- การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯครั้งที่ 11 หลังจากห่างหายไปเกือบ 10 ปี ซึ่งน่าสนใจว่าคนเจเนอเรชันใหม่จะมีความคาดหวังอย่างไรทั้งต่อการเลือกตั้งและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในอนาคตอันใกล้
- ชวนคุยกับ‘พ้อย-พลอยวรินทร์’ ที่มาสะท้อนเสียงของ First Time Voter ซึ่งเธอบอกว่า “ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ อยู่วัยไหน เสียงของเรามีความหมายเท่ากัน”
- ตอนนี้กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นที่ปลอดภัยและอยู่สบายสำหรับทุกคน ซึ่ง ‘พ้อย’ ก็คาดหวังว่ากรุงเทพฯ ควรจะเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ให้สมกับสโลแกน ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’
“เราเห็นคำว่า ‘ประชาธิปไตยกับการเลือกตั้ง’ ในหนังสือเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ และในที่สุดวันนี้มันก็กำลังจะมาถึงแล้ว”
‘พ้อย-พลอยวรินทร์ ชิวารักษ์’ นิสิตชั้นปีที่ 2 คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานฝ่ายพัฒนาสังคมและบำเพ็ญประโยชน์ องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) พูดถึงความรู้สึกของตัวเองกับการเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิตของเธอ
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร ในวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2565 เป็นการเลือกตั้งผู้ว่าฯครั้งที่ 11 หลังจากห่างหายไปเกือบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2556 ทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้หย่อนบัตรเป็นครั้งแรก (First Time Voter) กว่า 6 แสนคน ซึ่งน่าสนใจว่าคนเจเนอเรชันใหม่เหล่านี้ มีความคาดหวังอย่างไรทั้งต่อการเลือกตั้งและผู้ที่จะก้าวเข้ามาทำหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในอนาคตอันใกล้
The Potential ชวน ‘พ้อย-พลอยวรินทร์’ มาสะท้อนเสียงของ First Time Voter ซึ่งเธอบอกว่า…ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ อยู่วัยไหน เสียงของเรามีความหมายเท่ากัน
“จริงๆ แล้วคนในทุกเจเนอเรชัน สามารถส่วนร่วมทางการเมืองได้ในทุกๆ วัน เพราะทุกย่างก้าวที่เราใช้ชีวิต ล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งหมด”
การเลือกตั้งครั้งแรกในชีวิต
‘พ้อย’ เล่าให้ฟังว่า เธอตื่นเต้นมากกับการเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งเธอก็หาข้อมูลของผู้สมัครและนโยบายจากแหล่งต่างๆ ทั้งตามสื่ออินเทอร์เน็ต และจากการสอบถามคนใกล้ตัว
“เราถามพ่อแม่ว่าเราจะต้องเช็กชื่อ เช็กสิทธิ์การเลือกตั้งยังไงบ้าง เพราะเราก็ไม่เคยเลือกตั้งมาก่อน แล้วก็ไปดูว่าผู้สมัครแต่ละคนเขามีนโยบายอะไรบ้าง ที่เขาโปรโมตกันในป้ายหาเสียงและตามรายการ ซึ่งช่วงนี้เราก็ดูดีเบตของผู้สมัครแต่ละคนทั้งไลฟ์ยูทูปและรายการต่างๆ ว่าเขาตอบปัญหายังไง มีทัศนคติอย่างไรในแต่ละเรื่อง และมีแนวทางการแก้ไขปัญหายังไง”
“จริงๆ แล้วเราก็เห็นคำว่า ‘ประชาธิปไตยกับการเลือกตั้ง’ ในหนังสือเรียนมาตั้งแต่เด็กๆ และในที่สุดวันนี้มันก็กำลังจะมาถึงแล้ว เราเลยตื่นเต้นและกระตือรือร้นที่จะหาข้อมูลมากๆ”
คุณสมบัติของผู้ว่าฯ กทม. ที่ควรมี
“สำหรับพ้อย ข้อหนึ่งคือ ต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ ถ้าผู้ว่าฯ พูดแค่ ผมรักกรุงเทพฯ ผมขยัน ใครๆ ก็พูดได้ พ้อยก็พูดได้ แต่ถ้าคุณรักกรุงเทพฯ จริง อยากสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กรุงเทพฯ จริง ก็ต้องทำให้เราเห็นเป็นรูปเป็นร่าง ไม่ใช่แค่พูดลอยๆ
การที่สามารถให้ประชาชนตรวจสอบได้ว่า ผู้ว่าฯ ทำอะไรมาบ้างในช่วงเวลาที่ผ่านมา เขาเอางบประมาณ ทรัพยากรบุคคล และทรัพยากรต่างๆ ไปใช้อะไรบ้าง ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมันเป็นเชิงประจักษ์ที่สามารถเห็นได้เด่นชัด
ข้อสองคือ ผู้ว่าฯ ควรจะเป็นคนที่มองเห็นปัญหา สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เช่น เมื่อเห็นว่าเรามีงบประมาณสำหรับซ่อมแซมทางเท้าทุกๆ ปี แต่ทำไมเราถึงยังประสบปัญหาทางเท้าที่พื้นไม่เรียบ และการที่ก็มีงบอยู่แล้วแต่ยังคงเกิดปัญหาวนซ้ำแบบนี้เพราะอะไรกันแน่
เราอยากได้ผู้ว่าฯ ที่มาแก้ปัญหาได้โดยที่มองลึกไปถึงต้นตอของปัญหาจริงๆ ไม่ใช่เพียงแก้ไขปัญหาแบบผิวเผิน เพราะไม่ใช่ทุกปัญหาจะแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มงบประมาณ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้ที่จะมาแก้ไขด้วย
ข้อสามคือ ผู้ว่าฯ ควรจะเห็นความสำคัญของประชาชนทุุกคน เพราะการเป็นผู้ว่าฯ หรือการเป็นนักการเมืองก็ควรที่จะเห็นคุณค่าเสียงของประชาชนทุกคน ต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
เพราะประชาชนไม่ได้มีแค่วัยทำงานที่ทำงานจ่ายภาษี แต่ว่าประชาชนยังรวมถึงนักเรียน นิสิตนักศึกษา คนพิการ และคนชรา ซึ่งคนแต่ละกลุ่มก็มีความต้องการของตัวเองที่แตกต่างกัน และต้องการสวัสดิการที่เหมาะสม”
ความคาดหวังต่อการเลือกตั้งครั้งนี้
“นี่เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกของเรา สิ่งที่คาดหวังเป็นอันดับแรกคือ ‘ความโปร่งใสในการเลือกตั้ง’ เพราะประชาชนทุกคนเขาอุตส่าห์ออกไปใช้สิทธิใช้เสียงเลือกตั้ง เราก็คาดหวังว่าจะมีการนับคะแนนที่โปร่งใส และปัญหาเดิมๆ ที่เราเจอตั้งแต่สมัยเรายังอยู่มัธยมต้น แล้วยังคงพบเจอมันอยู่ตอนนี้ในวัยมหาลัยก็ควรจะถูกแก้ได้แล้วเสียที”
ในฐานะที่ ‘พ้อย’ เป็นหนึ่งในเด็กเจเนอเรชันใหม่ และเห็นปัญหาเดิมๆ ที่เธอพบมาตั้งแต่เด็กจนถึงตอนนี้ เธอมองว่าปัญหาในกรุงเทพฯ ที่ยังไม่ถูกแก้นั้นมีมากมายนับไม่ถ้วน แต่สิ่งสำคัญอีกอย่างที่เธอคาดหวังคือ ‘การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก (Facility) ในกรุงเทพฯ’ ให้ดีขึ้นมากกว่าเดิม เพื่อที่กรุงเทพฯ จะสามารถเป็นเมืองที่ปลอดภัยและเหมาะสำหรับทุกคน
“ทุกครั้งที่เราเดินออกจากบ้าน เราก็ควรจะรู้สึกว่าเราจะไม่ได้รับอันตรายระหว่างทาง และ ‘ปลอดภัย’ ที่จะใช้ชีวิตข้างนอก สามารถสบายใจได้ว่า ถ้าเราเดินออกไปเราจะไม่เดินตกท่อ จะไม่เดินสะดุดทางเท้า หรือทางที่ทำไว้สำหรับคนพิการก็ไม่ฟังก์ชันมากพอ เพราะเขาจะใช้งานพื้นที่นั้นยังไง ในเมื่อเขาต้องอ้อมและลงถนนใหญ่มาอยู่ดี ซึ่งทั้งหมดนี้เรารู้สึกว่าเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาแบบผักชีโรยหน้ามากๆ
หรือเรื่องไฟตามทางเดิน ที่แม้กระทั่งใจกลางเมืองก็สว่างไม่เพียงพอ มันมืดจนสร้างความรู้สึกที่ไม่ปลอดภัยให้กับประชาชน กลายเป็นว่าแทนที่จะรู้สึกปลอดภัยที่จะเดินไป เพราะเราและหลายๆ คนก็คงไม่กล้าเดินในที่มืดๆ เปลี่ยวๆ”
ผู้ว่าฯ กทม. ควรผลักดันหรือส่งเสริมเรื่องใดเป็นพิเศษ
“จริงๆ เรื่องที่ควรผลักดันอย่างแรกคือการทำให้คนรู้สึกได้ว่า ‘การมีประชาธิปไตยมันดี’ แต่ว่าจริงๆ หลายคนก็อาจจะรู้สึกได้บ้างแล้วจากการโหยหาการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ที่ไม่มีมานาน
ซึ่งเราก็เห็นนโยบายของผู้สมัครบางท่านที่บอกว่าจะจัดพื้นที่การชุมนุม ก็นับเป็นวิสัยทัศน์หนึ่งที่ทำให้เราได้เห็นว่าเขาเห็นคุณค่าและความสำคัญของประชาธิปไตย เพราะเมื่อการเห็นคุณค่าของประชาธิปไตยเกิดขึ้น หลายๆ อย่างก็จะตามมา เช่น ความโปร่งใสตรวจสอบได้ พอตรวจสอบได้เขาก็จะรู้สึกว่ามีคนจับจ้องการทำงานของเขาอยู่ ทำให้ต้องเดินไปในทางที่ถูกต้องเท่านั้น”
อีกหนึ่งเรื่องที่ ‘พ้อย’ มองว่าเป็นปัญหาใหญ่ระดับโครงสร้างคือการที่กรุงเทพฯ กลายเป็นเมืองนายทุนแทบจะสมบูรณ์ ซึ่งเธอคาดหวังว่าผู้ว่าฯ คนใหม่จะสามารถผลักดันและส่งเสริมธุรกิจรายย่อยของพ่อค้าแม่ค้าในกรุงเทพฯ ให้อยู่รอดในเมืองหลวงแห่งนี้ได้
“เรามองไปทางไหนก็เป็นของนายทุนไปหมด แทบไม่มีพื้นที่หรือ space ให้คนมานั่งทำงานหรือพื้นที่ให้คนทำมาหากิน
อย่างปัญหาการไล่พ่อค้าแม่ค้าบนทางเท้า ซึ่งเราเข้าใจว่าเป็นการจัดระเบียบ แต่พอไล่แล้วเขาก็ไม่ได้มีพื้นที่อื่นรองรับให้พ่อค้าแม่ค้าเหล่านั้นมีพื้นที่ทำกิน เขาไม่รู้ว่าจะไปขายของที่ไหน กลายเป็นว่าสุดท้ายก็ต้องดิ้นรนที่จะขายของในพื้นที่เดิม จนต้องติดสินบนเทศกิจ มีการไล่ที่ร้านค้า ร้านอาหาร ชุมชนต่างๆ ที่เขาอยู่ของเขากันมานานแล้ว จนร้านเหล่านั้นแทบจะหายไปเกือบหมด แล้วพ่อค้าแม่ค้า คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมเขาจะอยู่ยังไง เพราะกรุงเทพฯ ไม่ได้มีแค่คน Upper-Middle Class อย่างเดียวนะ มันยังมีคนอื่นที่ต้องดิ้นรนใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้ให้รอดด้วย แต่กลายเป็นว่าคุณกำลังบีบบังคับไม่ให้คนจนใช้ชีวิตที่นี่ แล้วเขาจะไปอยู่ที่ไหน”
ข้อเสนอต่อผู้ว่าฯ คนใหม่ในมุมของนิสิต-นักศึกษา
“ในมุมมองของนิสิตแบบเรา เรื่องหนึ่งที่เป็นปัญหาจากการที่กรุงเทพเป็นเมืองนายทุนคือ เรารู้สึกว่าในกรุงเทพฯ มี Space ดีๆ เดินทางสะดวก โดยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายน้อยมาก จำนวน Co-working Space เมื่อเทียบกับจำนวนนิสิตนักศึกษาที่จำเป็นต้องใช้พื้นที่เหล่านี้ก็ไม่เพียงพอ เวลาเราจะนัดกันทำงานทีนึง ที่ๆ ไปก็คนแออัดมาก หรือบางครั้งก็เต็ม ไม่มีที่นั่ง”
สิ่งเหล่านี้เกิดเป็นภาพชินตาที่เรามักจะเห็นนิสิตนักศึกษาส่วนใหญ่มาอ่านหนังสือ ทำงานกลุ่ม หรือนัดคุยงานกันตามร้านกาแฟในห้าง
“ร้านกาแฟที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครันก็มีแต่ร้านกาแฟในห้างอีก พวกเราต้องรับภาระค่าใช้จ่ายกาแฟแพงๆ เพื่อแลกพื้นที่ในการนั่งทำงานที่ควรจะมีฟรีๆ ด้วยซ้ำ
เราก็คิดว่าก็ควรมีพื้นที่ที่ส่งเสริมการทำงานของคนเหล่านี้มากขึ้น แต่สุดท้ายในความเป็นจริงแล้วก็แทบไม่มีเลย มันไม่ส่งเสริมหรือเอื้อให้กับเราเลย เราก็มานั่งคิดว่า แล้วงบประมาณจัดสรรในจุดนี้มันหายไปไหนหมด”
พ้อยได้แชร์มุมมองว่า หากกรุงเทพฯ ไม่มีการทุจริต นโยบายและแคมเปญต่างๆ คงเกิดขึ้นจริงทุกอย่างไปแล้ว รวมถึงปัญหาช่องว่างระหว่างสังคมก็คงจะลดน้อยลงด้วย
“กรุงเทพฯ มีไอเดีย มีแคมเปญเยอะมากที่บอกว่าจะรณรงค์ส่งเสริมนู่นนี่นั่น แต่พอจะทำจริงๆ ถามว่าทำได้ไหม สุดท้ายก็ทำไม่ได้ ถ้าเราอยากรณรงค์ให้ประชาชนทำอะไร คุณก็ต้องเสิร์ฟสิ่งนั้นให้เขาสิ ต้องมีการเตรียมตัวเอื้ออำนวยเพื่อให้การรณรงค์นั้นเกิดขึ้นจริงๆ ไม่ใช่รณรงค์แต่เพียงปากเปล่า”
“นโยบายที่ทำต้องเกิดได้จริง ช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชุมชนต้องทำให้น้อยลง ดูจากสถานการณ์โควิดที่ผ่านมาก็มีแต่คนตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องดิ้นรน มีคนติดโควิดเสียชีวิตข้างถนน พ่อค้าแม่ค้าประสบปัญหาเศรษฐกิจจนถึงขนาดฆ่าตัวตายก็มี
ยังไงนายทุนเขาก็ไม่เจ๊ง เพราะเขาอยู่ในเมืองที่เอื้อเขามากๆ แม้เขาจะขาดทุนเขาก็ยังอยู่ได้ แต่พ่อค้าแม่ค้าที่หาเช้ากินค่ำทำแบบนั้นไม่ได้ โครงสร้างต่างๆ ที่มีในตอนนี้ทำให้เราต้องง้อนายทุน กลายเป็นว่านายทุนก็ยิ่งร่ำรวย ส่วนคนจนจริงๆ ก็ถูกกดลงมาเรื่อยๆ ไม่มีที่ให้เขาอยู่”
‘กรุงเทพ’ เมืองท่องเที่ยว ที่คนกรุงเทพฯ ไม่อยากออกไปเที่ยว?
“เราคิดว่าเสน่ห์ของกรุงเทพมันลดน้อยลงไป ตราบใดที่ห้างเข้ามาเรื่อยๆ และยังคงเจอร้านเครือนายทุนทุกๆ 5 นาที เหมือนตอนนี้เราไม่ได้เข้ากรุงเทพ แต่เราเข้าเมืองห้าง แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรที่เราเข้ามาในกรุงเทพฯ มันมีอะไรที่โดดเด่น อะไรที่มันกิมมิก เป็นชุมชน มีความเป็นวัฒนธรรมและเก่าแก่บ้าง ในเมื่อคุณทำลายมันไปหมดแล้ว และพยายามสร้างสิ่งจำลองขึ้นมา เป็น Fake Bangkok ที่ไม่สามารถทดแทนสิ่งหายไปได้ และไม่ได้สร้างความรู้สึกที่อยากจะมากรุงเทพฯ เพื่อมาเที่ยว
อีกทั้งภาพในกรุงเทพฯ โดยทั่วไปไม่น่าเดินเลย เวลาที่มองออกไป ไม่ใช่แค่เรื่องปัจจัยเรื่องสภาพอากาศนะ แต่มันคือมวลแวดล้อมโดยรวมที่ไม่น่าเดินอย่างเช่น ต้องมาเดินหลบเสาไฟ ทางเท้าขรุขระ หรือจะเดินทางก็ยากลำบาก
สำหรับเรา คิดว่า Facility มันแย่จนไม่อยากเดิน นอกจากนี้เรารู้สึกว่าเสน่ห์ของกรุงเทพฯ มันค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ เราเกิดคำถามว่า ‘อะไรคือเสน่ห์ของกรุงเทพฯ’ และการดึงเสน่ห์ของกรุงเทพฯ ขึ้นมาจริงๆ ต้องทำยังไง
เพราะการที่เราจะเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวดีๆ ที่ไม่ใช่แลนด์มาร์กในกรุงเทพฯ ซักทีก็เดินทางยาก เพราะการคมนาคมไม่เอื้ออำนวย ก็เหมือนแคมเปญรณรงค์นั่นแหละ ที่เห็นว่าน่าทำนะ แต่พอทำจริงๆ แล้วมันก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ซึ่งผู้ว่าฯ ก็ควรมาแก้ไขปัญหาในจุดนี้ด้วย”
พ้อยเสริมว่า อยากให้ผู้ว่าฯ ส่งเสริมเรื่องศิลปวัฒนธรรมและการสร้างอาชีพ เพราะจริงๆ ในประเทศไทย ความสวยงามส่วนหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวคือสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
“มีอาชีพน้อยมากที่อยู่ได้จริงๆ ในประเทศนี้ แม้แต่สายวิทยาศาสตร์เอง นักวิทยาศาสตร์ในไทยก็ไม่ได้รับการสนับสนุนมากพอ การวิจัยต่างๆ ก็เป็นไปได้ลำบาก ยิ่งสายศิลปะก็อยู่ยาก สายสื่ออย่างเราเองถ้าไม่ได้รับงบประมาณก็อยู่ลำบาก คุณจะคาดหวังให้อาชีพต่างๆ เติบโตได้ยังไงในเมื่อคุณไม่ได้สนับสนุนอะไรเลย”
“ตอนนี้กรุงเทพฯ ไม่ได้เป็นที่ปลอดภัยและอยู่สบายสำหรับทุกคน เราก็คาดหวังว่ากรุงเทพฯ ควรจะเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ให้สมกับสโลแกน ‘กรุงเทพฯ ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว’ และเราก็คาดหวังว่าผู้ว่าฯ จะช่วยเอาชีวิตดีๆ นั้นมาให้เราซักที”
ข้อความจาก พ้อย-พลอยวรินทร์ ถึงผู้ว่าฯ กทม.ในอนาคต
“ยินดีด้วยนะคะที่ได้เป็นผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างโปร่งใส ก็หวังว่านโยบายที่หาเสียงในปีนี้ จะไม่ถูกพูดถึงอีกในวาระหน้า หวังว่าจะเป็นนโยบายที่ทำสำเร็จจริงๆ เราไม่ได้อยากฟังนโยบายซ้ำๆ ที่พูดซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกวาระ ถ้าหากนโยบายเหล่านั้นสำเร็จจริงๆ ได้ก็คงจะดี
และอยากให้คุณเคารพประชาชน เพราะประชาชนเป็น ‘เจ้าของอำนาจ’ เพราะหน้าที่ของผู้ว่าฯ และข้าราชการคือ ‘การรับใช้ประชาชน’ ไม่ใช่การรับใช้ขั้วอำนาจหรืออำนาจเก่า”
ฝากถึงคนกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิในการเลือกตั้งครั้งนี้
“เราก็ไม่ได้เลือกตั้งกันมาราว 10 ปี ก็เป็นเวลาที่นานมากพอที่เด็กคนหนึ่งจะเกิดมาและเข้าโรงเรียนประถมได้เลย
ดังนั้นก็อยากให้ทุกคนใช้สิทธิใช้เสียงของตัวเองอย่างเต็มที่ แสดงพลังให้เขารู้ว่าเสียงของประชาชนมีความหมาย เพราะการที่เราได้มีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ ก็แปลว่าการทำงานของเขาต้องใส่ใจเสียงของเรา การใช้สิทธิของเราจะเป็นการทำให้เขารู้ว่าการที่เข้ามาด้วยเสียงของประชน เขาก็ต้องรับใช้ประชาชน ถึงแม้ว่าเราจะเดินออกจากบ้านด้วยความไม่ปลอดภัยและรถติด แต่เราก็จะไปถึงคูหาและเลือกตั้งให้ได้”พ้อยได้ทิ้งท้ายไว้ว่า จริงๆ แล้วคนในทุกเจเนอเรชัน สามารถส่วนร่วมทางการเมืองได้ในทุกๆ วันของชีวิต เพราะทุกย่างก้าวที่เราใช้ชีวิต ล้วนเกี่ยวข้องกับการเมืองทั้งหมด
“ไม่ใช่แค่คนรุ่นใหม่ก็ควรจะมี Awareness กับเรื่องนี้ ควรจะรับรู้ว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่กับการเมือง ซึ่งเราจะมีส่วนร่วมการการเมืองยังไงได้บ้าง
ข้อแรกที่เราเรียนมาจากหนังสือหน้าที่พลเมือง ก็คือเราต้อง ‘เลือกตั้ง’ ตอนเด็กๆ ก็อาจจะเป็นการเริ่มต้นด้วยการเลือกตั้งหัวหน้าห้อง ประธานนักเรียน ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ก็เป็นหน้าที่ของพลเมือง ที่เป็นการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบบ
ข้อสองคือเราต้องสามารถ Voice out ได้ อย่างน้อยเราต้องสามารถ Report ได้ หากพบเจอกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และส่งเสียงของเราออกมา เพราะเสียงของเราทุกคนมีความหมาย ไม่ว่าเราจะอายุเท่าไหร่ อยู่วัยไหน แต่เสียงของเราก็มีความหมายเท่ากัน
อีกข้อคือการเข้าร่วมในการชุมนุม ซึ่งก็เป็นสิ่งหนึ่งของการมีส่วนร่วมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพราะในเมื่อเรามีการชุมนุม ก็แปลว่าเรามีสิ่งที่เราอยากเรียกร้อง อย่าง ณ ตอนนี้เราก็เรียกร้องกันหลายประเด็นมากๆ มันหลากหลายและสามารถทำได้หลายทางมาก
อย่างน้อยการมี Awareness และบอกเล่าให้คนที่ไม่รู้ได้รู้ว่าตอนนั้นมีการต่อสู้แบบนี้เกิดขึ้นอยู่นะ มีปัญหานี้นะ เราว่ามันก็เป็นการช่วยได้ประมาณหนึ่ง และเราก็คิดว่าทุกคนล้วนมีความสามารถในการจะทำสิ่งต่างๆ แตกต่างกันไป”