- รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แลกเปลี่ยนมุมมองในงานเปิดตัว ‘สวนผึ้งโมเดล’ ใน ‘โครงการ Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านกลไกจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education) และเพื่อช่วยเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาหรือกำลังที่จะหลุดออกนอกระบบได้กลับมาเรียนอีกครั้ง
- เด็ก Drop out หรือ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือปัญหาเรื้อรังของการศึกษาไทยที่ต้องเร่งแก้ไข โดยประเทศไทยนั้นมีเด็กกว่า 400,000 คน ที่หลุดออกจากระบบการศึกษาทุกๆ ปี ซึ่งก็ยิ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำในประเทศที่มากอยู่แล้วนั้นมากขึ้นกว่าเดิม จึงต้องเร่งแก้ปัญหาตั้งแต่ที่ต้นเหตุ
- ปัจจัยหลายอย่างทั้งสภาพแวดล้อม ฐานะเศรษฐกิจของครอบครัว หรือแม้แต่ความแตกต่างทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม ทำให้เด็กเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา จึงเกิดโรงเรียนนำร่อง ‘สวนผึ้งโมเดล’ เช่น โรงเรียนสินแร่สยาม และโรงเรียนรุจิรพัฒน์ ที่มีการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับผู้เรียน และออกแบบการเรียนรู้ให้เด็ก ‘เรียนรู้อย่างมีความสุข’
“ไม่มีอะไรที่เลวร้ายต่อการศึกษาเท่าการมีความรู้สึกที่เป็นลบต่อการศึกษา อันนี้อันตรายมากเพราะมันจะฝังเป็นนิสัยต่อไปในวันข้างหน้า การศึกษานั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้เรียนรู้สึกสนุกต่อการศึกษา มีความรู้สึกที่เป็นบวกกับมัน เราอยากเห็นการใช้พื้นที่การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคุณภาพเด็ก เด็กต้องมีความสุขในการเรียน ไม่อย่างนั้นจะยากต่อการให้เกิดประสิทธิผลจากการเรียนได้”
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา แลกเปลี่ยนมุมมองในงานเปิดตัว ‘สวนผึ้งโมเดล’ ใน ‘โครงการ Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน’ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูปแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำผ่านกลไกจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area-based Education)
The Potential ชวนไปศึกษาดูงานภาคสนามแนวทางการออกแบบการเรียนรู้และการทำงานร่วมกันในพื้นที่ระหว่างโรงเรียนซึ่งเป็นสถานศึกษาที่จะช่วยพัฒนาเด็ก ชุมชน และผู้ปกครอง เพื่อช่วยเด็กที่หลุดออกนอกระบบการศึกษาหรือกำลังที่จะหลุดออกนอกระบบได้กลับมาเรียนอีกครั้ง กับคอนเซปต์ ‘เรียนดีมีสุข’ พาเด็กกลับเข้าเรียน ซึ่งสวนผึ้งเป็นอำเภอแรกในประเทศไทยที่นำร่องโมเดลนี้
‘Zero Dropout’ แก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา
เด็ก Drop out หรือ เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือปัญหาเรื้อรังของการศึกษาไทยที่ต้องเร่งแก้ไข รศ.ดร.วรากรณ์ ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันตัวเลขของเด็ก dropout อยู่ที่ราวๆ 400,000 คน จากจำนวนเด็กในประเทศไทยซึ่งประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็น 5-7 เปอร์เซ็นต์ แม้ตัวเลขอาจจะดูไม่มากนัก แต่รศ.ดร.วรากรณ์ ย้ำว่าประเทศไทยนั้นเป็นประเทศที่เหลื่อมล้ำอยู่แล้ว หากมีเด็ก 4 แสนคนในทุกๆ ปี หลุดออกไปจากระบบการศึกษา ยิ่งจะทำให้โมเมนตัมของความเหลื่อมล้ำหนักยิ่งขึ้น เพราะฉะนั้นจึงต้องตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ทำอย่างไรให้คนอยู่ในระบบการศึกษาอย่างน้อย 9 ปีของการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับอย่างเท่าเทียม
“สิ่งสำคัญที่เปลี่ยนสังคมเราในทุกเรื่องโดยเฉพาะปฏิรูปการศึกษา ทุกคนต้องมาร่วมกันปรับ mindset หรือสิ่งที่ฝังอยู่ในใจเราเอง ทำอย่างไรให้คนเห็นว่าการศึกษาของชาติสำคัญ และมายเซ็ตของภาคเอกชนก็สำคัญเช่นกัน”
แล้วทำไมโครงการ zero dropout ต้องเลือกจังหวัดราชบุรี ศุเรนทร์ ฐปนางกูร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ชี้ว่าราชบุรีเป็นตัวแทนของบริบทประเทศไทยได้ดี
“เพราะไม่ได้มีแค่เฉพาะโรงเรียนชายขอบที่เรามาทำงานอยู่ตรงนี้ โรงเรียนในสวนผึ้ง เป็นโรงเรียนตามแนวตะเข็บชายแดน ซึ่งสภาพปัญหาบริบทก็จะเป็นเด็กนักเรียนแล้วก็พ่อแม่ที่ยากจน แล้วก็กลุ่มเด็กชาติพันธุ์ แต่ในขณะเดียวกันราชบุรีก็มีตัวแทนของโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีตัวแทนของโรงเรียนที่เป็นโรงเรียนกึ่งเมืองกึ่งชนบท เป็นโรงเรียนที่มีตัวแทนของพ่อแม่ที่มีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก”
สำหรับปัญหาเด็ก dropout มีการศึกษาวิจัยในเชิงปฏิบัติงานทั่วประเทศพบว่ามาจากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็กมีปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือในกลุ่มชายขอบก็มักจะเป็นเรื่องชาติพันธุ์ การเรียนรู้ภาษาที่สอง นอกจากนี้ยังมีเรื่องกายภาพ ปัญหาสุขภาพ ไปจนถึงการเรียนรู้ที่ถดถอยหรือแม้กระทั่งกลุ่มเด็ก Dropout ที่มีปัญหาเฉพาะ เช่นต้องย้ายตามพ่อแม่ไปทำงานที่ต่างๆ ทำให้เด็กต้องย้ายโรงเรียน และไม่สามารถที่จะเรียนได้อย่างสม่ำเสมอ
“เราเข้าใจสภาพบริบทของโรงเรียนชนบทค่อนข้างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงปัญหาโควิด-19 เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นปัญหาอันหนึ่งตอนที่เด็กๆ มาเรียนไม่ได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เราทราบกันดีอยู่ว่าในชนบทอย่างนี้ เด็กๆ มีข้อจำกัดสูงมากในการเรียนออนไลน์ เพราะฉะนั้นเด็กอยู่บ้านความถดถอยของการเรียนรู้เรียกว่าเกิดปัญหาอย่างรุนแรงมากเลย โดยเฉพาะในบริบทของสวนผึ้ง”
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดเป็นโมเดลทดลองโมเดลหนึ่งที่มีความเชื่อว่า “จริงๆ แล้วการศึกษาเป็นหน้าที่ของคนทุกคน” และเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการ ‘อาสาสมัครการศึกษาหมู่บ้าน’ ล้อกับคอนเซปต์ของอาสาสมัครสาธารณสุข โดยการอาสาของคนในหมู่บ้านที่พอจะพูดอ่านเขียนภาษาไทยได้ หรือภาคเอกชนที่มีจิตอาสา เพื่อที่จะเข้าไปช่วยสนับสนุนการเรียนรู้ในหย่อมบ้านช่วงที่มีโควิด-19
“คีย์เวิร์ดสำคัญในกลไกอาสาสมัครเป็นกลไกที่ต้องบอกว่าการศึกษามันไม่ใช่การผลักภาระ เราอย่าผลักภาระนี้ไปให้คุณครูในโรงเรียนเพียงอย่างเดียว มันเป็นหน้าที่ของคนทุกคน อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่คิดว่าจะเป็นกลไกหนึ่งที่จะขับเคลื่อนในวงการศึกษานี้ได้”
บทบาทของมหาวิทยาลัยในการคัดกรองความเสี่ยงของเด็กที่จะหลุดออกนอกระบบการศึกษานั้น อาจารย์ศุเรนทร์ มองว่า ระบบฐานข้อมูลของกระทรวงดีอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงการวิเคราะห์ว่า ภายใต้ข้อมูลเหล่านั้นมีปัญหาอะไรซุกซ่อนอยู่หรือไม่ นี่เป็นบทบาทหนึ่งที่นักวิชาการจะเข้ามาช่วยเสริมทัพโรงเรียนได้
“ถ้าเราหาความสัมพันธ์ของข้อมูลชุดต่างๆ เหล่านี้มันอาจจะระบุกลุ่มเสี่ยงของเด็กได้ในระดับหนึ่ง และคนที่รู้ข้อมูลของเด็กดีที่สุดคือคุณครู คุณครูจะทราบเลยว่าเด็กคนไหนมีความเสี่ยงคนไหนมีโอกาสที่จะออก แต่ว่าข้อมูลตรงนี้มันไม่ถูกสังเคราะห์ออกมาในภาพรวม แล้วก็ไม่สามารถที่จะนำไปสู่การวางแผนในเชิงระบบได้”
อย่างไรก็ตามภายใต้การทำงานของโจทย์ใหญ่โจทย์นี้ ลำพังโรงเรียนอย่างเดียวคงไม่พอ จำเป็นต้องร่วมมือกันระหว่างชุมชน ผู้ปกครอง โรงเรียน และหน่วยงานที่รับผิดชอบฟังก์ชั่นต่างๆ กลไกการประสานเชื่อมโยงจึงเป็นกลไกสำคัญมาก ในการช่วยขับเคลื่อนให้เกิดเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้
โรงเรียนนำร่อง ‘สวนผึ้งโมเดล’
การเรียนรู้ที่ถดถอย เศรษฐกิจครัวเรือน และสภาพแวดล้อมของการเรียนรู้ที่หลากหลาย ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้เด็กเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยเฉพาะฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัว ความแตกต่างทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม เช่นโรงเรียนในพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนชายขอบที่มีพื้นที่ติดต่อกับแนวตะเข็บชายแดน
โรงเรียนสินแร่สยาม เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ใช้แนวทางการออกแบบการเรียนรู้ผ่านการส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับเด็ก ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญที่กระตุ้นให้พวกเขาอยากเรียนรู้มากกว่าการเค้นให้ต้องท่องจำบทเรียนเพื่อสอบอย่างเดียว
“ในการออกแบบการเรียนรู้ ‘เรียนรู้อย่างมีความสุข’ เราก็ได้ทำความเข้าใจกับครูว่า เราต้องออกแบบห้องเรียนให้เหมาะสมกับเด็กทุกคน เพราะในภาพรวมของโรงเรียนสินแร่สยามตามที่เรารวบรวมข้อมูลมา นักเรียนจะประสบปัญหาในเรื่องของการเรียน การอ่านออกเขียนได้ที่ต้องเน้น และก็ในเรื่องของเศรษฐกิจ รวมถึงสภาพแวดล้อม” ภาณุพงศ์ มุ่นพลาย ผู้อำนวยการโรงเรียนสินแร่สยาม พูดถึงการเริ่มออกแบบการเรียนรู้ที่เด็กๆ จะได้เรียนดีอย่างมีความสุข
เมื่อโรงเรียนมีข้อมูลที่เป็นสภาพปัญหาและอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กรายคนแล้ว จึงนำมาออกแบบการเรียนรู้เป็น ‘ห้องเรียนเพื่อเด็กทุกคน’ และเพื่อแก้โจทย์ปัญหาที่เด็กกำลังเผชิญใน 3 ประเด็นสำคัญ ประเด็กแรกการเรียนรู้ที่ถดถอยของเด็ก ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงต่อการออกนอกระบบนั้น ผอ.ภาณุพงศ์เล่าว่า การแก้ไขปัญหานี้เน้นพัฒนาตั้งแต่ต้นน้ำนั่นก็คือ การพัฒนาครู หนุนเสริมให้ครูหาเทคนิควิธีการในการจัดการศึกษาให้กับเด็กในพื้นที่ชายขอบอย่างเต็มที่ ภายใต้โจทย์ที่ว่า “ทำอย่างไรให้เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข ทำอย่างไรให้เด็กอ่านออกเขียนได้”
“เมื่อนักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุขก็จะอยากมาโรงเรียน ในเมื่อเรียนทันเพื่อนก็อยากจะมาเรียน การจัดกิจกรรมคุณครูจัดกิจกรรมให้เด็ก active leaning ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติจริง เด็กก็จะเกิดทักษะและความเข้าใจมากขึ้น”
เรื่องของเศรษฐกิจก็เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เด็กเสี่ยงออกนอกระบบ ซึ่งที่โรงเรียนสินแร่สยามใช้กิจกรรม ‘โครงงานอาชีพ’ ในโรงเรียน เช่น บาริสต้าน้อย, การเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรียน, แปลงเกษตร, ตัดผม ‘สินแร่บาร์เบอร์’ เป็นต้น เมื่อถึงสิ้นปีการศึกษาเด็กๆ ก็จะได้รับเงินปันผลจากกิจกรรมโครงงานอาชีพนี้ด้วย
และประเด็นที่สาม ในส่วนของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลให้เด็กของโรงเรียนสินแร่สยามเสี่ยงออกนอกระบบ ไม่ว่าว่าจะเป็นเรื่องฐานะความเป็นอยู่ของครอบครัว หรือจะเป็นความรุนแรงในครอบครัว
“โรงเรียนมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่ครูจะลงไปเยี่ยมบ้านเด็กร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว ครูลงไปก็เป็นมิตรกับผู้ปกครอง ลงไปคุย ไปทำความเข้าใจ คุยในรายละเอียดต่างๆ ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษา เพื่อให้ผู้ปกครองอบอุ่นใจ เด็กมาโรงเรียนเจอคุณครูที่น่ารัก เอ็นดูเด็ก ดูแลเด็กดี ลูกเขามาโรงเรียนแล้วปลอดภัย ตรงนี้เขาก็ส่งเสริมให้ลูกเขามาโรงเรียน เด็กที่ขาดเรียนหรือไม่มาเรียนเราก็สามารถคอนแทคกับผู้ปกครองได้ เราก็จะทราบข้อมูลอยู่ตลอด เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ เหล่านี้ เป็นขั้นตอนหรือเป็นกระบวนการที่โรงเรียนได้ดำเนินการมา ก็ประสบความสำเร็จสำหรับการติดตามนักเรียนที่เสี่ยงออกนอกระบบให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ”
นอกจากนี้ด้านกายภาพของโรงเรียนก็สำคัญ การมีห้องเรียนที่มีอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีเพียงพอและสอดคล้องกับโลกปัจจุบัน รวมถึงครูมีเทคนิคการสอนที่ดีก็สามารถจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายและตอบโจทย์ผู้เรียนได้
อีกหนึ่งโรงเรียนที่ถูกพูดถึงในโครงการนี้คือ โรงเรียนรุจิรพัฒน์ เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา เริ่มที่ระดับอนุบาลไปจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่ 90 เปอร์เซ็นต์มีเชื้อสายกะเหรี่ยง กะหร่าง และพม่า อีก 10 เปอร์เซ็นต์ที่เหลือเป็นคนไทย และเมื่อใช้แว่นขยายค่อยๆ ตรวจตราสภาพปัญหาและอุปสรรคที่มีผลกระทบในการเรียนรู้ของเด็ก ไปจนถึงทำให้เด็กคนหนึ่งเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ดร.พจนพร จิตเจริญทวีโชค ผู้อำนวยการโรงเรียนรุจิรพัฒน์ ก็พบว่า
“ปัญหาที่เจอคือเด็กที่นี่ช่วงบ่ายๆ จะโดดเรียน พอเขาเจอผอ.เขาก็วิ่งหนี เราก็บอกว่ามาคุยกับผอ.ก่อน ถามเขาว่าทำไมถึงโดดเรียน เขาก็บอกว่า เขาเบื่อ เรียนไม่รู้เรื่อง ฟังไม่รู้เรื่อง เลยไม่อยากเรียน แต่ก็ไม่กลับบ้านนะ ไปแอบนั่งคุยกันอยู่ที่ป่าแถวๆ โรงเรียนนี่แหละ เพราะกลับบ้านไปก็ไม่รู้จะกลับไปทำไม บ้านก็ยากจน มาโรงเรียนยังได้เล่น ได้กินอาหารกลางวัน ได้มีเพื่อน มีคนมาแจกของ อันนี้คือความสุขของเด็ก”
“เรื่องเรียนไม่ต้องพูดถึงไม่หลับก็หนี ก็เลยเป็นปัญหาที่เอามานั่งคิด ก็ถามเด็กว่าถ้าไม่อยากเรียนอยากทำอะไร เขาก็ไม่ตอบ ไม่ตอบงั้นก็เขียนมา เขาก็บอกบอกอยากทำกิจกรรม อยากปลูกผัก อยากเลี้ยงปลา ซึ่งไม่มีเรื่องการเรียนเลย”
การพบกันคนละครึ่งทางระหว่างครูกับนักเรียนจึงเป็นทางออกที่ผู้อำนวยการโรงเรียนรุจิรพัฒน์ใช้ในการดึงเด็กๆ ให้กลับมามีความสุขและสนุกกับการเรียนอีกครั้ง โดยจัดให้ตามคำขอที่ปรารถนา “เด็กอยากเรียนอะไรต้องได้เรียน” แต่มีข้อแม้ตัวใหญ่ๆ เลยว่า “เธอต้องเรียนด้วยนะ” ซึ่งสิ่งที่เด็กๆ อยากเรียนจะถูกจัดให้อยู่ภายใต้กิจกรรมชุมนุม โดยร่นตารางเรียนคาบสุดท้ายของแต่ละวันมาเป็นชุมนุมต่างๆ เช่น ตัดผม เสริมสวย ศิลปะ และเกษตร เป็นต้น
“เราต้องค่อยๆ ปูพื้นให้เขา ไม่ได้เอาวิชาการมาก เหมือนให้เขาได้เล่นไปด้วยและเขาก็ได้ความรู้ไปด้วยจากกิจกรรมของชมรมต่างๆ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเราก็จะเปลี่ยนชั่วโมงสุดท้ายมาเป็นชุมนุม เด็กก็มาเรียนมากขึ้น แล้วก็มีความสุข”
เมื่อครูสังเกตเด็กมากขึ้นและพยายามเข้าใจโลกของเขา จะทำให้ครูได้รู้จักเด็กมากขึ้น รู้ปัญหา และความต้องการของเขา จากนั้นจึงหากิจกรรมที่ผลักดันให้เด็กได้ใช้ศักยภาพที่มีอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็เสริมด้านสมองหรือวิชาการไปด้วย ซึ่งก็จะต้องเป็นการเรียนรู้ที่เป็น active leaning ที่ให้เด็กได้ลงมือทำ
“ส่วนเด็กที่ออกกลางคันก็พยายามไปตามกลับมา บางคนก็มีครอบครัวแล้ว ก็แนะนำให้เรียนกศน. แต่ถ้าใครอยากจะกลับเข้ามาเรียนอีกก็กลับมาได้นะ แต่บางคนมาแล้วออกอีก 3-4 รอบ ผอ.ก็บอกว่าพอแล้ว เวลาของเธอหมดแล้ว ผอ.ให้เธอสามครั้งเกินพอแล้ว เธอไปเรียนกศน.ดีกว่า คือเราต้องวิเคราะห์ตลอดเวลา แล้วเราก็ต้องเข้าถึงเขา เราออกเยี่ยมบ้านตลอด ดูแลเรื่องของทุนการศึกษาด้วย
“เราเน้นให้เขาแข่งกับตัวเอง แต่ก็ต้องช่วยเพื่อนด้วย คือเราจะเน้นเรื่องคุณธรรมไปด้วย เราภูมิใจที่เด็กของเรามีอนาคต เขาไม่ได้เก่งวิชาการแต่เขาเก่งทักษะชีวิต โดยเฉพาะในเรื่องของอาชีพ”
นอกจากนี้ยังมีการปรับหลักสูตรให้สอดคล้องกับผู้เรียน ซึ่งโรงเรียนรุจิรพัฒน์ได้ปรับหลักสูตรเป็น ‘โรงเรียนทักษะอาชีพ’ เชื่อมโยงกับอาชีวศึกษา เพื่อให้เด็กได้ทั้งการเรียนรู้ ทักษะอาชีพ และรายได้ ซึ่งนี่เป็นอีกหนึ่งแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้เด็กๆ อยากมาเรียน อย่างที่ได้เน้นย้ำกันเสมอมาว่า หากเด็กๆ อยากเรียนต้องได้เรียน และเรียนอย่างมีความสุข