ผ่านตาอย่างไวๆ ในกรุ๊ปแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคุณครูรุ่นใหม่ที่มีไฟฝันกรุ๊ปหนึ่ง ความเห็นจากคุณครูท่านหนึ่งโพสต์ไว้อย่างน่าสนใจและชวนคิดตามประมาณว่า #ถ้าการเมืองดี คุณครูเก่งๆ จะไม่ลาออก คอมเมนต์ในนั้นคิดเล่นเห็นต่าง ร่วมแลกเปลี่ยนกันอย่างหลากหลาย แต่ส่วนใหญ่แล้วมักแลกเปลี่ยนกันถึงความทุกข์ที่สะสมทับถมของวงการศึกษาในแง่ ‘คนใน’ เท่านั้นที่เข้าใจ
ไม่ได้ตั้งใจแพร่บรรยากาศลบหรือทำให้วงการศึกษามัวหมอง เพียงแต่… หากเชื่อว่าการเรียนรู้คือการวิพากษ์รับฟีดแบก ติเพื่อก่อ เพื่อปรับปรุงระบบไม่ให้ #ครูเก่งต้องลาออก ตามความหมายนั้นจริงเพียงเพราะวัฒนธรรมที่ป่วยไข้เรื้อรังไม่ถูกรับ เราน่าจะเอาความจริงขึ้นมากางเพื่อพูดคุยถกเถียงกันต่อได้ และที่สำคัญ…หากครูที่ทุกข์เช่นนี้เหมือนกันผ่านมาอ่านเจอ อาจรับรู้ได้ว่ามีคนที่คิดเช่นนี้เป็นเพื่อนกันอีกหลายคน
เหนือสิ่งอื่นใด ผู้มีส่วนได้เสียในการศึกษา – อันที่จริงก็คือพวกเราทุกคน เพราะการศึกษาคือรากฐานของการพัฒนาคุณภาพชีวิต – ทุกคนเป็นผู้ร่วมออกแบบระบบ ได้รับฟังปัญหาของคนในเพื่อทำความเข้าใจและร่วมออกแบบแก้ไขปัญหาต้องตรงกันได้
นี่คือความเห็น #ถ้าการเมืองเมืองดี การศึกษาจะ … (จุด จุด จุด) ในมุมของคุณครูจำนวนหนึ่งค่ะ
#ถ้าการเมืองดี เด็กทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน และครูไม่ตกอยู่ในวาทกรรมแห่งการเสียสละ
คมสัน กิมาลี โรงเรียนจารุศรบำรุง
“ผมเป็นคนนครพนม ตอนเด็กๆ ชอบเรียนหนังสือและเรียนดีระดับหนึ่งเลยละ แต่ครอบครัวเราเป็นชาวนา ไม่มีตังค์ จำได้ว่าตอนประถมผมอยากไปค่ายวิทยาศาสตร์ มันต้องใช้เงิน 400 บาทซึ่งพ่อแม่ไม่มีให้ ที่ผมต้องทำคือทิ้งความอยากไป และยอมรับว่าเราจน เราไม่มีตังค์ หรืออย่างช่วงติวเข้ามหา’ลัย เพื่อนที่พอมีตังค์จะไปติวกันที่โรงเรียนกวดวิชา ซึ่งพ่อแม่ผมไม่มีตังค์ให้ ผมต้องอ่านหนังสือเอง
“แต่สุดท้ายผมสอบติดคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ แต่เพราะช่วงนั้นไม่ใช่ฤดูเก็บเกี่ยว ที่บ้านเลยไม่มีตังค์และคงไม่มีเงินไปรายงานตัวกับมหา’ ลัย แต่สุดท้ายครูที่โรงเรียนควักเงินส่วนตัวให้ผมกันคนละ 500-1000 บาท บอกว่าเอาไปเรียนต่อ เอาไปรายงานตัวซะ กลายเป็นว่าผมได้รับโอกาสได้เรียนต่อ แต่ถ้าไม่มีครูคนนั้นผมก็คงไม่ได้เรียนและไม่ได้มาถึงจุดนี้ แล้วกับเด็กคนอื่นๆ ที่ไม่ได้โอกาสเหมือนเรา เรียนไม่เก่ง หรือเรียนได้สอบได้แต่ไม่มีเงินล่ะ?
“เราเป็นเด็กชาย ได้เห็นสังคมตั้งแต่ระดับล่างสุดจนถึงการศึกษาระดับชั้นนำ มันทำให้เราอยากเปลี่ยนแปลงอะไรหลายๆ อย่าง ถึงบอกว่า #ถ้าการเมืองดี เด็กทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียมกัน และคงไม่ต้องมีครูเสียสละให้เงินส่วนตัวกับใคร
“ถ้าการเมืองดีเด็กทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพเท่าเทียม การศึกษาที่มีคุณภาพจะไม่กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองหรือในโรงเรียนใหญ่ๆ ถ้าการเมืองดีการออกนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาจะมีการกระจายงบประมาณที่ดี ถ้าการเมืองดี เราใช้การวัดและประเมินผลที่มีคุณภาพและเท่าเทียม ครูจะประเมินได้ว่าตัวเองสอนมีคุณภาพรึเปล่า
“ส่วนที่บอกว่าถ้าการเมืองดีครูจะไม่ต้องเสียสละ เราโดนวาทกรรมเรื่องครูจะต้องเสียสละกดอยู่มากเลยนะ เสียสละเวลาส่วนตัว เสียสละงบส่วนตัวสำหรับซื้อสื่ออุปกรณ์การสอนทั้งที่รัฐควรจัดงบประมาณให้แต่ละโรงเรียนอย่างมากเพียงพอให้ครูนำไปพัฒนาการทำสื่อหรือการจัดการเรียนรู้ แต่ตอนนี้ครูต้องดูแลไมค์และเครื่องเสียงของโรงเรียน ถ้าเป็นฝ่ายสถานที่อาจต้องซื้อกรรไกรตัดหญ้า หรือกระดาษเอสี่ โรงเรียนจะแจกแค่ 1 – 2 รีมสำหรับหนึ่งปี ทั้งที่ต่อปีครูใช้ไม่ต่ำกว่า 20 รีม เด็กบางคนไม่มีเงินกินข้าว ครูก็เอาเงินตัวเองออกเอง หรือบางทีครูต้องลงไปทำครัวเอง เวลาครูไปเยี่ยมบ้าน ค่ารถ ค่าน้ำมัน เราไม่เคยได้เบิกเลย เงินเดือนครูสตาร์ทหมื่นห้า จะให้เราเหลือเท่าไร?
“ทั้งหมดนี้เราโดนกดด้วยคำว่า ‘ครูต้องเสียสละ’ มาตลอด แต่เราเสียสละขนาดไหน? ทั้งหมดนี้มันเกินเลยจากคำว่าเสียสละไปสู่คำว่า ‘ขาดแคลน’ และทำให้ครูเก่งๆ มีความรู้ความสามารถเขาก็ไม่อยากมาเป็นครู”
ถ้ามีพร 1 ข้อ ที่สามารถปรับหรือเปลี่ยนระบบการศึกษาได้ อยากขออะไร?
“ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เก่ง/ไม่เก่ง ดี/ไม่ดี ในระบบ/นอกระบบ เด็กชายขอบ ไร้สัญชาติ พวกเขาจะได้รับโอกาสโดยไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ผมยังเชื่อในปรัชญาการศึกษาว่ามันคือการพัฒนาคุณภาพชีวิต ถ้าเขาได้รับโอกาสก็จะส่งต่อโอกาสนั้นให้คนอื่น เขาจะพัฒนาชีวิตตัวเองได้ ทำให้ครอบครัวและคนรอบข้างมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้”
#ถ้าการเมืองดี มีสวัสดิการเท่าเทียม คุณภาพชีวิตคนจะดี ได้ครูเก่งๆ มาสอน
เติ้ล – สุริยันต์ ปัญญาทอง ครูประจำวิชาสังคมศึกษา โรงเรียนบางกะปิ
“เหตุผลที่แต่ละคนมาเป็นครูไม่เหมือนกัน ต้องยอมรับว่าครูเองก็เป็นข้าราชการคนหนึ่ง ดังนั้น ก็เป็นหนึ่งเหตุผลว่าทำไมคนถึงอยากเป็นครู อาจเพราะสวัสดิการที่มันดีกว่าโดยปกติ แต่ถ้าวันหนึ่งการเมืองเราดี มีรัฐสวัสดิการที่ดีจริงๆ ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ดี เข้าถึงระบบสาธารณสุขที่ดีจริงๆ หลายคนอาจไม่ต้องพยายามมาเป็นครูเพื่อให้ได้สวัสดิการ ระบบก็ได้คนที่อยากเป็นครูจริงๆ ถ้าคุณไม่ได้ตั้งใจมาพอมาเจองานอื่นที่ไม่ได้แค่สอนความสุขในการทำงานก็ยิ่งลดลงไว แล้วพวกภาระงานอื่นๆ ที่นอกเหนือจากการสอน ถ้าการเมืองมันดีจริง สิ่งต่างๆ พวกนี้จะไม่มากระทบกับครูและผู้เรียน
“สำหรับผมพอเข้ามาเป็นครูในระบบ สิ่งที่ทำให้กังวลใจ ทำให้เราท้อ คือผู้เรียนเขาไม่มีความสุขกับสิ่งที่เขาเรียน เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาเรียนอยู่ทุกๆ วันมันไกลตัวเขาไปเรื่อยๆ สุดท้ายเขาก็เรียนเพื่อไปสอบ เพื่อเข้าลู่วิ่งเดียวคือเป็นความหวังของพ่อแม่ ไม่ว่าจะเลือกเรียนอะไรคุณต้องยึดหลักความมั่นคง เพราะมันก็คือการลงทุนของพ่อแม่ที่ส่งเด็กคนหนึ่งเรียน เพื่อที่เขาจะได้สบายทั้งครอบครัว ทำให้เด็กไม่มีความสุขกับการเรียนจินตนาการและความฝันตัวเองถูกลดทอน เขามาเรียนกับเราแค่อยากผ่านเท่านั้น ไม่ได้อยากมาเรียนจริงๆ เขาถูกบังคับจากที่บ้าน ‘คุณควรมาเรียนนะ เพราะฉันให้คุณเรียน’
“โรงเรียนที่ผมเคยอยู่เป็นโรงเรียนขยายโอกาสหรือแม้แต่ตอนนี้ยังพบปัญหา ส่วนใหญ่เด็กมีปัญหาความยากจน พ่อแม่หย่าร้าง ไม่มีเงินมาเรียน คือต่อให้เรียนฟรีก็จริง แต่เขายังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่าเดินทาง ค่าชุดนักเรียน ปัญหาที่ผมเจอตอนนี้ คือ เด็กรู้สึกว่าสิ่งที่เขาเรียนไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตเขา เขาก็ไม่อยากจะเรียน มีทางเลือกอื่น หรือการเรียนทางอื่น โอเค ฉันทำงานตอนนี้ได้เงินตอนนี้ ฉันหันหลังให้กับการเรียนแบบนี้ดีกว่า
“ด้วยความที่เราเป็นเด็กต่างจังหวัดด้วย เราเห็นชัดมากเรื่องความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษาถ้าเทียบกับเด็กในเมืองและเด็กต่างจังหวัดไม่เหมือนกัน แล้วผมโตในครอบครัวที่แม่ไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านหนังสือไม่ออกด้วยซ้ำ นี่เลยเป็นคือความตั้งใจแรกของเราที่เข้ามาเป็นครูในระบบ เราต้องไม่ให้เกิดสิ่งนี้ในสังคมอีก สังคมต้องไม่มีคนที่ไม่รู้หนังสือ หรือไม่มีความรู้พื้นฐาน
“ถ้าการเมืองดี คุณภาพชีวิตผู้คนจะดี เขาไม่ต้องดิ้นรนปากกัดตีนถีบ เด็กก็เรียนรู้ได้ดีขึ้น เช่น ผมสอนเด็กเรื่องการแบ่งปัน ถ้าคุณภาพชีวิตเขามันยังไม่ดี กลับบ้านไปยังนึกไม่ออกเลยว่าวันนี้จะได้กินอะไรรไหม เขาไม่เข้าใจหรอกว่าการแบ่งปันคืออะไร แต่ถ้าชีวิตเขาโอเค กินอิ่มนอนหลับ สอนเรื่องแบ่งปันเขาก็เข้าใจง่ายขึ้น สังคมมันต้องเป็นแบบนี้ก่อน”
ถ้ามีพร 1 ข้อ ที่สามารถปรับหรือเปลี่ยนระบบการศึกษาได้ อยากขออะไร?
“อยากให้นักเรียนของผมมีตัวตน ให้เสียงของเขามีความหมาย เวลาเราพูดถึงปัญหาการศึกษาหรือหลักสูตรอะไรก็ตาม เราคิดถึงผู้เรียนหมดนะ แต่กลายเป็นว่าคนที่ได้รับผลกระทบอย่างผู้เรียนแทบจะไม่มีพื้นที่ได้พูดเลย เขาไม่ได้สิทธิ์แสดงความคิดเห็น ได้ออกแบบการสอนออกแบบหลักสูตรหรือมีพื้นที่ที่จะได้พูด ถ้าให้นักเรียนได้มีตัวตน ทุกคนได้ฟังเสียงของเขา การศึกษาเราจะโฟกัสขึ้น การทุ่มงบประมาณมันจะตอบโจทย์เขา เป็นการศึกษาเพื่อตัวนักเรียนจริงๆ
“การ disruption เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องเจอ อยู่ที่ตัวครูผู้สอนว่าเราจะวางแผนการศึกษาคนในประเทศนี้อย่างไร ถ้ายึดหลักสูตรเดิมๆ เราจะตามผู้เรียนทันหรือเปล่า แล้วในสภาวะที่อัตราประชากรเราเติบโตน้อยลง เราฝากความหวังให้คนรุ่นใหม่ที่จะเป็นคนขับเคลื่อนประเทศนี้ เราก็ต้องมาทบทวนว่าสิ่งที่เราสอนมันตอบโจทย์ไหม ผู้สอนจะต้องวางบทบาทตัวเองแบบไหน
“สิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่ายังทำให้ครูยังพอมีบทบาทอยู่คือความเป็นมนุษย์ เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทนได้ เพียงแต่ว่าครูในตอนนี้ต้องถามตัวเองว่าเรายังเป็นมนุษย์อยู่แค่ไหน เราควรเริ่มเป็นมนุษย์ตอนนี้ได้หรือยัง บางทีเราอาจละเลยความเป็นมนุษย์ไป ความเห็นอกเห็นใจผู้เรียน ทำให้ช่องว่างระหว่างครูและนักเรียนห่างกันไป”
#ถ้าการเมืองดี วัฒนธรรมอำนาจเชิงโครงสร้างจะถูกปฏิรูป
ปานตา ปัสสา ครูประจำชั้นอนุบาล โรงเรียนบ้านดอนทับช้าง
“ด้วยความที่เราเป็นครูอายุน้อยที่สุดในโรงเรียน ตอนเข้ามาใหม่ๆ จะมีรังสีการข่มจากครูคนอื่นที่อาวุโสกว่า แต่เพราะตัวเองเป็นสายไฝว้มาตลอด เราไม่ยอม จนช่วงนึงโดนบอยคอตเล็กๆ ไปเลย ตอนนั้นพยายามตั้งหลักว่าเรามาทำงานไม่ได้มาเอาใจใคร เธอไม่ชอบฉันก็แล้วแต่เธอเพราะฉันก็ไม่ค่อยชอบเธอสักเท่าไรเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่ด้วยอะไร หลายๆ อย่างมันพิสูจน์ได้ว่าเราไม่ได้เป็นคนก้าวร้าว ที่เราพูดหรือตั้งคำถามตรงๆ เพราะอยากให้งานออกมาดี เราเสนอความคิดในฐานะที่เรามีความคิดอีกมุมที่อยากให้เค้าเข้าใจ
“เอาจริงๆ ในโรงเรียนมันมีลำดับชั้นเหมือนลำดับนางสนม มีฮองเฮา สนมเอก สนมโท เหมือนมีใครเอาปากกามาขีดเส้นใต้ลำดับชื่อคนว่า เธออยู่ชั้นนี้ ชั้นอยู่ชั้นนี้ เป็นเส้นบางๆ ที่มองไม่เห็นแต่ทำให้รู้สึกว่าเธอไม่มีสิทธิ์มาพูดแบบนี้กับฉัน เพราะเธอเป็นแค่ลูกจ้าง ส่วนฉันคือครูชำนาญการพิเศษ เช่น พี่ที่ทำงานธุรการจะรู้สึกว่าเขาปฏิเสธงานที่ถูกสั่งมาจากครูคนอื่นที่โยนงานมาให้เขาไม่ได้ เขาไม่กล้ายืนยันว่านี่ไม่ใช่หน้าที่ของเขาแต่คือของคุณ คุณโยนงานไม่ได้
“เรารู้สึกว่าแบบนี้ไม่ถูกต้อง เลยบอกกับพี่เขาไปว่า ‘พี่บอกเขาไปเลยว่านี่มันไม่ใช่หน้าที่ของพี่นะ’ แต่คำตอบที่ได้รับทำให้เราจุกไปเลย และมันกลับไปอธิบายแฮชแทกที่ว่า ‘#ถ้าการเมืองดี คนในระบบการศึกษาจะมองบุคลากรในโรงเรียนทุกคนเท่ากัน’ คือคำตอบว่า ‘พี่ไม่กล้า น้องก็พูดได้สิเพราะน้องเป็นครูแต่พี่เป็นแค่ลูกจ้าง’ ตอนนั้นเราได้แต่ยืนยันกลับไปว่าอย่าคิดอย่างนั้น เพราะเราทุกคนต่างทำงานเหมือนกัน ต่อให้ตำแหน่งชั้นทางวิชาการต่างกันแต่ทุกคนทำงานเหมือนกัน ครูไม่ใช่คนที่ลอยมาจากฟ้าแต่คือคนทำงานที่ให้บริการนักเรียน ควรเคารพและให้เกียรติกันในฐานะเพื่อนร่วมงาน
“ทั้งหมดนี้ดูเหมือนเป็นปัญหาระหว่างเพื่อนร่วมงาน แต่มันกระทบหลายอย่างนะ โดยเฉพาะทางจิตใจ พอความรู้สึกเครียดและรู้สึกว่า ‘ที่นี่ไม่ใช่ที่ของเรา’ ‘ฉันคือส่วนเกิน’ มันสะสมมากเข้า บางคนก็ซึม ดาวน์ ร่วงพังไปเลย หลายคนลาออกเพราะเรื่องแบบนี้ ระบบบีบให้ทนไม่ไหวทั้งที่เขามีศักยภาพที่จะไปต่อได้อีกเยอะ
“มันไม่ใช่เพราะเราเป็นคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามกับระบบหรือเพิ่งเห็นปัญหาแล้วทนไม่ได้นะ เราไม่ได้เพิ่งรู้สึกแต่รู้สึกมาทั้งชีวิต ยายเราเป็นครู พ่อแม่เราเป็นครู ป้ากับน้าเราเป็นครู เรียกว่าเราเป็นเด็กที่อยู่ในระบบการศึกษามาตั้งแต่เกิด มันไม่ใช่คำถามใหม่แต่เป็นคำถามเก่าแล้วสงสัยว่าทำไมสิ่งเหล่านี้ยังอยู่ในยุคของฉัน ทำไมปัญหาที่พ่อแม่บ๊นบ่น (เล่นเสียง) ถึงยังตกมาอยู่ในรุ่นของฉันอีก พอเรากลับไปบ่นไปง้องแง้งกับยายเรื่องนี้ เขาปลอบใจเราว่า ‘ยายก็โดน’ พอไปบ่นไปง้องแง้งกับพ่อแม่ เขาก็บอก ‘พ่อกับแม่ก็โดน’ พอไปบ่นไปง้องแง้งกับเพื่อน เพื่อนบอก ‘เออ กูก็โดน!’ คือแบบ… แล้วทำไมไม่มีใครคิดจะแก้ปัญหานี้เลย ไม่มีใคร call out ปัญหานี้ ทำไมทุกคนต้องรับสภาพทั้งที่รู้ว่ามันไม่ดีเลย มัน toxic มาก ทำไมเราทำให้มันเป็นเรื่องปกติไป (normalize)
“เราถามพ่อแม่นะว่าทำไมไม่พูดมันออกมา พ่อบอกว่าเขาเคยทำแล้วแต่สุดท้ายเพื่อนครูที่เจอปัญหาเหมือนกันไม่กล้าร่วมด้วย กลายเป็นว่าพ่อถูกโดดเดี่ยวให้สู้อยู่คนเดียว คือตอนนั้นพ่อใช้คำว่า เขาสู้กับยุคสมัยไม่ได้ สุดท้ายพ่อบอกเราว่า ‘พ่อดีใจที่หนูกล้า กล้าที่จะไม่ทนกับอะไรแบบนี้อีกแล้ว ขอให้ในยุคของหนูมันเป็นโลกที่หนูอยากอยู่ เป็นแบบที่หนูฝัน’ คำพูดนี้เลยยิ่งเป็นแรงผลักดันให้เราบอกตัวเองว่า ถ้าไม่มีใครหยุดสิ่งนี้ได้ เราจะหยุดมันเอง เราจะทำงานกับความ ‘ไม่กล้า’ นี้ให้มันหายไปสักที”
ถ้ามีพร 1 ข้อ อยากเปลี่ยนหรือปรับระบบการศึกษาเรื่องอะไร?
“เราขออะไรง่ายๆ แล้วกันนะ ขอให้เราเลิกใช้แผ่นซีดีในการส่งงานเขตพื้นที่การศึกษาได้แล้วค่ะ (หัวเราะ) อย่างที่รู้กันว่าโรงงานแผ่นซีดีเค้าปิดกิจการไปแล้ว ไม่มีการผลิตแผ่นซีดีบนโลกนี้แล้ว แต่เขตพื้นที่การศึกษาแต่ละอำเภอยังให้ส่งงานในแผ่นซีดีอยู่เลย เรื่องนี้มันสะท้อนอะไรหลายอย่างนะว่าการศึกษาไทยไม่ได้เดินไปพร้อมกับโลก กับยุคสมัย แต่ติดกับอยู่ในกับดักเดิมๆ กับยุคสมัยเก่า เราคิดว่าสิ่งง่ายๆ อย่างการเลิกส่งงานโดยแผ่นซีดีเนี่ย เป็นจุดเริ่มต้นของการนำการศึกษาไปอยู่ในโลกยุคใหม่ได้เหมือนกันนะ
“นี่ยังหนักใจอยู่เลยว่าถ้าวันนึงแผ่นซีดีที่ซื้อเก็บไว้หมด แล้วจะเอาแผ่นไหนไปส่งเขาเนี่ย”
#ถ้าการเมืองดี ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเด็ก จะสามารถส่งเสียงถึงเรื่องที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้การศึกษามีคุณภาพกว่านี้ได้
ครูเก๋ – ว่าที่ร้อยตรีหญิงสุดารัตน์ ประกอบมัย โรงเรียนมักกะสันพิทยา
“เราเคยเป็นครูคนหนึ่งที่คิดว่าถ้าอยากทำงานการศึกษา แค่ทำหน้าที่ของตัวเอง แค่เปลี่ยนที่ตัวเองก็พอ ไม่เชื่อว่าการศึกษากับการเมืองคือเรื่องเดียวกัน แต่พอทำงานไปเรื่อยๆ เรากลับเจอกับปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยเฉพาะโครงสร้างเชิงอำนาจจากลำดับอาวุโสที่กดทับเราอยู่ เขาอยากสั่งอะไรให้เราทำก็ได้ มันเป็นการทำงานที่เต็มไปด้วยความกลัว ซึ่งเรามองว่าตรงนี้ทำให้ครูที่เก่งๆ ใช้ความสามารถของตัวเองในการสอนได้ไม่เต็มที่ ถ้าครูคนนั้นไม่ได้มีภาระจำเป็นอะไรที่ทำให้ต้องอยู่ในระบบ หลายคนก็ออกไปสอนในรูปแบบอื่นๆ หลายคนออกไปเป็นติวเตอร์ด้วยเหตุผลว่าแบบนั้นก็สร้างเด็กได้มากกว่าและทำในรูปแบบของตัวเอง
“อีกอย่างคือ มันเป็นระบบที่ห้ามวิพากษ์ เราวิพากษ์ผู้อาวุโสไม่ได้ เด็กก็วิพากษ์ครูไม่ได้ แต่การเรียนการสอนมันควรต้องวิพากษ์กันได้ เรื่องนี้ควรเรียนมั้ย เรียนยังไง ข้อมูลที่ครูสอนถูกต้องรึเปล่า แต่ในระบบแบบนี้ครูถูกวิพากษ์ไม่ได้ ถ้าเถียงครูเท่ากับความผิด!!!
“แต่นั่นไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เราท้อนะ เรื่องที่ทำให้เราท้อที่สุดคือการได้ยินคำพูดว่า ‘รู้ว่าสิ่งที่เก๋ทำมันดีนะ แต่เราทำแบบนั้นไม่ได้หรอก’ คำว่า ‘เปลี่ยนไม่ได้หรอก’ จากคนที่เข้าใจปัญหาแล้วนี่แหละที่ทำให้ท้อที่สุด คือถ้าเราได้ยินคำนี้จากคนที่ยังไม่เข้าใจปัญหา รู้สึกว่า ‘แบบนี้ก็ดีอยู่แล้วนี่’ เรายังโอเคนะเพราะรู้ว่าเรายังพยายามทำให้เขาเห็นว่าปัญหาคืออะไร แสดงให้เค้าเห็นว่าที่ดีกว่าคืออะไรได้ แต่ถ้าคนที่เข้าใจปัญหาแต่บอกว่า ‘มันเปลี่ยนไม่ได้’ มันแบบ… อ้าว คุณเห็นปัญหาอยู่นะ (เงียบ) แต่ยังไงก็ตาม เราเข้าใจเขานะ เราเข้าใจว่าครูก็เป็นมนุษย์คนนึงที่ต้อง save หัวใจตัวเอง การที่คนๆ นึงจะมีแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงและเชื่อว่าเปลี่ยนได้ เขาต้องหนักแน่นมากนะ ต้องเชื่อ แต่ที่บอกว่าท้อ ก็ไม่ใช่การท้อแบบจะเลิกเป็นครูนะ มันแค่ท้อและตั้งคำถามว่า ฉันจะไปทางไหนต่อดี จะย้ายที่เหรอ แต่ย้ายแล้วก็ต้องไปเจอกับปัญหาแบบเดิมมั้ย? ท้อแบบสับสนน่ะ
“แต่เด็กเขาเห็นนะ เด็กๆ เขาเฝ้าคอยมองอยู่ตลอดว่าครูแต่ละคนทำอะไร เขาสังเกต เขาเข้าใจ ทั้งที่เราไม่ได้เล่าอะไรให้ฟัง แต่เขากลับมาพูดเชิงให้กำลังใจว่าสิ่งที่ครูทำอยู่มันดีนะ อยากให้เราทำต่อไป ซึ่งอันนี้น่าสนใจมากเลยว่าเขารับรู้และมองเห็น”
ถ้ามีพร 1 ข้อเปลี่ยนการศึกษาไทย เปลี่ยนอะไรดี? – เราถาม
“ไม่มีการสอบ โดยเฉพาะการสอบมาตรฐานอย่างโอเน็ต เรามองว่ามันเป็นการเอาแบบประเมินแบบเดียวมาวัดแล้วบอกให้ทุกคนเป็นแบบเดียวกันหมด แต่เราทุกคนไม่มีใครเหมือนกัน เราโดดเด่นกันคนละแบบ การที่คนๆ หนึ่งตอบคำถามที่บังคับให้คนตอบเหมือนกันไม่ถูก ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีความสามารถ เราอยากให้ระบบเข้าใจว่าการสอบไม่ได้วัดประเมินคนได้ทุกคน
“แต่จะไม่มีการสอบได้ มันก็ต้องมาจากความเชื่อที่ว่า เด็กๆ ได้เลือกเรียนอย่างอิสระ ไม่ต้องบังคับว่าทุกคนต้องเรียนฟิสิกส์ เคมี ตรงตามวิชาเหล่านี้เป๊ะๆ แต่ทุกคนควรได้เรียนจากความชอบของเขาเอง สนใจกับความครีเอทีฟของเค้า”