- ความเศร้าที่สะสมเรื้อรังจากปัจจัยต่างๆ รอบตัวและไม่ได้รับการเยียวยา สามารถพัฒนากลายเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ การวินิจฉัยทางการแพทย์ พบว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมองหรือความผันผวนของระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ แต่สาเหตุที่ทำให้สารเคมีผิดปกตินั้นมีที่มาที่ไป
- “สำหรับพ่อแม่ถ้าลูกกล้าเดินมาบอกว่าอยากฆ่าตัวตายหรืออยากทำร้ายตัวเอง แปลว่าเขาไว้ใจพ่อแม่และกำลังต้องการความช่วยเหลือ เชื่อว่าหากลูกเดินมาบอกเช่นนี้จริงๆ พ่อแม่ย่อมเกิดความสับสนและตกใจ แต่พ่อแม่ต้องรีบควบคุมสติและจัดการอารมณ์ให้ได้เร็วที่สุด หากพ่อแม่จัดการอารมณ์ได้ดี จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และสามารถช่วยให้ลูกจัดการความรู้สึกตนเองได้”
- อันดับแรกต้องฟังลูกเยอะๆ เขาคิดอย่างไร มีอาการและมีมุมมองต่อโลกอย่างไรหรือเขาผ่านอะไรมาบ้าง ให้ฟังในมุมมองของลูกก่อน (Put yourself in the other person’s shoes)
“การที่ลูกวัยรุ่นเดินเข้ามาบอกเราว่า…เขาอยากฆ่าตัวตาย…แสดงว่าเขาไว้ใจเรา เพราะถ้าไม่ไว้ใจ เขาคงไม่พูดและคงทำไปแล้ว หรือไปบอกคนอื่นแทนที่จะบอกพ่อแม่”
เป็นข้อความส่วนหนึ่งที่ หมอจริง – แพทย์หญิงชญานิน ฟุ้งสถาพร เจ้าของเพจ ‘หมอจริง DR JING’ แพทย์ประจำบ้านต่อยอด สาขาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ผ่านการพูดคุยไว้ในเพจ Net PAMA: เน็ต ป๊าม้า หัวข้อ ‘ดูแลยังไง…เมื่อลูกซึมเศร้า’
คงไม่มีผู้ปกครองคนไหนอยากให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น แต่สถิติที่ได้จากการสำรวจทั้งในประเทศและจากองค์กรระดับนานาชาติสะท้อนให้เห็นผลลัพธ์ที่น่าเป็นกังวล
การเพิ่มขึ้นของเด็กที่มีสุขภาพจิตย่ำแย่
ผลการประเมินสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นไทย โดยกรมสุขภาพจิต ผ่านแอปพลิเคชั่น Mental Health Check-in ช่วงระหว่างการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2020 ถึง 30 กันยายน 2021 โดยเป็นการเก็บข้อมูลจากเด็กและวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปีจำนวน 183,974 คนที่เข้ามาประเมินสุขภาพจิตของตนเอง พบว่า
- ร้อยละ 28 ของเด็กและวัยรุ่นมีภาวะเครียดสูง
- ร้อยละ 32 มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า
- ร้อยละ 22 มีความเสี่ยงฆ่าตัวตาย
ขณะที่ผลการสำรวจโดยกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ (UNICEF) ปี 2020 พบว่า เด็กและเยาวชนจำนวน 7 ใน 10 คนมีสุขภาพจิตย่ำแย่ลง ส่วนใหญ่กังวลกับรายได้ของครอบครัว การเรียน การศึกษาและการจ้างงานในอนาคต ทั้งนี้ โรคซึมเศร้าเป็นวิกฤตการณ์ระดับโลกตั้งแต่ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากรายงานโดยสถาบันวัดผลและประเมินผลสุขภาพ (Institute for Health Metrics and Evaluation) ที่ศึกษาสถานการณ์ของโรคต่างๆ ทั่วโลกในปี 2017 พบประชากรกว่า 792 ล้านคนทั่วโลก คิดเป็นร้อยละ 10.7 ของประชากรทั้งหมดประสบปัญหาสุขภาพจิต ในจำนวนนี้มีป่วยเป็นโรคซึมเศร้าถึงร้อยละ 32.5 ดูเหมือนว่าโควิด-19 ได้เข้ามาตอกย้ำให้สถานการณ์รุนแรงมากยิ่งขึ้น
ความเศร้าที่สะสมเรื้อรังจากปัจจัยต่างๆ รอบตัวและไม่ได้รับการเยียวยา สามารถพัฒนากลายเป็น ‘โรคซึมเศร้า’ ได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ การวินิจฉัยทางการแพทย์ พบว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทในสมองหรือความผันผวนของระดับฮอร์โมนที่ผิดปกติ แต่สาเหตุที่ทำให้สารเคมีผิดปกตินั้นมีที่มาที่ไป
พ่อแม่จะรู้ได้อย่างไร และ จะดูแลอย่างไรเมื่อลูกซึมเศร้า? เป็นคำถามสำคัญที่เชื่อว่าผู้ปกครองอยากรู้คำตอบ
รู้เท่าทันโรคซึมเศร้าในวัยเด็ก
หมอจริง กล่าวว่า ทางการแพทย์ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของโรคซึมเศร้ามี 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่ ปัจจัยด้านชีวภาพ (biological ) ด้านจิตใจ (psychological ) และด้านสังคม (social)
- ปัจจัยด้านชีวภาพ เป็นเรื่องของพันธุกรรมและฮอร์โมนในร่างกาย เช่น คนที่มีพ่อแม่หรือญาติเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรคทางจิตเวชอื่นๆ มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้มากกว่าคนอื่น หรืออาจเกิดขึ้นจากโรคประจำตัวที่ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมน เช่น ผู้ป่วยไทรอยด์ต่ำ รวมทั้งโรคซึมเศร้าจากความเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลซึ่งเป็นเรื่องของภูมิภาค เช่น ประเทศเมืองหนาวบางประเทศมีช่วงระยะเวลาพระอาทิตย์ขึ้นเพียง 4 ชั่วโมงในหน้าหนาว ส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้อยู่อาศัยทำให้ขาดความสดชื่นและความมีชีวิตชีวา
- ปัจจัยด้านจิตใจ สัมพันธ์กับบุคลิก แนวคิดการใช้ชีวิต และการจัดการทางอารมณ์ บางคนมีความเป็น perfectionist ที่ต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปตามแผนอย่างสมบูรณ์แบบ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ได้อย่างใจมักรู้สึกหงุดหงิดหรือผิดหวังกับตัวเองจนรู้สึกเศร้า หรือความเชื่อและวัฒนธรรมบางอย่างที่ปิดกั้นอารมณ์ความรู้สึก เช่น ผู้ชายต้องเข้มแข็งห้ามร้องไห้ ทั้งที่จริงๆ แล้วการร้องไห้เป็นเรื่องปกติของการระบายอารมณ์ที่สามารถทำได้
- ปัจจัยด้านสังคม เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ ตามธรรมชาติวัยรุ่นมักติดเพื่อนให้ความสำคัญกับการถูกยอมรับและการเข้าสังคม หากความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี เช่น พ่อแม่ไม่เข้าใจกันหรือทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าพ่อแม่ไม่เข้าใจพวกเขา สร้างแรงกดดันหรือความคาดหวังต่อลูกให้ทำในสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ รวมทั้งการถูกกลั่นแกล้งทั้งต่อหน้าและในโลกออนไลน์ ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้เป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เด็กคนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้าได้
จากประสบการณ์จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น หมอจริงพบวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 18 ปีป่วยเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น โดยเฉพาะช่วงวัย 13-16 ปี (ระดับมัธยมศึกษา) ที่กำลังเผชิญหน้ากับความเครียด ความกดดันด้านการเรียนจนทำให้รู้สึกเศร้า แล้วเชื่อมโยงไปสู่จุดเปลี่ยนในชีวิตจากการก้าวเข้ารั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับปัจจัยด้านจิตใจและสังคม
ความรู้สึกเศร้าเป็นอารมณ์เชิงลบจากการเผชิญหน้ากับการสูญเสียและความผิดหวัง สถานการณ์ที่กดดัน ทำให้รู้สึกอึดอัดและทรมานใจ เช่น อารมณ์อกหัก การเสียชีวิตของคนรัก ความไม่มั่นใจในตัวเองการถูกคาดหวังหรือความล้มเหลวจากเรื่องราวในชีวิต เช่น การเรียนและการงาน เรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่การต้องอยู่กับความเศร้าความหดหู่เป็นระยะเวลานาน ถูกปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการเยียวยารักษาจะทวีความรุนแรงขึ้นเป็นโรคซึมเศร้า จนทำให้ไม่สามารถดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า สิ้นหวังและหาทางออกไม่ได้
กล่าวได้ว่า ‘การเสียสมดุลในชีวิต’ เป็นส่วนสำคัญที่ผลักให้คนๆ หนึ่งเข้าสู่วังวนของความเศร้าจนกลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ในที่สุด
“ช่วงวัยประถม บางทีเด็กยังไม่มีคำศัพท์ใช้เล่าความรู้สึกของตัวเอง อาการของโรคซึมเศร้าจะตรงไปตรงมา ส่วนใหญ่เเสดงออกมาทางพฤติกรรม เช่น ความสามารถในการจัดการของอารมณ์ลดลง หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าวมากขึ้น ดื้องอแง ไม่เชื่อฟัง หรือมีพฤติกรรมถดถอยทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัวโดยหาสาเหตุไม่ได้ หรือขับถ่ายรดที่นอน ช่วงวัยรุ่น ผู้ปกครองอาจเริ่มเห็นเขาเสียสมดุลชีวิตไป เช่น เสียการเรียน เกรดตก และเริ่มไม่เข้าสังคม”
“ตามตำราเเพทย์ถ้าเศร้านานเศร้ามาก ประมาณ 2 เดือนขึ้นไปจัดได้ว่าเป็นโรคซึมเศร้า อาการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เวลาที่หมอถามคนไข้มักถามถึงเรื่องอารมณ์และผลกระทบในชีวิต เช่น บางคนนอนไม่หลับแต่บางคนนอนเยอะ บางคนเศร้าแล้วกินไม่ได้แต่บางคนเศร้าแล้วกินจุ เรื่องของความสนใจทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันลดลง เช่น จากที่เคยไปดูหนัง ฟังเพลงกับเพื่อนๆ กลายเป็นไม่อยากทำแล้วหรือไม่อยากทำอะไรเลยเพราะไม่มีความสุข ส่งผลกระทบต่อพลังงานของตัวเอง เช่น ไม่อยากลุกจากเตียงนอน บางคนตอบสนองช้า มีสมาธิจดจ่อกับการเรียนและการทำงานลดลง หรือมีความรู้สึกนึกคิดว่าตัวเองเป็นคนผิด”
ฟังอย่างตั้งใจ ตัดสินให้น้อย ช่วยลดอัตราการฆ่าตัวตายได้
“สำหรับพ่อแม่ถ้าลูกกล้าเดินมาบอกว่าอยากฆ่าตัวตายหรืออยากทำร้ายตัวเอง แปลว่าเขาไว้ใจพ่อแม่และกำลังต้องการความช่วยเหลือ เชื่อว่าหากลูกเดินมาบอกเช่นนี้จริงๆ พ่อแม่ย่อมเกิดความสับสนและตกใจ แต่พ่อแม่ต้องรีบควบคุมสติและจัดการอารมณ์ให้ได้เร็วที่สุด หากพ่อแม่จัดการอารมณ์ได้ดี จะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ และสามารถช่วยให้ลูกจัดการความรู้สึกตนเองได้” หมอจริง เน้นย้ำ
การรับฟังอย่างตั้งใจ โดยไม่ตัดสิน แสดงให้ลูกเห็นว่าพ่อแม่ยอมรับและเข้าใจความเศร้าของลูก โดยไม่มองว่าเป็นความผิดของใคร เป็นวิธีการที่พ่อแม่ใช้รับมือกับสถานการณ์ข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
พ่อแม่อาจเริ่มจากการถามลูกว่า ลูกรู้สึกอย่างไร? ทำไมจึงอยากทำร้ายตัวเอง? ไม่สื่อสารหรือแสดงท่าทางโทษว่าเป็นความผิดของลูก และไม่ใช้คำพูดในลักษณะทวงบุญคุณ เพราะจะยิ่งทำให้ลูกรู้สึกผิดต่อตนเองและพ่อแม่ หรือยิ่งรู้สึกไร้คุณค่ามากขึ้นกว่าเดิม เช่น
“จะทำไปทำไม?”
“ทำแบบนี้มันไม่ดีนะ?”
“ทำแบบนี้ไม่สงสารพ่อแม่เหรอ?”
“ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้าบางคนอาจทำร้ายตนเอง เพราะความเศร้ามีมากเกินไปและต้องการรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าเศร้า ในขณะที่บางคนอารมณ์ซึมเศร้านั้นมีมากจนด้านชา เหมือนไม่มีความรู้สึกอีกต่อไป จึงอยากทำร้ายตนเองเพื่อให้รู้สึกถึงบางสิ่ง
คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นโรคซึมเศร้า อันดับแรกต้องฟังลูกเยอะๆ เขาคิดอย่างไร มีอาการและมีมุมมองต่อโลกอย่างไรหรือเขาผ่านอะไรมาบ้าง ให้ฟังในมุมมองของลูกก่อน (Put yourself in the other person’s shoes)
เพราะเราไม่รู้หรอกว่าลูกต้องไปเจออะไรมาบ้างในแต่ละวัน การฟังช่วยได้เยอะในแง่ที่ว่าเราไม่ไปตัดสินเขา บางทีบางคำพูดของเราอาจพูดด้วยความหวังดี แต่มันไปตัดสินเขาแล้วว่าทำไมไม่ทำแบบนี้ หรือเพราะทำเเบบนี้ใช่ไหมถึงทำให้เป็นโรคซึมเศร้าซึ่งเป็นการต่อว่าผู้ป่วย พ่อแม่ต้องฟังอย่างตั้งใจ ตอนฟังอาจจะมีการสะท้อนความคิดให้ลูกไปด้วยก็ได้ ไม่ใช่ฟังไปด้วยเล่นมือถือไปด้วย พ่อแม่ควรพูดคุยถึงสาเหตุที่ลูกอยากทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตาย จากนั้นควรพาลูกไปพบจิตแพทย์โดยเร็วที่สุด” หมอจริง กล่าว
ปรับความคิด ลูกซึมเศร้าไม่ได้หมายความว่าอ่อนแอ
หากมีอาการหรือสงสัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า ยิ่งพบจิตแพทย์ได้เร็วเท่าไรยิ่งดี แต่ก็ต้องยอมรับว่ากว่าไปถึงจุดนั้น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าต้องเผชิญหน้ากับความกลัวและความวิตกรอบด้าน ไหนจะเรื่องการยอมรับตัวเอง การยอมรับจากครอบครัวและคนรอบข้าง การหลีกหนีจากการตีตราทางสังคมที่มองผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเป็นความผิดปกติ
“คนที่เป็นโรคซึมเศร้าการตัดสินใจของเขาไม่ได้มีเหตุผลมากนัก ตอนเศร้ามากๆ บางคนทำร้ายตัวเองไม่ใช่เพราะอยากทำ แต่เป็นเพราะความสามารถในการตัดสินใจของเขาลดลง ดังนั้นความเข้าใจจากคนรอบข้างจึงสำคัญ
ในหลายๆ ประเทศมีการตีตราผู้ป่วยซึมเศร้าว่าเป็นคนอ่อนแอหรือขี้เกียจ หมอคิดว่าการลดการตีตราตรงนี้ได้ต้องช่วยกันสร้างความเข้าใจว่าโรคนี้เป็นโรคทางการเเพทย์อย่างหนึ่ง หรือบางคนไม่ยอมพบแพทย์เพราะกลัวประวัติไม่ดี เช่น ถ้าสมัครงานจะถูกกีดกันเพราะเป็นโรคหรือเปล่า หมอยืนยันว่าในประเทศไทยหากมีนายจ้างมาถามประวัติ หมอไม่สามารถบอกประวัติผู้ป่วยเรื่องนี้ได้ หากใครกลัวในเรื่องนี้ให้สบายใจได้เลย”
สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคซึมเศร้า หมอจริง กล่าวว่า การรักษาเเบ่งออกเป็นหลายระดับ
- เศร้าน้อยๆ สามารถนัดพบจิตแพทย์ เพื่อทำการบำบัดอย่างเดียวโดยไม่ต้องรับยา อย่างไรก็ตาม จิตบำบัดอาจจะเข้าถึงได้ยาก เนื่องจากในประเทศไทยมีบุคลากรด้านนี้ไม่เพียงพอ
- เศร้ามาก เศร้านาน ส่งผลกระทบต่อเรื่องต่างๆ ในชีวิตหรือไม่อยากมีชีวิตอยู่แล้ว
เมื่อพบจิตแพทย์แล้ว สามารถใช้ยาต้านเศร้าในการรักษาซึ่งแต่ละคนมีขั้นตอนและใช้ระยะเวลาต่างกัน โดยส่วนใหญ่แล้วคุณหมอจะนัดและประเมินดูอาการตามระยะ เพื่อเพิ่มลดยาตามความเหมาะสม สำหรับคนที่กินยาไม่ได้ผล ทางการแพทย์มีวิธีช็อตไฟฟ้าเข้าไปช่วยกระตุ้น ซึ่งต้องพิจารณาดูแล้วแต่กรณีไป
“หมอบอกคนไข้เสมอว่า ไม่ใช่เราจะต้องพึ่งยาอย่างเดียว แต่เราต้องปรับทัศนคติ ปรับความคิดและปรับการจัดการของอารมณ์ของตัวเองด้วย”
สำหรับผู้ที่ต้องการคำปรึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคซึมเศร้าสามารถติดต่อสายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 (ตลอด 24 ชั่วโมง) เป็นสายด่วนที่คอยรับฟังและให้คำแนะนำเบื้องต้น ผู้ที่ยังไม่เคยเข้ารับการรักษาและวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าก็สามารถติดต่อได้ และสมาคมสะมาริตันส์ 02-113-6789 (12:00-22:00 น.) มีอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกทักษะการฟังและทักษะการให้คำปรึกษามาเป็นอย่างดี เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษาเพื่อป้องกันการฆ่าตัวตายโดยเฉพาะ