- โจทย์เรื่องการปฏิรูปการศึกษาจากล่างขึ้นบนในปัจจุบัน ประเด็นสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเป็นเจ้าของโจทย์ร่วมกัน ไม่เช่นนั้นการทำงานจะอยู่ในวงแคบๆ เพียง 8 – 9 จังหวัดนำร่องเท่านั้น อีกทั้ง Social movement การขับเคลื่อนกระแสสังคมว่า มีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในระบบการศึกษา มีทางออก และมีเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาที่ดำเนินการจากล่างขึ้นบน
- คาแรกเตอร์ของครูซึ่งสำคัญในระบบการศึกษา คือ ‘ครู’ ต้องกล้าคิดนอกกรอบ มีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเรื่องโครงงานฐานวิจัย หลักสูตรแกนกลาง 51 หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่สำคัญคือ ‘หลักสูตรภูมิสังคม’ เสริมด้วยระบบ PLC รวมถึงเรื่องการตั้งคำถามและการให้กำลังใจเด็กด้วย
- “เพราะฉะนั้นอัตลักษณ์ที่เป็นความหวังของคนจังหวัดสตูลก็คือ ให้เขารู้จักกำพืดของคนในจังหวัด รู้เรื่องศิลปะ รู้เรื่องวัฒนธรรม เวลาเขาจบการศึกษาไปเขาจะไม่ย้ายออกจากถิ่นฐาน เขาจะไม่ดูแคลนอาชีพของพ่อแม่เขา อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นข้อค้นพบสำคัญเรื่องหนึ่ง”
ภาพ : เว็บไซต์ กสศ.
“สตูลจะมีลักษณะเฉพาะ คือ มีโครงงานฐานวิจัยเป็นตัวหลัก ตัวขับเคลื่อนเป็นครูสามเส้า เพราะฉะนั้นครูสามเส้าในความหมายที่สตูลค้นพบขึ้นมาเป็นก้าวเล็กๆ แต่มีอำนาจในการพังทลายเรื่องห้องเรียน เรื่องของการเรียนรู้ แล้วมันเข้าไปสู่เรื่องชุมชน ที่สำคัญคือจะเปลี่ยน Mindset ครูอย่างไร จะเปลี่ยนกรอบระบบราชการก้าวไปสู่ระบบการเรียนรู้ที่เปิดกว้างมากขึ้น และทลายกำแพงต่างๆ ได้อย่างไร”
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ประธานอนุกรรมการกำกับทิศทางนโยบายและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สะท้อนมุมมองจากบทเรียนครูสามเส้า พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดสตูล ในงาน เสวนาออนไลน์ ‘ล็อกดาวน์’ ไม่ล็อกการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 ซึ่งนอกจากนำเสนอตัวอย่างการปรับตัวภายใต้บริบทของพื้นที่และสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของโรงเรียนบ้านเขาจีนและโรงเรียนอนุบาลสตูล ในช่วงท้ายของการเสวนายังมีเวทีสะท้อนคิดโดยผู้ทรงคุณวุฒิในแวดวงการศึกษาอีกหลายท่านด้วย
เอาชนะข้อจำกัด ต่อยอดองค์ความรู้ สู่ใบงานบูรณาการ
ในการจัดการเรียนการสอนท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 นั้น ด้านกระทรวงศึกษาธิมีการออกแบบการเรียน 5 รูปแบบ คือ ออนไซต์ ออนดีมานด์ ออนไลน์ ออนแอร์ และออนแฮนด์ ซึ่งโรงเรียนบ้านเขาจีนกับโรงเรียนอนุบาลสตูล สามารถนำ 5 ออนดังกล่าว เป็นพื้นฐานและต่อยอดจากองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่ โดยจะใช้โครงงานฐานวิจัยที่ค้นพบร่วมกัน
ทว่าสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคสำหรับคนทำงานพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาก็คือ หากเกิดเป็นพื้นที่นวัตกรรมโครงงานฐานวิจัยแล้ว เมื่อมีการเปลี่ยนผู้อำนวยการโรงเรียน ส่วนใหญ่การทำงานจะไม่มีความต่อเนื่อง หรืออาจไม่ทำต่อ แต่ไม่ใช่กับโรงเรียนอนุบาลสตูล
“ผอ.ยงยุทธ มาต่องานจาก ผอ.สุทธิ แล้วก็สร้างเรื่องนาฬิกาชีวิต เพราะฉะนั้นยังมีโครงงานฐานวิจัยอยู่ แต่มีเวอร์ชั่นใหม่ มีการต่อยอดเกิดขึ้น มันทำให้ตัวนวัตกรรมมันมีชีวิตต่อไป ผอ.พยายามใช้เรื่องนาฬิกาชีวิตต่อยอดจากโครงงานฐานวิจัย แล้วสามารถเอาชนะปัญหาข้อจำกัดเรื่องโควิด-19 ได้ แล้วเห็นศักยภาพ เห็นความร่วมมือการเปลี่ยนแปลงของพ่อแม่ผู้ปกครองมันบวกยกกำลังสองของสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น”
ในขณะเดียวกันโรงเรียนบ้านเขาจีน พบปัญหาความเครียดสามเส้า ทั้งเด็ก พ่อแม่ และครูต่างเผชิญกับความเครียด
“แต่แค่ใบงานใบเดียวที่เป็นใบงานบูรณาการ เห็นไหมครับว่าเขาสามารถเอาชนะปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกับเรื่องของการเรียนรู้และก็การใส่ใบงานใส่ๆๆๆ ลงไปแต่ไม่เกิดการเรียนรู้ แต่เกิดความเครียดและความกดดัน แล้วไม่มีความสุขกันทั่วแผ่นดินเลย พูดง่ายๆ PLC ที่คุยกันทำให้เกิดใบงานบูรณาการแล้วแก้ไขปัญหาได้”
เชื่อมโยงโรงเรียนกับชุมชน เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของพื้นที่
จากบทเรียนครูสามเส้า ของพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา จังหวัดสตูล ศ.ดร.สมพงษ์ สะท้อนว่า ครูสามเส้าจะต้องชัดเจนในบทบาทของตนเอง ครูคนแรก ‘ครูโรงเรียน’ ต้องกล้าคิดนอกกรอบ นั่นคือจะต้องมีพื้นฐานเรื่องโครงงานฐานวิจัยเสียก่อน และนอกจากความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเรื่องโครงงานฐานวิจัยแล้ว จะต้องมีหลักสูตรแกนกลาง 51 หลักสูตรฐานสมรรถนะ ที่สำคัญคือ ‘หลักสูตรภูมิสังคม’ เสริมด้วยระบบ PLC ซึ่งเห็นได้จากผลลัพธ์ในการจัดการเรียนรู้ เมื่อใบงานเยอะเกินไป : การปรับตัวของโรงเรียนบ้านเขาจีน กระทั่งกลายเป็นใบงานบูรณาการ อีกทั้งเรื่องการตั้งคำถาม การให้กำลังใจเด็ก นี่คือคาแรกเตอร์ของครูซึ่งสำคัญในระบบการศึกษาที่ศ.ดร.สมพงษ์ มองเห็น
ครูคนต่อมาพวกเขาเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้เกิดทั้งคุณภาพ ความมั่นคง และเกิดการเชื่อมโยง นั่นก็คือ ‘ครูชุมชน’ ครูชุมชนจะทำอย่างไรให้เกิดการเรียนรู้ทุนทางสังคม เช่น ระบบเครือญาติ ระบบทรัพยากร ศิลปะ วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม เหล่านี้คือปัจจัยที่เอื้อหนุนการหล่อหลอม ทำให้เด็กเติบขึ้นในชุมชนอย่างรู้เท่าทัน
และครูที่สาม ซึ่งในที่นี้เรียกว่า ‘ครูชีวิต’ หรือ ‘ครูพ่อแม่’ นั่นเอง โดยจะถ่ายทอดสารพัดวิชาทำมาหากิน ไม่ว่าจะเป็นการกรีดยาง การทำประมง การเลี้ยงไก่ หรือแม้กระทั่งการเลี้ยงปลากัด จากตัวอย่าง ‘นาฬิกาชีวิตกับโครงงานฐานวิจัย : การปรับตัวของโรงเรียนอนุบาลสตูล’
“สิ่งหนึ่งที่เราจะเห็นคือความเป็นสตูล Active Citizen เกิดขึ้น แค่เคสสองเคสที่เราพบ อย่างน้องที่อยู่ในโรงเรียนขยายโอกาส ถ้าเรียนตามปกติเขาจะไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง แต่พอมีโอกาสเราจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในคุณภาพชีวิตเขา แล้วเด็กที่อยู่จังหวัดสตูลตัวชี้วัดคุณภาพเราจะเห็นคือ เขาเป็นเด็กหลังห้อง ถ้าพูดกันในระบบการศึกษาก็พร้อมจะหลุดจากระบบ ครูก็จะเอาใจใส่น้อย แต่ไม่ใช่ที่จังหวัดสตูล”
แม้ว่าเด็กหลังห้องส่วนใหญ่มักไม่ค่อยได้รับการยอมรับ แต่เด็กหลังห้องคนนี้พิสูจน์และท้าทายทฤษฎีว่า ถ้าเขาสนุกกับการเรียนรู้เขาจะพัฒนาตัวเอง จนในที่สุดศักยภาพมีเกิดขึ้นมา เช่น มีความอดทน ช่างสังเกต รอบคอบ กระตือรือร้นอยากเรียน จะเห็นว่าเด็กในจังหวัดสตูล สามารถไต่ไปสู่ศักยภาพการค้นพบรู้จักตนเอง
“เพราะฉะนั้น อัตลักษณ์ที่เป็นความหวังของคนจังหวัดสตูลก็คือ ให้เขารู้จักกำพืดของคนในจังหวัด รู้เรื่องศิลปะ รู้เรื่องวัฒนธรรม เวลาเขาจบการศึกษาไปเขาจะไม่ย้ายออกจากถิ่นฐาน เขาจะไม่ดูแคลนอาชีพของพ่อแม่เขา อันนี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นข้อค้นพบสำคัญเรื่องหนึ่ง”
สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของโจทย์ร่วมกัน ผลักดันพื้นที่นวัตกรรมสู่การปฏิรูปการศึกษา
อีกประเด็นสำคัญที่ ศ.ดร.สมพงษ์ หยิบมาแลกเปลี่ยนนั้น คือโจทย์ที่ผอ.สุทธิ สายสุนีย์ โยนลงมาและสร้างแรงกระเพื่อมให้พื้นที่นวัตกรรมครั้งใหญ่ นั่นคือ
“ใครเป็นเจ้าของนวัตกรรม ใครเป็นเจ้าของพื้นที่ คนๆ นั้นจะเป็นคนทำ แต่ถ้าเขาไม่ได้มีความรู้สึกมีส่วนร่วม แล้วเป็นเจ้าของโจทย์ เขาจะอยู่รอบนอก จังหวัดสตูลก็เผชิญปัญหาแบบนี้ คือคนที่ทำเป็นเจ้าขอโจทย์เราก็จะดำเนินการ เรามุ่งมั่นแล้วเราเห็นความสำคัญ เรารู้ว่ามันดีแน่ๆ แต่คนที่ไม่ได้เป็นเจ้าของโจทย์ร่วมกับเราคือ ข้าราชการ เขามีความรู้สึกเลยว่าเขามีส่วนร่วมต่ำ อันนี้คือโจทย์ใหญ่ที่สุดว่า เราจะทำโจทย์นี้ให้เป็นเจ้าของโจทย์ร่วมอย่างไร”
เพราะฉะนั้นโจทย์เรื่องการปฏิรูปการศึกษาจากล่างขึ้นบนในปัจจุบันนี้ ประเด็นสำคัญที่จะต้องทำก็คือ การทำให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามาเป็นเจ้าของโจทย์ร่วมกัน ไม่เช่นนั้นการทำงานจะอยู่ในวงแคบๆ เพียง 8 – 9 จังหวัดนำร่องเท่านั้น
“ในส่วนที่ผมยังคิดว่าในเรื่องพื้นที่นวัตกรรมเราจะต้องแก้ไขกัน เรามีพื้นที่ละ เรามีโรงเรียนละ เรามีนวัตกรรมละ เรามีหลายฝ่ายที่เข้าไปอยู่ในคณะกรรมการระดับประเทศ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือ Social movement คือการขับเคลื่อนกระแสสังคมว่า มันมีสิ่งดีๆ เกิดขึ้นในระบบการศึกษา มันมีทางออกนะ มันมีเรื่องของการปฏิรูปการศึกษาที่ดำเนินการจากล่างขึ้นบน
ส่วนนี้จะต้องมีใครมีส่วนร่วม หนึ่งสื่อมวลชน สอง NGO ภาคเอกชน จะช่วยกระเพื่อมแล้วในที่สุดจังหวัดอื่นเขาจะค่อยๆ เตรียมความพร้อม อย่างไปสั่งทุบโต๊ะสั่ง แต่เราจะทำยังไงให้แม่ฮ่องสอน ทำให้จังหวัดปัตตานี หรือจังหวัดต่างๆ เขามีความรู้สึกว่า เขาเป็นเจ้าของโจทย์ แล้วก็มีความรู้สึกว่าเขาอยากทำ”
สุดท้ายแล้ว พื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจะต้องกลายเป็นโอกาสของทุกๆ จังหวัด ที่อยากจะจัดการเรียนรู้บนบริบทของจังหวัดนั้นๆ โดยมีความรู้สึกร่วมในการเป็นเจ้าของโจทย์เป็นที่ตั้ง