- จากการเป็นครูในโรงเรียน เห็นนักเรียนตัวเองต้องดิ้นรนขอทุนเรียนต่อ ทำให้ครูพล – อรรถพล ประภาสโนบล อดีตครูประจำวิชาสังคมศึกษา ผู้ก่อตั้งกลุ่มพลเรียน กลับมาตั้งคำถามว่า ถ้าสังคมเรามีรัฐสวัสดิการจะทำให้เด็กๆ ไม่ต้องดิ้นรนเอาต่อรอดในการศึกษาแบบทุกวันนี้
- “เราอยู่ในสังคมที่รัฐผลักให้ประชาชนดิ้นรนกันเอง ใครแข็งแรงกว่า มีต้นทุนเยอะกว่า คุณก็อยู่รอดได้ สิ่งหนึ่งมันเลยเรียกร้องให้เราต้องกตัญญูมากๆ ต้องช่วยเหลือดูแลพ่อแม่นะ ต้องหางานที่ทำให้คุณได้เงินเยอะๆ เป็นสังคมที่ไม่ทำให้เรารู้สึกมั่นคงอะไรสักอย่างเลยในชีวิต มันมีภาระเงื่อนไขในชีวิต โตขึ้นไปต้องทำงานเป็นข้าราชการ ต้องทำนู่นทำนี่เพื่อให้มีสวัสดิการที่มั่นคงเอามาให้พ่อแม่ เอามาเลี้ยงตัวเอง มันเป็นสังคมที่เรียกร้องความกตัญญูสูงมาก”
“…มันทำให้เราเห็นเลยว่าชีวิตของเด็กคนหนึ่งถ้าไม่มีเงินเรียนต่อ ทางเลือกแรก คือ คุณก็ออกไปทำงานเลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงครอบครัว หรือทางเลือกที่สอง ถ้าอยากเรียนต่อ ถึงแม้ตัวคุณสนใจอยากเรียนต่อด้านนี้ แต่คุณก็ทำไม่ได้ ต้องไปเรียนในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้สนใจ เพื่อจะได้เรียนและทำงานมีเงินส่งน้องเรียน ตัวเราก็จะได้มีเงินใช้ด้วย
“มันก็น่าตั้งคำถามกับสังคมนี้นะว่า สังคมนี้ทำให้ความฝันของใครหลายคนถูกกลืน ถูกดัดแปลง โดยที่เขาไม่ได้อยากเป็นสิ่งนั้นจริงๆ เพราะด้วยกำแพงทางเศรษฐกิจ ด้วยเงื่อนไขแบบนี้เลยทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญมากๆ” คำตอบแรกที่เราได้รับจากครูพล – อรรถพล ประภาสโนบล เพียงย่อหน้าเดียวก็พอจะทำให้เราเห็นปัญหาในระบบการศึกษาไทย
ครูพลคืออดีตครูประจำวิชาสังคมศึกษา ผู้ก่อตั้งกลุ่มพลเรียน ปัจจุบันหันไปทำงานเบื้องหลังและสนใจปัญหาเชิงโครงสร้างในประเด็นการศึกษา โดยเฉพาะรัฐสวัสดิการด้านการศึกษา สาเหตุตั้งต้นก็มาจากการเป็นครูในโรงเรียน เห็นนักเรียนตัวเองต้องดิ้นรนขอทุนเรียนต่อ มันทำให้เขากลับมาตั้งคำถามว่า ที่พวกเรากำลังดิ้นรนให้ได้สิ่งนี้มา แต่จริงๆ แล้วรัฐใช่ไหมที่ควรเป็นคนทำให้พวกเรามีสิ่งนี้
การนัดพบกันครั้งนี้เราชวนครูพลมาคุยกันตั้งแต่ประเด็นการจัดสรรงบประมาณในระบบการศึกษาไทย รวมถึงประเด็นถ้ามีรัฐสวัสดิด้านการศึกษาจริงๆ จะช่วยผู้เรียนได้อย่างไรบ้าง
อีกเรื่องในประเด็นเดียวกัน ชวนอ่านรัฐสวัสดิการในประเด็นการศึกษา: ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี
เหตุผลที่ทำให้ครูพลสนใจและอยากทำงานผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการ
เอาจริงๆ ก็มาจากอาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดีแหละ ตอนแรกยังไม่เข้าใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง แต่ก็พยายามสื่อสารตลอดว่ามันมีสังคมแบบนี้ได้นะ สังคมที่มองคนเท่ากัน สังคมที่เด็กทุกคนได้รับสิทธิการศึกษาอย่างเสมอภาค
แต่หลังจากได้ทำงานสอนไปสักพัก ด้วยความที่พื้นที่ที่เราทำงานมันอยู่ในโรงเรียน ทำให้เราเริ่มมีแว่นมองเรื่องนี้ จุดแรกที่สะกิดใจมากๆ คือ ช่วงนั้นเราฝึกสอน แล้วมีเด็กคนหนึ่งที่กำลังจะเรียนจบม.3 ครูบอกว่าจะต้องไปเยี่ยมบ้านเด็กคนนี้ พอไปถึงก็เห็นว่ามีผู้สูงอายุนอนติดเตียงอยู่บ้าน ครูต้องคอยส่งฟูกที่นอนไปเพื่อเปลี่ยนให้ ตัวเด็กคนนี้เขาก็ชอบเล่นกีฬามาก ชอบวิชาคณิตศาสตร์ด้วย พอจบม.3 ครูเขาก็มาเล่าให้เราฟังว่า ‘พลรู้ไหม เด็กคนนี้ไม่มีเงินเรียนต่อแล้ว ต้องออกไปหางานทำ หาเงินส่งน้องเรียนและดูแลย่าที่กำลังป่วยอยู่’
ผ่านไปสักพักหนึ่งครูคนนี้ก็มาบอกเราอีกว่า มีโครงการของธุรกิจที่หนึ่งเขาจะให้ทุนเด็กเรียนและมีงานให้เด็กทำด้วย ครูเขาก็เอาทุนนี้ไปให้เด็กลองดู เพราะอย่างน้อยเด็กก็จะได้เรียนต่อ ได้ทำงานด้วย จะได้มีวุฒิการศึกษา แต่เราไม่รู้จบยังไงนะเพราะฝึกสอนเสร็จก่อน
แต่มันทำให้เราเห็นเลยว่าชีวิตของเด็กคนหนึ่งถ้าไม่มีเงินเรียนต่อ ทางเลือกแรก คือ คุณก็ออกไปทำงานเลี้ยงดูตัวเอง เลี้ยงครอบครัว หรือทางเลือกที่สอง ถ้าอยากเรียนต่อ ถึงแม้ตัวคุณสนใจอยากเรียนต่อด้านนี้ แต่คุณก็ทำไม่ได้ ต้องไปเรียนในสิ่งที่ตัวเองไม่ได้สนใจ เพื่อจะได้เรียนและทำงาน มีเงินส่งน้องเรียนและตัวเราก็จะได้มีเงินใช้ด้วย
มันก็น่าตั้งคำถามกับสังคมนี้นะว่า มันเป็นสังคมที่ทำให้ความฝันของใครหลายคนถูกกลืน ถูกดัดแปลง โดยที่เขาไม่ได้อยากเป็นสิ่งนั้นจริงๆ เพราะด้วยกำแพงทางเศรษฐกิจ ด้วยเงื่อนไขแบบนี้เลยทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญมากๆ
ยิ่งพอเราถอยกลับมาดูภาพใหญ่ ทุกวันนี้การศึกษาบ้านเรามันถูกวางอยู่บนวิธีคิดแบบระบบกลไกตลาด ถามว่าดูจากอะไร? ผมคิดว่ามันมาจากวิธีจัดสรรงบประมาณ ก็คือเป็นแบบงบรายหัว ซึ่งถ้าโรงเรียนไหนมีเด็กเยอะ รัฐก็จะส่งงบมาให้เยอะ เช่น โรงเรียนนี้มีนักเรียน 3,000 คน ลองคูณงบรายหัวดูสิ ได้งบสูงอยู่นะ ขณะเดียวกันถ้าเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก เด็กมีจำนวนน้อยก็จะได้เงินน้อยตาม ซึ่งวิธีคิดของรัฐแบบนี้คือการมองว่าการศึกษาเป็นสินค้า ถ้าเกิดการแข่งขันก็จะนำมาซึ่งคุณภาพที่มันไหลไปสู่ทุกชนชั้นอย่างดีที่สุด
การจัดสรรงบแบบนี้ มันทำให้เกิดการแข่งขันได้อย่างไร?
ยกตัวอย่างนะ มีบริษัท A B C D กำลังแข่งกันให้ลูกค้าเลือกตัวเองมากที่สุด พวกเขาก็ต้องพยายามทำให้บริษัทตัวเองมีคุณภาพมากที่สุด เพื่อที่ลูกค้าจะได้เลือกตัวเอง ซึ่งแน่นอนว่าท้ายที่สุดบริษัท A B C D ก็จะมีคุณภาพเพิ่มขึ้น และลูกค้าที่มีกำลังจ่ายเยอะก็จะได้สินค้าที่ดีที่สุดไป ส่วนคนที่มีกำลังปานกลางก็ได้สินค้าคุณภาพปานกลาง หรือมีกำลังน้อยก็ได้คุณภาพน้อยตามไป – อันนี้คือระบบกลไกตลาด
การจัดสรรงบแบบนี้มันมีข้อเสียอย่างไร? ถ้ามองเชิงเทคนิคว่า เด็กน้อย = งบน้อยมันก็สัมพันธ์กันดีนะ
สมมติงบอุดหนุนเด็ก ม.ต้น ได้ประมาณหัวละ 3,000 ต่อปี ลองจินตนาการดูว่าถ้าโรงเรียนขนาดเล็กที่มีเด็กอยู่ประมาณ 300 คน คูณจำนวนหัวเข้าไปโรงเรียนนี้ก็จะได้งบประมาณ 900,000 บาท แต่ถ้าโรงเรียนที่มีเด็ก 1,000 คน งบก็ได้ประมาณ 3 ล้านบาท วันหนึ่งทั้งสองโรงเรียนบอกว่าฉันอยากซื้อคอมพิวเตอร์ให้เด็ก โรงเรียนแรกอาจซื้อได้เครื่องหนึ่ง เพราะต้องเอางบไปใช้ส่วนอื่นต่อ แต่โรงเรียนที่สองเขาได้งบสูงมาก ก็ซื้อได้เยอะ มีทรัพยากรให้เด็กใช้ หรือถ้าจะพาเด็กไปทัศนศึกษา โรงเรียนแรกอาจไม่ได้มีทางเลือกเยอะ ต่างจากโรงเรียนที่สอง
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า การจัดสรรแบบนี้ส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษา เพราะเมื่อเป็นแบบนี้ผู้ปกครองหลายคนก็มองหาโรงเรียนอื่นที่ดีกว่า (น้ำเสียงตั้งคำถาม) เราจึงเห็นภาพที่ผู้ปกครองจำนวนมากนิยมให้ลูกเข้าโรงเรียนใหญ่ๆ เพราะรู้สึกว่ามีคุณภาพมากกว่า
ถ้างบประมาณไม่พอแบบนี้ ส่วนใหญ่โรงเรียนจะแก้ไขปัญหากันอย่างไร?
ก็ทำผ้าป่า กับจ้างครูอัตราจ้างเดือนละ 3,000 – 5,000 บาท ส่วนใหญ่ในโรงเรียนขนาดเล็กหรือโรงเรียนที่งบไม่พอเขามักแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ แต่คำว่า ‘ไม่พอ’ ก็ต้องกลับมาดูนะว่าไม่พอเพราะอะไร ส่วนแรกเพราะงบประมาณที่ถูกจัดสรรมันไม่โปร่งใสด้วยแหละ ตอบไม่ได้ว่าเงินใช้ไปกับอะไรบ้าง อีกส่วนคือ…อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าพอให้งบเป็นแบบรายหัว ยังไงก็ไม่มีทางพอ แม้แต่โรงเรียนใหญ่ๆ หรือโรงเรียนที่ผมเคยสอน เด็ก 2,000 กว่าคน งบยังไม่พอเลยต้องทำผ้าป่าช่วย
การทอดผ้าป่าก็ถือเป็นกลไกการทำงานของชุมชนอย่างหนึ่ง ก็ถูกต้องแล้วนี่ที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจ คนในชุมชนเป็นคนจัดการเอง นี่มันก็เหมือนการจัดการของท้องถิ่นไง มันเป็นปัญหาอย่างไรล่ะ?
จริงๆ มันก็ไม่ผิดหรอก แต่สิ่งนี้ทำให้กลไกรัฐในฐานะตัวประกันสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนไม่ทำงาน ยิ่งคุณทำแต่ผ้าป่าไปเรื่อยๆ แต่ละเลยที่จะตรวจสอบเงินภาษีว่ามันควรจัดสรรใหม่ไหม หรือเราควรทำยังไงที่จะให้ทุกคนได้รับการศึกษาที่ดี มีคุณภาพเท่าเทียมกัน แต่พอคุณผลิตซ้ำเรื่องผ้าป่า กลายเป็นทำให้เราไม่เคยตั้งคำถามเลยว่าเงินที่มาโรงเรียนมันไปไหนหมด หรือถูกใช้ยังไง นี่เป็นสิ่งที่เราอยากบอก
ลองดูโฆษณาของร้านสะดวกซื้อที่หนึ่งที่เล่าเรื่องครูผู้เสียสละก็ได้ เป็นคำตอบที่ชัดเจนที่สุด มายเซ็ตของสังคมอาชีพครูเป็นอาชีพที่ต้องเสียสละ ไม่ว่าจะมีปัญหาร้อยแปดพันอย่าง แต่ถ้ามีครูแบบนี้ (ครูที่เป็นผู้เสียสละ) ชีวิตเด็กก็จะดีขึ้น การศึกษาดีขึ้น ซึ่งไม่จริง (หัวเราะ) แต่เรื่องเล่าแบบนี้มันถูกส่งต่อเรื่อยๆ เลยนะ ด้วยความที่มันทัช (touch) ใจคน โรงเรียนคุณทางขึ้นเต็มไปด้วยโคลน คุณต้องขี่มอเตอร์ไซค์อย่างยากลำบากเพื่อขึ้นไปสอนเด็ก ทุกคนดูแล้วซาบซึ้ง แทนที่จะตั้งคำถามว่า ทำไมองค์กรท้องถิ่นไม่มาดูแลทำทางให้ดีๆ หรือทำไมรัฐไม่จัดสรรงบประมาณมา ทำไมเด็กไม่มีเงินเรียนหนังสือ ทำไมการศึกษาไม่ฟรี
การจัดสรรงบประมาณสำหรับโรงเรียนที่ควรทำเป็นอย่างไร?
คิดว่าไม่ควรเอาเงินรายหัวมาเป็นตัวตั้งต้น จากที่เคยถามครูจุ๊ย (กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ) เขาบอกว่าที่ฟินแลนด์ รัฐจะเป็นคนอุดหนุนเงินให้รัฐบาลท้องถิ่น บวกกับการจัดเก็บภาษีในพื้นที่ ซึ่งทำให้ท้องถิ่นจะมีงบประมาณการศึกษาสูงมาก ที่เป็นแบบนี้เพราะ เขาเชื่อว่า ท้องถิ่นเป็นคนใกล้ชิดกับนักเรียน โรงเรียนมากที่สุด ดังนั้นทำให้การจัดการงบประมาณเป็นไปตรงตามความต้องการของโรงเรียน เพื่อทำให้โรงเรียนมีทรัพยากรที่เพียงพอต่อการเรียนรู้ของเด็ก แต่บ้านเราไม่ใช่แบบนั้น บางรครั้งส่วนกลางกลายเป็นคนตัดสินใจมาให้
ผมเคยไปฝึกสอนที่โรงเรียนขยายโอกาส มีเด็กประมาณ 300 คน ในห้องเรียนมีทีวีสองเครื่อง เลยถามครูว่าทำไมมันมีสองเครื่อง เขาบอกส่วนกลางส่งมาให้ ทางโรงเรียนเองก็บอกไม่ได้ว่าต้องการอะไร สุดท้ายก็ทำให้ในห้องเรียนมีทีวีสองเครื่องโดยที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย
เหมือนกับการจัดสรรงบของบ้านเราจะมีส่วนกลาง เขาจะคิดและจัดสรรให้โรงเรียนเองเลย แต่บางทีโรงเรียนต้องการอย่างอื่น เช่น คอมพิวเตอร์ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้เพราะส่วนกลางส่งมาให้แบบนี้
การจัดสรรงบการศึกษาที่ฟินแลนด์ เขาจะแบ่งเป็นสองส่วน คืองบที่ลงไปที่ครอบครัวเด็กโดยตรงหรือนักเรียนโดยตรงกรณีที่โตแล้ว เงินส่วนนี้จึงเป็นค่าเลี้ยงดู ค่าครองชีพพื้นฐานให้ทุกคนอย่างถ้วนหน้า ประกอบกับมีสวัสดิการอื่นๆ เช่น กรณีเป็นนักเรียนมีการลดค่าเดินทาง 50 % ห้องสมุดฟรี ตรวจรักษาพยาบาลฟรี รวมถึงหากมีการเดินทางมาโรงเรียนเกิน 5 กิโลเมตร รัฐต้องเป็นคนจัดสรรค่ารถรับส่งให้ เป็นต้น และงบสำหรับโรงเรียน ซึ่งท้องถิ่นจะเป็นคนจัดการส่วนนี้เอง ก็เลยทำให้โรงเรียนไม่ต้องมาแข่งกันเพราะท้องถิ่นเป็นคนดูแลอยู่แล้ว ดังนั้นโรงเรียนและท้องถิ่นร่วมจัดการงบประมาณของตัวเองได้ ผ่านสภาท้องถิ่น
พูดง่ายๆ มันก็ล็อคสเป็กไปเลยว่าโรงเรียนต้องได้เหมือนกันหมด แต่ถ้าให้ท้องถิ่นดูแล โรงเรียนนี้ต้องการทีวี โรงเรียนนี้ต้องการคอมพิวเตอร์ โรงเรียนก็บอกท้องถิ่นได้ว่าฉันต้องการสิ่งนี้ๆ มันก็ทำให้โรงเรียนถูกพัฒนาได้ตรงจุด
การมีรัฐสวัสดิการมันช่วยซับพอร์ตเด็กอย่างไร?
คิดว่าอย่างแรก เด็กไม่ต้องกังวลว่าวันนี้มาโรงเรียนแล้วฉันเก็บเงินไปกินข้าวแค่มื้อเที่ยงดีไหม ไม่ต้องกังวลเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจครอบครัวตัวเองขณะเรียนหนังสือ เพราะเราก็ไม่รู้หรอกเห็นแค่เด็กนั่งเรียนในห้อง แต่เบื้องหลังเขามันมีเงื่อนไขที่บีบหรือส่งผลต่อการเรียนของเขา
เช่น บางคนมาถึงมานั่งหลับ เราถามว่าทำไม? เด็กตอบก็เมื่อคืนไปช่วยพ่อเฝ้าสนามฟุตบอลถึงห้าทุ่ม หรือบางทีมาโรงเรียนสายเพราะเมื่อเช้าเด็กต้องไปช่วยพ่อขายของ ถ้ามันมีรัฐสวัสดิการ เด็กก็ไม่ต้องรับภาระ เขาจะได้โฟกัสกับการเรียน กับสิ่งที่เขาอยากทำในชีวิต มันคือเงื่อนไขแรกที่ทำให้ปากท้องอิ่มได้ มั่นคงได้โดยไม่กระทบการเรียน
แต่มายเซ็ตของสังคมไทยยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องความกตัญญู เด็กกตัญญู โตไปจะได้ดี
เราอยู่ในสังคมที่รัฐผลักให้ประชาชนดิ้นรนกันเอง ใครแข็งแรงกว่า มีต้นทุนเยอะกว่า คุณก็อยู่รอดได้ สิ่งหนึ่งมันเลยเรียกร้องให้เราต้องกตัญญูมากๆ ต้องช่วยเหลือดูแลพ่อแม่นะ ต้องหางานที่ทำให้คุณได้เงินเยอะๆ เป็นสังคมที่ไม่ทำให้เรารู้สึกมั่นคงอะไรสักอย่างเลยในชีวิต มันมีภาระเงื่อนไขในชีวิต โตขึ้นไปต้องทำงานเป็นข้าราชการ ต้องทำนู่นทำนี่เพื่อให้มีสวัสดิการที่มั่นคงเอามาให้พ่อแม่ เอามาเลี้ยงตัวเอง มันเป็นสังคมที่เรียกร้องความกตัญญูสูงมาก
กลับกันถ้าเราไม่ต้องมีเงื่อนไขพวกนี้ คือมีรัฐสวัสดิการ มันจะเปลี่ยนความหมายของคำว่ากตัญญูเลยนะ เป็นความรัก ความเอ็นดู ความเอาใจใส่ในอีกแบบที่เราไม่ต้อง… ฉันต้องดูแลคุณ เพราะคุณเลี้ยงฉันมา
ในอีกมุมหนึ่งถ้าเรามีรัฐสวัสดิการ เราก็จะไม่ต้องเห็นนักเรียนต่อสู้เพื่อแย่งชิงทุนที่มีจำกัด เพราะทุกคนจะเข้าถึงการศึกษาได้
เราเคยถามเด็กเหมือนกันนะว่า ทำไมไม่ขอทุนเรียนละ เด็กจะบอกว่าให้คนที่จนกว่าหนูเถอะ คือทุกคนไม่อยากถูกแปะป้ายหรือเรียกว่าเป็นเด็กยากจนจากสายตาเพื่อน เพราะมันเป็นเรื่องของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ยิ่งเด็กม.ปลาย ทำงานหลังเลิกเรียนหนักมาก บางทีเราสอนเสร็จไปเดินห้างเจอเด็กทำงาน ถามว่าทำงานเสร็จกี่โมง ห้าทุ่ม เราถามต่อว่าทำงานแบบนี้ได้เงินยังไงบ้าง เขาบอกว่าหักลบค่าใช้จ่ายแล้ว เงินก็แทบไม่เหลือเก็บ แต่ก็ต้องทำเพราะอย่างน้อยจะได้มีเงินมาใช้ได้บ้าง
ตัวโรงเรียนก็มองเห็นปัญหานี้ ก็จะมีทุนที่ถูกจัดมาให้ เช่น จากผู้ใจบุญ มีผู้ใหญ่เอาตังค์มาให้ คำถามคือใครจะได้เงินส่วนนี้ อะ…เธอเรียนเก่ง เธอก็จะได้ แต่ถ้าเก่งไม่พอ เธอก็ต้องเป็นคนดีถึงจะได้ทุนนี้ แต่เด็กที่ความสามารถทั่วๆ ไป ก็ไม่ได้
แล้วทุนก็จะมีจากภาครัฐด้วย เช่น ของ กสศ.(กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) คุณอยากได้ทุนใช่ไหม? ให้ครูไปสำรวจบ้านสิว่าจนแค่ไหน ยังไม่พอนะ เราต้องมาแข่งกันว่าใครจะได้อยู่ลำดับ (ranking) ที่ได้เงินก่อน พูดง่ายๆ คือแข่งกันว่าใครจนกว่า แสดงความจนให้เยอะที่สุด พอแข่งกันแบบนี้ก็จะมีเด็กที่ไม่ได้ และมีเด็กที่ได้ มีเด็กที่โรงเรียนผมคนหนึ่ง ที่ปรึกษาเขาก็ไปสำรวจบ้าน ครูเขาก็ประเมินกันแล้วเด็กคนนี้ควรได้ทุน แต่ปรากฎบ้านเด็กมันมีทีวี ตู้เย็น พอมากรอกในระบบมันก็บอกว่าไม่ได้ เพราะเด็กมีทีวี มีสิ่งของในเงื่อนไข สุดท้าย ครูเลยไปลบทีวี ตู้เย็นออก เด็กก็ได้ทุนไป มันกลายเป็นระบบ ranking ความจน เหมือนเล่นเกมวิ่งแข่งกันเพื่อดูว่าใครจนสุดแล้วก็จัดลำดับ แล้วคุณก็ได้เงินตรงนั้นไป
ในเมื่อทรัพยากรมีจำกัด เราก็ต้องให้คนที่ขาดแคลนที่สุดสิ
เวลาบอกว่างบจำกัด อยากให้ตั้งคำถามนะว่าจำกัดเพราะอะไร? ถ้าเพราะได้งบมาเท่านี้เลยทำให้จัดสรรไม่พอ ก็เลยต้องมีโควต้า จัด ranking ความจนเด็ก ถ้าพูดแบบนี้ก็ถูกเพราะมีเงินไม่พอ แต่สิ่งที่เราอยากชวนให้เห็นคือ เราต้องมองไปให้ไกลถึงตัวงบประมาณของประเทศ มากกว่าแค่ดูงบที่เขาจัดสรรงบมาแล้ว เช่น งบต่างๆ มันถูกจัดสรรยังไงบ้าง
ลองจินตนาการดูว่า ถ้าสังคมเราบอกว่าทุกคนคือเพื่อนร่วมชาติ ถึงเวลาเล่นเกมเก้าอี้ดนตรี ดึงเก้าอี้ออก ใครนั่งไม่ทันก็ตายไป แต่ถ้าเราจินตนาการใหม่ ในเมื่อทรัพยากรน้อยลง แต่ถ้าเราเชื่อว่าเพื่อนร่วมชาติเราต้องได้นั่ง ต้องไม่มีใครตาย ไม่ว่าเก้าอี้จะเหลือ 9 ตัวหรือ 1 ตัว แต่มีคน 10 คน ทุกคนต้องนั่งบนเก้าอี้นี้ได้ โดยที่สังคมจะดูแลทุกคน ถ้ารัฐไม่ปล่อยให้ทุกคนตาย 10 คนก็ต้องหาวิธียืนให้ได้แหละ แต่สังคมไทยเราไม่ใช่แบบนั้นไง
อีกอย่างคือพอไม่มีรัฐสวัสดิการ ทำให้ใครมีเงินก็สามารถเลือกโรงเรียนที่มีคุณภาพให้ลูกได้
ผมเคยอ่านที่ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค สรุปข้อมูลจาก OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ Organization for Economic Co-operation and Development) เขาก็บอกเหมือนกันว่า โรงเรียนในไทยไม่มีความหลากหลายทางภูมิหลังของเด็ก ทางชนชั้น พูดง่ายๆ คือเด็กที่อยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่ ที่ดีหน่อย ก็จะมีภูมิหลังที่คล้ายๆ กัน มีฐานะใกล้เคียงกัน แต่ถ้าในสังคมรัฐสวัสดิการจะมีภาพความหลากหลายสูงมาก ห้องเรียนเดียวกันจะเต็มไปด้วยนักเรียนที่มีความแตกต่างเชื้อชาติ สถานะทางเศรษฐกิจ เป็นต้น ซึ่งมันทำให้เขาเติบโตไปพร้อมกับการมองเห็นเพื่อนร่วมสังคม
ครูพลคิดยังไงกับสิ่งๆ นี้
มันก็ฝังมายเซ็ตเราว่าถ้าอยากได้การศึกษาที่ดี คือ คุณต้องมีเงินลงทุน มันกลายเป็นเรื่องปกติของสังคม เราเลยเห็นชัดว่า แม้กระทั่งในโรงเรียนเดียวกัน การเข้าถึงทรัพยากรก็ต่างกันแล้ว ตัวอย่างที่เห็นชัดเลยคือห้องพิเศษ (gifted) กับ ห้องธรรมดา เด็กที่ผู้ปกครองมีกำลังจ่ายสูง ก็ได้เข้าห้องเรียนที่มีคุณภาพ มีห้องเรียนที่ติดแอร์ โต๊ะสีสันสดใส มีครูต่างชาติสอน เป็นต้น โรงเรียนก็เลยเป็นเสมือนพื้นที่ทางชนชั้นอย่างชัดเจน
แล้วเวลาเราสอนสองห้องนี้จะเห็นความแตกต่างเลย สมมติสอนเด็กเรื่องแรงงาน ถ้าเป็นเด็กห้องทั่วไป เขาจะมีประสบการณ์หรืออะไรบางอย่างที่เด็กจะลิงก์กับสิ่งนี้ได้ง่ายมาก แต่พอเราสอนห้องเด็ก gifted บางครั้งเขาก็จะจินตนาการไม่ออก แต่เด็กเขาก็ค่อยๆ เรียนรู้ไปนะ แต่มันทำให้เห็นว่าเวลาเรา approach ไปในห้องเรียนที่เด็กมีภูมิหลังต่างกัน มันเห็นความแตกต่างชัดเจน
ถ้ามีการจัดสรรงบการศึกษาที่ควรบวกกับมีรัฐสวัสดิการที่ดี ชีวิตของเด็กคนหนึ่งจะเป็นอย่างไร?
อย่างแรก เขาจะมีเวลาไปทำสิ่งต่างๆ ที่เขาอยากทำ สมมติเขาอยากไปทำงานหลังเลิกเรียนก็ได้ ถ้าเขารู้สึกว่าสิ่งนี้มันสนุก เขาอยากทำ หรือเขาชอบการ์ตูน อยากวาดการ์ตูน แต่ใช้เวลาหลังเลิกเรียนหรือวันหยุดไปพัฒนาฝีมือ หรือบางคนอยากทำช่องยูทูปก็จะมีเวลาทำ ผมมองว่าบ้านเรามันไม่มีบรรยากาศแบบนี้ สภาพแวดล้อมมันไม่เอื้อให้เกิดขึ้น โดยคอนเซปต์ทุกคนไม่ควรต้องกังวลว่า วันนี้ฉันจะมีกินไหม? จะทำยังไงให้ชีวิตฉันมั่นคง จริงๆ มันควรเป็นสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนรู้สึกว่า ‘ฉันอยากทำสิ่งที่ฉันทำได้’
เอาง่ายๆ เด็กที่แทบไม่มีเงินจะเรียน ในใจเขาคงคิดทุกวันว่า วันนี้ฉันจะทำงานๆๆ แต่ถ้าวันหนึ่งมันมีรัฐสวัสดิการให้ทุกคนถ้วนหน้า เด็กคงคิดในเซนส์ที่… เอ๊ะ วันนี้ฉันสนใจสิ่งนี้ ฉันจะไปทำอันนี้ ทำให้ศักยภาพคนๆ นั้นมันเติบโตได้ ทำในสิ่งที่เขาอยากเป็นจริงๆ
หรือบางคนอยากเต้น สิ่งหนึ่งที่โรงเรียนทำได้มากสุด คือ มีพื้นที่ให้เขาฝึกเต้น แต่ถามว่าถ้าเขาอยากไปไกลกว่านั้นล่ะ? มันเป็นไปได้ยากนะในสังคมแบบนี้ แต่ถ้ามันมีต้นทุนหรือมีอะไรสนับสนุนเขา ไม่แน่เด็กอาจใช้ทรัพยากรพวกนี้ในการทำในสิ่งที่เขาอยากทำ อาจจะไปเข้าคอร์สที่ทำให้เขาพัฒนาทักษะการเต้นได้
พ่อแม่หลายคนพยายามบอกลูกว่าต้องเป็นข้าราชการนะ ตัวผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่โดนแบบนี้เลย แม่บอกตลอดว่า เป็นข้าราชการสิจะได้มั่นคง ทำให้เราเข้าใจเลยว่าทำไมเด็กหลายคนถึงเป็นซึมเศร้า เครียด ทำไมพ่อแม่ไม่เข้าใจตัวเขา อาจเพราะด้วยความที่พ่อแม่ก็โตมาในสังคมที่มันไม่ได้มีความมั่นคง และเขาเห็นช่องทางเดียว คือ ข้าราชการ ช่องทางเดียวที่เขาจะได้รัฐสวัสดิการดีๆ หลายครอบครัวเลยกดดันให้ลูกไปทำข้าราชการ หรือทำอะไรก็ได้ที่ต้องได้เงินเดือนสูงๆ สุดท้ายเด็กหลายคนเครียด ฆ่าตัวตาย หรือรู้สึกว่าเรียนไป พอจบก็ เนี่ย เอาใบปริญญามาให้แม่แล้ว ต่อไปนี้จะไปทำตามความฝัน อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้น คือ เรากำลังเรียนอยู่บนความฝันของพ่อแม่
แสดงว่ารัฐสวัสดิการ ทำแค่ภาคการศึกษาไม่ได้
ผมว่าไม่ได้ เอาง่ายๆ เรื่องขนส่งสาธารณะแบบพื้นฐานเลยนะ การที่เด็กคนหนึ่งจะไปโรงเรียน อย่างเด็กโรงเรียนผมบางคนต้องเสียค่าวินมอเตอร์ไซค์ไป-กลับ 40 บาทต่อวัน แถมบางคนนั่งวินมอเตอร์ไซค์เสร็จต้องต่อรถเมล์ไปโรงเรียนอีก 20 กว่าบาท มันสะท้อนให้เห็นเลยว่าขนส่งสาธารณะที่สามารถโอบอุ้มทุกคนให้ไปไหนได้โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเงื่อนไข ไม่ได้เกิดจริงๆ หมายความว่ามีเด็กจำนวนไม่น้อยที่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางขนาดนี้ เด็กหลายคนต้องยอมตื่นตั้งแต่ตีห้าเพื่อนั่งรถไปอีกฟากของเมืองเพื่อมาโรงเรียน เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า
กลับกัน ถ้าเรามีโรงเรียนใกล้บ้านที่ดี เด็กก็ไม่ต้องถ่อมาเรียนไกลๆ คุณอาจเดินไปเรียนก็ได้ หรือถ้ารัฐมีเส้นทางคมนาคม การขนส่งที่ดี ที่ทุกคนใช้ได้ ไม่ต้องขูดรีดตัวเองขนาดนั้น รถก็อาจไม่ต้องติด เราก็ไม่ต้องเสียเวลาชีวิตไปกับการนั่งรถวันหนึ่งเยอะๆ คุณได้ใช้ชีวิตได้ไปทำอย่างอื่น
สุดท้ายแล้วเราอยากให้คุณพลช่วยวาดภาพให้ดูได้ไหมว่า ถ้าบ้านเรามีรัฐสวัสดีการ คุณภาพชีวิตของคนในสังคมจะเป็นอย่างไร?
อย่างแรก ที่ฟินแลนด์เด็กทุกคนเกิดมาสิ่งแรกที่เขาจะได้รับเหมือนกัน คือ กล่องใบหนึ่งที่บรรจุเสื้อผ้า หนังสือนิทาน เบาะนอน ฯลฯ แต่ที่ประเทศไทยไม่ใช่ทุกคนจะได้ คนที่ได้คือคนที่มีต้นทุนไปซื้อของพวกนี้ด้วยตัวเอง แต่ถ้าเรามีรัฐสวัสดิการ เด็กทุกคนได้รับการจัดสรรแบบนี้ตั้งแต่แรก เชื่อว่าทุกคนจะมีต้นทุนสำคัญในการพัฒนาตัวเองได้ตั้งแต่เริ่มแรกก่อน
สอง รัฐสวัสดิการเท่ากับการมีเวลาว่าง พ่อแม่จะมีเวลาดูแลลูก ใช้ชีวิตกับเขา ทุกวันนี้ถ้าบางครอบครัวต้องทำงานเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน กว่าจะเดินทางกลับบ้านก็ทุ่มถึงสองทุ่ม คำถามคือเขาจะเอาเวลาไหนดูแลลูก? สร้างปฏิสัมพันธ์กับลูก ถ้าในทางกลับกันเรามีรัฐสวัสดิการที่ดี คุณก็อาจจะทำงานสัก 5 – 6 ชั่วโมง ก็ได้กลับบ้านแล้ว แถมกลับบ้านด้วยขนส่งสาธารณะที่ดีด้วย ไม่ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงๆ มีเวลาดูแลลูกเพิ่มขึ้น ความเครียดอะไรต่างๆ ก็จะคลี่คลายลง ได้ใช้ชีวิตของตัวเอง
ผมว่ารัฐสวัสดิการนี่เรื่องพื้นฐานเลยนะตั้งแต่เกิดจนตาย คิดอยู่บนฐานว่าทำยังไงให้คนได้ใช้ชีวิตจริงๆ