- ช่วง 1 – 2 ปีที่ผ่านมามีการผลักดันให้ยกเลิกการสอบคัดเลือกเด็กป.1 เข้าโรงเรียน
- แม้พระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 จะไม่ได้ระบุให้ยกเลิกการสอบเข้า ป.1 ยังคงมีการตั้งคำถามว่ามีเพียงวิธีการสอบเท่านั้นเหรอที่ใช้คัดเลือกเด็กๆ ป.1 เข้าโรงเรียน? ยังมีวิธีอื่นอีกหรือไม่ วิธีที่จะไม่เป็นการผลักภาระไปให้ไหล่เล็กๆ ของเด็กๆ ต้องแบกรับความกดดัน ความเครียด
- The Potential ชวนผู้บริหารจาก 2 โรงเรียนใหญ่ คือ คุณอรุณศรี จันทร์ทรง ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ และ คุณทนง โชติสรยุทธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา ซึ่งไม่มีการจัดสอบวิชาการคัดเลือกเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ว่า เมื่อไม่มีการจัดสอบวิชาการ โรงเรียนใช้วิธีอะไรคัดเลือก จัดทำด้วยวิธีคิดอะไร และอยากส่งต่อข้อเสนออะไรต่อสังคม
หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มคลี่คลาย มีมาตรการคลายล็อกดาวน์ กระบวนการหรือการดำเนินงานทั้งทางรัฐ เอกชน และภาคธุรกิจ ค่อยทยอยกลับไปดำเนินการหลังจากทุกอย่างหยุดชะงักลง หนึ่งในนั้นคือการเปิดรับนักเรียนในภาคการศึกษา 2563 โดยเฉพาะการเปิดรับนักเรียนเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
ในระดับชั้นปีอื่นการรับนักเรียนเข้าคือการสอบเข้าได้ตามกระบวนการ แต่สำหรับชั้นป.1 เนื่องจากเรามีพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. 2562 ซึ่งประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2562
โดยมาตรา 8 ระบุว่า การจัดการเรียนรู้ของสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยต้องเป็นไปเพื่อเตรียมความพร้อมของเด็กปฐมวัย แต่ต้องไม่เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการสอบแข่งขันระหว่างเด็กปฐมวัย
แม้ พ.ร.บ. ดังกล่าว จะไม่ได้ระบุให้ยกเลิกการสอบเข้า ป.1 อย่างที่นักการศึกษาผลักดันและคาดหวังกันในช่วงร่างพ.ร.บ. เพื่อลดความร้อนแรงของความคาดหวังกดดัน และนำเด็กๆ วัยปฐมวัย หรือ อนุบาล กวดวิชาอย่างเข้มงวดเครียดขึง อย่างไรก็ตาม ยังมีการทำงานผลักดันเพื่อสร้างความเข้าใจในระดับนโยบายกับผู้บริหารสถานศึกษา และ ผู้ปกครองรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง
หากผู้ปกครองท่านใดอยากทราบหรือศึกษาต่อว่า การสอบเข้าป.1 ส่งผลเสียอย่างไร อ่านต่อได้ที่นี่
The Potential ชวนผู้บริหารจาก 2 โรงเรียนใหญ่ คือ คุณอรุณศรี จันทร์ทรง ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ และ คุณทนง โชติสรยุทธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา ซึ่งไม่มีการจัดสอบวิชาการคัดเลือกเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ว่า เมื่อไม่มีการจัดสอบวิชาการ โรงเรียนใช้วิธีอะไรคัดเลือก จัดทำด้วยวิธีคิดอะไร และอยากส่งต่อข้อเสนออะไรต่อสังคม
โรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ไม่สอบวิชาการเข้า ป.1 แล้วคัดเลือกนักเรียนอย่างไร?
ราวปี พ.ศ. 2561 โรงเรียนสาธิตละอออุทิศเริ่มเปลี่ยนวิธีคัดนักเรียนชั้น ป.1 จากเดิมที่ใช้การประเมินตามหลักปฐมวัยและสอบเชาวน์ มาเป็นการคัดเลือกโดยใช้ หนึ่ง-พอร์ตรายงานพัฒนาการของนักเรียน ซึ่งเป็นรายงานที่คุณครูโรงเรียนสาธิตละอออุทิศและที่อื่นๆ มักจดเอาไว้อยู่แล้ว สอง-ใช้การพูดคุยกับเด็กๆ ในเรื่องทั่วไปเพื่อให้เห็นตัวตน วิธีคิด การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ตามพัฒนาการที่ควรเป็น และ สาม-ใช้การสัมภาษณ์ผู้ปกครองเพื่อให้เห็นทัศนคติต่อการดูแลลูก หนึ่งในนั้นคือทัศนคติที่ว่าการดูแลเด็กคนหนึ่งไม่ใช่หน้าที่ของโรงเรียนฝ่ายเดียว แต่มาจากการได้รับการสนับสนุนจากผู้ปกครองด้วย
“จริงๆ การสอบเดิมของเราก็ไม่ได้เป็นการสอบวิชาการแต่ใช้ข้อสอบเชาวน์ปัญญา เช่น การใช้ภาพอนุกรมง่ายๆ การทดสอบทักษะทางภาษาโดยให้เล่นเกมเรียงบัตรคำได้ หรือ ใช้เกมการศึกษาของเด็กปฐมวัยทั้ง 13 แบบ มีอุปมา อุปไมย การเปรียบเทียบ และอื่นๆ
“แต่จุดเปลี่ยนที่ทำให้ยกเลิกการสอบเข้าป.1 เริ่มจากการเห็นภาระของครูผู้ดูแลเด็กอนุบาล 3 ว่า ตอนต้นปีครูยังสนุกอยู่ แต่เมื่อเริ่มภาคเรียนที่ 2 ราวๆ เดือนพฤศจิกายน ถึง ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงที่เด็กต้องไปสอบโรงเรียนดังๆ ครูจะเริ่มเครียดจากความคาดหวังของผู้ปกครอง เช่นว่า ทำไมลูกยังอ่านไม่ได้ เขียนหนังสือยังไม่อยู่ในบรรทัดเลย กิจกรรมที่โรงเรียนส่วนใหญ่ก็มีแต่การเล่นอิสระ ผู้ปกครองเลยกังวลและเกิดการเปรียบเทียบกับโรงเรียนรอบข้างที่เร่งสอนอ่านเขียนให้เด็ก ผู้ปกครองมารับลูกที่โรงเรียนประมาณ 3-4 โมง ก็จะพาไปเรียนกวดวิชากับอาจารย์ชื่อดัง เรียนตั้งแต่ 4 โมงเย็นถึง 1 ทุ่ม หลังปีใหม่เด็กจะลาหยุดทั้งอาทิตย์เพราะผู้ปกครองไปซื้อคอร์สเรียนพิเศษไว้ 2 สัปดาห์ให้เด็กเรียน เมื่อถามเด็กว่าเรียนอะไรไปบ้าง เขาก็บอกว่าทำแบบฝึกเสริมทักษะทุกวัน ช่วงเช้า 3 ชั่วโมง บางทีเช้า 2 ชั่วโมง บ่าย 2 ชั่วโมง เด็กก็จะเข้าไปเรียนตามตาราง
“ไม่ใช่แค่ครูที่เครียด แต่เราเห็นความเป็นเด็กของเขาหายไป แววตาเขาจะมีความทุกข์”
กลับมาที่วิธีการรับนักเรียนของโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ ผอ. อรุณศรี อธิบายให้ฟังทีละขั้น ขั้นแรกคือ พอร์ตรายงานพัฒนาการของนักเรียน หรือ portfolio
“ปกติแล้วคุณครูชั้นปฐมวัยทุกระดับชั้นจะรวบรวมแฟ้มผลงานและเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กให้ไม่ว่าเด็กจะเรียนต่อที่เดิมหรือไปสมัครเข้าที่อื่น ทุกคนจะได้แฟ้มผลงานเป็นของตัวเอง พอร์ตนี้จะเป็นตัวแทนบอกเล่าพัฒนาการของเด็กทุกด้าน ผลงานที่เด็กและผู้ปกครองเลือกเก็บในแฟ้มก็ยังสะท้อนตัวตนรอบด้านของเด็กด้วย”
ผอ. อรุณศรีอธิบายต่อว่า แม้นักเรียนไปสอบที่อื่นแล้วไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน ยังมีสิ่งยืนยันจากแฟ้มว่า เขาไม่ได้ไม่เก่ง ยังมีสิ่งยืนยันในแฟ้มอีกมากที่เป็นตัวตนของเขา
ต่อมา คือ การพูดคุยกับเด็กๆ เพราะเห็นว่าพัฒนาการของเด็กในวัยนี้ การเขียนไม่ใช่พัฒนาการที่ควรมีสูงสุดแต่เป็นการสื่อสาร ซึ่งจะเป็นการพูดคุยในเรื่องทั่วไปก่อน และต่อมาที่คำถามปลายเปิดกว้างๆ เพื่อให้เห็นจินตนาการ วิธีคิด หรือสิ่งที่อยู่ในใจของเด็ก เช่น ให้เด็กยกตัวอย่างถึงสิ่งของหรืออะไรก็ได้ที่ให้แสงสว่าง ส่วนใหญ่เด็กจะตอบว่าหลอดไฟ แต่บางคนอาจบอกว่า ดวงอาทิตย์ เทียน หรืออื่นๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเขามีจินตนาการหรือคิดยืดหยุ่นแค่ไหน
ตรงนี้ ผอ. อรุณศรี ตั้งข้อสังเกตว่า “อาจไม่จริงนะคะ แต่สังเกตว่าเด็กที่กวดวิชาเยอะ เขาจะคิดเลขเร็ว แต่ถ้าพลิกแพลงหรือให้ตอบคำถามปลายเปิด จะไม่ค่อยเห็นคำตอบที่ยืดหยุ่นเท่าไร”
นอกจากนี้ ยังใช้คำถามวัดว่าเขาจะแก้ปัญหาจากสถานการณ์ที่ให้ได้ไหม เช่น ให้เด็กลองไปทำความรู้จักกับคุณครูคนอื่น ให้ลองไปถามชื่อคุณครูท่านนี้ให้หน่อย ไปลองยืมไม้บรรทัดคุณครู เพื่อดูว่าเขากล้าแสดงออกไหม กล้ามีปฏิสัมพันธ์กับใครอื่นหรือเปล่า
สุดท้าย คือการสอบผู้ปกครอง เป็นการวัดทัศนคติผู้ปกครองที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ ต่อโรงเรียน และดูความพร้อมของผู้ปกครองในการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็กๆ คู่ไปกับโรงเรียน ไม่ผลักให้การดูแลเด็กเป็นของโรงเรียนแต่ผู้เดียว
ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการคัดเลือกนักเรียนของโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ อย่างไรก็ตาม ผอ.อรุณศรี เข้าใจว่าในโรงเรียนใหญ่ๆ และดัง ซึ่งมีความต้องการเข้าโรงเรียนสูงแต่เก้าอี้มีน้อย ก็เป็นสิทธิ์ของโรงเรียนที่จะจัดการคัดอย่างไรก็ตาม แต่ส่วนตัวมองว่าการคัดเลือกควรเป็นไปอย่างเข้าใจพัฒนาการเด็ก และเชื่อว่าการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ โรงเรียนคือปัจจัย คือการจัดชุดประสบการณ์ตามแนวทางที่โรงเรียนเชื่อ และเป็นสภาพแวดล้อมหนึ่งของเด็ก แต่อีกส่วนอยู่ที่ครอบครัวหรือคนที่แวดล้อมเด็กด้วย
“สมัยก่อนอาจบอกว่า ผู้ปกครองอยากให้เข้าโรงเรียนประถมชื่อดังเพื่อที่จะได้เรียนต่อชั้นมัธยมที่นั่นต่อไปได้ เรียกว่ายอมลำบากในตอนเด็กๆ จะได้อยู่ที่โรงเรียนนี้ยาวไปเลย แต่ยุคสมัยนี้มันไม่ได้เป็นแบบนั้นแล้ว วันหนึ่งเด็กอาจจะอยากเรียนในแนวทางอื่นซึ่งโรงเรียนที่ว่าไม่ตอบโจทย์ก็ได้ หรืออาจมีโรงเรียนอื่นที่พัฒนาคุณภาพขึ้นมาเท่าเทียมกันหรืออาจดีกว่า เป็นตัวเลือกใหม่ๆ ก็ได้
“แต่ไม่ว่าจะเรียนที่ไหน พ่อแม่ก็ต้องเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของชีวิตเขา หากวันนี้กำลังจะพาเขาไปลองสอบที่โรงเรียนดังๆ อยากฝากถึงผู้ปกครองว่าอย่าคาดหวังในการสอบ แค่บอกกับเขาว่าให้ทำให้เต็มที่ คำพูดของพ่อแม่เป็นสิ่งสำคัญนะคะ ต่อให้คุณครูทั้งโรงเรียนชื่นชมแต่ถ้าพ่อแม่ไม่เคยยอมรับในความสามารถของลูก ความสำคัญมันไม่เท่ากันเลย ถ้าเขาไม่ได้ก็อย่าซ้ำเติมเขา บอกเขาว่าเราไปเรียนโรงเรียนอื่นก็ได้ ลองถามเขาดูว่าบรรยากาศการสอบเป็นยังไง พ่อแม่ก็คือคนสำคัญของลูกไม่ว่าจะระดับชั้นอนุบาล ประถม หรือจนเขาเติบโต พ่อแม่ก็ยังเป็นคนสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา
“ส่วนตัวเชื่อว่ารูปแบบการเรียนรู้ควรจะเปลี่ยนไปและต้องมีความหมายกับชีวิตของเขา เริ่มจากการมองให้เห็นว่าเด็กแต่ละคนมีความเก่งไม่เหมือนกัน คิดว่าเรา เราหมายถึงทั้งโรงเรียนและผู้ปกครองต้องทำยังไงถึงจะผลักดันความสามารถของเขาไปสู่เส้นทางที่เขาอยากเป็นหรือช่วยให้เขาค้นพบตัวตนได้อย่างไร
“ช่วงอนุบาลควรให้เด็กได้ลองทุกอย่าง เมื่อเขาค้นพบตัวตนของเขาเราก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขา และสนับสนุนให้เขาทำมันได้ดีที่สุด คนที่วางนโยบายหลักต้องเข้าใจความแตกต่างข้อนี้ก่อน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นคำเปรียบเปรยว่า เรากำลังตัดเสื้อไซส์เดียวเพื่อให้ทุกคนใส่ เช่นนี้เราก็เอาข้อสอบเดียวมาวัดเด็กไม่ได้เหมือนกัน” ผอ. อรุณศรีกล่าว
การคัดเลือกเด็กเข้าเรียน ป.1 แบบโรงเรียนเพลินพัฒนา
ที่โรงเรียนเพลินพัฒนาก็ไม่ใช้วิธีรับเด็ก ป.1 ด้วยการสอบตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียนในปี พ.ศ. 2545 และเป็นหนึ่งในโรงเรียนเครือข่ายที่ผลักดันพ.ร.บ. ปฐมวัย พ.ศ. 2562 นี้ เพราะเชื่อว่าการเร่งรัดพัฒนาการของเด็กๆ ด้วยการสอบคัดเลือก จะสร้างความกดดันให้พ่อแม่ส่งลูกไปกวดวิชา กลายเป็นผลเสียต่อพัฒนาการของเด็ก ลงท้ายทำให้เด็กไม่มีความสุขกับการเรียน และอาจสร้างบาดแผลหรือปมวัยเด็กจากความรู้สึกล้มเหลวโดยไม่จำเป็น
“ไม่ได้หมายความว่าเด็กเรียนรู้ไม่ได้นะ จริงๆ การคิดเลข หรือการอ่านออกเขียนได้เร็ว ไม่ได้เป็นข้อเสียถ้าเป็นการเรียนรู้ตามธรรมชาติ ไม่ใช่จากการกวดวิชา ซึ่งทำให้เด็กไม่มีความสุขกับการเรียน ผมคิดว่าในช่วงแรกของการศึกษา เราควรทำให้เด็กเกิดความรู้สึกอยากเรียนก่อน แต่ถ้าเริ่มต้นด้วยการไปยัดเยียดเด็ก เขาอาจเริ่มไม่สนุกกับการเรียนรู้ ส่งผลต่อพัฒนาการในระยะยาว เพราะเด็กต้องมานั่งอยู่ในห้องที่มีการเตรียมสอบอย่างเดียว เราคิดว่ามันทำให้พัฒนาการเด็กเสียไป” ผอ. ทนง โชติสรยุทธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนเพลินพัฒนา
การรับเด็ก ป.1 ของโรงเรียนเพลินพัฒนา ผอ.ทนงเรียกว่า เป็นการทดสอบพัฒนาการของเด็ก โดยแบ่งเป็น 2 การทดสอบ คือ Denver II และ Mini IQ test
“Denver II เป็นการทดสอบในเรื่องและการช่วยเหลือตนเอง กล้ามเนื้อเล็กและการปรับตัว ด้านภาษา การใช้กล้ามเนื้อใหญ่ และมีการบันทึกพฤติกรรมขณะทดสอบ เพื่อคัดกรองเด็กเบื้องต้น ค้นหาเด็กที่ไม่มีอาการผิดปกติและแยกเด็กที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาด้านพัฒนาการ เพราะเด็กกลุ่มหลังต้องการการดูแลเป็นพิเศษ การทดสอบจะช่วยให้เราเห็นพัฒนาการอย่างรอบด้าน และสามารถออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้พวกเขาได้ อย่างเด็กที่พัฒนาการปกติก็สามารถจัดการเรียนรู้แบบทั่วไป ส่วนเด็กที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการผิดปกติ เบื้องต้นเราจะให้ผู้ปกครองพาเด็กไปตรวจเพื่อวินิจฉัยให้ละเอียดก่อนที่เราจะวางแผนออกแบบจัดการเรียนรู้ให้เขาได้อย่างเหมาะสม
“ส่วน Mini IQ test เป็นการทดสอบเพื่อดูพัฒนาการเด็ก เช่น ความสามารถในการเรียนรู้ การแก้ไขปัญหา รวมไปถึงดูเรื่องการใช้กล้ามเนื้อ การเคลื่อนไหวต่างๆ การจับประเด็น การใช้ภาษา จะไม่ได้เป็นการทดสอบด้านวิชาการ การทดสอบพวกนี้เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นตามพัฒนาการเด็กอยู่แล้ว เราอาจทดสอบผ่านการทำกิจกรรม การเล่นเกม
“อีกส่วนหนึ่งเป็นการสัมภาษณ์ผู้ปกครอง เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ปกครองเข้าใจแนวทางของโรงเรียนจริงๆ ซึ่งทั่วไปเราอยากให้ผู้ปกครองได้เดินดูโรงเรียนจนถึงมัธยมปลายเลย ว่าแนวทางการจัดการเรียนรู้และบรรยากาศต่างๆ ตรงกับที่อยากได้ไหม หากคิดว่าใช่จึงค่อยสมัคร ที่ต้องเน้นเรื่องพวกนี้ เพราะผู้ปกครองและโรงเรียนต้องทำงานร่วมกันในการพัฒนาเด็กของเรา ต้องไปในทางเดียวกัน”
เมื่อถาม ผอ. ทนง ว่าคิดเห็นอย่างไรกับการสอบในระบบใหญ่ การแข่งขัน และธุรกิจการศึกษา ผอ. ทนงให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า
“แน่นอนว่าการสอบคือการคัดเลือกเด็กเข้ามาในระบบ แต่ไม่ได้เป็นตัวพิสูจน์ว่าระบบการเรียนรู้ของโรงเรียนดีจริง หรือเพียงพอต่อการพัฒนาเด็กคนหนึ่ง ที่โรงเรียนเพลินพัฒนา เราเชื่อในกระบวนการบ่มเพาะเด็กของเรา ถ้าเป็นเด็กที่เข้ามาเรียนตามความเหมาะสมของวัยเขา เมื่อเข้ามาอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ที่ทำให้เด็กอยากที่จะเรียนรู้ เรียนแล้วเข้าใจ สามารถประยุกต์ใช้งานได้ เราเชื่อว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้หมด”
ผอ.ทนง เล่าต่อว่า วิธีการรับเด็กโดยไม่ใช้การสอบวิชาการ จะเป็นตัวกระตุ้นหรือสร้างความเข้าใจ (educate) ให้ผู้ปกครองหันมาสนใจพัฒนาการตามวัยของเด็กมากขึ้น ที่โรงเรียนมีนโยบายให้ผู้ปกครองที่สนใจส่งลูกมาเรียนที่นี่ต้องเข้าคอร์สอบรมก่อน เพื่อได้เข้าใจว่าพัฒนาการลูกในแต่ละช่วงวัยเป็นอย่างไร แม้สุดท้ายอาจไม่ได้เข้าเรียนที่นี่ ก็ยังได้ประโยชน์จากการเข้าใจพัฒนาการของลูก แล้วนำไปใช้งานจริงได้
“การเลี้ยงลูกให้เหมาะสมตามพัฒนาการแต่ละช่วงวัยเป็นสิ่งที่โรงเรียนเราสนับสนุนมาตลอด เรามีจัดอบรมให้ผู้ปกครองเพื่อให้สามารถจัดการเลี้ยงดูที่เหมาะสมตามวัยของลูก เช่น มีพื้นที่และช่วงเวลาให้เด็กได้เล่น ได้พักผ่อน มีกิจกรรมให้ทำ ฝึกการใช้กล้ามเนื้อ ซึ่งเราหวังว่าการทำงานนี้จะเป็นตัว educate พ่อแม่ให้มีความรู้มากขึ้นตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ อยู่”
หลายคนอาจตั้งคำถามว่า แล้วการคัดเลือกเด็กผ่านพัฒนาการต่างกับการสอบอย่างไร สุดท้ายแล้วการคัดเลือกเด็กเข้าโรงเรียนยังคงมีอยู่ไม่ว่าจะรูปแบบไหน ผอ.ทนงให้ความเห็นว่า จุดประสงค์ของการทดสอบเด็กที่โรงเรียนเพลินพัฒนาเพื่อดูว่าเด็กมีพัฒนาการรอบด้านอย่างไร เพื่อที่จะได้จัดรูปแบบการศึกษาให้ตรงกับเด็ก ส่วนการคัดเลือกอื่นๆ ที่ต้องมีอยู่ส่วนใหญ่เกิดเพราะความต้องการของผู้ปกครองที่อยากให้ลูกเข้าโรงเรียนดังๆ มีสูง แต่ที่นั่งในโรงเรียนมีจำกัด ทำให้ต้องใช้วิธีคัดเลือกที่อาจเรียกว่า ‘แข่งขัน’ โดยปริยาย
“ขณะนี้ต้องยอมรับว่าโรงเรียนในไทยยังมีคุณภาพที่แตกต่างกันค่อนข้างเยอะ ทำให้พ่อแม่ที่มีกำลังและมีทางเลือก พยายามเลือกโรงเรียนที่ดีที่สุดให้กับลูก ผมมองว่าสิ่งที่โรงเรียนแต่ละแห่งทำได้ คือ พัฒนาคุณภาพการศึกษาของตัวเอง อย่างโรงเรียนทางเลือกแบบเรา ก็พยายามเน้นการเรียนรู้ที่เด็กสนุกกับการเรียนรู้ โดยผ่านประสบการณ์การลงมือทำ พยายามให้ทุกวิชามีความหมายและมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตในอนาคต มีสมรรถนะสำคัญเพื่อให้พร้อมเผชิญกับโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว วิชาเรียนของที่นี่และกระบวนการเรียนรู้ของเรา จึงไม่ค่อยเหมือนโรงเรียนทั่วไป คือ เด็กได้เรียนรู้มากกว่าหลักสูตรปกติเยอะมาก เพื่อสร้างเยาวชนที่มีศักยภาพอีกระดับหนึ่งขึ้นมาให้กับประเทศ”
“ส่วนตัวผมอยากให้พ่อแม่เลือกโรงเรียนที่เหมาะสมกับตัวเด็กและอยู่ใกล้บ้าน อย่างที่โรงเรียนเพลินพัฒนา ถ้าผู้ปกครองอยู่ไกลมาก เราก็ขอให้เขาลองมองโรงเรียนอื่นที่อยู่ใกล้บ้านเขาแทน เพราะถ้าโรงเรียนอยู่ไกล คนที่เหนื่อยคือเด็ก ส่งผลให้เด็กเกิดความเครียด ผมคิดว่าโรงเรียนดีๆ ยังมีอีกเยอะ แล้วพ่อแม่เองก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยพัฒนาโรงเรียนแถวบ้านให้มีคุณภาพที่ดีได้ ผ่านการสนับสนุน ให้กำลังใจ หรือกระตุ้นอะไรบางอย่าง ผมมองว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถช่วยกันทำได้ ให้โรงเรียนใกล้บ้านของเรามีคุณภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
“ผมว่าการศึกษาตอนนี้มันกำลังเปลี่ยนไปให้ความสำคัญกับคำว่าสมรรถนะ คือ เด็กเรียนรู้แล้วเอาไปใช้งานในชีวิตจริงได้เท่าไหร่ เด็กมีความสามารถที่จะเรียนรู้ด้วยตัวเองได้มากน้อยแค่ไหน ตัวเด็กมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ มี mindset เป็นยังไง ผมว่าเรื่องพวกนี้เป็นหัวใจของความสำเร็จมากกว่า ก่อนอื่นผมอยากให้พ่อแม่เข้าใจทิศทางของโลกที่เปลี่ยนไปแล้ว มันไม่เหมือนที่เราเคยเจอที่เด็กต้องเก่งเรื่องการสอบเป็นหลัก ฉะนั้น พ่อแม่อย่าไปซีเรียสว่าต้องหาโรงเรียนที่เน้นวิชาการจนกลายเป็นเน้นเรื่องการสอบ การไปติวกัน เพราะเด็กจะสูญเสียโอกาสที่ได้เรียนรู้สิ่งอื่นๆ ซึ่งอาจสำคัญกว่าการสอบ
“แต่ก่อนอื่นพ่อแม่ต้องเชื่อมั่นก่อน ซึ่งความเชื่อมั่นเกิดมาจากเข้าใจสถานการณ์จริงๆ เช่น ตอนนี้เทรนด์การรับสมัครของบริษัทชั้นนำต่างๆ เขาคัดเลือกคนโดยดูจากทักษะการแก้ไขปัญหา ความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ ความสามารถในการเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ความมุ่งมั่น ความรับผิดชอบ มันไม่ใช่ว่าคะแนนดีจะมีโอกาสดีมากกว่าคนคะแนนไม่ดี หรืออย่างการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่ปัจจุบันใช้ระบบ TCAS รอบแรกมีการคัดที่แฟ้มผลงานของเด็ก แปลว่าเขาต้องการเด็กที่มีแรงบันดาลใจ มีความสนใจ มีความสามารถและมีตัวตนเหมาะที่จะมาเรียนวิชาชีพนี้ไหม
“สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งที่พ่อแม่ทุกคนทำได้ คือ การให้กำลังใจลูก เพราะเมื่อไรที่เขาเริ่มสนุกกับการเรียนรู้ เขาอยากรู้ ทุกอย่างมันตามมาเอง” ผอ.ทนง กล่าวทิ้งท้าย