- ‘การติดอาวุธทางความคิด’ ด้วยการสร้าง ‘ความรู้เท่าทันสื่อ’ (media literacy education) เป็นเรื่องที่ต้องตื่นตัว เพื่อที่จะป้องกันเด็กๆ ไม่ให้โดนหลอกโดยง่ายด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งต้องทำตั้งแต่ไม่เกินช่วงวัยรุ่นตอนต้น จึงจะเหมาะสมที่สุด
- การไม่ได้รับการสอนให้ระมัดระวังในการเสพสื่อเท่าที่ควร อาจจบลงตรงที่ได้คนที่พร้อมจะเชื่ออะไรแปลกประหลาด ไม่เข้าท่า ไม่สมเหตุสมผลเพิ่มมากขึ้น
- การไปสอนในระดับมหาวิทยาลัยอาจจะล่าช้าเกินไปหน่อย และพฤติกรรมที่ทำตอนเป็นเด็กเล็กจนติดเป็นนิสัยแล้ว ก็ยากจะมาแก้ไขกันตอนเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว
เราอยู่ในโลกที่ซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน มีข้อมูลมากมายมหาศาลผ่านหูผ่านตาอยู่ตลอดเวลา ในจำนวนนั้นมีส่วนหนึ่งที่เป็นข้อมูลเท็จ ข้อมูลปลอมแปลง และข้อมูลที่จงใจสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะหวังผลประโยชน์ในทางมิชอบ เช่น มีความพยายามจะแฮ็กบัญชีธนาคารของเรา หลอกให้เราโอนเงินให้ด้วยเล่ห์กระเท่ต่างๆ นานา
เป้าหมายของข้อมูลผิดๆ เหล่านั้นมีทั้งคนทั่วไป ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และคนแก่
ในโลกตะวันตกมีความตื่นตัวในเรื่องนี้พอสมควร และมีความพยายามจะป้องกันเด็กๆ ไม่ให้โดนหลอกโดยง่ายด้วยวิธีการต่างๆ แต่ก่อนจะลงในรายละเอียด จะขอกล่าวถึงคำ 2 คำที่พบเสมอๆ เวลากล่าวถึงเรื่องการศึกษาเพื่อสร้างความรู้เท่าทันสื่อ (media literacy education) คือ คำว่า disinformation และคำว่า misinformation
คำว่า information มักแปลกันว่า ‘ข้อมูล’ แต่ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตสภา กำหนดว่าให้ใช้เป็น ‘สารสนเทศ, ข้อความ, สาร หรือสาระ’ ต่างๆ ส่วนคำว่า disinformation กำหนดให้ใช้เป็น ‘ข้อมูลข่าวสารผิดพลาด’ และคำว่า misinformation คือ ‘ข้อมูลที่ผิด
จากศัพท์บัญญัติจะเห็นว่า แยก disinformation และ misinformation ออกจากกันแทบไม่ได้ ต่างจากนิยามที่กำหนดไว้ในเว็บไซต์ของสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน [1] ที่ระบุชัดเจนว่า disinformation คือ ข้อมูลผิดๆ ที่เกิดจากการจงใจปล่อยหรือต้องการทำให้เข้าใจผิด (false information which is deliberately intended to mislead) อาจจะเรียกว่าเป็น ‘ข้อมูลลวง’
ขณะที่ misinformation คือ ข้อมูลที่ผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องแม่นยำ (false or inaccurate information) ซึ่งอาจเกิดจากผู้เขียนหรือผู้เผยแพร่มีเข้าใจคลาดเคลื่อนและสื่อสารออกไปทั้งอย่างนั้น โดยไม่ได้มีเจตนาจะหลอกลวงคนอื่น อาจจะเรียกว่าเป็น ‘ข้อมูลคลาดเคลื่อน’ ก็คงพอได้
ปี 2016 มีการศึกษาวิจัยในนักเรียนเกือบ 8,000 คนในสหรัฐอเมริกาโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด [2] ทำให้ทราบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาตอนต้นมากกว่า 80% เชื่อว่า บทความที่ระบุว่าเป็นโฆษณาหรือได้รับการสนับสนุนเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาข่าวจริงๆ
พูดง่ายๆ คือ แยกแยะข่าวจริงกับโฆษณาไม่ออก
ขณะที่มีนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไม่ถึง 20% ที่ตั้งคำถามเกี่ยวกับคำกล่าวอ้างหรือรูปภาพต่างๆ บนเฟซบุ๊กว่าเชื่อถือได้เพียงใด เช่น เห็นภาพดอกไม้แปลกประหลาดสักรูปที่อ้างว่า เป็นต้นที่โตอยู่ใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น แล้วก็สงสัยว่าเป็นเรื่องจริงเพียงใด
ผลลัพธ์ที่พบคือ เด็กส่วนใหญ่จะเชื่อตามไปในทันที
ขณะที่งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งที่ทำในเด็ก 961 คนและตีพิมพ์ในวสาร British Journal of Developmental Psychology ในปี 2021 [3] ทำให้ทราบว่า เด็กอายุ 14 ปีคือช่วงวัยที่พร้อมจะเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิดเป็นจริงเป็นจัง เรียกว่าแยกแยะโลกจริงกับโลกในจินตนาการที่คนเอามา ‘ปั่น’ ไม่ออก และหากเชื่อไปแล้ว จะมาแก้ไขความเชื่อผิดๆ ก็ทำได้ยากมากด้วย
ดังนั้น ‘การติดอาวุธทางความคิด’ ให้กับเด็ก ต้องทำตั้งแต่ไม่เกินช่วงวัยรุ่นตอนต้น จึงจะเหมาะสมที่สุด
การศึกษาในปี 2017 ของนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ [4] พบว่า ในจำนวนผู้ใหญ่ 397 คนที่เป็นอาสาสมัครเข้าร่วมการทดลองนั้น คนไหนยิ่งรู้เท่าทันสื่อมากขึ้นเท่าใด ก็ยิ่งจะเชื่อใน ‘ทฤษฎีสมคบคิด (conspiracy theory)’ น้อยลงไปเท่านั้น
นี่อาจแสดงนัยยะว่า การไม่ได้รับการสอนให้ระมัดระวังในการเสพสื่อเท่าที่ควร อาจจบลงตรงที่ได้คนที่พร้อมจะเชื่ออะไรแปลกประหลาด ไม่เข้าท่า ไม่สมเหตุสมผลเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการทดลองที่ทำแยกกัน จึงอาจไม่สะท้อนความเป็นเหตุเป็นผลของกันและกันมากนัก
ปี 2018 วารสาร Wall Street Journal ศึกษาว่าอัลกอริทึมของ Youtube ที่ใช้แนะนำคลิปที่น่าชมสำหรับผู้ชมแต่ละคนทำงานได้ดีเพียงใด [5] ผลที่ได้ทำให้คณะนักวิจัยต้องตกใจ เพราะอัลกอริทึมของยูทูบมีแนวโน้มจะโชว์คลิปที่มีความสุดขั้วและผิดเพี้ยนไปจากความจริงหรือความต้องการตั้งต้นของผู้ชมมากขึ้นเรื่อยๆ
นักวิจัยทดลองค้นใน Youtube ด้วยวลีว่า lunar eclipse หรือ ‘จันทรคราส’ ปรากฏว่าคลิปแนะนำค่อยๆ พาเข้าไปหาคลิปเรื่องโลกแบนในที่สุด! และเนื่องจาก Youtube เป็นโซเชียลมีเดียที่ติด Top 10 ของการสำรวจการใช้งานทั่วโลกเสมอ ผู้ชมจึงอาจโดนลากจูงเข้าหาทั้ง ‘ข้อมูลคลาดเคลื่อน’ และ ‘ข้อมูลลวง’ ได้ง่ายๆ ตลอดเวลา ซึ่งก็ถือว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงทีเดียว
ในสหรัฐอเมริกามีโรงเรียนจำนวนหนึ่งที่มีคลาสสอนเรื่องการรู้ทันสื่อ โดยจะสอนให้เด็กๆ รู้จักประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลและคิดวิพากษ์เกี่ยวกับข้อความ ข้อมูล และข่าวสารต่างๆ ก่อนจะเชื่อ ซึ่งก็พบว่าได้ผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้ปกครองของเด็กๆ เป็นพวกเชื่อเรื่องทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ อยู่แล้วด้วย
แต่ปัญหาก็คือยังมีโรงเรียนที่มีการสอนแบบนี้น้อยอยู่
บางรัฐที่เห็นความสำคัญ เช่น รัฐอิลลินอยส์ บังคับให้ทุกโรงเรียนต้องมีคลาสเรียนเรื่องนี้ และมีอีกหลายรัฐที่กำลังดำเนินการด้านกฎหมาย เพื่อให้มีการสอนในทำนองเดียวกันนี้อยู่ สำหรับมหาวิทยาลัยก็เช่นกัน มีหลายแห่งมากขึ้นที่มีสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้
แต่นักการศึกษาบางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า การไปสอนในระดับมหาวิทยาลัยดูจะล่าช้าเกินไปหน่อย และพฤติกรรมที่ทำตอนเป็นเด็กเล็กจนติดเป็นนิสัยแล้ว ก็ยากจะมาแก้ไขกันตอนเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว
นี่ยังไม่นับว่าคอร์สที่สอนกันอยู่เรื่อง ‘การเท่าทันสื่อ’ นั้น ก็ยังคงมีการถกเถียงกันไม่น้อยว่า ควรจะสอนอะไรบ้าง หรือควรจะสอนอย่างไรกันแน่
อย่างไรก็ตาม เราก็พอจะยังเห็นความหวังรำไรในเรื่องนี้อยู่ เมื่อคอร์สที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสถาบันพอยน์เตอร์ (Poynter Institute) และสมาคมสื่อท้องถิ่น (Local Media Association) ซึ่งได้รับทุนจาก Google.org ที่เป็นองค์การการกุศลที่กูเกิลตั้งขึ้น ได้สอนเด็กไฮสคูล 40,000 คน และเมื่อทำการทดสอบหลังสอนเสร็จ
พบว่าช่วยให้เด็กนักเรียนเหล่านี้ประเมินความน่าเชื่อถือของโพสต์ในโซเชียลมีเดียและบทความบนเว็บไซต์ได้ดีกว่าคนที่ไม่ได้เข้าเรียนคลาสนี้ [6] นั่นก็แปลว่าความพยายามกระตุ้นให้เกิดความตระหนักและระแวดระวังในกลุ่มเด็กเกี่ยวกับเนื้อหาในสื่อ เป็นเรื่องที่ประสบความสำเร็จได้
สิ่งที่ควรตั้งคำถามต่อมาคือ ในเมืองไทยมีใครตั้งคำถามและทดลองหาความจริงทำนองนี้บ้างหรือยัง? มีความพยายามทำคอร์สสอนในทำนองเดียวกันนี้เกิดขึ้นบ้างแล้วหรือยัง และถ้ายัง เราจะเริ่มต้นกันอย่างไร? และจะทำให้เรื่องนี้ไปถึงในวงกว้าง (อาจกว้างไปถึงคนทั่วไปที่ต้องรับข้อมูลจากสื่ออย่างมากมายในแต่ละวัน) และจะทำอย่างต่อเนื่องและยั่งยืนได้อย่างไร?
เด็กๆ ของเราจะรอดพ้นจากข้อมูลผิดๆ ที่เกิดจากความไม่ตั้งใจและเกิดจากความตั้งใจได้อย่างไร?
เอกสารอ้างอิง
[1] https://www.apa.org/topics/journalism-facts/misinformation-disinformation
[2] https://stacks.stanford.edu/file/druid:fv751yt5934/SHEG%20Evaluating%20Information%20Online.pdf
[3] British Journal of Developmental Psychology (2021), 39, 499–520. DOI:10.1111/bjdp.12368
[4] https://journals.sagepub.com/doi/abs/10.1177/2057047317725539?journalCode=ctpa
[5] https://www.wsj.com/articles/how-youtube-drives-viewers-to-the-internets-darkest-corners-1518020478
[6] Schooled in Lies. Scientific American, Special Editon, Fall 2022, pp. 18-23.