- การทำให้เด็กรู้ตัว เรียนรู้ และฝึกฝน คือ 3 สเต็ป สำหรับคลี่คลายสถานการณ์เมื่อเด็กๆ ทะเลาะกัน หรือมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ แทนการลงโทษเด็กด้วยการตีหรือให้บำเพ็ญประโยชน์ที่ให้โทษมากกว่าคุณ
- ชื่นชมในความตั้งใจและความพยายาม แม้เด็กจะตอบคำถามข้อนั้นไม่ถูกหรือทำโจทย์ผิดก็ตาม แต่ ‘ความตั้งใจ’ กับ ‘ความเข้าใจ’ คนละเรื่องกัน ครูต้องแยกให้ออก เช่น เมื่อเห็นว่าเด็กยังไม่เข้าใจเนื้อหาเรื่องนี้ของวิชาคณิตศาสตร์ ครูจึงมีหน้าที่หาทางช่วย
- ชวนพ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู มาสร้างความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับการลงโทษ และนวัตกรรมต่างๆ ที่ใช้ในการสร้างการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ รวมถึงวิธีการดูแลช่วยเหลือ เพื่อให้งอกงามตามศักยภาพของเขา
เมื่อโรงเรียนไม่มีการให้ ‘คะแนน’ และไม่มี ‘การลงโทษ’ แล้วทำอย่างไร?
หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจจากเวทีเยี่ยมชมโรงเรียนตัวอย่างออนไลน์ ครั้งที่ 3 โดย โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ กับหัวข้อ การนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้ในโรงเรียนเปลี่ยนแปลงเชิงระบบด้วยนวัตกรรมจิตศึกษา PBL-Problem based learning และ PLC – Professional Learning Community โดย ครูพรรณทิพย์พา ทองมี หรือ ครูต๋อย
“ไม่มีการทำโทษ เพราะว่าเราเชื่อว่า ความเป็นเด็กก็คือเด็ก เขาอาจจะยังไม่เข้าใจหรือยังไม่เห็นบางอย่าง เพราะฉะนั้นบางทีการกระทำของเขา ซึ่งอาจจะเป็นธรรมชาติของเขาแต่มันอาจจะขัดใจผู้ใหญ่เรา…”
“…เราไม่เชื่อว่าการใช้ความรุนแรงมันจะทำให้คนเปลี่ยนจิตสำนึก บางทีต่อต้านด้วยซ้ำ บางคนก้าวร้าวไปอีก แค่มันหยุดพฤติกรรมนั้นได้ทันที…”
ครูต๋อย บอกเล่าเหตุผลสำคัญที่ทำให้โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาแห่งนี้ เป็นเขตปลอด ‘การลงโทษ’ แต่จะใช้วิธีการไหน อย่างไรนั้น หาคำตอบไปพร้อมๆ กัน
นวัตกรรม ‘จิตศึกษา’ พัฒนาปัญญาภายใน ‘PBL’ พัฒนาปัญญาภายนอก
ก่อนที่จะหาคำตอบเรื่องการลงโทษและการให้คะแนนของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เรามาทำความเข้าใจนวัตกรรมของลำปลายมาศพัฒนา ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาปัญญาภายในด้วยนวัตกรรม ‘จิตศึกษา’ และพัฒนาปัญญาภายนอกด้วย ‘PBL-Problem based learning’ กันก่อน โดยประกอบไปด้วย 3 ส่วนที่สำคัญ ได้แก่
1. สนามพลังบวก ประกอบด้วย สภาพแวดล้อม (สะอาด สงบ ร่มรื่น), ความปลอดภัย 3 ระดับ คือ กาย ใจ จิต และวิถี-วัฒนธรรม แนวปฏิบัติที่สม่ำเสมอ มีเหตุมีผล
โรงเรียนควรเป็นพื้นที่ปลอดภัย นอกจากความสะอาดและน่าอยู่แล้ว เขาจะต้องไม่ถูกจับจ้องหรือจับผิด สามารถที่จะคิดหรือแสดงความคิด ความรู้สึกของตัวเองต่อผู้อื่นได้โดยไม่ถูกตัดสินว่าความคิดนั้น ใช่ หรือ ไม่ใช่ และมีคนที่คอยรับฟัง
“ลำปลายมาศมองว่าความปลอดภัย เรื่องกายสำคัญมาก เพราะฉะนั้นเราจะตระหนักเรื่องของการกินของผู้เรียน สิ่งที่ผู้เรียนต้องกินเข้าไปเราจะระวังมาก ในโรงเรียนเราคือเรื่องของน้ำตาล โซเดียม น้ำมันทอดซ้ำ และไขมันทรานส์
แล้วก็เรื่อง ‘การบูลลี่’ ที่ทำให้ผู้เรียนถูกทำร้ายทางจิตใจ ซึ่งบางทีอาจเกิดขึ้นโดยความตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจของผู้ที่แวดล้อมเขาอยู่ แล้วก็การครอบงำให้เชื่อ อันนี้เรามองว่ามันน่ากลัว อันตรายมากสำหรับจิตวิญญาณของผู้เรียน ที่สำคัญองค์กรนั้นต้องสร้างวิถีและวัฒนธรรมร่วมกันของคนในองค์กร สม่ำเสมอและมีเหตุมีผล”
2. จิตวิทยาเชิงบวก การสร้าง self-esteem
“หลายสิ่งหลายอย่างที่เรากระทำไปด้วยเจตนาดี แต่ผลลัพธ์ออกมาไม่ดี อาจจะด้วยกระบวนการระหว่างทางที่เราทำกับเขา เช่น ผู้ใหญ่อาจมีความเชื่อที่ว่า การตีจะทำให้เด็กดีขึ้น ทำให้เด็กเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น จากที่ดื้อ ซน ตีเสร็จเขาอาจจะหยุด และอาจจะเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งจริงๆ เขาก็อาจจะไม่ได้เปลี่ยน แต่ผลลัพธ์ไม่ได้ตามที่เราคาดหวัง
หรือการเปรียบเทียบลูกหลานกับคนใกล้ตัว กับพี่น้อง เพื่อนสนิท คนข้างบ้าน เปรียบเทียบถึงความขยัน ความมุ่งมั่นต่างๆ อยากจะทำให้ลูกหลานเป็นอย่างคนๆ นั้น ซึ่งบางทีมันก็ตรงกันข้ามเลย เรารู้ว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดี แต่พอเราถูกเปรียบเทียบมันทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกด้อยค่า และไม่อยากทำสิ่งนั้นแล้ว หรือทำประชดไปเลย”
ครูลำปลายมาศพัฒนาต่างครุ่นคิดกันว่า…อะไรที่ทำไปออกแล้วส่งผลด้านลบกับผู้เรียน หรือทำลาย self-esteem ทำลายคุณค่าของเขาบ้าง ซึ่งครูจะไม่ทำ
“เพราะฉะนั้นที่ลำปลายมาศพัฒนาเราจะไม่มีการตัดสินเด็ก ไม่มีการจัดอันดับผู้เรียน ไม่ให้ดาว ไม่มีคะแนนสองส่วนสิบ แต่เราเปรียบเทียบกับตัวผู้เรียนเองว่า แต่ละคนมาฐานยังไง แล้วงอกงามยังไง คำพูดด้านลบเราก็ไม่ใช้ หรือแม้แต่การทำโทษเราก็ไม่มี แต่เรามีแนวปฏิบัติถ้าเด็กมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม
และที่สำคัญเราไม่มีหน้าที่ไปยัดความรู้หรือยัดเยียดความเชื่อต่างๆ ที่เราเคยเชื่อ เคยรู้มาให้กับผู้เรียน แต่เรามีหน้าที่สร้างผู้เรียนให้เป็นนักเรียนรู้ และนี่คือจิตวิทยาเชิงบวก ซึ่งมีรายละเอียดอีกเยอะมาก”
3. กิจกรรมฝึกฝนผู้เรียน 3 ช่วงต่อวัน เช่น กิจกรรมโยคะจิตศึกษา กิจกรรมกำกับสติ กิจกรรม Brain Gym จิตศึกษา
รอบแรก เช้า 20 นาที หลังกิจกรรมหน้าเสาธง ครูจะต้องให้สถานการณ์กับผู้เรียน โดยเป็นสถานการณ์ที่ทุกคนมีโอกาสที่จะเผชิญในชีวิต เพราะฉะนั้นเด็กจะต้องถูกฝึกให้ตัดสินใจกับสถานการณ์ต่างๆ ที่เขามีโอกาสเอาไปใช้
กิจกรรมรอบ 2 คือ 15 นาทีหลังอาหารเที่ยง มาในรูปของบอดี้สแกนเพื่อฝึกโหมดรู้ ให้ผู้เรียนกลับมารู้สึกผ่อนคลาย เพื่อพร้อมที่จะเรียนรู้ในช่วงบ่าย
กิจกรรมรอบ 3 คือ การจัดกาย จัดใจ 30 นาที (บ่าย 3 ถึงบ่าย 3 ครึ่ง) ครูต๋อยย้ำว่า รอบนี้สำคัญมาก เพราะผู้เรียนต้องมีโอกาสได้ใคร่ครวญทบทวนสิ่งที่ได้เรียนรู้ตลอดทั้งวันที่ผ่านมา โดยมีโจทย์ให้เด็กๆ ได้ทบทวนตัวเองทุกๆ วัน แล้วแต่ครูจะหยิบยกประเด็นไหนขึ้นมาให้ผู้เรียนได้ใคร่ครวญ เช่น อะไรที่เข้าใจใหม่เข้าใจเพิ่ม อะไรคือความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำอย่างไรถึงสำเร็จหรืออะไรที่ยังไม่สำเร็จตอนนี้ถึงตรงไหน แล้วจะไปต่ออย่างไรเพื่อให้สำเร็จ การบ้านคืออะไร
ในส่วนของการพัฒนาปัญญาภายนอกด้วย ‘PBL-Problem based learning’ นั้น “คอนเซปต์คร่าวๆ เวลาเราจะดีไซน์การเรียนรู้มันก็จะมีองค์ประกอบสำคัญคือ เราต้องมี Objective ให้กับผู้เรียน ซึ่งก็จะระบุเป็นสมรรถนะที่ผู้เรียนจะต้องเกิด แล้วก็ต้องมีสถานการณ์และมีโจทย์ให้กับผู้เรียน จากนั้นการที่เขาจะเอาชนะโจทย์หรือสถานการณ์ได้ เขาจะต้องได้ใช้สมรรถนะเฉพาะ และทุกครั้งที่เด็กได้นำสมรรถนะมาใช้เพื่อแก้โจทย์สถานการณ์ของครูนั้น เขาจะเกิด 6 สมรรถนะหลักเสมอ แม้ว่าบางตัวมันอาจจะเด่นกว่า หรือบางตัวอาจจะไม่เด่น”
นอกจากนำสมรรถนะเฉพาะมาใช้แล้ว กิจกรรมของครูนั้นต้องเป็น active learning กิจกรรมจะมีหลายกิจกรรมมากที่เด็กจะต้องเรียนรู้เพื่อเอาชนะสถานการณ์หนึ่ง ไม่ใช่ว่ากิจกรรมเดียวจะสามารถเอาชนะโจทย์หรือสถานการณ์นั้นได้้เลย เพราะว่าสถานการณ์หรือโจทย์ที่ครูให้ต้องเป็นสถานการณ์หรือโจทย์ที่ท้าทาย ได้เกิดกระบวนการคิดที่ซับซ้อน
3 สเต็ป คลี่คลายสถานการณ์เมื่อเด็กทะเลาะกัน
สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาเมื่อเด็กๆ ทะเลาะกัน หรือมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์นั้น ครูต๋อยอธิบายว่า มี 3 เรื่องที่ต้องทำเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น
เรื่องแรก คือ ต้องให้ ‘การรู้ตัว’ กับเด็ก เช่น เด็กทะเลาะกันมีการบาดเจ็บเกิดขึ้น อาจจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม เมื่อครูเห็นเหตุการณ์ ครูมีหน้าที่แยกสองฝ่ายนั้นก่อน เพื่อทำให้ทั้งคู่เย็นลง จากนั้นจึงค่อยมาพูดคุยกันต่อหน้า โดยคำถามสำคัญที่ต้องถามกับเด็กทั้งสองฝ่ายคือ เกิดอะไรขึ้นช่วยเล่าให้ฟังหน่อย? คำถามเพื่อให้เขารู้ตัว โดยให้เด็กผลัดกันเล่า และเมื่อคนหนึ่งเล่าจบก็ถามอีกคนว่า เห็นด้วยไหม? เพื่อนเล่าตรงไหมหรือประเด็นไหนที่หลุดไปหรือเปล่า? จากนั้นจึงให้อีกคนเริ่มเล่าในมุมของเขา
“หลังจากที่เรารู้แล้ว เราก็ถามต่อเลยว่า รู้สึกยังไงกับสิ่งที่เล่ามา? อันนี้คือการฝึกฝนเรื่องการรู้ตัว เพราะบางทีอุบัติเหตุหรือการทะเลาะวิวาทมันเกิดจากการเล่นของเด็ก เขาอาจจะยังยั้งกำลังไม่เป็น”
เมื่อเด็กรู้ตัวแล้ว ต้องให้ ‘การเรียนรู้’ กับเด็ก โดยใช้คำถาม เช่น แล้วจะแก้ปัญหานี้อย่างไร? เพราะในเมื่อปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว เขาต้องเป็นคนฝึกแก้ปัญหานั้น เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้
“เราต้องฝึกให้เขารับผิดชอบต่อผลการตัดสินใจทุกครั้งที่เขาทำลงไป จะไม่มีว่าทำผิดแล้วพ่อแม่รับผิดแทน ที่นี่เราฝึกตั้งแต่อนุบาลเลย เพราะฉะนั้นเราก็จะช่วยกันคิดว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไง เพื่อไม่ให้มันเกิดขึ้นอีก เด็กเขาก็จะบอกวิธี ถ้าครูรู้สึกว่ามันยังมีอีกนะวิธีที่บอกมา ครูก็ถามต่อได้ว่า มีอย่างอื่นอีกไหมที่เราสามารถรับผิดชอบได้? เขาก็จะช่วยกันคิดอีก”
เพราะหน้าที่ ‘ครู’ ไม่ใช่การหาว่าใครผิดใครถูก ไม่ได้มีหน้าที่ไปตัดสินชี้ผิดชี้โทษว่าใครทำก่อนคือผิด ทำหลังคือถูก
และเมื่อเขาได้เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาจากการคิดไตร่ตรองของตัวเองแล้ว ต้องให้ ‘การฝึกฝน’ ต่อไป ในส่วนนี้ครูต้องไว้วางใจ เชื่อใจว่า เด็กๆ จะทำได้ เขาจะสามารถเล่นด้วยกันได้อีก
“ถ้าเกิดเหตุการณ์อีกก็กลับมาอีก กลับมาข้อที่หนึ่งใหม่ เพราะบางทีการที่ผู้ใหญ่ไปตัดสินว่า ใครผิดใครถูก บางทีเด็กเขากลัว เวลากลัวสมองมนุษย์จะทำหน้าที่คือ หนี กับ สู้ แต่เด็กเขาไม่สู้เรา เพราะฉะนั้นวิธีหนีของเขาบางทีเขาเงียบ แต่ไม่ได้หมายความว่าเขายอมรับต่อการตัดสินนั้นของเรา แต่เขาจะเก็บไว้”
นอกจากนี้ ‘การลงโทษ’ เด็กด้วยการให้บำเพ็ญประโยชน์ เช่น ขัดห้องน้ำ ทำความสะอาดห้อง หรือจะเป็นการวิ่งรอบสนาม แม้จะไม่ใช่การใช้ความรุนแรง แต่วิธีการเช่นนี้อาจเป็นการบ่มเพาะให้เด็กเกลียดสิ่งที่ดี ซึ่งจะเป็นผลเสียมากกว่าผลดีด้วยซ้ำ
“แทนที่จะรักการออกกำลังกาย แต่เขารู้สึกว่าเมื่อไรที่ได้วิ่งรอบสนาม ทุกคนจะมองว่านั่นคือเขาถูกลงโทษ เมื่อไรที่เขาตั้งใจอยากไปช่วยทำความสะอาด ทุกคนก็จะจับจ้องว่านี่คือการทำผิดอะไรแน่ๆ ถึงต้องได้มาขัดห้องน้ำ
บางทีสิ่งดีๆ เราเอาไปใช้เป็นเครื่องมือการลงโทษ เด็กก็จะกลัวเรื่องนั้น แล้วก็ไม่อยากที่จะแตะที่จะทำ เพราะทุกสายตามองว่านั่นคือการลงโทษ”
เปลี่ยนคะแนน เป็นการ empower เด็ก
ส่วนคำถามที่ว่า ถ้าไม่มีการให้คะแนน แล้วเด็กมีผลการเรียนอย่างไร? ครูต๋อยอธิบายต่อถึงคำว่า ‘ไม่ได้ให้คะแนน’ ของครูลำปลายมาศพัฒนา
“ยกตัวอย่างเช่น วิชาคณิตศาสตร์ 10 ข้อ ให้เด็กทำการบ้านแล้วกลับมาส่ง ปรากฏว่าเด็กถูกสองข้อ จะไม่สองส่วนสิบ ไม่มีแปดส่วนสิบ ไม่มีหนึ่งดาว สองดาว สามดาว กับเด็กอนุบาล แต่ครูที่นี่จะใช้วิธี empower ชื่นชมในความตั้งใจ ในความพยายามแม้ทำไม่ถูกก็ตามแต่เด็กตั้งใจ เด็กอนุบาลวาดภาพคน กล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรงก็จะเป็นเส้นที่สะเปะสะปะไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่เด็กเขาตั้งใจในตอนนั้น ครูก็จะชมเขาว่า เยี่ยมมากค่ะลูก”
สิ่งที่ครูต้องทำการบ้านหนัก คือ ‘ความตั้งใจ’ กับ ‘ความเข้าใจ’ คนละเรื่องกัน ครูต้องแยกให้ออก จากตัวอย่างครูเองก็เริ่มเห็นแล้วว่า วิชาคณิตศาสตร์โจทย์สิบข้อเด็กทำถูกเพียงสองข้อ แสดงว่าเด็กคนนี้ยังไม่เข้าใจเนื้อหาเรื่องนี้ของวิชาคณิตศาสตร์ ครูจึงมีหน้าที่หาทางช่วย
ข้อควรระวังคือ “เราอย่าทำลายความตั้งใจของเด็ก ไม่อย่างนั้นเขาจะรู้สึกว่า ความพยายามนั้นไร้ค่า ครูมีหน้าที่ดันเขาต่อ เอาอีกลูก อีกนิดเดียว เรามาคุยกันอีกรอบนึง มาทวนกันอีกรอบนึง ตรงไหนนะ ตรงนี้หนูคิดว่ายังไง นี่คือหน้าที่ครูที่ต้องทำ”
ในส่วนของเกรดหรือคะแนนนั้น ที่ลำปลายมาศพัฒนาไม่ใช้การสอบ แต่ใช้วิธีประเมินผู้เรียนตามสภาพจริง ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย ผ่านภาระงาน ชิ้นงาน
“ตามหลักสูตร 51 หลักสูตรเดิมที่ผู้เรียนยังมีคะแนนอยู่ เราก็จะมีรูบิกสกอร์ (Rubric เกณฑ์ประเมินแบบขั้นบันได หรือแบบกระจาย) ที่จะดูว่า ชิ้นงาน ภาระงาน แต่ละอย่างที่เขาแสดงออกมานั้น มันลิงก์ไปยังมาตราฐานตัวชี้วัดของวิชาไหนบ้างในหลักสูตร ครูเขาจะวิเคราะห์ไว้แล้ว แล้วก็มาเทียบกับรูบิกสกอร์ ซึ่งเด็กๆ ก็จะมีคะแนน มีเกรดปกติ
เราไม่เปรียบเทียบว่า ใครเก่งกว่าใคร แต่เรามองว่า เขางอกงามยังไงต่างหาก นั่นคือสิ่งสำคัญ และไม่สามารถทำให้ทุกคนเท่ากันได้ด้วย แต่ทุกคนมีสิทธิงอกงามตามศักยภาพของเขา”
“ส่วนการประเมินฐานสมรรถนะก็ไม่มีคะแนน แต่จะทำให้เห็นว่าพฤติกรรมบ่งชี้ของผู้เรียนเป็นยังไง ที่ทำให้เห็นว่าเขาผ่านสมรรถนะแต่ละตัว แล้วมีชิ้นงาน ภาระงาน ตัวไหนที่เป็นตัวอ้างอิงได้ว่า อ๋อ…พฤติกรรมนี้มันดูจากชิ้นงานเหล่านี้ได้”
ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล ทางโรงเรียนได้ชวนพ่อแม่ ผู้ปกครอง มาสร้างความเข้าใจกับนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงวิธีการดูแลเด็กๆ ผ่านกระบวนการ CoP (Co-parents) โดยเป้าหมายของการทำ CoP ผู้ปกครอง มี 3 เป้าหมายหลักๆ ด้วยกัน ดังนี้
อย่างแรก ทำอย่างไรให้ผู้ปกครองนั้นเข้าใจเป้าหมายที่แท้ของการศึกษา เพราะในชีวิตจริงเด็กๆ อยู่ที่บ้านกับครอบครัว
“การเรียนรู้แบบเดิมที่เราเคยผ่านกระบวนการมามันอาจจะตอบโจทย์เมื่อในอดีต แต่ว่าทุกวันนี้โลกเปลี่ยน ความซับซ้อน ความแปรปรวน มันเกิดเร็วมาก เพราะฉะนั้นเป้าหมายการศึกษาสำหรับเด็กยุคในใหม่มันอาจจะเปลี่ยนไปทั้งวิธีการด้วย เราจึงมีกิจกรรมที่เรียกว่า CoP ผู้ปกครอง ในทุกๆ เดือน หรือบางทีผู้ปกครองก็ CoP กันเองด้วย”
นอกจากทำให้เห็นว่าเป้าหมายที่แท้จริงของการศึกษาแล้ว อีกหน้าที่สำคัญของการทำ CoP คือ ผู้ปกครองจะต้องรู้จักลูกตัวเองให้มากกว่าชื่ออะไร ชอบอะไร แต่รวมไปถึงว่าตอนนี้ลูกอยู่ในวัยไหน
“เพราะการปฏบัติตัวกับเด็กแต่ละวัยมันไม่สามารถทำด้วยวิธีการเดิมได้ เช่น ลูกอยู่อนุบาลเราสามารถกอดหอมกันได้ แต่พอโตขึ้น วัยรุ่นมัธยมอาจจะทำวิธีนั้นกับเขาไม่ได้ เขาอาจจะต้องการความเป็นส่วนตัว เขาอาจจะเป็นคนที่นอนดึกตื่นสายแต่ไม่ได้หมายความว่าเขาขี้เกียจ แต่ด้วยวิถีของวัยรุ่นจะเป็นประมาณนั้น เพราะฉะนั้นพ่อแม่เองก็ต้องเข้าใจว่าลูกเราแท้จริงเป็นอย่างไร”
ที่สำคัญคือผู้ปกครองต้องมองเห็นว่าศักยภาพของแต่ละครอบครัวสามารถเกื้อหนุนลูกอย่างไรได้บ้าง สามารถที่จะส่งเสริมพัฒนาการที่โดดเด่นของลูกหรือพัฒนาการที่ยังล่าช้าของลูกได้อย่างไร นี่คือหน้าที่ของโรงเรียนที่ต้องทำงานกับผู้ปกครอง