- เปิดนโยบายด้านเด็กและเยาวชนของ 5 พรรคใหญ่ ชาติพัฒนา ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ เพื่อไทย และอนาคตใหม่
- โจทย์ใหญ่คือ ปิดเทอมอย่างไรให้สร้างสรรค์ ไม่ต้องตื่นเช้าทุกวันไปเรียนพิเศษ – ทุกพรรคต้องตอบให้ได้
- ความน่าสนใจอยู่ที่ เด็กๆ ที่เข้ามาฟัง ส่วนใหญ่ตอบว่า ปิดเทอมอยากอยู่บ้าน
- พรรคไหนทำการบ้านมาดี หรือ พรรคไหนที่เตรียมตัวมาน้อย เชิญตรวจสอบได้จากรายงานชิ้นนี้
เรื่องและภาพ: อรสา ศรีดาวเรือง
ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเวทีแสดงนโยบายด้านเด็กและเยาวชนและแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ‘มุมมอง New Gen พรรคการเมืองกับเรื่องปิดเทอมสร้างสรรค์’ โดย สสส. เชิญตัวแทนจาก 5 พรรคมาร่วมนำเสนอ ได้แก่ ชาติพัฒนา ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ เพื่อไทย และอนาคตใหม่
พรรคไหนทำการบ้านมาดี หรือ พรรคไหนที่เตรียมตัวมาน้อย เชิญตรวจสอบได้จากรายงานชิ้นนี้
1. พรรคชาติพัฒนา: เยาวภา บุรพลชัย
แนวคิด
- ขจัดความเหลื่อมล้ำ เพราะปัจจุบันเด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาไม่เท่ากัน โดยเฉพาะเด็กยากจนที่มีทางเลือกไม่มาก จึงเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพเพื่อการทำงานในอนาคต อีกกลุ่มหนึ่งคือเด็กพิเศษหรือผู้พิการ ที่มีศักยภาพแต่เข้าไม่ถึงการศึกษา ถ้ามีสถานที่และสร้างบุคลากรที่มีศักภาพได้อย่างทั่วถึง จะสามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้กับเด็กในพื้นที่ห่างไกลได้
- ช่องว่างระหว่างครอบครัว ทุกวันนี้พ่อแม่ต้องแข่งขันกันสูงมากเพื่อหาเงินมาดูแลครอบครัว หลายครอบครัวจึงไม่มีเวลาให้กัน การส่งลูกเข้าโรงเรียนเนิร์สเซอรียิ่งเพิ่มช่องว่างระหว่างครอบครัวและปัญหาสังคมที่ตามมาหลายด้าน ท้องไม่พร้อม ติดเกม ยาเสพติด เด็กแว้น ฯลฯ
นโยบาย
- เด็กไทยสองภาษา สนับสนุนให้มีห้องเรียนดิจิตอลให้เด็กเรียนรู้ภาษาที่ 2 และ 3 เพื่อโอกาสในการศึกษาและประกอบอาชีพในอนาคต
- คุณครูเทคโนโลยี อำเภอละ 1 ล้านบาท เพื่อให้ทุนครูที่มีศักยภาพออกไปเรียนรู้ในระดับสูงขึ้นเพื่อมาพัฒนาท้องถิ่นตนเอง
- นโยบายนักอ่าน นักคิด นักปฏิบัติ และนักนำเสนอที่เก่งกาจ
- นโยบายอุทยานการเรียนรู้และคอร์สเรียนออนไลน์ (Thailand Knowledge Center) ที่เอื้อต่อเด็กทุกชนชั้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา
- Mini Sport Complex จัดกีฬาทั่วทุกอำเภอและ Mini Fitness ทุกหมู่บ้าน เพราะ ‘กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติ’ จึงควรกระจายโอกาสให้ทุกคนได้เข้าถึงกีฬา เพื่อสุขภาพที่แข็งแรงและลดต้นทุนในการรักษาพยาบาล
ทำอย่างไรให้ปิดเทอมสร้างสรรค์
- ผลักดันค่ายเยาวชน และจัดกิจกรรมที่เด็กสนใจ ทั้งกีฬา ดนตรี ศิลปะ ภาษา สิ่งแวดล้อม เสนอกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเด็กในกลุ่มเสี่ยง โดยเปลี่ยนวิกกฤติเป็นโอกาส สร้างพื้นที่ให้เด็กได้เรียนรู้และแสดงออก เช่น หาสถานที่ให้เด็กแว้นได้บิดมอเตอร์ไซค์เพื่อผลักดันให้เป็นนักแข่ง หรือสอนเรื่องเครื่องจักรกลสำหรับตกแต่งมอเตอร์ไซค์“กิจกรรมในช่วงปิดเทอมไม่ควรเป็นเรื่องหนักแต่ควรเป็นสิ่งที่เด็กสนใจ เพราะวัยรุ่นคือช่วงค้นพบตัวเอง และหากเขาได้รับการยอมรับจะรู้สึกถึงคุณค่าในตัวเอง จะเป็นเกราะป้องกันเด็กจากสภาพแวดล้อมที่แย่”
2. พรรคประชาธิปัตย์: พริษฐ์ วัชรสินธุ
แนวคิด
- เด็กไทยสุขภาพเเข็งแรง
- มี 4 ทักษะที่ตอบโจทย์โลกอนาคต นั่นคือทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะสองภาษาเพื่อการเท่าทันข่าวสารและการประกอบอาชีพ ทักษะการใช้ชีวิต และทักษะการใช้เทคโนโลยี
จริยธรรมที่เด็กไทยควรมี เคารพสิทธิของผู้อื่นในระบอบประชาธิปไตยตามนโยบาย ‘แก้จน สร้างคน สร้างชาติ’ เพราะพรรคเชื่อว่าการพัฒนาและลดความเหลื่อมล้ำที่ยั่งยืนที่สุดคือการปฏิรูปการศึกษา เพื่อให้เด็กไทยเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียม
นโยบาย
- โครงการเบี้ยเด็กเข้มแข็ง 1,000 บาท ต่อเดือนสำหรับเด็ก 0-8 ขวบทุกคน เพื่อโภชนาการที่สมบูรณ์ของเด็กไทย
- ลงทุนด้านการศึกษาในระดับปฐมวัย โดยเพิ่มศูนย์เด็กเล็กคุณภาพทั่วประเทศและฝึกฝนบุคลากรครูที่เหมาะสมกับเด็กวัยอนุบาล เพราะเด็กในพื้นที่ชนบทยังเข้าไม่ถึงการดูแลที่มีคุณภาพ
- ปรับปรุงหลักสูตรระดับประถม-มัธยม พลิกบทบาทห้องเรียนจากที่ครูเป็นผู้สอนในห้องเรียน เปลี่ยนเป็นให้การบ้านเด็กไปหาข้อมูลเพื่อนำมาคิดวิเคราะห์และทำงานเป็นทีมในห้องเรียน
- นโยบาย English For All เพื่อฝึกทักษะภาษาอังกฤษโดยการเปลี่ยนจากเน้นเรื่องไวยากรณ์เป็นการให้เด็กกล้าคิดกล้าพูดภาษาอังกฤษ ลดค่านิยมเก่าที่เน้นสำเนียงเพื่อเพิ่มความกล้าให้เด็กมากขึ้น
- นโยบายคืนครูให้นักเรียน นำเทคโนโลยีมาลดการจัดการด้านธุรการในโรงเรียน เพื่อครูจะได้ใช้เวลากับนักเรียนอย่างเต็มที่
- ปรับวิธีการประเมินโรงเรียนและครู โดนเน้นไปที่ผลลัพธ์จากการส่งต่อสู่นักเรียน
- ปรับสัดส่วนการเรียนสายสามัญและสายอาชีพให้สมดุลกัน สัดส่วนการเรียนต่อสายสามัญกับสายอาชีพปัจจุบันอยู่ที่ 70:30 เพื่อรองรับตลาดงาน พรรคจะขยายโครงการเรียนฟรี 15 ปี เป็นเรียนฟรีถึง ปวส. ยกระดับคุณภาพของสถาบันอาชีวศึกษาโดยร่วมมือกับภาคเอกชนและผู้ประกอบการช่วยกันออกแบบหลักสูตร ‘ทวิภาคี’ คือการให้สถานที่ฝึกงาน ให้ครูฝึก และมีสัญญาว่าจ้างรองรับ
- สนับสนุนการศึกษาตลอดชีวิต โดยให้คูปองฝึกทักษะสำหรับผู้ใหญ่ที่มีความต้องการเปลี่ยนสายอาชีพให้เข้าสู่ระบบการศึกษาได้ เพราะการเรียนรู้ถึงแค่อายุ 21-25 ปีนั้นไม่เพียงพอแล้วในโลกปัจจุบัน
- ตั้งกองทุน Smart Education ซึ่งจะมี Social Enterprise และ Startup ด้านการศึกษา รวมถึงการนำเทคโนโลยี EdTech (Education Technology) เพื่อใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอน และการสอบ ให้มีประสิทธิภาพโดยเชื่อมโยงภาครัฐและภาคเอกชนมาช่วยกันพัฒนาระบบการศึกษาผ่านเครื่องมือเทคโนโลยี
- กระจายอำนาจจากส่วนกลาง คืนอำนาจการตัดสินใจให้โรงเรียน สามารถกำหนดการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กและขนาดของพื้นที่ โดยกระทรวงศึกษาฯ มีหน้าที่คำนวณงบประมาณให้เพียงพอต่อจำนวนของเด็กและขนาดของโรงเรียนเท่านั้น
ทำอย่างไรให้ปิดเทอมสร้างสรรค์
- เด็กเล็ก – ใช้เวลากับครอบครัวให้มากที่สุด เพราะสิ่งสำคัญของเด็กเล็กคือความอบอุ่นและการปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่น โดยเพิ่มสถานที่สร้างสรรค์ให้ครอบครัวได้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ไปสวนสัตว์ ไปสวนสนุก เพื่อเปิดโลกให้กับเด็ก และทำอย่างไรให้สถานที่สร้างสรรค์เหล่านี้ครอบคลุมทั่วประเทศโดยการกระจายความเจริญออกไป และทำอย่างไรให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยสามารถเข้าถึงกิจกรรมได้
- ประถม – ค้นพบสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัด โดยการเพิ่มพื้นที่สร้างสรรค์ให้เด็กได้ค้นหาตัวเองทั้งโลกออฟไลน์และออนไลน์ และผลักดันให้สื่อผลิตเนื้อหาที่สร้างสรรค์และดึงดูด เช่น รายการ หนังพาไป และ English Room รวมถึงเปลี่ยนค่านิยมว่าความสำเร็จในชีวิตไม่จำเป็นว่าต้องเก่งเสมอไป ทำลายกรอบนี้เพื่อสร้างความเข้าใจว่าความสำเร็จมีหลายรูปแบบ
- มัธยมและอุดมศึกษา – ให้เด็กมองเห็นอนาคต เช่น โครงการฝึกงานที่มีองค์ประกอบดังนี้ หนึ่ง เด็กต้องได้ทำงานจริงมากกว่าแค่ถ่ายเอกสารหรือชงกาแฟ สอง สร้างความมั่นคงโดยมีสัญญาว่าจ้างหากเด็กทำงานได้ดี
3. พรรคพลังประชารัฐ: ไกรเสริม โตทับเที่ยง
แนวคิด
- การสร้างโอกาส = การสร้างอนาคต หัวใจสำคัญคือ บูรณาการระบบให้เกิดความเท่าเทียม เพราะกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดมีบริบทที่ต่างกัน หลายพื้นที่ในชนบทยังไม่สามารถเข้าถึงระบบการศึกษาขั้นต่ำได้ สาเหตุคือ ภาระของพ่อแม่ ดังนั้น รัฐต้องสนับสนุน และให้เครื่องมือเพื่อสร้างโอกาสทางการศึกษา
- เรียนให้น้อย รู้ให้ตรงจุด และใช้ประโยชน์กับมันได้ ตามวิธีคิดแบบ High Scope ส่งเสริมการเรียนที่ไม่ใช่แค่ท่องจำ ส่งเสริมความสนใจของเด็กเพื่อให้เด็กตอบตัวเองได้ว่าอยากจะเรียนอะไร โดยเริ่มจากสถานรับเลี้ยงเด็ก จุดเริ่มต้นของการพัฒนาและการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
นโยบาย
- ธนาคารเพื่อการศึกษา ต่างจากการกู้ยืมเงิน แต่เป็นกองทุนกู้ยืมให้เยาวชนที่อยากเรียนต่อ โดยวัดจากผลสำเร็จทางการศึกษาของเด็ก จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว เพื่อสร้างระบบหมุนเวียนเงินที่ดีมากกว่าแค่การกู้หนี้ยืมสินนอกระบบของผู้เป็นพ่อและแม่ และให้เด็กได้เข้าไปสู่ระบบการศึกษาที่ดี ทั่วถึง และวัดผลได้ และเพราะการศึกษาเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน พรรคจึงมีแนวทางในการดึงภาคเอกชน และสังคมเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
- นโยบายมารดาประชารัฐ สนับสนุนการสร้างคุณภาพของเด็กตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของแม่ ให้ได้เข้าถึงสิ่งที่ดีและออกมาจากครรภ์อย่างมีคุณภาพต่อสังคม
ทำอย่างไรให้ปิดเทอมสร้างสรรค์
- 50 สวนสาธารณะ 50 Creative Space เพื่อเพิ่มพื้นที่ทำกิจกรรมในหลากหลายด้านของครอบครัว และพื้นที่เรียนรู้ของเด็กเพราะเวลาว่างสร้างสรรค์สามารถทำได้ทุกวัน เด็กแต่ละวัยล้วนแตกต่างกัน การปิดเทอมจึงต่างกัน ตั้งแต่การใช้เวลาว่างอยู่บ้าน เรียนรู้สิ่งที่ตนเองชอบและสนใจ เช่น ฝึกดนตรี ศิลปะ อ่านหนังสือ
“สำคัญตรงที่เราเปิดโอกาสให้เขารับรู้มากขนาดไหน”
4. พรรคเพื่อไทย: ตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส
แนวคิด
เด็กมีความฝันแต่ไม่รู้จะทำอย่างไรต้องไปให้ถึง จากอุปสรรคหลายอย่าง เช่น ภาระค่าใช้จ่ายที่พ่อแม่ต้องแบกรับ หนี้สิน จนก่อปัญหาครอบครัว ภาครัฐเองก็ไม่ได้ดูแลเท่าที่ควร ทั้งที่ภาครัฐต้องทำหน้าที่เป็น Facilitator อำนวยความสะดวกด้านการศึกษาให้เด็กๆ
นโยบาย
- ‘ศูนย์พัฒนาเด็กอัจฉริยะ’ 20,000 แห่งทุกชุมชน รวมไปถึง ‘ศูนย์คนชรา’ เพื่อเป็นที่พักพิงให้คนชราที่อยู่บ้านคนเดียวอีกด้วย
- นโยบายคืนโรงเรียนสู่ผู้ปกครอง เพื่อให้ครูและผู้ปกครองได้พูดคุยกันเกี่ยวกับการส่งเสริมศักยภาพ และภาครัฐจะต้องออกแบบวิชาชีพเพื่อรองรับเด็กๆ เหล่านี้
- แนวทางเปลี่ยนการท่องจำเป็นการเข้าใจ เพิ่มความสุขและความสนุกในห้องเรียน โดยการลดขนาดห้องเรียนเพื่อเพิ่มการดูแลเด็กได้ทั่วถึง รวมถึงเพิ่มปริมาณ เพิ่มคุณภาพครู เพื่อให้เด็กมีความเข้าใจในสิ่งที่เรียนมากขึ้น
- กระจายอำนาจการศึกษา เพราะเด็กในแต่ละพื้นที่มีความสนใจต่างกันตามสภาพแวดล้อม จึงควรจะกระจายอำนาจให้โรงเรียนได้ออกแบบหลักสูตรที่เหมาะกับเด็กตามแต่ละภูมิภาค
- เพิ่มสถานที่พิเศษเช่น co-working space ให้เด็กมีพื้นที่การเรียนรู้มากกว่าห้องเรียนพิเศษ
ทำอย่างไรให้ปิดเทอมสร้างสรรค์
- ปิดเทอมที่หลากหลายมากกว่าการไปห้าง คือสิ่งที่ขาดหายไปจากชีวิตเด็ก เด็กควรได้ไปดูคอนเสิร์ต พิพิธภัณฑ์ ฯลฯ จึงควรส่งเสริมศูนย์การเรียนรู้ให้ตรงกับที่เด็กต้องการ และนำสิ่งที่เขาสนใจมาเปลี่ยนให้เป็นรายได้เสริมที่มากกว่าแค่เสิร์ฟอาหาร แต่เป็นการฝึกงานอื่นๆ ที่หลากหลาย
- ส่งเสริมสถานที่การเรียนรู้ด้านกีฬาและดนตรี เช่น ห้องซ้อมดนตรี พื้นที่ฝึกศิลปะ รวมถึงการจัดแข่งขัน E-Sport
5. พรรคอนาคตใหม่: กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
แนวคิด
- การศึกษาไทยเหมือนเจงก้า (เกมตึกถล่ม) ที่ฐานง่อนแง่น และพยายามนำบล็อกไม้ใส่เพิ่มอยู่ตลอดเวลา นั่นหมายถึงภาระที่หนักอึ้งของเด็ก สิ่งที่พรรคจะทำคือการสร้างรากและพื้นฐานทางการศึกษาใหม่ทั้งหมด โดยเริ่มจากเรื่องพื้นฐานที่ใกล้ตัวเด็กที่สุด ที่ผ่านมารัฐมักแก้ไขปัญหาการศึกษาด้วยโครงการขนาดเล็กต่างๆ ซึ่งไปเพิ่มภาระครูในห้องเรียน
- งบประมาณด้านการศึกษา 3 หมื่นล้านบาท 3 ปีติดต่อกัน เพื่อยกระดับอุปกรณ์ บุคลากร และพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวกับการศึกษาของนักเรียน เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อสร้างพื้นฐานของปฐมวัยให้แข็งแรงมากขึ้น เพราะที่ผ่านมางบประมาณปีละกว่า 5 แสนล้านด้านการศึกษาไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้
นโยบาย
- สวัสดิการเดือนละ 1,200 บาทแก่พ่อแม่ที่มีลูกวัย 0-6 ปี โดยอิงจากงานวิจัยว่า เงินที่ได้รับอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ จะทำให้เกิดการวางแผนชีวิตได้ดีขึ้น โดยพ่อแม่ไม่ต้องกังวลว่าพรุ่งนี้จะมีเงินซื้อนมให้ลูกหรือเปล่า
- งบประมาณในการยกระดับห้องน้ำ ห้องเรียน ไวไฟ ห้องสมุดโรงเรียน ในโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลางกว่า 17,000 แห่ง นโยบายนี้ออกแบบมาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำโดยเน้นไปที่สุขภาพและสุขภาวะของเด็กๆ โรงเรียนขนาดเล็กและขนาดกลาง
- อาหารคือการเรียนรู้แบบหนึ่ง จึงมีแนวทางส่งเสริมให้เด็กรู้จักวิธีการรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักโภชนาการ จะทำให้เด็กรับประทานอาหารที่ถูกต้องตามหลักไปตลอดชีวิต นำมาซึ่งภาระที่ลดลงของกระทรวงสาธารณสุข ผลักดันให้มีนักโภชนาการในทุกเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อช่วยในการออกแบบอาหารที่ถูกหลักในทุกโรงเรียน
- มีนักจิตวิทยาเพื่อดูสุขภาพจิตเด็ก เพราะการศึกษาไทยเครียดมากและมีภาวะกดดันอยู่ตลอด การมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียนจึงเป็นเรื่องสำคัญ การจัดการระยะยาวคือฝึกบุคลากรให้เพียงพอในส่วนนี้ ในระยะเร่งด่วนคือฝึกบุคลากรให้เข้าใจเรื่องโรคพื้นฐานทางสุขภาพจิต อย่างน้อยต้องสามารถคัดกรองและมองเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับนักเรียน และสามารถส่งต่อไปสู่หน่วยงานที่ถูกต้องได้
- ปฏิรูปข้อสอบ ลดจำนวนข้อสอบระดับชาติและจำนวนครั้งการสอบในวัยประถมศึกษา รวมไปถึงลดการประเมินที่เป็นข้อสอบ และเพิ่มการประเมินที่หลากหลาย ลดหลักสูตรแกนกลางของวิชาบังคับและเพิ่มวิชาทักษะชีวิตตามแต่การออกแบบของแต่ละท้องถิ่น
- ให้นักเรียนนั่งอยู่ในคณะกรรมการบริหารสถานศึกษา เพราะเชื่อว่านักเรียนคือผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงและรู้ปัญหาดีที่สุด โครงสร้างนี้จึงต้องเกิดขึ้น
- มี Open Data ตรวจสอบข้อมูลของโรงเรียนผ่านเทคโนโลยี และการมีส่วนร่วมของนักเรียน ผู้ปกครอง และชุมชน เพื่อการบริหารจัดการที่คล่องตัวและตรวจสอบได้
- ปฏิรูประบบผลิตครู เริ่มจากการคัดเลือกคุณครูสู่ระบบการศึกษา และมีการทำช่องทางอาชีพให้ครูต้นแบบที่สอนเก่ง สามารถช่วยเหลือพัฒนาครูด้วยกันได้
“ต่อไปนี้เราจะไม่ใช่เจงก้าที่ง่อนแง่นอีกต่อไป เราจะได้เจงก้าที่แข็งแรงขึ้นและพร้อมให้ทุกคนโชว์ศักยภาพและต่อยอดให้เจงก้าสูงขึ้นไปเรื่อยๆ”
ทำอย่างไรให้ปิดเทอมสร้างสรรค์
- ปิดเทอมไม่ใช่แค่ของเด็กแต่รวมถึงครอบครัว ชุมชน ไม่ใช่แค่ตัวเยาวชนไปทำอะไรยามว่างช่วงปิดเทอม แต่รวมไปตั้งแต่ครอบครัว ชุมชน ทำให้เลือกได้ว่าอยากทำอะไร สนใจอะไร โดยเฉพาะกิจกรรม Job Shadow ให้เด็ก ม.ต้นได้เข้าไปค้นหาตัวเอง ได้เข้าไปสังเกตการณ์อาชีพหรือสิ่งที่ตนเองสนใจ โดยสามารถทำเป็นกิจกรรมช่วงปิดเทอม หรือ เสริมในห้องเรียน
แต่ แต่ แต่ ปิดเทอมเด็กๆ อยากอยู่บ้าน
พุทธชาติ พรมโคตร โอม ม.3
“เล่นกีตาร์อยู่บ้านครับ พ่อแม่ก็สนับสนุน ส่วนตัวผมไม่ชอบเรียนพิเศษ ปิดเทอมของผมควรเป็นอะไรที่ได้พักสมองบ้าง ตอนเรียนก็เครียดมาเยอะแล้ว”
ศุภธวดี พรมโคตร ม.2
“ปิดเทอมก็อยู่บ้านช่วยพ่อแม่ เมื่อก่อนก็ไปเรียนพิเศษบ้างแต่มันยาก หนูไม่เข้าใจ ก็เลยคุยกับพ่อแม่ขอไม่เรียนได้ไหม หนูชอบวาดภาพค่ะ ก็เลยไปบอกพ่อแม่ พวกเขาก็ให้หนูไปหากิจกรรมมาว่ามีคอร์สเรียนที่ไหนบ้างแล้วจะพาไปค่ะ”
พีรพล (สงวนนามสกุล) ม.6
“ปกติก็เรียนพิเศษออนไลน์ครับ แต่ผมจะชอบเล่นเกม เล่นบอล หรือไปว่ายน้ำมากกว่า มันผ่อนคลายกว่าการที่จะเรียนเพิ่มตอนปิดเทอม เพราะเรากดดันกับการเรียนแล้วไม่รู้เรื่อง เราสนใจในด้านคอมพิวเตอร์ ก็อยากให้พ่อแม่พาไปศึกษา ดูงาน ว่าเราชอบด้านนี้จริงๆ หรือเปล่า เราอยากรู้ตัวเองครับ”
ณัฐวุฒิ ใจตรง ม.3
“ผมชอบเล่นเกม เล่นได้ทั้งวันเลยครับ เรียนพิเศษมันยาก ไม่ค่อยรู้เรื่อง ปิดเทอมก็อยากทำอะไรที่ชอบจริงๆ มากกว่า สนุกดี”