- การศึกษาไทยค่อนข้างเป็นลู่เดียวปลายปิด ไม่ได้มีทางเลือกมากนักให้กับผู้คนได้สามารถลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเองได้ จึงเกิดการด้อยโอกาสทางการศึกษา แต่เป็นการด้อยโอกาสทางสิทธิ เนื่องจากผู้คนไม่สามารถเข้าถึงหรือออกแบบสิทธิของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การค้นเจอศักยภาพ ความคิด ความชอบ หรือวิธีการเรียนรู้ที่เป็นของตัวเองจริงๆ
- การออกแบบการเรียนรู้ในสเกลเล็กๆ ที่เชื่อมโยงกับฐานชุมชน เมื่อวิถีชีวิตกับการเรียนรู้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน โดยเรียนรู้จากทุนท้องถิ่น ต่อยอดเป็นอาชีพ และนำไปสู่การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งในที่สุด อาจเป็นคำตอบในสถานการณ์นี้
- “สิ่งสำคัญที่การศึกษาควรให้คือ ‘ภูมิคุ้มกันของชีวิต’ ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้จริง หากไม่ติดตั้งวิธีคิดชุดนี้ไว้ เราจะเจอพลเมืองที่อ่อนแอ เพราะเขาจะไม่มีกำแพงตั้งรับเลย แต่ถ้าเราทำกระบวนการพวกนี้ เขาจะรู้ความรู้ รู้จักตัวเอง รู้จักผู้คน เชื่อมตัวเองกับชุมชนกับโลก ซึ่งทำให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ หากเราเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเองแล้ว ‘เราเรียนรู้ได้ทุกที ทุกเวลา และทุกสถานการณ์’”
ภาพ : เครือข่ายสาธารณศึกษา
ในหนึ่งปีมีเด็กจบใหม่กว่า 4 แสนคน ทว่าในจำนวนนั้นกำลังเผชิญกับภาวะตกงานกว่า 3 ใน 4 จากรายงานภาวะสังคมไตรมาสที่ 2/2564 โดยสำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า อัตราการว่างงานของคนไทยอยู่ที่ร้อยละ 1.89 หรือราวๆ 7.3 แสนคน ซึ่งเป็นเด็กจบใหม่ถึง 2.9 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.04
หากย้อนกลับมาดูการเติบโตของเด็กคนหนึ่ง หากเรียนจนสุดลู่ระดับอุดมศึกษาจะใช้เวลาราวๆ 20-22 ปี ซึ่งในการเรียนรู้เติบโตกว่า 20 ปีนั้นมีราคาที่ต้องจ่าย ทว่าเมื่อเรียนจบแล้วหลายคนกลับหางานไม่ได้ ไม่รู้ว่างานแบบไหนที่เหมาะกับตัวเอง บางคนไม่รู้แม้กระทั่งว่าเป้าหมายของตัวเองคืออะไร จะเชื่อมโยงตัวเองกับชุมชนกับโลกอย่างไร เท่ากับว่าเงินที่เราลงทุนไปกับการศึกษาเพื่อสร้างต้นทุนให้ตัวเอง กลับเป็นต้นทุนที่ไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตเท่าไรนัก ทั้งหมดนี้ใจความสำคัญอาจอยู่ที่ ระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่ได้ทำให้ผู้เรียนค้นเจอศักยภาพตัวเอง
“ทุกๆ การลงทุน ทุกๆ ราคาที่เราต้องจ่าย เรากำลังแบกความหวัง ความฝัน ที่ไม่รู้ว่าจะไปถึง Goal (จุดมุ่งหมาย) นั้นหรือเปล่า เพราะว่าระบบการศึกษาไม่ได้พาเราไปเลย”
การศึกษา คือ การลงทุนบนความเสี่ยง
“การด้อยโอกาสทางการศึกษา อาจต้องมองเรื่องมิติเศรษฐกิจที่คนๆ หนึ่งเติบโตมาด้วย ทุกๆ เวลาที่เราเสียไป ทุกๆ ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น คือสิ่งที่การศึกษาไม่เคยมอง สุดท้ายการศึกษาก็ไม่ได้ตอบโจทย์ผู้เรียน แล้วสิ่งที่เราลงทุนเรียนมันคืออะไร กลายเป็นคำตอบที่ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่เกิดประสิทธิผลด้วย” อินทิรา วิทยสมบูรณ์ แห่งเพจ Feel Trip ผู้ที่ทำงานกับเยาวชนทั้งในและนอกระบบ สะท้อนมุมมองปัญหาการศึกษาไทยในงานเสวนาออนไลน์ ‘การศึกษาที่เด็กไทยไม่ด้อยโอกาส เมื่อผู้คนและชุมชนร่วมออกแบบการเรียนรู้ที่นำไปสู่โอกาสทางการศึกษาที่เท่าเทียม’ จัดโดย TED x Charroenkrung
ความด้อยโอกาส จึงไม่ใช่แค่เยาวชนสามารถเรียนในระบบได้หรือไม่ได้ แต่หมายถึงสิทธิและเสรีภาพในการสร้างการเรียนรู้ที่ไม่ได้แยกตัวผู้เรียนออกจากวิถีชีวิตจริง
“เราเสียค่าใช้จ่ายเยอะมาก มีทั้งค่าใช้จ่ายจริงๆ ที่เราเห็น ค่าเทอม ค่าอาหาร ค่าเดินทาง แล้วก็ค่าใช้จ่ายจิปาถะ ยังไม่รวมถึงถ้าเด็กคนหนึ่งต้องทำกิจกรรมต้องซื้อของสารพัดอย่าง ขณะเดียวกันถ้ามีเพื่อนมีสังคมก็ต้องใช้ค่าใช้จ่ายที่ไปสังคมกับเพื่อน แล้วพวกการสอบเข้าก็ใช้ค่าใช้จ่ายนะคะ อย่าง TCAS 900 บาท คนไม่มี 900 บาททำยังไง เข้าไม่ถึงการศึกษาอย่างนี้เหรอ”
การศึกษาไม่ใช่หน้าที่และไม่ควรมีลู่เดียว
อินทิรา ชวนมองย้อนกลับมาที่ระบบการศึกษาซึ่งจะพบว่า การศึกษาไทยค่อนข้างเป็นลู่เดียวปลายปิด ไม่ได้มีทางเลือกมากนักให้กับผู้คนได้สามารถลุกขึ้นมาเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเองได้ ดังนั้นด้วยข้อจำกัดของระบบการศึกษาที่อยู่ในกรอบหรือว่าลู่เดียวนี้ จึงทำให้เกิดการด้อยโอกาสทางการศึกษา แต่เป็นการด้อยโอกาสทางสิทธิ เนื่องจากผู้คนไม่สามารถเข้าถึงหรือออกแบบสิทธิของตัวเอง เพื่อนำไปสู่การค้นเจอศักยภาพ ความคิด ความชอบ หรือวิธีการเรียนรู้ที่เป็นของตัวเองจริงๆ เพราะห้องเรียนไม่ได้เปิดโอกาสหรือเปิดพื้นที่เช่นนั้นให้ผู้เรียนนัก
ปัจุบันโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คนส่วนใหญ่ล้วนเป็น Digital Native หรือชนเผ่าดิจิทัลที่ใช้อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความสะดวกสบายของชีวิต แม้กระทั่งการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีความทันสมัยมากขึ้น ทำให้ ‘พื้นที่การเรียนรู้’ หรือการศึกษา มีรูปแบบที่เปลี่ยนตามไปด้วย โรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย อาจไม่ใช่ลู่ทางเดียวของการศึกษาที่ทุกคนจะวิ่งเข้าหา ขณะเดียวกันอาชีพในปัจจุบันกับอาชีพในอดีตก็เปลี่ยนไป
“ยิ่งในอนาคต เมื่อเกิด Sharing Economy ขึ้นมา โลกของเด็กอีกยุคหนึ่งกับคนยุคหนึ่ง ทั้งอาชีพ ความคิดความเชื่อ และกระบวนการเรียนรู้เติบโตย่อมต่างกัน ดังนั้นสิทธิ เสรีภาพ และการมีอิสรภาพในการสร้างการเรียนรู้จึงเป็นของเรา”
Feel Trip ชุมชนแห่งการเรียนรู้
‘เรียนรู้อะไรก็ได้ เรียนรู้ที่ไหนก็ได้’ ภายใต้ฐานคิดของแพลตฟอร์ม Feel Trip ที่เป็นเสมือนชุมชนนักปฏิบัติการเล็กๆ ที่รวบรวมผู้คนที่มีความคิดความเชื่อเรื่อง ‘สิทธิทางการศึกษา’ ทุกคนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเอง ความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และอำนาจในการเรียนรู้เติบโตเป็นของเราทุกคน
“สิ่งที่เราร่วมทำคือพยายามจะสร้าง ‘วัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่’ เราไม่ได้ปฏิเสธการศึกษาในระบบ เราแค่บอกว่าจริงๆ แล้วสังคมควรจะต้องมีลู่ที่หลากหลาย เสมือนลู่หลักที่จะทำให้ทุกคนสามารถเลือกวิธีการเข้าถึงการเรียนรู้การศึกษาของตัวเองได้ตามอัธยาศัย แม้พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ จะกำหนดเรื่องหน้าที่ทางการศึกษาไว้ แต่ที่สุดแล้วมันเป็นมากกว่าหน้าที่ แต่คือสิทธิและเสรีภาพในการเติบโตของเรา”
โดยในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ที่ให้ผู้คนลุกขึ้นมาออกแบบการเรียนรู้ของตัวเองนี้ Feel Trip ได้ชวนผู้คนทุกเพศ ทุกวัย มาทำแผนการเรียนรู้หรือ ‘โปรเจคการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง’ ของตัวเอง ซึ่งเกิดจากกระบวนการที่คนๆ นั้นเชื่อ ตั้งคำถาม หรือมีความสนใจในบางอย่าง และเอาความสนใจใคร่รู้ หรือคำถามที่มีในใจสร้างเป็นโจทย์ของการเรียนรู้ หากเทียบกับห้องเรียนนี่ก็คือ Problem based Learning หรือ Project based Learning (PBL) นั่นเอง เพียงแต่กระบวนการนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ข้างนอก ซึ่งเชื่อมโยงกับชุมชนหรือมิติต่างๆ ที่ตัวบุคคลสนใจ
“โควิดทำให้เราเห็นจริงๆ ว่า การเรียนรู้ในระบบการศึกษามันคับแคบ ห้องเรียนที่ผูกรวมกับส่วนกลางที่มีการกำหนดนโยบายการศึกษา หลักสูตรการศึกษาจากส่วนกลางจริงๆ มันไม่ได้ตอบโจทย์ความหลากหลายของผู้คนเลย ยิ่งต้องใช้วิธีการเรียนออนไลน์เราก็จะยิ่งพบว่า คนทุกคนไม่ได้เข้าถึงออนไลน์ได้ เด็กๆ ที่เป็นลูกของคนงานตามแคมป์แรงงานที่ต้องปิดโครงการทำยังไงละ? หรือเด็กๆ ที่อยู่ตามชุมชนแออัด ไม่ว่าจะเป็นในเมืองหรือพื้นที่ท้องถิ่นทำยังไงละ? บางคนยังไม่มีสมาร์ทโฟนที่จะเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเลยด้วยซ้ำ
การออกแบบการเรียนรู้ในสเกลเล็กๆ ที่มีความเป็นท้องถิ่นและมีความหลากหลายอาจเป็นคำตอบของสถานการณ์เช่นนี้ก็ได้ แต่จริงๆ แล้วมันก็ยังไม่ได้เป็นคำตอบสุดท้าย เพราะเราก็จะเห็นการผูกโยงนโยบายบางอย่างที่มันผูกอิงกับส่วนกลางอยู่ การกำหนดวิธีการเรียนรู้ที่มันเป็นแบบเรียนในห้องท่องจำต่างๆ ก็ดี ก็ยังเป็นโจทย์ท้าทายอยู่”
ทว่าภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ มีโรงเรียนและครูจำนวนไม่น้อย ลุกขึ้นมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ รวมถึงมีชุมชนอีกจำนวนมากที่ลุกขึ้นมาท้าทายสิ่งเหล่านี้ โดยการสร้างการเรียนรู้ของตัวเอง
จากกระบวนการเรียนรู้ สู่การพัฒนาชุมชน
มาถึงการเชื่อมโยงการเรียนรู้เข้ากับฐานชุมชน เมื่อวิถีชีวิตกับการเรียนรู้กลายเป็นเรื่องเดียวกัน โดยเรียนรู้จากทุนท้องถิ่น จากนั้นต่อยอดเป็นอาชีพ เป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างชุมชนที่เข้มแข็งในที่สุด
“ที่ผ่านมาเราเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกคนได้มีโอกาสเข้าไป Trip ก่อน เพราะเราเชื่อว่าการสร้างประสบการณ์ชีวิตจะทำให้เราเกิดความรู้ความเข้าใจ ในขณะที่ห้องเรียนให้ความรู้กับเรา แต่ความรู้ในห้องเรียนมันเป็นลำดับขั้นหนึ่งสองสาม แต่สิ่งที่เรารู้สึกว่าประสบการณ์ให้ มันคือความรู้สึกถึงความรู้ เป็นพลังที่ทำให้เข้าใจความรู้มากขึ้น รู้ได้ว่าความรู้นี้มันมาจากกระบวนการอะไร มาจากคุณค่าอะไร มาจากวิธีการอะไร ซึ่งถ้าเกิดคนจะเข้าใจกระบวนการเหล่านี้ได้มันต้องไปปฏิบัติการ ต้องสร้างประสบการณ์ สร้างความทรงจำร่วมบางอย่างให้กัน โดยใช้การเดินทางเป็นเครื่องมือในการสร้างประสบการณ์ดังกล่าว จึงเกิดเป็น Feel Trip ชุมชนแห่งการเรียนรู้ของผู้คนที่จะลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างนักพลเมืองได้”
ทั้งนี้ การเข้ามาแบ่งปันความรู้สึกกัน จะทำให้เกิดกระบวนการ Knowledge sharing ซึ่งเป็นตัวสร้าง Experiential Learning (การเรียนรู้จากประสบการณ์) จึงเริ่มต้นจากการพาคนไปพื้นที่ปฏิบัติการ พาไปเรียนรู้พาไปดูผู้คน ดูชุมชนที่ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ซึ่งเป็นเรื่องราวหลากหลายที่ห้องเรียนไม่สามารถเชื่อมโยงผู้เรียนกับโลกได้
“มีน้อง Feel Trip คนหนึ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยกลับมาบ้านแล้วก็พบว่าแทบจะไม่รู้เลยว่าตัวเองจะทำอะไรดี เพราะว่าไม่รู้จะทำงานอะไรภายใต้โควิด ขณะเดียวกันการศึกษาที่เรียนมา มันไม่สามารถเชื่อมโยงตัวเขากับชุมชนกับโลกได้เลย ก็เกิดคำถามว่า เอ๊ะ…งั้นจะเรียนไปเพื่ออะไรในเมื่อการศึกษาคาบเขาออกจากบ้านตัวเอง ตอบไม่ได้ว่าบ้านตัวเองที่อยู่ติดชายหาดมีต้นทุนทรัพยากรอะไร แทบจะไม่รู้จักตัวเองเลย”
เมื่อได้โจทย์แล้วก็นำโจทย์มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ทำ Problem based Learning หรือ Project based Learning (PBL)
“แล้วเอาสิ่งนี้ไปชวนผู้คนในชุมชนของเขา ชวนพ่อแม่ที่อาจจะไม่เคยได้คุยกันลึกๆ ว่าพ่อแม่เป็นครูผู้รู้ หรือไปชวนเด็กๆ เยาวชนในพื้นที่ออกมาสำรวจชุมชน แล้วเด็กๆ นี่แหละเป็นคนไปสร้างพื้นที่ปลอดภัยกับพ่อแม่ของเขา กับคนในชุมชนของเขา เพื่อจะมาออกแบบกระบวนการเรียนรู้ด้วยกัน ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาชุมชนด้วย จึงเกิดแผนกิจกรรมและรูปแบบการปฏิบัติการต่างๆ โดยเริ่มที่ชุมชนเป็นเจ้าภาพของตัวเองโดยสมบูรณ์และเด็กเยาวชนในพื้นที่เป็นเจ้าภาพร่วม ดังนั้นกระบวนการที่นำมาสู่ตรงนี้ ทำให้ผู้คนสำรวจตรวจค้นชุมชน เกิดการพบว่าจริงๆ แล้วตัวเองมีคุณค่าแบบนี้ มีมรดกแบบนี้ มีต้นทุนแบบนี้ พอเห็นกันและกันมากขึ้น ก็สามารถเชื่อมโยงกับตัวเองได้”
ในขณะที่อาชีพส่วนใหญ่ของชุมชน เช่น เคี่ยวน้ำตาล ขึ้นตาล ตกปลา ไดหมึก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาและเป็นองค์ความรู้ของชุมชนเช่นเดียวกัน เมื่อมองเห็นก็จะไปสู่กระบวนการค้นหาคุณค่าเพิ่มเติม จากจุดเล็กๆ ขยายไปสู่เรื่องอื่นๆ ในที่สุดจะพบว่าชุมชนมีต้นทุนมหาศาลแค่ไหน
สิ่งนี้เองจะเป็นคานงัดสำคัญเมื่อวันหนึ่งที่ชุมชนต้องเจอการเปลี่ยนแปลง เช่น มีนโยบายหรือโครงการต่างๆ เข้ามาเปลี่ยนแปลงพื้นที่ องค์ความรู้ที่สร้างขึ้นจะทำให้เกิดความเข้มแข็งของชุมชน โดยชุมชนรู้ข้อมูลตัวเองเป็นฐาน และนำมาสู่กระบวนคิดออกแบบนวัตกรรรมที่จะมาแก้โจทย์ปัญหา มาสรุปบทเรียน และกระบวนการคิดริเริ่มสร้างสรรค์
“อย่างเช่นในเมื่อโควิดก็มีอยู่ทำยังไง ก็เกิดการสร้างนวัตกรรมใหม่ผ่านสายตาร่วมของเด็กรุ่นใหม่ซึ่งมีความคิดความเข้าใจเข้าถึงเครื่องมือแบบหนึ่งกับพ่อแม่และคนในชุมชนที่มีต้นทุนความรู้แบบหนึ่ง ทำให้ความรู้เก่าและใหม่เกิดการผสมผสานกัน ไม่ได้บอกว่าความรู้ไหนดีที่สุดอีกแล้ว มันคือความรู้ของเรา ความรู้นี้คือกระบวนการที่นำมาสู่การทำ Co-Creation กระบวนการออกแบบอย่างมีส่วนร่วมที่ทุกคนเป็นเจ้าของ และนำไปสู่การลงมือทำ ทำให้เขาค้นเจอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ค้นเจอความรู้ใหม่ๆ และความรู้ใหม่หมุนเวียนกลับมาในชุมชน”
Learn, Re-Learn, Un-Learn เรียนรู้เพื่อตั้งรับ
“เมื่อเกิดการเปิดพื้นที่ มีคนลุกขึ้นมาเป็นครู เป็นเจ้าของโปรเจค เกิดห้องเรียนแล้ว เราก็ชวนผู้คนไปเรียนรู้ในพื้นที่เหล่านี้ ทำกระบวนการ ก็คือ Learn, Re-Learn, Un-Learn เพื่อให้เขาได้มีโอกาสทดลองท้าทายตัวเองด้วยโจทย์ใหม่ๆ ถ้าเราเคยทำแล้วประสบความสำเร็จ เราอาจจะเจอปัญหาเกิดขึ้นระหว่างทาง เป็นกระบวนการจัดการในชีวิตจริง เพื่อจะบอกว่าคุณล้มเหลวก็ได้นะ คุณจะเจอความสำเร็จก็ได้นะ แต่คุณต้องเรียนรู้และตั้งรับกับมันได้ ซึ่งการจัดการชีวิตพวกนี้โรงเรียนหรือระบบการศึกษาไม่ทำให้เราเข้าใจมันได้ เราจึงเจอแต่โจทย์ที่เราต้องมุ่งสู่ความเก่งเท่านั้น ต้องเข้าสู่ปริญญาเท่านั้น เข้าสู่การมีระดับทางการศึกษา”
“สิ่งสำคัญที่การศึกษาควรให้คือ ภูมิคุ้มกันของชีวิต ซึ่งเกิดจากการเรียนรู้จริง หากไม่ติดตั้งวิธีคิดชุดนี้ไว้ เราจะเจอพลเมืองที่อ่อนแอ เพราะเขาจะไม่มีกำแพงตั้งรับเลย แต่ถ้าเราทำกระบวนการพวกนี้ เขาจะรู้ความรู้ รู้จักผู้คน เชื่อมตัวเองกับชุมชนกับโลก และรู้ตัวเองก็คือรู้สึกถึงตัวเอง รู้สึกถึงเนื้อตัว รู้สึกถึงผู้คนอาจจะมากถึง Empathy เลยด้วยซ้ำ ซึ่งทำให้เกิดวัฒนธรรมการเรียนรู้ใหม่ หากเราเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตัวเองแล้ว ‘เราเรียนรู้ได้ทุกที ทุกเวลา และทุกสถานการณ์’”
โลกยุคหลังโควิด-19 คือ โจทย์ที่ท้าทาย เพราะเราไม่สามารถอยู่ด้วยวิธีการจัดชีวิตแบบเดิมได้อีกต่อไป เช่นเดียวกับการศึกษา
“ลองสำรวจตัวเองดูเราอาจจะเจอความชอบ ความสนใจใคร่รู้บางอย่างของตัวเอง เมื่อเจอแล้วอย่าหยุดเพียงการตั้งคำถาม เอาคำถามนั้นไปท้าทายตัวเองต่อ ลงมือทำมันซะ ไม่ต้องรอว่าใครจะเปลี่ยนแปลง เราเองเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงได้ แล้วทุกๆ การเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ มีคุณค่า มีความหมายต่อเราทั้งสิ้น ดังนั้นค้นหามันให้เจอ แล้วเอาสิ่งนั้นมาสร้างกระบวนการ ออกแบบชีวิตตัวเอง สร้างการมีส่วนร่วมให้กับผู้คนด้วย” อินทิรา ทิ้งท้าย