- เมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City คือการสร้างเมืองโดยใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของประชาชนทุกระดับ ส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต และต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเอง
- ในงาน TEP Forum 2024 ภายใต้หัวข้อ ‘สร้างประเทศไทยเป็นสังคมการเรียนรู้ เรียนรู้สู่สมรรถนะอย่างไร้รอยต่อ’ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม และ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ได้แลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการพัฒนาประเทศให้มีสภาพแวดล้อมพร้อมแก่การเรียนรู้อย่างยั่งยืน
- การสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ เป็นภารกิจสำคัญร่วมกันของทุกภาคส่วน ที่จะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ และพัฒนาคนและเมืองไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน
‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ คืออนาคตของการศึกษาไทย ที่ทุกคนสามารถเรียนรู้และเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ
ในยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทักษะและความรู้ในโรงเรียนเพียงอย่างเดียว อาจไม่มากพอต่อความต้องการของโลกยุคใหม่ ดังนั้น การเรียนรู้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และการสร้างสิ่งแวดล้อมของสถานศึกษา รวมถึง พื้นที่การเรียนรู้ (Learning Space) จึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน
เมืองแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning City คือการสร้างเมืองโดยใช้ทรัพยากรในทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ของประชาชนทุกระดับ อาศัยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดช่วงชีวิต ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยพัฒนาทักษะและความรู้ให้ตรงกับความสนใจของแต่ละบุคคล และสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตนเองได้
ในงาน TEP Forum 2024 ภายใต้หัวข้อ ‘สร้างประเทศไทยเป็นสังคมการเรียนรู้ เรียนรู้สู่สมรรถนะอย่างไร้รอยต่อ’ รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และ ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร ได้ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและแนวทางการพัฒนาประเทศไทยให้มีสภาพแวดล้อมพร้อมแก่การเรียนรู้ รวมถึงการผลักดันให้กรุงเทพมหานคร ก้าวเข้าสู่ ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ อย่างยั่งยืน
โดย รศ.ดร.ปุ่น ได้ชวนตั้งคำถามเกี่ยวกับการศึกษา ว่าแท้จริงแล้วการศึกษาเป็นของใคร เพราะการเรียนรู้ไม่ใช่แค่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของ ‘ทุกคน’ ที่อยู่ในเมือง ดังนั้นการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการช่วยกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ จะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้การศึกษาไทยเติบโตไปพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ในขณะที่ศานนท์ได้นำเสนอโมเดล นโยบาย และโครงการต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาการศึกษา พัฒนาทักษะ และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทุกเพศทุกวัย และคาดหวังว่าจะบรรลุเป้าหมายในการสร้างกรุงเทพฯ ให้กลายเป็น ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ ที่ไม่ว่าจะเป็นใคร ก็มีโอกาสที่จะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ และสามารถพัฒนาได้อย่างเต็มศักยภาพโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
Learning City โมเดลพัฒนาเมืองสู่นิเวศแห่งการเรียนรู้
‘เมือง’ ในที่นี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่ ‘สถานที่’ แต่หมายถึง ชุมชน ระบบนิเวศ และคนทุกคนที่อยู่ในเมือง ดร.ปุ่น เน้นย้ำ
เพราะเราสามารถเรียนรู้ได้ทุกช่วงวัย ไม่ใช่เพียงแค่เด็กนักเรียนเท่านั้น และจากสาเหตุดังกล่าว ประเด็นในเรื่องการออกแบบเมืองจึงเป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาการเรียนรู้ ซึ่งเมืองแห่งการเรียนรู้นั้นจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
“เรื่องระบบการศึกษามักถูกตั้งคำถาม และประเด็นนี้ก็ถูกยกขึ้นมาถกเถียงบ่อยครั้ง แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความหวังของการศึกษา คือการสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้
เพราะระบบการศึกษาหรือเมืองแห่งการเรียนรู้ มักจะถูกตั้งคำถามว่าเป็นของใครกันแน่ เป็นของคุณครู ของเด็ก ของรัฐบาลหรือเปล่า แต่ผมอยากให้ถอยออกมามองนิดนึง มาดูว่าจริงๆ แล้วเราต้องการอะไร คำตอบคือ เราต้องการให้มนุษย์และลูกหลานสามารถอยู่รอดและแข่งขันกับคนอื่นได้ แต่เขาต้องเกิดการเรียนรู้ ซึ่งการเรียนรู้จะเกิดขึ้นได้ เราจะต้องมีความสุขก่อน
ในมุมมองของผมในฐานะนักพัฒนาเมือง ผมมองว่าโรงเรียนเป็นเพียงฟังก์ชันหนึ่ง ที่อาจจะยังไม่พอกับโลกปัจจุบัน จากสถิติคะแนนการวัดระดับของนักเรียนไทย ผลลัพธ์สะท้อนได้ว่าการที่มีแค่โรงเรียนเพียงอย่างเดียว อาจจะทำให้เราตามคนอื่นไม่ทัน”
ดร.ปุ่น ยกตัวอย่างความสำเร็จทางการศึกษาของประเทศฟินแลนด์และเกาหลีใต้ โดยฟินแลนด์เป็นประเทศที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวาง ว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก นักเรียนฟินแลนด์มักทำคะแนนได้ดีในการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) ในขณะที่เกาหลีใต้ก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีผลคะแนน PISA เป็นอันดับต้นๆ เช่นกัน
แต่ก็ให้ความเห็นว่า ความสำเร็จที่เกิดกับประเทศอื่นๆ นั้นเป็นเพราะแต่ละพื้นที่ก็มีแรงผลักดัน (Driving Force) ที่แตกต่างกันไปตามบริบทของประเทศ โดยแรงผลักดันนั้นก็เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จ (Key Success) ทำให้มีผลลัพธ์ที่ดีในระบบการศึกษา ซึ่งประเทศไทยเองก็สามารถสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ให้ประสบความสำเร็จได้เช่นกัน
ดร.ปุ่น จึงได้ยกตัวอย่างเมืองที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเป็น ‘เมืองแห่งการเรียนรู้’ เช่น จังหวัดขอนแก่น มีการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ที่หลากหลาย ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สนับสนุนให้ประชาชนมีทักษะที่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพและพัฒนาชุมชน, จังหวัดพะเยา มีการปรับใช้แนวคิดเมืองแห่งการเรียนรู้ของ UNESCO ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในจังหวัด และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรม รวมถึงจังหวัดยะลา ที่มีการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้พหุวัฒนธรรมและมาร์เก็ตเพลซต่างๆ ในชุมชน ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม สนับสนุนการเรียนรู้ทักษะอาชีพและการประกอบการ
โดยความสำเร็จของเมืองเหล่านี้ แสดงให้เห็นว่า การพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แค่เมืองใหญ่ แต่สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกพื้นที่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และประชาชนทั่วไป
“สิ่งนี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อระบบการเรียนรู้เป็นของเมือง ส่วนกลางต้องสนับสนุน ทุกคนต้องเป็นเจ้าของ เราต้องเชื่อว่าการเรียนรู้จะถูกส่งมอบต่อ ถ้าเราเชื่อว่าโรงเรียนหรือสถานที่ในการเรียนรู้เป็นของเราเอง ผมเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถปฏิรูปขบวนการนี้ได้”
เพราะการเรียนรู้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในหน้ากระดาษ หรือในโรงเรียน แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา สิ่งสำคัญที่ขับเคลื่อนพลังแห่งการเรียนรู้ คือ แรงผลักดัน (Driving Force) ระบบนิเวศ (Ecology) และ ความสามารถ (Capability)
“ถ้า 3 ปัจจัยนี้ถูกขับเคลื่อนอย่างเป็นระบบ สิ่งที่เราต้องการอาจจะไม่ใช่โรงเรียน แต่คือนิเวศของการเรียนรู้ที่สังคมเราต้องการ ดังนั้น โรงเรียนยุคใหม่ และ Space ใหม่ๆ จะเกิดขึ้นในยุคของเราครับ” ดร. ปุ่น กล่าว
Bangkok Learning City เติมสมรรถนะคนเมืองหลวง ให้หลุดบ่วงแห่งความยากจน
“เมืองไม่มีทางดีกว่าคน เพราะหากคนเป็นอย่างไร เมืองก็จะเป็นแบบนั้น เราจึงต้องไปพัฒนาคนให้ดีขึ้น ซึ่งการจะทําให้คนดีขึ้นก็ต้องไปพัฒนาการศึกษา”
ศานนท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เล่าถึงสภาพปัญหาการจัดการศึกษาในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่าเด็กจำนวนมากไม่ได้อยู่ในระบบที่ กทม. ดูแล และหลายครอบครัวตกอยู่ในเส้นความยากจนที่ยากจะออกมาได้ หากไม่มีกระบวนการหรือหน่วยงานใดเข้าไปช่วยเหลือ
“ตอนนี้มีโรงเรียนจำนวน 374 โรงเรียนที่ กทม.ดูแลอยู่ ซึ่งเราดูแลโรงเรียนที่มีความสัมพันธ์กับชุมชน โดยเฉพาะชุมชนแออัด ซึ่งจะเป็นการเรียนฟรี คนส่วนใหญ่จึงส่งลูกเข้าโรงเรียน กทม. เพราะพ่อแม่ก็หาเช้ากินค่ำ
จุดประสงค์หลักคือเราต้องทำให้ลูกเขาดีขึ้น และดีกว่าพ่อแม่ของเขาให้ได้ แล้วเราจะทำอย่างไรให้เกิดขึ้น หลายงานวิจัยเรียกสิ่งนี้ว่าการทำ Social Mobility คือการทำให้เด็กดีขึ้น หลุดออกจากเส้นความยากจนผ่านการศึกษา
หัวใจหลักของเราคือต้องการทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย ทำให้เด็กอยากมาโรงเรียน และอยากพัฒนาตัวเองให้ดีกว่าเดิม เพราะในชุมชนประกอบไปด้วยหลายปัจจัยที่ไม่ใช่แค่ปัจจัยทางบวก มันยังประกอบไปด้วยปัจจัยทางลบ เช่น ยาเสพติด ดังนั้นโรงเรียนจึงเป็นประตูแรกที่เราน่าจะทำได้
ในประเด็นการเรียนรู้โดยภาพรวม สิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ให้นโยบายมาคือ จะทำอย่างไรให้การเรียนรู้ไม่จบแค่ที่โรงเรียน ซึ่งจุดแรกเราต้องตีโจทย์ให้แตกก่อนว่า การศึกษาคือการที่มีคนมาทำให้ คือรัฐทำให้เด็ก และเด็กมานั่งเรียน แต่การเรียนรู้ เราก็ต้องทำให้เขาอยากเรียนรู้ด้วยตนเอง อยากแสวงหาสิ่งที่เขาอยากเรียนรู้ด้วยตัวเอง (Education is what people do to you, Learning is what you do to yourself)
ซึ่งพอโจทย์เปลี่ยน การเรียนรู้ทั้งในโรงเรียนและในเมืองก็จะเปลี่ยนไปทั้งหมด และพอมีเป้าหมายนี้แล้วผมเลยนำมาตีโจทย์ Learning City ที่ทำร่วมกันกับภาคีอื่นๆ”
โดยทาง กทม.ได้แบ่งออกมาเป็น 4 เรื่องหลักๆ ในการที่จะพัฒนาให้ตอบโจทย์เมืองแห่งการเรียนรู้ ได้แก่ การดูแลเด็กปฐมวัย (Early Childhood Development) การพัฒนาการศึกษาภาคบังคับ (Compulsory Education) การพัฒนาทักษะอาชีพ (Vocational Skills Development) และ การส่งเสริมการเรียนรู้ เพื่อทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา (Life Long Learning For All, Anywhere, Anytime) โดยจะเล่าเรื่องราวผ่านบุคคลต่างๆ ว่ากทม. มีการทำงานอย่างไรบ้าง
“ในการดูแลเด็กปฐมวัย (Early Childhood Development) คนแรกที่ต้องพูดถึงคือ ครูส้ม-คณิตา โสมภีร์ ครูในสถานรับเลี้ยงเด็ก ‘บ้านครูส้ม’ ชุมชนทรัพย์สินเก่า เขตวังทองหลาง ซึ่งอยู่ในพืนที่ที่โดนไล่รื้อ เพราะเจ้าของจะนำพื้นที่ไปพัฒนาอย่างอื่น แต่สิ่งที่ครูส้มทำมาตลอด 30 ปี คือการดูแลเด็กเล็กในชุมชน และพาเด็กเข้าสู่ระบบการศึกษาในโรงเรียน กทม. แต่ด้วยความที่ครูส้มอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ทำให้ครูส้มต้องดูแลด้วยตัวคนเดียว ไม่สามารถรับเงินอุดหนุนจากใครได้เลย”
จุดประสงค์หลักของ กทม. คือการเพิ่มการดูแลเด็กก่อนวัยเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยจำนวนเด็กตามทะเบียนราษฎร์ มี 284,677 คน ในขณะที่จำนวนเด็กในการดูแลของ กทม. มีจำนวนเพียง 83,264 คน ซึ่งในกรณีของครูส้ม เด็กทั้งหมดก็ไม่ได้อยู่ในความดูแลของ กทม. เนื่องจากไม่ได้ถูกจดทะเบียนชุมชน
“กทม. จึงมีเป้าหมายว่าอยากจะเพิ่มเด็กในการดูแลอีกประมาณ 20,000 คน โดยการยกระดับเด็กอนุบาลในโรงเรียนเพิ่มจาก 4 ขวบ เป็น 3 ขวบ เพื่อที่จะรับเอาเด็กอีกประมาณ 8 พันคน มาในระบบ และสนับสนุนส่วนที่เหลือ คือศูนย์เด็กเล็กเหมือนกับของครูส้ม ให้สามารถช่วยเหลือเด็กได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น”
สำหรับการพัฒนาการศึกษาภาคบังคับ (Compulsory Education) ศานนท์ได้ยกกรณีของ ด.ช.ภาคิณ สุขทุม นักเรียนชั้น ป.5 โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน ที่มีเพื่อนสนิทเป็นเด็กพิเศษ โดยปัญหาหลักคือเด็กมีความช้า-เร็วในการเรียนแตกต่างกัน ทำให้เขาอาจจะไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่
“สิ่งที่เราเข้าไปทำคือ มีโครงการ Digital Classroom (ห้องเรียนดิจิทัล) โดยเอาคอมพิวเตอร์เก่าๆ ที่ได้รับบริจาคมาจัดการเรียนรู้ภายในห้องเรียน ซึ่งหัวใจสำคัญของการเรียนแบบ Digital Classroom คือการ Personalized (การเรียนสำหรับเฉพาะบุคคล) ไม่ต้องมีระดับความเร็วในการเรียนตามครู เพราะปกติเราเรียนกับครูคนเดียว ไม่ว่าครูจะเร็วหรือช้า ก็ต้องรอทั้งห้องพร้อมกัน แต่การมีเครื่องมือจะทำให้เด็กเขาสามารถเรียนตาม Speed (ความเร็ว) ของตัวเองได้ บทบาทของครูจากเดิมที่เป็นผู้พูดตลอด ก็จะปรับเปลี่ยนเป็นผู้ที่ตั้งโจทย์ให้เด็กทำงาน”
นโยบายที่ กทม. วางแผนเอาไว้สำหรับการสร้าง Digital Classroom คือการติดตั้ง Wifi ให้ครอบคลุมทุกจุดในโรงเรียน รวม 4,719 จุด และให้นักเรียนระดับชั้น ป.4 – ม.3 ทุกคนมีคอมพิวเตอร์ หรือ โน้ตบุ๊ก สำหรับการเรียนแบบดิจิทัล รวมถึงการอบรมครูผู้เชี่ยวชาญดิจิทัล ให้มีแผนการสอนและสื่อการสอนใหม่
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ นักเรียนมีผลการเรียนที่ดีขึ้นอย่างก้าวกระโดด เด็กมีส่วนร่วมในการเรียนสูงขึ้นมาก ซึ่งในกรณีของ ด.ช.ภาคิณและเพื่อนที่เป็นเด็กพิเศษนั้น เขาทั้งคู่ก็สามารถเรียนในห้องเรียนเดียวกันด้วยความเร็วที่แตกต่างกัน และอยู่ร่วมกันได้โดยที่ไม่ต้องมีใครรอใคร หรือไม่ต้องกังวลว่าความเร็วในการเรียนจะมากน้อยเกินไป รวมถึงทำให้เด็กมีความอยากมาเรียนมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
“ในอีกกรณีของการพัฒนาการศึกษาภาคบังคับ คือเรื่องราวของ ด.ช.ปัณณวิชญ์ กันบุตร นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนวัดบางพลัด เขตบางพลัด ซึ่งผมได้เข้าไปทำงานร่วมกับโรงเรียนผ่านทีมมูลนิธิ Starfish ที่ทำเรื่อง Active Learning (การเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ)
โรงเรียนทั้งหมดในเขตบางพลัดก็ได้สมัครเข้าพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาและใช้หลักสูตรสมรรถนะ โดยมีการปรับโครงสร้างหลักสูตรในโรงเรียนจาก 8 วิชาหลัก เป็น 3 วิชา ส่วนอีก 5 วิชาก็จะนำมาปรับเป็นแบบบูรณาการ ซึ่งโรงเรียนวัดบางพลัดได้มีการนำขยะในโรงเรียนมาประดิษฐ์เป็นอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ซึ่งผลลัพธ์ที่เห็นได้ชัดคือเด็กได้นำความรู้ไปใช้ ไม่ใช่แค่การนั่งฟังอย่างเดียว
เพราะปัญหาหลักของการที่เด็กไทยได้คะแนน PISA ต่ำ เป็นเพราะว่าเด็กไม่ได้นำความรู้ที่เรียนมาไปใช้ในชีวิตจริง ดังนั้นการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนมาเป็นรูปแบบบูรณาการ จะทำให้เด็กหยิบความรู้ไปใช้ได้มากขึ้น”
นอกเหนือจากการพัฒนาเด็กแล้ว การพัฒนาทักษะอาชีพก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะผลักดันศักยภาพให้คนมีอาชีพและมีรายได้ ศานนท์ยกตัวอย่าง เชฟหนึ่ง-ศนันต์กัญจ์ เนตรจักรวาล ผู้ที่ได้รับทักษะอาชีพจาก ‘โรงเรียนฝึกอาชีพของกรุงเทพมหานคร’ จนผันตัวเองจากพนักงานบริษัท สู่เจ้าของกิจการธุรกิจขายอาหารออนไลน์ และวิทยากรสอนทำอาหาร
“เชฟหนึ่งเป็นอีกคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด ทำให้ไม่สามารถกลับไปประกอบอาชีพได้ โรงเรียนฝึกอาชีพของเรามีการเปิดรับสมัครอยู่ตลอด โดยมีค่าสมัครเข้าเพียง 100 บาท เชฟหนึ่งก็เข้าไปเรียนและกลายเป็นเชฟตัวอย่าง
สิ่งที่ กทม.อยากทำคือการฝึกอาชีพหรือการ Upskill (การเพิ่มพูนทักษะ) และ Reskill (การฝึกอบรมทักษะใหม่) เพื่อที่จะไม่จำกัดความสามารถในการพัฒนาทักษะความรู้ให้อยู่แค่ในโรงเรียนที่เดียว และในอนาคตก็มีแผนว่าจะนำหลักสูตรต่างๆ จากภายนอกเข้ามาโดยการสนับสนุนจากรัฐบาล”
และสุดท้ายคือการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นทุกที่ ทุกเวลา โดยกทม. สามารถขอความร่วมมือจากหลายหน่วยงานเพื่อสร้างระบบนิเวศแห่งการเรียนรู้ที่ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ แต่สิ่งที่ต้องการทำเพิ่มเติมคือการเจาะจงพื้นที่ต่างๆ ให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ โดยมีตัวอย่างความสำเร็จจากเขตคลองเตย เขตปทุมวัน และเขตพระนคร ทั้งนี้ยังเน้นการพัฒนาแต่ละพื้นที่ในกรุงเทพมหานครให้เป็นแหล่งความรู้ที่เปิดโอกาสให้ทุกเพศทุกช่วงวัยสามารถแสวงหาความรู้และพัฒนาศักยภาพของตนเองได้สูงสุด ผ่านการทำงานของ กทม.
“ทั้งหมดนี้เราจึงต้องพัฒนาคนให้มีศักยภาพมากขึ้น เพราะกรุงเทพก็จะดีกว่านี้ไม่ได้ หากคนไม่ดีกว่านี้” ศานนท์ทิ้งท้าย