- เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เป็นปัญหาซับซ้อนที่โยงกับเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัวจนแทบแยกออกจากกันไม่ได้ การหาทางออกโดยแก้ปมในทุกมิติจึงเป็นทางเดียวที่จะแก้ไขเด็กหลุดวนซ้ำได้
- แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันใน เวทีรายงานผลการศึกษาเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษาปี 2566 โดยศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา เพื่อวิเคราะห์จากข้อมูลและลงลึกแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด
- เมื่อเด็กไม่มีความพร้อมในการใช้ชีวิตพื้นฐาน การศึกษาก็จะกลายเป็นภาระที่ผู้ปกครองต้องแบกรับ และหาทางออกด้วยการดึงบุตรหลานออกจากระบบการศึกษาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว
เด็กไทยมีอัตราการเกิดน้อยลง แต่หลุดออกจากระบบการศึกษามากขึ้น
ปรากฏการณ์เหล่านี้เป็นปัญหาที่ซับซ้อน โยงใยทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม และครอบครัว ดังนั้นการทำให้เด็กคืนเข้าสู่ระบบแบบเดิมๆ อาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสําหรับเด็กทุกคนอีกต่อไป
เพื่อสำรวจแนวทางที่เป็นรูปธรรมในการแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา หลายหน่วยงานจึงได้นำข้อมูลจากการศึกษาวิจัยมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันใน เวทีรายงานผลการศึกษาเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษาปี 2566 โดยศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา กสศ. ร่วมกับ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หน่วยปฏิบัติการวิจัยเพื่อการพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ ที่จัดขึ้น ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่ผ่านมา
โอกาสนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็น ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร. สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์และผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชนและครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร. สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน อาจารย์ประจำสาขาวิชาสถิติและวิทยาการข้อมูลการศึกษา ภาควิชาวิจัยและจิตวิทยาทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มรดกความยากจน ปัญหาวนซ้ำของเด็กที่หลุดออกจากระบบ
การแก้ไขปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบนั้นไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการศึกษาอย่างเดียว แต่ยังเชื่อมโยงไปถึงเรื่องเศรษฐกิจและสภาพความเป็นอยู่ของเด็กและครอบครัวด้วย เพราะเมื่อเด็กไม่มีความพร้อมในการใช้ชีวิตพื้นฐาน การศึกษาก็จะกลายเป็นภาระที่ผู้ปกครองต้องแบกรับ และหาทางออกด้วยการดึงบุตรหลานออกจากระบบการศึกษาเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว
“พอมีปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ ครอบครัวของเด็กก็จะคิดว่า จะไปเอาเวลาไหนที่จะไปยุ่งกับเรื่องการศึกษา ในเมื่อเรื่องปากท้องยังดูแลไม่ได้”
อาจารย์สมพงษ์ วิเคราะห์ว่าปัจจัยด้านครอบครัวมีเป็นส่วนสำคัญ โดยอ้างอิงผลการศึกษาของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษาว่า จากการสำรวจที่ผ่านมานั้น มีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาถึง 238,707 คน ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากความยากจน ทำให้เด็กจำเป็นต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยเหลือพ่อแม่ทำงาน ซึ่งโดยรวมมีสาเหตุมาจากทั้งครอบครัวและระบบของโรงเรียน
“เด็กกลุ่มที่หลุด(จากระบบการศึกษา) เพราะระบบครอบครัวนั้นได้รับผลกระทบจากมรดกความยากจน แล้วก็ผลของการที่พ่อแม่ตกงาน เรียกว่าเป็นความยากจนทับซ้อน ทำให้เด็กไม่สามารถจะทำให้ตัวเองให้หลุดพ้นจากกับดักความยากจนตามลําพังได้ ซึ่งถ้าไม่มีใครช่วยเขาก็ต้องอยู่ในวงจรความยากจนต่อไปอย่างแน่นอน” อาจารย์สมพงศ์ กล่าว
ดังนั้นเรื่องปากท้องความเป็นอยู่ และนโยบายของรัฐบาลที่เป็นความหวังทางด้านเศรษฐกิจ จึงเป็นวงล้อสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาได้ เพราะการเมืองนั้นเดิมพันอยู่กับชีวิตและอนาคตของเด็กนับแสนคน
โดยกลุ่มที่ครอบครัวยากจนนั้นมีรายได้ต่ำลงกว่าเดิมถึงร้อยละ 5 ซึ่งคาดการณ์ว่ายังต้องคงอยู่ในสภาวะนี้ราว 3 ปี กว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นตามสภาพเศรษฐกิจ
“สถานการณ์ตอนนี้คือ ครอบครัวขัดสน รายได้ลดลง แต่ภาวะการศึกษานั้นมีทั้งค่าใช้จ่าย ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเสื้อผ้า หรืออะไรอีกมากมาย และสิ่งหนึ่งที่เราจะต้องเผชิญกับมันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การส่งต่อความยากจนจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่ง และ ‘การวนซ้ํา’ ของการออกจากระบบการศึกษาซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งการวนซ้ำเกิดขึ้นถึง 82 เปอร์เซ็นต์ของเด็กที่หลุดออกจากระบบ เพราะเด็กก็ต้องออกจากโรงเรียนไปช่วยงานพ่อแม่วนไปเรื่อยๆ
ข้อมูลชุดหนึ่งที่น่าสนใจมากคือ เด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน 50-70 เปอร์เซ็นต์ ออกในช่วงประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษา แล้วพอเรามาดูระดับการศึกษาของพ่อแม่ของเด็กก็พบว่า พ่อแม่ก็ช่วงจบประถมกับมัธยมเหมือนกันเลย เพราะฉะนั้นจึงเป็นการส่งต่อความยากจนจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่รุ่นหนึ่ง การวนซ้ำเกิดขึ้นแรงและหนักหน่วงมาก ในช่วงรอยต่อที่กําลังขาดรัฐบาลอยู่ในขณะนี้
ส่วนประเด็นเรื่องการเรียนฟรี เรามีพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ 2545 ใครไม่ส่งลูกเข้าเรียนการศึกษาภาคบังคับ ถูกปรับหนึ่งพันบาท ใครที่ทําให้เด็กไม่ได้รับการศึกษา ถูกปรับหนึ่งหมื่นบาท แต่ทําไมเรามีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาบังคับเป็นแสนๆ คน”
โดยเฉลี่ยแล้วเด็กหนึ่งคนจะมีค่าใช้จ่าย 17,832 บาท ต่อปี หากเป็นเด็กในกรุงเทพฯ จะมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยประมาณ 37,000 บาท ต่อปี ซึ่งถ้าผู้ปกครองมีรายได้ต่อปีต่ำกว่าค่าใช้จ่ายทางการศึกษาของลูก ก็บ่งชี้ได้ชัดว่าจะเกิดหนี้สินอย่างแน่นอน
“ตัวอย่างที่เราเห็น เช่น ค่าเครื่องแบบลูกเสือเนตรนารี คิดเป็นเงินประมาณ 900-1800 บาท ซึ่งนับเป็นค่าใช้จ่ายที่หนัก ผู้ปกครองก็ชักหน้าไม่ถึงหลังกันทั้งนั้น ยิ่งถ้าลูกเรียนต่อระดับม.ปลาย หรืออาชีวะ ค่าใช้จ่ายก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยแล้วหากลูกเรียนต่อในระดับที่สูงกว่าการศึกษาภาคบังคับ ก็จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 40,000 – 70,000 บาท ต่อปี ขณะที่ครัวเรือนยากจนมีรายได้เฉลี่ยเพียง 12,528 บาท ต่อปี เท่านั้น
เพราะมีทั้งค่าธรรมเนียมเข้าโรงเรียน ค่าชุดนักเรียน ค่าหนังสือและอุปกรณ์การเรียน ค่าเดินทาง และค่าใช้จ่ายไม่ประจำต่างๆ อีกมากมาย แล้วผู้ปกครองจะหาทางออกอย่างไร เขาก็ต้องกู้เงินนอกระบบ เพราะนั่นคือทางออกเดียวของเขา นี่ก็เป็นตัวที่ทับชีวิตของเด็กลงไปอีก เพราะครอบครัวมีภาระหนี้สิน”
ดังนั้น หากกล่าวถึงปัจจัยที่ส่งผลต่อการหลุดจากระบบการศึกษาของเด็ก สามารถสรุปได้ดังนี้
- มรดกความยากจน – ไม่มีทรัพย์สินเป็นของตัวเอง และไม่มีพื้นที่ทำกินที่จะส่งต่อให้ลูกหลาน
- Mindset ของครอบครัว – ไม่เห็นความสำคัญของการศึกษา, ขาดความกระตือรือร้นในการทำมาหากิน, ส่งต่อชุดความรู้ความยากจนสู่ลูกหลาน
- ปัญหาครอบครัว – ภาวะพึ่งพิง เนื่องจากสมาชิกในครอบครัวไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้, การใช้ความรุนแรงในครอบครัว, พ่อแม่แยกทาง ทอดทิ้ง และละเลยบุตร, เด็กตกอยู่ในหลุมดำทางความคิดว่าชีวิตไม่สามารถเปลี่ยนได้
- ปัญหาของเด็ก – ความเจ็บป่วยและพิการ, ความสามารถและความพร้อมในการเรียนรู้จำกัด, การติดยาเสพติด, ภาวะเด็กหลังห้อง
- การเข้าไม่ถึงสวัสดิการพื้นฐาน – ด้านสาธารณูปโภค, ด้านสิทธิการรักษาพยาบาล, ด้านสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง
- ปัญหาการเรียนและการวัดประเมินผล – เรียนไม่จบหลักสูตร, ติด 0 ติด ร, ไม่มีสิทธิ์สอบ, ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม
“เด็กแสนกว่าคนที่หลุดจากระบบการศึกษา ถ้าเราไม่รีบดึงกลับ หรือไม่ช่วยเหลือ เขาจะหลุดถาวร และถ้าคุณดึงเขากลับต้องมีมาตรการรองรับ เช่น มีครูคอยเยี่ยม ติดตาม มอนิเตอร์ คอยให้ข้อมูล กระตุ้น ให้กําลังใจ หาทุนการศึกษาให้ หรือหางานให้เขาทําระหว่างเรียน
เราลงไปในหลายพื้นที่นะ อบต. เขาก็รู้ปัญหาว่าพ่อแม่ของเด็กเหล่านี้ไม่มีงานทํา เขาก็จ้างมาตักกับข้าวอาหารกลางวัน ช่วยทํานู่นทํานี่วันละร้อยบาทสองร้อยบาท มันพออยู่ได้ ถ้าเราไม่ช่วยคนกลุ่มนี้ เขาดึงลูกเขาออกแน่นอน เพราะว่ามันมีค่าใช้จ่ายทุกวัน แต่เขารายได้เขาไม่แน่นอน จึงต้องปฏิรูปให้ได้จริง ช่วยได้จริง”
สำหรับทางออกที่อาจารย์สมพงษ์เสนอว่าจะสามารถแก้ปัญหาได้จริง คือ
- แก้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มาตรการส่งเสริมให้พ่อแม่มีงานทำ มีรายได้
- เรียนฟรีต้องฟรีจริง ลดช่องว่างนโยบายเรียนฟรี การเข้าถึงสวัสดิการ สวัสติการต้องครอบคลุมทุกช่วงชั้นและทุกรูปแบบการศึกษา
- การศึกษาที่มีหลายลู่หลายระบบ/ออกแบบเป็นรายบุคคล (ขั้นพื้นฐาน, อาชีวะ, ทางเลือก)
- หลักสูตรการเรียนรู้ต้องสอดคล้องกับผู้เรียนมากขึ้น
- แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านคุณภาพการศึกษาในเมืองและชนบท
ถอดบทเรียนจากโครงการช่วยเหลือทางการศึกษา
นอกเหนือจากการวิเคราะห์ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาทั่วประเทศโดยรวมแล้ว อาจารย์สุรศักดิ์ เก้าเอี้ยน ได้วิเคราะห์ลงลึกไปยังกลุ่มเด็กที่อยู่ในโครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา โดยอ้างอิงจากผลการวิจัยเมื่อปี 2565 ที่ทีมของคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ เข้าไปถอดบทเรียน เพื่อชวนดูว่าอะไรคือสาเหตุของปัญหา และหาทางออกว่าจะไปต่ออย่างไร
“ที่ผ่านมาเราเห็นแต่สาเหตุแต่ยังไม่มีคำตอบเลยว่าเราจะไปต่ออย่างไร เราอาจจะเห็นข่าวที่เด็กอยู่ในภาวะวิกฤตที่ขาดแคลนรายได้ และมีสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่มีคุณภาพเท่าที่ควร
แต่ก่อนอื่นต้องทําความเข้าใจว่า เรานิยามเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษานั้นว่า เป็นกลุ่มที่กําลังอยู่ในระบบการศึกษา มีอายุไม่เกินยี่สิบห้าปีบริบูรณ์ และก็มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา
อีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษา ที่หลุดออกไปแล้วยังไม่ถึงปี ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เรากําลังจะให้ความช่วยเหลือ และกําลังเริ่มต้นดําเนินงาน มีทั้งหมดห้าพื้นที่คือ กรุงเทพมหานคร ราชบุรี พิษณุโลก ขอนแก่น และยะลา เราทดลองเป็นพื้นที่นําร่อง ที่ทางศูนย์วิกฤตได้ดําเนินการให้ทุนไป รวมเบ็ดเสร็จทั้งหมดตอนนี้มีน้องที่อยู่ในความช่วยเหลือดูแลของศูนย์ 858 คน
น้องๆ ในโครงการส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของเด็กประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งกลุ่มที่มากที่สุดคือประถมศึกษา น่าแปลกใจมากว่ากลุ่มนี้ ก็เป็นกลุ่มที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ ตามพระราชบัญญัติการศึกษา จึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าทําไมเขาถึงเป็นกลุ่มแรกๆ ที่มีโอกาสในการเสี่ยงหลุดออกมาจากระบบการศึกษา
โดยเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เลยคือ มีปัญหาเรื่องของค่าเดินทาง ซึ่งบางเคสก็ไม่สามารถเดินทางมาโรงเรียนเองโดยการเดินเท้าได้ และบางเคสที่อยู่กับคุณตาคุณยายที่รับเบี้ยผู้พิการ เบี้ยผู้สูงอายุ ก็จะมีเงินมาพอจุนเจือทางด้านนี้ แต่ปัญหาคือพอเขาจ่ายตรงนั้น เขาก็จะไม่มีเงินกินข้าว
อีกทั้งยังมีค่าดูแลสุขภาพ เช่น บางเคสมีปัญหาเรื่องสุขภาพ พิการตั้งแต่กำเนิด หรือมีภาวะมะเร็งเม็ดเลือดขาว เขาก็ต้องเอารายได้ของครอบครัวไปจุนเจอรักษาตัวเองก่อน เพราะชีวิตสำคัญกว่า ซึ่งพอมีปัญหาเรื่องความเป็นอยู่ ครอบครัวของเด็กก็จะคิดว่า จะไปเอาเวลาไหนที่จะไป ยุ่งกับเรื่องการศึกษา ในเมื่อเรื่องปากท้องยังดูแลไม่ได้”
ครอบครัวและเศรษฐกิจ วิกฤตที่ต้องก้าวข้าม
สาเหตุของการเกิดความเสี่ยงในการหลุดออกจากระบบการศึกษาพบว่า 3 ใน 4 ของเด็กที่อยู่ในโครงการ เจอปัญหาหรือว่ามีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าหนึ่งสาเหตุในเวลาเดียวกัน ซึ่งอาจารย์สุรศักดิ์ชี้ว่า สาเหตุ 2 ประการ ที่เกิดขึ้นพร้อมกันนั่นคือ สาเหตุจาก ‘ครอบครัว’ และ ‘เศรษฐกิจ’
จากข้อมูลของโครงการศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตทางการศึกษา เด็กในภาวะวิกฤตส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับญาติหรือครอบครัวแหว่งกลาง (ครอบครัวที่มีพ่อหรือแม่คนใดคนหนึ่ง) บางส่วนอาศัยเพียงลำพัง หรือเลี้ยงดูโดยผู้อื่น รวมแล้ว 585 คน (ประมาณร้อยละ 70 ของเด็กทั้งหมดในโครงการ) ซึ่งข้อมูลนี้ก็สะท้อนถึงปัญหาครอบครัวในสังคมไทยที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก
ส่วนในด้านเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ครอบครัวผู้รับทุนโดยฉลี่ยแล้วพบว่า มีรายได้หลักร้อยแต่หนี้สินหลักหมื่น เพราะรายได้ของครัวเรือนอยู่ที่ 900 บาท/เดือน/คน ในขณะที่หนี้สินอยู่ที่ 40,000 บาท/ครัวเรือน หรือคิดเป็นหนี้สินสูงกว่ารายได้ ประมาณ 45%
“แต่เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของความยากจนอย่างเดียวเท่านั้น เพราะยังเกี่ยวข้องกับ mindset ของครอบครัว เนื่องจากมีครอบครัวที่อยากปรับความคิดเพื่อหลุดพ้นจากความยากจนน้อยมาก ส่วนใหญ่มองว่าไม่สามารถจะหลุดจากสภาพที่เป็นอยู่ได้ จึงกลายเป็นมรดกความยากจนที่ยากที่จะแก้ไข ดังนั้นสองปัญหานี้ก็ถูกผสมผสานกันกลายเป็นสาเหตุหลักที่จะทําให้เด็กหลุดจากระบบการศึกษา
เมื่อเด็กตกอยู่ภายใต้วิกฤตในการศึกษา ทุนของเราที่ให้ไป เป็นเพียงแค่ลูกโป่งที่ช่วยพยุงเท่านั้น แต่ไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะปัญหามันยังไม่ถูกแก้
จากการทดลองโมเดลที่พิษณุโลกได้ผลมาว่า การส่งเสริมอาชีพของผู้ปกครองต่างหาก ที่เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ทำให้ครอบครัวเขามีรายได้
แต่โมเดลนี้ก็พบปัญหาอีกขยักหนึ่งคือ เรื่อง mindset ของผู้ปกครอง นี่เป็นอุปสรรคใหญ่เลย เพราะบางครอบครัวเคยชินกับการได้รับ จนไม่พยายามจะขวนขวายตนเองเพื่อจะหลุดพ้นจากความยากจนนั้น นี่จึงเป็นจุดหนึ่งที่เราน่าจะต้องลงไปวินิจฉัยก่อนว่าครอบครัวนั้นๆ พร้อมจะออกจากความยากจนไหม และต้องทางออกให้เขา
ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่มิติทางการศึกษา แต่เราต้องลงไปช่วยดูแลครบทุกมิติ ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาคส่วนต่างๆ เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าทุนไม่ได้ช่วยเหลือเพียงแค่ด้านการศึกษาเท่านั้น แต่ช่วยไปทําให้เขาพร้อมที่จะเข้าสู่การศึกษาได้ด้วย โดยการทําให้เขาพร้อม เพื่อตัดปัญหาเด็กหลุดจากการศึกษาซ้ําๆ” อาจารย์สุรศักดิ์ กล่าว
โดยสรุปแล้ว ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษาคือ การที่ผู้ปกครองมีความสามารถในการอุปการะด้านการศึกษาลดลง อันเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจและฐานะของครอบครัว ซึ่งนอกเหนือจากการมอบทุนการศึกษาแล้ว ภาครัฐควรจะส่งเสริมอาชีพให้กับกลุ่มผู้ปกครองที่มีรายได้ต่ำ เพื่อที่จะมีรายได้จุนเจือครอบครัว และมีความสามารถในการอุปการะด้านการศึกษาแก่บุตรหลาน
รวมทั้งผลักดันในการสร้างเส้นทางการศึกษาใหม่ๆ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นจากที่การศึกษามีเพียงแค่เส้นเดียวตามระบบนั้น ทำให้เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาแล้วหลุดออกไปเลย ไม่สามารถที่จะกลับเข้ามาเรียนตามระบบได้ หรือมีความยากลำบากที่จะกลับเข้ามาสู่ระบบ
รัฐจึงต้องสร้างโอกาสให้เด็กที่อยู่นอกระบบกลับเข้ามาในระบบให้ได้ โดยมีระบบป้องกันให้เด็กไม่หลุดซ้ํา เพื่อที่จะลดปริมาณเด็กที่หลุดออกจากการศึกษาลง และทำให้เด็กทุกคนได้รับโอกาสทางการศึกษากันถ้วนหน้า ไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะเช่นไรก็ตาม