- ตลอดระยะเวลาในการปิดโรงเรียนช่วงโรคระบาด มีหลายเรื่องที่ควรคุยกัน ตั้งแต่ความพร้อมในการเรียนออนไลน์ ความไม่พร้อมทางเทคโนโลยีที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษายิ่งถ่างกว้าง ครูทำงานหนักขึ้นเพื่อเตรียมการเรียนการสอนแบบทางไกล แต่มีประเด็นหนึ่งที่คนพูดถึงแต่ถูกข่าวอื่นกลบไป นั่นคือ ความเครียดของผู้เรียนและเพื่อนครูด้วยกัน
- เปิดเทอมใหม่ อย่าเพิ่งเร่งเรียนวิชาการ คุยกันเรื่องความเครียด เยียวยาศิษย์และเพื่อนครูด้วยกันก่อน คือประเด็นที่ The Potential และครูอีก 3 ท่านอยากคุยกันในวันนี้
- ความเครียดมีผลต่อการเรียนรู้อย่างไร และ มีเครื่องมืออะไรช่วยครูรับมือกับความเครียดของเด็กๆ ก่อนเปิดเทอมบ้าง อ่านกันเต็มอิ่ม ที่นี่
การเปิดเทอมปีการศึกษา 2563 กลายเป็นวาระใหญ่ที่มีหลายประเด็นต้องทำงาน ตั้งแต่การจัดแผนการเรียนรู้อย่างไร ควรเปิดโรงเรียนเต็มที่เมื่อไร จะมีเรียนออนไลน์ไหม ขนาดไหน เครื่องมือการเรียนออนไลน์พร้อมหรือไม่ และอื่นๆ
ในความปกติใหม่ (new normal) มีความไม่ปกติที่ต้องคลี่คลายก่อน นั่นคือ การเปิดเทอมนี้ นักเรียนมาพร้อมความเครียด(ใหม่)อันเป็นผลกระทบจากสถานการณ์โรคระบาด อ้างอิงจากวงคุย Equity talk: การศึกษาไทยไปต่อได้ ถ้าเราร่วมมือกัน ในวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
ใจความตอนหนึ่งยืนยันว่า เด็กๆ กำลังเจอกับความเครียดที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน ทั้งปัญหาทางการเงินของครอบครัว ความเครียดที่ต้องอยู่แต่ในบ้าน ความกังวลเรื่องการศึกษาต่อ กังวลว่าคนใกล้ตัวจะติดไวรัส และ ความรุนแรงในครอบครัว
อันที่จริงไม่ใช่แค่นักเรียน ครูและครอบครัวครูก็เครียดไม่แพ้กัน การต้องอยู่กับความไม่แน่นอน ประชุมเพื่อคาดการณ์และเตรียมแผนการสอน และวาระส่วนตัวของแต่ละคน พูดได้ว่าสั่นสะเทือนตามกันไปหมด
ประเด็น ความเครียดของนักเรียนที่อาจพกติดตัวไปโรงเรียนและในห้องเรียน online ด้วย คุณครูมีส่วนช่วยคลี่คลายได้อย่างไร จัดการอย่างไรดี คือประเด็นที่ The Potential อยากพูดถึง และเพื่อให้เห็นเสียงของคนทำงานจริง เราชวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับห้องเรียนมาร่วมพูดคุย คือ
- คุณนีท เบญจรัตน์ จงจำรัสพันธ์ นักจิตวิทยาโรงเรียน พูดคุยว่าความเครียดในนักเรียนหน้าตาเป็นอย่างไร ทำไมเราต้องสนใจ และ เครื่องมือให้ครูนำไปใช้คลี่คลายความเครียดของนักเรียนได้ง่ายๆ ไม่ว่าครูคนนั้นจะติดตัวแดงในสายตานักเรียน (เพราะอาจเข้มงวด แต่ซ่อนความหวังดีเอาไว้) หรืออันที่จริงก็สำหรับครูทุกคนที่อยากช่วยนักเรียน ‘จำนวนมาก’ คลี่คลายความเครียด เพราะใครก็รู้ว่า ครูหนึ่งคนต้องดูแลนักเรียนหลายชีวิตแค่ไหน
- ผศ.ดร.เรวณี ชัยเชาวรัตน์ (ครูปอย) รองผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และอาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ (สาขาประถมศึกษา) ในบทบาททั้งครูและผู้บริหารที่อยากสื่อสารว่าเปิดเทอมใหม่ครูกังวล ต้องรับมือกับอะไรบ้าง และบอกว่า Happy Learning สำคัญอย่างไร
- ปาริชาต ชัยวงษ์ (ครูแนน) โรงเรียนเบญจมราชานุสรณ์ (วิชาพระพุทธศาสนา ม.5 – ม.6) ตัวแทนเสียงของครูที่อยากบอกว่า ในสภาวะนี้ที่ทุกคนไม่เคยเจอกับมันมาก่อน ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้ที่จะรับมือ เครื่องมืออย่างหนึ่งที่จะช่วยครูและนักเรียนได้ คือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ ลดการตรวจสอบ ความคาดหวังของเบื้องบน
คุณนีท นักจิตวิทยาโรงเรียน
- เครียดโควิดไม่ใช่แค่เครียดธรรมดา แต่คุกคาม พรากชีวิตหลายส่วน และพรากการแก้ปัญหาไปด้วย
New normal แรกที่เจอก่อนเลยคือ ‘ความเครียด’ แต่ความเครียดครั้งนี้มีความแตกต่างจากความเครียดอื่นเล็กน้อย และหากเจาะจงไปที่ความเครียดของเด็กและวัยรุ่น คุณนีทเสนอว่าเราอาจมองความเครียดว่าเกิดจาก 3 ปัจจัยใหญ่ คือ
- ความเครียดจากโควิดเอง : เป็นความกลัวจากโรคระบาดที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กลัวว่าเราจะติดโรคมั้ย เราเป็นพาหะรึเปล่า เราต้องปฏิบัติตัวอย่างไร โควิดจะทำให้การเรียนจากนี้เปลี่ยนไปรึเปล่า ซึ่งต้องไฮไลต์ไว้ด้วยว่า มันเป็น ‘ความกำกวม’ ที่ไม่มีใครรู้คำตอบ ไม่รู้จุดจบ จึงแก้ไขจัดการได้ยาก
- ความเครียดจากการถูกพรากชีวิต และ พรากวิธีแก้ปัญหา : มันคือเรื่อง ‘อะไรที่เคยทำได้ ตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว’ เช่น แต่ก่อนอาจจะออกไปเล่นนอกบ้าน มีพื้นที่ส่วนตัวในบ้าน ไม่ต้องอยู่กับพ่อแม่หรือคนในครอบครัวตลอด 24 ชั่วโมง แต่เดี๋ยวนี้จะออกไปไหนไม่ได้ พูดบ่นมากก็ไม่ได้ และเหมือนทุกคนรอบตัวก็ส่งพลังเครียดใส่กันในบางเวลาอีก และความเครียดนี้ก็ ‘แก้’ ไม่ได้ด้วย เมื่อแก้ไม่ได้ก็ทำให้ความเครียดพอกพูน
หรือ เด็กบางคนอยู่ในครอบครัวที่ยากลำบาก อาจมีความเครียดเรื่องค่าใช้จ่ายที่บ้านเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว แต่ในสถานการณ์ปกติ เป็นความเครียดที่เขาแก้ได้ด้วยการออกไปทำพาร์ทไทม์ช่วงปิดเทอมเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ แต่ครั้งนี้ทำไม่ได้แล้ว ทำให้ความเครียดของเด็กไม่ถูกแก้ จึงต้องย้ำอีกครั้ง…เมื่อแก้ไม่ได้ก็ทำให้ความเครียดพอกพูน
- ความเครียดจากบริบท หรือ เรื่องส่วนตัวของเด็กเอง : คุณนีทบอกว่าแค่สองประเด็นข้างต้นก็ทำให้เครียดอยู่แล้ว ยังไม่นับรวมว่า เด็กแต่ละคนมีปัญหาของตัวเอง เช่น ที่บ้านอาจมีคนป่วยอยู่ที่บ้าน เมื่อเจอโควิดทำให้ไปโรงพยาบาลไม่ได้ ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นขณะที่รายได้ผู้ปกครองลดลง หรือ เด็กอาจต้องอยู่ที่บ้านตลอดเวลาแต่บ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย ปัญหายิบย่อยซึ่งแต่ละคนมีไม่เท่ากันเหล่านี้ ยิ่งสะสมในตัวเด็กได้
ความเครียดคือมวลรวมของสถานการณ์หลายอย่างรวมกัน เด็กบางคนเจอแค่ 2 ปัจจัยแรกก็ทำให้เครียดพอดูแล้ว หากรวมปัจจัยที่ 3 ซึ่งมีรายละเอียดยิบย่อยไม่เท่ากันในแต่ละคน เป็นไปได้ว่าความเครียดสะสมในตัวอาจพันกันเป็นเชือกที่ยิ่งมัดก็ยิ่งตึง แถมยังมีหลายปมในเชือกเส้นเดียวกันอีก
“ความเครียดไม่เหมือนเงินที่เราหยอดในกระปุกออมสิน ที่หยอดไปเท่าไรมันก็มีเท่านั้นแต่ความเครียดคือเงินที่เราไปฝากธนาคารและมีดอกเบี้ย ที่ยิ่งฝากและทิ้งเวลานาน ดอกเบี้ยก็ยิ่งเพิ่มพูน
“ทำไมเราต้องมาไฮไลต์ความเครียดของเด็ก? อันหนึ่งที่คิดว่ามีผลคือ เด็กมีความ ‘คิดวน’ ‘คิดไปไกล’ คือตีฟุ้งความเครียดนั้นให้ใหญ่กว่ากว่าสถานการณ์จริง ซึ่งอันนี้ไม่ใช่เรื่องผิดนะคะ มันเป็นเรื่องปกติของความคิด อย่างที่บอกว่าเขาถูกพรากชีวิตและพรากวิธีแก้ปัญหาไปด้วย และเวลาเราพูดเรื่องความเครียดมันมีหลายปม เช่น สมมติวันนี้พ่อแม่บ่นเราเรื่องไม่อ่านหนังสือ เพราะพ่อแม่ก็เครียดเรื่องค่าใช้จ่ายที่บ้านเป็นทุนเดิม ความคิดของเด็กอาจคิดวนได้ว่า ที่พ่อแม่เครียดเป็นเพราะเขารึเปล่า เขาเป็นภาระรึเปล่า เป็นเพราะเรื่องเงินรึเปล่า แล้วพรุ่งนี้มันจะเป็นแบบนี้อีกมั้ย แล้วอาทิตย์หน้าล่ะ เดือนต่อไปล่ะ ชั้นจะมีชีวิตอยู่รอดมั้ย คือความเครียดมันวิ่งไปไกลทั้งที่เรื่องยังไม่เกิด ยิ่งคิดก็ยิ่งเครียด แต่ผู้ใหญ่อาจจัดการกับความคิดวนนี้ได้ หรือรู้ว่าตัวเองจะจัดการกับปัญหานี้ยังไง”
“ความเครียดไม่ใช่ ‘เรื่อง’ แต่คือ ‘การรับรู้’ ว่าเรารับรู้เรื่องนี้ด้วยอารมณ์แบบไหน เช่น การไม่ได้ไปเที่ยวของเด็กคนนึง เขาอาจประเมินว่านี่คือความเครียดระดับสิบ ระดับร้อย แต่ผู้ใหญ่อีกคนอาจประเมินดีกรีความเครียดเรื่องนี้ไว้ที่ระดับสาม ซึ่งแบบนี้มันบอกไม่ได้ว่าใครเครียดมากหรือน้อยกว่ากัน นีทไม่ได้บอกว่าเราเปรียบเทียบความเครียดกันไม่ได้ แต่ถ้าเราวัดความเครียดด้วย ‘เรื่อง’ มันพื้นฐานไปหน่อยและไม่ได้เอาเจ้าของความเครียดเป็นที่ตั้ง
“และนีทไม่ได้บอกว่า เราต้องโอ๋เด็กไปทุกเรื่องนะ เพราะอย่างที่ย้ำตลอดว่าเด็กมีภาวะความตีฟุ้งความเครียดเกินความจริงเช่นกัน เราดุได้ ชี้แจงกับเขาได้ แต่เราบอกโดยไม่ต้องด่าได้ และอยากให้เข้าใจว่า วัยรุ่นโตกว่าเด็กเล็กก็จริงอยู่ แต่เขาก็ยังเป็นแค่เด็กคนนึงที่กำลังเจอชีวิตใหม่ๆ ต้องไม่ลืมว่าความเครียดที่เข้ามาขณะนี้ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับเขา เขากำลังเรียนรู้ ปัญหาบางอย่างแก้ได้ บางอย่างแก้ด้วยตัวเองไม่ได้ เราอาจต้องลองใช้ตาตัวเองมองอย่างไม่มีอคติ และใช้ความรู้สึกที่เราเคยเป็นวัยรุ่นมาจับความเครียดของวัยรุ่นเขาตอนนี้ เราจะเข้าใจเขามากขึ้น”
ส่วนความเครียดในเด็กมีผลอย่างไร คุณนีทบอกว่า ความเครียดหนึ่งที่หนักๆ มันอาจจะพัฒนาไปสู่ภาวะซึมเศร้า หรือ การคิดสั้นได้ ซึ่งความโชคร้ายคือ มันบอกยากมากเลยว่าอะไรคือตัวที่นำไปสู่สิ่งนี้
ปกติเวลาที่เราเกิดความเครียด สมองเราจะเกิดปรับตัวเพื่อต่อสู้และคลี่คลายกับความเครียดนั้นได้เอง แต่กับสถานการณ์ความรุนแรงทางใจและกายในบ้านที่ไม่เคยหยุดหย่อน ทำให้เกิดสมองมีภาวะตึงเครียดอย่างไม่เคยได้พัก ความเครียดที่ว่าจะส่งสัญญาณไปเปลี่ยนแปลงการทำงานสมอง เช่น การปรับลดเนื้อเยื่อสมองสีเทา เกิดขึ้นในช่วงการเปลี่ยนผ่านวัยเด็กสู่วัยรุ่นเพื่อปรับลดเซลล์ประสาทโดยธรรมชาติอันจะทำให้วงจรประสาททำงานได้ว่องไวขึ้น รับส่งข้อมูลรวดเร็วขึ้น ดึงข้อมูลที่เก็บอยู่ในความจำมาใช้เพื่อคิดตัดสินใจก็จะทำได้เร็วขึ้น แต่ความเครียดที่เกิดขึ้นในวัยเด็กทำให้ไมโครเกลีย (เป็นเซลล์ค้ำจุนชนิดหนึ่งซึ่งพบได้ในระบบประสาท) กัดกินเซลล์ประสาทและทำให้เกิดสภาวะอักเสบของเซลล์ประสาท กระตุ้นให้สมองกำหนดวิธีทำงานใหม่และยิ่งสร้างสภาพซึมเศร้าและวิตกกังวลให้เกิดขึ้น เรื่องนี้เป็นที่ฮือฮามากเพราะแต่เดิมเราเชื่อว่าการอักเสบของสมองจะเกิดขึ้นเมื่อสมองได้รับความกระทบกระเทือน เช่น อุบัติเหตุ แต่การอักเสบในระดับต่ำจากความเครียดเรื้อรังก็เป็นเหตุให้เกิดการอักเสบของสมองได้เช่นกัน เมื่อเซลล์ประสาทถูกทำลายมากเกินไป มันเชื่อมต่อกับกลไกสมองเรื่องความทรงจำ – การทำงานของฮิปโปแคมปัสเรื่องความทรงจำ และ คอร์ปัส-แคลลอสซัม และสมองส่วนหน้า – ทั้งหมดนี้มีผลต่อความสามารถในการคิด ตัดสินใจ สมาธิ และการควบคุมอารมณ์ หรือ แกนตอบสนองความเครียด HPA (ไฮโปธาลามัส-ต่อมใต้สมอง-ต่อมหมวกไต) ถูกตั้งโปรแกรมให้เร่งผลิตฮอร์โมนความเครียดในชื่อคอลติซอลและไซโตไคน์ ภาวะนี้หมายถึงสมองถูกตั้งโปรแกรมให้เราตอบสนองต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งด้วยความเครียดได้ง่ายและคลี่คลายยาก นี่เป็นคำตอบว่าทำไมบางคนจึงหลุดจากภาวะเครียดหรือเอาตัวเองออกจากความคิดด้านลบได้ยากโดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและจิตเภทบางประเภท นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยสมัยใหม่บอกว่ามันส่งผลต่อระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายด้วย อ่านเพิ่มเติม: ADVERSE CHILDHOOD EXPERIENCES: บาดแผลรุนแรงทางใจในวัยเด็กมีผลต่อโรคเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่ ไม่หนี ไม่สู้ สมองถูกแช่แข็ง จากความเครียดท่วมท้นในสมองเด็ก |
เปิดเทอมนี้ เยียวยาเด็ก และเพื่อนครูด้วยกันอย่างไรดี?
“อยากชวนมองอย่างนี้ค่ะว่า เวลาเราเปิดเทอมใหม่ เข้าโรงเรียนใหม่ เข้ามหา’ ลัยใหม่ เราจะมีการปฐมนิเทศ มีการรับน้อง มีรุ่นพี่หรือครูมาบอกว่าในเทอมนี้เราจะเจออะไร จะเรียนอะไรบ้าง ครูเป็นใคร เพื่อนใหม่คนนี้เป็นใคร ถ้าจำกันได้ อาทิตย์แรกของการเปิดเทอมนี่เราไม่เคยได้เรียนเลยนะ แต่เป็นช่วงเวลาปรับตัวปรับใจ ทำความรู้จักกับเพื่อน แล้วนี่คือ New normal เลยนะ เราจะไม่ให้เวลาปรับตัวกันหน่อยหรือ? เลยคิดว่าก่อนเปิดเทอมจริง เราน่าจะมีการพูดคุยเล่นๆ เพื่อปรับตัวกันก่อน” คือข้อเสนอของคุณนีท ซึ่งเป็นความเห็นที่ตรงกันกับ ครูปอย และ ครูแนน ว่าโรงเรียนทั้งคู่ตั้งใจใช้เวลา 1 – 2 อาทิตย์ล่วงหน้า ทดลองเรียนรู้ online โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับตัว ทำความคุ้นเคย และให้ผู้ปกครองและเด็กไม่กังวลใน New normal นี้
มากกว่านั้น คุณนีทมีข้อเสนอที่น่าสนใจ และ ปรับไปใช้ง่ายๆ นั่นคือ การทำ mini talk กับนักเรียน และ ใช้เครื่องมือ ข-อ-อ-ก รับมือกับความเครียดนักเรียน (และความเครียดของครูด้วยกันเองด้วย)
Mini talk
เพราะเข้าใจว่าครูหนึ่งท่านดูแลเด็กหลายคน และเราต่างรู้กันว่าเด็ก โดยเฉพาะวัยรุ่นไม่ได้อยากเข้าหาครูขนาดนั้น โดยเฉพาะครูที่ดูดุ เฮี้ยว เจ้าระเบียบ เด็กอาจตั้งแง่และไม่เปิดใจได้ แต่ในกรณีที่ครูอยากช่วยนักเรียนคลี่คลาย การทำ mini talk คนละ 3 นาที โดยทำติดต่อกันอย่างน้อย 4 อาทิตย์ จะช่วยคลี่คลายและอาจสังเกตเห็นสิ่งที่อยู่ในใจผ่านลักษณะท่าทางของเด็ก น้ำเสียงของเด็ก วิธีการพูดคุยของเด็ก ระหว่างทำ mini talk ได้
“อาทิตย์แรกอาจเป็นคำถามแค่ ปิดเทอมที่ผ่านมาเป็นยังไง กินข้าวครบมื้อมั้ย เบื่อมั้ย ได้ออกจากบ้านบ้างมั้ย? แค่นี้ก็ได้นะคะ คำถามว่า ‘กินข้าวครบมื้อมั้ย’ มันไม่ได้ยิงตรงๆ ว่า เศรษฐกิจที่บ้านเป็นยังไง แต่ก็ได้เห็นว่า เขาสุขสบายดีรึเปล่า ค่อยๆ ถามตะล่อมๆ ไปแบบนี้ อาทิตย์แรกเด็กอาจไม่เล่าให้ฟังทั้งหมดหรอก เพราะมันคือครั้งแรกเนอะ แต่ก็ค่อยๆ ถามไปเรื่อยๆ นีทคิดว่าพอสักอาทิตย์ที่สามที่สี่ เราอาจชวนเด็กคุยได้ลึกขึ้น”
ที่สำคัญที่คุณนีทย้ำคือ อย่าพยายามรีบตัดบทไปตัดสินเขา เป็นไปได้ว่าเรื่องที่เด็กเล่านั้นครูอาจไม่เห็นด้วย แต่ให้ตั้งหลักว่า เรากำลังอยากรับฟังเพื่อคลี่คลายบางอย่าง และถ้าอยากส่งมอบความคิดของตัวเองจริงๆ ให้ใช้วิธีตั้งคำถาม
“เช่น สมมติเด็กบอกว่า อยู่ที่บ้านเบื่อมาก เพราะอยากช้อปปิ้ง ในใจเราอาจรู้สึกไม่เห็นด้วยก็ได้นะ แต่ถ้าเราตั้งหลักว่าอยากแก้ปัญหา ก็ต้องมุ่งไปที่ทางนี้ เพราะเด็กพูดเรื่องนี้มา คุยเรื่องอื่นไม่ได้ เราอาจจะถามเด็กว่า ‘เครียดเพราะไม่ได้ช้อปปิ้งใช่มั้ย แล้วอะไรที่จะทำให้หายเครียดได้ ช้อปปิ้งออนไลน์ได้มั้ย?’ ซึ่งเด็กอาจจะตอบ“yes” ก็ได้ แต่ถ้าเรามีทัศนคติส่วนตัวอยากให้เด็กประหยัด เราอาจชวนคุยก็ได้ว่า ‘แล้วถ้าซื้อออนไลน์ ซื้อมาแล้วใส่ไม่ได้ทำไงดี ไปลองที่ร้านดีกว่ามั้ย?’ คือต้องมีศิลปะนิดนึง คุยไปคุยมา เด็กอาจตัดสินใจรอเปิดเมือง แล้วออกไปซื้อที่ร้านโดยตรงก็ได้ ดังนั้นจุดประสงค์หลักของเราต้องชัด คืออยากคลี่คลายความเครียดให้เด็ก และช่วยเด็กแก้ปัญหา ซึ่งจากเรื่องที่เล่ามา การไม่ได้ช้อปปิ้งนี้ได้ถูกแก้ไขแล้ว คือเขาได้เห็นวิธีการว่า ได้ทั้งช้อปปิ้งออนไลน์ หรือ อดทนไปซื้อตอนร้านเปิดก็ได้”
เครื่องมือ ‘ข-อ-อ-ก’
สำหรับคุณครูที่อยากช่วยคลี่คลาย แต่คิดว่าการทำ mini talk เป็นไปได้ยาก หรือส่วนตัวไม่ถนัดพูดคุยให้คำปรึกษา เครื่องมือนี้เป็นชาร์จในการจัดการอารมณ์ ให้เด็กๆ ทำด้วยตัวเองได้ หรือ ครูอาจใช้ ‘ข-อ-อ-ก’ ใน mini talk อาทิตย์ที่ 3 หรือ 4 ก็ได้
วิธีการคือ
- ข : เข้าใจความเครียดของตัวเอง โดยให้ลิสต์ว่า ‘วันนี้’ เรารู้สึกเครียดเรื่องอะไร โดยให้ลิสต์มาทุกความเครียดที่นึกขึ้นได้ ไม่จำกัดจำนวน
- อ : อะไรคือความเครียดที่แท้จริง? ข้อนี้คือการตัดช้อยส์ออก จากข้อแรก ให้มาดูว่าความเครียดข้อไหนคือเรื่องที่เราเครียดจริงๆ อันไหนไม่เครียดก็ตัดออก หรือ ให้คะแนนความเครียด (rating) นั้นไว้ก็ได้ เช่น เราเครียดเรื่องนี้มากระดับ 5 เลยนะ
โดย ทุกๆ ความเครียดที่เหลืออยู่ในข้อ ‘อ : อะไรคือความเครียดที่แท้จริง?’ ให้อธิบายด้วยว่า ทำไมถึงเครียดข้อนี้ คุณนีทย้ำว่า ให้ ‘ร่ายยาว’ อธิบายความเครียดของเราไปเลย เช่น เครียดเรื่องการเรียนออนไลน์ระดับ 5 เลย เพราะที่บ้านอินเทอร์เน็ตไม่ดี แถมมีคอมพิวเตอร์เครื่องเดียวต้องแบ่งใช้กับพี่ชาย ไม่รู้ว่าจะสลับเรียนกับพี่ชายยังไง
- อ : โอเวอร์มั้ย? อย่างที่เรารับรู้กันดี บางทีเราชอบตีฟุ้งความเครียดเกินสิ่งที่มันเป็นจริงๆ คุณนีทบอกว่าที่ใช้คำว่า ‘โอเวอร์’ ก็เพราะอยากให้เด็กกลับมามองความเครียดตามความจริงมากขึ้น โดยในข้อนี้ ให้กลับไปดูลิสต์ความเครียดในข้อ ‘อ : อะไรคือความเครียดที่แท้จริง?’ แล้วตั้งคำถามว่า เราไฮไลต์มันจนโอเวอร์ไปมั้ย? เราอาจลองถามตัวเองจริงๆ ว่า “เออ เรื่องมันคอขาดบาดตายเลยหรอ? มันจะไม่มีวิธีการแก้เลยหรอ? หรือจริงๆ มันแก้ได้? มันยาก แย่ เยอะขนาดนั้น จริงๆ หรอ?
หลักๆ ของข้อนี้คือ การดึงสติ เพื่อไปสู่เครื่องมือตัวสุดท้าย
- ก : แก้ไข เมื่อประเมินเสร็จ ก็มาดูว่าจะแก้ยังไง ถ้าแก้ไม่ได้ก็อาจมาคุยกับครูหรือขอความช่วยเหลือจากคนอื่น นีทว่าถ้าทำชอยส์ได้มันดีนะ คือหาวิธีการแก้ปัญหาหลายๆ วิธี แล้วค่อยมาเลือกว่า วิธีใดดีที่สุด
หากทำ mini talk ครูอาจช่วยตั้งคำถามให้เด็ก ช่วยดึงสติ และร่วมมือกับเด็กเพื่อคิดวิธีการแก้ปัญหา นีทว่าทุกปัญหามันมีทางออก แต่บางทีเรายังหาไม่เจอ
“เครื่องมือ ‘ข-อ-อ-ก’ ครูก็ใช้ได้เหมือนกันนะ มันเหมือนยาสามัญประจำบ้าน ประเมินตัวเองทีละข้อแล้วหาทางแก้ ชั้นเครียดอะไรบ้าง โอเวอร์ไปมั้ย หาทางแก้ได้รึเปล่า”
เยียวยาความเครียดเด็ก ในสายตา ผศ.ดร.เรวณี ชัยเชาวรัตน์
ผศ.ดร.เรวณี หรือ ครูปอยเล่าก่อนว่า โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีได้ทดลองเปิดหลักสูตรการเรียนรู้ออนไลน์ฉบับทดลองเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมให้นักเรียนไปแล้ว เพื่อลดความเครียดและกังวลของผู้ปกครองให้เห็นหน้าตาก่อนว่าการเรียนรู้ทางออนไลน์เป็นอย่างไร อุปกรณ์พร้อมไหม ขาดเหลืออะไรบ้าง และไม่มีการเก็บคะแนนเพื่อนำไปประเมินใดๆ และแจ้งกับผู้ปกครองและนักเรียนให้ทราบโดยทั่วกัน นอกจากนี้ ที่โรงเรียนยังจะเริ่มเรียนออนไลน์ก่อน ในวันที่ 25 พฤษภาคม ก่อนวันเปิดเรียนจริงเพื่อทำให้ชิน(อีกครั้ง) ด้วย
ที่มีการเรียนทดลองล่วงหน้าเช่นนี้ ก็เพราะต้องการบรรเทาความเครียดของผู้ปกครองด้วยส่วนหนึ่ง
“พ่อแม่ไม่ใช่ครู เขาไม่รู้ว่าควรรับมือหรือจัดการอะไรยังไงด้วยซ้ำ ถ้าเราไม่เตรียมเขา ไม่สร้างความเข้าใจก็เท่ากับโรงเรียนผลักภาระไปให้ผู้ปกครองเลย ต้องคุยกัน ว่าเขารับได้แค่ไหน เราเตรียมอะไรให้ได้บ้าง ต้องสื่อสารและไว้ใจกัน เราล้วนปรารถนาดีต่อเด็กๆ”
ความเครียดที่เด็กพกจากบ้าน มีตั้งแต่เด็กในช่วงรอยต่อเพิ่งเข้าโรงเรียนใหม่ ความรู้ที่ถูกปูไม่เท่ากันช่วงปิดเทอม ความพร้อมทางเทคโนโลยีไม่เท่ากัน ความเครียดที่ได้รับผลกระทบจากครอบครัว
สำหรับเรื่องความเครียดที่เด็กๆ พกมาจากบ้าน ครูปอยให้ความเห็นว่ามีหลายประเด็นที่ต้องพูดถึง เช่น ความเครียดของเด็กที่เพิ่งเข้าเรียนใหม่ เช่น นักเรียนชั้น อนุบาล1 ป.1 ป.4 ม.1 ยังไม่รู้จักเพื่อน ไม่รู้จักครู ทุกอย่างใหม่หมด คาดว่าความเครียดของเด็กกลุ่มนี้คือความกังวลและกลัวเรื่องการปรับตัวกับสภาพแวดล้อมใหม่ด้วย
อีกส่วน คือ ตอนปิดเทอม นักเรียนบางคนถูกเสริมความรู้หรือประสบการณ์โดยผู้ปกครองไม่เท่ากัน บางบ้านมีกำลังและความพร้อมซึ่งอาจพาเด็กๆ ไปเติมความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ หรือ เรียนรู้ด้วยตัวเอง แต่บางคนไม่ได้เสริมตรงนี้ ทำให้พื้นฐานความรู้ไม่เท่ากัน นี่อาจเป็นความกังวลของเด็กๆ และครูหลายท่าน คิดว่าต้องใช้เวลาในการปรับฐานของผู้เรียนให้ใกล้เคียงกัน
ความเครียดเพราะต้องเปลี่ยนวิธีและเครื่องมือในการเรียน ซึ่งแต่ละคนพร้อมไม่เท่ากัน ก็เป็นอีกหนึ่งความเครียดของเด็กๆ
“อีกเรื่องที่บางทีเราอาจนึกไม่ถึงคือปัจจัยเกื้อหนุนความพร้อม เช่น เราจะบอกว่าให้เด็ก print ใบงานที่บ้านหรือหาข้อมูลผ่านอินเทอร์เน็ตที่บ้าน แต่บางทีเราลืมนึกไปว่าที่บ้านเขาพร้อมหรือเปล่า เด็กๆ ก็พกความกังวลนี้มานะ”
นอกจากนี้ยังเป็นเรื่อง ความเครียดที่เด็กอาจได้รับจากผู้ใหญ่ด้วย “เราคิดว่าช่วงที่ผ่านมา เด็กน่าจะรับความเครียดของผู้ใหญ่ เราไม่รู้เลยว่าผู้ปกครองเด็กๆ สูญเสียรายได้ช่วงโควิดนี้ไปกี่มากน้อย อะไรที่เขาเคยได้กิน ได้ใช้ ได้เล่นในภาวะปกติแต่ตอนนี้ทำไม่ได้ เด็กต้องรับมือกับอะไรแบบนี้ด้วย เราคิดว่าต้องสื่อสารสร้างความเข้าใจกับเด็กในสถาการณ์จริงเหล่านี้ ซึ่งครูที่โรงเรียนก็น่ารักมากนะคะ เราจะเปิดเรียนออนไลน์ในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้ ครูก็ตั้งใจว่าจะพูดคุยเรื่องโควิดและผลกระทบที่เกิดขึ้นที่บ้าน อธิบายง่ายๆ ว่าทำไมถึงไปไหนไม่ได้ อยากกินเคเอฟซีทำไมไม่ได้กิน (หัวเราะ) บางทีเรารู้สึกว่ามันเป็นเรื่องง่ายๆ นะ เรื่องนี้พ่อแม่คุยกับลูกได้ แต่บางทีพ่อแม่ไม่รู้ว่าต้องสื่อสารยังไง นี่แหละ เราก็จะชวนกันคุยเรื่องเหล่านี้ก่อน”
ยังไม่หมดเพียงเท่านี้ ครูปอยได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจและจะกระทบไปถึงการทำงานของครูอีกทอด นั่นคือ การเปิดเทอมครั้งนี้ครูและโรงเรียนกำลังเจอกับ New normal ใหม่ คือ ครูจะเจอกับเด็กที่เรียนออนไลน์ที่บ้านแล้วรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องมาเรียนก็ได้ และถ้าโรงเรียนยังไม่เป็นพื้นที่ปลอดภัยกับเด็กกลุ่มนี้อีก นี่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่เลย
“เปิดเทอม 1 กรกฎาคม เราขอพูดในแง่ว่าเราได้เปิดเรียนกันจริงๆ นะคะ สิ่งที่ต้องเจอแน่นอนและถือเป็นหนึ่ง new normal ด้วย คือเราคิดว่าจะเจอเด็ก 2 แบบคือ กลุ่มที่อยากมาโรงเรียนมาก รู้สึกว่าปิดเทอมนี้มันยาวนานมาก อยากมาเจอเพื่อน เจอครู กับนักเรียนอีกกลุ่มที่รู้สึกว่าไม่ต้องมาเรียนก็ได้ เรียนที่บ้านก็ได้ ซึ่งเราเชื่อว่าตอนนี้เราเรียนรู้ที่ไหนก็ได้นะ แต่ก็ยังเชื่อว่าโรงเรียนมีฟังก์ชันแง่การจำลองภาพสังคม เป็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างกัน ซึ่งการมาโรงเรียน ครูและเพื่อนจะช่วยกันฟูมฟักตรงนี้ได้
“แต่ถ้าเด็กกลุ่มนี้มาแล้วเจอการจัดหนักทางวิชาการเลย ยิ่งทำให้ความรู้สึกของการมาโรงเรียนเป็นลบ เกิดทัศนคติที่ไม่ดีต่อการเรียนรู้ น่าจะเป็นผลเสียมากกว่าดี เราคิดว่าถ้าครูใช้เวลาสักประมาณ 1 – 2 สัปดาห์หรือมากกว่านั้นตามช่วงวัยในการเตรียมให้เขาพร้อมต่อการกลับมาเรียนในสภาวะปกติ ทำให้เขาเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นหลังโควิดว่ามันกระทบกับชีวิตเขายังไง มันน่าจะช่วยให้ความอยากเรียนรู้พัฒนาขึ้น ซึ่งเราอาจต้องเสียเวลาในช่วงเตรียมการนี้ประมาณหนึ่ง
“ส่วนตัวเราเชื่อในเรื่อง happy learning นะ การเรียนรู้จะมีประสิทธิภาพ เขาควรอยู่ในบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ บรรยากาศที่เขารู้สึกว่าปลอดภัย แต่ถ้ามาแล้วเจอภาวะกดดันในเชิงของวิชาการเอง การคาดหวังตัวคะแนนผลสัมฤทธิ์เชิงตัวเลข มันไป force ไปกดดันเขา ในแง่นั้น มันทำให้ไม่ happy แล้วอะ (หัวเราะ)”
ครูก็เครียดเหมือนกัน : New normal ในประเด็นการศึกษา การทำงานในวิกฤตและความคุ้นเคยใหม่ ต้องเชื่อมั่น ไว้ใจกัน
ในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหาร ดูแลซัพพอร์ตการทำงานครูในโรงเรียน สิ่งหนึ่งที่ครูปอยให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือ ความเครียดความกดดันที่อยู่บนบ่าครู ซึ่งครูอาจส่งต่อให้กับผู้เรียน อย่างหนึ่งที่ฝ่ายบริหารอยากทำความเข้าใจต่อครูและผู้ปกครองคือ ในช่วงเวลานี้ ครู ผู้ปกครอง ต้อง ‘เชื่อมั่น’ ในกันและกัน
“เด็กรับรู้ความเครียดจากผู้ใหญ่นะ ความเครียดของครูก็เป็นส่วนหนึ่งที่อาจไปทำให้การมาโรงเรียนของเด็กๆ เกิดความเครียดขึ้นได้หรือเปล่า อะไรที่ลดทอนความเครียดของครูได้ หน้าที่ของผู้บริหารอย่างเรา ในบริบทของโรงเรียนเรา พยายามหาจุดร่วม 2 ส่วน คือ เราไม่ได้ทิ้งวิชาการ แต่ก็ไม่ได้เอามาเป็นธง ต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันว่าเป้าหมายในการพัฒนาเด็กคนหนึ่ง เราดูเขาด้วยคะแนน ตัวเลข หรือเราอยากเห็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากเขา
“ครูกังวลว่าถ้าไม่เร่งเรียนจะมีปัญหา จะสอนไม่ทัน เราว่ามันขึ้นอยู่กับเป้าหมายโรงเรียนและการสื่อสารกับผู้ปกครองนะ ในช่วง 20 สัปดาห์ของการเรียนหลังจากนี้ เรียกว่าครูต้องรื้อโครงสร้างการเรียนการสอนตั้งแต่เปิดเทอมจนปิดเทอมเลยล่ะ 2 – 4 สัปดาห์แรกน่าจะถูกตัดไปเลยเพื่อใช้ปรับพื้นฐานและเตรียมเด็กๆ ให้เขาพร้อมกลับมาสู่สภาวะปกติ ฉะนั้น 20 สัปดาห์ นี่หายไปแล้ว 4 สัปดาห์นะ แล้วมันจะมีเรื่องกิจกรรมนู่นนี่นั่นตามแต่ละสังกัดที่จะมาลดทอนเวลานี้ไป ครูอาจจะต้องมาคัดกรองเนื้อหาว่าส่วนไหนที่เด็กๆ สามารถเรียนรู้เองที่บ้านได้ ก็ทำเป็นแพ็คเกจ learning kit ให้เขานั่งทำที่บ้าน อะไรที่ต้องอธิบาย ต้องคุย ต้องทำในชั้นเรียน ต้องใช้เวลาเท่าไรก็มาดูกันและวางโครงตรงนี้ใหม่อย่างไร คือให้ออนไลน์มันเป็นอะไรที่เป็นไปเพื่อถ่ายทอดเนื้อหาที่จำเป็น
“มันเป็น New normal ของคนเป็นครูด้วยเนอะ ต้องเปลี่ยนชุดความคิดการทำงานในระบบทั้งหมด เราต้องเชื่อมั่นว่าเด็กๆ พร้อมจะเรียนรู้ ขณะเดียวกันผู้ปกครองก็ต้องเชื่อว่าครูพยายามอยู่นะในการหาทางที่ดีที่สุดให้เรียน ส่วนผู้บริหารก็ต้องเชื่อว่าครูพยายามทำงานอย่างเต็มที่เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้ พอมีฐานความเชื่อมั่นแบบนี้ เราจะพยายามลดทอนอะไรในเชิงการตรวจสอบออกไปได้ เช่น รายงานการทำงานของครูที่ไม่จำเป็นต่างๆ เราตัดออกไปได้”
เยียวยาความเครียดเด็ก ในสายตา ครูแนน – ปาริชาต ชัยวงษ์
“คนเราเวลาเครียดก็ทำให้ศักยภาพในการเรียนรู้ลดลงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ความเครียดทำให้เราตั้งสมาธิจดจ่อกับเรื่องที่อยู่ตรงหน้าได้ยากขึ้น แล้วความเครียดมากน้อยก็ไม่สามารถวัดได้จากช่วงวัยหรือมาตรวัดของผู้ใหญ่ ความเครียดเป็นประสบการส่วนบุคคลที่เปรียบเทียบกันไม่ได้ ดังนั้น มุมมองต่อความเครียดของเด็กแบบที่เรามักได้ยิน เช่น ‘มีแค่หน้าที่เรียนจะเครียดอะไรมากมาย’ หรือ ‘นี่ยังแค่มัธยม ถ้าเรียนมหาวิทยาลัย หรือทำงานเครียดกว่านี้อีก’ จึงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าอีกหนึ่งอุปสรรคในการเรียนรู้ของเด็ก
“เครียดก็คือเครียด ถ้าเครียดก็จำเป็นต้องได้รับการดูแลช่วยเหลือ ซึ่งเด็กแต่ละคนก็มีวิธีจัดการกับสภาวะนี้ของตัวเองแตกต่างกัน บางคนต้องการแค่เวลาหรือพื้นที่ส่วนตัวในการเยียวยาตัวเอง บางคนต้องการให้อยู่ข้างๆ รับฟัง พอให้รู้ว่าเขาไม่ได้กำลังเผชิญปัญหาอย่างโดดเดี่ยว หรือบางคนอาจต้องได้รับการช่วยเหลือผ่านกระบวนการทางกฎหมาย ที่ครูทำได้เบื้องต้นคือทำให้เขารู้ว่าทุกความรู้สึกของเขาสำคัญ มาทำความรู้จักและผ่านมันไปด้วยกันไหม เมื่อถึงจุดที่อารมณ์ของเด็กเขาพร้อม เขาก็พร้อมจะกระโดดเข้ามาเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น”
ครูแนนเล่าก่อนว่าทำไมความเครียดของนักเรียน จึงมีผลต่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ มากกว่านั้น นี่ยังเป็นความเครียดจากสถานการณ์ที่ไม่เคยมีใครเจอมาก่อน
อย่างไรก็ตาม ครูแนนเล่าว่าก่อนเปิดเทอมในวันที่ 1 กรกฎาคม โรงเรียนได้จัดให้มีการทดลองเรียนทางไกลแบบออนไลน์ จุดประสงค์หลักก็เพื่อป้องกันการเรียนรู้ถดถอยเมื่อนักเรียนไม่ได้มาโรงเรียนเป็นเวลานาน และเพื่อทดลองระบบเรียนทางไกล หากว่าวันเปิดเทอมที่กำหนดไว้ไม่สามารถเปิดเรียนได้ตามปกติ และคาดหวังให้เป็นเพียงการทำความรู้จักกับการใช้งานระบบ และเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนที่ไม่พร้อม มากกว่าการเรียนจริงจัง แต่ดูเหมือนว่าเหตุการณ์จะไม่ได้เป็นอย่างที่คิด
“ตอนแรกออกแบบบทเรียนไม่เครียดนะ รู้สึกว่ามันน่าสนุกและท้าทายมาก แต่พอเอาเข้าจริงกลับมีคำสั่งมาให้ทุกโรงเรียนทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกล และจะมีการนิเทศ ติดตามดูแล เพื่อเป็นขวัญกำลังใจ บางโรงเรียนก็เลยให้ครูทุกคนสร้างห้องเรียนออนไลน์ เช็คชื่อ เก็บคะแนน วิชาเรียนในช่วงทดลองนี้ก็เลยแน่นราวกับว่าเปิดเทอมกันแล้วซะอย่างนั้น
“ข้อดีก็คือมันทำให้ครูทุกคนได้ลองเรียนรู้รูปแบบการเรียนแบบใหม่ และหากเรารายงานผลตามสภาพจริงเราจะได้เห็นปัญหาและแก้ไขเตรียมพร้อมก่อนเปิดเทอมกันต่อไปได้ แต่ข้อเสียก็คือแนวปฏิบัติแบบนี้มันข้ามเส้นทดลองไปเยอะมาก เหมือนเราลืมจุดประสงค์ของการทดลองเรียนทางไกลที่คุยกันไว้แต่แรก ลืมนึกถึงใจนักเรียนที่ไม่พร้อมไปเลย
“พอยิ่งวางเงื่อนไขเยอะ ก็ยิ่งทำให้ครูมีความกังวลมากขึ้น สุดท้ายภาระมันก็ไปตกที่นักเรียน พอนักเรียนเห็นเปิดให้เรียนครบทุกวิชา เพื่อนที่เข้าไปเรียนก็มีงานให้ทำมีคะแนน ถึงแม้จะบอกเขาว่าเป็นการทดลองเพื่อหาทางซัพพอร์ตคนที่ไม่พร้อม แต่เด็กเขาจะนั่งสบายใจรอการสนับสนุนหรอ สุดท้ายความกังวลมันก็ถูกส่งผ่านไปที่เด็กและผู้ปกครองอย่างเลี่ยงไม่ได้”
ในประเด็นความเครียดของผู้เรียน ครูแนนมองไม่ต่างจากคุณนีทและครูปอยที่มองว่า ความเครียดที่เด็กๆ กำลังเผชิญมีทั้งเรื่องในห้องเรียนและเรื่องส่วนตัว โดยเธอเองก็เตรียมพร้อมรับมือปัญหาดังกล่าวไว้ อย่างหนึ่งจะหยิบมาใช้ คือ ‘การเช็คอินสภาพจิตใจนักเรียน’ ก่อนเริ่มเรียน
“มันเป็นเรื่องพื้นฐานของชั้นเรียนอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นออนไลน์หรือออฟไลน์ เรามีสิ่งที่เรียกว่า ‘การเช็คอิน’ ให้ทั้งครูและนักเรียนได้เตรียมพร้อม และตระหนักรู้อยู่กับปัจจุบัน มีหลายวิธีง่ายๆ อย่างอารมณ์วันนี้เป็นสีอะไร ชีวิตตอนนี้เหมือนหนังเรื่องอะไร หากเป็นคลาสเรียนปกติที่มีเวลาจำกัด 50 นาที อาจทำให้เก็บรายละเอียดไม่ได้มาก หรือบางคาบต้องเว้นไป แต่เมื่อเป็นการเรียนออนไลน์ที่ยืดหยุ่นเรื่องเวลาทำให้การดูแลจิตใจนักเรียนผ่านการเช็คอินทำได้ถี่ถ้วนขึ้น
สถานการณ์ตอนนี้มันยิ่งจำเป็นจะต้องดูแลใจกัน เพราะเราไม่รู้เลยว่าตลอดช่วงที่ผ่านมาจนถึงตอนนี้เขาเป็นอย่างไร ยิ่งเป็นนักเรียนกลุ่มใหม่ที่ไม่เคยเรียนด้วยกันมาก่อน เราแทบไม่รู้จักเขาเลย ยิ่งต้องคิดให้รอบ ต้องไม่ทำให้เขารู้สึกว่าถูกรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่ส่วนตัว หรือต้องตอบแบบเดาใจครู
“อย่างที่เราทำอยู่จะเป็นการ์ดภาพให้เลือกประมาณ 80 ใบ อัพโหลดภาพ แล้วให้เขาช่วยเลือก 1 ภาพมาแนะนำตัวหน่อย ภาพไหนแทนคำตอบ ‘ชีวิตคืออะไร’ หรือ ‘การ์ดใบไหนตรงใจที่สุด’ เราก็จะได้เห็นว่าที่เด็กเลือกภาพนี้ เล่าเรื่องแบบนี้ สภาพจิตใจเขาน่าจะเป็นอย่างไร อาจไม่สามารถเข้าใจเขาได้ทั้งหมด แต่ก็พอให้เราเอากลับมาทำการบ้านต่อได้
“สำหรับเด็กที่ไม่พร้อม เราก็เช็คจากระบบและติดต่อกับเด็กส่วนตัว พูดคุยช่วยให้เรารับรู้ปัญหาและให้เด็กคลายความกังวลเบื้องต้นก่อน แล้วสุดสัปดาห์ค่อยกลับมาคุยกันในระดับชั้นว่าสำหรับเด็กที่ไม่พร้อม ซึ่งก็มีหลายกลุ่มแบ่งตามข้อจำกัดเนี่ย เราจะปรับวิธีเรียนหรือสนับสนุนเขาอย่างไรได้บ้าง จากนั้นเสนอฝ่ายบริหารเพื่อขอรับการสนับสนุนจากทางโรงเรียน แล้วก็ดำเนินการกันต่อไป”
เปลี่ยนการตรวจสอบให้เป็นความเชื่อมั่นและไว้ใจซึ่งกันและกัน ยาดีที่จะช่วยรักษาความเครียดของครูและนักเรียนได้
เมื่อพูดถึงวิธีรับมือกับความเครียดของนักเรียนแล้ว สิ่งหนึ่งที่เราต้องไม่ลืม คือ ครูก็เป็นคนหนึ่งที่ควรได้รับการเยียวยาความเครียด เพราะครูเองก็ต้องเจอทั้งปัญหาการทำงาน ไหนจะปัญหาส่วนตัว ครูแนนในฐานะครูคนหนึ่ง เธอบอกว่า สิ่งที่จะช่วยลดความเครียดของครูได้ คือการลดกระบวนการแบบราชการลง เพราะกระบวนการแบบนั้นให้อำนาจส่วนกลางมากกว่ากระจายอำนาจ คำสั่งส่วนกลางกลายเป็นอุปสรรคในการตัดสินใจของโรงเรียน โรงเรียนควรมีอำนาจในการบริหารจัดการตนเองได้ คาดหวังผลสัมฤทธิ์ กำกับ ตรวจสอบให้น้อยลง และให้พื้นที่อิสระในการทำงานกับโรงเรียนและครูให้มากขึ้น คือสิ่งจำเป็นเพื่อให้ครูไม่เครียดและสามารถหาวิธีสนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนได้อย่างเต็มที่
“สิ่งที่จะทำให้ครูเครียดน้อยลงมากๆ เลย คือการลดนโยบายสั่งการ ควบคุม กำกับ ตรวจสอบจากส่วนกลางให้น้อยลง กระจายอำนาจสู่โรงเรียน เน้นการมีส่วนร่วมของครู ไว้ใจกันให้มากขึ้น เคารพและรับฟังความคิดเห็นของคนที่ทำงานกับนักเรียนโดยตรงให้มาก บริบทโรงเรียนเป็นอย่างไร
“ถ้าเรียนทางไกลพร้อมไหม หรือศึกษาตามอัธยาศัยเหมาะกว่า ควรมีมาตรการดูแลป้องกันอย่างไร ส่วนกลางต้องสนับสนุนอะไรบ้าง ควรเป็นสิ่งที่โรงเรียนและชุมชนตัดสินใจเอง เพราะนี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครเคยเจอ ไม่มีใครเป็นผู้รู้ผู้ตื่น ไม่ควรผูกขาดการตัดสินใจ ควรให้โรงเรียนและครูมีอิสระในการทำงาน โดยไม่ต้องคอยกดดันทั้งตัวเองและนักเรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานของใคร
“แต่ท้ายที่สุดก็คิดว่าอำนาจส่วนหนึ่งยังอยู่ในมือครูนะ ถ้าครูมีความกล้ามากพอ มีความเป็นนักวิชาการให้มากกว่าเป็นข้าราชการ เห็นความสำคัญของงานที่ทำว่าเวลาแต่ละนาทีที่เด็กใช้ไปกับเรา คือ เวลาของการเติบโตในฐานะมนุษย์ของเขา และการเติบโตของเขาก็เป็นจิ๊กซอว์ของสังคมที่เขาอยากเห็น ครูก็จะไม่สยบยอมทำตามคำสั่งโดยไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่าง ทำงานกับเด็กเนอะ ถ้าสิ่งที่ทำมันสะท้อนให้เห็นว่าเรานึกถึงเด็กเป็นสิ่งท้ายๆ แปลว่ามันมีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้นแล้วรึเปล่า
“อีกสิ่งหนึ่งที่จะช่วยเยียวยาครู ก็คือครูด้วยกันเนี่ยแหละ ในสภาวะที่เราไม่สามารถเจอนักเรียนที่เป็นกำลังใจหลักในการทำงานของเราได้ตามปกติ เราจำเป็นต้องได้รับพลังจากครูด้วยกัน การได้เจอ ได้ทำงานกับคนที่พร้อมเดินไปลองผิดถูกด้วยกัน มันทำให้เราไม่รู้สึกโดดเดี่ยว อันนี้เป็นพลังงานที่ดีที่สุดในช่วงนี้เลย”
New normal ความหมายใหม่ของคำว่า ‘วินัย’
ก่อนจากกัน ครูแนนทิ้งท้ายเรื่อง new normal ในวงการการศึกษาบ้านเรา ที่อาจเป็นโอกาสดีให้เรากลับไปตีโจทย์เรื่องจุดมุ่งหมายการศึกษาใหม่ กลับไปตั้งคำถามกับระบบเดิมที่มีอยู่ว่ามันตอบโจทย์การเรียนรู้จริงๆ หรือไม่
“เวลาพูดถึง new normal เรามีความหวังมากเลยนะ การศึกษาเป็นเครื่องมือในการร่วมออกแบบสังคมที่เราใฝ่ฝัน ถ้าเราเพียงผลิตซ้ำและส่งต่อความรู้แบบสารัตถะ ค่านิยมของการมีวินัยหมายถึงการแต่งกาย ทรงผมถูกระเบียบ เด็กดีหมายถึงเด็กที่ว่านอนสอนง่าย ร้องเพลงชาติเสียงดัง เรียนดีหมายถึงตอบข้อสอบถูกหมด ไม่ว่าจะเรียนออนไลน์หรือใช้เทคโนโลยีล้ำหน้าแค่ไหน ก็คงไม่ใช่ความปกติใหม่ที่พาสังคมไปข้างหน้า
“เราอยากเห็นระบบที่เปิดทางให้ครูเป็นมนุษย์ เป็นนักการศึกษา เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง อยากเห็นห้องเรียนที่ตั้งคำถามกับความรู้ ความจริง ความดี มองเห็นและสร้างนิยามใหม่ทั้งต่อตัวเองและสังคมได้ ปรากฏการณ์ครั้งนี้ทำให้เราได้เห็นนิยามคำว่าวินัยและความรู้ที่เปลี่ยนไป เราเห็นเด็กเรียนทางไกลในชุดอยู่บ้าน บริหารเวลาเรียนเอง ลงชุมชนไปเรียนรู้กับป้าน้าอา หรือทำงานช่วยที่บ้าน เป็นประจักษ์พยานสำคัญให้ทุกคนได้เห็นว่าเด็กเขาสร้างวินัยและองค์ความรู้ของเขาขึ้นมาด้วยตัวเองได้ เมื่อเขามีอิสระและได้ทำในสิ่งที่มีความหมาย และมันจะเป็นส่วนหนึ่งของเขาไปตลอด ก็หวังว่าเราจะไม่ทำเป็นมองผ่านไป และยอมกลับไปอยู่กับความไม่ปกติเดิมอย่างที่เคยเป็นมา”