- ครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการขัดเกลาทางจิตใจ ครอบครัวจึงเป็นทั้งต้นทุนชีวิตและฐานที่มั่นคงของชีวิตๆ หนึ่งตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโต
- ครอบครัวที่เผชิญปัญหา กระบวนการเปลี่ยนแปลงครอบครัวทั้งครอบครัว เริ่มที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหนึ่งอย่าง โดยมีเงื่อนไขให้กับคุณพ่อคุณแม่ว่า ถ้าเกิดเลือกพฤติกรรมที่ดีแล้วลูกทำได้ดีแล้วต้องชื่นชมเขาด้วย
- การสื่อสารพลังบวกในครอบครัว เช่น การมองหาข้อดีของลูกเหมือนการจับถูกคนที่รัก จุดเริ่มต้นของการเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เพื่อลดช่องว่างของความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างให้เป็นครอบครัวพลังบวกขึ้นมา
วัยเด็ก เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ของชีวิตที่สำคัญต่อการเติบโตสู่การเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต สิ่งที่หล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตนั้น องค์ประกอบที่สำคัญคือ ‘ครอบครัว’ สังคมแรกของพวกเขาและเธอ สังคมๆ นี้จะช่วยผลักดันให้เด็กเติบโตในเส้นทางไหน พ่อแม่หรือผู้ปกครองทั้งหลายย่อมมีส่วนสำคัญ
ในหนังสือ 3 ฐาน สานพลังต้นทุนชีวิต: บทเรียนการเสริมสร้างพลังบวก โดย รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี หรือ หมอเดว ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น กล่าวว่า ต้นทุนชีวิต (Life Assets) ของเด็กและเยาวชนไม่ใช่แค่เพียงทักษะชีวิตเท่านั้น แต่รวมถึงจิตสำนึกทั้งต่อตนเองและสิ่งแวดล้อมด้วย มีผลต่อการพัฒนาการทางด้านจิตใจ สังคม สติปัญญาที่จะหล่อหลอมให้เด็กคนหนึ่งเติบโตอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง
“เด็กที่เกิดมาท่ามกลางครอบครัวและสิ่งแวดล้อมที่อบอุ่น มีความเข้าอกเข้าใจ ทุนชีวิตก็จะพัฒนาเพิ่มพูนเป็นทุนที่เข้มแข็ง หากเด็กคนใดเกิดมาท่ามกลางความขัดสน ด้อยโอกาส เติบโตในสังคม สิ่งแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่ดี ทุนชีวิตก็จะค่อยๆ ถูกบั่นทอนลงเรื่อยๆ”
เพราะครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการสร้างกระบวนการเรียนรู้และการขัดเกลาทางจิตใจ ครอบครัวจึงเป็นทั้งต้นทุนชีวิตและฐานที่มั่นคงของชีวิตๆ หนึ่งตั้งแต่แรกเกิดจนเติบโต
ก่อร่างสร้าง ‘ครอบครัวพลังบวก’
‘ครอบครัวพลังบวก’ (Positive Parenting) หนึ่งในโครงการย่อย ‘ครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง’ โดย ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) ซึ่งถูกนำเสนอในเวทีวิชาการ ‘โครงการครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง ครั้งที่ 3’ ที่มี รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี หรือ หมอเดว เป็นหัวเรือใหญ่
โครงการนี้วางแผน และออกแบบ สร้างระบบพี่เลี้ยงชุมชน มุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาศักยภาพ แกนนำพลังบวกในชุมชน โดยใช้กระบวนการเสริมพลังบวก นำจุดแข็งของชุมชน ทุนมนุษย์ ทุนสังคม และจุดแข็งของเด็กและเยาวชน ทุนชีวิต ทักษะ 5 ด้านในการบริหารจัดการชุมชนในการแก้ปัญหา มาเป็นฐานในการพัฒนา ทำให้เกิดระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษาในชุมชน พัฒนาภาคีครอบครัวให้เกิดความเข้มแข็ง ด้วยบริบทของชุมชน คือ ทักษะการบริหารจัดการทรัพยากรในชุมชน ทักษะการเฝ้าระวัง ทักษะการส่งต่อ ทักษะพัฒนากิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาเด็กเต็มวัย และทักษะการเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษา
โดยจากการทำงานคลุกคลีกับครอบครัวมากว่า 20 ปี ทำให้หมอเดวเห็นความสำคัญของการสื่อสารพลังบวกในครอบครัว คุณหมอเล่าว่า มีเคสหนึ่งเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างครอบครัวพลังบวก ซึ่งเคสนั้นนักจิตวิทยาเอ่ยปากกับคุณหมอว่า อาการหนัก เป็นเคสที่คุณแม่กับลูกชายซึ่งเป็นวัยรุ่นนั้นไม่ค่อยจะลงรอยกันเท่าไรนัก เด็กคนนั้นชื่อ ตั้ม (นามสมมติ)
บรรยากาศการพบกันระหว่างคุณแม่ ลูกชาย และคุณหมอเดวในวันนั้นค่อนข้างขมุกขมัว คุณหมอเล่าว่าเริ่มแรกได้คุยกับลูกชายก่อน โดยแม่นั่งรออยู่ด้านนอกห้อง ภาพแรกของเด็กคนนั้นที่นั่งไขว้ห้างกระดิกเท้ายังคงอยู่ในความทรงจำของคุณหมอมาจนทุกวันนี้ และต่อจากนี้เป็นบทสนทนาระหว่างคุณหมอเดวกับตั้ม
“ตั้มเป็นไงเหรอ” คุณหมอถามตั้ม
“ไม่รู้แม่ง อยากรู้หรอ ไปถามแม่เอา แม่มีปัญหา” นี่คือประโยคแรกที่เด็กคนนั้นโต้กลับคุณหมอ
“โอเค…ตั้มไม่มีปัญหา แม่ของตั้มมีปัญหา แต่ถ้าเกิดหมอเชิญแม่ของตั้มเข้ามา คิดว่าแม่จะปรึกษาเรื่องอะไร”
“เรื่องเกรดมั้ง” ตั้มตอบ
“แล้วเกรดเราเป็นไง” คุณหมอถามต่อ
“0.26 ครับ” คำตอบของตั้มที่พูดออกมาผ่านใบหน้าเรียบเฉย วินาทีนั้นคุณหมอเดวพยายามที่จะหาพลังบวกของเขาออกมาเลยถามไปว่า
“แล้วไง 0.26 มันโผล่มาได้ยังไง”
“อ๋อ รักชอบพอกับครูคนหนึ่งก็เลยยอมแก้ F เป็น D บุญนะหมอที่ไปแก้”
“แต่หมอไม่คิดว่าแค่เกรดต้องมาพบหมอนะ”
“ใช่ครับ วันนี้ผมไปไล่ชกม.6 ฐานมาแย่งแฟนผม”
“อ้าวแล้วเราเรียนอยู่ชั้นไหน”
“ม.3 ครับ”
“เฮ้ย แล้วไม่กลัวหรอว่ารุ่นพี่จะมาสกรัม”
“กลัวทำไมหมอ มันเพื่อนผมทั้งนั้น ผมสอบตกซ้ำชั้นมาสามปี”
จากนั้นก็เชิญคุณแม่ของตั้มเข้ามาในห้องเพื่อพูดคุยพร้อมๆ กัน บรรยากาศ ณ ตอนนั้นคือหน้าลูกแม่ยังไม่หันไปมอง ความเครียด ความผิดหวังต่างๆ ของคนเป็นแม่อัดอั้นสาดใส่ลูกเข้าไปเต็มประตู ทั้งด่าทอและตำหนิติเตียน คุณหมอเดวได้พยายามทำให้คุณแม่สงบสติอารมณ์ลง และชวนคุยเรื่องบวกๆ โดยลองให้นึกถึงข้อดีของลูกชายสักหน่อย “แม่แกใช้หางตามองลูกตัวเองแล้วบอกว่า หมอเรื่องดีๆ ของมันนึกไม่ออก แต่เรื่องชั่วๆ ของมันนี่ยังไม่หมด”
ขณะนั้นเองคุณหมอเดวจึงหันไปถามตั้มในคำถามเดี๋ยวกัน ตั้มตอบทันทีว่า “แม่มีข้าวให้กิน แม่มีบ้านให้อยู่ แล้วทุกครั้งที่เจ็บไข้ได้ป่วยแม่พามาพบหมอ”
การบ้านจึงตกเป็นของคุณแม่ที่จะต้องพยายามค้นหาข้อดีในตัวลูกชาย แม้ว่าจะต้องใช้เวลาสักหน่อยแต่ความพยายามครั้งนั้นไม่สูญเปล่าแน่นอน เนื่องจากลูกชายได้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
“สัปดาห์ที่สามลูกมาแล้วเข้ามาทุบโต๊ะหมอเลย บอกหมอๆ ไปทำอะไรแม่ผม แม่ผมเปลี่ยนไป หมอก็ตกใจว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับแม่เขา”
“เด็กพรั่งพรูทุกสิ่งทุกอย่างออกมาเลยว่า หมอรู้ไหมชีวิตผมเกิดอะไรขึ้น บ้านผมนี่ยากจน ผมไม่มีบ้านเป็นหลังหรอก มันเป็นแฟลตเอื้ออาทร แล้วห้องก็เป็นห้องเล็กๆ ใช้เฟอร์นิเจอร์กั้นไว้เป็นห้องนอน หมอรู้เปล่าเมื่อก่อนเวลาแม่เดินเข้าบ้านแม่ด่าเช็ดตั้งแต่หัวจรดเท้า ผมไม่เคยมีดีอะไรในสายตาเลย แต่เดี๋ยวนี้แม่เปลี่ยนไป แม่นิ่งมากขึ้น แล้วคนเราถ้าจะไปดูว่าลูกมีดีอะไร ต้องใช้สมองส่วนคิดเบรกอารมณ์ตัวเอง แล้วมองว่ามันมีดีอะไรอยู่นะ วินาทีที่แม่เบรกตัวเองปรากฏว่า ลูกสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงของแม่”
“แต่ก่อนผมเป็นเด็กเรียนเก่งนะหมอ เกือบจะเป็นตัวแทนเขตเลยด้วยซ้ำไป แต่พอผมขึ้นประถมปลายภาพที่เห็นคือ พ่อกับแม่ผมทะเลาะกัน แล้วหมอคิดว่าคนอย่างผมเครียดไหม พ่อผมก็รักแม่ผมก็รัก แล้วคนรักสองคนกำลังทะเลาะกัน แล้วผมจะคิดอะไรยังไง แก้ปัญหาไม่ได้ มีวิธีเดียวที่ผมจะทำได้คือหนีออกไปจากห้องนั้น ไปเล่นเกมไปเป็นฮีโร่ในเกม เริ่มขโมยตังค์ เริ่มหนีเรียน เที่ยวผับ สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า เข้าแก็งซิ่งมอเตอร์ไซค์ เสพยา”
คุณหมอเดวจึงยื่นข้อเสนอให้ตั้มด้วยความสามารถของหมอเท่าที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันได้ ตั้มอยากให้หมอช่วยเรื่องอะไร
“เก่งจริงหมอเชิญพ่อผมมาให้ได้ก่อน แสดงว่าคีย์เวิร์ดอยู่ที่พ่อ เดี๋ยวผมให้เบอร์ ในที่สุดเด็กเป็นคนวางกุศโลบายทั้งหมดแล้วก็หาวิธีการในการเชิญคุณพ่อมา”
ครั้งแรกที่พ่อกับแม่ของตั้มมาเจอกัน คลินิคกลายเป็นสนามอารมณ์ที่กำลังเดือดพล่าน ทั้งสองต่างพ่นอารมณ์ใส่กันอย่างขาดสติ
“มาถึงปุ๊บพ่อก็ด่าแม่เลย ปล่อยให้เลี้ยงลูกอย่างเดียวยังเลี้ยงลูกให้ดีไม่ได้ แม่สวนกลับทันทีเลย ก็วันๆ เอาแต่เมาเหล้า เคยช่วยเลี้ยงไหม หมอไม่เห็นบรรยากาศที่ดีเลย สงบสติอารมณ์กันก่อนแล้วหาข้อตกลงร่วม อันนี้หมอเล่าแบบสั้นๆ นะ คือเราทำเป็นกระบวนการแบบครอบครัวทั้งครอบครัว ให้เลือกมาเลยหนึ่งพฤติกรรมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ซึ่งพ่อแม่และตัวเด็กเลือกพฤติกรรมการกลับมาบ้านให้เร็วขึ้น เพราะปกติเด็กคนนี้เขาไม่กลับบ้านเลย โดยหมอมีเงื่อนไขให้กับคุณพ่อคุณแม่ว่าถ้าเกิดเลือกพฤติกรรมที่ดีแล้วเขาทำได้ดีแล้วต้องชื่นชมเขาด้วยนะ”
ผ่านไปหนึ่งเดือนสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เป็นครั้งแรกในชิวตที่ลูกได้ยินคำพูดชื่นชมหลุดออกมาจากปากของพ่อ แต่เป็นคำชมที่ยังไปไม่ถึงการสื่อสารพลังบวก
“ตั้มเล่าว่ามีวันหนึ่งผมกลับมาบ้านเร็ว พ่อพูดชมว่าพายุพัดเข้าประเทศไทยรึไงวะถึงพัดเองกลับมาบ้านเร็ว ส่วนแม่เดินเข้ามาตบไหล่เบาๆ แล้วพูดว่า แม่ภูมิใจในตัวลูกมากที่ลูกกลับบ้านเร็ว รู้ไหมไอพวกที่กลับบ้านดึกๆ เนี่ยติดเน็ต ติดเกม มาเป็นชุดเลย เกิดอาการวัยรุ่นเซ็ง ต้องมานั่งฝึกพ่อแม่ต่ออีกว่าคำชื่นชมทำกันยังไง ที่หมอเล่านี่คือ 20 ปีที่แล้วนะ
เราใช้พฤติกรรมหนึ่งพฤติกรรมคือการกลับมาบ้านเร็ว ฝึกคุณพ่อคุณแม่สื่อสารพลังบวกภายในครอบครัว เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในครอบครัว เกรด 0.26 ในวันนั้นมาเป็น 2.60 ในเวลาต่อมาแล้วเลิกยาเสพติดทุกประเภท เลิกซิ่งมอเตอร์ไซค์แต่มาช่วยแม่ขายของ ครั้งนั้นเป็นแรงบันดาลใจกับหมอมากเลยว่า มันจำเป็นต้องทำครอบครัวพลังบวกขึ้นมา”
การสื่อสารพลังบวกในครอบครัว
“อย่าลืมว่าวันนี้คุณได้จับถูกคนที่คุณรักและคนรอบข้างของคุณแล้วหรือยัง?”
การที่มองหาข้อดีของลูกเหมือนการจับถูกคนที่รัก จุดเริ่มต้นของการเอาใจใส่ซึ่งกันและกัน เพื่อลดช่องว่างของความสัมพันธ์ที่ห่างเหิน ซึ่งเป็นการสื่อสารพลังบวกที่คุณหมอเดวพยายามจะสร้างให้เป็นครอบครัวพลังบวกขึ้นมา
“คำว่า Positive psychology คำว่า พลังบวก เกิดขึ้นตั้งแต่หมออยู่โรงพยาบาลเด็ก เลยถือโอกาสที่จะทำเรื่องราวของทุนชีวิต อีกอันที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดคำว่าทุนชีวิตมันก็เป็นกระบวนหนึ่งที่ทำให้เกิดครอบครัวพลังบวก”
“แล้วยังมีโอกาสได้ทำงานระบบพี่เลี้ยงในชุมชนด้วย กับป้าอุ้มแห่งร่มเกล้าลาดกระบัง กรุงเทพฯ ในการแก้ปัญหา แล้วเอาชุมชนสลัมย้ายขึ้นตึกเอื้ออาทรเก้าตึกแนวดิ่งและชุมชนแนวราบ เราเอาเรื่องพลังบวกมาเป็นตัวตั้ง เราจะให้น้ำหนักสำคัญของการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ในที่สุดปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นก็คือกระบวนการที่ดึงเด็กมีส่วนร่วมโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง โดยป้าอุ้มเป็นแกนนำ เดินเคาะประตูบ้านสำรวจ 3 เรื่อง
หนึ่ง…สำรวจทุนทางสังคม สอง…ทุนมนุษย์ในพื้นที่ของการเคหะชุมชนร่มเกล้าลาดกระบังว่ามีดีอะไรอยู่บ้าง และสาม…ไปฟังเสียงเด็กและเยาวชน ทุกๆ เสาร์อาทิตย์เรารวบรวมจิตแพทย์ กุมารแพทย์ หรือแม้กระทั่งนักมนุษย์ศาสตร์ มานั่งสังเคราะห์กันว่าครอบครัวแบบไหนที่เรียกว่า ครอบครัวพลังบวก ใช้เวลาเกือบปีเศษ จนได้เป็นห้องสมุดสัญจรมีชีวิต โดยใช้รถเข็นขายก๋วยเตี๋ยวแปรรูป แล้วพัฒนาเป็นระบบพี่เลี้ยงในชุมชนร่มเกล้า เป็นที่มาของทุนชีวิตพลังบวก”
การสำรวจทุนสังคม ทุนมนุษย์ ขณะเดียวกันก็ฟังเสียงของเด็กและเยาวชน นำข้อมูลทั้งหมดมาพัฒนาเกิดเป็นกิจกรรมสร้างสรรค์ขึ้นมา นี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จโครงการ ชุดแผนงานครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง