- “เราเกิดมาไม่เคยเห็น role model กะเทยเป็นนักการเมือง เป็นข้าราชการระดับสูง เราเห็น role model กะเทยแต่เป็นตลกโปกฮา กลายเป็นภาพจำของคนในสังคม แล้วเราจะหนีภาพจำเหล่านั้นได้ยังไง เมื่อเราไม่ได้เป็นคนตลก เราไม่ได้เป็นกะเทยแบบที่สังคมบอก มันทำให้เราไม่กล้าฝันที่จะเป็นรัฐมนตรี ไม่กล้าฝันที่จะประสบความสำเร็จ ทั้งที่เรารู้สึกว่าเรามีความรู้ ความสามารถ”
- ย้อนกลับไป กอล์ฟ – ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ได้รับคำชวนจากปิยะบุตร แสงกนกกุล ให้ก้าวเข้าสู่วงการการเมืองในฐานะสมาชิกอนาคตใหม่เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้มีเพศหลากหลายในการบริหารประเทศและขับเคลื่อนเชิงนโยบาย ในวันนั้นยังไม่มีใครรู้จักชื่อพรรคอนาคตใหม่ เธอขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวทีครั้งแรกอย่างซื่อสัตย์ต่อตัวเองและความเป็นมนุษย์
- การโอบรับและโอบกอดจากผู้ฟังนับพันครั้งนั้น ทำให้เธอมุ่งมั่นที่จะสู้ต่อ “เราไม่ได้สู้เพื่อตัวเราคนเดียว เรารู้ว่ามีอีกหลายล้านคนที่เป็นแบบเรา และเขาต้องการที่จะมีชีวิต เขาไม่ได้ต้องการที่จะมีชีวิตพิเศษกว่าคนอื่นนะคะ เขาต้องการจะมีชีวิตที่ได้มีความปกติเท่าเทียมกับทุกคนแค่นั้นเอง”
- อีกบทบาทของการเป็นผู้กับกับการแสดง และนักเขียนบทมากฝีมือ หนังเรื่อง ‘แมลงรักในสวนหลังบ้าน : Insects in the Backyard’ ที่เธอตั้งใจสื่อสารว่ากลุ่มคนเพศหลากหลายล้วนมีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน และการเป็นมนุษย์นั้นมีหลากหลายมากกว่ากรอบที่สังคมขีดไว้ ถูกแบนและใช้เวลากว่า 5 ปีต่อสู้ในชั้นศาล
ภาพ : ปริสุทธิ์
ท่ามกลางกระแสของซีรีส์วาย ที่จิ้นแรงทุกแพลตฟอร์ม จนกลายเป็นอุตสหกรรมบันเทิงขนาดใหญ่ หรือ Y- economy ของภูมิภาคเอเชีย ซีรีส์โรแมนติกระหว่างสองชายหนุ่มกำลังกลายเป็นความหวังใหม่ ในการใช้ soft power สื่อสารเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ ในขณะเดียวกันก็จุดประเด็นถกเถียงร้อนแรงว่านี่คือการสนับสนุนความเท่าเทียมของ LGBTQ+ หรือเป็นเพียงการเสิร์ฟฟินให้กับกลุ่มคนดู
The Potential ชวน กอล์ฟ – ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ผู้กำกับ นักเขียนบทมากฝีมือ อดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และอดีตส.ส. พรรคก้าวไกล มาคุยถึง ประเด็นซีรีส์วายที่การถกเถียงกัน วงการภาพยนตร์และสื่อบันเทิงไทย ไปจนถึงการขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศทั้งในจอ และในสภา
จากผู้กำกับที่ภาพยนตร์โดนสั่งแบน และต่อสู้ในชั้นศาลกว่า 5 ปี จนภาพยนตร์ได้เข้าฉาย ก้าวเข้าสู่วงการการเมืองในนามสมาชิกพรรคอนาคตใหม่ และการเป็นส.ส.พรรคก้าวไกล ผู้แทนราษฎรข้ามเพศคนแรกผู้เสนอร่างพรบ. สมรสเท่าเทียม เส้นทางการต่อสู้เพื่อสองสิ่งที่เธอเชื่อมั่น หนึ่ง-สิทธิของผู้หลากหลายทางเพศ สอง-เสรีภาพในการแสดงออกของศิลปินไทย และหากชีวิตของเธอเป็นซีรีส์สักเรื่อง คงเป็นเรื่องที่โรยไว้ด้วยหนามกุหลาบ ที่บางคนเขียนบทให้เธอต้องเจอกับความอยุติธรรม ทว่าความหวังและความมุ่งมั่นของเธอส่องแสงเรืองรองเสมอ อุปสรรคทำให้เธอแกร่งและชัดเจนในเป้าหมายมากขึ้น และแม้การเป็นส.ส.ของเธอจะต้องปิดฉากลง แต่เราเชื่อเหลือเกินว่าซีรีส์เรื่องนี้ยังไม่ถึงตอนสุดท้าย ตราบใดที่ทุกคนยังคงมีความหวัง และดั่งเช่นที่มีคนกล่าวไว้ ‘ท่านเด็ดดอกไม้ทิ้งจะยิ่งบาน’
ซีรีส์วาย กับ การเรียกร้องสิทธิและการยอมรับของ LGBTQ+ เป็นเรื่องเดียวกันไหม
ตั้งแต่แรกดูมันเหมือนเป็นคนละเรื่อง สาววาย คือผู้หญิงที่อ่านนิยายวาย การ์ตูนวาย หรือมีคู่จิ้นผู้ชายกับผู้ชายด้วยกัน แต่พอเราทำงานเรื่อง LGBTQ+ มาตลอด ทำเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เราเรียนรู้ว่า LGBTQ+ คือ “ผู้มีความหลากหลายทางเพศ” คำนี้ค่อนข้างกว้าง ไม่ได้นิยามว่าจะต้องเป็นกะเทย ตุ๊ด ทอม ดี้ เหมือนเมื่อก่อน เดี๋ยวนี้มัน LGBTQINA+ แล้ว นอกจากหลากหลายทางเพศแล้วยังลื่นไหลทางเพศด้วย หมายความว่า มันไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นแค่ L หรือ G หรือ Q แค่นั้น ความลื่นไหลทางเพศ คือเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศได้ เปลี่ยนแปลงเพศสภาพได้ ฉะนั้น ‘ซีรีส์วาย’ ควรเป็นเรื่องเดียวกันไหม? พี่ว่ามันควรเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะว่าสาววายหรือคนที่นิยมดูซีรีส์วายเขาจิ้น หรือเขาชอบสตอรี่ของคนที่มีความรักในเพศเดียวกัน พอเป็นความรักเพศเดียวกันมันก็เป็นหนึ่งในคำนิยามของ LGBTQ+ เหมือนกัน
ปัจจุบันซีรีส์วายเริ่มมีการพูดถึง สิทธิ หรือการเป็นตัวตนของตัวละครตัวนั้นมากขึ้น ไม่ใช่แค่เรื่องรักของผู้ชายสองคนแล้ว เริ่มมีบริบทคนรอบข้าง มีครอบครัว มีเพื่อน เรามองว่า ซีรีส์วายเริ่มก้าวข้ามวายปกติแล้ว เริ่มเป็นวายที่ตอบคำถามกับสิทธิของคนๆ หนึ่งมากขึ้นว่าการที่เราจะชอบหรือรักใครสักคนหนึ่งมันต้องมาพร้อมสิทธิต่างๆ นะ เช่น สิทธิในการจดทะเบียนสมรส สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิเหล่านี้มันก็ต้องตามมา และเรียกร้องความเข้าใจจากสังคมและครอบครัว ตามมาด้วยกระบวนการเรียกร้องตามกฎหมาย มันจึงต้องเป็นเรื่องเดียวกัน
มีประเด็นถกเถียงกันว่า ความรักในซีรีส์วายคือผู้ชายที่ชอบผู้ชายเฉพาะผู้ชายคนนี้คนเดียว ไม่ได้เป็นเกย์ หรือนำเสนอแนวคิดรักกันไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศ แต่บางคนมองว่าแนวคิดนี้เป็นการลบ Identity ของอีกฝ่าย คุณมีมุมมองเรื่องนี้อย่างไร
คำว่า ‘Identity’ มันไม่ถาวร การที่เรายึดกรอบ ‘Identity’ กับตอนที่เราไม่ได้ยึดกรอบ ‘Identity’ มันคือเรื่องความหลากหลาย ถ้าเราเชื่อในความเป็นมนุษย์ มนุษย์คนหนึ่งมันไม่ควรจะถูกตีกรอบด้วยกรอบใดกรอบหนึ่ง แล้วเมื่อเรารู้สึกว่าเราไม่ใช่กรอบนั้น เราก็มีสิทธิที่จะเปลี่ยนได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นพี่เลยมองว่า การตีกันของทั้งสองฝ่าย การที่คุณบอกว่าไปลบ ‘Identity’ ของเกย์ หรือการที่คุณไปตีกรอบคำว่าเกย์ เอาจริงก็อึดอัดนะ เราหนีออกจากกรอบบทบาททางเพศชายและเพศหญิงมาอยู่ในกรอบเกย์ อ้าว… ยังถูกกรอบเกย์ตีกรอบอีกว่าคุณต้องหล่อ ต้องหุ่นดี ต้องซิกซ์แพ็ก อ่าว.. ทั้งๆ ที่บทบาททางเพศมันลื่นไหลได้ตลอดเวลา
แต่เวลาเกิดการตีกันของสาวกซีรีส์วายกับ LGBTQ+ พี่มองว่ามันดี เพราะสิ่งเหล่านี้คือประชาธิปไตย เราไม่สามารถไปบังคับใครให้เชื่อเหมือนเราได้ แต่สิ่งที่เราทำได้ คือ รับฟังความคิดเห็น เมื่อเกิดความขัดแย้ง พี่เชื่อในความขัดแย้ง แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งเราก็ต้องเคารพเสียงของคนที่คิดไม่เหมือนเราด้วย และเมื่อเกิดการฟังกันมันก็จะเกิดการ Educate การตั้งคำถามและพยายามหาคำตอบ
แต่แน่นอนว่าสังคมไทยมันไม่ถูก Educate แบบนี้ไง มันถูกบอกว่าใครคิดไม่เหมือนกู กูด่า กูโกรธ เกิดเป็นสงครามกันขึ้นมา นี่เป็นผลผลิตของระบบการศึกษาไทยที่เราไม่ถูกสอนให้เกิดความเข้าใจในระบอบประชาธิปไตยจริงๆ ในโรงเรียนคือที่ปลูกฝังอำนาจนิยมของเด็ก ของครู ผู้ปกครอง
เพราะฉะนั้นในส่วนตัวพี่ การตีกันมันดี แล้วทุกวันนี้ไม่ได้ตีกันอย่างเดียวนะ แต่เอาชุดข้อมูลมาใส่กัน พี่ก็เลยมองว่ามันโอเค มันเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ก็เลยกลายเป็นว่า พี่ได้ผลดีจากการที่เขาตีกันนะคะ
นอกจากการได้แลกเปลี่ยนความคิดกันแล้ว การถกเถียงมีผลดีอย่างไรบ้าง
ผลของการดีเบตกันระหว่างความคิดว่า ‘เฮ้ย… คุณไปล้าง Identity เขาไหม’ ‘เฮ้ย… คุณเข้าใจ LGBTQ+ ไหม’ เขาอธิบายซึ่งกันและกันในโลกทวิตเตอร์ มันก็ทำให้เกิดความเข้าใจกระจายเป็นวงกว้าง พอดีกับที่เรา Launch การแก้กฎหมาย มาตรา 1448 สมรสเท่าเทียมออกมาถูกที่ ถูกเวลาพอดี มันก็เกิดเป็นกระแสสังคม ทำให้เสียงของคนที่เข้าใจเรื่องคนเท่ากัน เรื่องการแต่งงาน จดทะเบียนสมรส แฮชแท็กสมรสเท่าเทียมขึ้นอันดับ 1 ในทวิตเตอร์
นอกจากนั้นสมรสเท่าเทียมเป็นร่างกฎหมายอันแรกที่ทำให้เว็บไซต์ของรัฐสภาระเบิด เพราะมีคนเข้าไปเป็นล้าน มีคอมเมนต์เกือบ 60,000 คน ซึ่งมันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในเว็บรัฐสภาไทย แล้วพี่ก็เห็นว่าทั้งสาววายเอย activist เอย สื่อเอย ต่างวิเคราะห์ร่างที่เราเสนอไป มีคนช่วยทำอินโฟกราฟิกอธิบายเยอะแยะไปหมดเลย ทำให้มันเข้าใจได้ง่าย เกิดการเปรียบเทียบกฎหมายเก่า กฎหมายใหม่ ซึ่งก่อน Launch พี่ตื่นเต้นมากว่าคนจะเข้าใจไหม รู้สึกว่าตอนนั้นมันเป็นการร่วมด้วยช่วยกันของนักแสดงซีรีส์วายเอง สาววายเอง ทุกคนช่วยกันติดแฮชแท็กนี้แล้วอธิบาย เนี่ย พี่รู้สึกว่าตรงนี้มันเป็นการสร้างความแข้มแข็ง สร้างความเข้าใจให้กับประเทศได้เลย นี่คือการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องขอบคุณสาวกซีรีส์วาย สาววาย คนอ่านหนังสือวาย ที่ร่วมด้วยช่วยกันผลักดันเรื่องนี้ แล้วตอนนี้มันไม่ได้มีแต่ LGBTQ+ ที่มาพูดเรื่องสมรสเท่าเทียม กลายเป็นว่าผู้ชาย ผู้หญิงทุกคน โดยที่ตัวเองไม่ใช่ LGBTQ+ ก็ออกมาพูดเรื่องนี้กันหมดเลย
พี่มองว่าเป็นจุดการเปลี่ยนแปลงใหญ่มากพอสมควร และมันอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายได้จริงๆ เพราะคนในสภาก็เดินมาถามเต็มไปหมด จากคนที่ไม่เข้าใจ คนที่อนุรักษ์นิยม พอมันเป็นกระแสมากๆ เขาก็ต้องการคำอธิบาย ก็เป็นโอกาสของเราที่จะแลกเปลี่ยนกับคนที่เขายังไม่เข้าใจเรื่องนี้ ซึ่งมันอาจจะยังแก้ไม่ได้ในสมัยนี้หรือรัฐบาลชุดนี้ก็ได้ แต่มันเป็นจุดเริ่มต้นที่เราจะพูดเรื่องนี้กันต่อไปในอนาคตเพื่อให้เกิดกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ก็ได้
การยอมรับ LGBTQ+ ในสังคมเราสถานะตอนนี้เป็นยังไง
สถานะตอนนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ คนรุ่นใหม่เข้าใจและคนรุ่นเก่าก็กำลังเริ่มทำความเข้าใจ แต่เขายังไม่ได้มีความเข้าใจเรื่องตัวบทกฎหมายว่า เฮ้ย… เมื่อมีคนแบบนี้แล้วมันต้องเกิดการยอมรับ เขาบอกว่า “โอ๊ย… ประเทศไทยยอมรับอยู่แล้ว” ใช่ คุณยอมรับว่ามี แต่คุณไม่ได้ยอมรับว่าเขาเป็นมนุษย์เท่ากับคุณไง
ตอนนี้มันจึงเป็นจุดเริ่มต้นว่า ทุกคนเริ่มเข้าใจว่ามีแล้ว ต้องเข้าใจต่อไปด้วยนะว่า เขาต้องได้รับการรับรองทางกฎหมายด้วย คุณบอกคุณยอมรับเขา แล้วคุณยอมรับว่าเขามีสิทธิเท่าคุณหรือเปล่า? พี่มองว่าตอนนี้เราจุดประกายเรียบร้อยแล้ว สเต็ปต่อไปสังคมต้องช่วยกันสื่อสารผ่านทางสื่อ ผ่านทางซีรีส์ ซึ่งเรามองว่าตอนนี้ซีรีส์วายมันก้าวไปจากเดิมแล้ว เช่น เรื่อง ‘พฤติการณ์ที่ตาย Manner of Death’ ของพี่มะเดี่ยว – ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุลกำกับ ทาง WeTV ก็เริ่มมีอาชีพอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นนักศึกษา เริ่มเป็นตำรวจ เป็นหมอชันสูตร เป็นนักเลงคุมผับ เริ่มมีการสืบสวนสอบสวน พูดเรื่องสังคม ยาเสพติด อำนาจนิยม นุชชี่ – อนุชา บุญยวรรธนะ ทำ ‘อนธการ The Blue Hour (2015)’, ‘มะลิลา (2018)’ เริ่มมีประเด็นสังคม มีประเด็นศิลปะวัฒนธรรมเข้ามา หรือรุ่นใหม่ๆ ที่กำลังมา เช่น ‘แปลรักฉันด้วยใจเธอ’ พี่ก็ดู และเห็นว่าน้องเขาเก่งมาก หรือจะเป็น ‘Gay Ok Bangkok’ เราก็จะเห็นว่า นี่แหละชีวิต มันไม่ใช่วายนะ นี่คือ gay life มันคือชีวิตคนๆ หนึ่ง มันเป็นแบบนี้ ซึ่งพี่มองว่านี่ซีรีส์เหล่านี้เป็น Soft Power ที่ยังขายของได้อยู่ และผู้สร้างเองมีทัศนคติ มีวิสัยทัศน์ที่จะเปลี่ยนแปลงสังคมไปด้วยกันด้วย ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ เราก็ดีใจที่น้องๆ คนทำหนัง คนทำซีรีส์รุ่นใหม่นอกจากที่จะขายของเก่งแล้ว ก็ยังนำเสนอคอนเทนต์ที่มีความแข็งแรงด้วยเนื้อหาไปด้วย เป็นซีรีส์วายที่คนดูแล้วยังจิ้นได้ แต่ก็จับต้องความเป็นมนุษย์ของเขาได้ด้วย ซึ่งเราต้องสร้างสิ่งเหล่านี้เยอะๆ
เมื่อก่อนนี้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า Stereotype ของ LGBTQ+ เรายังเห็นโฆษณาที่ลูกเปิดเผยว่าเป็นปั๊ป ก็ยังมีการบูลลี่จากคนที่บอกว่ารักเขา ก็คือพ่อแม่
เราถูกบูลลี่ด้วยคำว่าความรักจากครอบครัว จากคุณครู เรายังถูกบูลลี่ด้วยคำว่าความรักอยู่ตลอดเวลา และเราถูกกดทับด้วยคำว่าความดี เช่น ‘คุณเป็นอะไรก็ได้ แต่ขอให้คุณเป็นคนดี’ อ้าว… นี่ด่ากูนิ กลายเป็นว่าเป็นกะเทยต้องดีด้วย เป็นคนปกติไม่ได้ มีเลวไม่ได้ คุณจะไม่ถูกยอมรับ มันก็เลยกลายเป็นว่า ถูกคำว่า ‘ความรัก’ กับ ‘ความดี’ กดทับเข้าไปอีก
เพราะฉะนั้นก็เป็นหน้าที่ที่สำคัญของคนทำซีรีส์ยุคใหม่ ต้องช่วยกันสร้าง Stereotype ใหม่ๆ สร้างความเข้าใจ สร้างภาพจำว่า เมื่อเราเป็น LGBTQ+ แล้ว เราควรถูกยอมรับจากครอบครัว โรงเรียน สังคม และกฎหมายในประเทศด้วย
จากที่ทำงานในวงการบันเทิง อะไรคือจุดเปลี่ยนให้คุณตัดสินใจ ก้าวเข้าวงการการเมือง
จริงๆ ก็เนื่องจากตัวเราเองก็เป็นกะเทย แล้วเรารู้ตัวเองตั้งแต่เด็ก พอเราประกาศตัวว่ามีรสนิยมแบบนี้ มันก็มีผลกระทบต่างๆ ตามมา แล้วเรามีคำถามมาตลอดตั้งแต่เรียนมัธยม ‘เอ๊ะ… นี่เราไม่เท่ากับคนอื่นตรงไหนวะ’ ทั้งที่เราควรจะได้สิทธิต่างๆ ทางสังคม การยอมรับต่างๆ เท่ากันทุกคน แต่ปรากฏว่า เมื่อเป็นผู้ชายจะได้มากกว่า ผู้หญิงได้อีกแบบหนึ่ง แล้วพอเป็นกะเทยปุ๊บ กลายเป็นบุคคลชั้นสามสี่ห้าหก ซึ่งเราโดนกระทำแบบนี้ โดนบูลลี่เอย โดนเลือกปฏิบัติเอย มาตั้งแต่เด็ก เราถูกบทบาททางเพศบอกมาตั้งแต่เราเกิด ซึ่งถามว่าตอนเราเกิด เราเลือกเกิดไม่ได้ด้วยอวัยวะเพศหรือเรียกว่าเพศกำเนิด คำถามคือ ทำไมเราต้องปฏิบัติตัวตามบทบาททางเพศ ตามเพศกำเนิดที่เราได้รับ โดยที่เราไม่สามารถเลือกเพศสภาพได้ด้วยตัวเราเองล่ะ และคำถามเหล่านี้มันอยู่ในใจมาตลอด
จุดพีคคือ เราทำหนังเรื่อง ‘แมลงรักในสวนหลังบ้าน : Insects in the Backyard’ แล้วมันโดนแบน ซึ่งแบบ… เฮ้ย เราต้องการทำหนังที่สื่อสารกับคนโดยที่ต้องการจะทำความเข้าใจความหลากหลายทางเพศว่า การเป็นมนุษย์มันมีมากกว่าหนึ่งแบบ สองแบบ ตามที่เราถูก Stereotype เราต่อสู้ในชั้นศาล กว่าหนังจะได้ฉายเข้าโรง 7 ปี มันยาวนานมาก แล้วตรงนั้นมันก็เป็นสองอย่างที่เราต่อสู้และทำความเข้าใจกับสังคมมาตลอดคือ หนึ่ง – สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ สอง – เสรีภาพทางการแสดงออกของคนทำงานศิลปะ
ชีวิตคุณเปลี่ยนไปเยอะไหม
มันเปลี่ยนชีวิตนะ เมื่อก่อนเราเป็น Artist ที่ค่อนข้างมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก แล้วพอเข้าไปอยู่ตรงนั้น เหมือนเป็นคนของประชาชนที่ทุกคนสามารถจะวิพากษ์วิจารณ์เราได้หมด ก็ตัดสินใจนานเหมือนกัน แต่สุดท้ายก็เปลี่ยน แล้วถ้าเราได้เป็นคนแรกจริงๆ มันก็น่าจะเปิดประตูอะไรได้หลายๆ อย่าง อย่างน้อยที่สุดการที่ได้เข้าไปเป็น สส. มันเป็นการแสดงจุดยืนและแสดงให้คนในประเทศเห็นว่า เราเป็นตัวแทนของผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เข้าไปยืนเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะคำว่า ‘ผู้แทนราษฎร’ มันคือผู้แทนของคนแบบเนี้ย ซึ่งมีไม่รู้กี่ล้านคนทั่วประเทศนี้ เขาต้องมีผู้แทนเพื่อที่จะต่อสู้ เพื่อที่จะบอกว่า เราเป็นคนๆ หนึ่ง ที่ควรจะได้รับสิทธิเท่ากับทุกคน
ฟังดูเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิต ย้อนกลับไปตอนนั้นรู้สึกอย่างไร
ตอนนั้นคิดว่าพรรคอนาคตใหม่จะมีส.ส.ไหม ไม่รู้เลย แล้วเราทำอยู่เนี่ย ถูกหรือเปล่าไม่รู้ แต่พอเราไปปราศรัยใหญ่ที่เชียงใหม่ เชียงราย มีคนมานั่งฟังปราศรัยเราเป็นพันๆ คน แล้วเราก็เป็นกะเทยคนหนึ่งที่ไม่มีอำนาจอะไรเลย เราขึ้นไปพูดเรื่องความเท่าเทียมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ก็ยังไม่รู้ว่าเขาจะรับสิ่งที่เราพูดได้มากน้อยแค่ไหน เราก็ขึ้นไปพูดซื่อๆ แหละว่าในการที่เราเกิดมาเป็นกะเทยคนหนึ่ง เราถูกโกงความเป็นมนุษย์อะไรบ้าง เราถูกฆ่าตัดตอนความฝันอะไรบ้าง
เราเกิดมาโดยที่ไม่เคยเห็น role model กะเทยเป็นนักการเมือง เป็นข้าราชการระดับสูง แล้วสามารถแต่งเป็นผู้หญิงแล้วถูกยกย่องส่งเสริมมาก่อน เราเห็น role model กะเทยแต่เป็นตลกโปกฮา ซึ่งกลายเป็นภาพจำของคนในสังคม แล้วเราจะหนีภาพจำเหล่านั้นได้ยังไง เมื่อเราไม่ได้เป็นคนตลก เราไม่ได้เป็นกะเทยแบบที่สังคมบอก นั่นมันทำให้เราไม่กล้าฝันที่จะเป็นรัฐมนตรี ไม่กล้าฝันที่จะเป็นนายก ไม่กล้าฝันที่จะประสบความสำเร็จ ทั้งที่เรารู้สึกว่าเรามีความรู้ ความสามารถ
สังคมก็ควรจะมีทางให้คนที่มีความรู้ ความสามารถ มีวิสัยทัศน์สิ แต่พอเราเป็นกะเทยปุ๊บ เราก็จะเจอกะเทยรอบข้าง แล้วก็จะเห็นภาพจำที่อยู่ในทีวีว่าเป็นกะเทยแบบนั้นแบบนี้ ในขณะที่สมมติมีคนเป็นหมอ เป็นครูจริง แต่คนเหล่านี้บางคนก็ไม่สามารถแต่งตัวหรือแสดงออกในแบบที่ตัวเองต้องการได้ ก็ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของหน่วยงานเหล่านั้น ซึ่งไม่ได้เอื้อต่อการเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศและสามารถเป็นตัวของตัวเอง และใช้ความรู้ ความสามารถตัวเองอย่างเต็ม 100% ทุกคนยังถูกกด ไม่ได้ใช้ความสามารถเต็มที่ และถูกโยนไปให้แค่อาชีพบางอาชีพ คุณไปเป็นสไตล์ลิสต์ ไปเป็นช่างแต่งหน้า เฮ้ย… กะเทยเป็นอาชีพได้เท่านี้เหรอ
เพราะฉะนั้นการถูกกดทับเหล่านั้น มันทำให้พี่ตั้งคำถาม และพยายามหาคำตอบให้ได้ และเมื่อเราไปพูดสิ่งเหล่านี้บนเวทีแล้วมีคนนั่งเงียบฟังเรา โฟกัสมาที่เรา เรารู้สึกขนลุกมาก ทุกคนพร้อมจะเข้าใจ ว่าเราก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่สมควรได้รับความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน พอเราลงเวทีมามีคนมากอดเยอะมาก แล้วบอก “ฝากความหวังด้วยพี่ ผมมีแฟนเป็นกะเทย” “ผมเป็นทอม” “หนูชอบผู้หญิง ช่วยทำให้เรามีกฎหมายรองรับได้ไหม ช่วยทำให้เราสามารถมีชีวิตเหมือนคนอื่นได้ไหม” โห… ตอนนั้นร้องไห้หนักมาก เพราะเราไม่เคยคิดว่าเราจะเป็นความหวังของใครมาก่อน แล้วพอเรายืนตรงนี้แล้วบอกว่าเราเป็นตัวแทนของพวกเขา พวกเขาเข้ามาให้กำลังใจ เลยรู้สึกว่า ยังมีคนที่ไม่ได้พร้อมเท่าเราด้วยซ้ำ หรือมีคนที่พร้อมมากกว่าเรา แต่เขาไม่กล้าจะออกจากเซฟโซน ไม่กล้าที่จะบอกว่าตัวเองเป็นะไร คนที่ยังไม่ come out คนที่ไม่กล้าออกมาบอกครอบครัว คนที่ไม่กล้าออกมาบอกกับคนในสังคมว่าตัวเขา Prefer ที่จะเป็นคนแบบนั้น เพราะฉะนั้นคนเหล่านี้อีกเยอะแยะมากมายที่มาให้กำลังใจเรา มันก็ทำให้เรา อะ… ต้องสู้ต่อไป เพราะเราไม่ได้สู้เพื่อตัวเราคนเดียว เรารู้ว่ามีอีกหลายล้านคนที่เป็นแบบเรา และเขาต้องการที่จะมีชีวิต เขาไม่ได้ต้องการที่จะมีชีวิตพิเศษกว่าคนอื่นนะคะ เขาต้องการจะมีชีวิตที่ได้มีความปกติเท่าเทียมกับทุกคนแค่นั้นเอง
ในการขับเคลื่อนสองประเด็นนี้ จากบทบาทของผู้กำกับภาพยนตร์ ที่ใช้ Soft Power สู่การเป็นผู้แทนราษฎรเสนอร่างนโยบายในสภา สองบทบาทมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไรในการพัฒนาประเทศ
แตกต่างมาก เพราะว่าการที่เราเป็นผู้กำกับ เมื่อเราทำหนังอิสระที่ต้องการจะพูดถึงสิ่งเหล่านี้ เราโดนแบน หรือหนังของเรามีคนดู 500 คน แตกต่างกับคนที่ถือนโยบาย สมมติว่าเราเป็นคนออกนโยบาย แล้วเรามีความรู้เรื่อง LGBTQ+ เรื่อง freedom of expression เรารู้ว่าคนทำงานศิลปะ ศิลปินนั้นมันไม่ใช่อาชีพ เพราะประเทศนี้ไม่มีอาชีพศิลปิน คำว่าอาชีพมันต้องมีความมั่นคง แต่อาชีพศิลปินในประเทศนี้ไม่มีความมั่นคง ไม่สามารถมี statement ที่จะไปกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ ระบบการเงินของประเทศนี้มันไม่ได้เอื้อให้อาชีพ freelance ซื้ออะไรที่จะสร้างความมั่นคงให้กับชีวิตได้เหมือนกับอาชีพอื่นๆ ที่มีเงินเดือน จะซื้อบ้านซื้อรถต้องซื้อเงินสด โห.. กว่าคนเราจะมีเงินสดก้อนใหญ่ขนาดที่จะซื้อของใหญ่ขนาดนั้นมันก็เป็นไปได้ยาก
ซึ่งทั้งหมดเกี่ยวกับการเมืองและนโยบายต่างๆ ของรัฐโดยตรง เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นผู้กำกับตัวเล็กๆ คนหนึ่ง ทำหนังมีคนดู 500 คน มันจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้ไหม ไม่ได ้ฉะนั้นมันเป็นความใฝ่ฝันของเราที่อยากเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม
เพราะการใช้คำว่า Soft Power มันไม่ใช่พูดอย่างเดียว ต้องทำด้วย และทำด้วยความเข้าใจ 20 ปีที่แล้วเกาหลีมาดูโมเดลของไทย แล้วเขาบอกว่า 20 ปีเขาจะต้องได้คานส์ ได้ออสการ์ และทำ Soft Power ให้เป็น Business เขาเรียกว่า ขายสินค้าทางวัฒนธรรม ประเทศไทยก็พูดตาม แต่ต้องย้อนกลับมาถามว่าแล้วประเทศไทยล่ะ เข้าใจหรือเปล่าว่า ‘Soft Power’ คืออะไร กว่าที่เกาหลีจะผลิต ‘บงจุนโฮ (Bong Joon-ho)’ ผู้กำกับระดับโลกมาได้ งานของเขาดังมาจากหนังที่วิพากษ์ความไร้ประสิทธิภาพ ความเหลื่อมล้ำของเกาหลีในแง่มุมต่างๆ มาหมดแล้ว
ในขณะที่รัฐไทยยังคิดว่า ‘Soft Power’ คือ Propaganda (โฆษณาชวนเชื่อ) ที่จะสามารถยัดสิ่งดีๆ ให้คนดูและคนดูจะ ‘ดี’ ตาม แล้วคำว่า ‘ดี’ นั้นจะต้องเป็นคำว่า ‘ดี’ ที่ถูกนิยามจากฝ่ายรัฐบาลฝ่ายเดียว ทั้งๆ ที่คำว่า ‘ดี’ นั้นมันไม่มีมาตรฐานอะไรเลย คำว่า ‘ดี’ ของเรา ‘ดี’ ของรัฐ ‘ดี’ ของคุณ มันไม่เหมือนกันเลยนะ เมื่อพี่เข้าไปเป็น ส.ส. เข้าไปคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมถึงการจะใช้ Soft Power ว่าเรากล้ายอมรับความเป็นจริงของประเทศเราแล้วเล่าสิ่งเหล่านั้นหรือเปล่า แล้วขายสินค้าที่พ่วงไปกับเรื่องราวที่น่าสนใจออกมา
เพราะฉะนั้นคำถามก็คือว่า ในการที่เราเป็นผู้กำกับแล้วใช้ ‘Soft Power’ ในการเปลี่ยนแปลงประเทศ ทำได้ไหม? ทำได้ค่ะ แต่เรื่องราวเหล่านั้นต้องถูกส่งเสริมและสนับสนุนทั้งเงินทุน ช่องทาง คอนเนกชันจากหน่วยงานรัฐที่มีความรู้ ความเข้าใจ และมีประสิทธิภาพในการทำงาน
อะไรคือสิ่งแรกที่คุณอยากเปลี่ยนเพื่อพัฒนาวงการศิลปะ และสื่อบันเทิงของไทย
freedom of expression ต่องานศิลปะในเมืองไทย freedom of expression ของ artist ในเมืองไทยมันน้อยมาก เพราะที่ผ่านมาเราถูกตีกรอบ เราถูกฆ่าตัดตอนทางจินตนาการมาตลอดตั้งแต่เด็ก ศิลปะในประเทศเราสอนแบบให้ทำตามขนบ เรียกว่าลอกแล้วกัน สอนให้วาดรูปตามธรรมชาติ ช้าง ม้า วัว ควาย พระอาทิตย์ ส้ม มะละกอ แอปเปิ้ล ใครวาดเหมือนก็ได้ 10 เต็ม แต่เราไม่เคยถูกสอนศิลปะแบบเด็กที่คิดต่าง ถ้าเราวาดไม่เหมือน หรือมีจินตนาการว่าสิ่งที่เราเห็นมันเป็นอย่างอื่น ถ้าเราไม่สามารถทำตามที่ครูบอกได้ เด็กคนนั้นจะถูกตั้งคำถาม เธอทำผิดโจทย์ที่ครูบอก เราต้องการอธิบาย แต่ครูไม่เคยให้เด็กออกมาอธิบายว่าทำไมจึงคิดแบบนี้ มันจึงมีผลต่องานศิลปะหรือวงการศิลปะในประเทศเราที่มักจะถูกตีกรอบให้ลอกเลียนแบบ ให้เป็น Technician ไม่ใช่ Artist พี่ก็ต่อสู้เรื่องนี้มาตลอด
เหนื่อยหรือกดดันบ้างไหม ที่บางครั้งพอทำหนังหรือซีรีส์ LGBTQ+ หรือวาย มักถูกคาดหวังว่าจะต้องส่งสารอะไรบางอย่างต่อสังคม
ไม่หรอกค่ะ จริงๆ แล้วพี่มองว่ามันไม่ได้เหนื่อยมากกว่ากันหรอก เพราะตัวพี่เองก็ทำซีรีส์ละครชายหญิงมาตลอด มันขึ้นอยู่กับคนทำต่างหากว่าเขามีวิสัยทัศน์ ทัศนคติอย่างไร คนที่ทำเอาเรตติ้งอย่างเดียวก็มี ตบตีแย่งผัวไหม มี แต่ถ้าเราทำได้ เราก็จะบอกนายทุน บอกผู้จัดว่า เราจะสอดแทรก นำเสนอ เราบอกว่าเราไม่ทำฉากข่มขืนนะ ถ้ามีข่มขืนมาเราไม่ทำ เราสามารถบอกตัวเองแบบนั้นและบอกเขาได้ เราเลือกได้ เพราะถ้าเราทำแปลว่าเราก็สนับสนุน เราบอกเราไม่ทำ Stereotype ที่กะเทยเป็นแบบนี้แบบนั้น ซึ่งแน่นอนเราอาจจะถูกบังคับด้วยว่าเราต้องทำมาหากินเนอะ เขาอยากได้อะไรเราก็ต้องทำให้ แต่ว่าต้องมีการ Compromise และคุยกันเหมือนกัน
แต่ตอนนี้เรามองว่ากระแสสังคมก็เริ่มที่จะกดดันคนทำงานนะ เมื่อมันมีข่มขืน เขาก็ด่ากันในทวิตเตอร์ เมื่อมันรุนแรงเกินไปเขาก็มี Feedback พี่ว่ามันก็ทำให้คนทำเริ่มตระหนักถึงว่าอะไรมีความเหมาะสมไม่เหมาะสมมากขึ้น
อะไรคือความท้าทายในการทำหนัง ซีรีส์ ในสถานการณ์บ้านเมืองเเบบนี้
การทำหนังหนึ่งเรื่อง ซีรีส์หนึ่งเรื่อง มันไม่ใช่ว่าคิดปุ๊บจะออกมาเป็นภาพได้เลย มันต้องใช้เงิน แล้วนักลงทุนเขาต้องคำนึงถึงกำไรเป็นที่ตั้ง คนเอาเงินมาลงทุนเพื่อจะโปรโมทสินค้าเขา เพราะฉะนั้นการที่เขาจะกำหนดเนื้อหาก็ย่อมเป็นไปได้ เขาต้องการเนื้อหาที่คนดูดูแล้วซื้อสินค้าของเขา
เพราะฉะนั้นอย่าลืมว่ายิ่งประเทศมีการผูกขาดทางการค้าที่เอื้อประโยชน์จากทางรัฐบาล เราจะเห็นว่า วงการบันเทิงเราก็จะถูกผูกติดกับค่านิยมคำว่า ‘ความดี’ แล้วก็พ่วงไปกับหน่วยงานรัฐ มันก็จะมีนักแสดง ดารา ที่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมืองแล้วก็โดนแบน ถ้าถามว่าเป็นไปได้ไหมที่เอกชนจะลุกขึ้นมาทำหนังที่มันดี คนดูเป็นร้อยล้าน สนุก และได้เนื้อหาสาระที่เป็น Soft Power พร้อมจะเปลี่ยนแปลงประเทศ ต้องถามว่า คนที่มีเงินลงทุน คนที่มีอำนาจตัดสินใจ คือใครล่ะ? ถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่ออกมาจากหน่วยงานรัฐที่ทำโดยไม่หวังผลกำไร มันก็ยาก ทุกอย่างมันถูกขับเคลื่อนด้วยภาครัฐอยู่แล้ว มันถึงเป็นคำถามว่า ’ทำไมถึงอยากเป็น ส.ส.’ ‘ถึงอยากจะเข้ามาเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ’ เพราะเห็นไหม พอทุกอย่างจะทำมันต้องกลับไปที่ตรงนั้นหมดเลย
ทุกวันนี้เราไม่สามารถปิดหูปิดตาอะไรได้แล้ว เรามานั่งทำสื่อแล้วบอกว่าเป็น Soft Power ล้างสมองให้คนเชื่อ มันไม่ได้แล้ว ถ้าบอกให้เขาเชื่อ รับรองไม่มีใครเชื่อ เขาจะเสิร์ชหาข้อมูลมาขัดแย้งทันที เพราะฉะนั้นรัฐต้องมีความฉลาดในการที่จะทำให้คนในประเทศเชื่อในสิ่งที่กำลังทำอยู่ พอรัฐไม่ได้เชื่อเหมือนที่ประชาชนเชื่อ มันยากแล้วที่จะทำงานสอดประสานโดยที่ประชาชนไม่มีสิทธิตรวจสอบอะไรเลย
เจอมาหลายอย่างมาก คุณมีวิธีรักษาความหวังและไฟในตัวเองที่จะต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
เหนื่อยมากเลย ถามว่าท้อไหม พี่ก็ท้อนะ ท้อตลอดเวลา เพราะว่าสิ่งที่เรามีอุดมการณ์ มันก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างยาก แต่ถ้าเมื่อไรที่เราคิดว่ามันยากและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แปลว่าเรายังไม่เริ่มต้นทำอะไรเลย ถ้าเราเชื่อว่ามันต้องเปลี่ยนแปลงได้สิ ไม่ตอนนี้ อีก 5 ปี อีก 10 ปี มันก็ต้องเปลี่ยนได้ ถ้าเรายังมีความหวัง แต่ถ้าเราไม่เชื่อว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ มันก็จะไม่เปลี่ยน อาจจะไม่ใช่เราใน Finally แต่อย่างน้อยที่สุดเราได้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง มันก็น่าจะทำให้ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นได้