- เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบ ปรับเงินสนับสนุนค่าอาหารกลางวันโรงเรียนเป็นมื้อละ 21 บาท โดยจะมีผลในปีงบประมาณ 2565 ปัจจุบันโรงเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ได้รับเงินสนับสนุนค่าอาหารกลางวัน มื้อละ 20 บาท และนม 7.36 บาท ต่อมื้อต่อคน จำนวน 200 วันต่อปีการศึกษา และโรงเรียนกีฬา ได้รับมื้อละ 40 บาท สูงสุดวันละ 4 มื้อ
- ปัญหาอาหารกลางวันของเด็กไทยไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณและการขาดแคลนอาหาร แต่หมายรวมถึงการขาดแคลนสารอาหารในอัตราที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย การขาดสุขอนามัยที่ดีในการประกอบอาหาร และการบริโภคอาหารที่ผิดหลักโภชนาการ
มื้อกลางวันวันนี้ คุณกินอะไร?
เรามีคำถามที่ท้าทายกว่านั้น ว่าถ้ามีเงิน 20 บาท สำหรับมื้อกลางวันวันนี้ คุณจะกินอะไรดี?
20 บาท คือจำนวนเงินสนับสนุนจาก… สำหรับค่าอาหารกลางวันหนึ่งมื้อต่อคน
20 คน คือจำนวนเด็กในโรงเรียนขนาดเล็ก
400 บาท คืองบที่โรงเรียนขนาดเล็กได้รับสำหรับอาหารเด็ก 20 คน ต่อวัน
6.4 ล้าน คือจำนวนนักเรียนระดับอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6*
510,000 ล้านบาท คืองบประมาณของกระทรวงศึกษา โดยประมาณต่อปี**
มื้อกลางวันวันนี้ อนาคตของชาติกินอะไรอยู่?
เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ครม.มีมติเห็นชอบ ปรับเงินสนับสนุนค่าอาหารกลางวันโรงเรียนเป็นมื้อละ 21 บาท จากเดิมที่สนับสนุนให้มื้อละ 20 บาท โดยจะมีผลในปีงบประมาณ 2565 โดยเป็นการปรับครั้งนี้เพิ่มงบประมาณขึ้นมา 823 ล้านบาทเศษ สำหรับคุณภาพมื้ออาหารของเด็กไทยวัยเรียน 4 ล้านคน
ปัจจุบัน โรงเรียนระดับชั้นอนุบาลถึงประถมศึกษาปีที่ 6 ได้รับเงินสนับสนุนค่าอาหารกลางวัน มื้อละ 20 บาท และนม 7.36 บาท ต่อมื้อต่อคน จำนวน 200 วันต่อปีการศึกษา และโรงเรียนกีฬา ได้รับมื้อละ 40 บาท สูงสุดวันละ 4 มื้อ
ก่อนจะไปสำรวจว่าอาหารมื้อละ 20 บาท ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง เราขอพาย้อนกลับไปดูว่ากว่าจะมาเป็นนโยบายอาหารกลางวันโรงเรียนมื้อละ 20 บาทอย่างทุกวันนี้ รุ่นพ่อรุ่นเเม่เราท่านกินอะไรกันที่โรงเรียน
โครงการกองทุนอาหารกลางวันเพื่อแก้ปัญหาเด็กไทยทุพโภชนาการ
โครงการกองทุนเพื่ออาหารกลางวันนั้นได้ริเริ่มขึ้นจากผลการสำรวจภาวะขาดแคลนสารอาหารในประชากรไทย และการขาดแคลนอาหารกลางวัน ในเด็กวัยเรียน ซึ่งเป็นช่วงเจริญเติบโต และสารอาหารมีผลต่อการพัฒนาทั้งร่างกายและสมอง ในปี พ.ศ. 2495 รัฐบาลกำหนดให้มีโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาขึ้น และได้แต่งตั้งคณะกรรมการอาหารและโภชนาการแห่งชาติ และคณะอนุกรรมการจัดเลี้ยงอาหารกลางวันในโรงเรียน แต่ในช่วง 20 ปีแรกนั้นโครงการไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากไม่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้ต้องขอเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างประเทศและภาคเอกชน
จนกระทั่ง ปี พ.ศ. 2520 รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาคุณภาพประชากรเพื่อพัฒนาประเทศอีกครั้ง เพราะพบว่านักเรียนจำนวนมากขาดแคลนอาหารกลางวันและเกิดภาวะทุพโภชนาการ รัฐบาลจึงได้บรรจุแผนอาหารและโภชนาการลงในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 4 และในปี 2530 กำหนดนโยบายให้โรงเรียนทุกโรงเรียนดำเนินการโครงการอาหารกลางวันครบทุกโรงเรียน เพื่อเฉลิมฉลองครบรอบ 60 พรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ภายใต้คำขวัญ “ฉลอง 60 พรรษามหาราชา เด็กประถมไทยไม่หิวโหย”
ปี 2534 รัฐบาลจัดตั้งกองทุนขึ้นในกระทรวงการคลังเพื่อสนับสนุนค่าอาหารกลางวัน ในอัตราวันละ 5 ต่อคน 200 วันต่อปีการศึกษา และเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 6 บาทในปี 2542 ต่อมาปี 2544 กระทรวงศึกษาธิการได้ถ่ายโอนงบประมาณค่าอาหารกลางวันให้กระทรวงมหาดไทย เพื่อเข้าสู่การกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น นำไปดูแลโรงเรียนภายใต้การดูแลขององค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น ปี 2551 รัฐบาลได้ปรับเพิ่มงบเป็น 10 บาท และ 13 บาทในปี 2552 และ ในปี 2556 คณะรัฐมนตรี ภายใต้การนำของอดีตนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีมติปรับขึ้น เป็น 20 บาท ต่อคนต่อวัน ซึ่งนับว่าเป็นการปรับขึ้นที่สูงที่สุดตั้งแต่มีการเกิดขึ้นของโครงการอาหารกลางวัน อย่างไรก็ดีในอัตรานี้มีผลสำรวจเด็กไทยมีภาวะอ้วน ร้อยละ 9.5 (ปี 2557 โดยสำนักโภชนาการ กรมอนามัย)
ปัญหาอาหารกลางวันของเด็กไทยจึงไม่ใช่แค่เรื่องงบประมาณและการขาดแคลนอาหาร แต่หมายรวมถึงการขาดแคลนสารอาหารในอัตราที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของร่างกาย การขาดสุขอนามัยที่ดีในการประกอบอาหาร และการบริโภคอาหารที่ผิดหลักโภชนาการ
มีปัญหาอะไรบ้างในจานอาหารกลางวันของเด็กไทย
1. ความไม่เสมอภาคในการเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและพอเพียงของเด็กวัยเรียน ทั้งในเชิงปริมาณเพื่อให้ท้องอิ่ม และเชิงสารอาหารให้ครบห้าหมู่เพื่อการเจริญเติบโต รวมทั้งแหล่งวัตถุดิบมีการผลิตปนเปื้อนสารเคมี
2. ความเหลื่อมล้ำของเด็กด้อยโอกาส และการจัดสรรงบประมาณสำหรับโรงเรียนขยายโอกาส ตรงตามชื่อโรงเรียนขยายโอกาสเกิดขึ้นเพื่อขยายโอกาสให้เด็กในถิ่นทุรกันดารได้เข้าถึงการศึกษาในระดับมัธยม โรงเรียนจึงมักเป็นโรงเรียนขนาดเล็กที่เปิดสอนให้ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 หากแต่งบประมาณนั้นไม่ได้ครอบคลุมโอกาสที่ขยายให้ งบประมาณสนับสนุนอาหารกลางวันครอบคลุมถึงเพียงชั้นประถมหก ทำให้บางโรงเรียนต้องยอมลดคุณภาพเพื่อเฉลี่ยงบประมาณมาให้นักเรียนทุกคนได้อิ่มท้อง
3. ความใส่ใจและความรู้ด้านโภชนาการของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง คุณภาพอาหารไม่ได้อยู่แค่ที่ราคา แต่เกิดจากทั้งสายพานการผลิต ตั้งแต่แปลงเกษตรถึงโรงครัว เมื่อเกษตรกรต้องใช้สารเคมีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพียงพอ ผู้บริหารขาดความเอาใจใส่ในการเลือกแหล่งที่มาของวัตถุดิบ พ่อครัวแม่ครัวขาดทักษะทางโภชนาการ โรงเรียนไม่มีนักโภชนากร อาหารหนักหวาน มัน เค็ม แม้เพิ่มงบประมาณต่อหัวก็ยังไม่สามารถอุดช่องโหว่เหล่านี้ได้
4. กลไก ระเบียบ การทำงาน ที่รัดรึง ไม่เอื้อต่อท้องถิ่นให้นำเงินมาบริหารจัดการ ปัญหานี้สะท้อนระบบที่คนสั่งไม่ใช่คนหน้างาน และคนหน้างานไม่สามารถบริหารงบประมาณได้เอง ทำให้ในบางโรงเรียน แม้จะทราบปัญหาและสถานการณ์ของโรงเรียนในท้องถิ่นตนเอง แต่ไม่สามารถของบประมาณมาแก้ปัญหาได้ เช่น กลไกการจัดจ้างนักโภชนาการที่ยังไม่ชัดเจน การเลือกแหล่งที่มาของอาหาร การเลือกคนกลางในการมาประกอบอาหาร ไปจนถึงการอนุญาตให้ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการอาหารให้ลูกหลานของตนเอง
5. ขาดการทำงานร่วมมือกันของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในมื้ออาหารของเด็ก
หลายคนอาจคิดว่าอาหารกลางวันเป็นเรื่องของโรงเรียน และผลักภาระทั้งหมดไปให้โรงเรียน หากแต่นั่นเป็นความจริงแค่เพียงส่วนเดียว อาหารกลางวันนั้นเกิดขึ้นที่โรงเรียนจริง แต่ต้องไม่ลืมว่า อาหารกลางวันนั้นเป็นเพียงแค่หนึ่งมื้อต่อวัน มื้อเช้า มื้อเย็น เสาร์อาทิตย์ วันปิดเทอม เด็กๆ อยู่ในความดูแลของพ่อแม่
พ่อแม่คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการจัดหาอาหารกลางวันที่ถูกหลักโภชนาการให้แก่ลูก นอกจากโรงเรียนแล้ว ชุมชน ก็ควรเข้ามามีส่วนร่วม เมื่อเด็กก้าวออกจากรั้วโรงเรียน ขนมแบบใดกันที่รอต้อนรับพวกเขา เป็นอีกหนึ่งคำถามที่ต้องให้ความสำคัญ และสุดท้ายลักษณะนิสัยและพฤติกรรมการกินของเด็กเอง ที่เป็นตัวกำหนดคุณภาพอาหารที่เข้าสู่ร่างกายของพวกเขา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถูกฝึกฝนและปลูกฝังตั้งเเต่เล็กได้จากที่บ้าน
สุดท้ายแล้ว ปัญหาอาหารกลางวันโรงเรียน ไม่สามารถแก้ได้ด้วยฝ่ายใดฝ่ายเดียว แต่ต้องการการร่วมมือกันของทุกฝ่าย ทั้งงบประมาณ และวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหา อาหารกลางวันของเด็กไทย อาจไม่ใช่เรื่องไกลตัว แต่เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วม ช่วยคิด ช่วยส่งเสียงถึงปัญหา หรือส่งเสียงสนับสนุนเพื่อหาทางออก อนาคตของชาติจะสดใสได้อย่างไร หากวันนี้ท้องยังไม่อิ่ม
The Potential พาไปดูแนวทางการแก้ปัญหา จากหลายหน่วยงาน – ดร.สง่า ดามาพงศ์ นักวิชาการกรมอนามัย ผู้สนุบสนุนโครงการนักโภชนาการตำบล พ่อแม่ควรเตรียมอาหารให้ลูกอย่างไร เมื่ออาหารและโภชนาการเด็กวัยเรียน ไม่ได้อยู่แค่ที่โรงเรียน – The Potential – โครงการ Thai School Lunch – โรงเรียนแพรกษา : ความใส่ใจของผู้อำนวยการโรงเรียนและการเข้ามามีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น – บ้านโนนแสนคำ : การปลูกผักในโรงเรียน เพื่อการเรียนรุ้ของสมองและท้องอิ่ม |