการศึกษามันควรจะฟรีด้วย พอสอนหนังสือถึงจุดหนึ่งที่เทคโนโลยีมา เรียกว่า right place right time ในช่วงสอนหนังสือผ่านเฟซบุ๊กแรกๆครูได้ทดลองสอนในไลฟ์สดเฟซบุ๊กปรากฏว่ามีคนดูตั้งยี่สิบคน เลยคิดว่างั้นลองเปิดเพจเลยแล้วกัน ช่วงแรกเพจมีคนตามแค่ร้อย สองร้อยคน จากนั้นเริ่มเป็นหลักพัน แต่มีครั้งนึง เราเอาคอนเทนต์ในหนังสือที่เขียนเองมาแชร์ลงโซเชียล แชร์เสร็จก็เข้านอน ปรากฏว่าตื่นมาโพสต์นั้นมีคนแชร์ห้าหมื่นแชร์! เยอะมาก งงมาก หลังจากนั้นเหมือนเครื่องสตาร์ทติด ไม่กี่สัปดาห์กลายเป็นหลักแสน แล้วก็ค่อยๆ ไต่ขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน ทุกโพสต์ตอนนี้ของเราเลยไม่กั๊ก คิดแบบบ้านๆ ว่าถ้าจะให้ก็ให้เต็มที่” ตอนนี้ครูหวานจึงมีไลฟ์สอนสดทั้งในเฟซบุ๊กและสตอรีไอจีเต็มอิ่มแทบทุกคืน
เข้าประเด็นตั้งต้น เข้าใจว่าเวลาที่ครูอัดคลิปวิดีโอจะไม่มีคนนั่งเรียนอยู่ด้วย ครูหวานทำอย่างไรให้การเรียนการสอนยังมีชีวิต คนที่นั่งดูอยู่รู้สึกว่าได้สื่อสารกับครูจริงๆ
ครูหวานเล่าว่า ด้วยความที่ตั้งแต่จบมาก็เป็นติวเตอร์สอนภาษาอังกฤษกับนักเรียนมาตลอด (ไม่นับรวมช่วงเวลา 6 เดือนสั้นๆ ที่ไปทำงานออฟฟิศ แต่เพราะลองทำแล้วไม่ชอบ จึงออกมาทำตามฝันที่อยากเป็นครูมาตั้งแต่เด็ก) ทำให้เธอรู้ว่านักเรียนของเธอเป็นแบบไหน มักจะมีคำถามอะไร พูดง่ายๆ ว่ามีประสบการณ์การสอนกับนักเรียนแบบสดๆ มาหลายปีจึงปรับมาใช้กับห้องเรียนทั้งสดและออนไลน์ของเธอ
ข้อแรกเลย จินตนาการ สำคัญที่สุด
“ครูจะจินตนาการว่ามีน้องๆ อยู่ข้างหน้าเรา กำลังนั่งและมองหน้าเราอยู่ อาจเป็นภาพนักเรียนเป็นน้อง ม.ต้น ผมสั้น น้องๆ ม.ปลายมัดผมหางม้า แต่หลังๆ มาจะจินตนาการว่านักเรียนกำลังทำอะไรสักอย่างแล้วเอาเราเข้าไปอยู่ด้วย เพราะเด็กจะบอกเราบ่อยๆ ว่า ‘ครูหวาน หนูกำลังซักผ้าอยู่แต่ก็ฟังครูไปด้วยนะ’ บางคนบอกว่า ‘ครูหวาน หนูเป็นพยาบาลกำลังเข้าเวร แต่ฟังครูอยู่นะ’ และก็ถ่ายรูปส่งมาว่ากำลังเรียนอยู่ เราก็จะนึกภาพตามแบบนี้เลย แล้วจินตนาการว่านักเรียนกำลังยิ้มหรือหัวเราะกับการสอนของเราอยู่ มันจะช่วยทำให้เรามีเอนเนอร์จี้และพลังในทางบวกมากๆ
“พอเห็นนักเรียนอยู่ตรงหน้าแบบนี้ เวลาจะพูด จะคุย จะหัวเราะ จะเล่นมุก เราต้องมีช่องไฟ เช่น ‘อะไรนะคะทุกคน พูดพร้อมกัน หนึ่ง สอง ซั่ม!’ และครูก็จะเว้นจังหวะไปประมาณ สาม สี่ วินาที เพื่อให้เขาตอบ ซึ่งครูเชื่อว่านักเรียนทำจริงๆแน่นอน”
ข้อสอง น้ำเสียงต้องครื้นเครง พลังงานคนสอนต้องไม่ตก และ ความรู้สึกของนักเรียนแม้ไม่เห็นหน้า ก็สำคัญต่อการเรียนรู้
“ปกติเวลาสอน ครูจะถามเขาก่อนว่า ‘เป็นยังไง สบายดีมั้ย อากาศเป็นยังไงบ้าง’ และครูจะจำได้ว่าใครเป็นใคร จำชื่อไม่ได้นะแต่จำรูปโพรไฟล์ได้เพราะเขาจะเข้ามาดูไลฟ์เราซ้ำบ่อยๆ พอเขามาเราก็จะ ‘อ้าว มาแล้วเหรอ?’ บางคนพิมพ์บอกเราว่าเมื่อวานเขามาไม่ได้เพราะแม่เข้าโรงพยาบาล เราก็จะจดชื่อไว้ พอเขากลับมาใหม่ก็จะถามว่าแบบ ‘คุณแม่เป็นไงบ้าง’ ซึ่งเคสต์นี้ไม่ได้มีบ่อยๆ นะคะ แต่คร่าวๆ คือจะพูดคุยเรื่องทั่วไปกับนักเรียนก่อน พยายามจดจำนักเรียนเท่าที่ทำได้ อย่างไลฟ์สดในอินสตาแกรม หากครูเคยวิดิโอคอลคุยกับนักเรียนคนไหน เราก็จะพยายามจำเรื่องราวเขาให้ได้ พอเขากลับมาวิดิโอคอลคุยกับเราอีก เราก็จะถามเขาถึงเรื่องที่เคยคุยกันมา เขาก็จะแบบ ‘อ้าวครูหวาน จำได้ด้วยเหรอ!’
“ต่อมาคือครูจะแชร์เรื่องส่วนตัว เช่น “นักเรียนเห็นมั้ย วันนี้ครูไปทำสีผมมาใหม่นะ” หรือสร้างความเป็นกันเอง แบบ ‘แป๊ปนึงนะ ครูหวานขอเกาจมูกก่อน’
“ที่สำคัญมากๆ คือเอเนอจี้หรือพลังงานของครู ถ้าครูมีเรื่องเศร้าหรือเรื่องเครียดๆ ครูจะปรับอารมณ์ตัวเองก่อนเลย เราอยากให้เขามาดูเราแล้วรู้สึกว่า ครูยังแฮปปี้เลย แล้วทำไมเราต้องเรียนแบบเศร้าๆ น่าเบื่อๆ หรือมีบรรยากาศลบๆ จะอธิบายยังไงดี? คือเราเชื่อเรื่อง positive vibe นะ ความร่าเริงสดใสที่มาจากน้ำเสียงและเอเนอจี้ของครู นักเรียนจะรับรู้ได้ และอยากให้นักเรียนรับรู้ว่าเราพร้อมมาสอนเขาจริงๆ ครูเชื่อว่าครูผู้สอนจะมีอิทธิพลต่อผู้เรียนมากๆเลยค่ะ”
ข้อสาม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันที่หน้าจอกั้นไม่ได้ ครูเป็นครูไม่ใช่โรบอท
อีกหนึ่งความท้าทายของการเรียนออนไลน์คือปฏิสัมพันธ์ ครูจะรู้ได้ยังไงว่านักเรียนยังเรียนกับครูอยู่ เข้าใจหรือไม่ รู้สึกอย่างไร และถ้าไม่เข้าใจจะถามตอบได้อย่างทันท่วงที
“เวลาสอนๆ ไป จะอ่านคอมเมนต์ค่ะ อ่านตลอดเลย หรือพยายามถามว่า ข้อนี้ตอบถูกมั้ย? ถ้าตอบถูกหรือผิดก็ส่งสติ๊กเกอร์มาให้หน่อย หรือถ้านักเรียนมีคำถามระหว่างเรียนก็จะพยายามตอบทันที แต่ถ้าเป็นคอมเมนต์แบบ ‘ครูเห็นเมนต์หนูมั้ย ทำไมไม่ตอบเลย’ ก็จะบอกว่า ‘ครูเห็นแล้วนะ แต่ครูตอบไม่ได้เพราะถ้าครูตอบหนู ครูจะหลุดเลย’ พอช่วงท้ายๆ ไลฟ์ก็จะถามว่า ‘ใครมีคำถามมั้ย? ถามมาเลยนะ’ ‘วันนี้เป็นไง สนุกมั้ย อยากให้ครูทำอะไรอีก?’ บางทีมีนักเรียนบอก ‘ครูหวาน วันนี้พ่อหนูมาเรียนด้วยนะ’ เราก็จะแบบ ‘อุ๊ย จริงเหรอ ฝากสวัสดีพ่อด้วยนะ’ คือจะมีการสื่อสารรายบุคคลพุ่งตรงไปหาเขาค่อนข้างเยอะ ส่วนเวลาสอนก็จะเล่าเรื่องตลกไปด้วย แล้วก็จะบอกเขาว่า ‘ถ้าหัวเราะส่งสติ๊กเกอร์หัวใจมานะ’ ถ้าเราได้สติ๊กเกอร์หัวใจเยอะๆ ก็แสดงว่าเขาตลกกับเรา ยังอยู่กับเรา
“พยายามจะสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันมากที่สุด ไม่อย่างนั้นมันจะกลายเป็นโรบอท เรียนออนไลน์ก็จริงแต่ไม่อยากให้เรื่องนั้นมาเป็นอุปสรรค คือยิ่งเรามีปฏิสัมพันธ์กับเขา เขาก็จะยิ่งไว้ใจเรามากขึ้น อยากให้เขารู้สึกว่ามีเราอยู่เขาอุ่นใจ เขาจะรอดกับภาษาอังกฤษ มีความมั่นใจและมีทัศนคติที่ดีกับภาษาอังกฤษ รู้ว่าเราจะไม่ทิ้งเขา”
ทิ้งทายก่อนจากกันไป ครูหวานขอส่งกำลังใจถึงคุณครูที่กำลังปรับตัวกับการสอนแบบใหม่ ที่ต้องรับเอาเทคโนโลยีและออนไลน์เข้ามา จากที่เคยเห็นสายตาของนักเรียนทุกคนเป็นการเห็นผ่านหน้าจอแทน
“ต้องขอเป็นกำลังใจ และขอขอบคุณคุณครูทุกคนแทนนักเรียนด้วยที่กำลังพยายามเปลี่ยนแปลง ปรับตัวกับวิธีการสอนใหม่ๆ เข้าใจเลยว่ายาก โดยเฉพาะตอนนี้เป็นยุคที่ถ้าเราทำอะไรผิดนิดนึง เราจะได้รับ feedback เร็วมาก ครูหวานเองยังเคยถูกฝรั่ง bully เลยนะว่าทำไมต้องแอ๊บสำเนียงด้วย เลยเข้าใจอารมณ์ของคุณครูมากๆ ว่ากำลังรู้สึกอะไรตอนนี้
“นอกจากอัปเดตเรื่องเทคโนโลยี คิดว่าการสอนออนไลน์ครูต้องยืดหยุ่น ครูต้องทนได้กับคำวิจารณ์ ถ้ามีข้อผิดพลาดตรงไหน เรารีบแก้ไขให้เร็วที่สุด ไม่อยากให้คิดว่า ‘อายจังเราสอนผิด’ ‘ฉันเป็นตั้งครู ทำไมสอนผิด’ ครูหวานก็สอนผิดเหมือนกัน แต่พอรู้แล้วก็รีบขอโทษนักเรียนและแก้ไข ต้องบอกว่านักเรียนสมัยนี้ไม่เหมือนสมัยก่อนแล้ว เขารู้เยอะมากและเก่งมากๆ ตรงไหนที่ผิดพลาดเขาท้วงติงเราทันทีเลย ‘ครูหวาน อันนี้ไม่ใช่นะ’ ซึ่งมันไม่เป็นอะไรเลยค่ะ เราบอกนักเรียนกันบ่อยๆ ว่า ‘ผิดไปเลยเพราะเราจะเรียนรู้จากความผิด’ ครูเองก็เหมือนกัน เป็นครูก็ผิดได้ สำคัญคือถ้าถูกท้วงติงมาแล้วเราแก้ไขและขอโทษนักเรียน เขาจะเห็นว่า ‘ครูคนนี้โอเคนะ ครูไม่มีอีโก้เลย’ ซึ่งเราคิดว่าครูแต่ละท่านไม่อยากวางตัวเองให้เข้าถึงยากอยู่แล้ว แต่เพื่อหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเนอะ เราทำการบ้านล่วงหน้าก่อนมาสอน ความถูกต้องของเนื้อหาเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดด้วยค่ะ”
Perfect English กับครูพี่แอน
หลายคนอาจจะคุ้นหน้าคุ้นตาครูพี่แอนจากคลิปสอนภาษาในอินสตาแกรมที่ชื่อว่า krupann.english กับการวาดลวดลายสอนภาษาด้วย energy เหลือล้นและ acting ที่เล่นใหญ่ระดับรัชดาลัยเธียเตอร์ ทำให้คนดูได้ส่งเสียงหัวเราะขณะดูคลิปและได้รับความรู้ตรงสโลแกนการสอนที่ครูพี่แอนตั้งไว้ว่า ‘คนดูจะต้องสนุกพร้อมๆ กับได้รับความรู้’
“ตอนอยู่ ม.5-ม.6 ด้วยความที่ชอบภาษาอังกฤษมาก (ลากเสียง) เราเลยรับสอนให้น้องๆ อายุประมาณ 13-14 เริ่มจากเด็กข้างบ้านก่อนเลย สอนแบบตัวต่อตัว ชั่วโมงละ 50 หรือ 100 บาท อะไรก็ว่าไป เรารู้สึกว่าทำแล้วมีความสุข ได้เห็นเด็กประสบความสำเร็จจากสิ่งที่เขาเรียนรู้กับเรา ทำให้เราอยากที่จะเดินต่อในทางนี้
“เด็กส่วนใหญ่ไม่ชอบภาษาอังกฤษเพราะรู้สึกยาก เลยตั้งกำแพงกับมัน เราพยายามทำให้การเรียนภาษาอังกฤษมันง่ายที่สุด ถ่ายทอดให้เหมือนเพื่อนคุยกับเพื่อน ไม่ใช่ถ่ายทอดแบบครูคุยกับนักเรียน เพราะถ้าเราทำตัวเป็นครูจริงจังซีเรียสมากๆ เด็กจะรู้สึกว่ามันเหมือนเรียนที่โรงเรียนเลย ที่เขารู้สึกเกร็ง เครียด กลัวผิด แต่พี่แอนจะปรับให้นักเรียนทุกคนมองเราว่า ‘เฮ้ย เราเป็นเพื่อนกันนะ’ เหมือนเวลาเรานั่งอยู่หน้าห้องสอบ เรียนกับครูมาทั้งเทอมไม่เข้าใจเลย แต่พอเพื่อนติวให้หน้าห้องสอบชั่วโมงเดียวกลับเข้าใจทันที เราอยากเป็นเพื่อนคนนั้น”
ปรับหลักสูตร เน้นพื้นที่ให้ว่างเข้าไว้ เด็กๆ จะมีสมาธิจดจ่อกับมัน
“เคยเห็นหนังสือเรียนทั่วไปใช่ไหม ที่เปิดขึ้นมาแล้วเจอ text เต็มไปหมดเลย แค่ดูก็รู้สึกง่วงแล้ว ยิ่งถ้าเรียนออนไลน์อีก หลับดีกว่า”
คำถามที่ครูพี่แอนเจอบ่อยมากเมื่อครั้งเริ่มสอนออนไลน์แรกๆ ‘จะเรียนรู้เรื่องหรือเปล่า?’ ‘ถ้าสงสัยต้องทำยังไง ถามได้ไหม?’ ครูพี่แอนบอกว่า เนื้อหาที่สอนต้องทำให้เข้าใจง่ายที่สุด ถ้าเนื้อหายากทฤษฏีเยอะ สิ่งที่ตามมาคือเด็กหลับแน่นอน เพราะเด็กนั่งมองจออย่างเดียว ไม่ได้ขยับไปไหน ไม่เหมือนการนั่งในห้องเรียนที่จะได้มีปฏิสัมพันธ์ใกล้ชิดกับครู แล้วตัวครูสามารถเดินไปดูนักเรียนรายคนได้ ครูพี่แอนย้ำว่า การเรียนออนไลน์สิ่งที่จำเป็นต้องปรับมากที่สุด คือ หลักสูตรหรือวิธีเรียน
“เด็กๆ ส่วนใหญ่ชอบเปิดหนังสือมาแล้วเจอกับความโล่ง หรือ รู้สึกว่าหน้ากระดาษดูโล่ง ตัวหนังสือน้อยๆ มีช่องให้เติมคำตอบเยอะๆ เขาจะเกิดความรู้สึกว่า ‘เอ๊ะ ตรงนี้ต้องเป็นอะไรนะ’ ‘ช่องนี้ต้องเติมคำว่าอะไร’ เด็กชอบเติมค่ะ เขาไม่ชอบเห็นช่องว่างๆ เขาจะเกิดความสงสัยใคร่รู้ ขอเขียนหน่อยนะ และต้องมีกิจกรรมให้เขาได้ทำ ได้สนุกระหว่างเรียนกับเรา การปรับหลักสูตรหรือปรับวิธีเรียน อาจจะต้องทำการบ้านเยอะหน่อย ครูบางคนอาจจะรู้สึกว่า ‘ตาย ฉันต้องมาทำหลักสูตรใหม่จริงๆ เหรอ’ ใช่ค่ะ เราต้องทำเพื่อเด็ก”
ลองใช้น้ำเสียงหลายๆ โทน แอคติ้งเยอะๆ ส่งต่อพลังงานบวก
เวลาดูคลิปครูพี่แอนสอนภาษาอังกฤษ จุดเด่นอย่างหนึ่งที่เราเห็นชัด คือ ความตลกและเล่นใหญ่ ครูพี่แอนเล่าว่า ด้วยนิสัยเธอเป็นคนเฮฮาอยู่แล้ว ชอบสร้างเสียงหัวเราะให้กับคนอื่น มันเลยสะท้อนมายังสไตล์การสอนที่ตลก ช่วยดึงเด็กไว้ที่หน้าจอ แต่ไม่ได้หมายความว่าครูทุกคนต้องสอนแบบเธอ ขึ้นอยู่กับสไตล์ความชอบของครูแต่ละคน เพียงแต่เวลาสอนออนไลน์ ถ้าสอนแบบเดิมๆ เหมือนในห้องเรียนปกติ ยืนหน้ากระดานพูดๆ ชี้ๆ ให้นักเรียนดู เด็กจะเบื่อและไม่โฟกัสกับการเรียน
“เราเคยสังเกตไหมว่าทำไมเวลาเด็กดูพวกรายการตลก เด็กดูกันได้เป็น 10-20 นาที ไม่เบื่อเลย เพราะมันตลกไง การสอนออนไลน์ครูอาจจะต้องปรับเพื่อนักเรียนนิดหนึ่ง acting ต้องมากขึ้นหน่อย เช่น น้ำเสียงที่ใช้ ‘ใช่ไหมคะนักเรียน! (เสียงสูง)’ ‘มันเป็นอย่างงี้ไง! (เสียงตื่นเต้น)’ หรืออาจจะมี acting เป็นสองตัวละคร ซึ่งก็แล้วแต่ครูเลยสไตล์ใครสไตล์มัน
“อย่างพี่แอนจะคิดเสมอว่า ถ้าเพื่อเด็ก เราจะกลายเป็นคนตลก ดูหลุดๆ บ้าง พี่แอนทำได้ ขอให้เด็กเรียนรู้เรื่องเหมือนดูหนังเรื่องหนึ่ง”
นอกจากลองปรับคาแรคเตอร์ในการสอน เพิ่ม acting แล้ว ความท้าทายอีกอย่างของการสอนออนไลน์ คือ คนสอนจะไม่รู้ว่าคนที่เรียนกับตัวเองเป็นใคร เขามีพื้นฐานความรู้มากน้อยแค่ไหน เข้าใจสิ่งที่คนสอนสื่อสารหรือไม่ ครูพี่แอนก็เห็นตรงกันกับครูหวานว่า นี่ก็เป็นการบ้านที่คุณครูต้องฝึก เวลาอัดคลิปให้ครูลองจินตนาการถึงเด็กที่จะเข้ามาเรียนในคลาส
“ตอนแรกจะรู้สึกแปลกนิดหนึ่งนะ เพราะปกติเราเคยสอนอยู่ต่อหน้านักเรียน เห็นนักเรียนจริงๆ พอตอนนี้ต้องสอนแบบมีจินตนาการสูงมาก มันก็เกิดคำถามว่า ‘ฉันคุยกับใครวะ? นี่มันคอมพิวเตอร์’ วิธีแก้คือเราก็จะเตรียมคำพูดไว้เลย เช่น ‘ใช่ไหมลูก!’ ‘ถูกต้องนะคะ!’ ‘เก่งมากค่ะลูก! นักเรียนตบมือให้ตัวเองค่ะ’ คือมันจำเป็นต้องมี acting แบบนี้จริงๆ ในการสอนออนไลน์
“แล้วต้องมีการสร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนเรื่อยๆ ด้วยนะ เช่น บอกนักเรียนว่า ‘นักเรียนทุกคนรู้ไหมว่าเราเรียนกันมาชั่วโมงหนึ่งแล้วนะ เร็วมากนะ ทุกคนหยิบมือขวาขึ้นมาจับบ่าตัวเอง แล้วตบบ่าตัวเอง แล้วบอกว่าฉันเก่งมากเลยเรียนมาได้ตั้งครึ่งชั่วโมงแล้วนะ ประสบความสำเร็จแล้ว’ คือต้องมีวิธีการพูดที่ทำให้เด็กรู้สึกว่า ฉันเก่ง ฉันทำได้ ทำแบบนี้ได้จินตนาการเราต้องมา”
ที่ครูพี่แอนเน้นย้ำกับตัวเองตลอด คือให้จินตนาการถึงความรู้สึกของเด็กๆ ที่เรียนอ่อนที่สุด การจดจ่อกับออนไลน์สั้นที่สุด
“ต้องนึกถึงเด็กหลายๆ แบบด้วย เด็กบางคนเรียนไป 10 นาทีจะเริ่มเหนื่อยละ เราก็ต้องเตรียมคำพูดว่า ‘ลูกๆ เรื่องนี้อาจยากนิดหนึ่งนะ เข้าใจเลย เพราะพี่แอนตอนเรียนเรื่องนี้แรกๆ ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน ถ้าใครไม่เข้าใจไม่เป็นไร เดี๋ยวเรามาฟังกันอีกรอบหนึ่ง’ เด็กกลุ่มนี้จะรู้สึกว่า ‘ เออ ครูเข้าใจหนู หนูไม่เข้าใจจริงๆ’ ส่วนเด็กที่เข้าใจแล้วเราก็จะบอกเขาว่า ‘ถ้าใครเข้าใจแล้วลูกๆ อย่าเพิ่งเบื่อที่จะฟังนะ เราจะต้องไปพร้อมๆ กับเพื่อน ไม่ทิ้งกัน’ เราต้องจินตนาการว่า มองไปทางนี้เห็นเด็กที่เข้าใจ มองไปอีกทางเห็นเด็กที่ไม่เข้าใจ
“แต่วิธีการสอนแบบนี้มันก็ไม่ได้มาง่ายๆ นะ บางคนที่ไม่มีอาจจะต้องฝึก เริ่มจากสมมติว่าตัวเองเป็นนักเรียนคนหนึ่งที่นั่งอยู่ในห้องเรียน และต้องเป็นเด็กนักเรียนที่ไม่เก่งที่สุดด้วยนะซึ่งเราต่างเคยรู้สึกแบบนั้นสักครั้งหนึ่งในชีวิตที่เดินเข้าห้องไปแล้วเรียนไม่รู้เรื่องอะไรเลย มันทรมานแค่ไหน อึดอัดอย่างไร ให้ลองคิดถึงเด็กที่เขาจะรู้สึกแบบนั้น”
เก็บคำหรูหราทางการไปก่อน ลองใช้คำง่ายๆ หยิบสิ่งของรอบตัวมาประกอบการสอน
“เรารู้สึกว่าพอใช้ภาษาง่ายๆ แล้วใส่ acting ให้มันหน่อย มัน relate กับเด็กมากกว่า อย่างวันก่อนพี่แอนสอนเรื่อง don’t blow it คำว่า blow แปลว่าเป่าใช่ไหม เราก็เอากระดาษมาฉีกให้นักเรียนดู นักเรียนก็แบบ ‘พี่แอนทำอะไรอะ?’ พอเห็นว่าเราทำอะไรแปลกๆ เขาจะเริ่มโฟกัสแล้ว เราก็บอกว่า ‘ดูนะว่าถ้าพี่แอนเป่ากระดาษอันนี้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น’ พอเป่าปุ๊บ กระจายปั๊บ พี่แอนก็จะบอกว่า ‘ฉะนั้น don’ blow it แปลว่าอย่าทำเละ’ ก็จะกลายเป็นภาพจำของเด็กทันที พอได้ยินว่า don’t blow it ภาพกระดาษเละลอยขึ้นมา ถ้าสอนแค่ว่า don’t blow it แปลว่า อย่าทำพัง ซึ่งเด็กจำไม่ค่อยได้หรอก สอนไปหนึ่ง 1 นาทีเด็กก็ลืมแล้ว แต่ถ้าคุณรู้จักที่จะเอา material ที่อยู่ข้างๆ อย่างทิชชูมาใช้ เอาสิ่งที่รอบตัวมาเล่นให้เยอะๆ อันนี้สำคัญมากที่จะทำให้นักเรียน engage เราได้ หลักการก็คือ การทำอะไรก็ได้ให้เด็กรู้สึกว่าภาษามันเป็นเรื่องง่ายๆ”
“สังเกตง่ายๆ ถ้าเราสอน 10 นาทีเด็กเริ่มหาย แสดงว่าเราสอนน่าเบื่อ แต่ถ้าเราสอนไปชั่วโมงหนึ่งเด็กยังอยู่ แสดงว่าอันนี้เวิร์ค โอเค อันนี้ก็เป็นวิธีสังเกตการสอนของเรา”
อ่านมาถึงตรงนี้คุณครูหลายคนคงรู้สึกเหนื่อยกับการสอนออนไลน์ ครูพี่แอนเองก็เข้าใจพร้อมกับขอส่งกำลังใจให้กับครูทุกคน เธอบอกว่า การสอนออนไลน์ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ครูต้องปรับตัวค่อนข้างเยอะ ทำให้ระหว่างทางครูอาจจะเหนื่อยและท้อ
“มีคนถามเหมือนกันนะว่า พี่แอนไลฟ์สอนทุกวันไม่เหนื่อยเหรอ? เหนื่อยนะ แต่พอเห็นเด็กๆ ที่เรียนกับเราส่งคำศัพท์ที่เขาจดมาให้ดู แล้วบอกว่าได้จากพี่แอน มันรู้สึกหายเหนื่อยเลย เด็กได้รับความรู้จากการสอนของเรา มันตอบแทนสิ่งที่เราทำที่เราเตรียมมาทุกคืน พี่แอนอยากบอกคุณครูว่า การได้เห็นเด็กๆ เอนจอยไปกับการเรียนที่เราเตรียมไว้ให้ ได้เห็นเขาเรียนอยู่บ้านอย่างมีความสุข นั่นคือสิ่งที่ตอบแทนความเหนื่อยของครู พี่แอนอยากให้ครูมองว่า สิ่งที่เราทำๆ ไปเพื่อเด็กๆ พวกเขาคืออนาคตของชาติ”
ชีววิทยาง่ายๆ By ครูฝ้าย
อ่านเทคนิคของครูสอนภาษาแล้ว ลองมาอ่านเทคนิคของครูวิทยาศาสตร์กันบ้าง ครูฝ้าย เจ้าของเพจชีววิทยาง่ายๆ By ครูฝ้าย ครูฝ้ายเคยเป็นครูสอนในโรงเรียนก่อนที่จะออกมาสอนเอง ทำให้เธอมีประสบการณ์สอนทั้งสองแบบ เธอบอกก่อนเลยว่า การสอนทั้งสองแบบใช้ทักษะต่างกันมาก
“ทักษะการพูดการสอนในห้องเรียนกับการไลฟ์สด หรือแม้แต่การติวในห้องประชุมใหญ่ๆ มันคนละทักษะกันเลยนะ ถึงจะใช้เนื้อหาเดียวกันสอน แต่มันไม่เหมือนกันเลย ทำให้ครูบางคนเขาถึงรู้สึกแย่กับการสอนออนไลน์ ทั้งๆ ที่สอนห้องสดเขาก็สอนเก่ง ฝ้ายเคยมาหมดแล้วเลยรู้ว่ามันใช้คนละทักษะจริงๆ แล้วอะไรก็ตามที่เป็นทักษะมันต้องใช้เวลา ช่วงแรกๆ คนส่วนใหญ่กลัวหมดแหละ
“เรื่องที่แตกต่างชัดเจนคือเรื่องปฏิสัมพันธ์ ไม่ใช่การสอนออนไลน์มันไม่มีเลยนะ มันมี แต่แค่เปลี่ยนรูปแบบจากที่เราสังเกตสีหน้า ท่าทาง เข้าใจหรือไม่เข้าใจเด็กจากการมองเห็น face-to-face มันจะเป็นเปลี่ยนถามด้วยการพิมพ์ลงไป เช่น อย่างไลฟ์สดในเฟซบุ๊กก็จะมีการถาม ‘เข้าใจไหมคะ’ ให้เด็กพิมพ์ตอบหรือกดหัวใจ กดหน้าเศร้าแทน คือพยายามคิดรูปแบบการตอบโต้กับเรา ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กลับคืนมา
“การดึงเด็กให้อยู่กับเราให้ได้อันนี้สำคัญมาก เพราะว่าในห้องเรียน เราสามารถควบคุมชั้นเรียนและทำให้เด็กสนใจเราได้ง่าย แต่สมาธิของเด็กเรียนออนไลน์นั้นพร้อมจะหลุดไปตลอด วิธีแก้ของฝ้ายคือ จะหากิจกรรมมาให้เด็กทำช่วงท้ายคลิป เช่น แจกของต้นคลิป ให้กับเด็กที่ตอบถูก และสุ่มแจกของอีกครั้งกับเด็กที่อยู่กับเราถึงท้ายคลิป โดยกิจกรรมในแต่ละสัปดาห์จะเปลี่ยนไปแล้วแต่ครูจะคิดกิจกรรมอะไรก็ได้
“ฝ้ายมองว่าการเรียนมันจะให้ทางเดียวไม่ได้ ต้องได้รับกลับมาด้วย ไม่งั้นจะเป็นการยัดเข้าไป โดยที่เราไม่สนใจว่าเด็กจะได้-ไม่ได้หรือเปล่า”
ตัวช่วยหนึ่งที่จะช่วยครูได้ คือ การฟังฟีดแบคเยอะๆ โดยเฉพาะจากเด็กๆ ที่สอน เขาจะเป็นกระบอกเสียงที่สำคัญ อย่าไปกลัวฟีดแบคของเด็กๆ
“ตอนแรกเราทำโดยที่ไม่ได้ตั้งรับเรื่องฟีดแบคเลย ซึ่งมันก็มีทั้งบวกและลบ เรื่องลบ มันกระทบจิตใจอยู่แล้ว แต่ถ้าสิ่งที่เขาพูดมันเป็นเรื่องจริง เราต้องพยายามคิดให้ได้ว่า ‘ดีแล้วที่เขาบอก เราจะได้ไม่พลาดซ้ำ’ คือต้องปรับความคิดที่ตัวเราให้ได้ แต่ถ้าอันไหนเป็นคอมเมนต์ที่ไม่จริงหรือเป็นความเห็น เช่น ฉากไม่สวยเลย เปลี่ยนฉากใหม่เถอะ หรือ เคยมีคอมเมนต์ว่า ‘แต่งหน้าแบบนี้เหมือนร้องไห้อยู่เลย’ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ปล่อยผ่าน ปล่อยวาง”
เชื่อมเนื้อหาทฤษฏีให้เข้ากับชีวิตประจำวันของเด็กๆ
เป็นหลักการสอนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะห้องเรียนสดหรือสอนออนไลน์ เนื้อหาที่สอนเด็กสามารถ relate กับชีวิตประจำวันของเขาได้ ครูฝ้ายบอกว่า เธอเองก็เอาองค์ความรู้วิชาชีวะมาทำให้มันใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของนักเรียน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย อย่างเช่น เรื่องเชื้อโรคต่างๆ หรือเม็ดเลือดขาวที่อยู่ในร่างกายคน
“บางครั้งการเกริ่นนำอย่างเช่น เม็ดเลือดขาวเปรียบเหมือนทหาร เชื้อโรคเปรียบเหมือนศัตรู หรือแม้กระทั่งคำศัพท์ในชีวะ เช่น ex ที่แปลว่าข้างนอก ฝ้ายก็จะเอาไปเทียบกับวง exo ที่ theme ของวง สมาชิกมาจากดาวนอกโลก เราพยายามทำเนื้อหาชีวะให้ย่อยง่าย แล้วทำทุกอย่างเหมือนเป็นการเล่าให้นักเรียนฟังอย่างสนุกสนาน
“ไปหา fact ที่มันตลกๆ เช่น โลมาชอบพี้ยาด้วยปลาปักเป้า หรือ สังเกตไหมว่าทำไมดาราคู่นั้นคบกันแค่ 3 เดือนก็เลิกกันแล้ว เด็กอาจจะบอกว่า ‘คนทั่วไป 3 เดือนก็เลิกกันแล้วไม่ใช่เหรอครู?’ เราก็จะบอกว่าอันนี้มันเป็นเรื่องของฮอร์โมนนะ โยงเข้าเรื่องฮอร์โมนในชีวะไปเลย คือทำให้เด็กรู้สึกอยากฟังต่อ ซึ่งตรงนี้ครูต้องเตรียมการสอนให้ดี โดยอาจเปรียบเทียบกับตัวเองง่ายๆ ว่าถ้าเราฟังตัวเองแล้วเราต้องไม่ง่วง เป็นใช้ได้
“ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือ ลีลาการสอน การใช้น้ำเสียง โทนเสียง เน้น content ให้น่าสนใจ และมีปฏิสัมพันธ์กับเด็ก ส่วนเรื่องโปรดักชันอยากให้มองเป็นเรื่องรอง ตอนฝ้ายไลฟ์ครั้งแรกเราใช้แค่โทรศัพท์เครื่องเดียวเองนะ อาศัยสลับหน้าจอไปมาระหว่างหน้าเรากับหนังสือ แต่ก็มีเด็กดูตั้ง 200 – 300 คน ถ้าเนื้อหาดียังไงเด็กก็สนใจ
“การเริ่มต้นทำอะไรซักอย่างย่อมเป็นเรื่องที่ยากอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าเราจะทำไม่ได้เลย เพราะว่าในอดีตเราก็เคยผ่านการเปลี่ยนแปลง ตั้งแต่ยุคกระดานดำ เครื่องฉายสไลด์ จะเห็นได้ว่าไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงครั้งแรก ดังนั้นมันอาจต้องใช้เวลาในการปรับตัว เรียนรู้ แต่ครูฝ้ายเชื่อว่าคุณครูทุกคนจะสามารถทำสิ่งนี้ได้ เพราะเป้าหมายของการสอน ท้ายที่สุดไม่ว่าจะด้วยวิธีการใด ก็เพื่อให้นักเรียนได้รับความรู้”
ไม่ว่าจะสอนออนไลน์หรือในห้องเรียนปกติ สิ่งสำคัญคือการโฟกัสที่นักเรียน เด็กมีหลากหลายแบบทั้งที่เข้าใจเนื้อหาผ่านการบอกเล่าได้เร็ว จดจ่อได้นาน หรือ เด็กที่สมาธิหลุดจากจอได้ง่าย เข้าใจเนื้อหาได้ยากต้องทวนบ่อยๆ วิธีเตรียมการสอนอาจเริ่มจากการมองเห็นว่าเด็กของเราเป็นอย่างไร เหมาะกับการสื่อสารแบบไหน เนื้อหาอาจเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด แต่ถ้าวิธีสื่อสารไม่ดีก็อาจลดความน่าสนใจของเนื้อหานั้นลง ยิ่งเป็นการเรียนแบบออนไลน์ สมาธิการจดจ่อของเด็กน้อยกว่าอยู่ในห้องเรียนทำให้ ครูอาจต้องปรับเปลี่ยนวิธีการสอนเพิ่มลูกเล่นให้กับมัน
เนื้อหาในบทความข้างต้นเป็นเพียงคำแนะนำ เป็นเพียงทางเลือกหนึ่ง สุดท้ายก็ขึ้นอยู่กับสไตล์การสอนของครูแต่ละคน แต่อย่าลืมว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ทดลอง เราต่างก็เพิ่งเคยตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ อาจมีข้อผิดพลาดบ้าง อาจมีอุปสรรครออยู่เต็มไปหมด The Potential ก็อยากจับมือให้กำลังใจครูและนักเรียนทุกคนผ่านช่วงเวลานี้ไปด้วยกัน