- ความเครียดเรื่องอนาคตการศึกษาในช่วงโรคระบาด คาดการณ์ว่าจะมีเด็กหลุดจากการศึกษาเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน การเรียนการสอนในโลกออนไลน์ที่อย่างไรมันก็แทนการพูดคุยปฏิสัมพันธ์ในห้องไม่ได้ การพัฒนาตัวตนที่ต้องการปฏิสัมพันธ์เชิงสังคม ซึ่งเกือบครึ่งชีวิตของเรา เราเข้าไปพัฒนาสร้างตัวตนในพื้นที่โรงเรียน
- ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลกระทบเรื่องความเครียดนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดแล้วจบไปได้ง่ายและจะหายในช่วงเวลาสั้นๆ แต่จะผลกระทบจะกินเวลา และอาจ ‘ดีเลย์’ ได้ นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่โรงเรียนจะต้องเตรียมการรับมือกับความเครียดของเด็กๆ หลังโรคระบาดในระยะเวลานาน
ช่วงนี้ข่าวคนฆ่าตัวตายเป็นใบไม้ร่วง อ่านประกบคู่ข่าว กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) คาดการณ์สิ้นปี 2564 อาจมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษากว่า 6.5 หมื่นคน โอกาสต่อมหาวิทยาลัยเหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ ด้วยสาเหตุยากจนเฉียบพลัน จากวิกฤตเศรษฐกิจที่กระทบจากวิกฤตโรคระบาด
แน่นอนว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ความเครียดเพราะการศึกษาเพียวๆ แต่ระหว่างบรรทัด เราพบความเครียดจากวิกฤตเศรษฐกิจ ความกังวลต่ออนาคต ความสิ้นหวังอับจนไร้ทางออกของสมาชิกในครอบครัว…อยู่ในข่าวครบจบในเรื่องเดียว (แต่ถ้าอ่านข่าวหลายชิ้นประกอบกัน แน่นอนว่าจะต้องเห็นภาพใหญ่และกลัวเกรงกว่านี้แน่นอน)
ในประเด็นความเครียดเรื่องอนาคตการศึกษาในช่วงโรคระบาด มีหลายประเด็นที่ต้องพูดคุย ตั้งแต่การคาดการณ์ว่าจะมีเด็กหลุดจากการศึกษาเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจครัวเรือน การเรียนการสอนในโลกออนไลน์ที่อย่างไรมันก็แทนการพูดคุยปฏิสัมพันธ์ในห้องไม่ได้ รวมทั้งการพัฒนาตัวตนที่ต้องการปฏิสัมพันธ์เชิงสังคม ซึ่ง…เกือบครึ่งชีวิตของเรา เราเข้าไปพัฒนาสร้างตัวตนในพื้นที่โรงเรียน
ไม่รวมความอึดอัดกดดันและสิ้นหวังต่อสังคมจากวิกฤตการเมือง ที่ทำให้คนรุ่นใหม่สิ้นหวังหมดแรง ไม่อยากลงทุนกับอนาคต หดหู่ แต่ก็ก้ำกึ่งระหว่างยอมจำนนสยบต่ออำนาจ หรือ บุกทะลวงต่อสู้เพื่อกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง
แต่ก็ต้องขีดเส้นใต้ไว้ว่า นี่ไม่ใช่แค่ที่ไทย แต่เป็นกันทั่วโลก โดยเฉพาะกับประเทศที่จำนวนผู้ติดเชื้อมาก ผู้เสียชีวิตเป็นแสน นั่นอาจหมายถึง ‘ญาติ’ ของนักเรียนหลายคนที่สูญเสียไปจากโรคระบาด รวมกับการรายงานข่าวการต่อสู้กับโรคร้ายรายวัน
บทสนทนาที่เกิดในบ้านจากความเครียดทั้งโรคระบาด เศรษฐกิจ และความไม่แน่นอนของสถานการณ์ภายนอก ย่อมส่งผลต่อเด็ก ทั้งความเครียด ความกลัวและความกังวล
ทั้งหมดนำมาสู่การทยอยเก็บข้อมูลและศึกษาเรื่อง ‘ผลกระทบ’ จากความเครียดสะสมในช่วงการระบาดโควิด-19 และไม่ใช่แค่โควิดระบาดแล้วจึงเครียด แต่ในเรื่องราวของชีวิตที่แตกต่างหลากหลาย ความเครียดของแต่ละบุคคลมีมาก่อนหน้านั้นแล้วแน่ๆ แต่อาจเลวร้ายลงจากวิกฤตครั้งนี้
งานศึกษาจากทั่วโลกเหล่านี้ ก็เพื่อคุณครูและนักจิตวิทยาโรงเรียนได้ร่วมกันต่อสู้กับวิกฤตความเครียด ด้วยการปรับหลักสูตรและการรับมือเชิงจิตวิทยาทั้งในห้องเรียนและโครงสร้างใหญ่ของสังคม
สาเหตุความเครียดสะสมจากโควิด-19 ที่เทียบภาวะซึมเศร้า และอาจกระทบแบบ ‘ดีเลย์’
รายงานจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ (The U.S. Centers for Disease Control and Prevention) เปิดเผยตัวเลขการเข้ารับการดูแล รักษา ให้คำปรึกษาของเด็กๆ ด้วยประเด็นความเครียด ระหว่างเดือนเมษายน ถึง ตุลาคม ปี 2020 พบเด็กอายุ 5 และ 11 ปี เข้ารับการดูแลสูงขึ้น 24 เปอร์เซ็นต์ ส่วนวัยรุ่นอายุ 12-17 ปี กราฟเพิ่มสูง 31 เปอร์เซนต์ เมื่อเทียบกับตัวเลขในช่วงเวลาเดียวกัน
โดยความเครียดที่วัยรุ่นกว่า 900 คน และผู้ปกครองกว่า 2,000 คน บอกเล่าคล้ายกัน คือความกังวลว่า การระบาดครั้งนี้จะสิ้นสุดเมื่อไร สมาชิกในครอบครัวจะเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตหรือไม่ และนี่เป็นความเครียดสะสมที่เข้มข้นมากกว่าความกังวลเรื่องการเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเคยเป็นความกังวลอันดับต้นๆ ของพวกเขา
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ซาร่า กอร์แมน นักวิจัย และผู้อำนวยการมูลนิธิ JED มูลนิธิทำงานด้านสุขภาพจิตกับนักเรียนและมหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลกระทบเรื่องความเครียดนี้ ไม่ใช่สิ่งที่เกิดแล้วจบไปได้ง่ายและจะหายในช่วงเวลาสั้นๆ แต่จะผลกระทบจะกินเวลา และอาจ ‘ดีเลย์’ ได้
กล่าวคือ ผลกระทบอาจไม่เกิดวันนี้ แต่เมื่อถูกกระตุ้นให้นึกถึงช่วงเวลาที่ยากลำบาก ก็อาจค่อยส่งผลกระทบทีหลังได้ อย่างที่เกิดขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยซึมเศร้า และเราไม่มีทางรู้เลยว่าผลกระทบที่แท้จริงและทั้งหมดจะเกิดขึ้นหลังจากนั้นด้วยเวลาเท่าไร อาจเป็นหนึ่งปีให้หลัง สิบปีให้หลัง
นี่จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งที่โรงเรียนจะต้องเตรียมการรับมือกับความเครียดของเด็กๆ หลังโรคระบาดในระยะเวลานาน
เนื่องจากเป็นรายงานที่โฟกัสที่สหรัฐอเมริกา มีข้อมูลเฉพาะพื้นที่ที่น่าสนใจ ระบุว่า กลุ่ม minority เช่น กลุ่มนักเรียนผิวดำ (Black) ลาติน นักเรียนชาวเอเชียน กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ มีประสบการณ์ความเครียดเพิ่มกว่ากลุ่มคนผิวขาว และจะยิ่งรายงานว่าเครียดมากขึ้น หากที่บ้านยากจน วิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ก็ยิ่งซ้ำเติมวิกฤตเศรษฐกิจครัวเรือนเข้าไปใหญ่
ความเครียดสะสมที่อาจทำให้ไม่กลับมาเรียน
ในตัวเลขนี้ ไม่ใช่แค่รับมือกับความเครียด แต่มันสะท้อนกลับมาถึงตัวเลขว่าเด็กๆ กลุ่มไหน สามารถกลับมาเรียนเต็มเวลาได้เหมือนก่อนเกิดโควิด
นักเรียนผิวขาว 1 ใน 4 กลับมาเรียนแบบเต็มเวลาในห้องเรียน ขณะที่นักเรียนผิวดำ, ลาติน, อเมริกันเอเชียน กลับมาเรียนเต็มเวลาในห้องเพียง 1 ใน 10 ขณะที่ตัวเลขอีกชุดชี้ว่า นักเรียนผิวสี 64 เปอร์เซ็นต์ยังคงเรียนออนไลน์ ขณะที่นักเรียนผิวขาว 41 เปอร์เซ็นต์ กลับมาเรียนในห้องเรียน
เรื่องนี้มีผลจริงๆ เพราะโรงเรียนไม่ใช่แค่ที่เรียนหนังสือ แต่มีบุคคล มีครู มีเพื่อน มีปฏิสัมพันธ์ และเป็นเรื่องจริงที่ว่า เด็กทุกคนไม่ได้มีความสุขดีกับการอยู่ที่บ้าน หลายคนถูกทารุณ โดดเดี่ยว และปัญหาครอบครัวหลายอย่าง การมาโรงเรียน อย่างน้อยก็มีผู้ใหญ่หลายคน ที่อาจเป็น ‘หนึ่งคนในโลก’ ที่มีปฏิสัมพันธ์กับเค้า และอาจทำให้เด็กคนนึงเติบโตมาได้อย่างมีบาดแผลน้อยที่สุด
ชวนดูตัวเลขที่ JED ทำข้อมูลความเครียดของผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุ 2-18 ปี และ ตัววัยรุ่นเองอายุ 13-18 ปี ที่เล่าว่า ความเครียดในช่วงเวลานี้ มีเรื่องอะไรบ้าง
สุดท้าย บทสรุปของบทความนี้และงานวิจัยรวบรวมข้อมูลความเครียดสองสามชิ้นใน Education Week อาจไม่ได้บอกวิธีแก้แบบตรงไปตรงมา แต่เป็นเพียงการสร้างตระหนักและเข้าใจปัญหาว่า ความเครียดที่เกิดจากวิกฤตโรคระบาด ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ แต่ส่งผลกระทบกินลึก อาจเทียบเคียงไม่ได้กับวิกฤตใหญ่แบบ 911 หรือสงครามกลางเมือง แต่มันเป็นเป็น ‘ความเครียดสะสม’ (chronic stress) เครียดเล็กน้อยแต่สะสมไม่จางหายเป็นระยะเวลานาน เหมือนเราถือของหนักที่รังแต่มีคนวางของบนแขนเพิ่ม เราค่อยๆ ชินกับการถือของหนัก ที่พลอยจะหนักขึ้นเรื่อยๆ ปรับตัวให้ชินได้แต่สุดท้ายอาจทำให้หลังหักทันทีทันใดไม่รู้ตัว
งานวิจัยเหล่านี้ไม่มีวิธีแก้ เป็นแต่เพียงข้อมูลเอาไว้ยันกับหน่วยงานการศึกษาหลายภาคส่วนว่าต้องเร่งทำงานแก้ปัญหาความเครียดในเด็ก เพียรเช็คตัวเลขการกลับหรือไม่กลับเข้ามาเรียนต่อในวันที่ประเทศพร้อมเปิด และเรากลับมามีวิถีปกติอีกครั้ง และการลงทุนทางการเงินกับการช่วยเหลือเด็กๆ จัดการความเครียดในหมวดสังคมสงเคราะห์
ทั้งหมดนี้ บ้านเราเองต้องเร่งจัดการ ตัวเลขนักเรียน 6.5 หมื่นคนหลุดจากระบบการศึกษา และโอกาสต่อมหาวิทยาลัยเหลือ 10 เปอร์เซ็นต์นั้น อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และนี่คือทรัพยากรมนุษย์ ทรัพยากรของชาติ ที่เราต้องเร่งระดมทุกสรรพกำลัง เป็นกำลังหลักฟื้นฟูประเทศหลังวิกฤตโควิด…ที่ไม่รู้เลยว่าจะจบลงเมื่อไร และมันจะพลิกโฉมประเทศและโลกไปขนาดไหน
อ้างอิง
เด็กอาจหลุดระบบการศึกษา 6.5 หมื่นคน เหตุยากจนเฉียบพลัน (prachachat.net)