- ‘นโยบายการศึกษา’ นับเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนแรงที่หลายภาคส่วนอยากให้รัฐบาลแก้ไขและผลักดัน เพราะระบบการศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาในทุกด้าน
- ชวนคุยกับ อาจารย์บะหมี่-ก้าวกรณ์ สุขเสงี่ยมกุล อาจารย์โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง เกี่ยวกับปัญหาของระบบการศึกษาไทยและความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงที่ควรจะเป็นนับจากนี้ ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะได้รัฐบาลใหม่
- สิ่งที่อยากให้รัฐบาลในอนาคตอันใกล้ผลักดันและแก้ปัญหาโดยด่วน มี 3 เรื่องคือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา, สิทธิเด็ก และสวัสดิภาพของครูอาจารย์ เพราะนี่คือ ‘ปมปัญหา’ สำคัญที่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนการศึกษาไทย
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ‘นโยบายการศึกษา’ นับเป็นหนึ่งในประเด็นร้อนแรงที่หลายภาคส่วนอยากให้รัฐบาลแก้ไขและผลักดัน เพราะระบบการศึกษาถือเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาในทุกด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชน
ในวาระที่ประเทศไทยกำลังจะได้รัฐบาลใหม่ The Potential ชวน อาจารย์บะหมี่-ก้าวกรณ์ สุขเสงี่ยมกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมศึกษา และหัวหน้าฝ่ายกิจการนักเรียน โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง คุยถึงปัญหาของระบบการศึกษาไทยและความคาดหวังต่อการเปลี่ยนแปลงที่ควรจะเป็นนับจากนี้
นอกจากจะเป็นอาจารย์มากว่า 8 ปี อาจารย์บะหมี่-ก้าวกรณ์ สุขเสงี่ยมกุล ยังเป็นที่รู้จักในฐานะแกนนำสำคัญผู้ผลักดันการแก้ไขกฎระเบียบทรงผมของนักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง โดยยึดหลัก ‘สิทธิเสรีภาพเด็ก’ เป็นสำคัญ
หากสรุปอย่างรวบรัด อาจารย์บะหมี่มองว่านโยบายการศึกษาในปัจจุบันยังไม่ตอบโจทย์อะไรหลายๆ อย่าง รวมถึงมีปัญหายิบย่อยมากมายที่ควรได้รับการแก้ไข แต่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลในอนาคตอันใกล้ผลักดันและแก้ปัญหาโดยด่วน มี 3 เรื่องคือ ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา, สิทธิเด็ก และสวัสดิภาพของครูอาจารย์ เพราะนี่คือ ‘ปมปัญหา’ สำคัญที่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนการศึกษาไทย
“ผู้ใหญ่หลายคนอาจจะชอบพูดว่า ‘เธอเป็นเด็ก เธอต้องฟังฉัน เพราะฉันผ่านมาแล้ว’ เรามองว่าผู้ใหญ่ควรจะต้องรับฟังสารที่เขาอยากส่งมาถึงเรา หน้าที่เราคือรับฟังและร่วมกันกับเขาเพื่อพัฒนาชาติและสังคมให้น่าอยู่ขึ้น”
นอกเหนือจากการแก้ปมปัญหาแล้ว ควรปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตย และเปิดโลกทัศน์ให้กับเด็กในเรื่องสังคมและการเมือง โดยเปิดกว้างให้นักเรียนตั้งคำถาม ไม่จำกัดความคิด รวมถึงครูและผู้ปกครองควรเป็น ‘พื้นที่ปลอดภัย’ ให้กับนักเรียน เพราะหากผู้ใหญ่ในวันนี้ปูทางสร้างสังคมไว้ดี ลูกหลานในวันหน้าก็จะสามารถเติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพในอนาคต
“เราไม่ได้อยู่กับเขาตลอดไป เพราะวันหนึ่งพ่อแม่ก็ต้องตายจากลูกไป แต่ลูกจะต้องเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนี้ต่อไปในอนาคต”
อาจารย์บะหมี่ มองว่านโยบายทางการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
คิดว่ายังไม่ตอบโจทย์อะไรหลายอย่าง แต่อยากให้เร่งแก้ 3 เรื่องใหญ่ๆ คือเรื่องความเหลื่อมล้ำ สิทธิเด็ก และสวัสดิภาพของครูอาจารย์
ในเรื่อง ‘ความเหลื่อมล้ำ’ มองว่าปัญหาตอนนี้คือ มีจำนวนนักเรียนไปเทไปสอบเข้าที่โรงเรียนใหญ่ๆ หรือโรงเรียนดังค่อนข้างมาก เด็กที่สอบไม่ติดโรงเรียนดัง หรือโรงเรียนประจำจังหวัด จึงต้องเรียนในโรงเรียนที่อาจจะมีคุณภาพหรือความพร้อมที่น้อยกว่า กลายเป็นว่าทำให้เกิดปัญหาถัดมาคือ เกิดการแข่งขันสูงในการสอบเข้าโรงเรียน
ทีนี้ถ้ามีเด็กที่ไม่สามารถแข่งขันกับคนอื่นไหว แต่ผู้ปกครองอยากลูกให้เข้าโรงเรียนจะทำอย่างไร นั่นก็นำมาสู่ปัญหาถัดมาคือ การฝากเด็กเข้าโรงเรียน มีวัฒนธรรมเงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินใต้โต๊ะ ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือการคอรัปชั่นอย่างหนึ่ง
จะดีกว่าไหมหากภาครัฐสร้างนโยบายที่ทำให้มาตรฐานการศึกษาของทุกโรงเรียนในไทยมีคุณภาพเท่ากัน ทำให้ทุกโรงเรียนมีความพร้อม เพื่อให้เด็กได้รับการศึกษาที่เท่าเทียมกันและไม่เหลื่อมล้ำกัน และทำให้คำว่า ‘เรียนที่ไหนก็ได้’ หรือ ‘เรียนที่ไหนก็เหมือนๆ กัน’ เป็นจริงให้ได้
ส่วนในเรื่อง ‘สิทธิเด็ก’ เราก็มองว่าควรจะมีนโยบายที่ไม่จำกัดสิทธิเสรีภาพเด็ก
นี่เป็นเรื่องที่เราผลักดันมาโดยตลอด เพราะว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิในร่างกายของตัวเอง อย่าง Hot Issue ที่เกิดขึ้นในสังคมตอนนี้คือเรื่องทรงผมและการแต่งกาย ถ้าทุกคนมองเป็นโจทย์เดียวกัน ตัวตั้งต้นเดียวกันว่าด้วยเรื่อง ‘สิทธิเด็ก’ เราก็ต้องทำยังไงก็ได้ให้ไม่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของเด็กนักเรียน
ถ้าย้อนกลับไปดูรัฐธรรมนูญ หมวด 1 มาตรา 4 มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในร่างกายของตนเอง ตลอดไปจนถึงหมวด 3 ที่เป็นหมวดของประชาชน และตั้งแต่หมวด 25 เป็นต้นไป บอกว่ามนุษย์ทุกคนมีสิทธิในการประกอบอาหาร ประกอบอาชีพ ในการเลือกศาสนา หรืออะไรก็ตามแต่ เพราะฉะนั้นถ้าโจทย์ของครู โรงเรียนทั้งประเทศ และรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการเป็นโจทย์เดียวกันคือ การไม่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของเด็ก เราก็ต้องตั้งกฎที่ไม่แย้งกับรัฐธรรมนูญและไม่แย้งกับอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยลงนามร่วมเป็นสมาชิก
ถ้าทำได้เราจะไม่มีปัญหาตรวจผม ไม่ต้องตั้งกฎกติกากับเด็กว่าเราต้องไว้ผมทรงนี้ เราปล่อยให้เด็กได้เลือกของเขาเอง แล้วมันจะไม่มีปัญหาเรื่องครูมากร้อนผมเด็กอีก ซึ่งมันจะลดภาระของกระทรวงศึกษา ของโรงเรียนและของครูไปอีกเยอะเลย
เหมือนกับที่โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองได้ผ่อนคลายกฎระเบียบเรื่องทรงผม?
เราเป็นโรงเรียนแรกๆ ที่เสรีด้านระเบียบทรงผม ซึ่งในตอนที่เข้ามาเป็นครูใหม่ๆ ยังไม่สามารถมีปากมีเสียงได้มาก เราเองเป็นคนที่ถือกรรไกรตัดผมเด็กด้วยตัวเองด้วยซ้ำ แม้ว่าในใจจะรู้สึกขัดแย้งกับสิ่งที่ทำอยู่ ทำให้ระเบียบผม กลายเป็นสิ่งที่คิดตลอดเลยว่า ‘อย่าให้ถึงเวลาของเราละกัน เราจะเปลี่ยนให้ได้’
จนตอนปี 2563 ที่ ผอ.วัชราบูรณ์ บุญชู เป็นผู้อำนวยการอยู่ ก็ได้มีการเสนอกฎระเบียบมาที่ทำให้โรงเรียนมัธยมวัดธาตุทองเกิดความเปลี่ยนแปลงจนถึงตอนนี้ เราเสนอว่าให้เป็นการทดลองดู ว่าหากเราให้อิสระกับเด็กในเรื่องนี้จะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ผลสรุปคือเป็นไปในทางที่ดีขึ้น
เพราะถ้าย้อนสมัยเราเป็นนักเรียนมัธยม เราเป็นคนดื้อคนหนึ่ง ที่เห็นการลงโทษจากการผิดกฎระเบียบแล้วรู้สึกขัดแย้งอยู่ในใจ พอเราโตขึ้นมาก็เหมือนเห็นภาพสะท้อนของตัวเอง เลยคิดว่าการที่ครูไปบังคับเด็กก็เหมือนเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของเด็กอย่างหนึ่ง เพราะจริงๆ เด็กเขามีสิทธิในร่างกายของตัวเอง การที่เราไปบังคับไปตัดผม กร้อนผมเด็กแบบนี้ก็ทำให้เขาเสียความมั่นใจ ไม่เป็นตัวเอง
ก่อนหน้านี้ตอนที่ยังมีการตรวจระเบียบผมอยู่ กลายเป็นว่าแต่ก่อนทุกวันจันทร์ต้นเดือนและกลางเดือน นักเรียนหนีแถวเคารพธงชาติกันหมด เข้าสาย เพราะไม่อยากโดนตรวจผม หรือเด็กมีเรียนวิชาสังคมกับเราก็จะโดดเรียน เพราะกลัวเราตรวจผมและจับเขาตัดผม ผลคือเด็กหลายคนก็ติด 0 ติด ร ติด มส. มันมีผลต่อการเรียนของเขาที่ต้องมาตามแก้ แต่พอเราเปลี่ยนกฎระเบียบให้ผ่อนคลายมากขึ้น นักเรียนก็จะไม่ต้องมานั่งเครียด นั่งพะวง และนักเรียนก็ติด 0 ติด ร ติด มส. น้อยลงเพราะเข้าเรียนครบมากขึ้น
ซึ่งโรงเรียนเราตอนแรกก็อ้างอิงกับกฎของกระทรวงศึกษาคือ นักเรียนชายต้องไม่ไว้ผมยาวเกินตีนผม มันก็ไม่จำเป็นต้องให้เขาตัดทรงนักเรียน ขาวสามด้านแบบแต่ก่อน ก็ให้เขาไว้ไม่เกินตีนผมได้ทั้ง 3 ด้าน ส่วนด้านหน้าก็ยาวตามความเหมาะสม ส่วนนักเรียนหญิงก็ไว้ผมยาวได้ แต่ต้องมัดให้เรียบร้อยและติดโบว์โรงเรียน แต่ที่เรายังไม่อนุญาตคือ เรื่องการทำสีผมและการไถผมเป็นลวดลาย
ที่สำคัญคือ เราอนุญาตให้นักเรียนสามารถแต่งตัวตามเพศวิถีของตนเอง เพราะนี่ก็เป็นการยอมรับในตัวตนและสิ่งที่เขาเป็น เราเลยดีใจมากที่หลังจากนั้นมีประกาศจากกระทรวงให้มีเสรีเรื่องทรงผมมากขึ้น และเชื่อว่าในอนาคตจะสามารถให้เสรีทรงผมอย่างแท้จริงได้
เรื่องสุดท้ายที่อาจารย์อยากให้แก้คือ ‘สวัสดิภาพและค่าตอบแทนของครูอาจารย์’ ที่ผ่านมามีปัญหาอย่างไรบ้าง?
คิดว่าเป็นปัญหาเรื้อรังเหมือนกัน หากรัฐไม่แก้ไขเรื่องนี้เราก็จะไม่สามารถพัฒนาระบบการศึกษาให้ไปไกลได้ เพราะเมื่อค่าตอบแทนต่ำ คนก็จะไม่อยากเป็นครู และเกิดปัญหาบุคลากรขาดแคลน รวมถึงครูก็จะขาดแรงจูงใจในการทำงาน
ซึ่งไม่ใช่แค่ครูราชการในระบบที่เจอปัญหานี้ แม้แต่ครูนอกระบบ ครูอัตราจ้าง ที่เขาไม่ได้สวัสดิการเหมือนข้าราชการ นี่คือปัญหาสำคัญ เพราะคนอื่นๆ อาจบอกว่า ครูเป็นข้าราชการก็ได้พรีวิลเลจทั้งเรื่องค่ารักษาพยาบาล หรือหลังเกษียณก็ได้เงินบำนาญ แต่สิ่งที่ทุกคนมองข้ามไปคือเงินเดือนของครูต่ำมากสวนทางกับภาระหน้าที่ของครู ทั้งเรื่องงานสอน งานเอกสาร การอยู่เวร ที่ครูก็ไม่ได้เงินตอบแทนเพิ่มเหมือนอาชีพอื่นที่มี OT
นอกเหนือไปจากนั้นคือรายได้ยังสวนทางกับค่าครองชีพในปัจจุบันมากๆ โดยเฉพาะอยู่ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะถามครูคนไหนก็อยากให้เพิ่มเงินค่าตอบแทนทั้งนั้น อย่างน้อยก็อยากให้เพิ่มเทียบเท่ากับภาระงานที่มี
หากภาครัฐสามารถเพิ่มฐานเงินเดือนครูได้ ก็จะจูงใจให้คนอยากเรียนครูมากขึ้น การแข่งขันสอบเข้าครูเพิ่มขึ้น และจะมีครูเก่งๆ ถูกผลิตออกมามากขึ้น สิ่งนี้ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องครูขาดแคลน และช่วยแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำของคุณภาพโรงเรียน เพราะเด็กจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกันไม่ว่าจะเรียนที่ไหนก็ตาม
แต่จะดีกว่านี้หากเราสามารถทำให้ทุกอาชีพ ไม่ใช่แค่เพียงอาชีพครูเท่านั้น มีเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่อยู่ในระดับพอๆ กัน รวมถึงการเพิ่มเงินเดือน เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในสังคมดีขึ้น ก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน
ในมุมของคนเป็นครู มองว่าเด็กเจน Z มีความตื่นตัวทางการเมืองมากน้อยแค่ไหน?
เรียกได้ว่าเขาตื่นตัวตลอดเวลาได้เลย พอมี Hot Issue หรือประเด็นอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในสังคม ด้วยความที่เราเป็นครูสังคม ก็จะเกิดการตั้งคำถามในชั้นเรียน เช่น ข้อสอบ 4 ข้อ วิชาสาระร่วมสมัยของเราที่เป็นไวรัลอยู่ช่วงหนึ่งในโซเชียล อันนั้นก็เกิดมาจากสถานการณ์ในสังคมที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อสอบ เพราะนี่เป็นสิ่งที่เด็กตั้งคำถาม และเป็นสิ่งที่ชี้วัดว่าเขาตื่นตัวหรือไม่
เช่น วันเข้าพรรษา วันพระใหญ่ของบ้านเรา ร้านสะดวกซื้อจะติดป้ายว่า ‘งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และสุรา’ แต่เด็กที่นับถือศาสนาคริสต์เขาก็ตั้งคำถามว่า ทำไมในวันนั้นคนที่นับถือศาสนาอื่นถึงไม่สามารถซื้อเบียร์มาฉลองวันเกิดได้ เลยมองว่าตอนนี้เราทำให้ประเทศไทยกลายเป็นรัฐศาสนา ไม่เป็น Secular State (รัฐโลกวิสัย โดยรัฐจะแสดงความเป็นกลางในประเด็นศาสนา) กลายเป็นว่าเหมือนเราเอาความเชื่อ หรือข้อบังคับทางศาสนามาผูกพันกับวิถีชีวิตประจำวันและกฎหมาย
หรือแม้แต่เรื่องการลงถนน ประท้วงหรือเรียกร้อง เด็กกลุ่มนี้ถูกมองว่าเป็นนักเรียนเลว เป็นเด็กชังชาติ เราก็นำมาตั้งคำถามว่า คำว่า ‘รักชาติ’ ของเขาคืออะไร เด็กก็เขียนออกมาหลากหลายเลย จริงๆ แล้วเราอยากให้ผู้ใหญ่ปรับมุมมองใหม่ว่า สิ่งที่เด็กเหล่านั้นเขากำลังส่งเสียงหรือเปล่งเสียงอยู่ มันคือวิธีการแสดงออกว่าเขารักชาติ แต่มันเป็นรูปแบบนั้น เพราะในมุมมองเขาเห็นว่า ณ ปัจจุบันนี้ชาติที่เขากำลังอยู่ยังดีไม่พอ
เด็กคือคนของอนาคต ต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ไปอีกหนึ่งชั่วชีวิตของเขา เขามองว่าถ้าประเทศที่เขาอยู่ยังเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตก็จะยังไม่ดี เขาจึงต้องออกมาส่งเสียงและเปล่งเสียง เพื่อให้อนาคตที่ดีขึ้นกว่านี้
ทั้งหมดนี้คือการแสดงออกของเด็กว่าเขารักชาติ และอยากให้ชาติที่เขาอยู่ดีขึ้น เรามองว่านี่คือการตื่นตัวของเด็กยุคปัจจุบัน ที่อยากมีส่วนร่วมกับการเมือง
ผู้ใหญ่บางคนอาจพูดว่า “การเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก” ในฐานะครูเราขอค้านเลย เพราะเราคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน การเมืองอยู่กับเราตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นนอนยันเข้านอน และตั้งแต่เกิดจนตายด้วยซ้ำ แล้วจะมาบอกว่าการเมืองไม่เกี่ยวกับเด็กได้ยังไง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของทุกคน
เราชื่นชมในความกล้าแสดงออกของเด็กยุคนี้ที่เขากล้าคิด กล้าพูด กล้าโต้แย้ง และการแสดงจุดยืนทางความคิด เพราะถ้าเปรียบเทียบกับยุคเราเมื่อ 10 กว่าปีก่อนก็คงไม่สามารถเทียบได้กับความกล้าคิดกล้าแสดงจุดยืนของเด็กเจน Z ในยุคปัจจุบัน ซึ่งเรามองว่าเป็นสิ่งที่ดี
และไม่ได้มองว่าใครเกิดก่อนเกิดหลัง เพราะผู้ใหญ่หลายคนอาจจะชอบพูดว่า “เธอเป็นเด็ก เธอต้องฟังฉัน เพราะฉันผ่านมาแล้ว” เรามองว่าผู้ใหญ่ควรจะต้องรับฟังสารที่เขาอยากส่งมาถึงเรา หน้าที่เราคือรับฟังและร่วมกันกับเขาเพื่อพัฒนาชาติและสังคมให้น่าอยู่ขึ้น
เพราะวันหนึ่งเราใช้ชีวิตถึงจุดหนึ่งก็ต้องจากโลกนี้ไป แต่เยาวชนคือคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศนี้ไปอีกชั่วชีวิตหนึ่ง เราเลยชื่นชมที่เขากล้าแสดงความคิดเห็น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องต้องอยู่บนฐานของเหตุและผลกับข้อเท็จจริง
อยากฝากอะไรถึงพ่อแม่ ผู้ปกครองในการสร้างพื้นฐานประชาธิปไตยให้แก่เด็กบ้างไหม?
จริงๆ แล้วประชาธิปไตยเริ่มต้นได้ตั้งแต่ในครอบครัว ยกตัวอย่างเหตุการณ์ เช่น ครอบครัวหนึ่งที่มีสมาชิก 4 คน กำลังตัดสินใจเมนูข้าวเย็นว่าจะกินอะไรดี แล้วใครจะเป็นคนตัดสินใจเลือกร้านอาหารล่ะ? ใครใหญ่ที่สุดในบ้าน?
ซึ่งเราก็เองก็เคยใช้สถานการณ์นี้มาทำเป็นกิจกรรมในห้องเรียนเหมือนกัน เด็กก็จะตอบว่า แม่เป็นคนเลือก บางบ้านก็บอกว่า พ่อกับหนูเป็นคนเลือกค่ะ
น้อยมากที่พ่อแม่ลูกจะมาออกเสียงร่วมกันว่าแต่ละคนอยากจะกินอะไร ทำไมคนนี้ถึงไม่อยากกินอันนี้ ลองให้พ่อฟังเสียงลูก ลูกฟังเสียงพ่อ พ่อฟังเสียงแม่ ทุกคนรับฟังเสียงซึ่งกันและกัน นี่คือการเริ่มใช้ประชาธิปไตยในครอบครัวแล้ว
แต่ด้วย Generation Gap (ช่องว่างระหว่างวัย) ที่ต่างกัน พ่อแม่กับลูกจึงมีทัศนคติที่ต่างกันเพราะถูกหล่อหลอมมาไม่เหมือนกัน พ่อแม่เกิดและโตเมื่อ 30-40 ปีที่แล้ว ทำให้ทัศนคติเป็นแบบนั้น
แต่เด็กเขาเกิดมาปีนี้ รุ่นนี้ โลกมันหมุนไปอย่างรวดเร็ว ความคิดความอ่านของเขาและกระแสโลกาภิวัตน์มันก้าวไปไกล ทำให้พ่อแม่อาจจะคิดไม่เหมือนลูก ลูกก็คิดไม่เหมือนพ่อแม่
สิ่งสำคัญที่จะทำให้ครอบครัวไปต่อได้ นั่นคือการที่พ่อแม่ลูกพูดคุยกันด้วยความเข้าใจ ต้องเข้าใจความหลากหลายทางความคิดของกันและกัน เพราะสุดท้ายพ่อแม่มีหน้าที่เลี้ยงลูกด้วยความรักความอบอุ่นก็จริง แต่เราเลี้ยงเขาได้แค่ตัว ความคิดและจิตใจเราบังคับเขาไม่ได้ เราไม่ได้อยู่กับเขาตลอดไป เพราะวันหนึ่งพ่อแม่ก็ต้องตายจากลูกไป แต่ลูกจะต้องเป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมนี้ต่อไปในอนาคต
การที่เราจะใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุขต้องเข้าใจกันและกัน พ่อแม่ควรจะเป็นคนที่เข้าใจลูกที่สุด ครอบครัวควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยของลูกๆ เพื่อที่บ้านจะได้เป็นบ้านจริงๆ
โรงเรียนเองก็เช่นกัน ครูควรจะเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แก่นักเรียน ไม่อย่างนั้นเขาจะมีคำพูดว่า ‘ครูเปรียบเสมือนพ่อแม่คนที่สอง’ ทำไม เราก็ต้องทำให้ครูเป็นเหมือนพ่อแม่คนที่สองของเด็กจริงๆ คอยรับฟังความคิดเห็น ถ้อยทีถ้อยอาศัย ดูแลนักเรียนด้วยความรัก ความเข้าใจ และสุดท้ายอยากให้โรงเรียนเป็นอีกพื้นที่ปลอดภัยของนักเรียน
นอกจากบทบาทของครอบครัวและโรงเรียนแล้ว อยากฝากอะไรถึงรัฐบาลในอนาคตบ้าง?
อยากจะบอกว่า ‘โอกาส’ เป็นสิ่งที่มีค่า จงจดจำทุก ‘นโยบาย’ ที่ได้ ‘สัญญา’ กับประชาชนในวันนี้ไว้ แล้วถ้าวันไหนที่ ‘ผิดสัญญา’ ไม่ว่าจะอีก 4 ปี ข้างหน้า หรืออีกกี่ปีไหนๆ ‘คุณจะไม่ได้รับโอกาสนั้นจากประชาชนอีกต่อไป’