- จุดเริ่มต้นของทีมฟุตบอลชมรมเยาวชนลำปางหลวง เกิดจากความตั้งใจที่จะสนับสนุนเด็กและเยาวชนในพื้นที่ตำบลลำปางหลวงให้สามารถพัฒนาศักยภาพตามความสนใจได้อย่างเต็มศักยภาพ
- ปัจจุบันชมรมเยาวชนลำปางหลวงมีเด็กในการดูแลประมาณ100 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ยังเรียนอยู่ กลุ่มที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษาแล้ว
- เป้าหมายสูงสุดนอกจากการพัฒนาทักษะด้านกีฬาและทักษะชีวิตเพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในอนาคตแล้ว กิจกรรมที่ชมรมจัดขึ้นยังเป็นไปเพื่อป้องกันเด็กไม่ให้หลุดออกจากระบบการศึกษา
‘ฟุตบอล’ เป็นกีฬาในฝันของเด็กผู้ชายหลายคน แต่สำหรับทีมฟุตบอลเยาวชนเล็กๆ นี้ ที่ไม่มีแม้สนามหญ้าดีๆ อุปกรณ์ทันสมัย มากกว่าความฝันมันคือพื้นที่แห่งโอกาสและการเติบโตของเด็กทุกคนที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะยังอยู่ในระบบการศึกษา เสี่ยงหลุดจากระบบ หรืออยู่นอกระบบ
ทีมฟุตบอลชมรมเยาวชนลำปางหลวง คือชื่อที่ปรากฎในข่าวเล็กๆ เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากชุด U18 (อายุไม่เกิน 18 ปี) คว้าตำแหน่งรองแชมป์ในระดับประชาชนทั่วไปมาครองได้สำเร็จในรายการที่จัดโดยเทศบาลตำบลเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งพวกเขาต้องฝ่าด่านคู่แข่งกว่า 14 ทีม
“เริ่มต้นทีมของเราประสบปัญหาผลการแข่งขันไม่ดีนัก บางครั้งแพ้ถึง 11 ต่อ 0 บ้าง 12 ต่อ 0 บ้าง แต่เราก็ไม่ยอมแพ้…” สันติพงษ์ ศิลปสมบูรณ์ ‘หมอตุ้ย’ กล่าวในฐานะผู้รับผิดชอบโครงการร่วมสร้างชุมชนแห่งโอกาสและการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเยาวชนนอกระบบการศึกษาบนฐานทุนของชุมชนและความร่วมมือระดับท้องถิ่น ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

ทว่ามากกว่าความสำเร็จในแง่ผลการแข่งขัน สิ่งที่น่าสนใจคือเรื่องราวเบื้องหลังที่สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและการทำงานร่วมกันของทีมฟุตบอลชมรมเยาวชนลำปางหลวง เพราะครั้งหนึ่งพวกเขาเริ่มต้นเส้นทางสายนี้อย่างทุลักทุเล ไปแข่งที่ไหนก็เป็นเพียงไม้ประดับ ก่อนจะมีผู้ใหญ่ใจดีที่เล็งเห็นถึงความตั้งใจและยื่นมือเข้ามาสนับสนุน เพื่อมอบโอกาสให้เยาวชนกลุ่มนี้สามารถพัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ โดยมีเป้าหมายมากกว่าแค่เรื่องของฟุตบอล
จุดเริ่มต้นของทีมฟุตบอลชมรมเยาวชนลำปางหลวง เกิดจากแนวคิดในการสนับสนุนเด็กและเยาวชนที่อาศัยอยู่ในตำบลลำปางหลวงให้สามารถพัฒนาศักยภาพในสิ่งที่เขาสนใจตามความถนัด หมอตุ้ย-สันติพงษ์ ศิลปสมบูรณ์ ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมเทศบาลตำบลลำปางหลวง เล่าว่าหลังจากได้รับทุนสนับสนุนจาก กสศ. จึงร่วมมือกับทีมฟุตบอลเยาวชนของตำบลมาจัดตั้ง ‘ชมรมเยาวชนลำปางหลวง’ และ Academy ฟุตบอลขึ้น เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ได้มีทางเลือกที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาศักยภาพตนเอง พร้อมทั้งเสริมสร้างทักษะชีวิตที่จะติดตัวพวกเขาต่อไป

“เราเอาข้อมูลของเด็กในพื้นที่ที่ไปสำรวจมาบวกกับข้อมูลจาก Zero Dropout เข้ามาวิเคราะห์ ทำให้พบว่ามีเด็กถูกแขวนลอยเยอะมาก หมายถึงเด็กที่เรียนครบม.3 ครบม.6 ครบปวช. แต่กลับไม่ได้วุฒิการศึกษา เพราะติด 0 ติด ร. มากกว่า 20 ตัวอย่าง รวมถึงมีเด็กแว้นอีกเป็นจำนวนมาก ประกอบกับผมได้เจอน้องๆ อายุ 30 กว่าที่กลับมาทำงานที่บ้านเกิดแล้วอยากทำอะไรเพื่อสังคม เราเลยมารวมตัวกันเป็นแกนหลักในการทำงานกับเยาวชน
พื้นที่ตำบลลำปางหลวงมี 13 หมู่บ้าน มีเยาวชนอายุ 17 -25 ปีมากกว่า 700 คน ซึ่งปีที่ผ่านมาเราคัดเลือกมา 100 คน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ยังเรียนอยู่ กลุ่มที่เสี่ยงหลุดจากระบบการศึกษา และกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษาไปแล้ว โดยสิ่งแรกที่เราทำคือการเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับพวกเขาเพราะเด็กกลุ่มนี้ถ้าเขาไม่ไว้ใจใคร เขาจะปฏิเสธหมด”
หลังรวบรวมเยาวชนในพื้นที่ สอบถามความสนใจพบว่ามีสิ่งที่ตรงกันอย่างหนึ่ง นั่นคือ ‘ฟุตบอล’ หมอตุ้ยจึงได้จ้างครูและโค้ชจากมหาวิทยาลัยการกีฬาเข้ามาสอน เพื่อพัฒนาทักษะพื้นฐานของน้องๆ เยาวชน พร้อมปลูกฝังวินัยเชิงบวกที่ทำให้ทีมค่อยๆ พัฒนาศักยภาพทั้งในและนอกสนามมากขึ้น

“ในตำบลของเรามีทีมฟุตบอลเยาวชนที่พี่ๆ ในชมรมดูแลมาตลอด ตั้งแต่เริ่มต้นทีมของเราประสบปัญหาผลการแข่งขันไม่ดีนัก บางครั้งแพ้ถึง 11 ต่อ 0 บ้าง 12 ต่อ 0 บ้าง แต่เราก็ไม่ยอมแพ้ นำพวกเขามาฝึกวินัย จ้างโค้ชมืออาชีพจากมหาวิทยาลัยการกีฬา เพื่อสอนระบบฟุตบอลที่มีทั้งเรื่องของวินัย ทีมเวิร์ก และแฟร์เพลย์ พร้อมทั้งประเมินเป็นเกรดให้เด็กๆ และมอบใบประกาศให้เพื่อเป็นกำลังใจ
ทีมฟุตบอลเยาวชนของเราเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และตอนนี้สามารถแข่งขันได้อย่างสูสีกับอคาเดมีใหญ่ๆ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากสโลแกนของเราที่ว่า ‘เด็กดี โค้ชดี ชุมชนดี’ เราเน้นการพัฒนาที่ไม่ใช่แค่เรื่องกีฬา แต่ยังใส่ใจในทุกๆ ด้านของชีวิตของเด็กๆ โดยที่เราไม่มีการดุด่า ไม่บังคับ และไม่มีการตรวจฉี่เด็ก เพราะเราต้องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่น้องๆ สามารถกล้ามาพูดคุย ปรึกษาพี่ๆ ได้อย่างผ่อนคลายไม่ว่าจะเป็นเรื่องทั้งในและนอกสนาม
เมื่อเด็กๆ ไว้ใจพี่ๆ พวกเขาจะทำข้อตกลงร่วมกันว่าอันดับแรกการบ้านที่โรงเรียนต้องเคลียร์ให้เสร็จเรียบร้อยก่อนที่จะมาซ้อม ถ้าทำการบ้านไม่เสร็จหรือมีปัญหาการเรียนก็สามารถปรึกษาพี่ๆ ได้
ส่วนเด็กที่เสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา พี่ๆ ก็จะช่วยดูแลอย่างใกล้ชิด ทั้งช่วยติวหนังสือและหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่ให้เด็กๆ หลุดจากการเรียน
ขณะที่การสนับสนุนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา เราพยายามผลักดันให้เขากลับเข้าสู่ระบบการเรียนในรูปแบบต่างๆ เช่น สกร.(กรมส่งเสริมการเรียนรู้) หรือศูนย์การเรียน CYF (มูลนิธิส่งเสริมพัฒนาเด็กและเยาวชน Children and Youth Development Foundation) เพื่อให้พวกเขาได้รับวุฒิการศึกษาไว้เป็นใบเบิกทางสู่การประกอบอาชีพต่างๆ ในอนาคต”
นอกจากผู้ใหญ่ใจดีอย่างกสศ. ทีมฟุตบอลเยาวชนลำปางหลวงยังมีผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการคือ เทศบาลลำปางหลวง โดยการนำของ อรรณพ ตื้อคำ นายกเทศบาลตำบลลำปางหลวง ที่นอกจากจะมีประสบการณ์ลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านโดยตรงแล้ว เขายังนำปัญหาต่างๆ มาแลกเปลี่ยนกับหมอตุ้ยเพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเยาวชน

“ในฐานะหัวเรือใหญ่ของตำบล ผมพยายามพูดคุยกับชาวบ้านและหมอตุ้ยตลอด เพราะผมเห็นว่ามันมีโอกาสตรงนี้ที่จะเป็นลู่ทางที่ดีให้เด็กได้มีโอกาสรีเทิร์นกลับมาอยู่ในระบบ ทั้งในเรื่องฟุตบอล หรือเรื่องสายงานอื่นๆ ที่เด็กๆ สนใจ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากกสศ. และสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ทำให้เยาวชนสามารถใช้เวลาว่างได้เป็นประโยชน์ แล้วพอผลลัพธ์เหล่านี้ผ่านหูผ่านตาผมก็รู้สึกปลื้มใจ เพราะเราพยายามทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อไม่ให้เด็กๆ หลุดออกนอกระบบ
ยิ่งการได้หมอตุ้ยและทีมงานที่วัยใกล้เคียงกับเด็กๆ มาช่วยกันตรงนี้ ทำให้เวลาพูดคุยกับเด็กๆ ก็น่าจะสื่อสารกันได้ดี ผมก็จะคอยดูคอยติดตามและขับเคลื่อนสนับสนุนทุกๆ โอกาสของพวกเขาให้มากที่สุดเท่าที่ผมจะทำได้ครับ”
ด้วยความทุ่มเทของผู้ใหญ่ใจดีที่มาร่วมกันสนับสนุนเด็กและเยาวชนให้ได้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ ในที่สุดผลตอบแทนก็คืนกลับด้วยการมุ่งมั่นทุ่มเทฝึกซ้อมจนสามารถเอาชนะใจตนเองและเอาชนะทีมฟุตบอลอื่นๆ รวมไปถึงทีมที่มีผู้เล่นอายุมากกว่ามาแล้วหลายทีม
ภูวเดช นันทะโค หรือ ‘ภูดอย’ กองหลังอายุ 15 ปี ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาระดับชั้นปวช.2 วิทยาลัยเทคนิคลำปาง บอกว่าการเข้าร่วมกับทีมฟุตบอลชมรมเยาวชนลำปางหลวง นอกจากจะได้ทักษะในสนามแล้ว สิ่งสำคัญที่เขาได้รับคือทักษะของการทำงานร่วมกันเป็นทีม
“ถึงผมจะแบกอายุแต่ก็ไม่กลัวผู้ใหญ่ครับ ผมเชื่อว่าถ้าเราไม่กลัวเราก็เล่นได้หมดทุกรุ่น และเชื่อด้วยว่าต่อให้ผลการแข่งขันจะไม่เป็นใจแต่ถ้าเรากลับมาพัฒนาตัวเอง มีวินัยฝึกซ้อมทุกวัน เราก็สามารถกลับมาเอาชนะได้ครับ

ที่สำคัญคือในรายการล่าสุด (คว้ารองแชมป์) ผมคิดว่าเพื่อนๆ ในทีมเข้าใจกันจึงทำให้เราเล่นด้วยกันได้ดี แล้วเวลาทีมโดนนำก่อนก็จะไม่โทษกัน พวกพี่ๆ เองก็จะตะโกนให้กำลังใจและบอกตลอดว่า โอเคไม่เป็นไร…เดี๋ยวเราก็กลับมาได้เหมือนเดิม
อคาเดมีที่นี่ต่างกับที่อื่นตรงที่ผมมักถูกส่งลงแข่งกับผู้ใหญ่ครับ พวกพี่ๆ ที่นี่ก็ไม่มีใครถือตัว ทำให้ผมซึมซับวินัยและการทำงานเป็นทีม ส่วนเรื่องเรียนผมก็ตั้งใจเรียนควบคู่ไปด้วย เทอมที่ผ่านมาผมได้เกรด 3.60 ครับ ส่วนตัวมองว่ากีฬากับการเรียนต้องควบคู่กัน เผื่อวันหนึ่งจะต้องสอบเพื่อเรียนต่อด้วยโควต้านักกีฬา ผมจะได้ทำในส่วนของข้อเขียนได้ เพราะในอนาคตผมฝันอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพครับ”
เช่นเดียวกับกองหน้าประจำทีมอย่าง อัครวินท์ กองคำ หรือ ‘เจแปน’ ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ปวช.3 วิทยาลัยเทคนิคลำปาง บอกว่าแม้เขาจะไม่ได้ฝันอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่ทุกวันนี้บทเรียนอันล้ำค่าที่ได้รับจากทีมฟุตบอลชมรมเยาวชนลำปางหลวงคือเรื่องความมีวินัย ซึ่งแสดงออกผ่านการดูแลตัวเองมากขึ้น ทั้งเรื่องของการเรียนและเรื่องฟุตบอล

“ผมให้ความสำคัญกับการฝึกซ้อมครับ ทุกวันผมจะวิ่งให้ได้ 3 -4 กิโล แต่น่าเสียดายที่เราแพ้รอบชิงครับ ถามว่าเวลาแพ้ท้อไหม ก็มีบ้างครับ แต่ผมก็จะย้อนกลับมาทบทวนและซ้อมให้หนักกว่าเดิมเพราะคิดว่าวันหนึ่งเราจะกลับมาชนะให้ได้
ผมคิดว่าสภาพแวดล้อมในชมรมดีครับ พวกพี่ๆ เป็นกันเองมาก คอยสอนว่าเราต้องปรับยังไงให้เก่งขึ้น เรื่องการใช้ชีวิตพี่ๆ เขาก็ให้คำปรึกษาเรา ซึ่งตอนนี้ผมมีความฝันอยากจะเป็นวิศวะครับ เพราะผมกำลังเรียนเกี่ยวกับการก่อสร้าง ส่วนฟุตบอลผมให้เป็นสิ่งเสริมครับ
คือฟุตบอลให้มิตรภาพดีๆ ทำให้ผมได้ทำในสิ่งที่สนใจได้โดยไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับอะไรที่มันไม่ดี
ตอนที่ทีมเป็นข่าวก็ดีใจครับ จากเมื่อก่อนที่เคยแพ้ 11 ต่อ 0 แล้วเราพยายามทุกอย่างจนมาถึงจุดนี้ก็สุดยอดแล้วครับ ต้องขอบคุณทุกคนที่สนับสนุนพวกเรา ถ้าไม่มีงบสนับสนุนจากกสศ. พรสวรรค์ต่างๆ ก็คงไปต่อไม่ได้ เราจะเอาเงินที่ไหนซื้อลูกบอล ซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาซ้อม รวมถึงการส่งทีมไปแข่ง”
นอกจากผู้ใหญ่ใจดีและน้องๆ เยาวชนแล้ว ยังมีบุคคลที่เปรียบได้กับพี่เลี้ยงประจำทีมอย่าง วุฒิชัย ดวงคำ ประธานชมรมเยาวชนลำปางหลวง ที่แม้จะไม่ได้เป็นโค้ชฟุตบอล แต่น้องๆ กลับให้ความเคารพและเรียกเขาติดปากว่า ‘โค้ชเบิร์ด’
“ก่อนหน้านี้ผมทำงานด้านปิโตรเลียมอยู่ที่ระยอง จากนั้นก็ลาออกกลับมาทำธุรกิจที่บ้าน ทีนี้ตอนเย็นๆ ผมจะชอบแวะมาเตะบอลหรือออกกำลังกายที่นี่ (โรงเรียนชุมชนวัดพระธาตุลำปางหลวง) ทำให้ได้พบปะพูดคุยกับเยาวชนในพื้นที่หลายคนที่ชอบและสนใจในการเล่นฟุตบอล ผมเลยขออนุญาตผู้ปกครองและนำน้องๆ มาฝึกทักษะฟุตบอลร่วมกันเท่าที่ผมจะพอหาสปอนเซอร์มาได้

จุดเปลี่ยนคือพอได้ทุนจากกสศ. มาทำทีมฟุตบอลชมรมเยาวชนลำปางหลวง ทำให้เรามีงบประมาณในการจัดการทีม ซื้ออุปกรณ์ และอำนวยการสิ่งต่างๆ ที่ติดขัดได้ตั้งแต่นั้น ยิ่งมีมืออาชีพเข้ามาสอนอย่างเป็นระบบ ประกอบกับมีทีมพี่ๆ จิตอาสาคอยสนับสนุน ผลลัพธ์คือน้องๆ มีวินัยและจินตนาการในเรื่องฟุตบอลมากขึ้น ตั้งใจฝึกฝนตามคำแนะนำของโค้ช ถ้าระหว่างแข่งน้องๆ ถูกเตะหรือปะทะกันแรงๆ เด็กของเราจะลุกขึ้นเล่นต่อ ไม่มีเล่นนอกเกม
ส่วนเรื่องอื่นๆ เวลามีปัญหาอะไรเขาก็มาปรึกษาเรา ใครเรียนที่โรงเรียนไม่เข้าใจหรือมีการบ้านก็มาถามพี่ๆ จิตอาสาให้ช่วยสอนเพิ่มเติมได้ พอเป็นแบบนี้ความเสี่ยงต่างๆ ที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาก็ลดลง
ผู้ปกครองหลายคนเข้ามาบอกเราว่าน้องๆ ดีขึ้นนะ ไม่ได้ไปจับกลุ่มมั่วสุมกันแล้ว เล่นเกมก็น้อยลง เข้านอนไวขึ้น และมีความตั้งใจอยากมารวมกลุ่มกันเล่นกีฬา ยิ่งพอส่งทีมแข่งแล้วได้รางวัล น้องๆ ก็มีความภาคภูมิใจในตัวเองมากขึ้น”
โค้ชเบิร์ด ทิ้งท้ายว่ามากกว่าความสุขจากการสร้างทีมฟุตบอลเยาวชนลำปางหลวง เขายังได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างไปพร้อมกับน้องๆ เยาวชน รวมถึงมีแรงใจที่จะทำโครงการอื่นๆ ที่นอกเหนือจากฟุตบอล โดยมีเป้าหมายสูงสุดร่วมกันคือ การป้องกันเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษาและมีวัคซีนชีวิตเพื่อรับมือการความท้าทายต่างๆ ในอนาคต
“สิ่งที่ผมภาคภูมิใจคือโครงการนี้ช่วยป้องกันเด็กๆ จากการหลุดออกจากระบบ โดยเด็กที่เคยหลุดออกไป พอมาเข้าโครงการนี้ก็สามารถกลับมาเรียนตามเพื่อนทันในระยะเวลาไม่นาน ซึ่งหลังจากทำงานร่วมกับกสศ.ทำให้ผมสามารถพัฒนาและสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้กับเด็กๆ ซึ่งในอนาคตผมอยากขยายโครงการให้กว้างขึ้น ทั้งเรื่องการสนับสนุนเยาวชนด้านกีฬาวอลเลย์บอล ชมรมหุ่นยนต์ ค่ายฝึกฝนทักษะผู้นำ หรือการชวนนักท่องเที่ยวมาแลกเปลี่ยนภาษาและวัฒนธรรม เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กๆ ได้รับประสบการณ์ชีวิตที่มีคุณค่า ไม่ว่าจะไปอยู่ที่ไหนในโลกก็สามารถปรับตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีความมั่นใจในศักยภาพของตัวเอง ถ้าทำได้ผมก็รู้สึกว่าความพยายามของเราคุ้มค่าแล้ว”