- เมื่อ 13 ชีวิตออกมาจากถ้ำโดยสวัสดิภาพ พวกเขาต้องปลอดภัยจนถึงที่สุด ภารกิจวันนี้จึงยังไม่เสร็จ พวกเรา-คนแปลกหน้าที่เด็กๆ ไม่รู้ ต้องกู้ภัยเขาต่อไป เพื่อให้เขากลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ
- พอพวกเขากลับมาใช้ชีวิตได้ปกติ สิ่งที่เกิดตามมาคือความรู้สึกขอบคุณ แต่ทำอย่างไรไม่ให้กลายเป็น ‘หนี้บุญคุณ’ คอยตีกรอบอนาคต
- วิกฤติที่พวกเขาผ่านมาจะกลายเป็นความแข็งแกร่งและต้นทุนชีวิตขึ้นมาได้ คนแปลกหน้าอย่างเราช่วยได้ – แค่เอาใจช่วยอยู่ห่างๆ
ภาพ: โกวิท โพธิสาร
เมื่อทั้ง 13 หมูป่าได้รับความช่วยเหลือออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัย ร่างกายที่เคยเจ็บป่วยจะค่อยๆ ฟื้นตัว แต่สิ่งที่หมอยังตรวจและระบุอาการไม่ได้คือ ‘จิตใจ’ ว่าจะปลอดภัยแค่ไหนเมื่อออกมาพบโลกแล้ว
ความรู้เฉพาะทางอย่างนี้คงต้องปรึกษาแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ
สำหรับ แพทย์หญิงพรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ถ้าเด็กๆ และโค้ชทั้ง 13 เป็นคนไข้ในความดูแล จะระบุลงไปในใบสั่งยาสั้นๆ ว่า
“ให้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติกับครอบครัว”
เพราะ สิ่งที่เด็กๆ ต้องการคือครอบครัว เพื่อน โรงเรียน ชุมชน และชีวิตเดิมของเขา – เท่านั้น
ที่ผ่านมา ในประเทศไทยมีข่าวหรือเหตุการณ์ที่คนเสพสื่อตลอดเวลาอย่างนี้มากน้อยแค่ไหน
ประเทศไทยน่าจะผ่านหลายรอบแล้ว พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้ก็จะมีคนขึ้นมาพูดทันทีว่า ช่วงนี้เราเข้ามาภาวะนั้นอีกแล้วนะ เพียงแต่ว่าเราจะจัดการกับตัวเราเองอย่างไร
เรื่อง 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำหลวงเป็นที่สนใจมากมายขนาดนี้ ถือเป็นเรื่องปกติของเหตุการณ์ที่ทำให้คนรู้สึกมีส่วนร่วมมาก ได้รับความสนใจ เพราะโดยธรรมชาติการเกิดอุบัติภัยเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจอยู่แล้ว และถ้าอุบัติภัยนั้นๆ ไปสัมผัสกับความรู้สึกของผู้คน การรู้สึกอยากจะเข้ามารับรู้ หรือมีความรู้สึกร่วม ก็เป็นไปตามสถานการณ์
หลังจากที่ออกจากถ้ำมาแล้ว หลายคนเป็นห่วงว่าทั้ง 13 คนอาจจะเกิดอาการ PTSD (POST-TRAUMATIC STRESS DISORDER) หรืออาการความเครียดหลังจากเหตุการณ์สะเทือนใจ
มันเป็นเรื่องการคาดการณ์ไปข้างหน้า อาจจะเป็นแนวทางที่ทำให้เราระมัดระวัง และมีบทเรียนในการทำงาน แต่มันไม่ได้เป็นสูตรคณิตศาสตร์ ว่าจะต้องเป็นแบบนั้น ต้องเป็นแบบนี้ เราควรกลับมาอยู่กับปัจจุบัน มีสติ ติดตามข่าว แล้วทำความเข้าใจว่าเราเป็นใคร เรามีส่วนร่วมกับเหตุการณ์นี้อย่างไร เราทำอะไรได้ และอะไรเป็นสิ่งที่เราควรทำ
อะไรคือข้อควรระวังสำหรับสื่อ และผู้เสพสื่อ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจของเด็กและโค้ชต่อจากนี้
เรื่องที่ง่ายที่สุดก็คือการกลับไปมีชีวิตปกติ ฟังดูง่ายแต่ไม่ง่าย สิ่งที่ดีที่สุดคือการกลับไปมีชีวิตที่ปกติ ถ้าเราเข้าใจคำนี้ เราก็จะเข้าใจว่าสิ่งที่เด็กต้องการคือครอบครัว เพื่อน โรงเรียน ชุมชน และชีวิตของเขา และถ้าเราเข้าใจด้วยความเป็นปกติของชีวิต ในความหมายที่ว่าเราไม่ใช่พ่อแม่ ไม่ใช่คุณครู และไม่ใช่ชุมชน เราเป็นผู้ติดตาม บางทีเราก็อยากรู้บางเรื่อง อยากถาม มีความสนใจ
เราต้องดึงสติตัวเองให้กลับมาอยู่ในจุดที่พอเหมาะภายใต้ความคิดที่ว่าเราอยากส่งกำลังใจไป กำลังใจดีที่สุดคือทำให้เขาได้ใช้ชีวิตปกติที่สุด แล้วทุกอย่างก็จะเดินหน้าไปอย่างที่เราหวัง คืออยากให้เด็กกลับมาสู่ครอบครัวปกติ กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างที่เขามีความสุข เหมือนก่อนที่เขาจะไปติดถ้ำ
‘เด็กไม่ควรถูกถาม หรือให้เล่าซ้ำ หลังจากที่ออกจากถ้ำ’ เราควรจะปฏิบัติแนวนี้?
สมมุติเด็กๆ กลับไปอยู่ในอ้อมกอดพ่อแม่อย่างที่เคยเป็น แล้วเขาอยากพูดในสิ่งที่เขาเคยผ่านมากับคนที่เขารัก อันนี้คือปกติ แต่ถ้าวันนี้เขาเดินไป ใครไม่รู้เดินเข้ามา ดาหน้ากันเข้ามาเพื่อตั้งคำถามเดิมๆ แล้วเขาก็เกิดความอึดอัดใจ จริงๆ ก็ไม่อยากตอบ เพราะไม่ได้รู้สึกว่าอยากจะพูด แต่ก็รู้สึกว่า เขาอุตส่าห์ตั้งใจมาหา อันนี้ไม่ปกติ ถ้าเรากลับไปมองแบบนี้ เราจะเข้าใจได้ว่าบางอย่างมันไม่ได้อธิบายแค่ว่าพูดหรือไม่พูด มันขึ้นกับว่ากำลังเกิดอะไรขึ้นกับเด็ก
การที่เด็กและครอบครัวจะออกมาพูดหรือไม่พูดกับสื่อควรเป็นการตัดสินใจของเด็กและครอบครัว เมื่อเด็กเข้าใจทั้งหมดว่าเขากำลังจะเผชิญกับอะไร ตามขั้นตอนแล้วเด็กแและครอบครัวจะได้รับคำบอกเล่าว่าเกิดอะไรขึ้น และกำลังจะเกิดอะไรขึ้น จากนั้นเขาก็อาจจะคุยกันในครอบครัวแล้วปรึกษากันว่า ในฐานะครอบครัวจะผ่านเรื่องนี้ไปด้วยกันอย่างไร เด็กและครอบครัวจะตัดสินใจร่วมกัน แต่ถ้าเขามีความกังวล ก็จะมีคนช่วยเขาตัดสินใจเช่นทีมจิตแพทย์
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะอยู่กับ 13 ชีวิตอีกนานแค่ไหน
โดยหลักการเราไม่ค่อยลืมเรื่องใหญ่อย่างนี้ในชีวิตหรอก แต่การคิดถึงมันจะน้อยลงไปเรื่อยๆ ตามกาลเวลาที่ผ่านไป นานๆ จะนึกถึงสักทีหนึ่ง สิ่งที่สำคัญคือว่าเขาได้เรียนรู้ในประสบการณ์นี้ว่าอย่างไร อันนี้คือสิ่งที่เราอยากเห็น การเรียนรู้นี้จะสร้างข้อมูลเรื่องชีวิต เพื่อให้เขาได้รู้ว่าครั้งหนึ่งเขาได้มีประสบการณ์แบบนี้เกิดขึ้น แล้วเขาก็ได้ผ่านประสบการณ์นี้มา แต่ชีวิตเขายังดำเนินต่อไปอย่างปกติสุข นี่คือสิ่งที่เขาจะเติบโตต่อไปในวันข้างหน้า
ในความปกติของเด็กๆ และครอบครัว พวกเขาต้องรู้สึกปลอดภัยทั้งจากภายในและคนภายนอก จะทำอย่างไรให้เกิดสภาพปลอดภัยมากที่สุด
ในช่วงต้นอยากให้อยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ง่ายที่สุดก็คือครอบครัว แต่เราจะไปบอกว่าให้เขาอยู่แต่กับครอบครัวไปตลอดชีวิตนั่นไม่ใช่เรื่องปกติ เขาก็ต้องเริ่มกลับไปโรงเรียน กลับไปสังคม อาจจะรวมเรื่องอื่นๆ เขาจะต้องค่อยๆ พิจารณาไตร่ตรอง ตัดสินใจด้วยตัวเองไปเรื่อยๆ เราไม่ควรให้เหตุการณ์นี้มาชะงักงันหรือมาปิดกั้นเพื่อไม่ให้เขาทำในสิ่งที่โตไปตามวัย เพียงเพราะว่า “เดี๋ยวหนูกังวล เดี๋ยวหนูจะเป็นอย่างนั้น เดี๋ยวหนูจะเป็นอย่างนี้” ฉะนั้นเพียงแต่ระยะต้นเท่านั้นที่เราต้องมั่นใจว่าเขาจะดูแลสถานการณ์ได้
ถ้าเป็นไปได้ในช่วงแรกอยากได้พื้นที่ที่ค่อนข้างส่วนตัว เมื่อเขาอยู่กับครอบครัวก็เป็นเรื่องปกติ เขาจะกลับไปสู่ภาวะปกติที่สุดสำหรับเด็ก นานแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล แต่ละครอบครัว แต่ไม่ใช่ว่าตลอดช่วงชีวิตเขาจะต้องอยู่อย่างนี้ไปตลอด เขาจะเติบโตต่อไปอย่างแน่นอน
Social Media เป็นอันตรายและเป็นอุปสรรคต่อความปกติมากน้อยอย่างไร
อันนี้เป็นเรื่องน่าสนใจ เนื่องจากเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เราไม่อยากตีกรอบกั้นเด็ก และเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วในโลกปัจจุบัน แต่ถ้าคนรอบข้างสังเกตเห็นว่า เขารู้สึกหวั่นไหว ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ บางทีไปเจอมา 10 คำยังไม่เท่าไหร่ พอมาเจอคำที่ 11 ที่มีความหมายบางอย่างขึ้นมา
สิ่งที่สำคัญคือครอบครัวจะต้องโอบกอดกัน พูดคุยสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วทำความเข้าใจ แต่ถ้าไม่มั่นใจ อยากได้ตัวช่วย ก็แล้วแต่เด็กและครอบครัวจะตัดสินใจ
ความช่วยเหลือต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะทำให้เด็กๆ และโค้ชรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณหรือหนี้ชีวิตมากน้อยแค่ไหน และความคิดนี้มีผลร้ายต่อไปในอนาคตหรือเปล่า
ถ้าเราดูวัฒนธรรมอันนี้ของคนไทย จริงๆ เป็นวัฒนธรรมที่น่ารัก คนไทยเป็นคนที่มีความเอื้อเฟื้อ อยากช่วยคนอื่นมาก ในขณะเดียวกันเราต้องยอมรับว่าบางสถานการณ์เราก็ต้องการความช่วยเหลือจากคนอื่น ไม่ใช่เป็นเพราะว่าเราอยากให้เขามาช่วย ในบางสถานการณ์มันมีความจำเป็นต้องรับความช่วยเหลือจากคนอื่น
เด็กจะได้เรียนรู้การร้องขอความช่วยเหลือซึ่งไม่ใช่ความอ่อนแอ แต่คือสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้น และเมื่อผ่านสิ่งนี้ไปแล้ว รู้สึกขอบคุณ อันนี้คือความอ่อนโยนที่มีมาในวัฒนธรรมเรา แต่ต้องระมัดระวังและเรียนรู้เสมอว่า รู้สึกขอบคุณได้แต่เราก็ต้องเติบโตต่อไป
หลังจากนี้มีผู้ใหญ่ใจดีอยากจะช่วยเหลือมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อกีฬา รองเท้าฟุตบอล พาไปดูบอลโลก ฯลฯ เด็กๆ ควรรับมืออย่างไร
หมอคิดว่ามันเป็นกระบวนการของครอบครัวที่ต้องเรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะมีอะไรเข้ามาก็ตามแต่ การใช้ชีวิตแบบปกติสำคัญที่สุด เพราะสิ่งเหล่านี้มันมาแบบชั่วคราว ไม่มีอะไรอยู่กับเรา ที่อยู่กับเราแน่ๆ คือพ่อแม่ เพื่อน โรงเรียน ชุมชน และการที่เขามีเป้าหมายในอนาคตว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร ยังอยากเดินหน้าต่อไป ให้เขารักษาสิ่งนั้นไว้ ไม่ได้ปฏิเสธความตั้งใจดี แต่เขาต้องเรียนรู้ว่าอันนี้มันมาด้วยใจ แต่มันมาแบบชั่วคราว ไม่ใช่ตัวหลักในชีวิตของเขา แต่ถ้าเป็นประโยชน์ต่อเขาในการที่จะใช้ชีวิตในวันข้างหน้า ก็จงรับประโยชน์นั้นไว้ ไม่ได้เสียหายอะไร
ถ้าเขาผ่านมาได้ เขาจะแข็งแกร่งกว่าคนทั่วๆ ไป?
ใช่ค่ะ โดยทั่วไปการผ่านวิกฤติจะทำให้มีการเรียนรู้และเข้าใจชีวิต
สิ่งสำคัญคือ เขาไปด้วยความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ที่รอดมาได้ก็เพราะความเป็นกลุ่มก้อน ออกมาก็ขอให้รักษาความเป็นทีมเอาไว้ อันนี้เป็นอีกจุดแข็ง คือมีความรู้สึกว่า มีเราๆๆ เต็มไปหมด ผ่านสิ่งต่างๆ มาด้วยกัน เขาก็จะมั่นใจในสิ่งนี้อยู่
ความเป็นทีมจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคต เขาจะรู้ว่าการอยู่ด้วยกัน มันให้และรับกันและกันในกลุ่มของเขา เขาจะเห็นประโยชน์ของมันอยู่แล้ว ทั้งหมดคือสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ โค้ชนอกจากเป็นโค้ชฟุตบอลแล้วยังเป็นโค้ชชีวิตของเด็ก เด็กจะรู้ว่าในบางเวลาการมีคนที่ปรารถนาดีต่อเรา ให้คำแนะนำ ที่สำคัญเป็นโค้ชที่นำทางและช่วยชีวิตเขา
วันหนึ่ง เขาอาจจะเดินหน้าไปเป็นโค้ชก็ได้ เพราะเขาจะรู้ว่าเด็กอย่างเขา ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมแบบนี้ต้องการคนเข้ามาช่วยจัดการ เด็กๆ ทุกคนที่อยู่ในวัยแบบนี้ สามารถร่วมทีมกันได้ ร่วมเหตุการณ์กันได้ ออกมาแล้วก็ยังมีชีวิตร่วมกัน วันข้างหน้าอาจจะไม่ได้เล่นฟุตบอลก็ได้ แต่วันหนึ่งเขาก็คงไม่ลืมทั้งเหตุการณ์และความสัมพันธ์ที่เขามีต่อกันวันนี้