Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Social Issues
3 July 2020

ระเบียบ ‘ชุดนักเรียน’ ยืดหยุ่นไม่ได้จริงหรือ? คุยกับโรงเรียนที่ให้นักเรียนแต่งไปรเวท

เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีเพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ศรุตยา ทองขะโชค

  • จากกรณี ‘ผู้ปกครองขโมยชุดนักเรียน’ เนื่องจากพิษเศรษฐกิจโควิด-19 สื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ต่างวิพากษ์กันไปหลายสาย ตั้งแต่ประเด็นเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และ ที่หนักหนาเสียงดังที่สุด ไม่พ้นคำถามที่ว่า ‘ชุดนักเรียนยังจำเป็นอยู่ไหม?’ 
  • เพื่อคลี่คลายประเด็นดังกล่าวและเสนอทางเลือกให้กับโรงเรียนและครอบครัวอย่างสมจริง The Potential ต่อสายตรงถึง ผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐบาลสองแห่ง ซึ่งมีมติให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทได้ 1 วัน/สัปดาห์ คือ สมรักษ์ พรมมาสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโนนแสนคำ–หนองศาลาศรีสะอาด จังหวัดศรีสะเกษ และเสถียร พันธ์งาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองคง (คงคาวิทยา) จังหวัดศรีสะเกษ 
  • “พูดกันตามตรง ระเบียบที่เข้มงวดก็เป็นกับดักหรือกำแพงกั้นจินตนาการ เสรีภาพ ภราดรภาพนะ เราใส่เสื้อโหลทั้งประเทศก็เหมือนการศึกษาที่เป็นบล็อก การศึกษาที่ไม่คำถึงถึงต้นทุนภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ กลายเป็นกับดักทำให้การศึกษาวนอยู่ในอ่าง มันเป็นปัญหาแน่ๆ มันต้องมีคนกล้าพอจะทำและมีคำอธิบายที่ชัดเจนพอกับผู้เกี่ยวข้อง” ผ.อ.เสถียร พันธ์งาม

จากกรณี ‘ผู้ปกครองขโมยชุดนักเรียน’ เนื่องจากพิษเศรษฐกิจโควิด-19 สื่อทั้งออฟไลน์และออนไลน์ต่างวิพากษ์กันไปหลายสาย ตั้งแต่ประเด็นเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และ ที่หนักหนาเสียงดังที่สุด ไม่พ้นคำถามที่ว่า ‘ชุดนักเรียนยังจำเป็นอยู่ไหม?’ 

โดยในประเด็นนี้ หลายคนชวนคุยกันว่า ที่มาของกฎเรื่องชุดนักเรียนก็เพื่อต้องการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย ลดภาพความเหลื่อมล้ำเพราะหากให้นักเรียนใส่ไปรเวทอาจทำให้เกิดการแข่งขันทางแฟชั่น และจะเป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในที่สุดนั้น แต่ภาพข่าวนี้กลับเห็นชัดว่า ค่าใช้จ่ายเรื่องอุปกรณ์แรกเข้าทางการศึกษา อย่างชุดนักเรียน ก็สร้างภาระให้ผู้ปกครองหนักหนาไม่ต่างกัน 

เพื่อคลี่คลายประเด็นดังกล่าวและเสนอทางเลือกให้กับโรงเรียนและครอบครัวอย่างสมจริง The Potential ต่อสายตรงถึง ผู้อำนวยการโรงเรียนรัฐบาลสองแห่ง ซึ่งมีมติให้นักเรียนใส่ชุดไปรเวทได้ 1 วัน/สัปดาห์ คือ 

  • สมรักษ์ พรมมาสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโนนแสนคำ–หนองศาลาศรีสะอาด จังหวัดศรีสะเกษ 
  • เสถียร พันธ์งาม ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองคง(คงคาวิทยา) จังหวัดศรีสะเกษ 

ชวนดูว่า วิธีคิดของผู้อำนวยการในการตัดสินใจจะ ‘ยืดหยุ่น’ เรื่องชุดนักเรียน มีวิธีคิดแบบไหน กระบวนการในการพูดคุยเรื่องชุดนักเรียนมีอะไรบ้าง และ ฟีดแบกจากผู้ปกครองและนักเรียนในโรงเรียนนั้นๆ เป็นอย่างไร 

แต่ก่อนจะว่ากันเรื่องวิธีคิดและกระบวนการ อยากชวนตั้งต้นที่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ. ๒๕๕๑ ที่สรุปใจความได้ว่า ระเบียบกระทรวงเขียนชัดเรื่องระเบียบชุดนักเรียนว่าต้องเป็นไปตามระเบียบดังกล่าว แต่ก็มีข้อยกเว้น ดังข้อ ๔ ๑๕ และ ๑๖ เขียนว่า 

  • ข้อ ๔ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับแก่นักเรียนผู้ซึ่งศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานและสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ เว้นแต่สถานศึกษานั้นจะมีกฎหมายกำหนดเรื่องการแต่งกายไว้เป็นการเฉพาะแล้ว 
  • ข้อ ๑๕ สถานศึกษาใดจะกำหนดให้นักเรียนแต่งเครื่องแบบลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด นักศึกษาวิชาทหารหรือแต่งชุดพื้นเอง ชุดไทย ชุดลำลอง ชุดฝึกงาน ชุดกีฬา ชุดนาฏศิลป์ หรือชุดอื่นๆ แทนเครื่องแบบนักเรียนตามระเบียบนี้ในวันใด ให้เป็นไปตามที่สถานศึกษากำหนด โดยคำนึงถึงความประหยัดและเหมาะสม 
  • ข้อ ๑๖ ในกรณีมีเหตุจำเป็นหรือมีเหตุพิเศษให้สถานศึกษาพิจารณญายกเว้นหรือผ่อนผันการแต่งเครื่องแบบนักเรียนได้ตามความเหมาะสม

ชุดนักเรียนต้องเปี่ยมจินตนาการ ไม่เป็นอุปสรรคการเรียนรู้ : ผอ. เสถียร พันธ์งาม

ที่โรงเรียนเมืองคง(คงคาวิทยา) จังหวัดศรีสะเกษ นักเรียนและครูที่นี่ใส่ชุดนักเรียนแค่ 2 วัน/สัปดาห์ นั่นคือวันจันทร์ และ วันพุธ โดยวันจันทร์นักเรียนใส่ชุดนักเรียนเต็มสูบ ครูใส่ชุดราชการสีกากีเต็มรูปแบบ ส่วนวันพุธใส่ชุดลูกเสือ แต่ยังมีเงื่อนไขที่ยืดหยุ่นไปอีกว่า จะใส่ชุดลูกเสือเต็มรูปแบบก็เฉพาะในวันพุธสุดท้ายของเดือน หรือ สัปดาห์ที่ 4 เท่านั้น ส่วนวันพุธในสัปดาห์ที่ 1 ถึง 3 ของทุกเดือน ให้นักเรียนและครูใส่ชุดลำลองได้ เพียงแต่ใส่สัญลักษณ์อย่างผ้าผูกคอเท่านั้น เพราะผอ.เสถียรบอกว่า การเรียนลูกเสือไม่ใช่มีแค่การเปิดกองเท่านั้น  เด็กต้องทำกิจกรรมหลายอย่าง ต้องลุยทำกิจกรรมอะไรต่าง ๆ มากมาย การแต่งกายของลูกเสือจึงต้องมีการยืดหยุ่น ได้อย่างเหมาะสม 

“ ในตรรกะการแต่งกาย ผอ. คิดแบบนี้นะ หนึ่ง – ผอ. เข้าใจมาตลอดว่าเราแต่งกาย หรือใส่เสื้อผ้าก็เพื่อปกป้องร่างกายส่วนที่ไม่พึงเปิดเผยต่อสาธารณะ ต่อมาเสื้อผ้าก็ถูกออกแบบจากจินตนาการให้สวยงามโดยมีนิยามของคำว่า ‘สุภาพ’ คลุมไว้   สอง-ร่างกายของคนเราก็น่าจะมีเสรีภาพที่จะใส่เสื้อผ้าอะไรก็ได้ สาม – ผอ. คิดถึงเรื่องภูมิสังคม ต้นทุนสังคมในแต่ละพื้นที่ 

“สี่ – การเรียนรู้ทุกวันนี้ ต้องการให้เป็น active learning เด็กต้องเรียนทั้งในและนอกห้อง ต้องเผชิญสภาพจริง ต้องไปลงนา ถอนกล้า เข้าสวนปลูกต้นไม้ แหล่งเรียนรู้มันอยู่นอกห้อง เด็กต้องลุย  ข้อนี้ เครื่องแบบเลยกลับเป็นข้อจำกัดและอุปสรรคในการเรียนรู้ของเด็กในศตวรรษที่ 21” 

เมื่อสี่ปีก่อน โรงเรียนได้ทดลองใช้หลักการจัดการเรียนรู้ที่เป็น Active  Learning ผ่านนวัตกรรมกระบวนการ Friday is a Fly Day (วันศุกร์คือวันโบยบิน) โดยให้ทั้งครูและนักเรียนมีอิสระในการแต่งกายมาโรงเรียนในวันศุกร์ทุกสัปดาห์ ซึ่งทั้งเด็กนักเรียนและครูต่างก็ตื่นเต้นน่าดู มีความสุขกันถ้วนหน้า 

 พูดกันตามตรง ระเบียบที่เข้มงวดก็เป็นกับดักหรือกำแพงกั้นจินตนาการ เสรีภาพ ภราดรภาพนะ เราใส่เสื้อโหลทั้งประเทศก็เหมือนการศึกษาที่เป็นบล็อก การศึกษาที่ไม่คำถึงถึงต้นทุนภูมิสังคมแต่ละพื้นที่ กลายเป็นกับดักทำให้การศึกษาวนอยู่ในอ่าง มันเป็นปัญหาแน่ๆ มันต้องมีคนกล้าพอจะทำและมีคำอธิบายที่ชัดเจนพอกับผู้เกี่ยวข้อง” 

คนที่สี่ จากซ้ายมือ (เสื้อสีน้ำเงิน) ผอ.เสถียร พันธ์งาม

กระบวนการ 

“ผมเข้ามาเป็นผอ. ตอนอายุประมาณ 30 ปี เห็นนักเรียนใส่ชุดนักเรียนมาทุกวัน เวลาจะเล่นพละก็ต้องยัดชุดพละไว้ในกระเป๋าอีกที ทำไมเราต้องเพิ่มภาระให้นักเรียนขนาดนี้?” จึงเป็นเหตุผลให้ผอ.เสถียร เริ่มหารือกับ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3 กลุ่มที่สำคัญ คือ ครู นักเรียน และ ผู้ปกครอง 

“ผอ. จะคุยหนักมาก ใช้เวลาเยอะมาก เรียกว่าทำประชาพิจารณ์กับ 3 กลุ่มนี้เลย คือ นักเรียน-เราคุยเยอะกับนักเรียนชั้นป. 4 5 6 เพราะเป็นวัยที่โตพอจะโยนคำถามเพื่อตัดสินใจกันได้แล้ว ผู้ปกครอง และ ครู – พูดให้เค้าฟังว่าเราทำไปเพื่ออะไร อธิบายทุกแง่มุม ข้อดี-ข้อเสีย ให้ข้อมูลครบทุกด้านและมาตัดสินใจร่วมกัน 

“มติเกือบเอกฉันท์เลยว่าโอเค แต่ตอนแรกก็มีผู้ปกครองบางส่วนที่เค้ายังยึดมั่นถือมั่นเรื่องวินัย ความเป็นเอกภาพขององค์กร เราก็อภิปรายว่าความเป็นเอกภาพไม่ได้มองแค่เอกลักษณ์ ลองทดลองกันดู พอเวลาผ่านไป เราได้ฟีดแบกจากผู้ปกครองกลุ่มนี้มาว่า ดีมากเพราะเค้าไม่ต้องเสียเวลารีดชุดนักเรียนให้กับลูก ลดค่าใช้จ่าย ลดเวลา” 

ยังมีเสียงห่วงกังวลว่า การให้ใส่ลำลอง นักเรียนที่บ้านร่ำรวยอาจใส่เสื้อผ้ามาอวดกัน? 

“ผมอธิบายว่าชุดนักเรียนมันก็เหลื่อมล้ำได้ ถ้ามองทางกายภาพชุดนักเรียนก็ว่าดีเพราะสีเดียวกัน แต่พอเจาะเข้าไป เด็กมันรู้นะว่าอะไรแพงอะไรถูก แค่รองเท้านักเรียนก็เห็นแล้ว แล้วเราจะเอาเรื่องนี้มาสกัดกั้นจินตนาการ และความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเหรอ? ผอ.มองว่ามันไม่คุ้มหรอก” 

แต่ขั้นกระบวนการ ยังมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน เป็นแกนไว้อยู่ เรื่องนี้ผอ. เสถียรกล่าวว่า แต่โรงเรียนก็มีอำนาจในการทำหลักสูตรสถานศึกษา ที่โรงเรียนจะเป็นผู้กำหนดแผนการศึกษาของนักเรียน 

“เราเขียนไปเลยว่าเราจะเรียนด้วยวิธีการแบบไหน เช่น เราจะเรียนแบบ active learning แผนการเรียนก็เขียนไปว่านักเรียนต้องเดินทางไปที่นั่นที่นี่ ไปเรียนรู้กับแหล่งการเรียนรู้ชุมชน ต้องขุดดิน ลุยโคลน  ปลูกต้นไม้ รดน้ำพรวนดินแหล่งการเรียนรู้เป็นแบบนี้ก็ต้องตามมาด้วยเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมและสุภาพ 

“เขาให้อำนาจโรงเรียนทำหลักสูตรสถานศึกษาและนี่คือจุดที่จะปลดล็อกให้เราได้ เพราะระเบียบยังไม่ถูกยกเลิก แต่เจตนาของระเบียบก็เพื่อให้โรงเรียนจัดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นก็ต้องมาออกแบบการเรียนรู้ว่าโรงเรียนเราจะออกแบบยังไง เมื่อมีหลักสูตรสถานศึกษาของเราแล้ว ใครจะตั้งกรรมการสอบยังไง แต่เราอ้างหลักสูตรตัวนี้แหละ ถ้าจะมีปัญหาก็คือ แต่ละโรงเรียนไม่ได้ออกแบบหลักสูตรการศึกษาเอง เพราะมันทำยาก ต้องเก็บข้อมูลพอสมควร ส่วนใหญ่จึงไม่ค่อยเขียนเอง แต่ใช้หลักสูตรกลางซึ่งนักวิชาการเขียนแล้วเอามาใช้กันทั้งประเทศ” 

เอาความสุขเด็กๆ เป็นที่ตั้ง: ผอ.สมรักษ์ พรมมาสุข 

อาจมีผู้อ่านบางคนเคยอ่านบทความ โรงเรียนบ้านโนนแสนคำฯ พลิกคุณภาพโรงเรียนด้วยการสอนคิดและฝึกฝีมือคุณครู ถ่ายทอดเรื่องราวของโรงเรียนบ้านโนนแสนคำ-หนองศาลาศรีสะอาด พวกเขาสนับสนุนให้เด็กๆ ได้เป็นตัวของตัวเอง เปิดโอกาสให้ได้เติบโตอย่างมีอิสระ ไม่มีการตัดสินว่าถูกหรือผิด จุดหนึ่งที่แสดงออก คือ ทุกวันศุกร์ พวกเขาจะให้เด็กๆ แต่งกายด้วยชุดไปรเวท

ผอ.สมรักษ์ พรมมาสุข ผู้อำนวยการโรงเรียน เล่าให้ฟังว่า ตัวเองได้ไอเดียจากตอนไปศึกษาดูงานตามโรงเรียนต่างๆ เพื่อนำมาพัฒนาโรงเรียนบ้านโนนแสนคำฯ มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่เด็กๆ แต่งกายด้วยชุดไปรเวท ผอ.สมรักษ์เกิดไอเดีย ‘ทำไมเราไม่ให้เด็กๆ แต่งกายด้วยชุดไปรเวทบ้างล่ะ?’

เรามองว่าการใส่ชุดนักเรียน เป็นเหมือนกรอบที่นักเรียนทุกคนต้องปฎิบัติตาม ต้องใส่ชุดนักเรียน เท่ากับ เป็นนักเรียน ไปโรงเรียนก็ต้องฟังครูสอน ต้องทำตามที่ครูบอก ฉะนั้น ถ้าเราให้นักเรียนแต่งชุดไปรเวท ก็เหมือนปลดล็อคให้นักเรียนออกจากกรอบ ให้เขาได้คิดเองว่าจะแต่งชุดแบบไหน ให้อิสระกับเขา ให้มีความคิดเป็นของเขาเอง 

“แล้วการแต่งชุดไปรเวทมันก็ไม่ได้กระทบกระเทือนต่อการเรียน เหมือนแต่งตัวอยู่บ้าน เด็กๆ จะได้เรียนรู้ตามธรรมชาติของเขา ทำกิจกรรมคล่องตัว ได้แสวงหาความรู้เอง มีอิสระในการทำงานมากขึ้น และทุกคนได้เป็นตัวของตัวเอง”

ผอ.สมรักษ์ พรมมาสุข 

พอได้ไอเดียปุ๊บ ผอ.สมรักษ์ตัดสินใจนำไปเสนอกับคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียน อันเป็นไปตามมาตราที่ ๓๘ ของพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.๒๕๔๖ กำหนดว่าโรงเรียนจะต้องจัดตั้งคณะกรรมการสถานศึกษาประจำโรงเรียน เพื่อทำหน้าที่กำกับและส่งเสริมการทำงานในโรงเรียน จากนั้นไปคุยกับครู ผู้ปกครอง และเด็กๆ จนได้เป็นมติทดลองใส่ชุดไปรเวทอังคารถึงศุกร์ ส่วนวันจันทร์แต่งกายด้วยชุดนักเรียนเหมือนเดิม 

หลังจากทดลองทำมาหนึ่งเทอมปีการศึกษา 2562 ปรากฎว่าได้รับเสียงตอบรับจากฝั่งเด็กๆ อย่างล้นหลาม พวกเขาชื่นชอบและสนุกที่จะได้แต่งตัวแบบไหนก็ได้ที่อยากแต่ง ส่วนผู้ปกครองยังมีมุมมองว่า เมื่อลูกไม่ได้ใส่ชุดนักเรียนแล้วดูไม่เหมือนนักเรียน ไม่เป็นระเบียบวินัย ผอ.สมรักษ์และครูในโรงเรียนจึงช่วยกันหาจุดตรงกลาง ปีนี้พวกเขาเปลี่ยนใหม่ให้ใส่ชุดไปรเวทเฉพาะวันศุกร์ ส่วนวันอื่นๆ อย่างจันทร์และพฤหัสบดีสวมชุดนักเรียน วันอังคารใส่ชุดกีฬา และวันพุธใส่ชุดลูกเสือ-เนตรนารี

“พอใกล้จะถึงวันศุกร์นะ เด็กๆ เขาจะตั้งตารอเลยว่าแต่งชุดอะไรดี มีบางห้องที่เขามาคุยกับเราบอกว่าห้องเขาอยากทำชุดยูนิฟอร์มใส่เองในวันศุกร์ มาขออนุญาตว่าทำได้ไหม เราก็ตอบว่า ‘แล้วแต่เด็กๆ เลย ไม่ติดอะไร’ แต่ก็มีถามเขาต่อนะว่าแล้วจะหาเงินทำชุดจากที่ไหน เด็กๆ เขาก็คุยกันต่อว่าจะค้าขายผัก ทำสักประมาณ 1 เดือนจะได้เงินก้อนนี้ เราก็เปิดโอกาสให้เด็กๆ ลองดู ท้าทายเขาไป

“อย่างชุดกีฬาเราก็ให้เด็กๆ ออกแบบเองว่าอยากใส่แบบไหน ครูเอาตัวอย่างมาให้ช่วยกันเลือก โรงเรียนและผู้ปกครองก็ช่วยกันลงเงินสนับสนุนเด็กๆ เราเอาความต้องการของนักเรียนเป็นที่ตั้ง

“ผู้ปกครองเขาก็เครียดนะ เงินสนับสนุนที่รัฐบาลให้มันน้อย ต้องซื้อหลายอย่างทั้งรองเท้านักเรียน ชุดนักเรียน แถมซื้อชุดเดียวก็ไม่พอ ต้องมี 2 ชุดต่อปี ถ้าผู้ปกครองคนไหนไม่ค่อยมีเงิน อัตคัดหน่อยก็มีชุดเดียว”

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ โรงเรียนหลายแห่งคงตั้งคำถามว่า มันทำได้เหรอ? ต้องขออนุญาตกระทรวงศึกษาธิการก่อนหรือไม่ ผอ.สมรักษ์อธิบายว่า เนื่องจากโรงเรียนบ้านโนนแสนคำฯ อยู่ในโครงการโรงเรียนร่วมพัฒนา หรือ Partnership School เป็นโครงการจากกระทรวงศึกษาธิการที่เปิดโอกาสให้โรงเรียนที่เข้าร่วมสามารถออกแบบหลักสูตรได้ด้วยตัวเอง โดยมีภาคเอกชนให้การสนับสนุน การแต่งกายด้วยชุดไปรเวทถือเป็นการทดลองอย่างหนึ่ง จึงไม่ได้แจ้งกระทรวงฯ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นผอ.สมรักษ์ก็ได้ให้คำแนะนำแนวทางให้กับโรงเรียนที่สนใจอยากทำนโยบายดังกล่าว

“อันดับแรกต้องคุยกับคณะกรรมการสถานศึกษาของโรงเรียนก่อน ให้คณะกรรมการฯ อนุมัติเป็นแผนงานโรงเรียน จากนั้นค่อยไปคุยกับผู้ปกครองและนักเรียนเพื่อสอบถามความคิดเห็น ต้องได้รับคำยืนยันจากนักเรียนจริงๆ นะ ว่าพวกเขาอยากแต่งชุดไปรเวท

“ตอนนี้โรงเรียนเราก็ยังอยู่ในช่วงทดลอง ปีหน้าคงจะต้องคุยเรื่องชุดอีก ต้องจัดประชุมกับผู้ปกครอง นักเรียน ไม่ใช่ให้ผอ.วางนโยบายคนเดียว เพราะทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็น ออกแบบร่วมกันได้”

สุดท้ายผอ.สมรักษ์ ส่งกำลังใจให้โรงเรียนอื่นๆ เพราะรู้ว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างจัดการยาก มีสิ่งที่ต้องคิดคำนึงหลายอย่าง ทั้งกฎกระทรวง ความเห็นผู้ปกครอง หรือความรู้สึกเด็กๆ 

ตอนนี้ผมคิดว่าโรงเรียนบ้านโนนแสนคำฯ เราหลุดออกจากระเบียบต่างๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ เพราะเราเอาความสุขนักเรียนเป็นที่ตั้ง เราพยายามส่งเสริมให้นักเรียนเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้น เพราะถ้านักเรียนรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง ระเบียบวินัยมันจะตามมา เขาจะเห็นว่ามีตัวเองมีประโยชน์ต่อสังคม ต่อโรงเรียน ต่อครู เขาก็จะไม่ทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง หรือแต่งกายด้วยชุดที่เหมาะสมมาโรงเรียน 

“ก็เป็นกำลังใจให้โรงเรียนทุกแห่ง อยากให้ทุกคนลองทำงานโดยเอาความสุขนักเรียน เอาคุณภาพนักเรียนเป็นที่ตั้ง ลองเดินออกมาจากกรอบของกระทรวง อย่าไปกลัว เพราะกระทรวงเขาไม่ทำอะไรเราหรอก ถ้าเราสามารถตอบได้ว่าสิ่งที่เราทำๆ เพื่อเด็ก และเขามีความสุขกับมัน” 

Tags:

ศรีสะเกษประชาธิปไตยการลงโทษโรงเรียนบ้านโนนแสนคำ-หนองศาลาศรีสะอาดโรงเรียนเมืองคง(คงคาวิทยา)

Author:

illustrator

ณิชากร ศรีเพชรดี

แอดมิชชันเข้าคณะการเขียนและสิ่งพิมพ์เพราะคิดว่าเขาจะสอนให้เขียนนิยาย แทนที่จะได้เขียนจากจินตนาการ อาจารย์และทุกอย่างที่นั่นเคี่ยวกรำให้ทำ-คิด-เขียน-รู้สึกกับประเด็นสังคม ยังคงสนุก(มาก)กับงานสื่อสาร ฝันสูงสุดคือยังเข้มแข็งเขียนงานได้อย่างมีคุณภาพและฐานะดี

illustrator

เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา

เพิ่งพ้นรั้วมหาวิทยาลัยจากคณะแห่งการเขียนและสื่อมวลชน แม้ทำงานแรกในฐานะกองบรรณาธิการ The Potential หากขอบเขตความสนใจขยายไปเรื่องเพศ สิ่งแวดล้อม และผู้ลี้ภัย แต่ที่เป็นแหล่งความรู้วัยเด็กจริงๆ คือซีรีส์แวมไพร์, ฟิฟตี้เชดส์ ออฟ จุดจุดจุด และ ยังมุฟอรจาก Queer as folk ไม่ได้

Photographer:

illustrator

ศรุตยา ทองขะโชค

ออกเดินทางเก็บบันทึกห้วงอารมณ์ความสุขทุกข์ผ่านภาพถ่าย ร้อยเรียงความคิดในใจก่อนลั่นชัตเตอร์ ภาพทุกภาพล้วนมีเรื่องราวและมีที่มา ตัวเราเองก็เช่นกัน ในอนาคตอยากทำหลายอย่าง หนึ่งในลิสต์ที่ต้องทำแน่ๆ คือออกไปเผชิญโลกที่กว้างกว่าเดิม เพื่อบันทึกเรื่องราวที่เติมเต็มจิตใจให้พองฟูได้มากกว่าเดิม

Related Posts

  • ปลดกุญแจมือแล้วกอดเขา จนกว่าคนสีเทานั้นจะอ่อนแอลง: มองมุมกว้างเมื่อเด็กก้าวพลาด กับ ‘ป้ามล’ ทิชา ณ นคร 

    เรื่อง กนกพิชญ์ อุ่นคง

  • Education trend
    Global Citizenship Education: เราจะสอนให้นักเรียนเป็นพลเมืองโลกได้อย่างไร

    เรื่อง อรรถพล ประภาสโนบล ภาพ อัคคเดช ดลสุข

  • Social Issues
    “ไม่รู้สึกว่าถูกเด็กตำหนิ แต่คิดว่าคนรุ่นเราไม่ได้สร้างระบบการศึกษาที่ดีพอให้เด็กรุ่นนี้” สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

    เรื่อง ณิชากร ศรีเพชรดีเพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

  • Creative learning
    โรงเรียนบ้านโนนแสนคำฯ พลิกคุณภาพโรงเรียนด้วยการสอนคิดและฝึกฝีมือคุณครู

    เรื่อง เพ็ญสินี ธิติธรรมรักษา ภาพ ศรุตยา ทองขะโชค

  • Learning Theory
    The 5th space: พื้นที่ที่ 5 ที่คนรุ่นใหม่สร้างการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำให้รู้ว่า “ฉันเป็นใคร มีศักยภาพอะไร”

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ มานิตา บุญยงค์

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel