- ความเหลื่อมล้ำและล้าสมัยของระบบการศึกษาไทย ส่งผลให้คุณภาพการศึกษาโดยรวมของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับสถานการณ์โลกที่ผันแปร ที่ยิ่งตอกย้ำให้การศึกษาไทยถดถอยลงทุกที
- ‘การสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss)’ ของเด็กจากสถานการณ์โควิด-19 และวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด จนเข้ามาปฏิวัติวิถีชีวิตของคนนั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องจับตามอง
- ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เปิดข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษา ที่ผ่านการระดมความคิดจากหน่วยงาน เพื่อส่งต่อพรรคการเมืองไทยในฐานะผู้ดูแลนโยบายที่จะมีโอกาสนำไปใช้ปฏิรูปการศึกษาไทยให้ดีขึ้น
ความเหลื่อมล้ำและล้าสมัยของระบบการศึกษาไทยเป็นปัญหาใหญ่ที่หยั่งรากลึกมายาวนาน จนส่งผลให้คุณภาพการศึกษาโดยรวมของประเทศไทยอยู่ในระดับต่ำ ผลการทดสอบ PISA 2018 ชี้ให้เห็นความจริงที่ว่า ระบบการศึกษาไทยกำลังล้มเหลว เมื่อเด็กไทยอายุ 15 ปี จำนวนร้อยละ 59.6 ไม่สามารถอ่านจับใจความได้ ร้อยละ 52.7 ไม่สามารถนำความรู้คณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ที่ไม่ซับซ้อนได้ และร้อยละ 44.5 ไม่สามารถใช้ความรู้วิทยาศาสตร์มาอธิบายปรากฏการณ์ที่คุ้นเคย สะท้อนว่าเด็กไทยขาดความเข้าใจพื้นฐานที่เพียงพอต่อการใช้งานจริง หากแต่สิ่งที่น่าหวาดหวั่นมากกว่าไปนั้นคือสถานการณ์โลกที่ผันแปรกำลังเป็นความท้าทายที่ตอกย้ำให้การศึกษาไทยถดถอยลงทุกที
‘การระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19’ ทำให้สถานศึกษาต้องประกาศปิดเป็นเวลานานก่อให้เกิด ‘การสูญเสียการเรียนรู้ (Learning Loss)’ อย่างใหญ่หลวง เด็กส่วนใหญ่มีผลการเรียนลดลงอย่างชัดเจน และมีปัญหาหลุดออกนอกระบบการศึกษามากขึ้น ขณะที่ ‘วิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม’ เริ่มส่งผลต่อความผันผวนของผลผลิตทางการเกษตร และความสามารถในการทำงานกลางแจ้งของแรงงานไทยลดลง นำมาซึ่งปัญหาการเปลี่ยนอาชีพ เคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรครั้งใหญ่ อีกสิ่งสำคัญสิ่งที่ต้องจับตาอย่างมากคือ ‘การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด’ โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ เช่น ChatGPT แชทบอตสุดอัจฉริยะที่กำลังเข้ามาปฏิวัติวิถีชีวิต การทำงาน ไม่เว้นแม้แต่ระบบการศึกษา
ปัญหาที่กล่าวมาล้วนเป็นตัวเร่งที่ผลักดันให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปการศึกษาอย่างเร่งด่วน ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) และในฐานะตัวแทนองค์กรภาคีเพื่อการศึกษาไทย (Thailand Education Partnerships: TEP) เปิด ข้อเสนอการปฏิรูปการศึกษา ที่ผ่านการระดมความคิดจากหน่วยงาน สถาบันการศึกษา รวมถึงประชาชนและบุคคลที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ เพื่อส่งต่อพรรคการเมืองไทยในฐานะผู้ดูแลนโยบายที่จะมีโอกาสนำไปใช้ปฏิรูปการศึกษาไทยให้ดีขึ้น
ปรับหลักสูตรแกนกลาง สร้าง ‘การเรียนรู้สมรรถนะ’
หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยที่ใช้อยู่ในปัจจุบันถูกใช้มาตั้งแต่ปี 2551 จึงค่อนข้างล้าสมัย และแม้ในปี 2560 จะมีการปรับปรุงมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดกลุ่มสาระการเรียนรู้ โดยเน้นสมรรถนะของผู้เรียนมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้สมรรถนะที่จำเป็นมากเท่าที่ควร
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาใดๆ ไม่สามารถทำได้ถ้าไม่มีการปรับแก้หลักสูตรให้ทันสมัยพอ หลักสูตรการศึกษาของไทยที่ผ่านมาไม่ได้เน้นการสร้างสมรรถนะ คือการพัฒนาให้เยาวชนมีความสามารถในนำวิชาความรู้ ทักษะ และทัศนคติที่มีไปใช้ประโยชน์จริงหรือต่อยอดในอนาคต อีกเรื่องสำคัญคือการไม่ปรับโครงสร้างเวลาในการเรียนรู้ การเรียนรู้ส่วนใหญ่ถูกกำหนดโดยดัชนีชี้วัด หรือ KPI ซึ่งมีประมาณ 2,000 KPI ทำให้เวลาครูไปสอนต้องคอยเช็คว่าสอนครบทุกตัวชี้วัดหรือยัง เพราะฉะนั้นครูแทบไม่เหลือเวลาในการพัฒนารูปแบบการสอนใหม่ๆ ที่จะทำให้นักเรียนได้ทดลองจริงจากตัวอย่างจริงได้สำเร็จ
ที่ผ่านมาแม้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) จะมีความพยายาม ‘ยกเครื่อง’ หลักสูตรแกนกลางครั้งใหญ่ตั้งแต่ปี 2560 โดยนำร่อง ‘หลักสูตรฐานสมรรถนะ’ 10 ด้าน ในโรงเรียนทั้งหมด 24 แห่ง ต่อมามีการปรับจำนวนสมรรถนะใหม่เป็น 5 สมรรถนะในปี 2563 และมีการปรับหลักสูตรอีกครั้ง โดยเพิ่มเป็น 6 สมรรถนะในปี 2565 ทว่าเมื่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) มีแผนประกาศใช้หลักสูตรแกนกลางฉบับใหม่กลับถูกระงับไว้โดยฝ่ายการเมือง
“ที่ผ่านมาท่าทีและคำอธิบายต่อการระงับการปรับใช้หลักสูตรใหม่ทำให้ตีความได้ว่า ไม่สามารถปรับหลักสูตรได้เพราะบริษัทสำนักพิมพ์ ผู้ผลิตตำราต่างๆ ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน รวมทั้งยังเป็นภาระแก่พ่อแม่ ซึ่งการเป็นภาระพ่อแม่คงไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะว่ารัฐบาลมีนโยบายเรียนฟรี 15 ปี มีงบประมาณให้ซื้อตำรา จากกระทรวงศึกษาธิการอยู่แล้ว จึงทำให้สังคมเกิดข้อสงสัยว่าความจริงแล้ว การปรับเปลี่ยนหลักสูตรไม่ได้นั้นมาจากการขัดขวางของสำนักพิมพ์หรือกลุ่มผู้มีผลประโยชน์หรือไม่ ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยเสียโอกาสพอสมควรกับการต้องอยู่กับหลักสูตรที่ล้าสมัย”
บริหารจัดการ ‘โรงเรียนขนาดเล็ก’ เพิ่มประสิทธิภาพการศึกษา
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจำนวนประชากรที่เกิดในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเดิมที่มีอัตราการเกิดปีละประมาณ 1 ล้านคน ล่าสุดในปี 2564 มีอัตราการเกิดราว 5.4 แสนคน ส่งผลให้โครงสร้างประชากรนักเรียนลดลง โดยนักเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ลดลงจาก 7.2 ล้านคน ในปี 2556 เหลือเพียง 6.5 ล้านคน ในปี 2565 ทำให้โรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ลดขนาดเป็นโรงเรียนขนาดเล็กเพิ่มขึ้นถึง 2,200 โรงเรียน การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยในการจัดการศึกษาเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการบริหารบุคลากร
“เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่กระทรวงศึกษาธิการหนักอกหนักใจอยู่ เพราะโรงเรียนขนาดเล็กมีต้นทุนบริหารจัดการสูง ขณะที่ครูก็มีไม่ครบชั้น ไม่ครบวิชา ถึงแม้จะมีความพยายามเกลี่ยครูจากโรงเรียนที่เกินมาโรงเรียนที่ขาดก็พบว่ายังขาดครูอีกประมาณ 22,000 คน
ธนาคารโลกได้เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาไว้ว่าถ้ามีการควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กและพัฒนาเครือข่ายระหว่างโรงเรียนที่อยู่ใกล้กัน จะช่วยประหยัดต้นทุนและทรัพยากรได้มาก แม้จะต้องมีเงินอุดหนุนค่าเดินทางของนักเรียนเพิ่มขึ้นก็ตาม
ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (Small Protected School) ยังต้องคงไว้พร้อมทั้งจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรให้เพิ่มขึ้น ซึ่งถ้าทำเช่นนี้ได้จะช่วยให้มีครูครบชั้น ครบวิชา และยกระดับการเรียนการสอนให้ดีขึ้นได้ แต่สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการบริหารบุคลากรครูที่ต้องโยกย้ายอย่างเหมาะสม”
‘พื้นที่ปลอดภัย’ ป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพนักเรียน
แม้กระทรวงศึกษาธิการได้เคยประกาศห้ามลงโทษนักเรียนด้วยความรุนแรง แต่ยังปรากฏข่าวการละเมิดสิทธิเสรีภาพของนักเรียนอยู่บ่อยครั้ง เช่น ครูกล้อนผมนักเรียน การด่าทอด้วยถ้อยคำที่รุนแรง หรือในบางกรณีรุนแรงถึงขั้นล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งนั่นยังไม่นับรวมการกลั่นแกล้งกันเองของนักเรียนในโรงเรียน โดยผลการสำรวจของ PISA 2018 ชี้ว่า มีนักเรียนไทยที่ถูกกลั่นแกล้ง 2-3 ครั้งต่อเดือนมากถึงร้อยละ 27 และมีนักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งเป็นประจำถึงร้อยละ 13
“การไปโรงเรียนแล้วต้องอยู่ท่ามกลางวัฒนธรรมแห่ง ‘ความกลัว’ ย่อมส่งผลกระทบต่อจิตใจ และทำให้ทักษะการคิดและการเรียนรู้ลดต่ำลง
ต่อมกลัวจะทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้และใช้ความคิดพื้นฐานได้ ฉะนั้นการพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูงยิ่งเป็นเรื่องยาก มีผลการสำรวจพบว่านักเรียนที่ถูกกลั่นแกล้งมีคะแนนการอ่านเฉลี่ยน้อยกว่าถึง 27 คะแนน เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มนักเรียนที่ไม่ถูกกลั่นแกล้ง
ฉะนั้นถ้าจะปฏิรูปการศึกษาไทยให้เด็กมีทักษะในการคิดขั้นสูง แปลว่าโรงเรียนต้องมีความปลอดภัย ซึ่งการออกคำสั่งหรือประกาศอย่างเดียวไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพนัก สิ่งสำคัญคือการสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรอย่างถูกต้อง และสร้างระบบการร้องเรียนและตรวจสอบที่มีประสิทธิผล”
ปรับวัฒนธรรมการทำงานให้ ‘กล้าทำสิ่งใหม่’
การปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ หัวใจสำคัญคือการส่งเสริมวัฒนธรรมกล้าทำสิ่งใหม่ และการสร้างนวัตกรรมต่างๆ ทั้งในด้านวิชาการและการบริหาร ซึ่งที่ผ่านมาแม้รัฐบาลได้ประกาศให้มี ‘พื้นที่นวัตกรรมการศึกษา’ เป็นพื้นที่ทดลองนำร่องให้โรงเรียนและหน่วยงานในพื้นที่มีอิสระในการจัดการการศึกษามากขึ้น แต่พื้นที่และโรงเรียนบางส่วนยังไม่กล้าก้าวออกจากกรอบเดิมๆ ที่เป็นกำแพงขวางกั้นต่อการปฏิวัติการเรียนรู้
“การเปิดพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาสร้างความตื่นตัวของภาคส่วนต่างๆ ในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมจัดการศึกษามากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็เห็นสัญญาณด้านบวกจากที่ผู้อำนวยการและครูเข้าใจบทบาทและมีความต้องการพัฒนาทักษะของตนมากขึ้น นักเรียนมีความสุขในการเรียนรู้ จนทำให้มีจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาแล้วถึง 19 จังหวัด
แต่ผลการศึกษาวิจัยของ TDRI และการรับฟังความเห็นโดยกระทรวงศึกษาธิการพบว่า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาส่วนใหญ่ยังไม่สามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ด้วยปัญหาวัฒนธรรมและความเคยชิน หลายโรงเรียนไม่กล้าปฏิเสธหน่วยงานภาครัฐที่มอบหมายโครงการต่างๆ ซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายการเรียนรู้ทั้งที่มีกฎระเบียบให้ปฏิเสธได้ รวมทั้งไม่กล้าคัดเลือกผู้อำนวยการสถานศึกษาโดยวิธีทาบทาม แม้ว่าจะช่วยให้โรงเรียนมีผู้อำนวยการที่มีคุณลักษณะที่โรงเรียนต้องการได้
ฉะนั้นความกล้าในการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานจะเป็นตัวขับเคลื่อนให้พื้นที่จัดการศึกษาที่สอดคล้องตอบโจทย์การเรียนรู้ของผู้เรียนมากขึ้น”
‘5 ข้อเสนอแนะ’ สู่นโยบายการศึกษาเพื่อก้าวข้ามความท้าทาย
จากปัญหาในระบบการศึกษาไทยที่กล่าวมา ภาคีเพื่อการศึกษาไทย (TEP) จัดทำ 5 ข้อเสนอแนะต่อพรรคการเมือง เพื่อนำไปสู่การจัดทำนโยบายปฏิรูปการศึกษาไทย ซึ่งเป็นความหวังให้เด็กรุ่นใหม่ได้พัฒนาทักษะและความรู้ที่เหมาะสมต่อการสร้างสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงาน การแก้ไขปัญหา รวมทั้งสามารถปรับตัวและอยู่รอดในโลกที่เต็มไปด้วยความท้าทายได้อย่างเท่าทัน
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า เรื่องแรกคือเร่งปรับให้มีหลักสูตรแกนกลางใหม่ให้สำเร็จภายใน 3 ปี มีการออกแบบให้เป็นหลักสูตรที่อิงกับฐานสมรรถนะ โดยนำเอาร่างหลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีการพัฒนาก่อนหน้านี้มาปรับใช้ ซึ่งได้มีการทดลองนำร่องใช้ในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาบางส่วนแล้ว รวมทั้งกระทรวงศึกษาธิการควรใช้ ‘คูปองครู’ เพื่อสนับสนุนให้ครูมีการพัฒนาทักษะเพิ่มขึ้น เช่น สามารถออกแบบการเรียนการสอนให้เด็กมีส่วนร่วมมากขึ้น มีการประเมินพัฒนาการของเด็กที่เรียกว่า Informative assessment ได้ ซึ่งจะเป็นหัวใจในการยกระดับการเรียนรู้ และช่วยให้ครูนำหลักสูตรใหม่ไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“เรื่องที่สองคือกำหนดนโยบายให้กระทรวงศึกษาธิการมีเป้าหมายและแผนการบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็กที่ชัดเจน และเสริมด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ครูสนใจย้ายไปสอนในโรงเรียนฮับ (Hub School) หรือโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ห่างไกล (Small Protected School) รวมทั้งยินยอมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำที่ดินหรือทรัพย์สินของโรงเรียนที่ถูกยุบหรือควบรวมไปใช้ประโยชน์ตามความต้องการของชุมชนได้”
อีกประเด็นสำคัญคือ การทบทวนและยกเลิกโครงการต่างๆ ซึ่งไม่ตอบโจทย์ต่อการเรียนรู้ของนักเรียนหรือการพัฒนาทักษะเป็น ดร.สมเกียรติ บอกว่า เรื่องนี้เป็นข้อเสนอที่สามที่พรรคการเมืองหรือว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาคนใหม่จะสามารถเดินหน้าส่งสัญญาณไฟเขียวให้โรงเรียนดำเนินการได้ทันที
ส่วนเรื่องที่สี่คือ การประกาศนโยบายไม่ยอมรับความรุนแรงในสถานศึกษาในทันทีที่รับตำแหน่ง รณรงค์ให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทำความเข้าใจเรื่องสิทธิเสรีภาพของเด็ก รวมทั้งเด็กนักเรียนต้องทราบแนวทางปกป้องตนเองหากมีการละเมิด นอกจากนี้ควรมีการสร้างมาตรการเสริม เช่น การสร้างสถานศึกษาที่มีความปลอดภัย โดยมีกลไกในการร้องเรียนต่างๆ กลไกการตรวจสอบเหตุ หรือกำหนดให้เป็นหนึ่งในเกณฑ์การประเมินภายนอกของสถานศึกษา
“เรื่องที่ห้าคือการสร้างตัวอย่างให้ผู้บริหารของกระทรวงศึกษาธิการมีวัฒนธรรมแบบใหม่ในการทำงานที่เปิดกว้างในการรับฟังความเห็น ส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ ซึ่งคงจะเป็นภาพที่สวยงามมากหากว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการท่านใหม่จะลงตรวจเยี่ยมโรงเรียนโดยไม่ใช้วิธีสั่งการจากเบื้องบน แต่เป็นการเข้าไปรับฟังสภาพปัญหา เปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งจะช่วยเสริมแรงครูให้กล้าทำสิ่งใหม่มากขึ้น ขณะเดียวก็ต้องส่งเสริมให้ครูรู้จักเรียนรู้จากข้อผิดพลาด ไม่มุ่งแต่จะลงโทษกันหากไม่ใช่กรณีรุนแรง ถ้าทำเป็นตัวอย่างเช่นนี้ได้ การปฏิรูปการศึกษาไทยคงจะเกิดขึ้นได้แน่นอน” ดร.สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย
[หมายเหตุ: บทความนี้เรียบเรียงจากเอกสาร TEP White Paper และการนำเสนอ TEP White Paper: ความท้าทายในการปฏิรูปการศึกษาและข้อเสนอต่อพรรคการเมือง โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ในเวทีสัมมนา ‘ชวนพรรคร่วมคิด ฟื้นชีวิตเรียนรู้ใหม่ หนุนเด็กไทยก้าวทันโลก’ วันที่ 5 มีนาคม 2566 ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ]